โค้ด: เลือกทั้งหมด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ แทบทุกวันเราจะเห็นหุ้นตัวเล็ก ๆ ติดเข้ามาในอันดับหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับในตลาดหลักทรัพย์ ในบรรดาหุ้นตัวเล็กเหล่านั้น หุ้นกลุ่มหนึ่งที่มักติดอันดับเข้ามาบ่อยมากที่สุดก็คือหุ้นที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นบางคนเรียกว่า “หุ้นปั่น” ซึ่งความหมายก็คือ เป็นหุ้นที่มี “เจ้ามือ” ที่เป็นนักลงทุน “รายใหญ่” หรือเป็น “เจ้าของบริษัท” เข้ามา “ทำราคาหุ้น” ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น การปล่อยข่าวลือ การประกาศ “ข่าวดี” ต่าง ๆ เช่น การเทคโอเวอร์ การทำธุรกิจใหม่ “แห่งอนาคต” การแจกหุ้นและวอแรนต์ฟรี การแตกพาร์หุ้น การออกหุ้นใหม่ทั้งที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นเดิมและที่ให้นักลงทุนรายใหญ่ และอื่น ๆ อีกมากที่จะทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยตื่นเต้นและเข้ามาเก็งกำไรในหุ้น นอกจากนั้น “เจ้ามือ” เองก็ต้องเข้ามา “เล่น” ซื้อขายหุ้นให้คึกคักและ “ดันราคา” ขึ้นไปอย่างต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นฐานหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทไม่ดีหรือ “แย่มาก” บางบริษัทนั้นแทบจะอยู่ในสถานะใกล้ “ล้มละลาย”
แน่นอนว่า “เจ้ามือ” จะไม่เคยประกาศว่าตนเองกำลัง “ปั่น” หรือทำราคาหุ้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ตรงกันข้าม พวกเขาจะบอกหรือแสดงออกว่าที่ราคาหุ้นขึ้นไปนั้นเป็นเพราะบริษัทกำลัง “ฟื้นตัวอย่างยิ่งใหญ่” ที่จะทำให้อนาคตของบริษัทสดใสมากและบริษัทจะมีรายได้และกำไรสูงมากด้วยธุรกิจใหม่ ๆ ที่บริษัทกำลังจะสร้างหรือซื้อมา การ “เติบโต” ของบริษัทในอนาคตนั้นจะเป็น “ร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปี” ดังนั้นราคาหุ้นที่คิดจากค่า PE ในวันนี้ก็ควรจะสูงมากได้เท่า ๆ กับการเติบโตนั่นก็คือ ค่า PE ก็ควรสูงได้เป็น 100 เท่า และนั่นทำให้เขาซื้อแบบ “Strong Buy” คือซื้อมากและไม่สนใจราคา และนั่นทำให้ราคาวิ่งอย่างแรง และนั่นทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยซื้อตาม และนั่นทำให้ราคาวิ่งแรงขึ้นไปอีก และนั่นทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยอื่นซื้อตามซึ่งทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปสูงลิ่วเนื่องจากปริมาณหุ้นที่ Float หรือกระจายอยู่ในตลาดมีน้อย ผลก็คือ ราคาหุ้นขึ้นไป “เกินพื้นฐาน” มาก แต่นักเล่นหุ้นก็ไม่สนใจ เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว เขาไม่ได้ลงทุนถือหุ้นยาว พวกเขาเข้ามา “เล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้น”
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการอธิบายโดยภาพรวม หลักฐานที่เป็นตัวเลขหรือกรณีศึกษานั้น ผมเองก็ไม่ค่อยได้เห็นและส่วนตัวก็ไม่สนใจเนื่องจากมันไม่ใช่หุ้นที่เราสนใจลงทุน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามันก็คงไม่เสียหายและเสียเวลานักที่จะลองดูหุ้นที่เข้าข่าย “หุ้นปั่น” ว่าหน้าตาและพฤติกรรมของมันเป็นอย่างไรผมจะไม่บอกชื่อหุ้นแต่ข้อมูลที่ผมใช้นั้นเป็นข้อมูลจริงที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซ้ต์ของตลาดหลักทรัพย์
