โค้ด: เลือกทั้งหมด
ย้อนหลังไปเพียงไม่กี่ปีผมแทบจะไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งตนเองจะออกไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ ในตอนนั้นผมคิดแต่เพียงว่าเมืองไทยใหญ่พอสำหรับเม็ดเงินเล็ก ๆ ของเรา เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ประเทศไทยยังค่อนข้างจำกัดไม่ให้คนไทยโดยเฉพาะที่เป็นบุคคลธรรมดานำเงินออกนอกประเทศ นอกจากนั้น ข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ความรู้ความเข้าใจในตัวกิจการ ภาษา วัฒนธรรม ระบบการค้าและเศรษฐกิจ และอื่น ๆ ของหุ้นต่างประเทศยังทำให้ผมรู้สึกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศนั้นควรเป็นเรื่องของเด็กรุ่นหลังหรือรุ่นลูกที่มีความคุ้นเคยกับการสัมผัสเกี่ยวข้องกับนานาชาติมากกว่าเรามาก อีกทั้งการ “เปิดเสรี” ของประเทศต่าง ๆ ที่ทำให้ความแตกต่างของแต่ละประเทศน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในอนาคตน่าจะทำให้การลงทุนต่างประเทศกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับ “เด็กรุ่นหลัง” แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป วันนี้ผมได้เริ่มลงทุนซื้อหุ้นต่างประเทศเป็นครั้งแรก ทุกอย่างมาเร็วกว่าที่ผมเคยคิด การลงทุนต่างประเทศไม่ใช่เรื่องในอนาคตของลูกหลานอีกต่อไป มันเป็นเรื่องของนักลงทุนในวันนี้ แน่นอน อุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่กล่าวถึงก็ยังมีอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งที่ดีและข้อได้เปรียบของการไปลงทุนในต่างประเทศก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ลองมาดูกันว่าลงทุนหุ้นต่างประเทศดีอย่างไร
ข้อแรกผมอยากที่จะมอง “ภาพใหญ่” ก่อนนั่นก็คือ ถ้ามองว่าแต่ละประเทศเป็น “หุ้น” ตัวหนึ่งโลกนี้ก็จะมีหุ้นอาจจะซัก 100-200 ตัว “หุ้นประเทศไทย” หรือตลาดหุ้นไทยก็คือหุ้นตัวที่เราลงถ้าเราลงทุนแต่ในประเทศ การที่เราลงแต่หุ้นไทยนั้น ถ้ามองย้อนหลังไปโดยเฉพาะหลังจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ก็ต้องบอกว่าเราลงทุนหุ้นถูกตัว เพราะหุ้นประเทศไทยเวลานั้นน่าจะเป็นหุ้น “คุณภาพดี ราคาถูก” คำว่าคุณภาพดีก็คือ ประเทศมีการเติบโตของเศรษฐกิจสูง เป็น “หุ้นเติบโต” นอกจากนั้น ถ้ามองไปในอนาคต “กิจการ” หรือประเทศก็ยังน่าจะมีความสามารถในการแข่งขันสูงเนื่องจากประชากรอยู่ในวัยทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่าแรงก็ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ที่มีฝีมือใกล้เคียงกัน อาจจะเรียกได้ว่าหุ้นประเทศไทยมีความได้เปรียบที่ยั่งยืนหรือมี Durable Competitive Advantage เทียบกับหลาย ๆ ประเทศ ส่วนในด้านของราคานั้น ค่า PE ของตลาดหุ้นไทยก็ค่อนข้างต่ำไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ก็ไม่เกิน 1 เท่า ดังนั้น หุ้นประเทศไทยในอดีตน่าจะเป็น “หุ้นคุณค่า” และการลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็มีเหตุผลเต็มที่
ถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าสถานการณ์ของไทยเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย การเติบโตของเศรษฐกิจช้าลงไปมากโดยที่ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเริ่ม “ช้าลงอย่างถาวร” หรือยัง ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือ คนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าจะกลายเป็น “สังคมคนสูงอายุ” ในเวลาอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ความสามารถในการแข่งขันก็ดูเหมือนจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่มีโครงสร้างประชากรหนุ่มสาวมากกว่า แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่อง “คุณภาพ” ของกิจการหรือของประเทศก็คือเรื่องของ “ราคา” ของหุ้นที่ได้ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างสูง ค่า PE ของตลาดหุ้นขึ้นไปถึงประมาณ 18 เท่าซึ่งเท่า ๆ กับหรือสูงกว่าหุ้นของประเทศที่มี “คุณภาพสูง” อย่างหุ้นสหรัฐ ในเวลาเดียวกัน หุ้นของประเทศอย่างจีน เกาหลีใต้ และเวียตนามซึ่งน่าจะมีคุณภาพที่ไม่ด้อยกว่าประเทศไทยต่างก็มีราคาลดลงมากกลายเป็น “หุ้นถูก” มีค่า PE ของตลาดต่ำกว่า 10 เท่า หากมองแบบนี้ หุ้นไทยก็อาจจะไม่ใช่หุ้น “Value” อีกต่อไปเมื่อเทียบกับหุ้นของหลาย ๆ ประเทศที่กล่าวถึง ดังนั้น การ Switch หรือย้ายหุ้นลงทุนจึงอาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี
แน่นอน VI ส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อหุ้นทั้งตลาด แต่ซื้อหุ้นเป็นรายตัวดังนั้น ก็เป็นไปได้ว่ายังมีหุ้นบางตัวในตลาดหุ้นไทยที่คุ้มค่าและสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ อย่างไรก็ตาม ในยามที่ “ภาพใหญ่” ไม่เอื้ออำนวย “ภาพเล็ก” นั่นก็คือ การหาหุ้นดีราคาถูกก็ยากขึ้นและโอกาสเจอหุ้นที่ดีเลิศเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพ-ราคาก็ยากขึ้นมาก มันเป็นเรื่องง่ายกว่ามากที่จะหาหุ้นดี-ราคาถูกหรือถูกมากในยามที่ตลาดหุ้นโดยรวมมีราคาที่ต่ำมากและเศรษฐกิจกำลังเติบโตสูง—อย่างเช่นตลาดหุ้นไทยหลังปี 2540 ประมาณ 3-4 ปี หรือตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งในปีนี้
คำถามสำคัญต่อมาก็คือ ถ้าเราจะไปลงทุนต่างประเทศ เราจะไปตลาดประเทศไหนและด้วยกลยุทธ์หรือเลือกหุ้นอย่างไร? คำตอบผมนั้นคงจะมองแบบ “ภาพใหญ่” อีกเช่นกันและน่าจะมี 3 ทางเลือกที่น่าสนใจนั่นคือ ทางเลือกที่หนึ่ง เลือกการลงทุนแบบ “หุ้นประเทศ” นั่นก็คือ ประเทศที่มีคุณภาพดี-ราคาถูก หรือคุณภาพไม่ดีแต่ราคาถูกมากที่คุ้มค่าแบบแนว “ก้นบุหรี่” นั่นก็คือ เลือกลงทุนกองทุนหุ้นอิงดัชนีของประเทศที่เราคิดว่าอยู่ในข่ายดังที่กล่าว นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ง่ายเพราะมีโบรกเกอร์ที่เปิดขายหน่วยลงทุนมากมายในช่วงเร็ว ๆ นี้
