บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2
จันทร์ พ.ย. 16, 2015 1:37 pm | 0 คอมเมนต์
โค้ด: เลือกทั้งหมด
สัปดาห์ที่แล้วข่าวใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมและตลาดหุ้นก็คือ การประมูลคลื่นความถี่วิทยุย่าน 1800 MHz เพื่อที่จะใช้กับโทรศัพท์มือถือระบบ 4G เหตุผลแรกก็คือ มันจะเป็น “ก้าวใหญ่” ของการพัฒนาระบบสื่อสารของไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” และตามทันประเทศอื่น ๆ หลังจากที่ไทยค่อนข้างจะล้าหลังมานาน เหตุผลต่อมาก็คือ การแข่งขันของผู้เข้าประมูลนั้นมีความจริงจังและรุนแรงซึ่งทำให้ตัวเลขเม็ดเงินของผู้ชนะ 2 ราย คือ AIS และ TRUE สูงมากกว่าที่เคยคือสูงถึงรายละประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่ออายุสิทธิการใช้ 15 ปี ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่สูงกว่าที่คาดถึงเท่าตัว และสุดท้ายสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทสื่อสารที่เข้าประมูล 4 ราย ที่ต่างก็ตกลงมาอย่างทั่วหน้าทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ โดยที่หุ้น AIS ตกลงมาประมาณ 6.6% ในวันที่กำลังประมูลและตัวเลขราคาการประมูลสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าตกใจ หุ้น TRUE ตกลงมาถึง 8% หุ้น DTAC ตกลงมา 8.2% และหุ้น JAS ซึ่งถึงแม้จะไม่ตกแต่ก็ได้ตกลงมาก่อนแล้วตั้งแต่วันเริ่มประมูลที่ประมาณ 6% ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าราคาค่าใบอนุญาตใช้คลื่นที่สูงมากนั้น มีผลต่อราคาหุ้นของบริษัทมาก เพราะมันจะเป็นตัวที่บอกว่ากำไรของบริษัทเหล่านี้จะมากหรือน้อยในอนาคต
วันต่อมาหลังจากที่รู้ตัวผู้ชนะและผู้แพ้แล้ว หุ้นของผู้ชนะคือ AIS ก็ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 1% หุ้น TRUE นั้นอยู่ที่เดิม ส่วนหุ้นผู้แพ้การประมูลคือ DTAC ปรับลดลงถึงประมาณ 7.6% และหุ้น JAS ปรับลดลง 5.5% การที่หุ้นของบริษัทผู้ชนะไม่ได้ปรับขึ้นและหุ้นผู้แพ้ปรับลดลงรุนแรงทั้ง ๆ ที่จะไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตที่แพงลิ่วนั้น ถ้าจะตีความก็คือ นักลงทุนมองว่าถึงจะเป็นผู้ชนะและจะสามารถขยายธุรกิจมือถือได้อย่างสะดวก กำไรของบริษัทก็อาจจะไม่ดีนักเพราะต้นทุนของการให้บริการจะสูงในขณะที่รายได้ก็อาจจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนักเนื่องจากถูก กสทช. บังคับไม่ให้เพิ่มค่าบริการจากเดิม ส่วนในกรณีของผู้แพ้นั้น คนก็มองว่าในอนาคต ธุรกิจของบริษัทโดยเฉพาะ DTAC ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลงทำให้กำไรลดลง ในส่วนของ JAS เองนั้น แม้ว่ายังไม่ได้ทำธุรกิจมือถือเลย ดังนั้นจึงไม่ควรถูกกระทบอะไรทั้งสิ้น แต่นักลงทุนก็คงมองว่า ในอนาคตถ้ามี 4G แล้ว ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตมีสายของบริษัทก็อาจจะถูกกระทบเนื่องจากคนอาจจะหันไปใช้อินเตอร์เน็ตไร้สายของโทรศัพท์มือถือมากกว่า ดังนั้น หุ้น JAS จึงถูกกระทบแรงรอง ๆ จาก DTAC
