โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 20 พฤศจิกายน 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สิ่งสำคัญที่สุดของการลงทุนคือ ความคิด ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอะไรที่ความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับความคิดมากเท่ากับ การลงทุน คำพูดที่ว่า “คิดแล้วรวย” นั้น เป็นความจริงที่สุดในเรื่องของการลงทุนเมื่อเราคิดถูก แต่ถ้าคิดผิด นอกจากจะไม่รวยแล้ว เราก็จะจนลงไปด้วย ดังนั้น หากจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ เราต้องคิดให้ถูก แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น เราควรรู้ว่าจะคิดอย่างไรหรือคิดแบบไหน ข้อเสนอของผมก็คือ ถ้าเราจะรวยจากตลาดหุ้นแบบ Value Investor เราควรจะคิดแบบ VI ซึ่งมีวิธีคิดดังต่อไปนี้
ข้อแรกที่สำคัญมากก็คือ ความคิดของเราต้องไม่ลำเอียง นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าเราลำเอียงแล้ว เราก็จะคิดผิดได้ง่าย ความลำเอียงนั้นมักจะเกิดขึ้นจากความรู้สึกชอบหรือเกลียดที่เรามีต่อสิ่งที่เราคิด ความรู้สึกชอบหรือเกลียดนั้นบ่อยครั้งเกิดจากประสบการณ์ การเลี้ยงดูอบรม พื้นเพหรือฐานะของเราในสังคมที่อาจจะหล่อหลอมเรามาตั้งแต่เด็ก นอกจากนั้น ความลำเอียงยังอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากเราไม่ได้คิดเองแต่ถูกชักนำโดยคนอื่นที่มีความคิดที่ลำเอียง
ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเป็นคนที่มีฐานะค่อนข้างดี เรามักจะใช้สินค้าที่มีคุณภาพสูงมีบริการที่ดีดังนั้นเราจึงมักจะเข้าห้างที่เน้นขายสินค้าในระดับเดียวกัน เรารู้สึกพอใจกับสินค้าและบริการ แม้ว่าราคาจะสูงขึ้นบ้างแต่เราก็ไม่คำนึงถึง เราสรุปว่าห้างนี้ “ดี” แต่ในบางครั้ง เราก็ไปห้างที่ขายสินค้าให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเราเป็นหลัก เราเข้าไปก็พบว่าสินค้าที่ต้องการมี “ไม่ค่อยครบ” คุณภาพก็ “ดูไม่ดี” บริการก็ “ไม่ประทับใจ” เรารู้สึกว่าห้างนี้ “ไม่ดี” ถ้าไม่จำเป็นเราคงไม่ค่อยอยากมาใช้บริการ และใจเราก็คงคิดว่า คนอื่นก็น่าจะคิดเหมือนเรา เราลืมไปหรืออาจไม่ทันคิดว่า ราคาสินค้านั้นอาจจะถูกกว่าร้านที่เราใช้ประจำ แต่ถึงจะรู้ มันก็ “ไม่น่าสนใจ” ดังนั้นคนอื่นก็คงไม่สนใจเหมือนกัน ว่าที่จริง เวลาที่เราคุยกับคนอื่นที่เป็นเพื่อนกัน เขาก็มีความเห็นคล้ายๆ กันว่าห้างแรกดีแต่ห้างหลังห่วย สิ่งนี้ยืนยันกับเราว่าความคิดของเราเกี่ยวกับสถานะของห้างทั้งสองแห่งนั้นถูกต้อง แต่เราลืมคิดไปว่า คนที่เราคุยด้วยนั้น ก็มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายๆ กับเรา เขาเองก็มีความลำเอียง ถ้าเราไปคุยกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเรา เราอาจจะได้ภาพอีกภาพหนึ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือ “ห้างหลังดีกว่าห้างแรก” อย่างไรก็ตาม น้อยครั้งที่เราจะได้คุยกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกับเรามากถ้าคุณไม่ตั้งใจจริงๆ
คิดแบบ VI ข้อสอง นั้น ผมคิดว่าต้อง คิดยาว และ หลายชั้น มองทะลุให้เห็นถึง “พื้นฐาน” จริงๆ ของเรื่องต่างๆ เหตุผลก็คือ สิ่งที่เราเห็นชัดเจนนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลหรือเป็นเรื่องปลายทางหรือบางทีเป็น “ยอดของภูเขาน้ำแข็ง” ที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำทะเล ถ้าเราวิเคราะห์เฉพาะจากสิ่งที่เราเห็น เราจะไม่เข้าใจพลังหรือปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้มันเป็นอย่างนั้น การวิเคราะห์ย้อนหลังจนถึงพื้นฐานสำคัญอย่างเดียวคงไม่พอ เราจะต้องวิเคราะห์ต่อไปข้างหน้าหรือมองไปในอนาคตด้วยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าพื้นฐานไม่แน่น อนาคตก็คงไม่แน่นอน ตรงกันข้าม ถ้าพื้นฐานใหญ่มาก อนาคตก็คงยากที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราเห็นก้อนน้ำแข็งอยู่เหนือน้ำ มันอาจจะเป็นก้อนน้ำแข็งที่ไม่มีฐานเลยและพร้อมจะล่องลอยไปมา หรือมันอาจจะเป็นปลายของภูเขาน้ำแข็งที่ไม่มีทางเคลื่อนไปไหนได้เลยก็ได้