ทางเลือกที่สองก็คือ การลงทุนซื้อหุ้นหรือเลือกหุ้นต่างประเทศเอง โดยเลือกซื้อเฉพาะหุ้นที่เราพอจะเข้าใจธุรกิจของบริษัทเพราะมันเป็นบริษัท “ระดับโลก” ที่มีสินค้าขายทั่วโลกและเราเองก็รู้จักดีและมักจะเป็นลูกค้าด้วย เช่น เฟซบุคหรือหุ้นกูเกิล ในราคาหุ้นที่ไม่แพงเมื่อคำนึงถึงศักยภาพในอนาคตของบริษัท พูดง่าย ๆ เราเลือกหาหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ในช่วงที่มันยัง “ไม่อิ่มตัว” ยังมีโอกาสที่ธุรกิจจะขยายตัวอีกมากโดยเฉพาะในตลาดของประเทศที่กำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย กลยุทธ์นี้เป็นวิธีการลงทุนแบบหุ้นน้อยตัวและเราสามารถติดตามพัฒนาการต่าง ๆ ได้ เราไม่ต้องกังวลมากในประเด็นการลงทุนอื่น ๆ เนื่องจากบริษัทมักจะมีขนาดใหญ่และมีมาตรฐานในระดับสากล เราเพียงแต่ต้องดูผลประกอบการและการขยายตัวหรือหดตัวของธุรกิจและเรื่องของการแข่งขันของคู่แข่งที่อาจจะมีมาโดยไม่คาดฝัน และดูว่าราคาหุ้นยังไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพของกิจการ เป็นต้น
ทางเลือกที่สามที่ผมใช้อยู่ก็คือ เลือกหุ้นขนาดเล็กและราคาถูกของประเทศที่กำลังเติบโตหรือยังเติบโตได้โดยไม่ได้สนใจเรื่องของคุณภาพของกิจการ นี่คือแนวการลงทุนแบบ เบน เกรแฮม หรือแนวหุ้นก้นบุหรี่ โดยวิธีนี้เราจะต้องซื้อหุ้นจำนวนมากพอสมควรเพื่อกระจายความเสี่ยง นอกจากนั้น เราอาจจะไม่ถือหุ้นยาวมากนัก เมื่อหุ้นมีการปรับตัวขึ้นหรือผลประกอบการลดต่ำลง เราก็อาจจะต้องทยอยขายและปรับพอร์ตไปเรื่อย ๆ โดยใช้เกณฑ์หลักก็คือ ซื้อหุ้นถูก-ขายหุ้นแพง ด้วยการทำแบบนี้ ผมหวังว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีตลาด เหตุผลที่ผมเลือกวิธีนี้ที่สำคัญก็คือ เราไม่รู้จัก “คุณภาพ” ของกิจการของหุ้นในต่างประเทศที่ไม่ได้เป็นหุ้น “สากล” และเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกอย่างหุ้นในแนวทางที่สอง สิ่งที่เรารู้ก็คือข้อมูลตัวเลขรายได้ กำไร และปันผล รวมถึง อัตราส่วนต่าง ๆ ทางการเงิน เราไม่รู้ว่าจริง ๆ บริษัททำอะไรและมีความสามารถในการแข่งขันแค่ไหน ว่าที่จริงในบางกรณีเราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์การทำธุรกิจของประเทศนั้นเป็นอย่างไร เราลงทุนเพราะเราต้องการ “ซื้อการเติบโตของประเทศ” ในยามที่ราคาหุ้นยังถูกมาก ซึ่งก็อาจจะคล้าย ๆ กับการ “ซื้อหุ้นประเทศไทย” ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งได้สร้างผลตอบแทนมหาศาลให้กับคนที่ทำ ส่วนตัวผมเองก็หวังว่าผมจะมีโอกาสทำมันซ้ำอีกในต่างประเทศ
ไม่ว่าจะลงทุนแนวทางไหน การลงทุนในต่างประเทศนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในประเทศมาก ความเสี่ยงนั้นนอกจาก “ความไม่รู้” แล้ว ยังรวมถึงความเสี่ยงของค่าเงิน กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของการนำเงินออก และกฎหมายต่าง ๆ ของประเทศนั้น ๆ มีบ่อยครั้งที่เราทำกำไรได้จากการลงทุนแต่กลับมาขาดทุนจากเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องของค่าเงินที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น คนที่จะไปต่างประเทศจะต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ให้มาก สำหรับคนที่มีพอร์ตเล็กเกินไปแล้วผมเองคิดว่าการลงทุนในต่างประเทศยังไม่จำเป็นและไม่เหมาะนัก แต่สำหรับคนที่มีพอร์ตค่อนข้างใหญ่ ผมคิดว่าการคิดถึงการลงทุนในต่างประเทศนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างแน่นอน