หุ้นตัวแรกนั้น ชื่อเดิมผมเองก็จำไม่ได้และบริษัทอาจจะเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง แต่มองย้อนหลังถึงปี 2554 พบว่ารายได้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 3-400 ล้านบาท กำไรไม่ถึง 5 ล้านบาท ในเวลานั้น Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดก็ประมาณ 100 ล้านบาทเศษ ซึ่งก็อาจจะดูว่าปกติและเหมาะสม แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่ายอดขายของบริษัทจะลดลงเรื่อย ๆ และจากกำไรก็กลายเป็นขาดทุน ปี 2555 บริษัทขาดทุนกว่า 50 ล้านบาท ปี 2556 ขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท และปีที่แล้วก็ยังขาดทุนอีกกว่า 50 ล้านบาทในขณะที่รายได้เหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท เหตุผลนั้นอาจจะเป็นเพราะธุรกิจของบริษัทอาจจะมีปัญหาแข่งขันไม่ได้ และบริษัทเองก็จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้ติดลบซึ่งจะทำให้หุ้นต้องออกจากตลาด อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียว มูลค่าหุ้นของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในช่วงสิ้นปีที่แล้วที่ Market Cap. ขึ้นมาเป็นกว่า 10,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากว่า 100 เท่า กลายเป็นหุ้น 100 เด้งภายในเวลา 3-4 ปี เหตุผลที่ขึ้นนั้น พูดกันว่าเพราะบริษัทหันไปทำธุรกิจใหม่ “แห่งอนาคต” ที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อนและมีศักยภาพหรือมีขนาดของธุรกิจสูงมาก อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงและรายได้และกำไรก็ยังไม่เกิดขึ้น มูลค่าหุ้นก็ลดลงเหลือ “เพียง”กว่า 4,000 ล้านบาท หรือยังเป็นหุ้น 40 เด้งในเวลา 4 ปี
หุ้นตัวที่สองนั้น เคยอยู่ในธุรกิจวัสดุก่อสร้างขนาดเล็ก ย้อนหลังไปปี 2554 บริษัทมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทเศษแต่ขาดทุนประมาณ 40 ล้านบาท นั่นอาจจะเพราะปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น มูลค่าตลาดของหุ้นเองอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาทซึ่งก็ดูไม่ผิดปกติ ถึงปี 2555 บริษัทก็ฟื้นขึ้นบ้าง แต่พอถึงปี 2556 และ 2557 ธุรกิจของบริษัทก็แย่ลงอาจจะเนื่องจากคู่แข่งที่มีมากขึ้น รายได้ของบริษัทลดเหลือเพียง 100-200 ล้านบาทต่อปี กำไรปีล่าสุดติดลบถึงเกือบ 100 ล้านบาท แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นไปสูงมากถึงกว่า 30,000 ล้านบาท หรือเป็นการเพิ่มขึ้น 100 เท่าตัวในเวลา 3 ปี เหตุผลน่าจะเป็นเพราะบริษัทได้ประกาศทำธุรกิจใหม่ “แห่งอนาคต” นั่นก็คือ “พลังงานทดแทน” ที่บริษัทได้รับสัญญาขายไฟฟ้ามาแล้วจำนวนมาก ดังนั้น แม้ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลงในช่วงนี้ หุ้นของบริษัทก็ยังคงราคาอยู่ได้แม้ว่าไตรมาศ 1 ปีนี้บริษัทจะยังแทบไม่มีรายได้และยังขาดทุนอยู่ ดูเหมือนว่าทุกคนมองไปที่อนาคต ว่าที่จริง บริษัทสามารถเรียกทุนเพิ่มขึ้นได้จำนวนมากเพื่อที่จะทำธุรกิจที่จะ “โตไปได้อีกนาน”