บทเรียนของหุ้นมือถือในครั้งนี้ก็คือ ข้อแรก หุ้นของกิจการให้บริการสินค้าที่มีลักษณะเป็น “โภคภัณฑ์” นั่นคือ การแข่งขันของการขายสินค้าหรือบริการขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลักนั้น มีความไม่แน่นอนสูงและหา “ผู้ชนะ” อย่าง “ถาวร” ได้ยาก ช่วงเวลาที่กิจการจะมีผลประกอบการที่ดีน่าประทับใจก็คือช่วงที่ความต้องการสินค้าหรืออุปสงค์มีมากแต่ผู้ให้บริการหรืออุปทานมีจำกัด ซึ่งในช่วงเวลาอย่างนั้น ราคาของสินค้าหรือบริการก็จะสูงกว่าต้นทุนมาก แทบทุกบริษัทก็จะทำกำไรได้สูงกว่าปกติโดยที่แต่ละบริษัทนั้นไม่ต้องมีความสามารถพิเศษหรือเก่งกว่าคู่แข่งแต่อย่างใด และนี่ก็คือเหตุผลที่บริษัทมือถือสามารถทำกำไรได้ดีมากและราคาหุ้นก็สูงขึ้นไปตามกัน เพราะธุรกิจนี้มีผู้ให้บริการที่จำกัดเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่วิทยุของไทยที่ถูกยึดครองโดยหน่วยงานรัฐมานานและเพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงให้เอกชนเข้ามาใช้ได้ผ่านการประมูลคลื่นบางส่วนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ให้บริการหรือผู้ขายมีมากพอ ราคาสินค้าและบริการก็จะลดลงจนทำให้กำไรลดลงจนเหลือแค่กำไรปกติ เมื่อนั้น หุ้นก็จะกลับมาสู่ราคาที่เหมาะสมซึ่งก็ไม่ควรจะสูงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของมัน
บทเรียนอีกข้อหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ หุ้นที่ถูกควบคุมโดยรัฐและกฎเกณฑ์พิเศษนั้น จะมีความเสี่ยงเรื่องของกฎหมายและข้อบังคับที่บางทีก็คาดการณ์ได้ยากมาก เหตุเพราะว่ากฎต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในเวลา “ข้ามคืน” และผลกระทบนั้นบางครั้งสูงมากและทำให้กำไรลดลงไปมากได้ เหตุผลก็เพราะว่าบ่อยครั้ง ธุรกิจเหล่านี้ เป็นธุรกิจที่มีการควบคุมหรือกำหนดต้นทุนและราคาโดยคนไม่กี่คน ไม่ได้กำหนดโดยตลาดเสรี นี่ทำให้ต้นทุนและราคาไม่สะท้อนความเป็นจริง และบางครั้งมันก็สูงไปมาก แต่วันหนึ่งมันก็อาจจะถูกทำให้ลดต่ำลงโดยคนอีกคนหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่ตลาดเสรีอีกเช่นกัน ธุรกิจมือถือเองก็เป็นเช่นนั้น และการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะกำลังเริ่มต้นขึ้นในกรณีของโทรศัพท์มือถือ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้หุ้นมือถือและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตกลงมาแรงนั้น นาทีนี้คนก็ยังน่าจะมองไปที่เหตุการณ์เฉพาะเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ที่แพงกว่าปกติมาก นักลงทุนส่วนใหญ่ยังอาจจะไม่ได้คิดว่าถึงค่าประมูลจะไม่ได้สูงขนาดนั้น มันก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจมือถือที่เคยอยู่อย่างสบายและทำกำไรดีมาก่อนเนื่องจากจำนวนผู้เล่นและคลื่นความถี่ที่จำกัด ก่อนหน้านี้พวกเขาคิดว่าการประมูลน่าจะเป็นผลดีต่อบริษัทมือถือที่จะสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น นักวิเคราะห์ต่างก็เชียร์ว่าถ้ามีการประมูลเมื่อไรก็จะเป็น “ข่าวดี” โดยเฉพาะสำหรับหุ้นบางตัวแต่ก็ไม่ใช่ข่าวร้ายสำหรับหุ้นตัวอื่น พวกเขาไม่เคยวิเคราะห์ “โครงสร้างการแข่งขัน” ในอุตสาหกรรมที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่เป็นลบ นั่นก็คือ การแข่งขันที่มากขึ้นจะทำให้ราคาการให้บริการลดลง ผลก็คือ รายได้โดยรวมของอุตสาหกรรมไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายกับเพิ่มขึ้น พูดง่าย ๆ ผู้บริโภคได้บริการที่ดีขึ้นในราคาเท่าเดิมส่วนผู้ให้บริการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น สถานการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตโดยที่ความต้องการของผู้บริโภคยังมีเท่าเดิม
ถ้ามองว่าเรากำลังจะมีการประมูลใบอนุญาตอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ในคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สิ่งที่จะตามมาอีกก็คือกำลังการผลิตหรือการให้บริการก็จะเพิ่มขึ้นอีก และถ้ามีผู้ให้บริการรายใหม่เช่น JAS ชนะด้วย นี่ก็จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ที่อุปทาน “ล้น” และผู้เล่นรายใหม่ต้องเข้ามาแย่งลูกค้าจากรายเก่าด้วยการลดราคาลงแล้ว ผมก็คิดว่าหุ้นมือถือทั้งกลุ่มก็จะถูกกระทบรุนแรงอีกครั้ง การทำ “สงครามราคา” ก็จะรุนแรงมากเนื่องจากธุรกิจนี้มีต้นทุนคงที่สูงมากจากค่าธรรมเนียมและการลงทุนในอุปกรณ์ที่สูง แต่ต้นทุนแปรผันคือค่าใช้จ่ายในการให้บริการอื่น ๆ นั้นต่ำมากซึ่งทำให้ผู้เล่นที่ยังไม่มีลูกค้าสามารถลดราคาค่าบริการลงไปได้ต่ำมากเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าแทนที่จะปล่อยให้กำลังผลิตว่างอยู่โดยไม่มีการใช้
เรื่องราวของการเปิดให้ใบอนุญาตดิจิตอลทีวีหลายสิบช่องเมื่อปีสองปีที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันก็แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของการแข่งขันของสถานีทีวีแล้วในแง่ที่บริษัทที่มีอยู่เดิมมีกำไรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับที่ผู้เล่นรายใหม่ต่างก็ “บาดเจ็บ” อย่างหนักเนื่องจากสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่ารายได้จากการขายโฆษณาทีวีของตนจะมากพอที่จะคุ้มกับต้นทุนการดำเนินงานของสถานี ประเด็นก็คือ ก่อนการประมูล ผู้เล่นรายใหม่เองคิดว่าเขาจะสามารถขายโฆษณาได้ในจำนวนเวลาที่มีและในอัตราที่สูงระดับหนึ่งซึ่งในความคิดของเขาก็คือค่อนข้างจะต่ำมากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาเห็นอยู่ในโครงสร้างการแข่งขันเดิม ดังนั้น เขาคิดว่าสิ่งที่ประมาณการไว้นั้นค่อนข้าง “อนุรักษ์นิยม” อยู่แล้ว แต่หลังจากที่เริ่มเปิดดำเนินการกันทุกราย เขากลับพบว่าสิ่งที่เขาคาดการณ์นั้นกลับผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง ตัวเลขรายได้ต่ำกว่าที่คาดมาก เหตุผลก็เพราะว่า เมื่อทุกสถานีเปิดขึ้นมา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในแง่ที่แย่ลงมากและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ธุรกิจทีวีอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเยี่ยมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น คนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านั้นจะต้อง “คิดใหม่”
ผมเองก็ไม่มั่นใจเต็มร้อยว่าธุรกิจมือถือได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหรือไม่ เหตุผลก็เพราะว่าผู้เล่นในธุรกิจเองนั้น ถึงอาจจะมีเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังน้อยไม่เหมือนธุรกิจทีวี นอกจากนั้น เรื่องของการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตเองก็ดูเหมือนว่ายังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” เมื่อเทียบกับทีวีที่อาจจะเป็น “ขาลง” อย่างไรก็ตาม ผมเองเชื่อว่า ธุรกิจมือถือเองนั้น น่าจะถดถอยลงมากกว่าที่จะดีขึ้นนับจากนี้ไป
[/size]
nutano
Verified User
โพสต์: 7
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ พ.ย. 16, 2015 2:20 pm | 0 คอมเมนต์
ขอบคุณมากครับอาจารย์ อ่านแล้วได้แง่มุมดีๆเยอะเลย มือถือถึงจะไม่ red ocean เหมือนทีวี แต่การตั้งราคาก็ถูกควบคุมอยู่ดี เมื่อผู้เล่นมากขึ้น ก็ต้องมาแข่งกันที่ราคา ผลประโยชน์ตกแก่ผู้บริโภคแต่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น T_T
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ พ.ย. 16, 2015 7:14 pm | 0 คอมเมนต์
ขอบคุณมากครับ
gripen
Verified User
โพสต์: 276
ผู้ติดตาม: 0
อังคาร พ.ย. 17, 2015 1:49 pm | 0 คอมเมนต์
แต่ผมกลับมองต่างน่ะครับ ไว้มีเวลาจะมานั่งวิเคราะห์ลองแชร์ความคิดเห็นกันครับ
ปล่อยให้เงินทำงาน...$$$
ทศพร29
Verified User
โพสต์: 306
ผู้ติดตาม: 0
อังคาร พ.ย. 17, 2015 3:06 pm | 0 คอมเมนต์
เห็นด้วยทุกประการเลยครับ
drsp
Verified User
โพสต์: 381
ผู้ติดตาม: 0
ศุกร์ พ.ย. 27, 2015 10:18 am | 0 คอมเมนต์
ในมุมมองของผม ธุรกิจtelecomกําลังเปลี่ยนจากblue oceanเป็นred ocean
แต่ถ้าjasประมูล900ได้ มันจะกลายเป็นbloody oceanทันที
soros
Verified User
โพสต์: 262
ผู้ติดตาม: 0
อาทิตย์ พ.ย. 29, 2015 4:32 pm | 0 คอมเมนต์
ตอน CPALL ซื้อ MAKRO ราคา 1.88 แสนล้าน มีคนวิเคราะห์ว่า ราคาไม่แพง และเป็นราคาที่เหมาะสมสำหรับเทคโอเวอร์เพราะถ้า CPALL ไม่ซื้อ คนอื่นก็ต้องมาซื้อ แถมบอกว่า เหมือน CPALL ได้ MAKRO มาฟรีๆ เพราะ CPALL กู้เงินมาซื้อ แต่เอากำไรที่ได้จาก MAKRO มาจ่าย ก็เหมือนได้มาฟรี ทั้งๆที่ตอนนั้น สมมุติว่าเอากำไร CPALL ทั้งหมดมาจ่ายหนี้ 20 ปี ก็ยังคืนหนี้ไม่หมด ต่อให้กำไร Growth เป็น 2เท่าของ GDP ก็เถอะ
แต่ตอนประมูลคลื่น 1800 หุ้นมือถือบางบริษัท เอากำไรปีเดียวมาจ่ายค่าไลเซ่นก็หมดแล้ว ถึงแม้ว่ารายได้รวมของหุ้นมือถือช่วงที่ผ่านมาจะไม่ค่อยเติบโตแล้ว เพราะยอดใช้ Voice ลดลงตลอด แต่ยอดใช้ DATA กลับเพิ่มอย่าง กระฉูดระดับโลก ซึ่งเมื่อหุ้นมือถือได้คลื่น 1800 มาแล้ว ระยะสั้นกำไรอาจไม่เพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ระยะยาวนั้น การใช้ DATA ผ่าน Mobile นั้นเป็น Mega trend ที่เห็นได้ชัดเลย เมื่อถึงตอนที่ รายได้ผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้ว ที่เหลือจะเป็นกำไรอย่างเดียวเลย
ส่วนเรื่องคู่แข่งที่เพิ่มนั้น ธุรกิจมือถือนั้น ผมว่ามันไม่เหมือน พวก น้ำมัน ถ่านหิน ที่เมื่อคู่แข่งเพิ่ม อุปทานเพิ่ม ราคาก็ตก เพราะต้นทุนการผลิตของรายใหม่อาจไม่ต่างจากรายเก่ามาก แต่สำหรับธุรกิจมือถือนั้น รายที่มาใหม่ ถ้าสามารถเข้ามาได้ก็ยากที่จะอยู่ได้ หรือ ต่อให้อยู่ได้ก็แข่งกับเบอร์ 1 ของวงการได้ยาก เพราะต้นทุนต่อหน่วยมันต่างกันมาก ดู TRUE เป็นตัวอย่างสิ ที่วันนี้อยู่ได้ผมว่า เพราะพ่อรวยมาก เท่านั้นเอง
KriangL
Verified User
โพสต์: 1475
ผู้ติดตาม: 0
อาทิตย์ พ.ย. 29, 2015 7:10 pm | 0 คอมเมนต์
เมืองนอกมีการใช้มือถือที่มี NFC สามารถแตะกับตู้หยอดเหรียญเพื่อซื้อของหรือจ่ายค่าเดินทางได้ อนาคตหลายๆอย่างจะผูกติดเข้ากับมือถือมากขึ้น ขยายไปสู่ธุรกิจการเงินพวกเครดิตหรือธนาคาร พอมี Internet of Things มือถือจะกลายเป็นระบบควบคุมอุปกรณ์ในบ้าน พวกโลกในอนาคตในหนัง Hollywood การที่จะไปสู่จุดนั้นได้เครือข่ายมือถือ (อนาคตจะเป็น 5G,6G,...) จะเป็น infrastructure ที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งเลยครับ
vim
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2748
ผู้ติดตาม: 0
อาทิตย์ พ.ย. 29, 2015 7:50 pm | 0 คอมเมนต์
ขอบคุณครับ
ตรงนี้ผมมองว่าผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณมือถือ (MNO - Mobile Network Operator) นั้นไม่ได้อยู่ในหมวดการแข่งขันสินค้า “โภคภัณฑ์” ครับ อาจจะมีลักษณะที่คล้ายบ้าง แต่ถ้าจัดหมวดจริงๆผมคิดว่ามันควรอยู่ในหมวดสินค้าที่มี "ผู้แข่งขันน้อยราย" (oligopoly) มากกว่า
และสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ในเมืองไทย แต่ในหลายๆประเทศ ธุรกิจ MNO ก็มักจะสู้กันแค่ 3-4 เจ้า น่าจะเรียกว่าได้ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจ oligopoly โดยธรรมชาติ
จุดแตกต่างของธุรกิจ Oligopoly กับธุรกิจประเภทอื่นๆคือ
1. เมื่อเทียบกับธุรกิจ"ผูกขาด" (monopoly) แล้ว ธุรกิจ oligopoly แม้จะถูกรัฐแทรกแซงบ้าง เช่นการกำหนดค่าใบอนุญาตแพงๆ แต่รัฐเองก็ไม่สามารถแทรกแซงได้มากนัก เพราะกลไกการแข่งขันของผู้เล่นแต่ละคนทำให้เกิดการถ่วงดุลและการต่อรองกันระหว่างผู้เล่นและรัฐ ถ้าพิจารณาสัญญาใบอนุญาตก้อนนี้ ผมคิดว่าแม้การประมูลจะทำให้บริษัทที่ได้สัญญาไปต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ตัวสัญญาเองก็เปิดโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัทอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดราคาขึ้นสูงสุดอิงตามปริมาณข้อมูล (บาท/MB) แต่ในอนาคตอันใกล้ปริมาณข้อมูลผ่านช่องทาง 4G จะเพิ่มขึ้นสูงมาก เฉพาะตรงนี้อาจทำเป็นการสร้างรายได้มหาศาลในระยะยาวให้กับผู้ชนะการประมูลได้
2. เมื่อเทียบธุรกิจโภคภัณฑ์ (commodity) ที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาได้ตลอดแล้วนั้น ธุรกิจ oligopoly โดยเฉพาะธุรกิจ MNO มีโอกาสมีผู้เล่นหน้าใหม่ระดับเดียวกันน้อยมาก แม้กระทั่งหากมีผู้เล่นเอกชนรายที่ 4 เกิดขึ้นจริง เวลาที่บริษัทนั้นจะเติบโตขึ้นมาจนสามารถแข่งขันได้อย่างมีนัยยะสำคัญนั้นอาจจะกินเวลาหลายปี ระหว่างทางก็อาจปิดตัวลงหรือถูกบริษัทใหญ่กลืนได้ตลอด
ถ้าจำนวนคลื่นที่ใช้งานได้เพิ่มขึ้น อุปทานจะล้นหรือไม่?
