บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
-
Thai VI Article
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2
|0 คอมเมนต์
โค้ด: เลือกทั้งหมด
“อย่ามโน” เป็นศัพท์ที่ใช้กันค่อนข้างแพร่หลายในทุกวันนี้ มีความหมายในเชิงที่ว่า อย่ามโนภาพ หรืออย่าคิดไปเองโดยที่ความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด
เราลองมาดูกันครับว่า การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น มีอะไรที่ควรใช้คำว่า “อย่ามโน” กันบ้าง
อย่ามโนว่า “ซื้อหุ้นตามเซียน แล้วจะรุ่ง”
นักลงทุนหลายๆ คนใช้แนวคิดในการลงทุนเช่นเดียวกับสุภาษิตที่ว่า “ตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” ด้วยการซื้อหุ้นตามเซียน โดยให้เหตุผลว่า ซื้อหุ้นตามเซียนแล้วอุ่นใจ ปลอดภัย และมีโอกาสได้กำไรสูงๆ เพราะหุ้นที่เซียนซื้อ น่าจะการันตีได้ในระดับหนึ่งว่า ต้องเป็นหุ้นที่ดี เป็นหุ้นที่น่าลงทุน ไม่เช่นนั้นเซียนหุ้นคงไม่ควักเงินออกมาซื้อเป็นแน่
ในยุคข้อมูลข่าวสารท่วมท้นอย่างในปัจจุบันนี้ คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะเสาะหาข้อมูลว่านักลงทุนระดับเซียนหุ้นเขาลงทุนหุ้นตัวไหนบ้าง นอกจากจะสามารถสืบค้นจากสื่อต่างๆ ที่มีอยู่มากมายแล้ว บางทียังมีข้อมูลแบบปากต่อปากที่บอกกล่าวเล่ากันในกลุ่มก๊วนนักลงทุนเองด้วยว่า เซียนคนนั้นเข้าซื้อหุ้นตัวนี้ เซียนคนนี้กำลังเก็บหุ้นตัวนั้น ส่วนจะเป็นเรื่องจริง หรือเป็นข่าวลือ นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งนะครับ
แต่ในการซื้อหุ้นตามเซียนนั้น สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเซียนหุ้นเขาตัดสินใจไม่ผิดในการเข้าซื้อหุ้นแต่ละครั้ง ต้องไม่ลืมสุภาษิตที่ว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ดังนั้นแม้จะเป็นเซียนหุ้นก็มีสิทธิ์ผิดพลาดได้ และเราในฐานะผู้ซื้อหุ้นตามเซียนก็ย่อมมีโอกาสเสียหายหรือขาดทุนตามเซียนได้ด้วยเช่นกัน
หรือแม้ว่าเซียนหุ้นตัดสินใจไม่ผิดพลาดในการซื้อหุ้น แต่เราจะรู้หรือว่า หุ้นตัวนั้นมีดีตรงไหนอย่างไร ทำไมเซียนถึงได้เข้าไปซื้อ และเขาซื้อมาในราคาเท่าไหร่ อย่าลืมว่า ถ้าเขาซื้อตั้งแต่ตอนที่หุ้นมีราคาต่ำมากๆ เขาก็ย่อมมีความเสี่ยงต่ำกว่าคนอื่นๆ ที่แห่เข้าไปไล่ซื้อหุ้นตามเขาในภายหลัง
และนอกจากนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เซียนจะขายหุ้นเมื่อไหร่ และขายเพราะอะไร โดยปกติตอนที่เซียนหุ้นตัดสินใจขาย เขาคงไม่ป่าวประกาศให้เรารู้อย่างแน่นอน และที่สำคัญถ้าหากเขาขายหุ้นทิ้งเพราะเห็นว่าพื้นฐานของหุ้นแย่ลง หรือเพราะเห็นว่ามีปัจจัยบางอย่างกำลังจะก่อให้เกิดความเสียหายกับการลงทุนในหุ้นตัวนั้น กว่าที่เราจะรู้บางทีอาจสายเกินไปก็เป็นได้
เพราะฉะนั้นการมโนว่า “ซื้อหุ้นตามเซียน แล้วจะรุ่ง” อาจไม่ทำให้การลงทุนของเรา “รุ่ง” อย่างที่คิด เผลอๆ นอกจากจะ “ไม่รุ่ง” แล้ว ยังอาจกลับกลายเป็น “รุ่งริ่ง” เสียด้วยซ้ำ
(ยังมีเรื่อง “อย่ามโน” ในการลงทุนอีกหลายประเด็น ผมขออนุญาตยกยอดไว้กล่าวถึงในบทความตอนต่อไปครับ)
[/size]
-
ลูกหิน
- Verified User
- โพสต์: 1217
- ผู้ติดตาม: 0
|0 คอมเมนต์
ขอบคุณมากครับ
-
Seattle
- Verified User
- โพสต์: 1119
- ผู้ติดตาม: 0
|0 คอมเมนต์
อย่ามโน ตอนที่ 2 /ประภาคาร ภราดรภิบาล
บทความตอนที่แล้ว ผมกล่าวถึงเรื่องของการ “อย่ามโน” ว่า “ซื้อหุ้นตามเซียน แล้วจะรุ่ง” เพราะในความเป็นจริงอาจจะ “ไม่รุ่ง” อย่างที่คิด ส่วนบทความในตอนนี้ผมจะขอกล่าวถึงเรื่อง “อย่ามโน” ในประเด็นของการ “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ครับ
