เปลือยประสบการณ์เซียนหุ้นพันธุ์แท้ 'นิเวศน์ เหมวชิรวรากร'

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bigshow
Verified User
โพสต์: 730
ผู้ติดตาม: 0

เปลือยประสบการณ์เซียนหุ้นพันธุ์แท้ 'นิเวศน์ เหมวชิรวรากร'

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ขึ้นทำเนียบว่าเป็น 'เซียนหุ้นพันธุ์แท้' และเป็น 'Value Investor' ตัวจริง เสียงจริง ที่เอาชนะตลาดหุ้นได้มากกว่าแพ้ ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง 'ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร' ที่ปรึกษาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) นครหลวงไทย




แน่นอนว่า เมื่อเอ่ยถึง ดร.นิเวศน์ นักลงทุนส่วนใหญ่คงนึกไปถึงนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นไทย ด้วยสไตล์การลงทุนแบบ 'Value Investment' ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในหมู่นักลงทุนในวงกว้าง เพราะความสำเร็จนั้นนำเขาให้พบกับอิสรภาพทางการเงินในปัจจุบัน แต่ความสำเร็จนั้นก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในด้านการงานของเขาแต่ประการใด

ดร.นิเวศน์ย้อนอดีตในวัยเด็กให้ฟังว่า เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน นั่นทำให้เขาเป็นคนรู้จัก 'อดออม' และระมัดระวังการใช้จ่ายมาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่ออยู่ชั้นประถมก็มีโอกาสได้เริ่มต้นลงทุนด้วยการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ตามประสาเด็ก เช่น ไอศกรีม, ตังเมหลอด, สายไหม เป็นต้น

'ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะทำเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง แต่ทำไปเพื่อที่จะได้ใช้เงินพ่อกับแม่ให้น้อยลง และผมเองก็มีความสุขกับการที่ได้ทำงานแล้วได้เงินมา นั่นทำให้ผมใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ประกอบการมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก'

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ดร.นิเวศน์ก็ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจตามที่ตัวเองใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเยาว์ เหตุผลสำคัญซึ่งเป็นจุดพลิกผันในชีวิตของเขาก็คือ 'การศึกษา'

เขายอมรับตรงไปตรงมาว่า เมื่อเรียนมากเข้า ทำให้รู้เรื่องของ 'ความเสี่ยง' มากเกินไป และทำให้เขาตัดสินใจไม่เป็นผู้ประกอบการอย่างที่ฝันไว้

'ผมเชื่อว่ายิ่งคุณเรียนสูงมากเท่าไร โอกาสที่คุณจะเป็นผู้ประกอบการก็น้อยลงเท่านั้น แน่นอนโอกาสที่คุณจะรวยก็น้อยลงด้วย แต่โอกาสจะทำให้คุณอยู่สุขสบายพอสมควร แต่การเป็นคนชั้นกลางที่มีรายได้ดีจะมีสูงขึ้น'

ดร.นิเวศน์ขยายความให้ฟังว่า คุณเรียนหนังสือจบมาทำงานรับจ้างกินเงินเดือน เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่ก็มีเงินเดือนค่อนข้างดี มีชีวิตที่มีความสุขพอสมควร แต่อาจจะไม่รวย แต่ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการ ไม่จำเป็นต้องเรียนสูงมาก เรียนแค่จบปริญญาตรีก็พอแล้ว แล้วก็ไปเป็นผู้ประกอบการ แบบนั้นคุณมีโอกาสรวยเร็ว แต่ก็มีโอกาสกระท่อนกระแท่นได้เช่นกัน เพราะอาจจะไม่มีรายได้ดีเท่าไร และอาจจะต้องปากกัดตีนถีบไปเรื่อยๆ ถ้าโชคดีก็อาจรวย

'นี่ถ้าผมไม่ได้เรียนปริญญาเอกมาถึงดอกเตอร์ ผมก็คงจะไปทำธุรกิจนั่นแหละ เพราะมีความรู้สึกอยากเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่เด็ก แต่ก็โชคดีที่มาเกี่ยวพันกับเรื่องหุ้น ทำให้ผมคิดได้ว่า เมื่อเป็นผู้ประกอบการไม่ได้ ก็ขอลงทุนกับผู้ประกอบการก็แล้วกัน เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าดีมาก'

