เมื่อโลกทั้งใบไล่ล่า QE/วรวรรณ ธาราภูมิ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

เมื่อโลกทั้งใบไล่ล่า QE/วรวรรณ ธาราภูมิ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

เมื่อโลกทั้งใบไล่ล่า QE

วรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ. บัวหลวง

2 สิงหาคม 2555

ก่อนจะบ่นเรื่อง QE ขอเริ่มจากศัพท์ย่อๆ ที่เขาใช้เรียกธนาคารกลาง (Central Bank) ก่อน ต่อไปจะได้เรียกด้วยชื่อต่างๆ และชื่อย่อได้ไม่ต้องเมื่อยมือพิมพ์ (ซึ่งความจริงก็คือการจิ้มดีดนั่นแหละ)

ธนาคารกลาง บ้านเราเรียกกันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารชาติ หรือแบงค์ชาติ ใช้คำย่อเป็นอังกฤษว่า BOT ของอเมริกาเรียกย่อว่า FED  ของอังกฤษเรียก BOE  ของญี่ปุ่นเรียก BOJ ของสหภาพยุโรปเรียกว่า ECB 

เอาละพอแค่นี้ ไม่ต้องไล่ไปจนครบ 200 กว่าประเทศในโลกแล้ว

ทีนี้ก็มาถึงคำว่า QE ละ 

เจ้า Quantitative Easing หรือ QE เนี่ยะ ไม่เคยปรากฏตนในหนังสือเรียนทางเศรษฐศาสตร์เลย หรือมีแต่หาไม่เจอก็ไม่ทราบได้  แต่มันเพิ่งมาดังเอาในไม่กี่ปีก่อน  โดยเราได้ยินคำนี้กันมาตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติ Subprime ที่โด่งดังในสหรัฐฯ แล้วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้า QE ที่ว่ามันก็คอยมาหลอกหลอนเรามาจนถึงทุกวันนี้ 

แล้วคนก็ไล่ล่าตามหา QE3 กันทั้งโลก แถมยังตลกจนขำไม่ออกเมื่อบางคนไล่ล่าหา QE ทั้งๆ ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร 

แล้วเจ้า QE มันคืออะไรล่ะ 

บางคนเขาบอกว่ามันคือสภาพที่ไม่มีกลไกอื่นที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่วิกฤติให้กระเตื้องขึ้นได้แล้ว  เช่น หากธนาคารกลางจะไปใช้นโยบายการเงินด้วยการกดดอกเบี้ยลงไปอีกก็ไม่ได้แล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยลดลงจนเป็นศูนย์หรือใกล้ศูนย์แล้วแต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น และรัฐบาลจะไปใช้นโยบายการคลังด้วยการกู้หรือยอมขาดดุลเพิ่มเพื่อนำไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานก็ไม่ไหวแล้ว เพราะไปติดเพดานหนี้ภาครัฐที่กฏหมายกำหนด เป็นต้น

จากข้อจำกัดที่ว่า ธนาคารกลางจึงใช้วิธีเสกเงินจำนวนมหาศาลโดยไม่มีอะไรมารองรับ แล้วผลักเงินเข้าสู่ระบบโดยตรงเพื่อเข้าไประดมซื้อสินทรัพย์คือตราสารทางการเงินต่างๆ ในตลาด  เป็นการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมา แล้วนำเงินไปลงทุน เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือให้แบงค์ต่างๆ กู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ  (เหมือนยกลูกสาวให้โดยจ่ายสินสอดบาทเดียวก็ว่าได้) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้แบงค์เหล่านั้นนำเงินไปปล่อยกู้อีกที ทำให้ระบบมีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 

