โค้ด: เลือกทั้งหมด
นักลงทุนแนว VI “พันธุ์แท้” ที่ชื่นชมและศรัทธา วอเร็น บัฟเฟตต์ หลายคนมักชอบที่จะอ้างคำพูดที่ “คลาสสิก” ของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ว่า “หุ้นนั้นไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน สิ่งที่คุณต้องทำทั้งหมดก็คือ ซื้อหุ้นในธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ บริหารโดยผู้จัดการที่มีความสามารถและความซื่อสัตย์สูงสุด ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของมัน เสร็จแล้วคุณก็ถือหุ้นนั้นไว้ตลอดกาล”
ผมเองก็ยึดถือแนวทางส่วนใหญ่ของบัฟเฟตต์ในการลงทุนมานาน อย่างไรก็ตาม “ดีกรี” หรือความเข้มข้นในการที่จะปฏิบัติตามหลักการของบัฟเฟตต์นั้น ก็ยังคงไม่เท่าสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำ เหตุผลไม่ใช่เพราะผมไม่เชื่อเขา แต่เป็นเพราะสถานการณ์และตัวบริษัทหรือหุ้นที่อยู่ในประเทศไทยนั้น ด้อยกว่าในตลาดหุ้นสหรัฐมาก ประการแรกก็คือ บริษัทที่ “ยิ่งใหญ่” ในตลาดหุ้นไทยนั้น ยังห่างชั้นจากตลาดหุ้นสหรัฐมาก เราเป็นได้เพียงบริษัทที่ยิ่งใหญ่ในประเทศไทยในขณะที่บริษัทในสหรัฐที่ยิ่งใหญ่นั้น ยิ่งใหญ่ในระดับโลกทั้งนั้น ประการที่สองก็คือเรื่องของความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์ของผู้บริหารเองนั้น เราก็ต้องยอมรับว่า ในสังคมไทยที่ยังพัฒนาน้อยกว่า บางทีเราก็ต้องยอมลดมาตรฐานลงมาบ้าง และในประการสุดท้ายก็คือ เรื่องของการถือหุ้นไว้ “ตลอดกาล” นี่ก็เป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากความ “ยิ่งใหญ่” ของหุ้นไทยนั้น อาจจะไม่พอหรือไม่สามารถดำรงไว้ได้นานเหมือนกับหุ้นของสหรัฐ ว่าที่จริง แม้แต่หุ้นที่ยิ่งใหญ่หลายบริษัทของสหรัฐเองนั้น เมื่อเวลาผ่านไปนานพอ มันก็ตกต่ำลงมาเหมือนกันเพราะ ไม่มีอะไรจะอยู่ “ค้ำฟ้า” ได้
คำถามสำคัญสำหรับ VI ที่เน้นลงทุนในแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” ก็คือ เราจะขายหุ้นเมื่อไร? คำตอบนั้นผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเวลาที่เป็นเดือนหรือปี ผมเองลงทุนซุปเปอร์สต็อกมานาน วันที่ผมซื้อหุ้นนั้น ผมไม่เคยคิดว่าจะขายในอีกกี่เดือนหรือกี่ปีข้างหน้า ผมไม่เคยคิดว่าราคาเท่าไรจะขาย พูดง่าย ๆ ไม่มีเป้าหมายว่าจะขาย แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะถือตลอดกาล ถ้าจะต้องตอบก็คือ ผมจะถือไปเรื่อย ๆ จนกว่าสถานการณ์มันจะบอกว่าเราควรจะขายแล้ว และต่อไปนี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าผมควรที่จะพิจารณาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อกที่ถืออยู่
เรื่องแรกก็คือ ตลาดของสินค้าของบริษัทเริ่ม “อิ่มตัว” นี่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่ง เพราะในความหมายของซุปเปอร์สต็อกนั้น มันมักจะเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่กำลังเติบโตและบริษัทเป็น “ผู้ชนะ” ที่ครอง Market Share หรือส่วนแบ่งตลาดที่สูงสุดและเหนือคู่แข่งมาก ดังนั้น การที่ยอดขายจะเติบโตได้เร็วต้องหมายความว่าตัวอุตสาหกรรมหรือธุรกิจจะต้องโตต่อไป แต่ถ้าคนเกือบ “ทั้งประเทศ” ที่มีเงินและต้องการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทต่างก็ได้ใช้แล้ว โอกาสที่บริษัทจะโตเร็วแบบเดิมก็จะยาก และเมื่อถึงจุดนั้น บริษัทก็จะสูญเสียสถานะของการเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ค่า PE ที่สูงของหุ้นก็จะค่อย ๆ ลดลง บริษัทจะกลายเป็นหุ้น “แข็งแกร่ง” ที่ยังใหญ่โต มีกำไรที่ดี แต่ไม่โตหรือโตช้า ผลก็คือ ราคาหุ้นอาจจะไม่ไปไหนหรือลดลงด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าเราคิดว่าตลาดเริ่มอิ่มตัว เราก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นทิ้งก่อนที่ “ภาพ” ของบริษัทจะเปลี่ยนไป
ข้อที่ต้องระวังมากสำหรับเรื่องของการ “อิ่มตัว” ของตลาดก็คือ เราอาจจะเข้าใจผิดหรือสับสนระหว่างการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ยอดขายของบริษัทโตช้าลง กับการอิ่มตัวของตลาด วิธีที่จะดูทางหนึ่งก็คือ ดูว่าอัตราการใช้สินค้าหรือบริการหรือยอดขายของอุตสาหกรรมเทียบกับ GDP ว่ามันสูงพอ ๆ กับอัตราของประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาพอ ๆ กันหรือสูงกว่าหรือยัง ถ้ายังห่างมาก นี่อาจจะเป็นสัญญาณว่าการชะลอตัวของยอดขายน่าจะเป็นเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากกว่า เป็นต้น