หากมองในประเด็นที่จำนวนคลื่นที่เพิ่มขึ้น เราอาจพอเทียบเคียงกับต่างประเทศได้บ้าง เช่นประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเมื่อมีการพัฒนาเครือข่ายถึงจุดหนึ่ง ก็เกิดธุรกิจที่เรียกว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณมือถือเสมือน (MVNO - Mobile Virtual Network Operator) ขึ้นมา เหตุผลเพราะว่าผู้เล่นหน้าใหม่ค้นพบตลาดเฉพาะแต่ไม่มีทุนเพียงพอที่จะทำเครือข่ายสัญญาณเอง บริษัทเหล่านี้จึงไปขอซื้อสัญญาณเหมาผ่าน MNO มาอีกทีหนึ่งแล้วนำไปทำการตลาดต่อ
(ในไทยเอง CAT/TOT ก็มีความพยายามที่จะสร้างตรงนี้ แต่ด้วยที่คลื่นจำกัดและปัญหาการพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทำให้ปัจจุบัน MVNO ยังไม่สามารถเติบโตได้)
เมื่อจำนวนคลื่นเพิ่มขึ้นถึงจุดนั้นจริงๆ เมื่อนั้นผู้ชนะการประมูลอย่าง AIS/TRUE/DTAC/JAS? เองก็อาจจะเริ่มมีสถานะเป็น "ผู้ขายส่ง" สัญญาณ แทนที่จะเป็น "ผู้ขายปลีก" อย่างทุกวันนี้ ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันของ MNO นั้นนอกจากคลื่นแล้ว ยังรวมไปถึงเครือข่ายโครงสร้างเสาสัญญาณ ที่รายใหม่ไม่สามารถสร้างได้ง่ายๆ
สรุปแล้ว ผมมองว่าธุรกิจประเภทผู้ให้บริการสัญญาณมือถือนี้ แม้จะไม่ได้โตหวือหวา แต่ก็มีลักษณะที่เป็น oligopoly ที่โอกาสดับหรือตายต่ำมาก โดยเฉพาะหากได้คลื่นมาอยู่ในมือ แม้ปริมาณคลื่นในระบบจะสูงขึ้น แต่กลไกตลาดสามารถทำให้ผู้ชนะการประมูลใช้ประโยชน์จากปริมาณคลื่นในมือได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเอาไปทำการตลาดเองเปรียบได้กับการขายปลีก หรือเอาไปให้คนอื่นทำการตลาดแทนเปรียบได้กับการขายส่ง
V i IM rovised
ขงเบ้ง
Verified User
โพสต์: 399
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ พ.ย. 30, 2015 7:15 am | 0 คอมเมนต์
ความเห็นส่วนตัวผมนะครับ
ข้อ1ราคาประมูลไม่ได้สูงไป 18ปีไม่ใช่15ปี
เอา18หารตกปีละสองถึงสามพันล้านบาท
ข้อ2ทำอะไรต้องลงทุนปันผลก็ได้มาจากกำไร
การประมูลคลื่นคือการลงทุน
ข้อ3บริษัทที่ได้เปรียบคือaisเพราะถ้าประมูลได้หมดก็ผูกขาดแถมมีเงินจ่ายกำไรไตรมาสละสองหมื่นแค่อดปันผลหนึ่งปีแล้วกินยาวทำอะไรต้องลงทุนการประมูลคือการลงทุน
ข้อ4ถ้าบริษัทอื่นประมูลได้ก็กระอักเลือดเพราะค่าใช้จ่ายมากขึ้นหรือหนี้มากขึ้นความสามารถในการแข่งขันจะลดลง
ข้อ5มีวิธีจ่ายโดยที่ยังมีปันผลเช่นออกหุ้นกู้
ปล.ผมอาจผิดก็ได้ครับเป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ไม่เห็นด้วยก็ได้ครับ
ผมมั่วเอาครับ
ไม่มีกลยุทธ์ใดตายตัวขึ้นอยู่กับสภาวะการณ์
เวลารุกคิดให้นานแต่เวลาถอยต้องเร็วไร้เงา
อิสรภาพทางการเงินเป็นแค่การเริ่มต้น
ปลายทาง คือ ความหลุดพ้น
ชีวิต คือ ความว่างเปล่า
ไม่มีใครหนีพ้นความตาย
แม้เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1ของโลก
gripen
Verified User
โพสต์: 276
ผู้ติดตาม: 0
อังคาร ธ.ค. 01, 2015 12:11 pm | 0 คอมเมนต์