การคิดยาวและหลายชั้นนั้นจะทำให้เรารู้ว่าการเติบโตและผลประกอบการของบริษัทในระยะยาวจะเป็นอย่างไรซึ่งจะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าหุ้นของบริษัทคุ้มค่าไหมเมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่เห็นด้วยความมั่นใจที่สูงเพราะมันมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและใหญ่โตรองรับ ตรงกันข้าม ถ้าเราวิเคราะห์แล้วพบว่าสิ่งที่เราเห็นนั้น ถึงแม้จะดูยิ่งใหญ่ แต่พื้นฐานจริงๆ ง่อนแง่น อนาคตคงยากที่จะทำนาย แบบนี้การลงทุนก็เป็นความเสี่ยง การให้มูลค่ากับมันก็จะต้องไม่สูง และเราจะต้องเข้าใจว่าถ้าเราจะซื้อหุ้น มันก็อาจจะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร”
คิดแบบ VI ข้อสามก็คือ คิดถึงเรื่องการแข่งขัน นี่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะธุรกิจทุกประเภทนั้น โดยเนื้อหาจริงๆ แล้วก็คือการแข่งขัน “ผู้ชนะ” มักจะร่ำรวยมั่งคั่งและเติบโตขึ้น “ผู้แพ้” มักจะจนลงหรือบางทีก็ล้มหายตายจากไป ว่าที่จริงไม่ใช่เฉพาะธุรกิจ แทบทุกอย่างที่มีชีวิตในโลกนี้ต่างก็ต้องแข่งขันหรือต่อสู้เอาตัวรอดและเติบโตขึ้นทั้งสิ้น คนบางคนหรือบางธุรกิจอาจจะบอกว่า “ไม่ต้องหรือไม่ได้แข่งขันกับใคร” นี่เป็นคำพูดที่มีความเป็นจริงน้อยมาก เขาอาจจะไม่ตระหนักว่ากำลังแข่งขันเพราะไม่มีคู่แข่งให้เห็นชัดเจน ยกตัวอย่างดารานักแสดงนั้น ในชีวิตอาจจะดูเหมือนว่าไม่ได้แข่งประกวดกับใครที่ไหน แต่จริงๆ แล้วทุกคนแข่งขันกันหนักมากในการที่จะ “แย่งชิงคนดู”
การวิเคราะห์โดยใช้โมเดลการแข่งขันนั้น จะทำให้เรารู้และเข้าใจธุรกิจและชีวิตที่ดีขึ้นมาก ประเด็นสำคัญก็คือ มันจะทำให้เรารู้ว่าใครจะเฟื่องฟูและใครจะตกต่ำลงในอนาคต หัวใจก็คือ คนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงเนื่องจากมีความ “ได้เปรียบ” ก็จะเจริญเติบโตขึ้น ส่วนคนที่เสียเปรียบก็จะถดถอยลง หน้าที่ของเราก็คือ วิเคราะห์หรือค้นหาว่าอะไรทำให้การแข่งขันในแต่ละเรื่องเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้เปรียบและสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่คงทนถาวรแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นการแข่งขันของดารานักแสดง ปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของความสวยหรือความหล่อและรูปร่างที่สูงเพรียวได้สัดส่วน หรือถ้าเป็นธุรกิจ ปัจจัยอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของขนาด นั่นคือ บริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งมากนั้น มักจะมีความได้เปรียบค่อนข้างมาก เป็นต้น
คิดแบบ VI ข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ การคิดโดยตัดอารมณ์ร่วมหรืออารมณ์หมู่ ที่มักจะขยายความรุนแรงของปัญหาหรือทำให้ภาพดูสดใสกว่าความเป็นจริง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือวิกฤติทั้งหลายเช่นวิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง และ วิกฤติภัยธรรมชาติอย่างเรื่องน้ำท่วมใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ในช่วงที่กำลังเกิดขึ้นนั้นคนมักจะกล่าวถึงและวิจารณ์กันมากและส่วนมากมักจะมองภาพที่เลวร้ายสุดๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปเราก็มักจะพบว่าผลกระทบของมันนั้นไม่ได้รุนแรงเท่ากับที่พูดหรือคาดกัน ลองนึกย้อนหลังไปตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่เราสงสัยกันในตอนนั้นว่าประเทศไทยจะรอดหรือไม่ ไล่มาจนถึงปัญหาทางการเมืองที่รุนแรงจนคนคิดว่าเมืองไทยจะหมดอนาคตไม่มีใครจะมาลงทุน การปิดสนามบินที่คนพูดกันว่าความเสียหายจะเป็นหลายแสนล้านบาท แต่ทุกอย่างที่พูดถึงนั้นนับถึงวันนี้ผมมองว่าเราผ่านมาได้โดยที่ความเสียหายนั้นน่าจะต่ำกว่าที่เคยกลัวกัน และล่าสุดในขณะนี้ที่คนบอกว่าความเสียหายจะมโหฬารจนทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงค่อนข้างมาก ซึ่งก็คงจะต้องดูกันต่อไปว่าเป็นจริงแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่า VI ไม่ควรจะคิดตามคนหมู่มากที่กำลังอยู่ในอารมณ์ร่วมที่รุนแรง ตรงกันข้าม เราควรคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ เราอาจจะเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นจากการที่คนกลัวเกินเหตุทำให้หุ้นมีราคาตกลงมามากเกินกว่าความเสียหายก็ได้