โค้ด: เลือกทั้งหมด
ผมอยู่ในตลาดหุ้นมานานและสังเกตเห็นว่า สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะแยกแนวทางการลงทุนระหว่างนักลงทุนกลุ่มหนึ่งกับนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งออกจากกันได้เด่นชัดที่สุดนั้น ไม่ใช่การเป็น “นักลงทุนหรือนักเก็งกำไร” หรือไม่ใช่ “นักเทคนิคหรือเป็น VI” หรือไม่ใช่ “นักเล่นหุ้นเติบโตหรือเล่นหุ้นถูก” เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่นั้นต่างก็มีความเป็นนักเก็งกำไรและนักลงทุนอยู่ในตัว ไม่รู้จะแยกยังไง บางคนเป็น VI แต่ก็ดูกราฟด้วยหรือดูบ้าง นักเทคนิคที่ผมรู้จักจำนวนมากนั้น ต่างก็ดูพื้นฐานด้วยไม่ใช่มองแต่กราฟ เช่นเดียวกัน ผมแทบจะไม่เคยเห็นคนที่เล่นแต่ Growth โดยไม่สนใจหุ้นที่ถูกมากเลย
สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สามารถที่จะแยกนักลงทุนออกจากกันได้ชัดที่สุดนั้นน่าจะเป็นเรื่องของระยะเวลาในการลงทุนหรือมุมมองต่อเรื่องของระยะเวลาในการถือครองหุ้นหรือพูดง่าย ๆ คุณเป็นคน “เล่นสั้นหรือเล่นยาว” เหตุที่ผมใช้คำว่า “มุมมอง” นั้น เป็นเพราะว่านี่คือ “ฐานทางความคิด” ของการลงทุนในการพิจารณาเกี่ยวกับการเลือกหุ้น ถือหุ้น ขายหุ้น และเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ถ้าจะหาชีวิตนักลงทุนเอกของโลกมาเปรียบเทียบที่ดี เราก็คงจะเห็นได้ชัดเจนว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นน่าจะถือได้ว่าเป็นคนที่ “เล่นยาว” สุดโต่ง ในอีกด้านหนึ่ง จอร์จ โซรอส น่าจะเป็นตัวแทนของคนที่ “เล่นสั้น” และสองคนนี้ผมคิดว่ามีมุมมองต่อเรื่องของการลงทุนคนละด้านอย่างเห็นได้ชัดทั้งเวลาซื้อ เวลาถือครอง และเวลาขาย รวมถึงเรื่องของความเสี่ยงและประเด็นอื่น ๆ แต่ทั้งสองต่างก็ประสบความสำเร็จพอ ๆ กัน แน่นอนว่าบางครั้งบัฟเฟตต์ก็ถือหุ้นสั้นบ้างเช่นเดียวกับที่โซรอสเองก็น่าจะเคยถือหุ้นยาวแต่นั่นมักเป็นข้อยกเว้นหรือเป็นรายการย่อยไม่ใช่รายการหลัก หุ้นหรือหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ของคนที่ “เล่นยาว” นั้นต้องถือยาว ส่วนคนที่ “เล่นสั้น” นั้น ต้องถือสั้น ไม่ว่าเจ้าตัวจะเรียกตัวเองว่าเป็นคนที่ลงทุนแนวไหน
ในความคิดของผมแล้ว คนที่ตั้งใจถือหุ้นไม่เกินประมาณ 1 ปี ก็ต้องถือว่าเป็นคน “เล่นสั้น” แม้ว่าเจ้าตัวจะบอกว่าตนเองเป็นคนลงทุนระยะยาว คนที่ตั้งใจถือหุ้นยาวกว่านั้นโดยเฉพาะที่ไม่ได้ตั้งเป้าเวลาที่จะขายเลยนั้นก็อาจจะถือว่าเป็นคนที่ “เล่นยาว” มองจากเกณฑ์นี้แล้วผมคิดว่านักลงทุนในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่ รวมถึงสถาบันลงทุน เช่น บลจ. ทั้งหลายที่บริหารเงินให้กับคนอื่น ก็น่าจะถือว่าเป็นคนที่ “เล่นสั้น” คนที่ “เล่นยาว” นั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในกลุ่มของ VI ที่อายุมากหน่อยหรือไม่ก็เป็นสถาบันลงทุนที่เน้นระยะยาวเช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมระยะยาว LTF หรือ RMF กองทุนของบริษัทประกันภัยหรือประกันชีวิต และกองทุนของบริษัทหรือกงสีที่ไม่เน้นที่จะต้องโชว์ผลงานการลงทุนให้กับใครมากนักและสามารถถือหุ้นได้โดยไม่ต้องพะวงกับการถูก “ถอน” การลงทุน