การลงทุนในหุ้นของ ดร.นิเวศน์เริ่มต้นมาประมาณ 10 ปีเท่านั้น ช่วงแรกที่เข้ามาลงทุนในหุ้นก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรมากมาย ซื้อๆ ขายๆ เก็งกำไรเหมือนกับนักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาตลาดหุ้นครั้งแรก บางช่วงก็มีหุ้น บางช่วงก็ไม่มีหุ้น ช่วงนี้หุ้นดีก็เข้าไปเล่นบ้าง ตอนนั้นเงินลงทุนยังไม่มากเท่าไร จะเสียหายไปบ้างเขาก็ไม่เดือดร้อน เรียกว่าเป็นความสนุกมากกว่า

เขายกตัวอย่างว่า วันแรกในตลาดหุ้นของวอเรนต์ บัฟเฟตเซียนหุ้นบรรลือโลก ก็เหมือนกับนักลงทุนทั่วไปที่พยายามซื้อๆ ขายๆ พยายามที่จะเล่นหุ้นเหมือนกัน แต่เขาสามารถค้นพบได้เร็ว ว่ามันเป็นวิธีการที่ไม่สามารถทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ เขาก็เปลี่ยนวิธีได้เร็ว เพราะได้อาจารย์ที่ดีตั้งแต่วันแรก

'แต่พอเริ่มซีเรียสและเริ่มจริงจังกับหุ้น เพราะเริ่มเห็นโอกาสแล้วว่า หุ้นเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ผมประสบความสำเร็จ ทำให้ผมมีอิสรภาพทางการเงินได้ ผมก็เริ่มลงไปทำอย่างจริงจัง แล้วมันเริ่มเห็นผลลัพธ์ หลังจากนั้นก็ไม่หันหลังกลับไปแล้ว หมายความว่าผมเห็นแล้วว่าผมจะไปทางไหน ผมซาบซึ้ง เข้าใจ และประสบความสำเร็จจากการลงทุนในหุ้น'

ปัจจุบันสินทรัพย์ของ ดร.นิเวศน์ 99% ลงทุนอยู่ในหุ้น เหลืออีก 1% เป็นเงินสดเอาไว้ใช้จ่าย เมื่อถามว่าเขาเป็นนักลงทุนแบบเอ็กเกรสซีฟหรือไม่ ดร.นิเวศน์ตอบว่า เขาไม่ใช่คนที่กล้าได้กล้าเสีย ไม่ใช่คนที่ชอบเสี่ยง แต่ชอบที่จะเดินไปแบบ 'ช้าๆ แต่มั่นคง' และโอกาสเสียหายต้องไม่มี

นั่นหมายถึงว่า ถ้ามีอะไรสักอย่างที่มีโอกาสรวยเร็วมากเลย 70% โอกาสเสียหายหนัก 30% เขาจะไม่เข้าไปลงทุนเลย ในขณะที่พวกกล้าได้กล้าเสีย หรือพวกที่ชอบเสี่ยงจะลงไปทันที

แต่เขาก็ยอมรับว่าเป็นคนที่รักหุ้นจริงๆ มีเงินเท่าไร อยากจะไปซื้อหุ้น มากกว่าจะไปซื้ออย่างอื่น

'คุณบอกให้ผมไปซื้อรถ ซื้อที่ดิน เวลานี้ผมไม่ค่อยอยาก คือ ถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อในราคาที่มันยุติธรรมมากๆ ให้พอใช้ได้ จะไม่เอาเงินเยอะแยะไปซื้ออะไรที่เกินความจำเป็น'

ดร.นิเวศน์มองว่า กำไรมากหรือกำไรน้อย สำหรับเขาไม่ค่อยซีเรียสมาก แต่อย่าให้เสีย เป็นแบบกล้าได้อย่างเดียว กล้าเสียไม่เอา คือ ต้องมั่นใจพอสมควรทีเดียวว่าโอกาสเสียน้อยมาก ชัวร์มาก ถ้าบอกว่ามีโอกาสเสียมากอันนั้นไม่เอา เพราะฉะนั้นทุกตัวที่ลงทุนไปจะคิดเรื่องดาวน์ไซด์มากเลย

และถ้ามองย้อนหลังกลับไปดูการลงทุนในหุ้นของเขา จะเห็นว่าไม่ค่อยมีตัวที่ขาดทุนเลย น้อยมาก ส่วนใหญ่ที่ลงไปกำไรหมด กำไรมาก กำไรน้อย กำไรช้า กำไรเร็วเท่านั้นเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เข้าผิดตัว ขาดทุนก็จะขายทิ้งทันที

