เมื่อสองสามวันก่อนผมได้เริ่มขับรถส่วนตัวไปร่วมสังสรรค์กับเพื่อนกลุ่มนักลงทุน VI ในช่วงเย็นอีกครั้งหลังจากหยุดกิจกรรมที่เคยทำทุกไตรมาศมานานนับสิบปีหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อ 5-6 เดือนก่อน ผมเองไม่ได้ขับรถช่วงเย็นที่เป็นช่วงเร่งด่วนแบบนี้มานานแต่ก็จำได้ว่าในอดีตนั้น เส้นทางที่ผมใช้คือทางด่วนที่ลงถนนพระราม 4 แถวคลองเตยแล้ววิ่งตรงไปทางกล้วยน้ำไทยนั้น เป็นช่วงที่รถติดหนักมาก แต่การขับรถครั้งนี้ปรากฏว่ารถกลับไม่ติดเลยแม้ว่าจำนวนรถอาจจะยังมากอยู่ ในความรู้สึกของผมก็คือ หลังจากโควิด19ในประเทศไทยสงบลงและเราเปิดธุรกิจในประเทศเกือบทั้งหมดแล้ว กิจกรรมของคนที่ต้องเดินทางประจำวันน้อยลงจนเห็นได้ชัดจากการจราจร จริงอยู่ บางคนอาจจะบ่นว่ารถกลับมา “ติดเหมือนเดิมแล้ว” แต่นั่นคงเป็นบางจุดหรือถนนบางสายและก็อาจจะเป็นบางช่วงเวลา ตัวอย่างเช่นในวันหยุดยาวที่คนเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในบางเส้นทาง หรือในถนนบางสายเช่นแถวศรีนครินทร์ที่มีการสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น แต่เส้นทางที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเช่นเส้นทางในศูนย์กลางของกรุงเทพ ผมคิดว่ารถน้อยลงชัดเจน ตัวอย่างที่ผมเห็นทุกวันก็คือถนนรางน้ำหน้าบ้านผมที่เคยเป็นแหล่งพักของนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ตอนนี้ “โล่งตลอด” นี่ก็เป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังถดถอยลง “อย่างแรง”
จำนวนคนเดินห้างก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังซบเซา หลายคนอาจจะเถียงว่าห้างใหญ่หลาย ๆ แห่งโดยเฉพาะที่อยู่ที่ “ขอบของกรุงเทพ” ที่ตนเองเดินประจำนั้น คนก็กลับมา “เหมือนเดิม” แล้ว หาที่จอดรถไม่ได้และ “คนแน่นยังกับแจกฟรี” แต่นั่นก็อาจจะเป็น “ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ห้างเหงามานานและก็อาจจะเป็นเฉพาะในวันหยุด วันธรรมดาที่เขาไม่ได้ไปนั้นคนอาจจะว่างมาก ผมเองเดินและจ่ายตลาดห้างหรูแถวสยามที่เป็นแหล่งสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างประเทศแทบทุกสัปดาห์ ผมยืนยันว่าห้างยังเหงามีคนเดินน้อยกว่าเดิมมาก ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ผมจ่ายสินค้าประจำวันนั้น ในอดีตจะมีคิวจ่ายเงินยาว เดี๋ยวนี้บางวันแทบไม่มีคิวเลย นี่ก็เป็นสัญญาณว่าคนไทยน่าจะใช้จ่ายน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในสินค้าที่ไม่จำเป็นและ/หรือสินค้าที่ใช้จ่ายโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
ที่น่าประหลาดใจเล็กน้อยที่ผมเห็นก็คือ สินค้าหรูหราและมีราคาสูงมากอย่างเช่น ร้านที่ขายสินค้าเครื่องแต่งกาย “ซุปเปอร์แบรนด์” หลายร้านนั้นมีคน “เข้าคิว” รอเข้าไปชมและซื้อสินค้าอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนโควิด19 แล้ว ราคาสินค้าของร้านเหล่านี้ไม่ได้มีการ “ลดราคากระหน่ำ” เพื่อเรียกลูกค้า ว่าที่จริงบางร้าน “ขึ้นราคา” สินค้าที่เคยขายด้วยซ้ำ นี่ทำให้ผมสรุปว่า คนที่มีฐานะมั่งคั่งสูงในสังคมไทยนั้น ไม่ได้ถูกกระทบมากจนต้องลดการใช้จ่ายลงเลย พวกเขาใช้จ่ายเหมือนเดิม และตอนนี้เนื่องจากว่าไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ เขาจึงใช้จ่ายในประเทศไทยแทน และนี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นในจีนที่ตอนนี้มีข่าวออกมาแล้วว่าสินค้าซุปเปอร์แบรนด์ขายดีขึ้นมากกว่าเดิมก่อนโควิด19 ด้วยซ้ำ
นอกจากเรื่องของสินค้าเครื่องแต่งกายหรูแล้ว บ้านหรูในช่วงหลังโควิดก็ดูเหมือนว่าจะขายดีขึ้นโดยเปรียบเทียบกับบ้านที่ขายคนส่วนใหญ่ทั่วไป ว่าที่จริงแม้แต่ในช่วงที่ยังปิดเมืองกันอยู่ก็มีสัญญาณแล้วว่าคนมาดูและซื้อบ้านหรูมากขึ้น นั่นแสดงว่าคน “ซุปเปอร์ริช” หรือคนรวยจัดนั้นไม่ได้ถูกระทบมากจากวิกฤติและยังซื้อสินค้าหรูและมีราคาแพงเหมือนเดิม นี่ก็พอจะเห็นได้จากการที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ขายบ้านหรูทำผลงานในไตรมาศ 2ได้ดีกว่าบริษัทที่เน้นบ้านราคาต่ำหรือระดับกลางที่ถูกกระทบอย่างแรง
บ้านมวลชนนั้นอาจจะขายได้น้อยลง แต่ธุรกิจพวกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างหลายแห่งอาจจะคุยว่ายอดขายไม่ตกในช่วงปิดโควิด นี่อาจจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ต้องระวังว่าสินค้าเหล่านี้มี Lag Time หรือเป็นสินค้าที่เมื่อเศรษฐกิจวิกฤติทันทีนั้น ความต้องการของสินค้ายังมีอยู่เหมือนเดิมเนื่องจากบ้านที่เริ่มสร้างแล้วก็จะต้องสร้างต่อไปจนจบถ้าเจ้าของยังมีกำลังอยู่ ผมเองก็กำลังสร้างเหมือนกันและพบว่างานก่อสร้างนั้นไม่เคยหยุดเลยในช่วงโควิด19 ดูเหมือนว่ามันจะเร็วขึ้นด้วยซ้ำเพราะคนงานไม่ขาดเหมือนในช่วงปกติ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ หลังจากนี้เมื่องานเริ่มเสร็จ และงานใหม่ก็ไม่เข้ามาเนื่องจากความต้องการบ้านหรืออาคารต่าง ๆ น้อยลง ธุรกิจก่อสร้างก็อาจจะเห็นยอดขายหดตัวอย่างแรงได้
การตกต่ำลงของเศรษฐกิจนั้น ผมคิดว่าสาเหตุหลักก็มาจากการที่ธุรกิจท่องเที่ยว การเดินทางและกิจกรรมที่คนต้องเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกันต้องหยุดลงเกือบจะสิ้นเชิง นั่นทำให้คนจำนวนมากนับล้าน ๆ คนต้องตกงานทันที พวกเขาต้องลดการบริโภคลง ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงไตรมาศ 2 และเราต่างก็คิดว่าหลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว ไตรมาศ 2 น่าจะต่ำสุดและช่วงต่อจากนี้ความเจ็บปวดก็น่าจะน้อยลง อย่างไรก็ตาม ผมก็ค่อนข้างประหลาดใจเมื่อได้ข่าวว่าลูกสาวเพื่อนที่ทำงานเป็นแอร์โฮสเตทของสายการบินระดับท็อป ๆ ของโลกแห่งหนึ่งถูกปลดแบบ “ฟ้าผ่า” หลังจากที่หยุดไม่ได้ทำงานมาหลายเดือนแล้วและกำลังหวังว่าจะกลับไปทำงานเนื่องจากสายการบินเริ่มจะกลับมาบินใหม่ในบางเส้นทาง เหตุการณ์นี้ทำให้ผมคิดว่า ในช่วงไตรมาศ 2 นั้น บริษัทหรือธุรกิจบางแห่งก็ยังพยายามรักษาคนงานไว้ แต่พอถึงวันนี้เขาก็รับกับค่าใช้จ่ายไม่ไหวและต้องปลดคนออกไป ช่วงเวลาเดียวกันรัฐบาลก็ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายแก่คนจำนวนมากเดือนละ 5,000 บาทจนสิ้นเดือนสิงหาคม ในอีกด้านหนึ่งแบ้งค์ชาติก็ยอมให้ลูกหนี้จำนวนมากพักการชำระเงินจนถึงเดือนกันยายน ทั้งหมดนี้ถ้าไม่ได้รับการต่ออายุอะไรจะเกิดขึ้น? ผมเองคิดว่าเศรษฐกิจคงไม่เลวร้ายลงกว่าไตรมาศ 2 แต่จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วผมก็ยังสงสัย
กลับมาเรื่องของการลงทุนบ้าง ในที่ประชุมสังสรรค์เพื่อน VI นั้น ทุกครั้งเราก็จะมีการ “เลือกหุ้น” ที่จะทำผลงานได้ดีใน 3 เดือนข้างหน้า โดยที่ทุกคนจะต้องเลือกหุ้นที่ตนเองชอบ ส่วนใหญ่ก็คนละ 2-3 ตัว พอพบกันอีกในไตรมาศหน้าก็จะมาดูว่าใครได้ผลตอบแทนเท่าไร นี่ก็เป็นกิจกรรมเล่น ๆ ที่ไม่ได้ซีเรียสหรือแข่งขันอะไรกันแต่ทุกคนก็มักจะเลือกในสิ่งที่ตนเองลงทุนจริง ๆ อยู่แล้ว ผลการเลือกในครั้งนี้มีการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดจากครั้งหลัง ๆ นั่นก็คือ ในช่วงน่าจะ 2-3 ปีมาแล้ว VI กลุ่มนี้มักจะเลือกหุ้นเวียตนามมากกว่าหุ้นไทย หุ้นไทยที่ถูกเลือกนั้นน้อยลงมาก ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาได้หันไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามมากขึ้น บางคนโดยเฉพาะที่เป็นชาวต่างชาตินั้นไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกแล้ว แต่ในครั้งนี้ปรากฏว่าจำนวนหุ้นที่ถูกเลือกกลับกลายเป็นหุ้นไทยเป็นส่วนใหญ่ นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าโควิดน่าจะทำให้หุ้นไทยบางกลุ่มหรือบางตัวมีความน่าสนใจมากขึ้นจน VI บางคนที่เคยทิ้งตลาดไปนั้นหันกลับมาลงทุนมากขึ้น
ความสนใจในหุ้นของคนไทยเองนั้น ผมคิดว่าเกิดขึ้นกับคนทั่วไปด้วยเห็นได้จากจำนวนนักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วงโควิด19 นี่ก็เป็นอะไรที่แปลกเหมือนกัน เหตุผลนั้นผมคิดว่า ประการแรก เป็นเพราะคนที่มีฐานะดีและมีเงินสดอยู่มากนั้นไม่ได้ถูกกระทบจากโควิด พวกเขาคิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นที่ตกลงมานั้นเป็นโอกาสงดงามที่จะทำกำไรอย่างง่าย ๆ เมื่อเทียบกับการฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก ประการต่อมาก็คือ พวกเขาคิดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะถูกกระทบนั้น น่าจะเกิดขึ้นครั้งเดียว หลังวิกฤติแล้วทุกอย่างก็จะกลับมาภายใน 1-2 ปีหรืออย่างมากก็อาจจะ 3 ปี เรื่องที่บริษัทจะ “ล่มสลาย” หรือล้มละลายไปนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สภาพคล่องในระบบการเงินของไทยยังมีเหลือล้น ตราสารหนี้ที่ออกมาก็ยังมีคนต้องการอีกมาก เมื่อโควิดผ่านไปและลูกค้ากลับมา รายได้และกำไรของบริษัทก็จะกลับมา “เหมือนเดิม” และสุดท้ายก็คือ ตลาดหุ้นต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกานั้น ดัชนีหุ้นกลับมาที่เดิมและสูงกว่าแล้ว และผลประกอบการของบริษัทโดยเฉพาะในกลุ่มไฮเท็คนั้นก็เพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น เขาเชื่อว่าในที่สุดบริษัทและหุ้นไทยก็จะต้องตามกันไป
ข้อสรุปทั้งหมดของผมก็คือ ภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่อจากนี้น่าจะยังลำบากอยู่มาก โอกาสฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่หุ้นที่ตกลงไปแรงมากกลับฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเม็ดเงินของคนไทยและนักลงทุนไทยซึ่งยังมีเงินมากและไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อความจริงเริ่มจะปรากฏออกมาเรื่อย ๆ ก็อาจจะมีความเสี่ยงว่า นักลงทุนจะเริ่มตระหนักและถอนเงินออก และวันนั้นก็อาจจะเป็นวันที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาให้เหมาะสมกับพื้นฐานที่แท้จริงของตลาดหุ้นไทย
สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2
สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 1
- IndyVI
- Verified User
- โพสต์: 3530
- ผู้ติดตาม: 0
Re: สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 2
FM.96.5 | รู้ใช้ เข้าใจเงิน | สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย กับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร 24 ส.ค. 63
https://youtu.be/j2G9tpRrf1M
https://youtu.be/j2G9tpRrf1M
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
# Howard Mark #
-
- Verified User
- โพสต์: 265
- ผู้ติดตาม: 0
Re: สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 3
ผมสนใจตลาตเวียดนามตามที่ท่าน ดร.กล่าวถึง หากเป็นไปได้อยากชมพอต ดร.ย้อนหลังทค่ท่านไปลงในหุ้นเวียดนาม ปรกติท่านลงทุนในSET จะเปิดเผยพอตมาโดยตลอต เพื่อประกอบการตัดสินใจ ด้วยความเคารพครับ