ความแตกต่างของมุมมองระหว่างนักลงทุนที่ถือสั้นกับถือยาวนั้นผมคิดว่ามีมากมายผมจะลองไล่ไปเรื่อย ๆ โดยสิ่งที่ผมจะพูดนั้นอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงจากการศึกษาทางวิชาการแต่เป็นเรื่องที่ผมเคยได้ยินนักลงทุนโดยเฉพาะที่ชอบ “เล่นสั้น” พูดหรือทำ ส่วนสำหรับนักลงทุนระยะยาวนั้น นอกจากสังเกตจากคนอื่นแล้วก็เป็นเรื่องของความคิดผมเองในฐานะนักลงทุนระยะยาวที่มักจะมีความคิดและวิธีทำที่แตกต่างจากนักลงทุนระยะสั้น
เริ่มต้นก็คือประเด็นสำคัญเรื่องของผลตอบแทน คนที่เล่นสั้นนั้นเชื่อว่าการเล่นสั้นนั้นกำไรดีกว่าการเล่นยาว เหตุผลก็เพราะว่ามันสามารถทำกำไรได้ “หลายรอบ” เช่น ถ้าคุณซื้อและขายหุ้นแต่ละตัวภายใน 3 เดือน คุณก็จะมีโอกาสทำกำไรได้ปีละ 4 รอบ ถ้าได้รอบละ “แค่ 10%” ปีหนึ่งก็กำไรไปแล้ว 40% คนที่เล่นสั้นนั้นเชื่อว่าหุ้นแต่ละตัวจะมีจังหวะของการวิ่งเร็วเป็นบางช่วง ดังนั้น เราก็ควรซื้อก่อนที่มันจะ “วิ่ง” หรือเริ่มวิ่ง และขายเมื่อมันขึ้นไปอย่างรวดเร็วซึ่งมักจะไม่กี่เดือน หลังจากนั้นมันก็อาจจะขึ้นช้าลงหรืออาจจะปรับตัวลงมา ดังนั้นเราไม่ควรจะถือต่อแต่ควรจะขายทิ้งและไปหา “ตัวใหม่” ที่กำลังจะมา ส่วนคนที่เล่นยาวนั้น เชื่อว่าการถือหุ้นที่มีพื้นฐานมั่นคงโดดเด่นนั้น หุ้นก็มักจะมีแนวโน้มว่าจะโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ปีหนึ่งอาจจะถึง 10-20% โดยเฉลี่ยตามกำไรของบริษัทที่เขาค่อนข้างมั่นใจว่าจะโตไปได้เรื่อย ๆ ในอัตราที่ค่อนสูงเกิน 10% ต่อปีไปอีกหลายปี การขายและเปลี่ยนตัวเล่นนั้นเขาก็ไม่แน่ใจว่าตัวใหม่จะมีผลงานเท่าตัวเก่าหรือไม่ พวกเขากลัวว่าจะเป็นการ “ขายหมูแล้วไปซื้อควาย” อย่างที่ชอบพูดกันในหมู่นักลงทุน นั่นคือขายหุ้นที่ขึ้นต่อแล้วไปซื้อหุ้นที่ซื้อแล้วก็ตกลงมา
ประเด็นที่สองก็คือเรื่อง “จุดของการทำกำไร” นักเล่นสั้นนั้นบอกว่า “กำไรอยู่ที่การขาย” นั่นคือ การลงทุนนั้น กำไรที่มากนั้นมักจะมาจากการขาย นั่นก็คือ คุณต้องรู้ว่าจะขายหุ้นตัวที่ซื้อมาเมื่อไร เฉพาะอย่างยิ่งก็คือต้องขายในช่วงที่หุ้นดีดตัวขึ้นมาแรงสู่จุดที่สูงมากในระยะสั้น บางครั้งแค่พลาดไปไม่กี่วันหรือบางทีนาที กำไรก็อาจจะหายหมดหรือลดน้อยลงไปมาก ดังนั้น ทักษะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนเล่นสั้นก็คือ การจับจังหวะขาย ส่วนคนเล่นยาวนั้นบอกว่าการขายนั้นไม่สำคัญ กำไรเกิดขึ้นเมื่อเรา “ซื้อหุ้นถูกตัว” นั่นก็คือหุ้นที่มีคุณภาพที่ดีเยี่ยมในราคาถูก ถ้าคุณซื้อหุ้นแบบนี้ได้ คุณไม่จำเป็นต้องรีบขายแม้ว่าในบางช่วงเวลาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าปกติและคุณ “พลาด” ที่จะขายมัน แต่ในอนาคตต่อมา มันก็มักจะปรับตัวขึ้นมาอีกจนสูงเท่าหรือสูงกว่าเดิม ดังนั้น การขายไม่สำคัญ “กำไรอยู่ที่การซื้อ”
