โค้ด: เลือกทั้งหมด
อย่างที่รู้กันว่า นักลงทุนรายย่อยในประเทศไทย ในระยะยาว ๆ นั้น มีสัดส่วนที่ขาดทุนจากหุ้นมากกว่ากำไร สถิติของบางสำนักอาจจะว่าไปถึง มีคนขาดทุน 80% และมีคนกำไรเพียงแค่ 20% เลยทีเดียว ผมเคยสงสัยว่าอะไรคือองค์ประกอบที่ทำให้คนจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับผมลองศึกษาเรื่อง “นิสัยคนไทย” ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และผมพบว่านิสัยกลุ่มเดียวกันนี้เอง ที่เป็นอุปสรรคของนักลงทุนเช่นเดียวกัน ซึ่งผมขอเรียกนิสัยเหล่านี้ว่า “นิสัยแมงเม่าไทย” ครับ
1. เชื่อเรื่องเวรกรรม คนไทยเชื่อเรื่องบุญพาวาสนาส่ง ดังนั้นเราจะแนวโน้มที่จะ “ยอมรับ” สถานะปัจจุบันของเรา ไม่ดิ้นรนขวนขวาย และพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ตามสุภาษิตไทยที่ว่า “แข่งเรือแข่งแพแข่งได้ แต่อย่าแข่งวาสนา” คนจำนวนมากอาจจะคิดว่าดวงไม่ดี ที่ซื้อหุ้นตัวนี้ หรือเข้าออกตลอดผิดจังหวะ มากกว่าโทษตัวเอง หรือคนมากกว่านั้นคิดว่าเราไม่อาจเปลี่ยนชะตาชีวิตเราได้ จึงไม่กล้าริเริ่มต้นมองหาโอกาสในการลงทุน เรื่องโชคชะตา ควรตั้งอยู่บนความคิดบนกรอบของวาทะทั้ง 4 ของท่านเหลี่ยวฝาน คือ เราสามารถเปลี่ยนโชคชะตาตัวเองได้ ด้วยการกระทำดี ในความหมายคือ การทำในเหตุที่ถูกต้อง จะนำมาซึ่งผลลัพท์ที่ดีที่ปลายทางเสมอ ๆ
2. ยึดถือระบบอุปถัมภ์ เชื่อคนที่มีอายุสูงกว่าหรือตัดสินคนที่ความมั่งคั่ง วัฒนธรรมไทยเคารพผู้อาวุโส และให้เชื่อฟังคนที่มีอายุมากกว่า แตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เลือกฟังคนจาก “ความคิดความอ่าน” ความสำเร็จในการลงทุนขึ้นอยู่กับ “วิจารณญาณของคุณ” มากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ เพราะความเชื่อหรือตำราที่ผิดนำพาสู่ความล้มเหลวเสมอ การพินิจพิจารณาตามหลักกาลามสูตรโดยไม่มีอคติเรื่องใด ๆ จึงสำคัญกว่าจารีตมาก นักลงทุนพอร์ตใหญ่หรือเล็กไม่มีความเกี่ยวข้องกับความคิดหรือไอเดียที่เฉียบคม นักลงทุนที่ชื่อดังอาจจะไม่ได้การันตีความสามารถในการลงทุนอะไร หรือนักลงทุนที่อายุน้อยแต่มุ่งมั่น ก็อาจจะมีประสบการณ์มากกว่านักลงทุนที่อยู่ในตลาดหลายสิบปีก็เป็นได้
3. พึ่งพาคนอื่น เหตุผลอาจจะเป็นเพราะในอดีต คนไทยต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝนในสังคมการเกษตร เราจึงติดนิสัยในการพึ่งพาสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเอง ในตลาดหุ้น นักลงทุนก็นิยมที่จะหาคนพึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นมาร์เก็ตติ้ง นักวิเคราะห์ หรืออาจจะเป็น “เซียนหุ้น” ที่จะทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากกว่ากับการพึ่งตัวเอง นอกจากนั้น หากเกิดความผิดพลาดในการลงทุน เราก็สามารถ “โทษคนอื่น” ซึ่งเป็นนิสัยที่ติดตัวของคนไทยเช่นเดียวกัน การลงทุนที่ดีที่สุดต้องพึ่งตนเอง เพราะเราจะต้องค้นหาตัวตน วิธีการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองให้ตกผลึกเสียก่อน อย่าคิดพึ่งพาคนอื่น มันจะนำพาหายนะในการลงทุน เพราะหากเกิดเหตุการณ์สุดวิสัยเกิดขึ้น คุณจะแก้ปัญหาเองไม่ได้
4. ขาดการวางแผน สุภาษิตไทยเรื่อง ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทำให้คนไทยแทบจะไม่ต้องเตรียมตัว หรือวางแผนในการรับสภาพขาดแคลนอาหารในฤดูหนาว ดังนั้นนักลงทุนทั่วไปจึงแทบไม่มีการวางแผนลงทุน คิดแต่ว่าอยากรวยเร็ว ๆ ความเป็นจริงคือถ้าไม่วางแผน โอกาสที่เราจะรอคอยค่อย ๆ สร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนจะเป็นไปได้ยาก สิ่งแรกที่ควรทำในการลงทุนคือวางแผนว่าจะเก็บออมเดือนละเท่าไหร่ วางแผนว่าจะได้ผลตอบแทนปีละเท่าไหร่ที่ไม่มีความเสี่ยงมากเกินไป และเราจะมีความมั่งคั่งเท่าไหร่ที่อายุไหน เราควรจะปรับพอร์ตอย่างไรบ้างในแต่ละปี และถ้ามีอะไรเกิดขึ้น แผน 2 ของเราคืออะไร เราพร้อมที่จะปฏิบัติการฉุกเฉินได้ทุกเวลาหรือไม่ แผนทุกอย่างควรบันทึกอยู่ใน Excel และฝังอยู่ในสมองของนักลงทุน เพราะแผนคือหัวใจของการลงทุน
5. เกียจคร้าน คนไทยชอบงานง่ายหน่ายงานยาก อยากหาทางลัด รักสบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายในชีวิตการลงทุน คนรุ่นใหม่จำนวนมากเข้ามาเล่นหุ้น เพราะเป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนจะทำเงินง่าย ๆ ร ไม่ต้องลงแรงอะไรมากมาย นอกจากเปิดจอคอมมากดซื้อกดขาย คิดว่าตัวเองกำไรจากหุ้นเพราะว่าเก่งกว่าคนอื่น อันที่จริงการลงทุนเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความอดทนและวินัยสูงมากในการหาความรู้ในการลงทุน หาข้อมูล หาโอกาส คิดวิเคราะห์ รอคอยความสำเร็จ และความเกียจคร้านอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการลงทุน
6. ไม่รู้แพ้รู้ชนะ การยอมรับความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นนักลงทุนจำนวนมากจะไม่ขายหุ้นที่ขาดทุน เพราะรู้สึกว่าเรา “แพ้” หรือ “ผิดพลาด” และหวังว่า วันพระจะไม่ได้มีหนเดียวสำหรับหุ้นตัวนั้น ๆ จุดสำคัญของการลงทุนคือการยอมรับความผิดพลาด เพราะการลงทุนเป็นกิจกรรมที่คุณอาจจะผิดบ่อยที่สุดแล้วในชีวิต แต่จำนวนครั้งที่ถูกไม่กี่ครั้ง ก็เปลี่ยนชีวิตคุณได้ ในทางกลับกันเราต้องรู้จัก “รู้ชนะ” ด้วย เพราะการลงทุนที่ไม่มีความสุข คือการลงทุนที่ไม่รู้จักพอ หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ชนะเสียที แม้จะกำไรเท่าไหร่คงจะไม่มีความสุข
7. สอดรู้สอดเห็น คนไทยชอบเรื่องของผู้อื่น ไทยมุง ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย ในสังคมออนไลน์ก็มีเรื่อง Drama แชร์กันอย่างมากมาย อันที่จริง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราเอาความสอดรู้สอดเห็นไปใช้ในทางที่ดี เช่นการทำ Scuttlebutt หรือการเจาะลึกหุ้น การอ่านเรื่องราวที่หลากหลายช่วยให้บัฟเฟตต์เป็นมหาเศรษฐี ทำให้เราก้าวไปข้างหน้า แต่ถ้าเป็นการสอดรู้สอดเห็นในทางผิด ๆ เช่น ติดตามแต่เรื่องคนอื่น ติดตามข้อมูล Inside ว่า “เจ้า” กำลังเข้าตัวไหน นั่นจะเป็นหลุมพรางใหญ่ เป็นอุปสรรคสำคัญที่เหมือนสุภาษิตฝรั่งว่า Curiosity killed the cat หรือ ความสอดรู้สอดเห็นในเรื่องผิด ๆ ฆ่าแมว(นักลงทุน)มานักต่อนักแล้ว