Technological Disruption: EV, AV, Taas (1)/ดร.ศุภวุฒิ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

Technological Disruption: EV, AV, Taas (1)/ดร.ศุภวุฒิ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ผมได้เคยเขียนถึงเรื่องรถไฟฟ้า (EV) และรถขับเองได้ (AV) มาก่อนหน้าแล้ว และปัจจุบันก็มีความตื่นตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับ EV โดยคนที่ผมได้พบ และรู้จักมักจะถามว่า รถ EV จะมาเมื่อไร ควรจะซื้อรถใหม่ที่เป็นรถเครื่องเบนซิน/ดีเซล หรือรอซื้อรถ EV 

หลายคนยังแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ซึ่งผมเห็นควรว่า รถไฟฟ้านั้นจะกระทบกระเทือนอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยอย่างกว้างขวางได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศจีน มีความมุ่งมั่นที่จะเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม EV อย่างจริงจัง

สำหรับข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีนที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปนั้น ผมเข้าใจว่าในส่วนของไทยได้เปิดโอกาสให้จีนสามารถส่งออก EV มายังประเทศไทยได้แบบปลอดภาษีศุลกากร ตามหลักการดังกล่าว แต่รัฐบาลจะพยายามสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ ทำให้จีนไม่สามารถนำ EV เข้าไทยได้มาก

แต่ความกังวลดังกล่าวนั้น อาจเป็นความกังวลที่ยังมองประเด็นของพัฒนาการทางเทคโนโลยีในมุมที่แคบเกินไป กล่าวคือหากผู้เชี่ยวชาญด้าน Disruptive Technology เช่น นาย Tony Seba แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ประเมินอนาคตได้ถูกต้องแล้ว พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะสร้างความพลิกผัน (หรือ Disruption) ได้อย่างรุนแรง และกว้างขวางมากขึ้น มากกว่าการที่ประชาชนจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากการซื้อรถยนต์เครื่องเบนซิน/ดีเซลไปสู่การซื้อรถ EV

Tony Seba ยกตัวอย่าง บริษัทโกดัก (Kodak) ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ผลิตฟิล์มถ่ายรูปและฟิล์มถ่ายหนังซึ่งมียอดขายเท่ากับ 14,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2000 และทำกำไรได้1,400 ล้านดอลลาร์ เพราะทั่วโลกถ่ายรูป 80,000 ล้านรูป และล้าง/อัดรูป 100,000 ล้านรูป

แต่เพียง 12 ปีให้หลังคือในปี 2012 ปรากฏว่า โกดักต้องล้มละลายลงไปเพราะระบบถ่ายรูปแบบดิจิทัล (digital photography) เข้ามาทดแทนฟิล์มอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ทั้งๆ ที่ โกดัก เป็นบริษัทที่คิดค้น digital photography ได้เป็นบริษัทแรกๆ

ในทำนองเดียวกันบริษัทยักษ์ใหญ่อีกบริษัทหนึ่งคือ AT&T ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาที่โด่งดังคือ McKinsey ประเมินในปี 1985 ว่าโทรศัพท์มือถือนั้นจะมีคนเอาไปใช้อย่างกว้างขวางเพียงใดในปี 2000

Mckinsey วิเคราะห์อย่างละเอียดและสรุปว่าจะมีคนใช้โทรศัพท์มือถือไม่ถึง 1 ล้านราย แต่ปรากฏว่าในปี 2000 มีคนใช้โทรศัพท์มือถือมากถึง 109 ล้านราย ทำให้ AT&T เสียโอกาสในการทำธุรกิจมือถือ (และคนรุ่นใหม่หลายคนคงไม่ค่อยทราบว่า AT&Tนั้นเป็นเจ้าแม่ของโทรศัพท์ที่ใช้สายในสหรัฐ)

