โค้ด: เลือกทั้งหมด
เมื่อเปิดตลาดมาในวันที่ 4 มกราคม ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและลงอย่างหนัก โดยภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือนหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงไปเกือบ 10% ทำให้มูลค่าหุ้นทั่วโลกลดลงไป 7 ล้านล้านดอลลาร์หรือมูลค่าประมาณ 2 เท่าของจีดีพีไทย การปรับลงดังกล่าวเป็นการปรับตัวลงไปพร้อมกับราคาน้ำมัน ซึ่งปรับลดลงไปอย่างรุนแรงเกินความคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ ที่ แปลกคือราคาหุ้นปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันทั้งๆ ที่บทวิเคราะห์ทางวิชาการทุกบทวิเคราะห์สรุปเหมือนกันหมดคือ เมื่อราคาน้ำมันปรับลดลงจะทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น กล่าวคือจีดีพีของโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
แต่ไอเอ็มเอฟก็ต้องยอมปรับลดการคาดการณ์ การขยายตัวของจีดีพีโลกลดลง 0.2% ในปี 2016 และ 2017 ในเดือนมกราคมจากที่เพิ่งประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนตุลาคมของปีก่อน หน้า การลงทุนในเดือนมกราคมนั้นดูจะขาดทุนในเกือบทุกสินทรัพย์ เว้นแต่การลงทุนในพันธบัตรคุณภาพสูงและทองคำ แม้ แต่เงินดอลลาร์ก็ยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเยนแม้ว่าเศรษฐกิจของ ทั้ง 2 แห่งนี้จะมีปัจจัยพื้นฐานที่ด้อยกว่าสหรัฐอย่างมาก กล่าวคือทั้ง 2 แห่งนี้ยังต้องใช้มาตรการคิวอีและคาดการณ์ว่าจะต้องเพิ่มคิวอีในเร็ววันนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม แต่สหรัฐนั้นแข็งแรงพอที่ธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ครั้ง และคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐเสียงส่วนใหญ่ก็มองว่าปีนี้จะปรับดอกเบี้ย นโยบายเพิ่มขึ้นอีก 4 ครั้งหรือประมาณ 1% กล่าวโดยสรุปคือ ปีนี้ เพียงเดือนแรกก็ผิดคาดและหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรงโดยหาเหตุผลที่ชัดเจนไม่ ได้ถนัดนัก ทำให้เกรงว่าจะเป็นปีที่การลงทุนให้มีผลกำไรจะทำได้ยากยิ่งกว่าปีก่อนๆ
ในขณะนี้ผมยังไม่เห็นว่าใครสามารถอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้งว่า ทำไมจึงเกิดความผันผวนมากเป็นพิเศษ แม้ แต่แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลลินช์พันธมิตรของภัทรฯ ก็ยังประเมินก่อนหน้านี้ว่าการลงทุนปีนี้จะ “น่าเบื่อ” (boring) เพราะเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ และประเทศต่างๆ ก็จะดำเนินนโยบายแบบ “กล้อมแกล้ม” (muddle-through) กันไป แต่กลับกลายเป็นปีที่เริ่มต้นอย่างที่นักลงทุนต้องใจจดใจจ่อกับปัญหาที่กังวลกันอยู่ ในขณะนี้ 3 ประการคือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ปัญหาจีนและค่าเงินหยวน และการตกต่ำของราคาน้ำมัน ซึ่งผมจะพยายามนำเสนอข้อมูลเท่าที่มีอยู่มาประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับ 3 เรื่องดังกล่าวครับ
1.การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ เรื่อง นี้สำคัญเพราะในช่วงหลังวิกฤติสหรัฐในปี 2008 นั้น ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินมาตรการคิวอีและลดดอกเบี้ยเหลือใกล้ศูนย์ ซึ่งเป็นมาตรการที่ “อุ้ม” ราคาสินทรัพย์ทั้งโลก กล่าวคือคิวอีซึ่งธนาคารกลางพิมพ์เงินใหม่ออกมากว่า 3 ล้านล้านเหรียญ เพื่อซื้อพันธบัตรคุณภาพดีจากประชาชน เพื่อผลักดันให้ประชาชนนำเงินไปซื้อหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ เป็นผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นทั่วโลก (และดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ก็ช่วยผลักดันราคาสินทรัพย์ให้ปรับสูงขึ้นอีกด้วย แต่มาวันนี้คิวอียุติลงแล้ว (แต่พันธบัตรที่ธนาคารสหรัฐซื้อเอาไว้ยังกักตุนอยู่) และดอกเบี้ยก็ต้องเริ่มปรับขึ้นแล้ว จึงไม่เอื้ออำนวยให้ราคาหุ้นมีแต่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับช่วง 2009-2014 