ดร.นิเวศน์ให้นิยามสไตล์การลงทุนของตัวเองว่า เป็นนักลงทุนที่ 'คอนเซอร์เวทีฟในแง่ของการเลือกหุ้น' ทำให้หุ้นที่เขาถืออยู่มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป ถึงแม้ว่าเขาจะลงทุนในหุ้น 99% ก็ตาม แต่ก็เป็นการลงทุนที่ปลอดภัยมาก เพราะเขาไม่ได้ลงทุนซื้อหุ้น แต่เป็นการลงทุนซื้อกิจการ และกิจการที่เขาเลือกลงทุนก็มีประมาณ 20 อย่าง แล้วก็เป็นกิจการ 20 อย่างที่ไม่เหมือนกันเลย แตกต่างกันมาก

เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ไข่ใบเดียว แต่เป็นไข่ที่กระจายไปมากกว่า 20 แห่ง ตรงนี้ความเสี่ยงก็จะไม่มากอย่างที่ทุกคนมองกัน

'แต่คนภายนอกมองเขาอาจจะไม่คิดเช่นนั้น เพราะการลงทุนในหุ้น 99% คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเสี่ยงมาก เพราะเขาคิดว่าหุ้นคือสิ่งเดียวกัน คิดว่าหุ้นทุกตัวก็คือหุ้น มีขึ้นๆ ลงๆ อาจจะกลายเป็นศูนย์วันไหนก็ได้ ก็อาจจะมองว่าเสี่ยงมากที่ลงทุนในหุ้นถึง 99% เพราะว่าเขาไม่รู้ไง เหมือนกับช่างไฟย่อมสามารถที่จะสามารถจับสายไฟด้วยมือเปล่าได้ เพราะเขารู้ว่ามันปลอดภัย แต่คนที่ไม่รู้ก็จะไม่กล้าจับ เพราะคิดว่ามันอันตราย'

ประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนของ ดร.นิเวศน์ อาจจะจุดประกายความคิดให้คุณได้ค้นพบเส้นทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวคุณเองก็ได้

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
เป็นคนเลว ในสายตาคนอื่น ดีกว่าโกหกตัวเอง ให้เทิดทูนบูชา ติดกับมายาคติ ที่กะลาครอบ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bigshow
Verified User
โพสต์: 730
ผู้ติดตาม: 0

เปลือยประสบการณ์เซียนหุ้นพันธุ์แท้ 'นิเวศน์ เหมวชิรวรากร'