อย่างที่ผมบอก ว่าผมเห็นแย้งกับดร.ท่านในเรื่องนี้ ส่วนในรายละเอียดมีพี่ๆด้านบนพูดถึงได้ค่อนข้างละเอียดไปแล้ว แต่ผมจะสังเกตุในมุมมองผมแบบบ้านๆมั้่งน่ะครับ ผมคิดว่าธุรกิจมือถือ ยังคงเป็น Mega trend ไปอีกนาน และทีสำคัญมันค่อยๆแทรกซึมเปลี่ยนแปลงกลืนกินธุรกิจที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมให้เปลี่ยนไปได้อย่างน่ากลัว อาทิ ธุรกิจทีวี ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจสื่อโฆษณษานอกบ้าน ร้านหนังสือ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ดูได้จาก ยอดขายพวกธุรกิจเหล่านี้ตกลงอย่างค่อยไปค่อยไปหรืออย่างรวดเร็ว หรือกระทั่งธุรกิจธนาคาร เดี๋ยวนี้มีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือมากขึ้น โอน จ่าย ได้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าเดินทาง ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดี หรือแม้กระทั้่งธุรกิจค้าปลีก ก้อยังกระทบไม่น้อย จากยอดสั่งซื้อออนไลน์ที่ก้าวเข้ามากินมาเก็ตแชร์เรื่อยๆ ดูได้จากยอดขายค้าปลีกระดับโลกอย่างวอล์มาร์ท ยังยอมรับการเข้ามาของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมีการสั่งซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น ดังนั้นถ้าธุรกิจต่างๆถ้าไม่ปรับตัว ก้อคงจะอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นในระยะยาวผมคิดว่ากำไรในธุรกิจในกลุ่มสื่อสารจะไม่มีวันถดถอยแน่นอน โดยในทางตรงกันข้าม นับวันมีแต่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
ปล่อยให้เงินทำงาน...$$$
gripen
Verified User
โพสต์: 276
ผู้ติดตาม: 0
อังคาร ธ.ค. 01, 2015 12:26 pm | 0 คอมเมนต์
มีคนเคยพูดว่า คนสมัยนี้และในอนาคตข้างหน้า
" มือของเรานั้นจับเครื่องโทรศัพท์มือถือ มากกว่าจับมือคนในครอบครัว " หรือว่าไม่จริงครับ
ปล่อยให้เงินทำงาน...$$$
surapol
Verified User
โพสต์: 272
ผู้ติดตาม: 0
อังคาร ธ.ค. 01, 2015 2:32 pm | 0 คอมเมนต์
ผมกับเห็นด้วยกับ ดร. ในเมื่อทุกเจ้าที่ให้บริการทำได้แค่เป็น carrier เท่านั้นอะไรคือ
ความแตกต่างระหว่างกัน? ก็คงไม่พ้นเรื่องการตลาด promotion , หรือ สิ่งอื่นๆ ซึ่ง
ไม่ได้ช่วยอะไรมาก pricing น่าจะสำคัญสุด เพราะต้นทุนในการ switching น่าจะต่ำ
มากสำหรับ user ท้ายสุดก็ commodity นี้หละ ซึ่งเห็นได้ลางๆตั้งแต่ 3g แล้ว ถ้าคิด
ในแง่ดีเรื่องการบริการเหล่านี้ น่าจะถือว่าเป็น infrastructure ของประเทศไปแล้ว เรื่อง
กำไรเยอะๆ น่าจะไปหาจากบริการเสริม หรือ ธุรกิจอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นบน platform นี้มาก
กว่า ในเกมนี้ jas อาจจะเป็น key สำคัญของการเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้ เชียร์ jas ให้ได้
Way of life is way of brain
paoz
Verified User
โพสต์: 91
ผู้ติดตาม: 0
อาทิตย์ ธ.ค. 13, 2015 10:03 am | 0 คอมเมนต์
อัตราการใช้ DATA ต่อไปในอนาคตข้างหน้ามีแต่จะเพิ่มมากขึ้นนะครับ เช่น รูปภาพต่างๆก็มีความละเอียดมากขึ้นขนาดไฟล์ก็ใหญ่ตามไปด้วย ส่วนพวก VDO ต่างๆ ยกตัวอย่าง ใน youtube เดี๋ยวนี้ก็เป็น Full HD กันซะเยอะแล้ว พวกความละเอียดระดับ 4K ก็กำลังจะเข้ามาครับ
จงทำตัวให้เหมือนน้ำครึ่งแก้วตลอดชีวิตและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