โค้ด: เลือกทั้งหมด
เรื่องของการเปิดเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศอื่นนั้น เท่าที่ผ่านมาก็มักจะไม่เป็นประเด็นการโต้แย้งกันมากมายนัก เหตุผลก็เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีข้อเสียอะไรกับคนไทยที่เป็นคนธรรมดามากนัก แต่ข้อดีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจนั้นค่อนข้างชัดเจนกว่าในแง่ที่ว่าการค้าขายโดยเฉพาะการส่งออกจะมากขึ้นเนื่องจากผู้ส่งออกจะได้รับการยกเว้นหรือลดภาษีการนำเข้าจากประเทศที่เป็นคู่สัญญากับเรา ทำให้สินค้าของเราได้เปรียบคู่แข่งส่งผลให้สามารถส่งออกไปขายได้มากขึ้น ในส่วนของการนำเข้าเองนั้น ก็ดูเหมือนว่าเราก็อาจจะนำเข้าเท่าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากการนำเข้าจากประเทศอื่น เราก็นำเข้าจากประเทศคู่สัญญาแทน ดังนั้น การทำสัญญาเปิดการค้าเสรีจึงเป็นสิ่งที่ให้ผลดีและไม่ค่อยจะมีอะไรเสียมากนัก สถิติการส่งออกไปสู่ประเทศที่มีสัญญากับเราก็ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการส่งออกไปประเทศอื่น ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นการส่งออกรถยนต์ของไทยไปออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังมีสัญญาเปิดการค้าเสรี นี่ยังไม่พูดถึงจีนและประเทศใน AEC ที่การค้าขายระหว่างกันเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากเรามีข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างขวาง
การพยายามเปิด “ตลาดเสรี” ของไทยนั้น ต้องถือว่าเราทำมาตลอดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัย “สุโขทัย” ถ้าเราเชื่อ “ศิลาจารึกหลักที่1” ที่ว่า… “ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า” และส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทยก็พบว่ารัฐไทยนั้นค่อนข้าง “เปิด” ในแง่ของการต้อนรับและค้าขายกับต่างชาติมาตลอด ว่าที่จริงถ้าจะพูดว่าเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในยุค 50-60 ปีหลังที่เติบโตขึ้นมามหาศาลนั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญก็คือ เราเป็นประเทศ “เปิด” ที่เป็นทางเลือกที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ต้องการ “ย้ายฐานการผลิต” จากประเทศของตนที่มีต้นทุนสูงกว่า มาสู่ประเทศที่มีต้นทุนต่ำและถูกจำกัดทางด้านการค้าจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาน้อยกว่า
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น การ “เปิด” ประเทศของไทยดูเหมือนว่าจะลดน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากภาวะทางการเมืองที่ทำให้ไทยไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องที่มีการโต้แย้งในสังคมได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้น ไทยได้มีสัญญาทางการค้าเสรีกับประเทศอื่นค่อนข้างมากอยู่แล้ว ดังนั้น ปัญหาที่เราจะเสียเปรียบคู่แข่งทางด้านการค้าที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซียที่อยู่สูงกว่าเราเล็กน้อย และเวียตนามที่อยู่ต่ำกว่าเราเล็กน้อย ก็ไม่มี พูดง่าย ๆ ถึงแม้เราจะห่างเหินจากการเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศมานาน เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก แต่แล้ว โดยไม่คาดคิด กลุ่มการค้าเสรีกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า TPP หรือ Trans-Pacific Partnership หรือข้อตกลงทางการค้าระดับภูมิภาคทรานส์แปซิฟิกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาก็กำลังเกิดขึ้นและประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วม
ความสำคัญของ TPP ก็คือ มันประกอบด้วยประเทศขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 3 ของโลกคืออเมริกาและญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ ริมมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวน 12 ประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 40% ของโลก แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับไทยและประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยในเรื่องของการส่งออกก็คือ TPP มีอเมริกาอยู่ การเข้าร่วมใน TPP ก็หมายถึงการที่ได้เข้าถึงตลาดอเมริกาที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมหาศาล ประเทศที่อยู่ใน TPP เมื่อส่งสินค้าเข้าอเมริกาต่อไปจะไม่เสียภาษีหรือเสียน้อยกว่าประเทศที่อยู่นอก TPP มาก พูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือ เมื่อ TPP มีผลบังคับใช้ สินค้าไทยก็จะเสียเปรียบสินค้าจากเวียตนามและมาเลเซียมาก รายการใหญ่ ๆ เช่น สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกจากไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากเวียตนามและมาเลเซียได้เพราะสินค้าไทยอาจจะต้องเสียภาษีถึง 17% ในขณะที่คู่แข่งไม่เสียภาษีเลย
