โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 28 เมษายน 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ธุรกิจที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในช่วงนี้ก็คือ ธุรกิจสื่อสารมวลชน ต้นเหตุสำคัญก็คือ การเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ประกอบกับการพัฒนาทางด้านของเทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ที่ทำให้สามารถขยายช่องทางของการสื่อสารออกไปมหาศาล ทำให้ต้นทุนของการสื่อสารต่ำลงไปมากในขณะที่คุณภาพของภาพและเสียงกลับสูงขึ้นมาก
การเกิดขึ้นของ กสทช. และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ “การผูกขาด” ของสื่อที่มีมานานในประเทศไทยหมดหรือเกือบหมดไป ในอนาคตอีกไม่นานเราจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะในด้านของโทรทัศน์ที่จะมีสถานีหรือช่องทีวีใหม่เป็นร้อย ๆ ช่อง ที่ส่งถึงผู้ชมได้ทั่วประเทศ ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ตั้งแต่ระบบดั้งเดิมที่เป็นเสาอากาศ ดาวเทียม สายเคเบิล และทางอินเตอร์เน็ต แต่ละช่องมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำมาก ดังนั้น การแข่งขันที่จะ “แย่งผู้ชม” จะรุนแรงมาก โดยที่กลยุทธ์สำคัญที่สุดในการดึงดูดคนดูก็คือ การใช้ Content หรือเนื้อหาหรือข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับผู้เข้ามาชม การแข่งขันเพื่อที่จะเอาชนะคู่แข่งในเกมที่น่าตื่นตาตื่นใจในครั้งนี้ผมอยากจะเรียกว่า “ศึกชิงตา” นั่นก็คือ ผู้ให้บริการทั้งหลายต่างก็ต้องพยายามยึด “สายตา” ของคนในประเทศให้มาดูรายการหรือ Content ของตนเองให้มากที่สุด เพราะจำนวนคนดูจะเป็น “รายได้” ที่กิจการจะได้รับที่จะมาจากการโฆษณา ค่าบริการ และอื่น ๆ
ประเด็นที่จะต้องตระหนักมากที่สุดก็คือ ในขณะที่มีบริษัทและช่องทางใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมายที่จะเข้ามาช่วงชิง “ตา” แต่จำนวน “ตา” นั้น กลับมีจำนวน “เท่าเดิม” ความหมายก็คือ คนไทยนั้น ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก เวลาที่จะใช้ตาเพื่อที่จะ “ดู” ก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนักแม้จะมีคนบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ใช้สายตามากกว่าคนรุ่นก่อน ดังนั้น ถ้าเราคิดว่าจำนวน “ตา” หรือเวลาที่ใช้ในการ “ดู” ก็คือ “รายได้” ที่ผู้ให้บริการจะได้รับ ข้อสรุปของเราก็คือ รายได้จาก “ศึกชิงตา” ก็จะมีเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิม แต่ผู้ให้บริการกลับมีเพิ่มขึ้นซึ่งจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ผลก็คือ ถ้ามองในแง่ของอุตสาหกรรมโดยรวมแล้ว ก็น่าจะเป็นว่า กำไรของอุตสาหกรรมจะลดลง ถ้ามองในรายละเอียดต่อไปก็น่าจะเป็นว่า ผู้เล่นที่มีอยู่เดิมที่อยู่ในสภาวะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด น่าจะมีกำไรน้อยลงเพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา “แย่ง” หรือแบ่ง “ลูกตา” หรือลูกค้าไปบ้าง ส่วนรายใหม่ที่เข้ามานั้น รายที่ประสบความสำเร็จสูงก็อาจจะได้กำไร แต่หลายรายที่น่าจะมีจำนวนมากกว่าก็จะขาดทุน มันเป็นศึกที่น่าจะคล้ายกับสงครามที่คู่ต่อสู้ส่วนใหญ่ “เสียหาย” และมีผู้ได้ประโยชน์จริง ๆ น้อยมาก
ผู้ให้บริการรายใหญ่เดิมนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ จำนวนผู้ชมและ/หรือเวลาชมน่าจะค่อย ๆ ลดลง เหตุผลก็คือ Content หรือเนื้อหาที่ดึงดูดมวลชนจำนวนมากนั้นจะดึงดูดคนได้น้อยลงเนื่องจากจะมีผู้ดูบางส่วนที่มีความสนใจใน Content อื่นมากกว่าแต่ในอดีตพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น แต่เมื่อมีทางเลือกอื่นพวกเขาก็จะไป ตัวอย่างง่ายที่สุดก็เช่น คนที่ชอบชมละครหลังข่าว ถ้ามีละครหลายเรื่องมากขึ้นมาเสนอในเวลาเดียวกัน โอกาสก็เป็นไปได้ที่พวกเขาบางคนจะไปชมเรื่องอื่น เช่นเดียวกัน รายการข่าวนั้น คนที่เคยชมข่าวช่วงไพร์มไทม์เป็นประจำ เมื่อเขามีทางเลือกอื่น