Value way
มนตรี นิพิฐวิทยา
การจากไปของ สแตนลี่ ดรักเคนมิลเลอร์ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา
คราวที่แล้วคุณวิบูลย์ได้หยิบยกเอาเรื่องของ สแตนลี่ ดรักเคนมิลเลอร์ อดีตมือขวาของ จอร์จ โซรอสมาเล่าสู่กันฟังไปแล้ว คราวนี้ผมจะขอมาต่อยอดนัยยะของการจากไปครั้งนี้ว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างไร
ไม่เพียงแต่สแตนลี่เท่านั้นที่กำลังเก็บกระเป๋าเดินหน้าเข้าสู่สนามกอล์ฟแทนการลงทุน ยังมีผู้จัดการกองทุนเฮดฟันด์อีกหลายต่อหลายรายกำลังจะทำเช่นเดียวกัน บางกองเริ่มลดค่าธรรมเนียมลง บางกองทุนกำลังล้มละลาย แต่การจากไปของสแตนลี่และการลดค่าธรรมเนียมของกองทุนเฮดฟันด์ รวมไปถึงการล้มละลายของกองทุนเฮดฟันด์อีกหลายกองนั้นเป็นเพียง เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ของสิ่งที่กำลังจะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้
บิลล์ กรอสส์ (Bill Gross) ผู้ร่วมก่อตั้ง PIMCO บริษัทจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา มีสินทรัพย์ในการลงทุนมากกว่า 1 Trillions USD ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
โลกกำลังเข้าสู่ สถานการณ์ใหม่ หรือ New Normal และจะไม่มีวันกลับไปสู่สถานการณ์เดิม หรือ Old Normal อีกต่อไป!!! สถานการณ์ใหม่นี้เป็นสถานการณ์ที่ประเทศต่างๆทั่วโลก ลดการก่อหนี้(De-leveraging) ลดความเป็นโลกาภิวัฒน์ลง (De-globalization) และ การเข้ามาควบคุมจากภาครัฐมากขึ้น (Re-Regulate)
การลดการก่อหนี้ (De-leveraging) นั้นในบ้านเราทำมากว่า10ปีหลังวิกฤติต้มยำกุ้งแล้วครับ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐฯ ยุโรปกำลังเริ่มทำเหตุเพราะวิกฤติการเงินที่ผ่านมา ประเด็นนี้เป็นเรื่องหลักของการลงทุนเลยก็ว่าได้ การลดการก่อหนี้นั้นนำมาซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ ผู้คนไม่กล้าใช้เงินในการบริโภค บริษัทห้างร้านหยุดการขยายกิจการ แม้เงินเฟ้อจะต่ำ ดอกเบี้ยจะถูก สถานการณ์นี้ก็จะยังคงดำเนินต่อไปเช่นที่เราเห็นในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป สถานการณ์นี้ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนมีกำไรลดลง ผลตอบแทนจากพันธบัตรต่ำลง การกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการลงทุน(Margin loan) สูงขึ้นจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น เฮดฟันด์ทำกำไรได้มากจากการกู้ยืมเงินมาลงทุน หากต้นทุนการกู้ยืมเงินลงทุนสูง ผลตอบแทนในตลาดได้ต่ำลง ผลดำเนินงานที่เคยได้รับในอัตราที่สูงมาหลายทศวรรษจะลดต่ำลงจนไม่คุ้มที่จะทำต่อไป
ลดความเป็นโลกาภิวัฒน์ลง (De-globalization) เรื่องนี้อาจฟังดูไม่น่าเป็นไปได้แต่มันเป็นไปแล้ว โลกจะถูกแบ่งเป็นสองขั่วคือ ขั่วกลุ่มประเทศที่พัฒนา (Developed countries) แล้วที่การเติบโตทางเศรษฐกิจเคยอยู่ในอัตราที่สูง หลังจากวิกฤติการเงินในปี 2007-2008 กลับเติบโตช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ขั่วกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา(Emerging Market) จากกลุ่มประเทศที่ยากจน อัตราเงินเฟ้อสูง การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ และเผชิญกับวิกฤติต่างๆมาหลายต่อหลายครั้ง กลุ่มประเทศเหล่านี้ล้วนมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกที่สูง(ประเทศไทยก็เช่นกัน) กว่า2ทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ลดการก่อหนี้ สะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ในปริมาณที่สูงมาก มีหนี้ต่างประเทศน้อย และรายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งหมดส่งผลให้กำลังซื้อของคนในกลุ่มประเทศนี้สูงขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นชัดเจน นำโดยประเทศจีน บราซิล อินเดีย รัสเซีย และกลุ่มประเทศอาเซียน ความไม่สมดุลของการค้าโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจ จะนำมาซึ่งการกีดกันทางการค้า เราได้เห็นสหรัฐอเมริกากำลังออกกฎหมายเล่นงานประเทศจีนในเรื่องค่าเงินที่ทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้าจากจีนในอัตราที่สูง การที่จีนกำลังผลักดันค่าเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินที่ใช้ค้าขายกันในกลุ่มประเทศเอเชียในช่วงเวลานี้ ชี้ให้เห็นการแบ่งขั่วกันอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
การเข้ามาควบคุมจากภาครัฐมากขึ้น (Re-Regulate) เมื่อประเทศไทยอยู่ในช่วงแก้ไขปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง เราจะได้ยินข่าวการเข้ามาแทรกแซงจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง ขณะนี้ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปก็กำลังทำเช่นเดียวกันนี้กับประเทศของเขาอยู่ ไม่เพียงแค่นั้น ทางการยังเข้าไปค้ำประกันหนี้บ้าน หนี้รถให้ประชาชนของเขา รวมไปถึงออกสวัสดิการต่างๆให้แก่ประชาชนของเขามากมาย การเข้ามายุ่งเกี่ยวของภาครัฐฯนี้นำมาซึ่งหนี้สินที่สูงขึ้นของประเทศ มันเป็นเพียงการย้ายหนี้ของภาคเอกชน ประชาชนมาเป็นหนี้ของรัฐบาล ซึ่งแน่นอนประชาชนทุกคนยังคงเป็นหนี้นั้นอยู่ หรือที่เรียกว่า หนี้สาธารณะ ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วมีหนี้สาธารณะสูงกว่า100%ของผลผลิตมวลรวมของประเทศอยู่แล้ว การเข้ามาควบคุมมากขึ้นนี้นำไปสู่ความเสี่ยงของประเทศที่สูงขึ้นไปอีกเหมือนที่เราเคยประสบมาเมื่อกว่า10ปีที่ผ่านมา การควบคุมนี้รวมไปถึงการควบคุม Shadow Banking หรือ การทำธุรกรรมทางการเงินการลงทุนที่ไม่ได้รับการควบคุมจากกฎเกณฑ์ภาครัฐฯ เช่น เฮดฟันด์ต่างๆด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เราได้เห็นกันแล้ว บิลล์ กรอส กล่าวว่าเรากำลังเดินเข้าสู่สถานการณ์ใหม่หรือ New Normal ที่ผลตอบแทนการลงทุนไม่สูงเหมือน 20ปีที่ผ่านมา ความเสี่ยง ความผันผวนจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ต่างๆจะเพิ่มขึ้น การเก็งกำไรจะทำได้ยากขึ้นและต้นทุนสูง
และนี่อาจเป็นต้นเหตุของการจากไปของ สแตนลี่ ดรักเคนมิลเลอร์ ผู้ช่ำชองในวงการเฮดฟันด์ของโลก แต่สำหรับนักลงทุนแบบเน้นมูลค่าแล้ว เรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่สร้างโอกาส เราเลือกสรรกิจการที่ฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีเงินสดมากๆ มีรูปแบบธุรกิจที่ดี สามารถปรับราคาสินค้าได้ตามการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้ กิจการเหล่านี้จะสามารถทนทานต่อวิกฤติต่างๆ และมีลู่ทางในการเติบโตได้ดีในสถานการณ์ที่เป็นปัญหาของกิจการอื่นๆเสมอมา
การจากไปของ สแตนลี่ ดรักเคนมิลเลอร์:มนตรี นิพิฐวิทยา
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 795
- ผู้ติดตาม: 0
การจากไปของ สแตนลี่ ดรักเคนมิลเลอร์:มนตรี นิพิฐวิทยา
โพสต์ที่ 1
Miracle Happens Everyday !
"ปาฎิหารย์คือการเดินบนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว"
"ปาฎิหารย์คือการเดินบนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว"
- freedomlife
- Verified User
- โพสต์: 214
- ผู้ติดตาม: 0
การจากไปของ สแตนลี่ ดรักเคนมิลเลอร์:มนตรี นิพิฐวิทยา
โพสต์ที่ 2
ขอบคุณครับ บทความดี ๆ