โค้ด: เลือกทั้งหมด
ทุก ๆ ปีที่ผ่านไปทุกคนรู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้น แต่ผลตอบแทนน้อยลง การลงทุนแม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดี แต่ในภาพใหญ่นักลงทุนก็ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อผลตอบแทนที่น้อยลง ในขณะที่ความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ แต่ความคิดที่ว่าทำงานน้อยลง เพื่อให้ได้รายได้มากขึ้นก็ยังเป็นความฝันของคนทุกคน เรื่องอิสรภาพทางการเงินเป็นเป้าหมายของหนุ่มสาวในยุคนี้ ในขณะเดียวกันสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แรงงานในวัยทำงานซึ่งเป็นต้นทุนหรือ Input หลักอย่างหนึ่งของระบบเศรษฐกิจจะน้อยลงเรื่อย ๆ ปี 2560 จะเป็นปีแรกที่ประชากรไทยเติบโตเท่ากับ 0% คำถามคือเราควรวางแผนชีวิตปีหน้าอย่างไรดีเพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องทำงานน้อยลง รายได้มากขึ้นได้
วิธีเดียวที่เราจะสามารถ Work Less, Earn More ได้ คือ การเพิ่มผลิตภาพหรือ Productivity นี่คืออัตราส่วนระหว่างผลผลิตที่ทำได้ เมื่อเทียบกับปัจจัยการผลิตที่เราใส่เข้าไป (Output/Input) เช่นสำหรับคนทั่วไป ผลผลิตก็คือเงินเดือนหรือรายได้ หารด้วยปัจจัยการผลิต คือแรงงานของเรา ถ้าเป็นบริษัท ผลผลิตก็เป็นกำไร เมื่อเทียบกับปัจจัยการผลิต คือ ทุน (เช่นแรงงาน เงินทุน เทคโนโลยี) หรือในมุมบริษัท Productivity ก็อาจจะมองเป็นสัดส่วนการเงินอย่าง Return on Equity (ROE) ก็ได้ไม่ผิดนัก
ที่ผ่านมาประเทศมั่งคั่งขึ้น คนชั้นกลางร่ำรวยขึ้น เพราะเราสามารถเพิ่มผลผลิต (Output) ได้มาโดยตลอด ตั้งแต่ย้ายจากภาคการเกษตรมาสู่ภาคการผลิต เช่นการย้ายชาวนามาทำงานในโรงงาน หรือย้ายมาสู่ภาคบริการ เช่น ร้านค้าปลีก โรงแรม และในระหว่างนั้น เราก็เพิ่ม Output โดยการ “เพิ่มเวลาการทำงาน” คือการทำงานล่วงเวลา หรือ ทำโอที (Over time) การเพิ่มผลผลิตลักษณะนี้ “ไม่สามารถอยู่ได้” ในระยะยาวหากเราไม่เพิ่ม “ผลิตภาพ” หรือ Productivity ควบคู่กันไปด้วย เช่น แรงงานต้องเพิ่มทักษะความสามารถในการทำงาน การศึกษาไทยก็ต้องตอบโจทย์ผู้ประกอบการ ให้สิ่งที่เรียนมา สามารถนำมาใช้งานจริง และต่อยอดได้ นอกจากนั้น เจ้าของเงินทุนก็ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี และเครื่องจักรไปพร้อม ๆ กัน เสียดายที่ิสิ่งเหล่านี้ในประเทศไทยเกิดได้ช้าหรือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จนทำให้ภาพรวมประเทศเสียความสามารถในการแข่งขันบางส่วนให้กับประเทศเกิดใหม่ โรงงานในยุคปัจจุบัน น้อยแห่งที่จะมีโอทีเฟื่องฟูเหมือนแต่ก่อน หลายที่ต้องปรับลดคนงาน สาเหตุเพราะความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ลดลง เพราะเรามีผลิตภาพลดลง
