เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน (Disruptive Technology)

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน (Disruptive Technology)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการที่มีผู้เขียนลงในพันทิพย์อธิบายว่าการใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ (สีม่วง) เดินทางไป-กลับบางใหญ่ซอยนานา โดยต้องต่อรถ (ราง) ไฟฟ้า 3 สายและรถเมล์อีก 1 กิโลเมตรนั้นใช้เวลานานกว่าและแพงกว่ากรขับรถส่วนตัว

ต่อมาก็ได้มีการลดค่าเดินทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงลงไป แต่คำถามที่น่าคิดต่อไปอีกคือหากมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างพลิกผัน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Disruptive technology (ซึ่งอาจแปล ตรงตัวว่าเป็นเทคโนโลยีที่ถอนรากถอนโคนเทคโนโลยีเดิม) อะไรจะเกิดกับการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจของคนในเมืองใหญ่ ซึ่งผมจะขอนำเอาจินตนาการของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มานำเสนอในตอนนี้และตอนต่อไปครับ 

ทั้งนี้ต้องขอบอกก่อนเลยว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่พยายามรวบรวมข้อมูลข่าวสารในด้านนี้เพื่อจะได้คิกต่อไปว่ากระทบกับ เศรษฐกิจของไทยและภาคการผลิตต่างๆ อย่างไรบ้าง และจะอ้างถึงการวิจัยของ McKinsey อยู่เป็นบางครั้ง

แต่ McKinsey เองก็ยอมรับว่าเคยประเมินผิดพลาดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนที่ AT&T ของสหรัฐว่าจ้างให้ประเมินศักยภาพของโทรศัพท์มือถือและ McKinsey คาดการณ์ว่าในปี 2000 จะมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือประมาณ 900,000 เครื่อง แต่ปรากฏว่าในปี 2000 มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 109.5 ล้านเครื่องในสหรัฐ (และน่าจะมีมือถือ 5 พันล้านเครื่องทั่วโลกภายในปีหน้า)

ผมได้เขียนถึงรถไฟฟ้ามามากแล้ว แต่ขอสรุปประเด็นหลักอีกครั้ง เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการมองภาพความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของเมือง ใหญ่ใน 20 ปีข้างหน้า (ตามที่ประเทศไทยจะจัดทำให้มีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีภายในกลางปีหน้า)

1.การเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ รถไฟฟ้าสร้างมลภาวะน้อยกว่ารถยนต์เบนซินและดีเซล ตอนนี้เพียงแต่รอให้ราคาแบตเตอรี่ปรับลดลงประมาณ 50% และให้ขับได้ 400-500 กม.ต่อการเติมไฟหนึ่งครั้ง ก็จะทำให้รถไฟฟ้าราคาเท่ากับหรือต่ำกว่ารถเครื่องเบนซินและดีเซล

2. McKinsey คาดว่าภายในปี 2030 รถไฟฟ้า (รวมรถ hybrid หรือลูกผสมด้วย) จะมียอดขายประมาณ 50% ของยอดขายรถทั้งหมดในจีน ยุโรปและสหรัฐและ เป็นสัดส่วน 30% ของยอดขายทั่วโลก ผมเกรงว่าหากข้อ 1 เกิดขึ้นจริงทำให้รถไฟฟ้าราคาถูกกว่ารถยนต์เบนซินและดีเซลเมื่อใด ทุกประเทศหลัก (โดยเฉพาะในเมืองใหญ่) จะห้ามการขายรถยนต์เบนซิน/ดีเซลในทันทีเพื่อลดมลภาวะ ซึ่งจะทำให้เกิด mass adoption หรือการใช้รถไฟฟ้าแทนที่รถยนต์เบนซินและดีเซลอย่างฉับพลัน

3.บางคนแย้งว่ารถไฟฟ้าต้องเติมไฟฟ้า ทำให้ต้องผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยหากใช้ถ่านหินหรือน้ำมันเตาก็จะมิได้ลดมลภาวะหรือปัญหาโลกร้อนแต่อย่างใด คำ ตอบคือพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีทำให้แผง solar cell เป็นกระเบื้องมึงหลังคาและผลิตไฟฟ้าใช้ในราคาถูกได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เว้นแต่ในบางกรณีที่ภาวะอากาศไม่เป็นใจแลเกิดภาวะฉุกเฉิน สถาบัน TDRI ของไทยมองว่า “mass adoption of solar rooftop in Thailand is near”