บางคนอาจจะเถียงว่าทุกวันนี้เราส่งออกไปอเมริกาไม่ได้มากมายนักเพียงแค่ 10% ต้น ๆ ของสินค้าส่งออกไทยทั้งหมด ดังนั้น ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอาจจะไม่มากแม้ว่าไทยอาจจะไม่ได้อยู่ใน TPP แต่ถ้ามองลึกลงไปผมคิดว่าผลกระทบนั้นน่าจะสูงทีเดียว ประเด็นแรกก็คือ อเมริกานั้นเป็นประเทศ “ผู้นำเข้าตลอดกาล” นั่นก็คือ อเมริกานั้นจะนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกต่อเนื่องยาวนาน หรือเป็นผู้นำเข้าสุทธิได้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีปัญหาเนื่องจากทุกประเทศต่างก็ต้องการเงินดอลลาร์มาเป็นเงินทุนสำรองของประเทศ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ นั้นมักจะพยายามเป็นผู้ขายหรือผู้ส่งออกไม่อยากเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อเพื่อที่ว่าตนจะได้มีเงินดอลลาร์มาเป็นเงินทุนสำรอง ดังนั้น สหรัฐจึงเป็นดินแดนที่คนอยากจะค้าขายด้วย เพราะขายแล้วมักได้เปรียบดุลการค้า ซึ่งนั่นรวมถึงไทยและหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ดังนั้น แม้จะขายให้อเมริกา 10% แต่เราก็ได้เปรียบดุลการค้ามาก ไม่เหมือนขายกับประเทศอื่นที่บางทีเราเสียเปรียบ
ประเด็นที่สองและอาจจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ การได้ขายเข้าไปในตลาดอเมริกาได้มากกว่าคู่แข่งมากนั้น จะทำให้บริษัทในมาเลเซียและเวียตนามมียอดขายที่สูงซึ่งจะก่อให้เกิด Economies of Scale ซึ่งก็คือทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตต่ำลง และนั่นจะทำให้บริษัทเหล่านั้นสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดอื่นนอกเหนือจากอเมริกาด้วย ผลก็คือ ข้อแรก สินค้าไทยจะส่งออกได้น้อยลงในตลาดอื่นด้วย และข้อสองที่ตามมาก็คือ บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าขายทั่วโลกต่างก็จะอยากเข้าไปลงทุนในเวียตนามและมาเลเซียมากขึ้นแทนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นการลงทุนในประเทศไทยก็จะน้อยลงและที่จะแย่ขึ้นไปอีกก็คือ บริษัทที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทยอยู่แล้วก็อาจจะย้ายฐานไปอยู่ในประเทศทั้งสอง ตัวอย่างที่เห็นก็เช่น บริษัทซัมซุงที่ได้ย้ายโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จากไทยไปเวียตนามแล้ว เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทที่ย้ายไปอยู่มาเลเซีย ผลก็คือ การจ้างงานและการส่งออกของไทยก็จะลดลงและจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ว่าเศรษฐกิจจะไม่โตขึ้นแต่อาจจะกลายเป็นติดลบก็เป็นได้
ล่าสุดดูเหมือนว่าอินโดนีเซียจะประกาศแล้วว่าจะขอเข้าร่วม TPP และต่อไปฟิลิปปินส์ก็อาจจะตามมา แต่ดูเหมือนว่าไทยจะยังไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เนื่องจากยังมีคนคัดค้านและระบบภายในประเทศของเราก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใคร่พร้อมซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อเนื่องกันมาน่าจะเกือบ 10 ปีมาแล้ว สิ่งที่ไทยควรจะเข้าใจก็คือ ประเทศในอาเซียนเกือบทั้งหมดนั้นต่างก็เป็นคู่แข่งกันหรือกำลังจะเป็นคู่แข่งกันในเกือบทุกอุตสาหกรรมในด้านของการส่งออกเพราะเราต่างก็มีวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจที่คล้ายกันนั่นก็คือ เราต่างก็อาศัยการลงทุนของบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ในอดีตที่ผ่านมานั้น มาเลเซียและไทยได้เปรียบเนื่องจากเรา “เปิดประเทศ” และต้อนรับนักลงทุนต่างชาติมากกว่าเราจึงก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากกว่าเพื่อนบ้านใน AEC แต่ในขณะนี้ดูเหมือนว่าเราจะเริ่ม “ล้าหลัง” ซึ่งถ้าเราไม่รีบปรับตัวเราก็อาจจะ “แพ้” สิ่งนี้ประกอบกับการที่ประชากรของเราแก่ตัวลงมากกว่าประเทศคู่แข่งมากทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเราถดถอยลงอย่างน่าใจหาย หลายปีมานี้เราน่าจะเติบโตช้าที่สุดในอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในอนาคตก็ดูเหมือนว่าเราจะยัง “รั้งท้าย” อยู่ ยิ่งถ้าเราไม่เข้าร่วม TPP เราก็อาจจะยิ่งถูก “ทิ้ง” ไว้ข้างหลัง และไม่แน่ว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าเราอาจจะกลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเซีย” อย่างที่ครั้งหนึ่งฟิลิปปินส์เคยเป็นก็เป็นได้
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ผมก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็เป็นข้อกังวลลึก ๆ ในฐานะของนักลงทุนระยะยาวที่ผลตอบแทนและอนาคตภาพใหญ่ของการลงทุนผูกติดอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือในฐานะของคนไทยที่อย่างไรก็ยังต้องอยู่และตายในประเทศนี้ ผมก็หวังที่จะเห็นประเทศไทยที่ยังเติบโตและก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพราะนั่นจะทำให้เป็นสังคมที่คนอยู่กันอย่างมีความสุข สังคมที่เศรษฐกิจ “ถดถอย” นั้น มักจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายและจะหาความสงบได้ยาก เพราะเศรษฐกิจและสังคมนั้น จริง ๆ แล้วก็แทบเป็นเรื่องเดียวกันในโลกยุคปัจจุบัน