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นมาก และผลิตภาพตามขึ้นมาไม่ทัน Input ก็สามารถเพิ่มได้ยาก เพราะเราทำงานเต็มไม้เต็มมือแล้ว ครอบครัวบางส่วนจึงเลือกที่จะลดค่าใช้จ่าย รัดเข็มขัด หรือลด Output แทน สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดที่สุดในสังคมยุคใหม่คือ ลดการมีบุตร เพราะนี่คือค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด กว่าลูกจะสร้างผลผลิตให้ครอบครัวได้ก็ต้องใช้เวลา 20 กว่าปี ผลผลิตต่อหัวของครอบครัวจะลดลงทันที 33% เมื่อมีลูกคนแรกเพราะตัวหารเพิ่มขึ้น สังคมยุคนี้ต่างจากสมัยก่อนที่ลูกอายุ 10 ขวบก็ช่วยงานได้มากแล้ว ภาคธุรกิจก็เลือกที่จะลดการลงทุนลง เก็บเงินสด หรือลงทุนเสี่ยงน้อยลง มองธุรกิจเป็น Cash Cow มากกว่าการมองการเติบโต สิ่งนี้ยิ่งทำให้ภาพระยะยาวลำบากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเกิดวงจรด้านลบหรือ Vicious cycle ดังนั้นการเลือกชะลอ Output มักเป็นทางเลือกที่ไม่ดีนักในระยะยาว
ในขณะที่การเพิ่ม Input อาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะปกติเราก็ทำงาน 8 ชม.ต่อวันอยู่แล้ว การทำงานมากกว่านี้จะเป็นการบั่นทอนสุขภาพ ดังนั้นการเลือกเพิ่มผลิตภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องมอง วิธีเพิ่มผลิตภาพ คิดง่าย ๆ ว่า เราต้องทำทุกสิ่งให้ “เร็วขึ้น” “คุณภาพดีขึ้น” “ต้นทุนถูกลง” โดยการลดความสูญเสียลง และต้นทุนที่แพงที่สุดของคนทั่วไป คือ “เวลา” ดังนั้น “การลดการสูญเสียเวลา” เป็นวิธีการเพิ่มผลิตภาพที่ “ฉลาดที่สุด” สำหรับคนทั่วไป
เราสามารถลดการสูญเสียเวลาได้ยากในยุคนี้ เพราะธุรกิจต่าง ๆ มักจะ “ช่วงชิง” เวลาไปจากเรา เพราะนี่คือสิ่งมีค่าในทางเศรษฐกิจ ถ้าตั้งคำถามเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า คนกรุงเทพฯ หรือคนเมืองใหญ่เสียเวลากับอะไรมากที่สุด คำตอบคือการจราจร แต่ยุคนี้ผมคิดว่าคำตอบอาจจะเป็น Facebook หรือออนไลน์ ถ้ามียมบาลทุ่มเงินเพื่อแลกกับเวลาหรืออายุขัยของคุณ คงไม่มีใครอยากแลก แต่เรากลับแลกง่าย ๆ กับบางสิ่งบางอย่างรอบตัว
สุดท้ายแล้วถ้าทุกคนพยายามเพิ่มผลิตภาพตัวเอง ธุรกิจที่คุณทำอยู่ก็จะแข็งแรงขึ้น ในภาพใหญ่ประเทศชาติก็จะแข็งแรงขึ้นเอง นี่คือหลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ แต่ในระหว่างทางที่เรากำลังเพิ่มผลิตภาพ ก็อย่าลืมเพิ่มความหมายอะไรบางอย่างกับชีวิต วันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ครอบครัวผมเดินทางไปหัวหินและชะอำ เรานั่งรับประทานร้านข้างทาง เมื่อทานเสร็จ เรียกเจ้าของคิดเงิน เขาบอกว่า “กินฟรีครับพี่ ผมทำดีเพื่อพ่อ” และเป็นแบบนี้หลาย ๆ ร้านโดยที่พวกเขาไม่ได้นัดหมาย นี่คือผลิตภาพในอีกมิติหนึ่งของสังคมไทยที่ไม่เคยห่างหายไป ขอส่งท้ายปีลิงและต้อนรับปีไก่ที่จะมาถึงครับ