4.หากรถไฟฟ้า (ส่วนตัว) ราคาถูกลงและพลังงานผลิตได้จากพลังแสงอาทิตย์ที่บ้านเรือน ก็เป็นไปได้ว่าความต้องการใช้การขนส่งสาธารณะลดน้อยลงหรือไม่ เพิ่ม ขึ้นดังที่คาดการณ์กันเอาไว้ ทำให้เกิดการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางออกของรัฐบาลทางหนึ่งคือการเก็บภาษีการใช้รถส่วนบุคคลมากขึ้น เช่น รถ(ไฟฟ้า) ส่วนบุคคลที่ลงทะเบียนในกรุงเทพต้องเสียค่าป้ายทะเบียนเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากปัจจุบัน เป็นต้น ส่วนรถที่มาจากจังหวัดอื่นก็คงต้องจ่ายค่าใช้ถนนแออัด (congestion charge) เมื่อขับเข้ามาในเขตกทม. เป็นต้น กล่าวคือหากมีการใช้รถ (ไฟฟ้า) ส่วนบุคคลอย่างแพร่หลาย ทางออกคงจะไม่ใช่การลดค่าโดยสารรถ (ราง) ไฟฟ้าเพื่อลดการขาดทุนของรัฐบาล

5.แต่ผมเชื่อว่าการมีรถไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าใช้เองตามบ้านเรือนยังไม่ใช่จุดจบของเทคโนโลยีพลิกผันที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 20 ปีข้างหน้า สิ่ง ที่น่าจะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการพัฒนารถไฟฟ้าที่ขับเอง ที่เรียกกันว่า Driverless vehicles หรือ Autonomous vehicles ซึ่งต่อไปผมจะขอเรียกสั้นๆ ว่า AV ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์และการขนส่งอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง โดยในส่วนของคนเมืองนั้น หากเทคโนโลยี AV พัฒนาไปจนถึงจุดอิ่มตัวได้ก็จะทำให้น้อยคน “ซื้อรถยนต์” (เช่นปัจจุบัน) แต่คนเมืองส่วนใหญ่จะ “ซื้อบริการขนส่ง” ในส่วนของการขนส่งสินค้าต่างจังหวัดนั้น ก็จะมีแต่รถบรรทุก (ไฟฟ้า) ไร้คนขับ (แต่อาจมีคนนั่งคบคุมบ้าง) ขนส่งสินค้าซึ่งอาจทำให้ธุรกิจการขนส่งสินค้าโดยรถไฟหรือเรือได้รับผลกระทบ ไปด้วย

ตอนต่อไปผมจะขยายความเกี่ยวกับการคาดการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาการของ AV และผลกระทบต่อเศรษฐกิจครับ
[/size]
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน (Disruptive Technology)

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน (2)

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ Posted: Mon Sep 19, 2016

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงรถยนต์ที่ขับเองได้หรือรถไร้คนขับ (Autonomous vehicle หรือ AV) ว่าจะเป็นพัฒนาการลำดับที่ 3 ตามจากการมาของรถไฟฟ้า (ส่วนบุคคล) และการใช้ solar cell ผลิตไฟฟ้าใช้ตามบ้านเรือน ทั้งนี้สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะได้เห็นกันภายใน 20 ถึง 30 ปีข้างหน้า

บางคนอาจมองว่าฝันไปในอนาคตมากเกินไปหรือเปล่า ก็ต้องตอบว่าการคาดการณ์นั้นผิดพลาดได้เสมอ แต่ในเรื่องของ AV นั้น หากใครเดินทางไปที่เมือง Pittsburg ในสหรัฐอเมริกาและเรียกใช้บริการของ Uber ก็อาจได้นั่งรถ Volvo XC90 หรือ Ford Focus ซึ่ง จะขับเคลื่อนโดยไร้คนขับ แต่ในช่วงแรกนี้จะมีคนนั่งที่คนขับหนึ่งคนเพื่อคบคุมหากจำเป็นและพนักงานอีก คนหนึ่งนั่งอยู่ข้างขวาเพื่อเก็บข้อมูลและประเมินการทำงานของรถ AV ของ Uber ทั้งนี้ Uber ในขั้นแรกจะมีรถ AV ให้บริการในเมือง Pittsburg รวมทั้งสิ้น 100 คันและคาดว่าจะขยายบริการดังกล่าวไปยังเมืองอื่นๆ ต่อไป

บริษัท Volvo นั้นปัจจุบันเป็นบริษัทลูกของ Zhejland Geely Holding ของจีน ซึ่งกำลังเร่งพัฒนารถไฟฟ้าและรถ AV ในส่วนของประเทศจีนนั้นตื่นตัวกับการพัฒนารถไฟฟ้าและรถ AV อย่างมากเพราะ

1) ปัจจุบันเมืองใหญ่ของจีนประสบปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างมาก ส่วนใหญ่มาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก แต่มลภาวะจากรถยนต์ก็มีส่วนอย่างมากเช่นกันและเมื่อคนจีนมีฐานะดีขึ้น มลภาวะทางอากาศก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ดังนั้นจีนน่าจะมีนโยบาย “กระโดดข้าม” (leapfrog) ประเทศตะวันตกและพัฒนารถไฟฟ้าไปเลยแทนการปล่อยให้ประชาชนซื้อรถยนต์เบนซินหรือดีเซลในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

2) การพัฒนา AV ก็น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญของจีนเพื่อเป็นผู้นำเทคโนโลยีนี้ เนื่องจากประชากรของจีนก็กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นคือการขาดแคลนแรงงาน รถ AV จึงเป็นทางออกหนึ่งของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ลดการพึ่งพาแรงงาน