เขาอาจจะไปชมในช่องที่เป็นช่องข่าว ที่นำเสนอแต่ข่าวตลอดทั้งวัน ที่พวกเขาสะดวกที่จะรับชมได้ตลอดเวลา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการรายใหญ่นั้น สิ่งที่พวกเขายังมีอยู่และรายเล็กและรายใหม่ไม่มีก็คือ จำนวนหรือปริมาณคนดูที่มีจำนวนมากที่ทำให้ผู้ขายสินค้าที่ต้องการ “โฆษณาในวงกว้าง” จำเป็นต้องใช้บริการ ดังนั้น สิ่งที่รายใหญ่สามารถทำได้ก็คือ การเพิ่มราคาค่าโฆษณา ซึ่งทำให้กิจการสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำเนื่องจากต้นทุนการผลิตและส่งรายการยังเท่าเดิม ประเด็นสำคัญก็คือ สถานีจะต้องรักษาคุณภาพหรือ Content ของรายการให้สามารถดึงดูดมวลชนจำนวนมากให้ได้ต่อเนื่องยาวนาน ในช่วงแรก ๆ นั้นผมคิดว่าปัญหายังไม่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมเชื่อว่าผู้ชมก็จะค่อย ๆ กระจายความสนใจในรายการหลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพวกเขาพบทางเลือกใหม่ ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ผลก็คือ ผลประกอบการของทีวีช่องใหญ่ ๆ น่าจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงและอาจจะกลายเป็น “ตะวันตกดิน” ได้
ทีวีช่องใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นมากมายนั้น จุดขายก็คือ แย่งชิงผู้ชมที่มีความสนใจเฉพาะอย่าง เช่น ชิง “ตาของวัยรุ่น” เช่น ทำสถานีเพลงที่โดดเด่น บางสถานีอาจจะเน้น “ตาของผู้ใหญ่” ที่สนใจปัญหาของบ้านเมือง จึงทำสถานีข่าว บางสถานีอาจจะเน้น “ตาของเด็ก” จึงทำช่องการ์ตูน สถานีเหล่านี้ก็มักจะได้ผู้ชมจำนวนไม่มากซึ่งทำให้รายได้ที่ได้รับไม่สูงนัก อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของการผลิตและออกอากาศก็อาจจะไม่สูงนักโดยเฉพาะบริษัทที่มี Content หรือเนื้อหาที่บริษัททำขึ้นเพื่อขายในช่องทางอื่นอยู่แล้ว ประเด็นที่เราอาจจะยังไม่รู้จนกว่าจะได้ทำจริง ๆ ก็คือ รายได้นั้นสูงกว่ารายจ่ายหรือไม่? ถ้าสูงกว่าก็มีกำไร แต่ถ้าต่ำกว่าก็ขาดทุน แต่ไม่ว่าในกรณีใด ความแน่นอนของผลประกอบก็อาจจะไม่สูงนัก เหตุผลก็คือ ธุรกิจนี้จะมีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก
การเกิดขึ้นของช่องทีวีจำนวนมากนั้น ทำให้บริษัทที่ให้บริการด้านโทรคมนาคมมีลูกค้าและมีรายได้มากขึ้นชัดเจน ผู้ให้บริการในด้านนี้มักจะต้องเป็นรายใหญ่พอสมควรและต้องลงทุนค่อนข้างมาก ดังนั้น คู่แข่งที่จะเข้ามาใหม่จะค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา ตัวอย่างก็คือ ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสารและอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ดังนั้น ผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้น่าจะดีขึ้น อย่างน้อยในช่วงแรก ๆ ที่ผู้ให้บริการรายใหม่ยังไม่สามารถเข้ามาให้บริการได้ทัน
ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งกำลังจะมีการเปิดประมูลและให้บริการระบบ 3G เป็นคู่แข่งรายใหม่ที่น่ากลัวมากใน “ศึกชิงตา” เหตุผลก็คือ ในปัจจุบันนี้คนจำนวนมากใช้สายตาอยู่กับแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานมากในแต่ละวัน เวลาที่ใช้กับการสื่อสารเพื่อการสังคมหรือ Social Media นั้น น่าจะเข้ามาแย่งชิง “ตา” จากบริษัทที่ให้บริการทีวีไปไม่น้อย และนี่จะลดรายได้ของทีวีแต่ไปเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทให้บริการโทรศัพท์มือถือ
ผมคิดว่ายังมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากที่พยายาม “แย่งชิงตา” ที่มีอยู่จำกัดและไม่ได้เติบโตมากนัก สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นบางอย่างเราก็ยังไม่รู้ บางอย่างก็อาจจะยังไม่เกิด แต่ผมมั่นใจว่ามันมีความหลากหลายมาก ผลก็คือ รายการหรือ Content ที่มีผู้ชมมากจริง ๆ หรือมีเรตติ้งสูงมาก ๆ จะมีน้อยลงเรื่อย ๆ ลักษณะอย่างนี้จะทำให้การทำกำไรสูงมาก ๆ ของช่องทีวีจะเป็นไปได้ยากขึ้นและธุรกิจทีวีในอนาคตอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป