มองเทรนด์จากทัวร์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

มองเทรนด์จากทัวร์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ผมเพิ่งกลับจากการไปท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มนอร์ดิกหรือประเทศในยุโรปตอนเหนือซึ่งประกอบไปด้วยเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอรเวย์ และสวีเดน เป็นเวลา 8-9 วัน ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดปีใหม่  ที่จริงผมเตรียมที่จะไปฝรั่งเศสตอนใต้ที่เรียกว่าริเวียร่า  แต่ต้องถูกเปลี่ยนกะทันหันเนื่องจากเหตุก่อการร้ายในฝรั่งเศสเมื่อเร็ว ๆ นี้  ก่อนไปผมก็รู้สึกว่าคงจะแย่พอสมควรเนื่องจากสภาวะอากาศที่หนาวมากของประเทศเหล่านี้  คนส่วนใหญ่ที่ไปนั้นมักจะไปกันตอนช่วงฤดูร้อนที่อากาศดีและอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สำคัญและหาดูที่อื่นได้ยากนั่นก็คือ อาทิตย์เที่ยงคืนและแสงเหนือ  การไปช่วงฤดูหนาวนั้น  ไม่รู้ว่าจะไปดูอะไรที่เด่น ๆ  เพราะประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้มีสิ่งประดิษฐ์อะไรที่ยิ่งใหญ่หรือมหัศจรรย์  อย่างไรก็ตาม  ผมก็จำเป็นต้องไปเนื่องจากได้จ่ายเงินไปหมดแล้ว

    สิ่งแรกที่เจอเมื่อเดินทางถึงประเทศแรกในกลุ่มก็คือ  ความมืดของท้องฟ้าทั้ง ๆ  ที่เป็นเวลาเกือบเที่ยงวันแล้ว  เวลาที่ฟ้าสว่างแบบสลัว ๆ เองนั้นก็สั้นมากเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง  ประมาณบ่าย 3 โมง  เมืองทั้งเมืองก็อยู่ในความมืด  ร้านค้า  สำนักงาน และบ้านเรือนต้องเปิดไฟทำงาน  ไกด์บอกว่านี่คือเรื่องปกติของประเทศที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ  ที่มีช่วงเวลา 6 เดือนที่จะหนาวจัดและท้องฟ้ามืดไม่ค่อยมีแสงอาทิตย์เกือบทั้งวัน  และอีก 6 เดือนที่ฟ้าสว่างวันละอาจจะ 20 ชั่วโมงและมีช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าถึงเที่ยงคืน  สาเหตุเป็นเพราะแกนโลกนั้น “เอียง”

    ปีนี้คนท้องถิ่นบอกว่าอากาศนั้นอุ่นมากกว่าปกติ  อาจจะเป็นเรื่องของภาวะ  “โลกร้อน”  อากาศ “ดีมาก”  แต่ที่ผมเจอก็คือ  บวกลบประมาณ 0 องศา เกือบทุกวันและมีหิมะตกตลอด  มากบ้างน้อยบ้าง  บางจุดที่เดินทางโดยเฉพาะที่ขึ้นภูเขานั้น  ต้องหยุดพักรถเพื่อรอรถกวาดหิมะมากวาดหิมะเช่นเดียวกับที่ต้องรอรถคันอื่น ๆ มาเข้า “ขบวน” ไปด้วยกัน  เพราะมิฉะนั้นก็อาจจะเป็นอันตรายได้  อย่างไรก็ตาม  เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้บริการเต็มที่เพราะประเทศเหล่านี้ล้วนเป็น  “รัฐสวัสดิการ” ที่รัฐจัดบริการอย่างดีให้กับประชาชนซึ่งรวมถึงการดูแลพลเมืองที่อยู่กระจัดกระจายกันมากเนื่องจากประเทศกว้างใหญ่แต่มีประชากรน้อยประเทศละไม่เกิน 10 – 20 ล้านคนเป็นอย่างมาก  รัฐบาลทำได้เนื่องจากเขาเก็บภาษีสูงมาก  บางประเทศอาจจะเก็บถึง 50% ของรายได้ประชาชาติ  ไกด์บอกว่าในฟินแลนด์ที่เต็มไปด้วยภูเขาและฟยอร์ดนั้น  เวลาคนป่วยต้องการการรักษาอย่างรีบด่วนนั้น  สามารถเรียกเฮลิคอปเตอร์ให้มารับที่บ้านได้โดยไม่ต้องเสียเงิน

    ทัวร์ครั้งนี้ของผมจึงพูดได้ว่ามา “ผิดเวลา”  ทั้งมืดทั้งหนาวและเสียเวลาจากการเดินทางมาก  ในสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปนั้นแทบไม่มีคนอื่นเลยนอกจากกรุ๊ปของผม  ร้านค้าก็ไม่เปิดกันเต็มที่  ร้านค้าหลายแห่งก็ปิดเนื่องในวันปีใหม่  ในบางจุดที่มีร้านของคนไทยขายของที่ระลึก ไกด์ถึงกับไปขอร้องให้เขาเปิดเพื่อต้อนรับกลุ่มของเราโดยเฉพาะ

    ฟังดูแล้วอาจจะนึกว่าผมคงรู้สึกแย่มากที่ต้องมาเที่ยวในช่วงที่ “เลวร้าย”  และไม่ค่อยมีใครเขาเที่ยวกันในฤดูนี้  แต่เมื่อคิดดูอีกทีผมกลับรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีกว่าการมาเที่ยวในช่วงที่ทุกอย่าง “สดใส” ในฤดูร้อน  การได้เจอกับอากาศที่หนาวจัดมาก ๆ  สภาพท้องฟ้าที่มืดสลัวจนไม่รู้ว่ามันคือกลางวันหรือกลางคืน  หิมะที่ปกคลุมพื้นดินและภูเขาที่ขาวโพลนไปทั่วอย่างที่เห็นในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องมันให้บรรยากาศที่เราไม่เคยเห็นไม่เคยประสบ  มันทำให้ผมนึกไปถึงคนในประเทศเหล่านี้ว่าเขาคงต้องอยู่อย่างยากลำบากโดยเฉพาะในอดีตที่ไกลโพ้นสมัยไวกิ้งที่กลายเป็นชนกลุ่มที่มีความสามารถสูง “ระดับโลก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเดินเรือและการต่อสู้ทั้ง ๆ ที่เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยมาก  ความสามารถของคนในประเทศเหล่านี้  ยังโดดเด่นมาจนถึงปัจจุบันวัดจากรายได้ต่อหัวของคนที่สูงที่สุดประเทศหนึ่ง  นอกจากนั้น  ระดับของ “ความสุข” ของประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดของโลกด้วย  เช่นเดียวกับการที่เป็นแหล่งของบริษัทชั้นนำของโลกในด้านต่าง ๆ  ทั้งหมดนี้ผมคิดว่ามาจากการที่คนของเขานั้น  ต้องต่อสู้กับความโหดร้ายของสภาพแวดล้อมมายาวนาน  เปรียบเทียบกับคนในประเทศที่อยู่อย่างสบายได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมากอย่างประเทศในเขตศูนย์สูตรอย่างบ้านเรา

    นอกจากประสบการณ์เรื่องของภูมิอากาศและภูมิประเทศแล้ว  เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศผมจะดูว่ามีอะไรที่เขาเริ่มทำกันและเรายังไม่ได้เริ่ม  เพราะนี่จะเป็นเทรนด์ต่อไปที่เราจะต้องจับตามองในฐานะของนักลงทุน    สิ่งที่ผมเห็นและรู้สึกว่าโลกของเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปก็คือการ “เพิ่มประสิทธิภาพ” ของการทำงานโดยอาศัย “พลังของผู้บริโภค”  เรื่องแรกที่เห็นและต้องไปทำด้วยในฐานะที่เป็นผู้ใช้หรือผู้บริโภคก็คือ  การเช็คอินที่สนามบินที่บางประเทศได้เริ่มให้เราเช็คอินเองแล้วทั้งการออกเลขที่นั่งและการโหลดกระเป๋าเดินทางที่สนามบิน  พูดง่าย ๆ  เขากำลังเลิกมีกราวโฮสเตทซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุนได้ไม่น้อย  นี่ก็เป็นเรื่องที่ต่อมาจากสิ่งที่ผมได้เคยพูดถึงแล้วเมื่อคราวที่ผมไปอังกฤษ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ที่เขาเริ่มให้คนซื้อของในห้างอย่างเทสโก้คิดและจ่ายเงินค่าสินค้าเองซึ่งทำให้สามารถประหยัดคนทำงานได้มาก  พูดง่าย ๆ  อะไรที่ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนและมีการทำซ้ำ ๆ  จำนวนมากก็มีโอกาสที่จะถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ด้านไอทีที่มีประสิทธิภาพสูงโดยคนซื้อเอง  อย่างในเมืองไทยนั้น  ผมก็เห็นว่าในตอนนี้การจองตั๋วต่าง ๆ  เช่นตั๋วภาพยนตร์คนดูก็ทำเองได้แล้ว  เช่นเดียวกับการสั่งอาหารในภัตตาคารก็เริ่มมีการให้คนกินสั่งผ่านโปรแกรมในไอแพดของร้านได้แล้ว  เป็นต้น

