โค้ด: เลือกทั้งหมด
การลดค่าเงินหยวนได้ทำให้ตลาดผันผวนไปทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม เป็นต้นมาและหลายฝ่ายก็ยังเกรงว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงไปได้อีก ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียและเศรษฐกิจโลกโดยรวม สำหรับไทยนั้น ผมเห็นการแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งถูกซ้ำเติมโดยเหตุการณ์ระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง แต่ก็มีการคาดหวังกันว่า จะเป็นเรื่องที่ทางการไทยสามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อคนไทยและนักท่องเที่ยว ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย
แต่เรื่องของเงินหยวนอ่อนค่านี้ ดูเสมือนว่าจะเป็นปัญหายืดเยื้อ ตัวอย่างปัจจุบันเงินหยวนอ่อนค่าลงจาก 6.1 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 6.4 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ มองว่าเงินหยวนจะอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องไปที่ 6.9 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปลายปี 2016 ซึ่งทำให้แบงก์ ออฟอเมริกา คาดการณ์ว่า เงินบาทจะอ่อนค่าจากปัจจุบันประมาณ 35.6 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ไปเป็น 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปลายปี 2016 เช่นกัน
เรื่องของค่าเงินหยวนนี้ผมต้องขอกล่าวถึงภูมิหลัง ดังนี้
1.ก่อนปี 2005 ธนาคารกลางจีนผูกค่าเงินหยวนเอาไว้ตายตัวที่ 8.1 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นประโยชน์กับการส่งออกของจีนอย่างมาก แต่ก็ถูกประเทศคู่ค้าใหญ่ๆ โดยเฉพาะสหรัฐตำหนิโดยเสมอมา รวมทั้งไอเอ็มเอฟที่ประเมินว่า ค่าเงินหยวนอ่อนกว่าความเป็นจริง (อ่อนเกินปัจจัยพื้นฐาน)
2.ตั้งแต่ปลายปี 2005 เป็นต้นมา จีนกำหนดให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกำหนดกรอบให้เงินหยวนปรับตัวได้บวกหรือลบ 1% ต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ และในทางปฏิบัติ ธนาคารกลางจีนปรับเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นมาโดยตลอด จนมาอยู่ที่ 6.1-6.2 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2012
3.จากนั้นธนาคารกลางจีนก็ขยายกรอบให้เงินหยวน ให้ปรับตัวตามกลไกตลาดได้มากเป็นบวก/ลบ 2% ต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ แต่ในทางปฏิบัตินั้น แม้ว่ากลไกตลาดจะชี้นำไปในทิศทางที่เงินหยวนควรจะอ่อนค่าลง แต่อัตราแลกเปลี่ยนกลางที่กำหนดโดยธนาคารกลางของจีนในวันรุ่งขึ้น ก็มักจะไม่เป็นไปตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยกลไกตลาดในวันก่อนหน้า
4.จนกระทั่งวันที่ 11 สิงหาคม 2015 ที่ธนาคารกลางจีนกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกลางที่อ่อนตัวลง 1.8% จากวันก่อนหน้า ซึ่งตลาดมิได้คาดการณ์มาก่อน และตามด้วยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกลางที่ทำให้เงินหยวนอ่อนลงไปอีกในวันต่อมา ในที่สุดในสัปดาห์ดังกล่าว เงินหยวนอ่อนค่าลงประมาณ 4% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดมองว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าเงินหยวนจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปอย่างต่อเนื่อง ไปอีกหลายเดือนหรือเป็นปี
ในขณะที่คนส่วนใหญ่มีความกังวลต่อผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินหยวน (ซึ่งผมจะเขียนถึงอย่างละเอียดมากขึ้นในตอนต่อไป) แต่ก็มีบางคนมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่จะส่งผลดีต่อจีนและต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว ทั้งนี้ สามารถกล่าวได้ว่า ก่อนหน้านี้เงินหยวนได้ถูกปรับตัวให้แข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จาก 8.1 หยวนมาเป็น 6.4 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้แต่ไอเอ็มเอฟเอง ก็ไม่สามารถพูดได้ในวันนี้ว่า เงินหยวนอ่อนค่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน
นอกจากนั้น ทั้งไอเอ็มเอฟและสหรัฐเอง ก็ได้เคยเสนอแนะและผลักดันจีนโดยเสมอมา ให้จีนปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า จีนได้ทำตามที่เรียกร้องและเป็นเงื่อนไขสำคัญเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณาของไอเอ็มเอฟ ที่จะนำเอาเงินหยวนเข้ามาคำนวณมูลค่าของเงินไอเอ็มเอฟคือ เอสดีอาร์ (SDRs หรือ Special Drawing Rights) เรื่องนี้จีนให้ความสำคัญ เพราะเป็นเงินสกุลหลักของธนาคารกลาง ทำให้เงินหยวนมีสถานะเป็นเงินสกุลหลักของโลก (พร้อมไปกับเงินเหรียญสหรัฐ เงินปอนด์อังกฤษ เงินยูโรและเงินเยนที่ปัจจุบันเป็น 4 สกุล ที่ใช้คำนวณมูลค่าของเอสดีอาร์) และเงินหยวนจะถูกนำไปเป็นทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกได้อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าเงินหยวนอาจจะไม่อ่อนตัวลงต่อไปอีก เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐในช่วง 4-5 สัปดาห์ข้างหน้า เพราะการอ่อนตัวที่ผ่านมา แม้จะถูกต้องตามหลักการ (คืออ่อนตัวตามกลไกตลาด) แต่ก็เริ่มถูกนักการเมืองของสหรัฐโจมตี เพราะเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าขึ้นอย่างมากอยู่แล้ว ประมาณ 20% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่าน เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก กำลังทำให้หลายฝ่ายในสหรัฐมองว่า เงินเหรียญสหรัฐที่แข็งตัวขึ้นอย่างมาก จะกระทบต่อการส่งออกและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสหรัฐ อันจะฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า และอาจกระทบต่อการจ้างแรงงานและค่าจ้างแรงงานอีกด้วย
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีกำหนดการจะไปเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน จึงคงจะไม่อยากให้เกิดการอ่อนตัวของเงินหยวนต่อไปอีก เพราะจะทำให้เป็นประเด็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิกของสหรัฐกล่าวโจมตีจีนได้ ทั้งนี้ เงินหยวนอาจจะกลับมาอ่อนตัวได้อีกในช่วงหลังของเดือนกันยายนหลังการเยือนของประธานาธิบดีจีน และหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ ในวันที่ 16 กันยายนครับ