นาย Tony Seba ยกตัวอย่างโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ ว่าเมื่อประมาณ 10 ปี(ก่อนหน้าที่บริษัท Apple เป็นผู้บุกเบิกในส่วนของโทรศัพท์มือถือประเภทนี้) ผู้บริหารระดับสูง และผู้รู้ด้านเทคโนโลยีหลายคนไม่เชื่อว่าสมาร์ทโฟนจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

เขายกตัวอย่างการประเมินในปี 2007 ของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ iPhone ซึ่งผมขอนำเสนอโดยไม่แปลเป็นไทยดังนี้

“There is no chance that the iPhone is going to get any significant market share. No chance”

Steve Ballmer, CEO Microsoft

 “The iPhone’s impact will be minimal. lt will only appeal to a few gadget freaks. Nokia and Motorola have nothing to worry about”

Bloomberg Analyst

ปัจจุบันเรากำลังเห็นพวก ”gadget freaks”  แย่งกันซื้อ iPhone X เป็นหลายล้านเครื่องทั่วโลกในปี 2017 สะท้อนให้เห็นว่าบางครั้งผู้เชี่ยวชาญนั้น สามารถผิดพลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งต้องกลับมาตั้งตำถามว่าความผิดพลาดในการประเมินและคำนวณของผู้เชี่ยวชาญ และคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

คำตอบส่วนสำคัญนั้นน่าจะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ Technological Convergence หรือ การที่พัฒนาการของเทคโนโลยีบางประเภท พัฒนามาถึงจุดที่จะถูกนำไปใช้ร่วมกันได้อย่างคุ้มค่าทางการค้า พร้อมๆกัน

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ความนิยมและการแพร่ขยายของเทคโนโลยีหรือสินค้าดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น “S curve” กล่าวคือ ยอดขายจะไม่ได้ค่อยๆ ปรับตัวขึ้นเป็นเส้นตรงดังที่นักวิเคราะห์ มักจะคาดการณ์อนาคต แต่ยอดขายจะพุ่งขึ้นหลายสิบเท่าในระยะเวลาไม่กี่ปี 

นาย Seba วิเคราะห์ว่าจุดที่เกิด Technology Convergence สำหรับ iPhone ที่กลายเป็นเทคโนโลยีพลิกผัน (และทำให้ Nokia และ Motorola เข้าสู่ภาวะล้มละลายและยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในวันนี้) นั้นเป็นเพราะเทคโนโลยี 4 ประการที่พัฒนาตัวถึงจุดที่ทำให้ iPhone เกิดมาเป็นสินค้าใหม่ (smart phone) ที่มีศักยภาพสูงกว่า และราคาต่ำกว่าโทรศัพท์มือถือคู่แข่งอย่างเทียบกันไม่ได้คือ

1.เทคโนโลยีการเก็บข้อมูล (data storage) ซึ่งต้นทุนลดลง 50% ทุกๆ 18 เดือน

2.ความละเอียดของจอภาพ (digital imaging) ซึ่งต้นทุนพิกเซล ต่อดอลลาร์ลดลง 59% ต่อปี

3.ต้นทุนการส่งข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือลดลง 50% ทุกๆ 6 เดือน

4.จอโทรศัพท์ touchscreen แบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน ซึ่งราคาลดลงจนทำให้นำมาใช้กับโทรศัพท์ iPhone ได้ในราคาที่จับต้องได้โดยผู้บริโภค

คำถามต่อไปคือ กำลังเกิด Technological Convergence ที่จะทำให้ รถAV EV และTransportation as a service (Taas) เกิดขึ้นภายใน 12 ปีข้างหน้า ดังที่นาย Tony Sebaคาดการณ์หรือไม่
[/size]
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: Technological Disruption: EV, AV, Taas (1)/ดร.ศุภวุฒิ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

Technological Disruption: EV, AV, Taas (2) / ดร.ศุภวุฒิ

ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึงแนวคิดและการวิเคราะห์ของนาย Tony Seba แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ซึ่งเชื่อว่ากำลังเกิด Technological convergence (เทคโนโลยี ต่าง ๆ 3-4 แขนง พัฒนามาถึงจุดหนึ่งพร้อมกัน) จนจะทำให้เกิดความพลิกผันในอุตสาหกรรมรถยนต์ และการขนส่งของโลก ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างฉับพลันกว้างไกล

ไม่เพียงแต่รถไฟฟ้า (EV) จะมาทดแทนรถยนต์เบนซิน/ดีเซล ได้มากน้อยเพียงใด (ซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย) แต่ผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจโลกนั้น จะกว้างเกินกว่าอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง

Tony Seba ฟันธงว่าภายในปี 2030

1) ความต้องการพลังที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นของโลกทั้งหมดจะได้มาจากแสงอาทิตย์ หรือ ลม

2) รถที่ขายในท้องตลาดเกือบทั้งหมดจะเป็น EV

3) รถทั้งหมดจะเป็น AV หรือ semi-autonomous (ขับเอง หรือคนจะเลือกขับก็ได้)

4) ยอดขายรถยนต์จะลดลง 70% (จากประมาณ 100 ล้านคันต่อปี เป็น 30 ล้านคันต่อปี)

5) บริษัทขายรถจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ราคาน้ำมันจะลดลงเหลือ 25 เหรียญต่อ บาร์เรล

6) ประชาชนจะเลิกเป็นเจ้าของรถและรถ Taxi จะสูญพันธ์

การคาดการณ์ของ Tony Seba นั้น ถือได้ว่าเป็นเสียงส่วนน้อย โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า EV จะเข้ามาทดแทนรถเบนซิน/ดีเซล อย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ธนาคาร UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ คาดการณ์ว่ายอดขาย EV ในปี 2025 จะมีส่วนแบ่งของตลาดเท่ากับ 14% เมื่อเทียบกับ 1% ในปี 2017 หลายฝ่ายมองว่ายอดขาย EV จะมีส่วนแบ่งของตลาดรถยนต์ประมาณ 30% ในปี 2040

การมองต่างมุมของ Tony Seba นั้น เป็นผลมาจากการที่เขาฟันธงว่า เทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ กำลังพัฒนามาถึงจุดที่เมื่อนำมาใช้ร่วมกัน (Technological convergences) จะทำให้ความพลิกผันเกิดขึ้นได้แก่ แบตเตอรรี่, AV, พลังแสงอาทิตย์ และ Ride hailing/sharing หรือ Uber

1) แบตเตอร์รี Tony Seba ประเมินว่าต้นทุนแบตเตอรีลิเธียมไอออน (Li-Ion) ปรับลดลงเฉลี่ย 14% ต่อปีในช่วง 1995 – 2010 และลดลง 16% ต่อไป ในช่วง 2010-2014 ดังนั้น หากราคายังลดลงในอัตรา 16% ต่อปีต่อไปราคา Li-Ion จะลดลงจาก 300 ดอลลาร์ต่อ 1 kwh ในปี 2017 เหลือ 50 ดอลลาร์/kwh ในปี 2030 ซึ่งจะทำให้รถ EV ที่ปัจจุบันราคา 35,000 ดอลลาร์ ลดลงเหลือ 20,000 เหรียญในปี 2022

ในจุดนั้น รถเบนซิน/ดีเซล จะเริ่มขายได้ยากเพราะ รถ EV นั้น ใช้ไฟเพื่อวิ่ง 60,000 ไมล์ ใน 5 ปี เพียง 1,565 ดอลลาร์ แต่รถปัจจุบันจะต้องเติมน้ำมันคิดเป็นเงิน 15,000 ดอลลาร์ เพื่อจะวิ่งระยะยาวเท่ากัน คนเกือบทั้งหมดจึงจะหันมาซื้อรถไฟฟ้า

2) เทคโนโลยี AV ต้องพึ่งพาเซ็นเซอร์ที่ “มองเห็น” ได้รอบด้าน คือ Li Dar (Light Detection and Ranging) Li Dar ซึ่งราคา 70,000 ดอลลาร์ ในปี 2012 ราคาได้ลดลงมาเหลือ 1,000 ดอลลาร์ ในปี 2014 และน่าจะลดลงมาเหลือ 100 ดอลลาร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยรถ 1 คัน คงจะต้องใช้ Li Dar ประมาณ 4 ตัว

นอกจากนั้น ต้นทุนของ super computer ที่ต้องใช้ขับเคลื่อนรถนั้น ก็ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น super computer ในปี 2000 ราคา 46 ล้านดอลลาร์ และใช้พื้นที่ 150 ตารางเมตร แต่แผงวงจรที่ถือในมือได้วันนี้ ซึ่งมีศักยภาพสูงกว่า super computer ปี 2000 กว่า 2 เท่าตัว มีราคาเพียง 59 ดอลลาร์

3) ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ก็กำลังลดลงอย่างมาก เพราะราคาแผง Solar cell ก็กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งราคา Li-Ion ที่ลดลงจะทำให้ต้นทุนการกักเก็บไฟฟ้าเอาไว้ใช้ทั้งที่บ้านและในรถ EV ลดลง

4) Ride hailing (Uber) นอกจากรถเบนซิน/ดีเซล จะมีต้นทุนในการขับเคลื่อนสูงกว่า EV เกือบ 10 เท่าตัวแล้ว ยังมีต้นทุนในการดูแลรักษาสูงกว่า EV อย่างมาก เพราะมีชิ้นส่วนที่สึกหรอมากถึง 2,000 ชิ้น ขณะที่ EV มีชิ้นส่วนดังกล่าวเพียง 20 ชิ้น ดังนั้น รถ EV จึงอายุใช้งานถึง 500,000 ไมล์ เทียบกับรถเบนซิน/ดีเซล ที่มีอายุใช้งาน 100,000 – 140,000 ไมล์

แต่ปัจจุบันซึ่งเจ้าของรถใช้รถโดยเฉลี่ยเพียง 2 ชม./วัน (อีก 90% ของวัน รถจอดอยู่เฉย ๆ ) อายุใช้งาน 100,000 ไมล์ จึงไม่มีปัญหา แต่บริษัท เช่น Uber ซึ่งจะสามารถนำ EV มาใช้ได้ 40% ต่อวัน ทำให้ค่าบริการถูกกว่าการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวหลายเท่าตัว

Tony Seba คำนวณว่า การใช้รถส่วนตัวนั้น จะมีต้นทุน 0.65 ดอลลาร์ต่อไมล์ในปี 2021 และเพิ่มขึ้นเป็น 0.78 ดอลลาร์ในปี 2030 หากใช้ EV ส่วนตัว ก็จะมีต้นทุน 0.62 ดอลลาร์ในปี 2021 ลดลงเป็น 0.61 ดอลลาร์ในปี 2030 แต่หากใช้บริการ Transport as a service (เช่น Uber) ก็จะจ่ายเงิน 0.16 ดอลลาร์ต่อไมล์ในปี 2021 และลดลงเหลือ 0.10 ดอลลาร์ต่อไมล์ในปี 2030

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ Taas ใช้รถ EV 40% ต่อวันไม่ใช่ 5-10 % ต่อวัน และรถ EA มีต้นทุนในการบำรุงรักษาต่ำมาก นอกจากนั้นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าก็จะลดลงไปได้อีก(เพราะใช้ solar cell) ที่สำคัญคือผู้โดยสารรถ AV จะกลายเป็นลูกค้าที่สามารถบริโภคสินค้าและบริการในขณะที่นั่งอยู่ในรถ AV

ดังนั้น จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำ 33 บริษัทที่ลงทุนใน AV ซึ่งนอกจากบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ทุกบริษัทแล้ว ก็ยังมียักษ์ใหญ่ เช่น Apple, Google, Intel, Bosch, Delphi และ Microsoft รวมอยู่ด้วยครับ
โพสต์โพสต์