โค้ด: เลือกทั้งหมด
สำหรับนักลงทุนระยะยาวนั้น การคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าประเทศที่ตนเองลงทุนนั้น จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไรนับว่ามีประโยชน์มาก เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ จะได้รู้ว่าบริษัทจดทะเบียนที่เราจะลงทุนนั้นจะมีการเติบโตเร็วขึ้นหรือช้าลงและอาจจะหยุดโตเมื่อไรตามภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ประเทศหรือสังคมที่เศรษฐกิจไม่โตนั้น โอกาสก็ยากที่ดัชนีหุ้นของประเทศจะปรับตัวขึ้นไปได้มาก ตัวอย่างของตลาดหุ้นในยุโรปและญี่ปุ่นที่ไม่ไปไหนมานานตามภาวะเศรษฐกิจที่โตน้อยมากมานานย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดี ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไร? เรื่องนี้ผมคิดว่าโมเดลของ Arthur Lewis นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล ที่ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจตั้งแต่ 60 ปีที่แล้วสามารถจะอธิบายได้ดี
แนวความคิดของ Lewis ก็คือ ในสังคมที่มีคนอยู่ในสองภาค ภาคหนึ่งคือสังคมแบบ “ทุนนิยม” เช่นในเมืองหลวงหรือเมืองท่าขนาดใหญ่ กับอีกภาคหนึ่งคือสังคมแบบ “พออยู่พอกิน” เช่นในชนบทหรือในต่างจังหวัดที่ห่างไกลนั้น กระบวนการการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะเริ่มต้นโดยที่โรงงานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจสามารถที่จะลงทุนขยายงานโดยที่มี “แรงงานส่วนเกินที่ไม่จำกัด” จากชนบท ดังนั้นพวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม นี่ทำให้ธุรกิจมีกำไรดีกว่าปกติและกำไรที่ได้ก็นำไปลงทุนขยายงานเพิ่มโดยที่สามารถดึงคนจากชนบทมาทำงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม กระบวนการนี้ทำให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ จุดที่แรงงานในภาคพออยู่พอกินถูก “ดูดซับ” ไปหมดและการลงทุนเพิ่มต่อไปจะทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นนั้นก็คือจุดที่เรียกว่า “Lewis Turning Point” (LTP)
ณ. จุด LTP นั้น ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การหาแรงงานจะยากขึ้นมาก อุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายค่าแรงสูงขึ้นนั้นจะทำให้การลงทุนมีความคุ้มค่าน้อยลงเพราะผลตอบแทนจะต่ำลงส่งผลให้การขยายการลงทุนของประเทศลดลง ผลก็คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะชะลอลงกว่าที่เคยเป็นมาก การที่จะทำให้ประเทศเจริญเติบโตต่อไปนั้น ก็จะต้องอาศัยแรงงานใหม่นั่นก็คือ คนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นแรงงานใหม่ แต่โดยปกติมันมักจะไม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเหมือนกับการเคลื่อนย้ายคนจากภาคเกษตรในต่างจังหวัดอยู่แล้ว อีกวิธีหนึ่งก็คือ การเพิ่ม Productivity หรือผลิตภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการทำงานสูงขึ้นซึ่งอาจจะใช้การเพิ่มสัดส่วนของเครื่องจักร เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ เหมือนกับการดึงคนที่มีค่าแรงต่ำจากภาคเกษตรมาทำงาน
ประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ามีการพัฒนาทางเศรษฐกิจตรงกับโมเดลของ Arthur Lewis ก็คือจีน ส่วนตัวผมเชื่อว่าประเทศไทยเองก็เป็นแบบเดียวกัน ว่า เศรษฐกิจของเรากำลังมุ่งเข้าสู่ “จุดกลับของลิวอิส” หรือ LTP ซึ่งหมายความว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะช้าลงเมื่อเทียบกับอดีต “อย่าถาวร” สิ่งที่ทำให้เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นก็คือ ในปัจจุบันการหาแรงงานของไทยนั้นยากขึ้นมากจนเราต้องนำเข้าแรงงานจากเพื่อนบ้านจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ค่าแรงเองก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเร็ว ๆ นี้ และว่ากันว่าในชนบทของไทยนั้น เวลานี้มีแต่คนแก่กับเด็ก อัตราการว่างงานของไทยนั้นต่ำมากจนแทบเป็นศูนย์ ส่วนคนหนุ่มสาวต่างก็เข้ามาทำงานในเมืองกันหมด ประเทศจีนเองนั้นก็มีอาการแบบเดียวกันที่ค่าแรงปรับตัวขึ้นสูงจากที่เคยต่ำมากจนเวลานี้สูงกว่าค่าแรงของไทยไปแล้ว
ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ Demography หรือโครงสร้างประชากรของทั้งจีนและไทยนั้นต่างก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการที่ประชากรวัยทำงานจะเพิ่มขึ้น มีการศึกษาและพบว่าประชากรในวัยทำงานทั้งของจีนและไทยนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็จะลดลง คาดการณ์กันว่าอาจจะภายในปี 2020-2025 หรือประมาณ 6-11 ปี จีนก็อาจจะถึงจุด LTP ส่วนของไทยเองนั้น ผมก็คิดว่าไม่ต่างกันมาก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นและไม่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นเช่นการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพของแรงงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็จะช้าลงมาก
โครงสร้างประชากรของจีนนั้น กล่าวกันว่ามีความผิดเพี้ยนไปอย่างแรงตรงที่มีนโยบาย “ลูกคนเดียว” มานานซึ่งทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ในช่วงเวลานั้นมีน้อยลงไปมาก แม้ว่าในขณะนี้เริ่มจะมีการปรับในบางเขตของประเทศ ก็ไม่น่าจะทันกาล ส่วนของไทยเองนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน “รุ่นใหม่” ทำให้เรามีลูกน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด ผมดูตัวเลขประชากรของไทยกับของจีนแล้วปรากฏว่าต่างก็มีโครงสร้างประชากรใกล้เคียงกันมากทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้มีนโยบายลูกคนเดียวแบบจีน นั่นคือ เรามีเด็กอายุ 0-14 ปี 17.6% ในขณะที่จีนมี 17.1% อายุ 15-24 ปี เรามี 15% ในขณะที่จีนมี 14.7% ในด้านของคนสูงอายุ ตั้งแต่ 55-64 ปี เรามี 10.9% ขณะที่จีนมี 11.3% และคนที่เกษียณแล้วที่ 65 ปีขึ้นไป เรามี9.5% ในขณะที่จีนมี 9.6% ว่าที่จริงทั้งไทยและจีนต้องบอกว่าเรากำลังเป็นสังคม “คนแก่” ของเอเซียในขณะที่ “คู่แข่ง” ของเราในอาเซียนเองนั้น ต่างก็ยังเป็นสังคมของคน “หนุ่มสาว”
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่น่าจะ “เด็ก” ที่สุด เพราะมีเด็กอายุไม่เกิน 14 ปีสูงถึง 33.7% ของประชากรหรือเกือบเท่าตัวของไทยในขณะที่คนแก่อายุเกิน 65 ปี ที่เกษียณแล้วมีแค่ 4.5% หรือน้อยกว่าครึ่งของไทย ลองลงมาคือมาเลเซียที่มีเด็ก 28.8% และคนแก่แค่ 5.5% ตามด้วยอินโดนีเซีย ที่มีเด็ก 26.2% และคนแก่ 6.5% ทั้งหมดนั้นน่าจะมาจากเรื่องของศาสนาที่ห้ามคุมกำเนิดทำให้มีประชากรเกิดมาก ส่วนเวียตนามซึ่งไม่ได้มีข้อห้ามคุมกำเนิดเองก็ค่อนข้างเป็นสังคมคนหนุ่มสาวมีเด็ก 24.3% และคนแก่เพียง 5.7% ในส่วนของสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แม้ว่าโดยรวมยังอ่อนกว่าไทยเล็กน้อย แต่ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ปัจจุบันมีคนแก่ 8.5% แต่มีเด็กเพียง 13.4% เท่านั้น ทำให้สิงคโปร์ต้องรนณรงค์ให้คนมีลูกมากขึ้น
ประเทศคู่แข่ง-และ “คู่ค้า” ที่อยู่รอบบ้านเรานี้ กำลังมาแรงในด้านของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พวกเขายังห่างจากจุด LTP มาก ว่าที่จริงหลายประเทศเพิ่งจะเริ่มพัฒนาทางเศรษฐกิจและอาศัยแรงงานที่มีค่าแรงถูกที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ไทยเองใกล้หรืออาจจะถึงจุด LTP แล้ว ดังนั้น การที่จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไปจึงต้องการแรงงานเพิ่มซึ่งในปัจจุบันก็คือแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะเพิ่มคนโดยการกระตุ้นให้คนไทยมีลูกมากขึ้นหรือเปิดรับคนเข้าเมืองแบบ อเมริกาหรือออสเตรเลีย นอกจากนั้น การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดเนื่องจากมันจะช่วยสร้างความ “อยู่ดีกินดี” ของประชาชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากมันต้องอาศัยการศึกษาที่ดีของประชากรและอื่น ๆ อีกมากรวมถึงการจัดการและลงทุนในด้านของสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมองการณ์ไกล ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไทยยังไม่พร้อมนัก
ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าเมืองไทยเองนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะ “รวม” เป็นเออีซีในปีหน้า เราคงเสียเปรียบ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวเราคงสู้ไม่ได้ และผลที่ตามมาก็คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นก็อาจจะไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนไทยที่สามารถรุกเข้าไปในเออีซีก็อาจจะเติบโตได้ดีและรุ่งเรืองได้ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่โดดเด่นนัก นอกจาก “ซุปเปอร์สต็อก” เหล่านั้นแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่จะอยู่รอดและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวก็คือ เข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นโดยตรง