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เปิดคัมภีร์ "รวย"..2 เซียนหุ้น "ระยะยาว" "ดร.นิเวศน์-อ.วิกรม" กับกลยุทธ์ "รวยช้าๆ..แต่ยั่งยืน"
เก็บตกควันหลงจากงาน "Business Fair 2005" กับ 2 เซียนหุ้น "ระยะยาว" ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร และ อ.วิกรม เกษมวุฒิ ผู้ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวในตลาดหุ้นมาอย่างโชกโชนร่วม 30 ปี
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กับ อ.วิกรม เกษมวุฒิ ทั้ง 2 พิสูจน์มาแล้วว่า "ความเก่ง" ต้องมาจากการเลือก "หุ้นแกร่ง" บวกด้วย "ความอึด" จึงจะไปถึงจุดหมายแห่งความ "ร่ำรวย" ได้ แต่ในตลาดหุ้นโดยพื้นฐานแล้ว "ความสำเร็จ" ไม่ได้ยากไปกว่า "ความล้มเหลว" ดั่งภาษิตจีนที่บอกว่า.."หนทางพันลี้..เริ่มที่ก้าวแรก" สัจธรรมข้อนี้ไม่เคยเปลี่ยน
อ.วิกรม เกษมวุฒิ ถ่ายทอดประสบการณ์จริงให้ฟังว่าเริ่มลงทุนหุ้น SCC (ปูนซิเมนต์ไทย) มาตั้งแต่ปี 2518 จำนวน 100 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 167 บาท (พาร์ 100 บาท) เมื่อปี 2534 หุ้น SCC เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 7,566 บาท/หุ้น (พาร์ 100 บาท) กำไร 45 เท่า ถือต่อมาอีกในปี 2538 ราคาขึ้นไปสูงถึง 148.60 บาท (พาร์ 10 บาท) ล่าสุดมาปิดที่ 222 บาท/หุ้น (พาร์ 1 บาท)
เพราะฉะนั้นหุ้นจำนวน 100 หุ้น เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เมื่อแตกจากพาร์ 100 เหลือพาร์ 10 จำนวนหุ้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 หุ้น เมื่อแตกจากพาร์ 10 เหลือพาร์ 1 หุ้นก็เพิ่มขึ้นอีกเป็น 10,000 หุ้น หรือเพิ่มขึ้น 100 เท่า
เมื่อคูณกับราคาปิดของหุ้น SCC ในปัจจุบันที่ราคา 222 บาท/หุ้น (ณ 11 ส.ค.2548)..เงินที่ลงทุนไปเมื่อปี 2518 จำนวน 16,700 บาท ก็จะทวีค่าขึ้นเป็น 2,220,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 133 เท่า นอกจากนี้ในระหว่างทางตลอด 30 ปี หุ้น SCC ยังจ่ายเงินปันผลให้อีก 515,300 บาท (งดจ่ายระหว่างปี 2540-2543) คิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 3,085%
เพราะฉะนั้น "กำไร" บวก "เงินปันผล" ของเงิน 16,700 บาท จะเพิ่มพูนขึ้นเป็น 2,735,300 บาท..แต่ถ้าคุณลงทุนแบบ "ทบต้น" มูลค่าปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล
"อ.วิกรม" บอกว่าไม่มีการลงทุนไหนที่จะมหัศจรรย์เท่านี้อีกแล้ว เพราะเมื่อปี 2518 มีหุ้นเข้าจดทะเบียนทั้งหมด 8 บริษัท เจ๊งไปแล้ว 4 บริษัท เหลือรอดมาจนถึงทุกวันนี้แค่ 4 บริษัท ได้แก่ BBL (ธนาคารกรุงเทพ) ให้ผลตอบแทนจากเงินลงทุนในรอบ 30 ปี เพียงแค่ 9-10 เท่า DTC (ดุสิตธานี) ให้ผลตอบแทน 8-9 เท่า และหุ้น BJC (เบอร์ลี่ ยุคเกอร์) ให้ผลตอบแทน 7-8 เท่า ส่วนหุ้น SSC (เสริมสุข) เข้าตลาดปี 2519 ให้ผลตอบแทนถึงปัจจุบัน 30 เท่า..
แต่หุ้น SCC ให้ผลตอบแทนมากที่สุดถึง 133 เท่า
ความมั่งคั่งของ "อ.วิกรม" ยังถูก "ต่อยอด" จากการที่อาจารย์ไม่เคยนำ "ดอกผล" ของหุ้น SCC ตลอด 30 ปีมาใช้จ่าย ขณะเดียวกันยังได้ซื้อหุ้นเพิ่มเข้าไปอีก เมื่อบริษัทจ่ายเงินปันผลออกมาก็ "ซื้อกลับ" เป็นหุ้นสามัญเก็บเอาไว้เรื่อยๆ
