โค้ด: เลือกทั้งหมด
วิธีการลงทุนที่ผมคิดว่าง่ายและปลอดภัยพอสมควรและได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีในระยะยาวก็คือ การลงทุนใน “ซุปเปอร์สต็อก” คือซื้อหุ้นของบริษัทที่ “ดีเยี่ยม” ในด้านของการตลาด เช่น เป็นบริษัทที่ขายสินค้าได้มากเป็นอันดับหนึ่งและมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าคู่แข่งอันดับรองลงมาเป็นเท่าตัว หรือมีสินค้าที่เป็นที่นิยมของผู้ใช้มากกว่าคู่แข่งมากจนทำให้ลูกค้ายินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นพอสมควรเพื่อใช้สินค้าของบริษัท หรือเป็นบริษัทที่ยังไงผู้บริโภคหรือลูกค้าก็ต้องใช้เนื่องจากเป็นกิจการที่ “ผูกขาด” ธุรกิจในพื้นที่นั้น เป็นต้น ในด้านของการเงินเองนั้น บริษัทก็มีฐานะและผลประกอบการที่ดีมาก มีกำไร “งดงาม” เมื่อเทียบกับคู่แข่งและเงินลงทุนของตนเอง มีงบการเงินที่ “แข็งแกร่ง” เนื่องจากธุรกิจนั้นสร้างกระแสเงินสดได้ดีและไม่ต้องลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์มาก และสุดท้าย เราสามารถซื้อหุ้นในราคาที่ถูกหรือ “ไม่แพง” คิดจากค่า PE และ PB ที่ไม่สูงเกินไป และ ปันผลตอบแทนที่ไม่ต่ำเกินไป หรือในกรณีของบริษัทที่ยังไม่ค่อยมีกำไรเนื่องจากกำลังขยายตัวเราก็จะต้องดูเรื่องของ Market Cap. ที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับศักยภาพของบริษัทในอนาคต
หลังจากที่ซื้อหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกแล้ว โดยปกติเราก็ไม่ต้องทำอะไรมาก สิ่งที่ต้องทำก็คือ ติดตามดูสถานะของบริษัทไปเรื่อย ๆ ว่ามันยังเป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมอยู่หรือเปล่า คู่แข่งเข้ามาแย่งชิงลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าพบว่าบริษัทเริ่มจะ “เพลี่ยงพล้ำ” และไม่มีท่าทีว่าจะแก้ไขได้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เช่น มีเทคโนโลยีใหม่หรือรูปแบบการทำธุรกิจใหม่เข้ามาแข่งกับธุรกิจเดิม แบบนี้เราก็อาจจะต้องขายหุ้นทิ้ง แต่ถ้าไม่ใช่ เราก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องสนใจว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงยกเว้นว่าหุ้นจะขึ้นไปมากจนค่า PE อาจจะขึ้นไปถึง 50-60 เท่า ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นทิ้งเพราะมันอาจจะแพงเกินไปจริง ๆ อาจจะเนื่องจากเหตุผลพิเศษเช่นตลาดหุ้นกลายเป็นกระทิงหรือมีการเก็งกำไรในหุ้นที่รุนแรงเกินไป ส่วนในกรณีที่หุ้นตกลงมานั้น เรามักจะไม่ขายซุปเปอร์สต็อกเลย
หลายคนบอกว่าตนเองนั้นอยากลงทุนในซุปเปอร์สต็อกเหมือนกันแต่ไม่รู้ว่าหุ้นตัวไหนเป็นซุปเปอร์สต็อกจริง ๆ หรือรู้ว่าน่าจะเป็นซุปเปอร์สต็อกแต่ก็ไม่รู้ว่ามันแพงเกินไปหรือเปล่า นอกจากนั้น บางคนถือหุ้นที่น่าจะเป็นซุปเปอร์สต็อกแต่ก็ไม่รู้ว่าจะขายเมื่อไร บ่อยครั้งก็รีบขายเกินไป บ่อยครั้งก็ถือยาวเกินไป สุดท้ายก็พลาดที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีใน “ระยะยาว” ซึ่งก็ไม่รู้ว่ายาวแค่ไหน ความไม่เข้าใจหรือความสับสนต่าง ๆ เหล่านี้มักทำให้การลงทุนในซุปเปอร์สต็อกของหลายคนนั้น ทำไม่ได้! และนั่นทำให้หลักการและวิธีการลงทุนง่าย ๆ แบบนี้กลายเป็นของยาก เพราะเหตุว่าคนส่วนใหญ่ “ทำใจไม่ได้” เวลาที่เห็นราคาหุ้นขึ้นลงผันผวนรุนแรงทุกวัน ทุกเดือน และทุกปี
วิธีที่จะ “เอาชนะ” จิตวิทยาของเราเองนั้น ผมคิดว่าเราควรที่จะท่องคำว่า “สามคำสามปี” ไว้ในใจตลอดเวลา สามคำที่ว่าก็คือ “รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม ปันผลเพิ่ม” นั่นก็คือ เราต้องคิด วิเคราะห์ และมั่นใจว่ากิจการหรือบริษัทนั้นจะมีรายได้ในปีปัจจุบันเพิ่มขึ้น คำว่ามั่นใจนั้นแปลว่าโอกาสที่รายได้จะเพิ่มขึ้นนั้นสูงมาก อย่างน้อยอาจจะ 80% ขึ้นไป โอกาสที่รายได้จะไม่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยมากไม่ถึง 20% การวิเคราะห์ของเราจะต้องไม่ลำเอียงและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อย่าไปเชื่อการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่มักจะลำเอียงในทางที่รายได้สูงกว่าความเป็นจริงและมักไม่พูดถึงโอกาสความเป็นไปได้ พวกเขามักจะวิเคราะห์อย่างมั่นใจแต่ก็จะมีอักษรตัวเล็ก ๆ กำกับไว้ตอนท้ายของบทวิเคราะห์ว่า ที่พูดมาทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่…. ซึ่งทำให้การคาดการณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ไม่ผิด! ในตอนที่พูด แต่อาจจะผิดจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่เมื่อถึงเวลานั้น ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้วสำหรับคนที่เชื่อบทวิเคราะห์ซื้อหรือขายหุ้น
คำต่อมาก็คือ กำไรเพิ่ม นี่ก็เช่นเดียวกัน เราต้องมีเหตุผลประกอบอย่างชัดเจนและโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้นก็ต้องสูงเป็น 80% ขึ้นไป โอกาสที่กำไรจะลดลงนั้นน้อยมาก พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เรามีความมั่นใจมากว่าเมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น ยอดขายนั้นจะก่อให้เกิดกำไรมากขึ้นเนื่องจากบริษัทจะสามารถรักษา Profit Margin หรือกำไรต่อยอดขายเท่ากับปีก่อนหรือสูงขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ใช่ยอดขายเพิ่มขึ้นแต่กำไรต่อยอดขายลดลง ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเราก็อาจจะไม่มีกำไรเพิ่ม การรักษากำไรต่อยอดขายไว้ได้นั้น เหตุผลต้องชัดเจนและมีโอกาสเกิดขึ้นสูง เช่น สินค้าของเรานั้นสามารถตั้งราคาได้เองไม่ใช่เป็นราคาตลาดโลกที่เราควบคุมไม่ได้เป็นต้น
คำที่สามก็คือ ปันผลเพิ่มขึ้น นี่ก็ต่อมาจากคำแรกและคำที่สองที่ว่ารายได้เพิ่มขึ้น และกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นอย่างนั้นและบริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี อาจจะเนื่องจากว่าบริษัทขายสินค้าส่วนใหญ่เป็นเงินสดแต่มักซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อ หรือบริษัทไม่ต้องลงทุนในการซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์มากมายในการทำงานหรือขยายงาน การจ่ายปันผลก็ควรที่จะเพิ่มขึ้น ถ้าบริษัทไม่จ่ายปันผลเพิ่มทั้ง ๆ ที่มีกำไรเพิ่ม เราก็ต้องดูเหตุผลว่าเพราะอะไร บางครั้งบริษัทอาจจะจ่ายปันผลเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิมมากเนื่องจากกำไรที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่มาก แบบนี้เราก็อาจจะ “พอทน” ยอมรับได้
คำทั้งสามที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ผมต้องขอเพิ่มเงื่อนไขอีกหนึ่งข้อเพื่อไม่ให้เราหลงผิดคิดว่าบริษัทเข้าเกณฑ์หมด เงื่อนไขที่ว่าก็คือ รายได้ กำไร และปันผลที่เพิ่มขึ้นนั้น จะต้องเป็นรายได้ กำไร และปันผล “ปกติ” จากการดำเนินงานตาม “ปกติ” ไม่ใช่รายได้พิเศษ กำไรพิเศษ และปันผลพิเศษหรือปันผลเป็นหุ้น ที่ “เกิดขึ้นครั้งเดียว” เช่น จากการขายที่หรือขายทรัพย์สินอื่นรวมถึงการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นบ่อย ในกรณีดังกล่าวนั้น เราต้องตัดรายการพิเศษออกและคำนวณดูว่า รายได้ กำไร และปันผลที่มาจากการดำเนินงานปกติของบริษัทเป็นอย่างไร
เมื่อเราพบว่า รายได้ กำไร และปันผลของบริษัทเพิ่มขึ้นหรือคาดว่าเพิ่มขึ้นแน่ด้วยความเป็นไปได้ถึง 80% ขึ้นไปในปีปัจจุบันแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ เราต้องวิเคราะห์และคาดการณ์ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้าว่า บริษัทจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า นี่ก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ถามตัวเองว่าอีก 3 ปี กิจการจะโตขึ้นไหมเพราะอะไร ใครเป็นคู่แข่งและจะมีคู่แข่งใหม่ที่น่ากลัวไหม เทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาแย่งลูกค้าจากเราไหม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องถูกนำมาคิดอย่างไม่ลำเอียง โอกาสที่เราจะพลาดสูงแค่ไหน ถ้าคำตอบก็คือ มีโอกาส 50-50 ที่ยอดขายเราอาจจะไม่เพิ่มขึ้น 3 ปีหลังจากนี้เนื่องจากเหตุผลอะไรก็ตาม นั่นก็แสดงว่า เราไม่ผ่านเกณฑ์ 3 ปี ผมเองคิดว่าถ้าจะให้ผ่านเกณฑ์นี้ โอกาสความเป็นไปได้ควรจะเป็นอย่างน้อย 70-75% ขึ้นไป ซึ่งนั่นหมายความว่าเรามีความมั่นใจสูงที่ รายได้ กำไร และปันผลใน 3 ปีข้างหน้านั้นจะเพิ่มขึ้น เราต้องมั่นใจว่าธุรกิจของบริษัทนั้นจะยังเติบโต ไม่มีใครมาทำอะไรมันได้ และ ไม่เปลี่ยน ในอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า
ถ้าเราถือหุ้นที่เข้าเกณฑ์ “สามคำสามปี” ดังที่กล่าว เราก็มักไม่ต้องทำอะไร บางทีไม่ต้องไปคิดด้วยว่าตกลงมันเป็นซุปเปอร์สต็อกจริง ๆ หรือเปล่า สิ่งที่ต้องทำก็คือ คอยติดตาม ทบทวนและวิเคราะห์กิจการไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะตอนสิ้นปี ถ้าผลออกมาบริษัททำได้คือ มีรายได้เพิ่ม กำไรเพิ่มและจ่ายปันผลเพิ่ม เราก็สรุปว่ามันเป็นอย่างที่คาดไว้ในตอนต้นปี แต่หลังจากนั้นเราก็ต้องวิเคราะห์และคาดการณ์ต่อไปข้างหน้าอีก 3 ปี ถ้าคำตอบก็เป็นอย่างเดิม นั่นก็คือ บริษัทก็จะยังมีรายได้ กำไร และปันผลเพิ่ม เราก็จะยังคงถือหุ้นไว้ แต่ถ้าไม่ใช่ เราก็อาจจะต้องทำอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับเกณฑ์นี้