โค้ด: เลือกทั้งหมด
เป็นที่ฮือฮากันมาเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยหรือที่เราเรียกกันในภาษาพูดว่า “แบงก์ชาติ” ได้ประกาศเปิดช่องทางให้ผู้ลงทุนทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาสามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) ได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง และสามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เสี่ยงและซับซ้อนมากขึ้นได้
การเปิดครั้งนี้เป็นการเปิดเพิ่มเติมจากเดิมที่เปิดให้ลงทุนโดยผ่านตัวกลาง คือ บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไปแล้วเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน
วงเงินที่ให้ในครั้งนี้คือ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 185 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
ผู้ลงทุนที่สามารถนำเงินไปลงทุนได้ก่อนในปี 2559 คือผู้ที่มีสินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งแบงก์ชาติหมายถึง เงินฝาก หรือพอร์ตการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป และในปี 2560 จึงจะเปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถลงทุนได้ในวงเงินเท่ากันคือ 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
สำหรับผู้ลงทุนที่เป็นนิติบุคคล หากจะนำเงินออกไปลงทุนในปี 2559 จะต้องมีสินทรัพย์รวม 1,000 ถึง 5,000 ล้านบาท แต่ในปี 2560 เป็นต้นไป นิติบุคคลใดๆก็สามารถจะลงทุนในต่างประเทศได้
การลงทุนในต่างประเทศ เป็นการเปิดให้ผู้ลงทุนสามารถมีทางเลือกเพิ่มขึ้น สามารถกระจายการลงทุนได้ดีขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป การขยายขอบเขตของสินทรัพย์ที่จะลงทุนนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ตราสารและผลิตภัณฑ์ทางการเงินในปัจจุบันมีความหลากหลายขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น นั่นหมายความว่า ผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้ หรือจะต้องปรึกษาผู้รู้ เพื่อให้สามารถพิจารณาเลือกถึงความเหมาะสมในการลงทุนได้
ในช่วงที่เงินลงทุนล้นตลาด เพราะธนาคารกลางของประเทศต่างๆพากันอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบเช่นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ นักการเงินและวาณิชธนากรทั้งหลาย ต่างพยายามสรรค์สร้างตราสารรูปแบบแปลกใหม่มาเสนอขายให้กับผู้ลงทุนซึ่งต่างโหยหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น เนื่องจากอยู่ในสภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำ และอัตราผลตอบแทนต่ำมาประมาณ 17 ปี ตั้งแต่ช่วงหลังการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ที่เราเรียกชื่อเล่นกันว่าวิกฤติ“ต้มยำกุ้ง”
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการไปลงทุนในต่างประเทศ และหนึ่งในนั้นคือ ควรจะจัดสรรสัดส่วนไปลงทุนสักเท่าใด
คำตอบหลากหลายมากค่ะ ในเว็ปไซต์ของเอเชียนวอลล์สตรีทเจอร์นัลฉบับวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ก็มีการสอบถามผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพบว่า คำตอบหลากหลาย อาทิ ถ้าตอบตามทฤษฎีเลยก็ต้องตอบว่า จัดสัดส่วนไปตามสัดส่วนของตลาด ถ้าเป็นเช่นนั้น ในส่วนที่จัดสรรเอาไว้ลงทุนในหุ้นทุน คนไทยก็ต้องนำออกไปลงทุนในต่างประเทศเกือบทั้งหมด เพราะตลาดไทยมีขนาดเพียง 0.3% ของมูลค่าตลาดโลก (คิดจากสมาชิกของ World Federation of Exchanges)