QE จึงเป็นการเพิ่มเงินที่คล้ายเลือดเข้าไปในระบบพร้อมกับปั๊มหัวใจที่กำลังอ่อนแรงจะหยุดเต้นให้เลือดหมุนเวียนทั่วร่างกายขึ้นมาอีกครั้ง  ก็อาจจะรอดจากโคม่าบ้าง ไม่รอดบ้างมั่งแหละ
และ FED ไม่ใช่แห่งแรกที่ออก QE ใครจะออกก่อนไม่รู้ แต่ไม่ได้ใช้คำว่า QE แน่ๆ 
อังกฤษก็เคยทำมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว
ญี่ปุ่นโดย BOJ เขาก็ใช้มาตรการ QE ตั้งแต่ปี 2001 โดยเสกเงินเอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมาเก็บไว้ ทำให้งบดุลที่มีขนาด 5 ล้านล้านเยน พุ่งปรี๊ดไปเป็น 35 ล้านล้านเยนภายในเวลาเพียง 3 ปี และแขวนเติ่งอยู่อย่างนั้นจนถึงปี 2006 จนกลับมาอยู่ที่ไม่ถึง 10 ล้านล้านเยน แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นจริงมาจนทุกวันนี้
ก็น่าเห็นใจ เพราะญี่ปุ่นไม่มี Growth แล้ว ประเทศนี้จะ Growth ได้อย่างไร ในเมื่อมีเด็กมาเกิดใหม่ในอัตราที่ต่ำจนน้าจิม โรเจอร์ส ยังอุทานว่า หากอัตราการเกิดยังเป็นอย่างนี้ต่อไป อีกไม่นานจะไม่มีคนญี่ปุ่นหลงเหลือมาจ่ายคืนเงินกู้แล้ว 
เมื่อไม่มีเด็ก ไม่มีคนรุ่นใหม่  จะไป Growth เอามาจากไหน ใครจะบริโภค ใครจะสร้างอนาคตของชาติได้  คนแก่ๆ มีแต่เสื่อมสังขารลงไปทุกที และบริโภคก็น้อยลง ยกเว้นคนแก่บางคนที่ยิ่งแก่ยิ่งโกง แต่ก็ไม่ทำให้เศรษฐกิจ Growth ได้เลย มีแต่จะตรงกันข้าม 
หรือคนญี่ปุ่นเขาไม่ขยันเรื่องนั้นไปแล้ว ก็ไม่น่าจะใช่ ในเมื่อหนัง AV แสนจะดังข้ามทวีป
เอาละ หากอยากทำความเข้าใจมากกว่านี้ ช่วยไปหาความรู้เพิ่มเติมเอาเองจาก “น้องกู” แล้วกัน (Google)  เพราะมีหลายคนเขียนไว้ดีมาก
แต่ที่น่าจะคิดกันก็คือ QE ที่ออกกันมานั้นทำให้เศรษฐกิจรอดพ้นได้หรือยัง 

ตัวอย่างที่นอกเหนือจากญี่ปุ่น เช่นมในสหรัฐฯ นั้น การที่ ลุงเบน ประธาน FED เขาออก QE มา 2 รุ่นแล้วนั้น คนกลับไปมีงานทำในอัตราที่ควรพอใจหรือยัง เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับที่ต้องการหรือยัง ธนาคารต่างๆ เขาเอาเงินที่ได้จากลุงเบนไปปล่อยกู้ได้ตามปกติหรือยัง ภาคธุรกิจเริ่มขยายกิจการได้หรือยัง

ยัง ยัง ยัง และ ยัง

อ้าว แล้วใครละ ที่ได้ประโยชน์จากการออก QE 

ลองคิดดูนะ  หากเราเป็นธนาคารต่างๆ  แล้วเราได้เงินมา เราก็ควรเอาไปปล่อยกู้เพื่อหากำไรใช่ไหม  

แต่ในเมื่อภาคธุรกิจไม่กู้เพราะยังไม่มั่นใจว่ากู้ไปฟื้นฟูหรือขยายกิจการแล้วจะมีคนมาซื้อสินค้าและบริการของเขา เขาก็เลยไม่กู้  ภาคประชาชนตกงานก็ไม่กู้ หรือกู้ไปแบงค์ก็ไม่กล้าปล่อย กลัวเจอประเภท ไม่เบี้ยว ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย  ธนาคารเหล่านั้นก็ต้องเอาเงินที่ได้ไปหาประโยชน์ใช่ไหมล่ะ  ไม่งั้นก็ต้องคอยจ่ายแต่ดอกเบี้ยที่กู้แม้จะต่ำมากมันก็เป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย

ทีนี้จะเอาเงินไปหาประโยชน์จากที่ไหนล่ะ หากไม่ใช่ในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ เช่นตลาดหุ้น ทองคำ ฯลฯ  

QE2 รุ่นที่ออกมาก่อนหน้าก็เลยไปทำให้ราคาหุ้น ทองคำ พุ่งขึ้น แบงค์ก็รวย คนเก็งกำไรก็รวยกันไป และนั่นก็คนส่วนน้อยนิดของประเทศ ไอ้ที่ตกงานก็ยังตกงานอยู่นั่นแหละ เพราะเงินมันไม่ลงไปถึงผู้บริโภค 

แต่จะยังไงก็ตาม อาการเสพติด QE มันก็เกิดขึ้นแล้ว ทั้งสถาบันการเงิน ทั้งผู้ลงทุนทั่วไป ต่างเรียกร้อง QE ปานคนติดยาที่มีอาการมือไม้สั่นหน้าซีด ขอยารุ่น 3 อยู่ร่ำไป  

ยา ... ยา ... ยา ... อยู่หนาย....
ล่าสุด ไม่กี่นาทีนี้ ECB ประชุมกันแล้ว ตกลงคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75%  ในขณะที่ BOE มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% กับบอกว่าไม่เพิ่ม QE

โอย .... ยา... ยา .... ยา.....

วันก่อน FED ก็ยังไม่ออก QE3 แม้จะระบุว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงไปอีกแล้ว และคาดว่าจะช้าลงไปอีกในไตรมาสที่เหลือของปีนี้ การบริโภคก็เชื่องช้า อัตราการจ้างงานก็กระเตื้องขึ้นช้ามาก สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยก็ยังย่ำแย่ และอัตราเงินเฟ้อก็คาดว่าจะต่ำกว่าระดับที่ FED ต้องการ
 
คนที่เก็งผิด ก็ยิ่งออกอาการหงุดหงิดกันว่าในเมื่ออะไรๆ ก็บ่งชี้ จนหลายสำนักดังๆ ออกมาฟันธงว่าจะมี QE3 แน่  แต่ FED ก็ยังยึกยักไม่ออกสักที  ต้องรอสัญญาณอะไร หรือจะไปออกในเดือนกันยายน (จะได้ตามไปเก็งกำไรกันต่อไป หลังจากที่รอบนี้แห้ว และเจ๊งไปแล้ว)

ก็นับเป็นความแปลกประหลาดยิ่งที่ผู้ลงทุนในโลกเขาเลิกคิดถึงคุณค่าหุ้นที่ตนเองจะซื้อแล้ว เพราะเอาชะตาชีวิตไปแขวนไว้กับความหวังว่า FED จะ ออก QE มากกว่าจะไปคัดสรรหาหุ้นที่มีอนาคตดีมาลงทุน 

พอคาดว่า FED จะออก QE3 ก็จะกระดี๊กระด๊าเข้าหาหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงอย่างอื่น เช่น ทองคำ โดยเก็งว่าจะรวยมากๆ เหมือนการออก QE รุ่นก่อนๆ

พอ FED ของลุงเบน ไม่มีทีท่าว่าจะออก QE3 สักที ก็คอตก ผิดหวังไปตามๆ กัน  เหมือนเขาเคาะกะละมังเรียกน้องหมาไปกินข้าว  พอน้องหมาได้ยินเสียงก็ร่าเริงดีใจมาก วิ่งปุเลงๆ เข้าหาชามข้าวตน แต่พอก้มลงดูปรากฏว่าไม่มีอะไรเลย ก็เลยต้องผิดหวัง คอตก หางลู่ หูตูบไปอีกครั้ง 

แต่ก็ยังรอว่ายังไงๆ FED ก็ต้องออก QE3 แน่  

เอา .... ก็ตั้งความหวังกันต่อไป
[/size]
โพสต์โพสต์