โค้ด: เลือกทั้งหมด
ครั้งที่แล้วผมสรุปว่าประเทศซาอุดีอาระเบียตัดสินใจนำพาสมาชิกโอเปกไม่ให้ลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มลง ซึ่งผิดคาดทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเฉลี่ย 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในครึ่งแรกของปีนี้เหลือไม่ถึง 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมองได้ว่าเป็นความตั้งใจของประเทศซาอุดีอาระเบียที่จะสกัดการขยายตัวของอุตสาหกรรม Shale oil ของสหรัฐซึ่งกำลังอยู่ในช่วงขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลลินช์ซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัทหลักทรัพย์ภัทรประเมินว่าหากราคา WTI อยู่ที่ระดับ
1. 97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลผลผลิต Shale oil จะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2015
2. 84 ดอลลาร์ ผลผลิต shale oil จะเพิ่ม 7 แสนบาร์เรลต่อวันในปี 2015
3. 76 ดอลลาร์ ผลผลิต shale oil จะเพิ่ม 5 แสนบาร์เรลต่อวันในปี 2015
4. 60 ดอลลาร์ ผลผลิต shale oil จะไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เลยในปี 2015
การคาดการณ์ของแบงก์ออฟอเมริกานั้นการที่ OPEC ไม่เป็นผู้นำในการลดการผลิตเพื่อปรับอุปทานน้ำมันให้สมดุลกับอุปสงค์ อาจส่งผลให้ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวลดลงไปถึง 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในระยะสั้น ทั้งนี้เพราะหลุม Shale oil ที่กำลังผลิตอยู่ในขณะนี้ยังจะนำน้ำมันออกมาขายต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะต้นทุนแปรผัน (ซึ่งไม่รวมทุนที่ลงไปแล้วเช่นการไปกู้เงินธนาคารมาซื้อที่ดินและอุปกรณ์ขุดเจาะ) จะอยู่ที่ระดับต่ำคือ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 60-70 ดอลลาร์เนิ่นนานไปอีก 6-12 เดือนก็น่าจะส่งผลให้การลงทุนแสวงหาน้ำมันใหม่เพื่อเพิ่มการผลิตหรือการลงทุนเพื่อดูแลหลุมน้ำมันบางหลุมที่ปัจจุบันมีต้นทุนสูงก็จะลดลงไปตามลำดับ ในขณะที่อุปสงค์ก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้น (เพราะราคาปรับลดลงไปเกือบ 40%) ทำให้สามารถมองได้ว่าผลผลิตส่วนเกินประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็น่าจะถูกจำกัดออกไปได้ภายในเวลาประมาณ 6-12 เดือน
ทั้งนี้ เมื่อเริ่มเห็นอัตราการเพิ่มผลผลิตชะลอตัวลงและอัตราการขยายตัวของอุปสงค์เร่งตัวขึ้นภายใน 6 เดือนข้างหน้าก็พอจะเชื่อได้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะเริ่มปรับตัวขึ้นในครึ่งหลังของปีหน้า โดยแบงก์ออฟอเมริกาประเมินว่าราคาน้ำมันในปีหน้าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือต่ำกว่าเฉลี่ยราคาน้ำมันในปีนี้ถึง 30% ทั้งนี้ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับต่ำมากในครึ่งแรกของปีหน้า แต่จะเป็น “ขาขึ้น” ในครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ดี การปรับตัวของอุตสาหกรรมและของราคาน้ำมันนั้นในความเป็นจริงคงจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนอย่างเป็นระเบียบและค่อยเป็นค่อยไปดังที่กล่าวข้างต้น แต่น่าจะมีความผันผวนในมิติต่างๆ เช่น
1. ประเทศโอเปกบางประเทศน่าจะประสบปัญหาอย่างมาก เช่น เวเนซุเอลา อิรักและอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวเนซุเอลาซึ่งอยากเห็นน้ำมันราคา 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเพื่อจะได้ไม่ขาดดุลงบประมาณ นอกจากนั้นก็ยังเผชิญปัญหาว่าตลาดหลักของเวเนซุเอลาคือสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ใช่ประเทศมิตรและสหรัฐเองก็จะพึ่งพาเวเนซุเอลาลดลงตามลำดับ เพราะนอกจากผลผลิตในประเทศที่กำลังเพิ่มขึ้นแล้วซาอุดีอาระเบียก็กำลังลดราคาน้ำมันที่ตนขายให้สหรัฐเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย นอกจากนั้นพรรครีพับลิกันที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาและคุมเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนและวุฒิสภา จะให้การสนับสนุนการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน Keystone XL จากแคนาดา ทำให้สหรัฐพึ่งพาเวเนซุเอลาน้อยลงไปอีก ในอนาคตประเทศโอเปกอื่นๆ เช่นไนจีเรีย อิรัก ลิเบียและอิหร่านก็จะมีปัญหามากเช่นกัน แต่หากประเทศดังกล่าวประสบปัญหาทางการเงินก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก เพราะเป็นประเทศเล็กและหากขาดเงินรัฐบาลของประเทศดังกล่าวก็น่าจะสั่งการให้เร่งการผลิตน้ำมันมากกว่ายุติหรือชะลอการผลิต แต่ในขณะเดียวกันก็คงจะกดดันซาอุดีอาระเบียให้เรียกประชุมฉุกเฉินของกลุ่มโอเปกในต้นปีหน้าหากราคาน้ำมันยังคงอยู่ที่ระดับปัจจุบันซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรทำให้ราคาน้ำมันผันผวนมากขึ้น
2.ประเทศใหญ่ที่กำลังเจอปัญหาซ้ำเติมมากที่สุดคือรัสเซียเพราะถูกประเทศตะวันตกคว่ำบาตรอยู่ก่อนหน้าแล้วและมีภาระทางการทหารจากการเข้าไปมีบทบาทในข้อพิพาทในยูเครนและใช้กำลังทหารเข้าไปยึดครองไครเมีย ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะเข้าสู่สภาวะถดถอยในปีหน้าและการอ่อนตัวของค่าเงินรูเบลและปัญหาเงินเฟ้อก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้นแม้ว่ารัสเซียจะยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่หลายแสนล้านดอลลาร์ (แต่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง) ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่ารัสเซียอาจมีปัญหาจ่ายคืนหนี้และหากต้องหยุดชำระหนี้ก็อาจส่งผลต่อตลาดพันธบัตรของประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ตลอดจนส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์หลายแห่งของยุโรปที่ปล่อยกู้ให้รัสเซียคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ (จีดีพีของรัสเซียประมาณ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์)
3.การผลิต Shale oil ในสหรัฐนั้นเป็นการขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ทั้งนี้ประเมินว่า 40% เป็นผู้ผลิตรายย่อยที่น่าจะมีต้นทุนสูงจึงน่าจะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก แต่บริษัทขนาดใหญ่ 8 บริษัทที่ได้ลงทุนไปแล้วนั้นสามารถนำน้ำมันออกมาจากหลุมได้โดยต้นทุนเพียง 10-20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (แต่ที่น้ำมันราคา 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็คงจะไม่อยากลงทุนขุดเจาะหลุมใหญ่หรือลงทุนเพิ่มเพื่อปรับปรุงหลุมปัจจุบัน) นอกจากนั้นต้นทุนก็จะแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับทำเลของหลุมด้วย เช่น น้ำมันที่ Eagle Ford ในมลรัฐเท็กซัสจะมีต้นทุนในการขนส่งต่ำกว่าที่ Bakken Formation ที่มลรัฐนอร์ทดาโคตา เป็นต้น นอกจากนั้นผมยังเชื่อว่าผู้ผลิต Shale oil คงจะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องของความช่วยเหลือจากวุฒิสมาชิกและส.ส.ของเขตอุตสาหกรรมของตนในการลดการนำเข้าและส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ (โดยให้พึ่งพาโอเปกลดลง) ซึ่งเป็นเหตุผลที่น่าฟัง ดังนั้นผมจึงยังจะไม่ปักใจเชื่อว่าShale oil ของสหรัฐจะถูกจำกัดหรือกำจัดไปได้โดยง่าย แต่ก็มีความเสี่ยงว่าบริษัท Shale oil เป็นจำนวนมากออกพันธบัตรที่เรียกว่า high yield (ผลตอบแทนสูงแต่ก็เสี่ยงสูงด้วยหรือ junk bond) เป็นการกู้เงินจากตลาดเพื่อลงทุนในโครงการของตน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดปัญหาการพักชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากหากราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับต่ำเช่นปัจจุบันและหากเกิดขึ้นจริงก็จะส่งผลให้บริษัทดังกล่าวต้องปิดตัวและหยุดการผลิตลง ทั้งนี้ได้มีการประเมินว่าตลาดพันธบัตรผลตอบแทนสูงนี้มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดย Shale oil มีส่วนแบ่งอยู่ 17-18% หรือมูลค่าประมาณ 250,000 ล้านดอลลาร์ หมายความว่าดอกเบี้ยพันธบัตร high yield กำลังปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตร high yield ที่เป็นของบริษัทพลังงานหรือเกี่ยวข้องกับพลังงานเช่นผู้ที่ผลิตและขายอุปกรณ์การขุดเจาะเป็นต้น