“ไม่เป็นไร ! ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” มักจะถูกใช้เป็นคำปลอบใจสำหรับนักลงทุนหลายๆ ท่านในกรณีที่ซื้อหุ้นแล้วเกิดการ “ติดหุ้น” หรือ “ติดดอย” นั่นก็คือ เมื่อเขาซื้อหุ้นมาในราคาหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นราคาหุ้นกลับลดลงต่ำกว่าระดับราคาที่ซื้อมา เขาจึงตัดสินใจถือหุ้นนั้นเอาไว้ เพราะไม่อยากขายในราคาที่ขาดทุน และเฝ้ารอจนกว่าราคาของหุ้นจะขึ้นมาสูงกว่าหรือเท่ากับต้นทุนของเขา แล้วจึงค่อยขายหุ้นนั้นออกไป
การ “มโน” หรือคิดเข้าข้างตัวเองว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” นั้น แม้จะไม่ใช่ความคิดที่ “ผิด” เสียทีเดียว แต่ก็ถือว่า “ไม่ถูกต้องทั้งหมด” หรืออาจกล่าวได้ว่า “ถูกเพียงส่วนเดียว”
ประเด็นที่ “ถูกเพียงส่วนเดียว” ก็คือ ตราบใดที่เขายังไม่ตัดสินใจขายหุ้นออกไป สภาวะของการ “ขาดทุน” ก็ย่อมยังไม่เกิดขึ้นจริง และเขายังมีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากการขาดทุนได้ ถ้าหุ้นที่เขาซื้อนั้นเป็นหุ้นพื้นฐานดี เป็นหุ้นของกิจการที่มีศักยภาพในการทำรายได้หรือสร้างกำไรให้เติบโตได้ดีในระยะยาว แม้ตอนนี้ราคาหุ้นจะลดต่ำลงกว่าต้นทุนที่ซื้อมา แต่ก็ยังพอมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคตถ้านักลงทุนในตลาดหุ้นเล็งเห็นถึงศักยภาพของกิจการ
แต่ “อีกส่วนหนึ่ง” ที่พึงตระหนักก็คือ ถ้าหุ้นที่เขาซื้อนั้นไม่ได้เป็นหุ้นที่พื้นฐานดี ผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ก็ย่อมไม่มีปัจจัยที่จะผลักดันให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นได้ ยกเว้นว่าเกิด “จังหวะดี” มีกลุ่มนักเล่นหุ้นเข้ามาปั่น หรือเข้ามาซื้อไล่ราคาหุ้นให้พุ่งสูงขึ้น ก็อาจใช้จังหวะนั้นขายหุ้นออกไปได้โดยที่ไม่ขาดทุน แต่ถ้าหากไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นล่ะ เขาจะต้องทนกอดหุ้นตัวนั้นไปอีกนานแค่ไหน
จริงอยู่ ถึงแม้ว่าการขาดทุนจะยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะยังไม่ได้มีการขายหุ้นออกไป แต่เขาก็อาจเสียโอกาสดีๆ ไปไม่น้อยเช่นกันในช่วงเวลาที่เงินลงทุนของเขาจมอยู่กับหุ้นที่ไม่มีอนาคต เมื่อเทียบกับการยอมขายขาดทุน เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่คุณภาพดีและมีราคาที่เหมาะสม ซึ่งอาจช่วยให้ผลการลงทุนของเขาดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ในทางจิตวิทยาการลงทุน เรียกพฤติกรรมของการที่นักลงทุนมักจะขายหุ้นที่ได้กำไร แล้วกอดหุ้นที่ขาดทุน ว่า “Disposition Effect”ซึ่งเป็นพฤติกรรมของการหลีกเลี่ยงความเสียใจ (ด้วยการกอดหุ้นที่ขาดทุนเอาไว้ แล้วปลอบใจตัวเองว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน) และการเสาะหาความภาคภูมิใจ (จากการขายหุ้นที่ได้กำไร)
ผู้จัดการกองทุนระดับยอดฝีมือของโลกอย่าง “ปีเตอร์ ลินซ์” ก็เคยเปรียบเทียบการขายหุ้นที่ได้กำไร แล้วกอดหุ้นที่ขาดทุนเอาไว้ ว่าเหมือนกับเป็นการ “เด็ดดอกไม้แล้วรดน้ำวัชพืช”
แม้จะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การมัวแต่ “รดน้ำวัชพืช” หรือ “กอดหุ้นที่ขาดทุน” อยู่นั้น ไม่ได้มีประโยชน์หรือไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า แต่คำว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ก็ยังเป็นคำพูดติดปากที่นักลงทุนหลายๆ ท่านมักหยิบยกมากล่าวอ้าง และได้แต่หวังว่าราคาของหุ้นที่ติดอยู่จะขยับขึ้นมาสูงกว่าหรือเท่ากับต้นทุนที่ซื้อ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากสภาวะของการ “ติดหุ้น” หรือสามารถ “ลงจากดอย” ได้ในที่สุด
แต่ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างที่ “มโน” เอาไว้หรือไม่ คงต้องพิสูจน์ด้วยตัวของเขาเอง