    เทรนด์ของการใช้เครื่องมาให้บริการแทนที่คนนั้น  ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับบริษัทหรือธุรกิจที่ต้องใช้คนจำนวนมากทำงานที่มีมาตรฐานและมีรูปแบบที่แน่นอน  ในทางตรงกันข้าม  มันก็เป็นภัยคุกคามกับคนหรือพนักงานที่ทำงานดังกล่าว  ผมเองก็ไม่รู้ว่าเทรนด์นี้จะมาเร็วแค่ไหนในเมืองไทยแต่เชื่อว่ามันจะมากขึ้นเรื่อย ๆ  ตามการพัฒนาของระบบไอทีและคนที่ใช้มันรวมถึงต้นทุนการให้บริการด้วยคนว่ามากน้อยแค่ไหน  ในประเทศที่พัฒนาแล้วและต้นทุนค่าแรงสูงมาก  การให้ผู้บริโภคบริการตนเองก็จะมากตามกันไป  ผมเองเชื่อว่าหลังจากนี้ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปต่างประเทศที่เจริญแล้ว  สิ่งหนึ่งที่จะต้องพบเสมอก็คือ  ผู้บริโภคต้องทำเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

    อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจก็คือร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในประเทศนอร์ดิกหลายประเทศนั้น  มีรูปแบบและสินค้าต่างกับที่ในไทยและย่านอื่นมาก  คือมันถูกตกแต่งอย่างสวยงามกว่าและสินค้าที่ขายนั้นเป็นอาหารน่าจะกว่า 90% ขึ้นไป  อาหารที่ขายก็จะเป็นแนวเบเกอรี่  แซนวิช แฮมเบอรเกอร์  ขนมขบเคี้ยวเช่นมันฝรั่งทอด  น้ำ เบียร์ ไวน์  โดนัท  ขนมหวานสารพัดรวมถึงชอกโกแลต  สินค้าอย่างอื่นนั้นเท่าที่เห็นก็จะมีแต่บุหรี่และวารสารอีกเล็กน้อยเท่านั้น  ไม่มีของใช้ในบ้านและของใช้อย่างอื่นเลย  ดูไปแล้ว  มันคือร้านอาหารแนวสะดวกทุกประเภทมากกว่าที่จะเป็นสินค้าสะดวกซื้ออย่างที่เรารู้จัก

    ก่อนที่จะจบ “รายการทัวร์” ครั้งนี้  อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นเทรนด์ก็คือ  ภาษาพูดเพื่อการสื่อสารโดยเฉพาะการท่องเที่ยว  เพราะตลอดระยะเวลาการเดินทางนั้น  ผมรู้สึกว่าคนในประเทศแถบนี้แทบทุกคนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียว  นี่ทำให้ผมนึกถึงคนขายของรถเข็นริมทางซอยรางน้ำบ้านผมที่เดี๋ยวนี้พูดจีนกันได้แทบทุกคนแล้วเพราะลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมาก
[/size]
ทศพร29
Verified User
โพสต์: 306
ผู้ติดตาม: 0

Re: มองเทรนด์จากทัวร์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

การเช็คอินที่สนามบินที่บางประเทศได้เริ่มให้เราเช็คอินเองแล้วทั้งการออกเลขที่นั่งและการโหลดกระเป๋าเดินทางที่สนามบิน พูดง่าย ๆ เขากำลังเลิกมีกราวโฮสเตทซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุนได้ไม่น้อย

+++++ ถ้าระบบนี้เข้ามา บริษัทเครื่องบินหรือบริษัทสนามบิน จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากระบบนี้ครับ? +++++
I_Jay
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: มองเทรนด์จากทัวร์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

สงสัยห้างให้คิดเงินเองแล้วไม่กลัวลูกค้าไม่แสกนสินค้าบางชิ้นหรอครับ ถ้าจะติดตัวที่ร้องแบบร้านเสื้อผ้าคงทำไม่ได้เพราะสินค้าชิ้นเล็กเกินไป เค้าใช้วิธีอะไรป้องกันครับ
โพสต์โพสต์