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในสหรัฐอเมริกาก็จะบอกว่า 10-20% บ้าง 20-30%บ้าง 20-40% บ้าง 20-50% บ้าง อย่างไรก็ดีเหตุผลหนึ่งที่แบงก์ชาติเปิดกว้างมากขึ้นในครั้งนี้ แบงก์ชาติบอกว่าเนื่องจากผู้ลงทุนไทยมีความลำเอียงในการลงทุนในประเทศตัวเอง หรือ home country bias มาก
ดิฉันเคยเขียนถึงเรื่องความลำเอียงนี้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ปุถุชนค่ะ ประเทศไหนๆก็มีผู้ลงทุนที่มีความลำเอียงลงทุนในประเทศของตัวเองเยอะกว่าทั้งนั้น แม้แต่พอร์ตการลงทุนที่ดิฉันแนะนำ ยังมีการลงทุนในต่างประเทศน้อยกว่าในไทย เนื่องจากเราอยู่ใกล้ข้อมูลมากกว่า เราใช้สินค้าและบริการของบริษัทเหล่านั้น ถ้าเราช่างสังเกต เราก็จะเห็นผลการดำเนินงานของกิจการเหล่านั้นเป็นระยะๆโดยไม่ต้องรอให้แสดงในงบการเงินหลังปิดงวดบัญชี
สัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่ดิฉันแนะนำจะอยู่ในช่วง 20-40%ของสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนั้นๆ ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจของไทยเทียบกับของโลก และขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ลงทุนด้วย เพราะการลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งความเสี่ยงของประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง ความเสี่ยงเกี่ยวกับผู้ที่เราติดต่อด้วย ฯลฯ ซึ่งบางประเภทป้องกันได้ บางประเภทป้องกันไม่ได้
อยากเตือนท่านผู้ลงทุนว่าต้องศึกษาให้เข้าใจถึงรูปแบบความเสี่ยงและผลตอบแทนของตราสารและหลักทรัพย์แต่ละอย่างให้ถ่องแท้ และดูว่า ตราสารหรือหลักทรัพย์นั้น เหมาะสมที่จะอยู่ในพอร์ตการลงทุนของเราหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องลงทุนในตราสารทุกแบบที่เพื่อนหรือคนรู้จักลงทุน เพราะแต่ละคนมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน
ที่สำคัญคือ อย่าลงทุนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ เพราะได้มีกรณีเกิดขึ้นมามากมายแล้ว เมื่อผู้ลงทุนลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ ไม่มีความถนัด และมักจะลงเอยด้วยการเป็นเรื่องเศร้า
อย่าลืมว่า ท่านที่สนใจลงทุนในต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนโดยตรงแบบที่จะเปิดให้เพิ่ม ท่านยังสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เรียกว่า FIF หรือผ่านกองทุนส่วนบุคคล หรือลงทุนผ่านนายหน้าหลักทรัพย์(โบรกเกอร์)ที่อยู่ในไทยได้ ตามช่องทางที่เปิดให้ในปัจจุบัน
ข้อมูลจาก Fund Fact Book 2015 ของสถาบันบริษัทจัดการลงทุนของสหรัฐอเมริกา (Investment Company Institute—ICI) พบว่า ในสหรัฐอเมริกา ผู้ลงทุนลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นหลัก และการซื้อกองทุนรวมก็เป็นการซื้อโดยปรึกษานักวางแผนการเงินอิสระ 28% ผ่านโบรกเกอร์ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ 29% ซื้อตรงกับบริษัทจัดการ 19% ซื้อผ่านโบรกเกอร์ที่ให้บริการไม่เต็มรูปแบบ หรือ Discount Brokers 18% ผ่านตัวแทนธนาคารและสถาบันการเงิน 17% ผ่านตัวแทนบริษัทประกัน 10% และผ่านนักบัญชี 7% โดยรวมแล้วจะเห็นว่า แม้การซื้อกองทุนรวม ยังนิยมซื้อโดยได้รับคำแนะนำเลยค่ะ
คาถาป้องกันตัวในการลงทุน มีอยู่คาถาหนึ่งค่ะ ซึ่งดิฉันขอมอบเครดิตให้กับ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้กล่าวสอนคตินี้ให้กับดิฉัน คาถานั้นก็คือ “เสียดาย(ที่ไม่ได้ลงทุน) ดีกว่า เสียใจ(ที่ลงทุนแล้วผิดพลาด)” เพราะการไม่ได้ลงทุน เป็นเพียงการเสียโอกาส แต่การลงทุนแล้วผิดพลาด นอกจากจะเสียใจแล้ว ยังเป็นการเสียเงินลงทุนอีกด้วย