กลับมาทางฝั่งของสหรัฐก็มีข้อสังเกตว่า Uber เพิ่งเข้าไปซื้อกิจการของ Ottomotto บริษัทขนาดเล็ก แต่เป็นผู้บุกเบิกรถบรรทุกไร้คนขับหรือ AV truck/trailer บริษัทยักษ์ใหญ่อีกแห่งคือDaimler Benz ก็กำลังทดลองรถบรรทุกไร้คนขับในประเทศสหรัฐเช่นกัน อีกด้านหนึ่งบริษัท Ford Motors ประกาศว่าจะสามารถผลิตรถยนต์โดยสารขับเองที่จะไม่มีพวงมาลัยและที่เหยียบเบรกและคลัชภายในปี 2021

ในส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีพัฒนาการที่น่าสนใจดังนี้

1) รัฐบาลสิงคโปร์ได้อนุญาตให้บริษัท nuTonomy (จัด ตั้งขึ้นโดยนักวิจัยจาก MIT 2 คน ที่เดิมเคยทำงานกับ Google) ทดลองรถแท็กซี่ไร้คนขับในบริเวณจำกัดบนเกาะสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม โดยประกาศว่าจะเริ่มให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2018 ที่สิงคโปร์ (หากเป็นไปได้จริงก็จะรวดเร็วเกินที่ผมคาดหมายอย่างมาก)

2) บริษัท Rio Tinto ยักษ์ใหญ่ด้านเหมืองแร่ ทดลองใช้รถบรรทุกไร้คนขับแล้วที่โรงถลุงแร่เหล็กที่ออสเตรเลีย (และ Volvo ก็ประกาศว่าจะทดสอบใช้รถบรรทุกในการทำเหมืองแร่ที่ประเทศสวีเดน)

3) เมือง Wu Hu (ห่างจากเมืองเซี่ยงไฮ้ 200 ไมล์ทางทิศตะวันตก) ประกาศว่าจะเป็นเมืองแรกของโลกที่จะยกเลิกการใช้คนขับรถ โดยจะให้มีแต่รถไร้คนขับภายใน 10 ปีข้างหน้า

4) ผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน Baidu มั่นใจว่า จีนจะเป็นผู้นำด้านรถไร้คนขับและได้เริ่มทดลองใช้รถไร้คนขับในกรุงปักกิ่งมา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2015 และอ้างว่าจะนำเทคโนโลยีไร้คนขับมาเริ่มใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2019 โดยจะพัฒนาให้แพร่หลายได้ภายในปี 2021 (ซึ่งเร็วกว่าที่ผมคาดการณ์อย่างมากเช่นกัน)

เทคโนโลยีไร้คนขับนั้นมิได้มีการมีการทุ่มเททรัพยากรเพื่อเร่ง พัฒนาในส่วนของการขนส่งทางถนนเท่านั้น แต่ในด้านอื่นๆ ก็กำลังคืบหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น

- เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาที่งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางการเกษตร ที่มลรัฐไอโอวาสหรัฐอเมริกา มีการนำเอารถแทร็กเตอร์ไร้คนขับ (driverless/cabless tractor) ยี่ห้อ Case IHซึ่ง ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะจะพัฒนาเป็นแทร็กเตอร์ที่ขับออกมาจากโรงเก็บและมาทำงานอย่างต่อเนื่อง ได้โดยไม่ต้องพักผ่อนและสามารถขับกลับไปที่โรงเก็บเองเมื่อภารกิจเสร็จสิ้น

- บริษัท Rolls Royce (ปัจจุบันผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินและเรือ ส่วนยี่ห้อรถยนต์นั้นขายไปให้ BMW นานแล้ว) เป็นแกนนำในการค้นคว้าด้าน Advanced Autonomous Waterborne Application กล่าวคือการขับเคลื่อนเรือขนส่งสินค้าจากสำนักงานบนผืนแผ่นดิน โดยอาศัยระบบโทรคมนาคมเหมือนกับการบังคับเครื่องบิน Drone หรือที่เรียกกันว่า unmanned cargo ships ซึ่ง คาดว่าจะประหยัดต้นทุนไปได้มากกว่า 22% เพราะจะใช้บุคลากรลดลงและยังลดภาระของการบรรทุกเสบียงต่างๆ รวมทั้งพลังงานเพื่อขับเคลื่อนเรื่ออีกด้วย ทั้งนี้โดยเชื่อว่าการเดินเรือโดยไร้ลูกเรือเกิดขึ้นได้ภายในปี 2030 และเทคโนโลยีจะพัฒนาไปสู่เรือขนส่งสินค้าที่ขับเองได้ (autonomous cargo ships) ในประมาณปี 2035

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการคาดการณ์ทั้งสิ้นและอาจทำได้เร็ว หรือช้ากว่าที่คาดการณ์ก็ได้ แต่เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าโลก 4.0 ในส่วนของการขนส่งนั้นกำลังจะพัฒนาไปในทิศทางใดครับ
โพสต์โพสต์