"ลองคิดดูง่ายๆถ้าวันนี้คุณมีหุ้น SCC จำนวน 100,000 หุ้น เมื่อปีที่แล้ว (2547) จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 15 บาท ครึ่งปีนี้ (2548) ประกาศจ่ายอีก 7.50 บาท เฉพาะเงินปันผลปีหนึ่งก็รับไปแล้ว 1,500,000 บาท เฉลี่ยเดือนละ 125,000 บาท แค่นี้คุณก็พอกินไปทั้งชาติ"
นอกจากตั้งใจจะถือไปจนตายแล้ว อาจารย์ยังบอกด้วยว่า "ผมตั้งใจจะเก็บหุ้น SCC เอาไว้เป็นมรดกให้ลูกให้หลาน"
อ.วิกรม เกษมวุฒิ ย้ำว่าการลงทุนในหุ้น SCC ไม่เคยมีคำว่า "สายเกินไป" เพราะหุ้นตัวนี้เป็นประเภท "อมตะนิรันดร์กาล" แต่บางจังหวะก็ต้องรอราคาเหมือนกัน โดยส่วนตัวคิดว่าธุรกิจปิโตรเคมีที่ทำกำไรเกือบครึ่งหนึ่งให้กับหุ้น SCC ปีนี้เริ่มชะลอตัว กองทุนต่างชาติขายหนัก "ผมคิดว่ารอราคาลงมาต่ำกว่า 200 บาท (รอบที่แล้วลงมาต่ำสุด 193 บาท) ซื้อเก็บระยะยาวได้เลย..ราคานี้ไม่เสี่ยง"
เมื่อถามว่านอกจากหุ้น SCC แล้วอาจารย์ยังมีหุ้นตัวอื่นในดวงใจอีกหรือไม่..อ.วิกรม บอกว่าหุ้นในดวงใจของผมมีอยู่ 4 ตัว คือ SCC, PTT, BANPU และ THRE โดยเชื่อว่า PTT ธุรกิจยังดีต่อไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า BANPU เป็นหุ้นพลังงานที่ดีไปอีกนานแล้วผู้บริหารเขาโปร่งใสมาก
หุ้นอีกตัวที่เข้าข่ายน่าจับตามองมากที่สุดอยู่ในตลาด mai คือ UMS (ยูนิค ไมนิ่ง) อนาคตหุ้นตัวนี้น้องๆ บ้านปู เพราะ "ธุรกิจดี..จ่ายปันผลสูง..ค่าพี/อี เรโชต่ำ"
การจะฝากชีวิตกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งแบบ "ทุ่มหมดใจ..เทหมดกระเป๋า" จึงต้องมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน "อาจารย์" อธิบายว่า บริษัทนั้นจะต้องมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง..ผลิตสินค้าที่เข้าใจง่าย (ไม่ซับซ้อน) เช่น ปูนซีเมนต์-มาม่า สอง..ขายได้ดี (ในทุกสถานการณ์) และ สาม..บริษัทต้องมีกำไร (สม่ำเสมอ)
ถ้าลงลึกในรายละเอียดการวิเคราะห์หุ้นก็มีหลักสำคัญที่ต้องยึดถือ 3 ประการ คือ หนึ่ง..หุ้นตัวนั้นต้องให้ ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ไม่น้อยกว่า 12% ต่อปีขึ้นไป
"ถ้า ROE ต่ำกว่า 12% ผมจะไม่สนใจ แสดงว่าผู้บริหารบริษัทนั้น "ไม่เก่ง" หรือคิดง่ายๆ บริษัทที่ดีต้องทำมาค้าขายได้ "กำไร" เดือนละไม่ต่ำกว่า 1% ของ "ทุน" ที่ลงไป..ในปี 2547 หุ้น SCC ให้ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงถึง 33%"
สอง..ราคาหุ้นต้องไม่แพง (สูง) จนเกินไป ตัวที่จะบอกได้ ก็คือ "ค่าพี/อี เรโช" ต้องอยู่ในค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม และต้องไม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ SET (ตลาด)
สาม..กิจการนั้น "เจ้าของ" หรือ "ผู้บริหาร" จะต้อง "โปร่งใส" ถ้าทุกอย่างดีหมดแต่ผู้บริหารมีประวัติไม่ดี.."ก็ไม่สน"
ฟากของ "แวลูอินเวสเตอร์..พันธุ์แท้" ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เผยแนวทางการลงทุนในระยะ 5 ปี จากนี้ว่าให้น้ำหนักไปที่หุ้น "โมเดิร์นเทรด" หรือ หุ้นกิจการค้าปลีกสมัยใหม่
ดร.นิเวศน์ เชื่อว่า วิถีชีวิตของคนเปลี่ยน จะทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนก็ต้องเปลี่ยนตาม
