นิวตัน VS ดาร์วิน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

นิวตัน VS ดาร์วิน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ถ้าเราดูภูมิหลังหรือประวัติการเรียนและทักษะของนักการเงินซึ่งรวมถึงนักลงทุนแนวหน้าของโลกหรือของประเทศไทยเรามักจะพบว่าจำนวนไม่น้อยมีพื้นฐานของการเรียนทางด้านวิศวกรรม  ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น  ว่าที่จริงผมเองก็รู้สึกแปลกใจตั้งแต่เรียนวิชาการเงินในช่วงปริญญาเอกที่พบว่าทฤษฎีสำคัญทางการลงทุนบางเรื่องนั้น  ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลักการทางวิศวกรรมเรื่อง  “การส่งผ่านความร้อน”  หรือ  Heat Transfer ซึ่งเป็นวิชาที่ยากและผมทำได้ไม่ดีเลยในสมัยที่ผมเรียนปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรม  นอกจากนั้น  ทฤษฎีการเงินต่าง ๆ  มากมายต่างก็ใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนจำพวก  Calculus ที่  “เด็กวิศวะ”  ต้องเรียนมากมาย  ดังนั้น  ผมจึงสรุปเองว่าคนที่เรียนมาทางด้านวิศวกรรมหรือเก่งทางด้านวิศวกรรมนั้น  หากหันมาเรียนและทำงานทางด้านการเงินก็น่าจะได้เปรียบคนที่เรียนมาทางสายอื่น   และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้อาชีพทางการเงินถูก “ครอบงำ” โดยคนที่มีฐานทางด้านวิศวกรรม

    แต่ในเรื่องของการลงทุนในทางปฏิบัตินั้น  บางทีก็มีประเด็นที่ทำให้เราสงสัยอยู่เหมือนกันว่าคนที่เก่งทางด้านฟิสิกส์ซึ่งเป็นฐานของวิศวกรรมที่สำคัญที่สุดนั้นจะสามารถลงทุนได้ดีกว่าคนสายอื่นหรือไม่?  เพราะเรื่องที่มีการอ้างถึงกันบ่อย ๆ ก็คือ  เรื่องที่เซอร์ ไอแซ็ค นิวตัน  นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกเคยกล่าวไว้กว่า 300 ปีมาแล้วว่า  “ผมสามารถที่จะคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวบนฟากฟ้า  แต่ไม่สามารถคาดการณ์ความบ้าคลั่งของคนได้” เมื่อเขาขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นเซ้าท์ซีอย่างหนัก  อย่างไรก็ตาม  ความพยายามที่จะเอาชนะในการลงทุนก็ยังคงดำเนินต่อไปจากนักการเงินที่ใช้หลักการในแบบของนิวตัน  โดยล่าสุดดูเหมือนจะเป็นการพยายามซื้อขายหุ้นโดยกลุ่มนักการเงินที่เรียกว่า  “Quant” ซึ่งก็คือการใช้ข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ  ในการสร้างแบบจำลองที่จะทำการซื้อขายหุ้น  ผมเองไม่แน่ใจว่าพวกเขาประสบความสำเร็จหรือไม่  แต่ประสบการณ์ของ “Long Term Capital Management (LTCM)” ซึ่งเคยเป็นกองทุนที่บริหารโดยนักการเงินระดับโนเบลไพร์ซที่เน้นการใช้วิชาการแบบของนิวตันนั้น  อาจจะบ่งบอกเราว่า  หลักการทางด้านของฟิสิกส์นั้น  อาจจะเหมาะเฉพาะกับการลงทุนในระยะสั้น ๆ  ที่ปัจจัยและภาวะแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ   เพราะในช่วงแรกนั้น LTCF ประสบความสำเร็จอย่างสูง  แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าง  “คาดไม่ถึง”  กองทุนก็ล่มสลายลง

    นั่นนำมาถึงอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเองคิดว่าน่าจะสามารถอธิบายทฤษฎีการลงทุนในระยะยาวได้ดีกว่านั่นก็คือหลักการพื้นฐานที่ถูกค้นพบโดย  Charles Darwin นักชีววิทยาที่มีเสียงมากที่สุดในโลก  ทฤษฎีของดาร์วินอย่างที่เรารู้ก็คือ  ทฤษฎี  “วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต”  ซึ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตต่างก็ปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมตลอดเวลา  ผู้ที่เหมาะสมนั้นจะรอดและเติบโตต่อไป  (Survival of the fittest)  ส่วนผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะตายหรือค่อย ๆ  หมดไป  การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตมาเป็นล้าน ๆ  ปีนี้เองที่นำไปสู่สิ่งมีชีวิตที่สลับซับซ้อนอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งรวมถึงมนุษย์ ที่ประกอบไปด้วยระบบต่าง ๆ  ในร่างกายที่ทำงานประสานสอดคล้องกันอย่างน่าทึ่งและกระบวนการหรือระบบต่าง ๆ  เหล่านี้ก็ยังปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  เพียงแต่เราไม่สามารถสังเกตได้ในระยะเวลาสั้น ๆ  

    ทฤษฎีของดาร์วินซึ่งอธิบายเรื่องของสิ่งมีชีวิตนั้น  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็มีคนนำไปเปรียบเทียบกับระบบของสังคมว่ามันมีส่วนที่คล้ายกันมาก  การอธิบายเรื่องของการเมือง  เศรษฐกิจ  ตลาดหุ้น  การทำงานของธุรกิจข้ามชาติ  ระบบอินเตอร์เน็ตและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์  ต่าง ๆ  เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีคุณลักษณะและพฤติกรรมแบบเดียวกับสิ่งมีชีวิต  พูดง่าย ๆ  ระบบต่าง ๆ  เหล่านั้นจริง ๆ  แล้วมัน  “มีชีวิต”  ในแง่ที่ว่า  ระบบที่เหมาะสมก็จะอยู่รอด  ระบบที่  ปรับตัวไม่ได้ก็จะตายหรือหายไป  เราเรียกมันว่า “Complex Adaptive System” (CAS)  หรือ “ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัวตลอดเวลา”   ความหมายของ CAS ก็คือ  ระบบอย่างเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นนั้น  เป็นระบบใหญ่ (คล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)  ที่ประกอบไปด้วย “ผู้เล่น”  หรือปัจจัยต่าง ๆ มากมาย (อาจจะคล้าย ๆ กับระบบหายใจ  และระบบย่อยอาหาร ต่าง ๆ ) ที่ต่างก็มีบทบาทหรือมีอิทธิพลต่อระบบและต่อผู้เล่นอื่น ๆ   ผู้เล่นและปัจจัยนั้นมีหลากหลายมากมาย  เช่นเดียวกับผลกระทบนั้นก็มีหลากหลาย  นอกจากนั้น  เวลาที่ผู้เล่นหนึ่งเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบไปยังคนอื่น  คนอื่นก็เปลี่ยนแปลงและสุดท้ายก็ส่งผลกลับไปยังผู้เล่นคนแรก  และนี่จึงทำให้มันมีความซับซ้อนจนยากที่จะบอกว่าอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบเกิดขึ้น  เรารู้แต่เพียงว่า  การเปลี่ยนแปลงนั้นเพื่อที่จะสะท้อนหรือปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้ระบบอยู่รอดและทำงานต่อไป

    ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้น  ไม่ใช่เส้นตรงและระบบนั้นไม่เสถียรและจำเป็นต้องมีพลังงานที่ต้องป้อนเข้ามาตลอดเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบ  นอกจากนั้น  ระบบ CAS นั้นมี  “ประวัติศาสตร์” นั่นก็คือ  มันมี  “วิวัฒนาการ”  คล้าย ๆ  กับสิ่งมีชีวิตจริง ๆ   ข้อสรุปอย่างย่อที่สุดก็คือ  ระบบ CAS นั้น  เป็นระบบที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ หรือ Dynamic  ปัจจัยต่าง ๆ  หรือผู้เล่นต่าง ๆ  ในระบบก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ   ผลกระทบก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ  และมีผลย้อนกลับด้วย  ดังนั้น  การคาดการณ์ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลต่อระบบหรือปัจจัยหรือผู้เล่นอื่นอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากหรือแทบจะทำไม่ได้เลย  ยกตัวอย่างง่าย ๆ  ก็อาจจะเป็นว่า  การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางขึ้นมา 1 เปอร์เซ็นต์นั้นจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์?  คำตอบที่ถูกต้องนั้นก็คือ  บอกไม่ได้!  ระบบการปรับตัวที่ซับซ้อนหรือ CAS ไม่ได้ทำงานเหมือนกับการคำนวณว่าถ้าจะไปดวงจันทร์ต้องยิงจรวดในทิศทางไหนและใช้เชื้อเพลิงเท่าไร

    กลับมาดูการลงทุนในตลาดหุ้นว่ามันควรเป็นอย่างไร?   ส่วนตัวผมคิดว่าตลาดหุ้นและการลงทุนนั้นเป็น  CAS  และมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด  เมื่อคิดย้อนหลัง  ผมเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของนักลงทุน  กลุ่มหุ้นที่เคยเป็นหุ้นยอดนิยมในตลาด  กลุ่มหุ้นที่เจริญรุ่งเรืองในแต่ละยุค  การควบคุมบริษัทจดทะเบียน  การเติบโตของ VI ในตลาดหุ้น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้ผมคิดต่อไปว่าอนาคตมันก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปอีก  สิ่งที่เราเห็นในวันนี้ไม่ว่าในด้านไหนหรือผู้เล่นไหนก็น่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไป  แม้แต่สภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของไทยที่มีผลต่อตลาดหุ้นเองก็เปลี่ยนแปลงไป  บางทีอาจจะรุนแรง  “ไม่เป็นเส้นตรง”  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ  ดังนั้น  เราก็จะต้องพร้อมที่จะปรับตัวเช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคำว่า  “Survival of the fittest”  หรือคนที่เหมาะสมที่สุดก็จะอยู่รอดและเฟื่องฟู  

    ประเด็นสำคัญของผมก็คือ  นักลงทุนในช่วงนี้—ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา  พวกเราคือคนที่ “เหมาะสมที่สุด”  โดยเฉพาะ  “VI” จำนวนมากที่ร่ำรวยขึ้นมามากอย่าง “ไม่น่าเชื่อ”  เหตุเพราะว่า  ระบบที่เป็น  CAS นั้นจะมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  บางทีก็เร็วมาก  ความเหมาะสมในวันนี้อาจจะกลายเป็นความไม่เหมาะสมในวันข้างหน้าได้  และถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราเป็นเราทำนั้นดีและเหมาะสมที่สุดแล้ว  เราอาจจะกลายเป็นคนที่ล้าสมัยได้เมื่อสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ประวัติศาสตร์ของบริษัทที่ยิ่งใหญ่  ประวัติของผลงานการลงทุนที่ยิ่งใหญ่นั้น  ไม่ได้รับประกันว่ามันจะคงอยู่ได้ตลอดไป  และประวัติศาสตร์บอกว่า  การรักษามันเป็นสิ่งที่ยากมาก
[/size]
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: นิวตัน VS ดาร์วิน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
wc
Verified User
โพสต์: 231
ผู้ติดตาม: 0

Re: นิวตัน VS ดาร์วิน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ
ช่วงหลังๆนี้ ข้อเขียน ออกแนวแปลกๆไปนิดนะครับ หรือว่า สุดยอดของกระบวนท่า คือไร้กระบวนท่า 55

ครั้งก่อนบอกว่า ความคิดที่ว่า VI ไม่จำเป็นต้องสน Macro Economics "อาจ"จะไม่ถูกต้อง
ครั้งนี้บอกว่า VI ที่ประสบความสำเร็จในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา "อาจ"เป็นเพราะเรื่องบังเอิญ

สงสัยช่วงนี้อาจารย์จะโอนเอนไปทางทฤษฎี Reflexivity ของ Soros
Things are almost never clear on Wall Street,
or when they are, then it’s too late to profit from them.
sorawitch
Verified User
โพสต์: 152
ผู้ติดตาม: 0

Re: นิวตัน VS ดาร์วิน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ผมว่า ดร. ไม่ได้หมายถึงว่า นักลงทุนแนว vi ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บังเอิญประสบความสำเร็จ

ดร. อาจจะเห็น หรือ ได้ยิน หนังสือ การออกสื่อ การสนทนา ว่าลงทุนหุ้น กำไรงาม มั่นคง วีไอ ไวจริงๆ

ช่วงที่ผ่านมาเป็นขาขึ้นโดยรวมของตลาด จากสภาวะเงินล้นโลก จึงไม่แปลกที่คนกลุ่มหนึ่งจะทำกำไรได้เยอะ

ดร. น่าจะเตือนสติว่าให้เราค่อยปรับปรุงความคิด และความรู้อยู่เรื่อยๆมากกว่า

เพราะสังคม เทคโนโลยี สิ่งต่างๆ มีวิวัฒนาการ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

บางทีเหตุผลที่ฟังเข้าท่าตอนนี้ อาจจะซื่อบื้อสุดๆในอีก 15 ปีข้างหน้าก็เป็นไปได้

และจริงๆก็ไม่ได้ต่างอะไรจากที่ ดร. ยึดหลักการบัฟเฟต ที่ว่าพยายามเลือกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงน้อย

มีความเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะพลวัตในการเปลี่ยนแปลงมันจะช้า ไม่ต้องเก่งมาก ตามติดมาก เราก็ยังกำไรได้
เราจะรวยแร้วววววววววว
noooon010
Verified User
โพสต์: 2712
ผู้ติดตาม: 0

Re: นิวตัน VS ดาร์วิน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณครับ
อย่าลืมให้เวลากับครอบครัว และสังคมรอบๆข้างของคุณนะครับ

มีสติ และมีความสุขกับการลงทุนนะครับผม


นักลงทุนที่เก่งที่สุดมิใช่คนที่ซื้อขายไวที่สุด
แต่คือคนที่นำสติกลับมาได้เร็วที่สุด
หลายครั้งส่งคำสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ผลตอบแทนมากกว่าซื้อผ่านnetหากเราขาดสติ
โพสต์โพสต์