ประเด็นที่สองที่ทำให้เราต้องพิจารณาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อกก็คือเรื่องของ “การแข่งขัน” นี่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการที่ตลาดสินค้าอิ่มตัว จริงอยู่ที่ว่าซุปเปอร์สต็อกนั้นมักจะเป็น “ผู้ชนะ” ในการแข่งขันที่ค่อนข้าง “เด็ดขาด” อย่างไรก็ตาม นั่นมักจะเป็นการชนะที่เกิดจาก Model หรือรูปแบบทางธุรกิจที่ใช้อยู่ แต่ประเด็นสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ มี Model ทางธุรกิจใหม่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็วและมากซึ่งเป็นอานิสงค์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถนำมาใช้และทำให้ได้เปรียบธุรกิจที่ใช้ Model เดิม ตัวอย่างเช่น บริษัทวอลมาร์ทที่เป็นซุปเปอร์สต็อกในด้านของการค้าปลีกสินค้าของใช้ประจำวันนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ดูเหมือนว่ากำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทอะเมซอนที่ขายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ในกรณีแบบนี้ เราอาจจะมองว่าวอลมาร์ทกำลัง “แพ้” อะเมซอนในการแข่งขันและราคาหุ้นก็สะท้อนออกมาโดยการที่หุ้นอะเมซอนในขณะนี้มีมูลค่าสูงกว่าหุ้นวอลมาร์ทแล้ว
ในตลาดไทยเองนั้น เราก็ได้เห็นหุ้นค้าปลีกหรือหุ้นบันเทิงบางตัวสูญเสีย “ความสามารถในการแข่งขัน” ให้กับ “เทคโนโลยีไอที” ที่เปลี่ยน “แผนภูมิ” ในการแข่งขันไปอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น กิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ทั้งหลายที่เสีย “ลูกค้า” ให้กับสื่ออิเลคโทรนิกที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกมาก หรือตลาดเทปเพลงหรือภาพยนตร์ที่กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยในยุคที่ทุกอย่างสามารถ “ดาวน์โหลด” จากอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
เรื่องที่สามก็คือ บางครั้งเราอาจจะต้องพิจารณาขายซุปเปอร์สต็อกเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านของกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบใหม่ในการทำธุรกิจของหน่วยงานรัฐ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญในแง่ที่ว่ามันเป็น “อำนาจที่ยิ่งใหญ่” ที่สามารถ “Overrule” หรือ “ลบล้าง” ทุกเรื่องรวมถึงความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยปกติ บริษัทที่ยิ่งใหญ่นั้นมักจะไม่ได้อาศัย “รัฐ” ในการแข่งขัน แต่ในทางตรงกันข้าม กฎเกณฑ์ที่ออกใหม่สามารถ “ทำลาย” หรือลดความสามารถในการทำกำไรของซุปเปอร์สต็อกได้มาก ผมเองเวลาที่ถือหุ้นซุปเปอร์สต็อกไว้ ผมจะไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎระเบียบอะไรทั้งสิ้นในอุตสาหกรรม เพราะซุปเปอร์สต็อกนั้น โดยปกติไม่มีคู่แข่งที่จะทำลายมันได้อยู่แล้วยกเว้น “อำนาจรัฐ”
ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงในกฎเกณฑ์ในเร็ว ๆ นี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านของธุรกิจทีวี การเปลี่ยนแปลงในแง่ของการการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่โทรคมนาคม และที่เราอาจจะไม่ได้คิดหรือตระหนักถึงก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่มาจากหน่วยงาน “เหนือรัฐ” จากนอกประเทศ เช่น เรื่องของการบินการประมง และอื่น ๆ อีกมาก ทั้งหมดนั้นเราต้องคอยติดตามและวิเคราะห์ว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรกับซุปเปอร์สต็อกของเรา
เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดก็คือ ราคาหรือมูลค่าหุ้นซุปเปอร์สต็อก นี่เป็นประเด็นที่ผมจะไม่ค่อยสนใจมากนักยกเว้นแต่ว่าราคามัน “เวอร์” ไปจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ก็คือ หุ้นซุปเปอร์สต็อกที่แท้จริงนั้น แม้ว่าบางครั้งราคาจะขึ้นไปสูงมากวัดจากค่า PE เช่นสูงเป็น 30-40 เท่า มันก็ไม่ใช่ราคาที่ Overvalue หรือราคาสูงเกินพื้นฐานโดยเฉพาะถ้าวัดจาก Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัท เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้นมักจะมีศักยภาพสูงมาก มันจะโตไปเรื่อย ๆ ไปอีกนานจนมีขนาดใหญ่มาก ดังนั้น แม้ว่าในบางช่วงที่ดูเหมือนว่าจะแพงเกินไป เราก็มักจะไม่จำเป็นต้องขาย อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นมีมูลค่าสูงมากแล้ว และตลาดหุ้นกำลังเป็น “ฟองสบู่” แบบนี้ เราก็อาจจะพิจารณาขายทิ้งเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดได้