นักลงทุน 4 แนว/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

นักลงทุน 4 แนว/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    การลงทุนหรือเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  มีวิธีหรือแนวทางใหญ่ ๆ 4 แบบ  แนวทางแรกคือ  แนว  “เทคนิค”  ที่นักลงทุนระยะสั้นนิยมใช้กันมาก  เครื่องมือหรือข้อมูลที่ใช้ก็คือราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในอดีต  แนวทางที่สองคือแนว Value Investment หรือ VI ที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และตัวบริษัทอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการก่อนลงทุน  แนวทางที่สามคือ Growth Investment หรือการลงทุนในหุ้นเติบโตที่เน้นการค้นหากิจการที่มีศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจสูงเป็นพิเศษ  และแนวทางสุดท้ายก็คือ  การลงทุนแบบ Passive หรือการลงทุนที่ไม่เน้นการเลือกหุ้น  แต่เน้นการกระจายการลงทุนในหุ้นจำนวนมากและจัดสรรทรัพย์สินให้เหมาะสมเพื่อที่จะลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

    นักลงทุนแนว “เทคนิค”  มีความเชื่อว่า  การขึ้นลงของราคาหุ้นขึ้นอยู่กับ  “จิตวิทยา” หรือความเห็นหรืออารมณ์ของคนเล่นหุ้นเป็นหลัก  พื้นฐานหรือผลประกอบการหรือความเข้มแข็งของกิจการนั้น  ถ้าจะมีผลก็ไม่เกิน 10%  ดังนั้น เราแทบไม่จำเป็นต้องดู  สิ่งที่ต้องดูจริง ๆ  ก็คือพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละช่วงเวลาซึ่งอาจจะเป็นนาทีเป็นวันหรือเป็นเดือน  เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวที่จะชี้ว่าราคาหุ้นในอนาคตอันสั้นจะวิ่งไปทางไหนและที่ราคาเท่าไร

    ทฤษฎีหรือความเชื่อของนักเทคนิคก็คือ  ข้อแรก ข้อมูลทั้งหมดของบริษัทเช่น กำไรและปันผลในอดีต  และผลประกอบการในอนาคตของบริษัทนั้น  ถูกสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นทั้งอดีตและปัจจุบันหมดแล้วไม่ว่าจะดีหรือร้าย  ดังนั้นไม่ต้องไปวิเคราะห์หรือดูว่าผลประกอบการในอดีตเป็นอย่างไร  ว่าที่จริงแทบไม่ต้องดูด้วยซ้ำว่าบริษัททำอะไรหรือขายสินค้าอะไร  และ  หลักการข้อสองของนักเทคนิคก็คือ  ราคาหุ้นนั้นมักเคลื่อนไหวไปตาม  “เทรนด์” หรือแนวโน้มของมัน  หุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นก็มักจะวิ่งขึ้นต่อไป  หุ้นที่กำลังลงก็มักจะวิ่งลงต่อไป  หุ้นที่กำลังนิ่ง ๆ  ก็จะอยู่อย่างนั้น  จนกว่า “เทรนด์” มันจะ “เปลี่ยน” ซึ่งสิ่งที่จะบอกก็คือ  กราฟของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในอดีตและปัจจุบัน

    โชคดีที่ข้อมูลการซื้อขายหุ้นในปัจจุบันทั้งหมดนั้นถูกเก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์  ดังนั้น  การวิเคราะห์กราฟราคาด้วยเกณฑ์ทาง “เทคนิค” ต่าง ๆ  จึงทำได้ง่ายมากและเป็น  “เรียลไทม์” นี่ทำให้ “นักเทคนิค”  สามารถกำหนดจุดซื้อหรือจุดขายของหุ้นแต่ละตัวได้ตลอดเวลา  มันจึงเป็นวิธีการลงทุนที่ทำได้ง่ายแทบจะ  อัตโนมัติสำหรับทุกคนที่ใช้แนวการลงทุนนี้

    ทฤษฎีการลงทุนที่สองก็คือ  การลงทุนแบบ Value Investment หรือ VI  นี่เป็นวิธีการที่นักลงทุนมองว่าหุ้นนั้นก็คือธุรกิจหรือบริษัท   สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ  พยายามวิเคราะห์หรือคำนวณหา  “มูลค่าที่แท้จริง” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์หรือความคิดเห็นของคนในตลาดหุ้น  พวกเขาเชื่อว่า  ราคาหุ้นนั้นมักแตกต่างจากมูลค่าที่แท้จริงและเป็น “คนละเรื่อง”  การหามูลค่าที่แท้จริงนั้น  สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการประเมินหรือคาดการณ์ว่ากำไรและปันผลในอนาคตระยะยาวของบริษัทเป็นอย่างไร  ซึ่งถ้าจะทำได้ก็ต้องศึกษายอดขาย  ต้นทุน  ความสามารถในการแข่งขันของกิจการ  ฐานะการเงินและอื่น ๆ อีกมาก  หลังจากนั้นก็จะต้องคำนวณว่าหุ้นควรมีมูลค่าเท่าไร  ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ  “กระแสเงินสด”  หรือปันผลที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากบริษัทตลอดไปและเนื่องจากผลประกอบการและการเติบโตของบริษัทนั้น  มักจะขึ้นอยู่กับสภาวะทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย   ดังนั้น  การวิเคราะห์จึงมักจะต้องเริ่มจากการมองหรือคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดด้วย

    โดยหลักแล้ว  ถ้าปัจจัยอื่นเหมือนกัน  มูลค่าของกิจการนั้นจะสูงขึ้นถ้า  1)  กำไรและปันผลโตเร็วขึ้น  2) อัตราการจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับกำไรหรือ Dividend Payout Ratio สูงกว่าหรือเพิ่มขึ้น  3) กิจการหรือหุ้นมีความเสี่ยงต่ำกว่า  และ  4) อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดต่ำกว่าหรือต่ำลง

    นักลงทุนแนว VI แบบ “ต้นตำรับ” หรือดั้งเดิมนั้น  มักชอบลงทุนในหุ้นที่มีราคาหุ้นต่ำกว่า “มูลค่าที่แท้จริง” มาก  หรือเรียกว่ามี “Margin of Safety” สูง  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ชอบลงทุนในหุ้นที่มีราคา  “ถูกมาก”  วัดจากค่า PE และ PB ที่ต่ำ และปันผลตอบแทนที่สูง  ซึ่งในแนวทางนี้มักจะทำให้พบแต่หุ้นที่มี “คุณภาพ” ต่ำในสายตาของนักลงทุนทั่วไปเป็นหลัก  อย่างไรก็ตาม  VI ก็มักจะไม่สนใจ  พวกเขาเชื่อว่า  “หุ้นแบกะดิน” เหล่านี้  ส่วนใหญ่แล้วในที่สุดราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปที่มูลค่าที่แท้จริงของมัน   ดังนั้น  การซื้อหุ้นเหล่านี้หลาย ๆ  ตัวเป็นพอร์ตโฟลิโอก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติ

    แนวทางการลงทุนที่สามคือแนวลงทุนในหุ้น Growth หรือหุ้นโตเร็ว  การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ว่าที่จริงก็ใช้หลักการคล้าย ๆ  กับหุ้น VI  ในแง่ที่ว่ามันจะต้องมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน  นอกจากข้อมูลในอดีตแล้ว  นักลงทุนแนว Growth ยังต้องวิเคราะห์หรือคาดการณ์ “อนาคต” ไปไกลและต้องมั่นใจว่าไม่ผิดพลาด   หุ้นที่พวกเขาชอบนั้นมักจะต้องมี  “Story” หรือเรื่องราวที่  “เร้าใจ” ในแง่ที่ว่าบริษัทจะเติบโตเร็วมาก   อาจจะเพราะอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นประโยชน์และบริษัทจะเป็นผู้นำหรือได้ประโยชน์อย่างใหญ่หลวง  รายได้และกำไรจะเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ในอนาคตจนทำให้กิจการมีมูลค่าที่แท้จริงสูงขึ้นมามากและสูงกว่าราคาหุ้นในปัจจุบัน  ดังนั้น  ราคาหุ้นในปัจจุบันจึงไม่เป็นประเด็นว่าจะแพงหรือถูกเมื่อวัดด้วยค่า PE PB หรือปันผลที่ใช้ตัวเลขของอดีตและปัจจุบัน   ในความเป็นจริง  หุ้นต่าง ๆ  เหล่านี้  เนื่องจากมักเป็นหุ้นที่  “ร้อนแรง” และ “เร้าใจ” และเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก  จึงมักจะมีราคาสูงขึ้นมากทำให้ค่า PE และ PB สูงกว่าปกติและมักจะมีปันผลที่ต่ำมาก  อย่างไรก็ตาม  คนที่เล่นหุ้น Growth นั้นเชื่อว่านี่คือวิธีที่จะทำเงินได้เร็วและมากกว่าแนวทางอื่น

    นักลงทุนแนวทางสุดท้ายก็คือ  การลงทุนแบบ Passive หรือแนวลงทุนหุ้น “ตามดัชนี”  เช่น  ซื้อกองทุนรวม “SET 50” ที่ไม่มีการคัดเลือกหุ้นแต่ซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดของตลาด 50 ตัว เป็นต้น  คนที่เลือกแนวทางนี้มีความเชื่อตามทฤษฎี  “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ”  ที่บอกว่า  หุ้นในตลาดทุกตัวนั้น  ต่างก็มีราคาที่เหมาะสมกับพื้นฐานอยู่แล้วเนื่องจากมันเป็นราคาที่คนจำนวนมากที่มีความรู้มีข้อมูลและมีเหตุผลมาตกลงซื้อขายกัน  เป็นไปไม่ได้ที่มันจะ  “ผิดราคา” อย่างเป็นระบบ  หรือพูดง่าย ๆ  หุ้นบางตัวและบางครั้งอาจจะ “ผิดราคา” ได้  แต่ซักพักหนึ่งราคาก็จะกลับมาที่ราคาที่ถูกต้องเหมาะสม  โดยเฉลี่ยแล้ว  หุ้นบางตัวและบางเวลาอาจจะแพงแต่บางตัวบางเวลาก็อาจจะถูกไม่มีใครสามารถซื้อหุ้นถูกได้ตลอด  ดังนั้น  ไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามเลือกหุ้น  การซื้อหุ้นลงทุนที่ดีที่สุดก็คือ  ซื้อหุ้นกระจายไปทุกตัวและจ่ายต้นทุนค่าธรรมเนียมการซื้อขายและบริหารการลงทุนที่ต่ำที่สุด  นั่นก็คือ ซื้อกองทุนหุ้นอิงดัชนีที่คิดค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนต่ำที่สุด

    การศึกษาจากข้อมูลในอดีต “ทั่วโลก” นั้นพบว่า  การลงทุนแนว VI ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในระยะยาว  รองลงมาน่าจะเป็นการลงทุนแบบ Passive ตามด้วยการลงทุนในหุ้นเติบโต  ส่วนการเล่นหุ้นแนวเทคนิคนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจศึกษาแล้วและน่าจะเป็นแนวที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุดเนื่องจากต้นทุนการซื้อขายหุ้นที่สูงมากทำให้ผลตอบแทนต่ำลง    นั่นคือผลการศึกษาที่ใช้ข้อมูลจำนวนมาก  แต่ในเรื่องของนักลงทุนแต่ละคนนั้น  แน่นอน  ต้องมีคนประสบความสำเร็จสูงมากแม้ว่าจะใช้เทคนิคหรือแนวทางที่ด้อยกว่าโดยเฉลี่ย  และในชีวิตจริงนั้น  มีนักลงทุนน้อยคนที่จะยึดแนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างเคร่งครัด  นักลงทุนหลายคนใช้แนวทางหลายแบบ “ผสมผสาน” กัน  เช่นบางคนบอกว่าเวลาเลือกหุ้นใช้แนวทาง VI หรือ Growth  แต่  “จังหวะซื้อ” หรือขายก็ “ดูกราฟ”  ทางเทคนิค เป็นต้น  ผมเองไม่รู้ว่าแต่ละคนควรใช้วิธีไหน  ประสบการณ์ส่วนตัวผมก็คือ  ผมชอบหุ้น Growth ที่มีความแน่นอนสูงและซื้อในราคาที่ต่ำหรือราคา “ยุติธรรม” 
[/size]
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: นักลงทุน 4 แนว/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
shumbrotta
Verified User
โพสต์: 289
ผู้ติดตาม: 0

Re: นักลงทุน 4 แนว/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ
Business Excellence Values
Verified User
โพสต์: 12
ผู้ติดตาม: 0

Re: นักลงทุน 4 แนว/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ
RnD-VI
Verified User
โพสต์: 2187
ผู้ติดตาม: 0

Re: นักลงทุน 4 แนว/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบพระคุณมากครับ
เราลงรายละเอียดระดับไหน + แผนการ + วินัยในการแบ่งและใช้เวลาในแต่ละวัน
โพสต์โพสต์