โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 28 มกราคม 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ตำนานบทหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ก็คือ การที่เขาซื้อหุ้นลงทุนในบริษัท GEICO Corporation ที่ถือหุ้นบริษัทประกันภัยชื่อ Government Employees Insurance Company (GEICO) เหตุผลก็เพราะว่า นี่เป็นบริษัทแรก ๆ ที่บัฟเฟตต์เข้าลงทุนตั้งแต่เริ่มลงทุนใหม่ ๆ ด้วยเม็ดเงินส่วนใหญ่ของเขาในขณะนั้น พูดง่าย ๆ ว่าเป็นการ “ตีแตก” หุ้นตัวแรก ๆ ในชีวิตการลงทุนของเขา และตั้งแต่นั้นมา เขาก็ลงทุนในหุ้นประกันภัยจำนวนมากจนกลายเป็น “ธุรกิจหลัก” ในพอร์ตการลงทุนของบัฟเฟตต์
ตำนานนั้นเล่าว่า เมื่อบัฟเฟตต์เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี 1950 เขาพบว่าอาจารย์ เบน เกรแฮม ซึ่งสอนวิชาการลงทุนของเขานั้น เป็นกรรมการของบริษัท GEICO ซึ่งนั่นกระตุ้นความสนใจของเขา ดังนั้น ในวันสุดสัปดาห์หนึ่ง เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปกรุงวอชิงตันเพื่อเยี่ยมบริษัท วันนั้นเป็นวันเสาร์ เขาเคาะประตูสำนักงานและภารโรงได้พาเขาเข้าไปพบ Lorimer Davidson ผู้บริหารเพียงคนเดียวที่ยังอยู่ในออฟฟิสในวันนั้น บัฟเฟตต์มีคำถามมากมายและ Davidson ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงในการอธิบายให้บัฟเฟตต์เข้าใจถึงความโดดเด่นของ GEICO เมื่อเทียบกับบริษัทประกันภัยอื่น ๆ
เมื่อบัฟเฟตต์เรียนจบกลับมาทำงานในบริษัทโบรกเกอร์ของพ่อที่บ้านเกิดในเมืองโอมาฮา เขาได้เขียนบทวิเคราะห์แนะนำว่า GEICO คือ “บริษัทที่ผมชอบที่สุด” และแนะนำให้ลูกค้าลงทุน ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองนั้น เขาได้ลงทุนซื้อหุ้น GEICO เป็นจำนวนถึง 10,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินประมาณ 2 ใน 3 ของเงินที่เขามีทั้งหมด นักลงทุนจำนวนมากปฏิเสธที่จะซื้อหุ้นตัวนี้ตามคำแนะนำของเขา แม้แต่นายหน้าประกันภัยในเมืองโอมาฮาก็ได้ร้องเรียนไปที่พ่อของบัฟเฟตต์ว่าลูกของเขากำลังโปรโมตบริษัทประกันภัยที่ “ไม่มีนายหน้า” ด้วยความท้อแท้ใจ บัฟเฟตต์ได้ตัดสินใจขายหุ้น GEICO ในปีต่อมา เขาได้กำไร 50% และไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนี้อีกจนกระทั่งปี 1976 และต่อมาในปี 1994 เขาก็ได้เข้าเทคโอเวอร์หุ้นทั้งหมดของบริษัท
ความโดดเด่นของ GEICO ก็คือ บริษัทขายประกันภัยรถยนต์ให้กับคนขับรถส่วนตัวที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำในการเคลมประกัน เช่น ข้าราชการ ทหาร และพนักงานสายวิชาชีพหรือคนที่ทำงานด้านการบริหาร โดยที่การขายนั้นจะเป็นการ “ขายตรง” ไม่มีนายหน้า แต่ผ่านทางจดหมายซึ่งทำให้บริษัทไม่ต้องเสียค่านายหน้าซึ่งเป็นต้นทุนใหญ่ถึงประมาณ 10 - 25% ของเบี้ยประกัน ต้นทุนที่เซฟได้นี้ บริษัทก็จะ “ส่งคืน” ให้กับคนซื้อประกันโดยการลดค่าเบี้ยประกันภัยลง ผลก็คือ บริษัทได้ลูกค้ามาก ในขณะเดียวกันต้นทุนในด้านการเคลมประกันก็อยู่ในระดับต่ำทำให้บริษัทมีกำไรที่ดี ถ้ามองในภาพใหญ่ก็คือ บริษัทเป็นผู้ขายสินค้า “โภคภัณฑ์” ที่เป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง ดังนั้น จึงมีความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่น่าจะทำให้บัฟเฟตต์ชอบมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ธุรกิจประกันภัยนั้น บริษัทจะได้รับเงินสดที่เป็นเบี้ยประกันล่วงหน้าก่อนที่จะต้องจ่ายค่าเคลมประกันในภายหลัง ทำให้บริษัทมีเงินสดที่เรียกว่า Float ซึ่งเป็นเงินที่บริษัทสามารถนำไปใช้ลงทุนได้โดยไม่มีดอกเบี้ย และผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนนี้ จะเป็นรายได้ที่สำคัญมาก โดยเฉพาะถ้าสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดี
ตำนาน GEICO นั้น น่าจะเป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่นำบัฟเฟตต์มาจน ถึงวันนี้ ประเด็นสำคัญก็คือ เขาได้ค้นพบวิธีหาเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่มีดอกเบี้ยได้มากมายซึ่งเป็นสิ่งที่เขาขาดโดยเฉพาะในช่วงต้นของชีวิตการลงทุน ประเด็นต่อมาก็คือเรื่องของ “โมเดลธุรกิจ” ที่โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งซึ่ง GEICO สามารถกำหนดตนเองให้ได้เปรียบคู่แข่งได้จากการที่ “ไม่ทำตามสิ่งที่คนอื่นเขาทำกันเป็นปกติ” และประเด็นสุดท้ายน่าจะเป็นเรื่องของผู้บริหารที่ ทุ่มเท รัก และเอาใจใส่กับงานเสมือนกับว่าตนเองเป็นเจ้าของ นั่นก็คือ Davidson ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของ GEICO
การเป็น VI ผู้มุ่งมั่นนั้น บางทีเราก็อาจจะต้องมี “หุ้นที่ผมชอบที่สุด” อยู่ในใจหลังจากที่ลงทุนมาได้ระยะเวลาหนึ่ง หุ้นตัวนั้น แน่นอน ควรจะเป็นหุ้นที่เรา “ตีแตก” นั่นคือ เป็นหุ้นที่เราได้ทุ่มเงินลงทุนไปค่อนข้างมากเทียบกับขนาดของพอร์ตของเรา เราควรจะได้กำไรคิดเป็นเงินเป็นกอบเป็นกำขนาดที่อาจจะเรียกว่าเปลี่ยน “สถานะ” ของความมั่งคั่งของเราได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่นี่ก็อาจจะไม่จำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าน่าจะอยู่ที่ว่า มันให้บทเรียนที่สำคัญและทำให้เราสามารถใช้ความรู้นั้นในการลงทุนของเราต่อไปอีกนานแสนนาน ความรู้นั้น ควรเป็นความรู้ที่ถูกต้องและทำให้เรายึดถือในการลงทุนตลอดไปได้และมันกว้างพอที่จะครอบคลุมปัจจัยสำคัญทั้งหมดของการลงทุน
“หุ้นที่ผมชอบที่สุด” นั้น ไม่จำเป็นและอาจจะไม่ควรเป็นหุ้นที่เราได้กำไรสูงสุดคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่คิดเป็นเม็ดเงิน เพราะหุ้นประเภทนั้นอาจจะให้ผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงสูง และผลตอบแทนที่ได้นั้นอาจจะมาจากสถานการณ์บางอย่างหรือได้มาโดยเหตุบังเอิญ หรือได้มาเนื่องจากเราใช้มาร์จินและรับความเสี่ยงที่สูงเกินไป หุ้นที่ดีที่สุดในสายตาเราควรเป็นหุ้นของกิจการที่เราเห็นว่ามีโมเดลทางธุรกิจที่เราชอบ เป็นกิจการที่เราคาดการณ์ได้แม่นยำถึงอนาคตที่เรากำหนดไว้ เป็นหุ้นที่มีราคาที่เหมาะสมหรือถูกกว่าความเป็นจริงมากจากการประเมินของเรา และเมื่อเราตัดสินใจซื้อลงทุนแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาเกือบทุกอย่างเป็นไปตามคาด และเราก็มั่นใจว่าสิ่งที่เราคิดหรือวิธีการที่เราทำนั้นถูกต้อง นั่นคือ เรา “Right for the right reason” นั่นคือ เราได้กำไรจากสิ่งที่เราคิดว่าบริษัทจะเป็นจริง ๆ ไม่ใช่ราคาหุ้นขึ้นมาสูงมากแต่มาจากเหตุผลอื่น ถ้า “หุ้นที่ผมชอบที่สุด” เป็นแบบนั้น ผมคิดว่า มันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการกำหนดอนาคตของเราไปสู่ความสำเร็จ
ถ้า “หุ้นที่ผมชอบที่สุด” ถูกกำหนดขึ้นมาอย่างไม่เหมาะสม เช่น กำหนดขึ้นเนื่องจากเราได้กำไรกับมันมากมหาศาลในเวลาอันสั้น มันอาจจะเป็นหุ้นที่เปลี่ยนสถานะความมั่งคั่งของเราในชั่วข้ามคืน ซึ่งมันอาจจะทำให้เราเกิด “ความลำเอียง” ในการประเมินความถูกต้องของความคิดของเรา เราอาจจะคิดว่าเราคิดและเลือกหุ้นได้ถูกต้องทั้ง ๆ ที่เหตุผลในการที่หุ้นขึ้นอาจจะมาจากสาเหตุอื่นหรือเป็นเรื่อง บังเอิญ หรือที่เราเรียกว่า เรา “Right for the wrong reason” เราจะจำในสิ่งที่ผิด และนั่นอาจจะนำไปสู่ความล้มเหลวในคราวต่อไป
“หุ้นที่ผมชอบที่สุด” นั้น เมื่อเวลาผ่านไปเราก็อาจจะมีหุ้นตัวใหม่ที่ขึ้นมาแทนตัวเดิม นี่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็อาจจะเป็นเครื่องแสดงว่าเรากำหนดหุ้นที่เราชอบง่ายเกินไป และถ้าเป็นอย่างนั้น ปัจจัยของหุ้นอาจจะไม่ได้ดีพอ หรือไม่อย่างนั้น เราก็อาจจะมีการซื้อขายเปลี่ยนตัวหุ้นมากเกินไปจนเราไม่ได้เจอกับหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สตาร์ของเราจริง ๆ