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้จึงมีนักวิเคราะห์หลายรายออกมาแสดงความเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐน่าจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้อีก 1-2 ครั้งเท่านั้นในปีนี้ รวมทั้งอดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐนาย Lawrence Summers และบางคนก็คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะต้องออกมาตรการคิวอีรอบที่ 4 แต่แบงก์ ออฟ อเมริกามองว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยขึ้น 3 ถึง 4 ครั้ง ขัดกับการคาดการณ์ของตลาด เพราะธนาคารกลางสหรัฐยึดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเป็นหลักสำคัญในการ ประเมินสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ
กล่าวคือในปี 2015 ที่ผ่านมานั้น การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 230,000 ตำแหน่ง (ในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 260,000 ตำแหน่ง) แต่เศรษฐกิจสหรัฐมีบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานเดือนละ 180,000 ตำแหน่งแปลว่าตลาดแรงงานจะตึงตัวอย่างต่อเนื่องและเนื่องจากอัตราการว่างงาน ก็ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำมากแล้ว (5%) จึงจะทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวขึ้นไปอีก และจะทำให้ต้องปรับเงินเดือนขึ้นในที่สุด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้แบงก์ ออฟ อเมริกาวิเคราะห์ว่าตัวเลขการจ้างงานนั้นเป็นตัวเลขที่น่าเชื่อถือเพราะแม่น ยำและปรับเปลี่ยนในภายหลังน้อยกว่าตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ มาก ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ที่แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่แข็งแรงนั้นไม่แม่นยำเท่ากับตัวเลขการจ้างงาน และ บางกรณี เช่น การทำแบบสอบถาม (survey) ก็ผันผวน และอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงแต่สะท้อนจิตวิทยาในขณะนั้นมากกว่า สรุปคือหากการจ้างงานปรับลดลงมากๆ จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐล้มเลิกแผนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี นี้
อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมาอ้างว่าสหรัฐจะไม่กล้าปรับดอกเบี้ยขึ้นมาก คือการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐ แบงก์ ออฟ อเมริกาอ้างบทวิเคราะห์ของธนาคารกลางสหรัฐว่า หากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นถึง 10% จึงจะทำให้จีดีพีสหรัฐลดลง 1% กล่าวคือหากเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นใกล้ 10% จึงจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มกังวล แต่แบงก์ ออฟ อเมริกามองว่าปีนี้เงินเหรียญสหรัฐน่าจะแข็งค่าขึ้นเพียง 5% เท่านั้น (เช่นหยวนเองก็เพิ่งอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเพียง 2-3%) ที่สำคัญคือการแข็งค่าที่กล่าวถึงนั้น หมายถึงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะเงินยูโร หรือเงินเยน (ที่มีแนวโน้มจะอ่อนตัวเมื่อมีการทำคิวอีเพิ่มขึ้น)
ทั้งนี้แบงก์ ออฟ อเมริกาชี้ว่าใน 2 ปีที่ผ่านมาเงินเยนอ่อนค่าลง 40% เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ (จาก 80 เยนเป็น 117 เยนต่อ 1 ดอลลาร์) และเงินยูโรอ่อนตัวลงจาก 1.4 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโรมาเป็น 1 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโร ก็ไม่ได้มีผลกระทบในเชิงลบจนทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐต้องสะดุดลง ทั้งนี้เพราะการส่งออกนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 13% ของจีดีพีสหรัฐ หาก แบงก์ ออฟ อเมริกาวิเคราะห์ถูกต้อง ตลาดก็จะต้องผิดหวังเมื่อเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ยุติการปรับขึ้น ดอกเบี้ยหลังจากปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้
ครั้งหน้าผมจะเขียนถึงเรื่องของค่าเงินหยวนและราคาน้ำมันครับ