โดยเฉพาะร้านค้าปลีกที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ เช่น หุ้น BIGC, CP7-11, HMPRO, MAKRO, ROBINS นอกจากนี้ยังรวมถึง SE-ED และ APRINT ที่เป็นเครือข่ายร้านขายหนังสือ และ IT (ไอทีซิตี้) ที่เป็นร้านขายอุปกรณ์ด้านไอที
ธุรกิจค้าปลีกเหล่านี้ ขายสินค้าเป็นเงินสด ในขณะที่ซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อ เพราะฉะนั้นบริษัทเหล่านี้มักจะมีสภาพคล่องทางการเงินสูงไม่ค่อยต้องกู้หนี้มากนัก
มีแฟนพันธุ์แท้จำนวนมากถาม "ดร.นิเวศน์" นอกรอบว่า "อาจารย์มองว่าตอนนี้มีหุ้นโมเดิร์นเทรดตัวไหนน่าสนใจ"..แวลูอินเวสเตอร์ "มือหนึ่ง" ของเราตอบเพียงสั้นๆ ว่า "ผมชอบหุ้นฟาสต์ฟู้ด"
"ถ้าเปรียบเทียบ MINT กับ CENTEL หุ้น 2 ตัวนี้ทำธุรกิจคล้ายกันมากทั้ง "โรงแรม" และ "อาหาร" (ฟาสต์ฟู้ด) แต่ตัว MINT ธุรกิจจะแข็งแกร่งกว่าหน่อย แต่ราคา CENTEL ถูกกว่าเกือบครึ่ง"
"คุณวันชัย จิราธิวัฒน์ ขาย CENTEL ผมก็เก็บตลอด จริงๆ ไม่ค่อยชอบธุรกิจโรงแรม แต่ชอบธุรกิจอาหารในเครืออย่างตัว พิซซ่า ฮัท, มิสเตอร์โดนัท, เค.เอฟ.ซี และ อานตี้ แอนด์"
ดร.นิเวศน์ ยกตัวอย่าง "พอนเดอริง" (มิสเตอร์โดนัท) กับ "อานตี้ แอนด์" ร้านพวกนี้มีต้นทุนคงที่ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าไฟฟ้า และค่าเช่าสถานที่ อยู่ในระดับสูง แต่เมื่อยอดขายของร้านสูงขึ้นมาถึงระดับหนึ่งแล้ว การทำกำไรแทบจะแน่นอน ต้นทุนส่วนเพิ่มก็มีแต่แป้ง..ที่เหลือกำไรหมด
"หุ้นอีกตัวหนึ่งที่ผมชอบ คือ IT จริงๆ หุ้นตัวนี้ไม่ควรอยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า น่าจะไปอยู่ในกลุ่มพาณิชย์มากกว่า ราคาหุ้นตกลงมามากแล้ว ราคานี้ไม่แพง"
ส่วนเคล็ดในการเลือกหุ้นอย่างง่ายๆ "ดร.นิเวศน์" แนะนำว่า ต้องดูอนาคตของธุรกิจ, ดูราคาหุ้น และดูประวัติการจ่ายเงินปันผล
"ถ้าคิดจะลงทุนหุ้นระยะยาว หวังผลตอบแทนแค่ปีละ 10% ก็พอ..อย่าไปหวังมาก หาหุ้นที่มีค่าพี/อีไม่เกิน 10 เท่า และจ่ายปันผลประมาณ 4-5% ต่อปีขึ้นไป.."
ก่อนจะย้ำว่า ของดีในโลกนี้มันมีไม่มาก หุ้นก็เหมือนกัน ถ้าคุณรู้จักหุ้น 1 ตัวที่คุณเชื่อว่าไม่มีพลาด แค่ตัวเดียวก็พอแล้ว..หุ้นที่ผมจะลงทุนถ้ามองว่ามีความเสี่ยงในอีก 5 ปีข้างหน้า ผมไม่ซื้อ ต้องมั่นใจเกือบๆ 100% ว่าจะได้กำไรชัวร์ๆ ถึงจะลงทุน..นักลงทุนที่เป็น Value Investor ถ้าจะให้ดีก็ต้องมีธรรมชาติของ "เต่า" นั่นคือ ช้า, แข็งแกร่ง, อดทน และอายุยืนนาน
ทั้งหมดนี่คือ "คัมภีร์รวย" ของ 2 เซียนหุ้นระยะยาว "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" และ "อ.วิกรม เกษมวุฒิ" กับกลยุทธ์ "รวยช้าๆ..แต่ยั่งยืน"
หุ้นในพอร์ต "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ในปี 2548
หุ้น จำนวน สัดส่วน ราคาปิด มูลค่ารวม
(หุ้น) (%) 15 ส.ค.48 (บาท)
(บาท/หุ้น)
1 HMPRO 6,318,463 0.79 6.75 42,649,625
2 IRC 5,212,000 2.61 8.15 42,477,800
3 SSC 2,000,000 0.76 20 40,000,000
4 APRINT 2,105,263 1.05 10.2 21,473,683
5 SE-ED 2,000,000 0.63 4.78 9,560,000
6 MATI 1,100,000 0.54 6.85 7,535,000
7 TMD 100,000 0.67 60 6,000,000
รวม 169,696,108
หมายเหตุ: รวบรวมข้อมูลโดย "กรุงเทพธุรกิจ BizWeek"
เป็นคนเลว ในสายตาคนอื่น ดีกว่าโกหกตัวเอง ให้เทิดทูนบูชา ติดกับมายาคติ ที่กะลาครอบ
โพสต์โพสต์