“ยาวคือเสี่ยง สั้นคือไม่เสี่ยง” นี่คือคติประจำใจของคนเล่นสั้นที่คิดว่าการลงทุนระยะยาวนั้นเสี่ยงมากเนื่องจากในระยะยาวแล้วทุกอย่างก็อาจจะเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องของพื้นฐานของกิจการ ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็เปลี่ยนไป ยิ่งเวลาผ่านไปมากโอกาสที่เรื่องร้าย ๆ จะเกิดขึ้นก็จะเพิ่มขึ้น ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้น การถือหุ้นยาวคือเสี่ยง บางคนนั้นแค่ถือหุ้นข้ามวันหยุดก็รู้สึกเสี่ยงแล้ว แต่นักเล่นยาวนั้นมองตรงกันข้าม พวกเขารู้สึกว่าในระยะสั้นนั้น ทั้งตลาดและราคาหุ้นจะมีความผันผวนขึ้นลงเอาแน่อะไรไม่ได้ แต่ในระยะยาวแล้ว ดัชนีหุ้นก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราถือยาวเป็น 5 ปีหรือ10 ปี หรือถ้าเริ่มตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ 40 ปีที่แล้ว ดัชนีตลาดจะให้ผลตอบแทนถึงปีละ 10% โดยเฉลี่ย ไม่เสี่ยงเลย นอกจากนั้น สำหรับหุ้นรายตัวแล้ว ถ้าคุณซื้อหุ้นที่แข็งแกร่งและเติบโตระยะยาวโดยการพิจารณาพื้นฐานของกิจการอย่างถี่ถ้วน โอกาสก็สูงที่กำไรของบริษัทจะโตขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าเป็นอย่างนั้น ราคาหุ้นก็ต้องปรับตัวขึ้นไปตาม ดังนั้น “ถือยาวไม่เสี่ยง ถือสั้นเสี่ยง”
คนที่เล่นสั้นนั้นชอบหุ้นที่มี “การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งก็มีหลากหลาย คนที่เล่นสั้นมากชอบการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น หุ้นที่นิ่ง ๆ เขาไม่สนใจ เขาสนใจหุ้นที่กำลังขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วโดยไม่สนใจว่าบริษัททำอะไร คนที่เล่นสั้นแต่ไม่มากอาจจะชอบหุ้นของกิจการที่เป็นวัฏจักรและวัฏจักรกำลังเป็นขาขึ้น บางคนชอบหุ้นของกิจการที่กำลังฟื้นตัว จำนวนมากชอบหุ้นที่กำลังมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างโดดเด่นเนื่องจากสถานการณ์บางอย่างทางอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวย ทั้งหมดนั้นมักจะมีเงื่อนไขที่สำคัญก็คือ มันต้องเป็นหุ้นขนาดเล็กหรือมี Free Float ต่ำที่ทำให้ราคาหุ้นวิ่งได้เร็วมากและมโหฬารได้ พวกเขาคิดว่านี่คือการทำเงินได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ส่วนพวกเล่นยาวนั้นมักจะชอบหุ้นที่ “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” แต่ต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญก็คือ “ก็กิจการมันดีมากอยู่แล้ว” การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอน เป็นความเสี่ยง
สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือมุมมองเกี่ยวกับปันผล นักเล่นสั้นนั้นมักจะไม่ใคร่ “แคร์” เรื่องเงินปันผลมากนัก พวกเขาเห็นว่าเงินปันผลนั้นคิดเป็นผลตอบแทนน้อยนิด พวกเขาคิดว่า “เทรดแค่ 2-3 วันก็เท่ากับเงินปันผลทั้งปีแล้ว” ดังนั้น ปันผลจึงไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจะมอง ส่วนนักลงทุนระยะยาวนั้น ปันผลเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกหุ้นลงทุนไม่น้อย ว่าที่จริงในระยะยาวแล้ว ปันผลในตลาดหุ้นไทยนั้นคิดเป็นผลตอบแทนเกือบครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนทั้งหมด ดังนั้น บ่อยครั้งในการลงทุนพวกเขาคิดถึงปันผลในการเลือกหุ้นลงทุนด้วย