หุ้น “100 เด้ง” ตัวที่ 3 นั้น ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าบริษัทเคยทำอะไรมาก่อน แต่ช่วงหลังที่หุ้นบริษัทวิ่งขึ้นมามากนั้นน่าจะเป็นเพราะบริษัทเปลี่ยนไปทำธุรกิจที่มี “อนาคตสดใส” มาก และสามารถทำได้แทบจะไม่จำกัดนั่นก็คือ “รายการทีวี” มองย้อนหลังไปปี 2554 บริษัทมีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทและมีกำไรประมาณ 20 ล้านบาทซึ่งก็น่าจะถือว่าใช้ได้แต่คงเป็นเพราะธุรกิจของบริษัทเป็นธุรกิจ “ขนาดเล็ก” ที่มีศักยภาพจำกัด มูลค่าหุ้นของบริษัทจึงเท่ากับเพียงประมาณ 50 ล้านบาท ในปีต่อ ๆ มาก็ดูเหมือนว่าธุรกิจของบริษัทก็ทรง ๆ และโตขึ้นบ้างในแง่รายได้ แต่กำไรของบริษัทนั้นก็ไม่ไปไหน ที่สำคัญปี 2557 ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของวงการทีวีที่กลายเป็นดิจิตอล กำไรของบริษัทก็เหลือเพียง 1 ล้านบาทและล่าสุดในไตรมาศ 1 ปี 2558 นั้นบริษัทขาดทุนกว่า 20 ล้านบาท จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 ล้านบาท แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทได้เพิ่มขึ้นมโหฬารทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทสูงถึงกว่า 5,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าในเวลา 3 ปีครึ่ง
นอกจาก “หุ้นปั่น 100 เด้ง” ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมี “หุ้นปั่น 50 เด้ง” “หุ้นปั่น 20 เด้ง” และ “หุ้นปั่น 10 เด้ง” ในเวลา 3-4 ปี อีกหลาย ๆ ตัวที่ผมไม่มีเนื้อที่จะเขียน แต่ละตัวก็มี “Story” หรือ “วีรกรรม” ที่ “น่าทึ่ง” แต่ที่สำคัญก็คือ “ซ้ำซาก” ที่กลายมาเป็น “สิ่งบ่งบอก” หรือ“อาการ” ของ “หุ้นปั่น” นั่นก็คือ
“หุ้นปั่น” มักจะมีอดีตของผลประกอบการที่ย่ำแย่ขาดทุนต่อเนื่องหรือกำไรน้อยมาก ข้อสองก็คือ พวกเขาอ้างว่าบริษัทจะมี “อนาคต” ที่ “สดใสมาก” ที่อาจจะต้องใช้เวลายาวหน่อยแต่ผู้บริหารมั่นใจว่าจะสำเร็จแน่นอน ข้อสาม พวกเขาต้องการและมักจะต้องเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหาในอดีตของบริษัทและนำเงินนั้นมาสร้างธุรกิจใหม่ที่สดใสมากนั้น ข้อสี่ บ่อยครั้งพวกเขาจะเปลี่ยนชื่อบริษัทให้สะท้อนถึงความเป็นธุรกิจ “แห่งอนาคต” ที่น่าตื่นเต้นและทำเงินมหาศาลรวมทั้งอาจจะเพื่อให้คน “ลืม” ความล้มเหลวของอดีต ข้อห้า ธุรกิจใหม่ของพวกเขานั้น บ่อยครั้ง คำนวณหามูลค่าที่แท้จริงยากเนื่องจากเหตุผลมากมายเช่น เป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด เป็นธุรกิจที่อิงอยู่กับกับอนาคตที่ไกลและไม่แน่นอน เป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับภาวะหรือปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ และเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีกำไรแต่คาดว่าจะเติบโตมหาศาล เป็นต้น และสุดท้าย หุ้นปั่นแทบจะทุกตัวนั้น จะใช้เทคนิค “วิศวกรรมทางการเงิน” เช่น แตกพาร์ แจกวอแร้นต์ฟรี เพื่อสร้างความรู้สึกว่าหุ้นถูกและผู้ถือหุ้นหรือคนเล่นหุ้นได้ผลประโยชน์ “ฟรี”
คำถามสุดท้ายก็คือ หุ้นปั่นนั้น บางทีสามารถขึ้นไปได้ 100 เท่าแต่ขาดทุนได้แค่ 100% น่าเล่นหรือไม่? คำตอบของผมก็คือ โอกาสของคนเล่นที่จะได้กำไรขนาดนั้นมีน้อยมากถ้าไม่ใช่เจ้ามือ แต่โอกาสที่หุ้นปั่นราคา 100 บาทที่เราถืออยู่จะเหลือ 1 บาทกลับมีมากกว่า ดังนั้น คำตอบของผมก็คือ ถ้าเจอหุ้นที่มีอาการเป็น “หุ้นปั่น” ดังที่ว่า เราก็ควรจะถอยห่างไว้ มิฉะนั้น เราอาจจะทนไม่ไหวที่จะเข้าไปเล่น