โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 29 มีนาคม 57
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Investment by…
เรื่องของการบริหารนั้น เรามักจะมี “Key Word” หรือเป็นคำที่อธิบายหัวใจสำคัญของการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นคำว่า “Management by Objective” หมายความว่าเป็นการบริหารแบบที่ยึดเอา “เป้าหมาย” เป็นตัวตั้งหรือเป็นหัวใจสำคัญ ในการลงทุนนั้น ไม่มีคำแบบนี้ในตำรา เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าการลงทุนนั้น อาจจะไม่ใคร่มีปัจจัยเดียวที่โดดเด่นขนาดเอามาเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน อย่างไรก็ตาม ถ้ามีคนถามผมว่าผมลงทุนโดย “ทำอย่างไร?” คำตอบของผมก็คือ ผมทำหลายอย่าง และถ้าจะใช้คำเลียนแบบเรื่องของการบริหาร ผมจะบอกอย่างนี้ครับ
เริ่มต้นผมจะบอกว่า การลงทุนของผมนั้นเป็น “Investment by walking around” นั่นก็คือ เวลาผมจะเลือกหุ้นลงทุน ผมแทบไม่ฟังนักวิเคราะห์หรืออ่านจากบทวิเคราะห์ใด ๆ เลย ผมชอบ “เดินหา” ไปเรื่อย ๆ ความหมายของผมก็คือ ผมชอบเดินทางท่องเที่ยวหรือเดินทางไปทำกิจกรรมเรื่องต่าง ๆ ในสถานที่ ๆ แตกต่างกันไป ผมไปทั้งในที่ ๆ เจริญหรือเป็นแหล่งที่คนมีฐานะดีไปกันและไปในที่ ๆ คนชั้นกลางหรือคนจนไปกันหรือเป็นแหล่งของคนชั้นรากหญ้า ผมชอบไปต่างประเทศและก็เดินเล่นในที่ ๆ สุดหรูเช่นเดียวกับที่ ๆ เสื่อมโทรม การทำอย่างนั้น จริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าผมตั้งใจทำ ผมเพียงแต่เป็นคนที่สนใจชีวิตและโลกกว้าง ผมรู้สึกสนุกที่ได้ไปสัมผัสกับผู้คนที่หลากหลายและได้เห็นความเหมือนและความแตกต่างของพฤติกรรมที่น่าสนใจของคนที่มีความแตกต่างกันเช่นเดียวกับวัฒนธรรมของคนแต่ละถิ่น และนี่ก็คือมิติแรกของการลงทุนในแบบของผม ผมเชื่อว่าการที่เราได้รู้จักหรือสัมผัสกับ “โลกที่กว้าง” จะทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้นและจะสามารถวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้ถูกต้องมากกว่าการอยู่กับที่ในบริเวณแคบ ๆ
ถัดจากการลงทุนแบบเดินไปหรือท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ ก็คือ การลงทุนแบบ “Investment by watching around” นั่นคือ การลงทุนของผมนั้น มาจากการมองหรือสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวโดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นเป็นเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เราสามารถนำไปประกอบในการวิเคราะห์หุ้นหรือกิจการที่เราจะลงทุน ผมทำแบบนั้นจนเป็นนิสัยที่ติดตัว เวลาผมเดินเข้าห้าง ผมจะมองดูแทบทุกร้านที่ผมเดินผ่าน ผมดูว่าร้านไหนมีคนมากและร้านไหนเหงา ผมดูว่ามีสินค้าอะไรขายและมันเป็นอย่างนั้นมานานแล้วหรือมันเพิ่งมีมาไม่นาน ผมชอบดูคนที่เดินผ่านไปมา พวกเขามีหน้าตาท่าทางอย่างไร แต่งตัวอย่างไรและเดินเร็วไหม? เวลาผมไปบรรยายหรือไปสอนนักศึกษาในแต่ละแห่ง ผมก็มักจะสังเกตว่าผู้ฟังเป็นอย่างไร อายุเท่าไร เขาสนใจมากน้อยแค่ไหน ผมไม่ค่อยมองผ่าน ๆ แต่ผมมักจะตั้งใจมอง ผมคิดว่าการ “สังเกต” สิ่งต่าง ๆ นั้น จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบและหา “ผู้ชนะ” ได้ถูกต้อง และนี่ก็คือกระบวนการในการเลือกหุ้นที่สำคัญข้อหนึ่ง
วิธีการลงทุนของผมข้อต่อมาก็คือ “Investment by thinking around” นี่คือกระบวนการสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ผมมักจะทำตลอดเวลา นั่นก็คือ ผมเป็นคนที่คิดตลอดเวลา เวลาผมพบอะไรหรือสังเกตอะไรอยู่ผมก็จะคิดไปด้วย เวลาคิดผมจะคิดในแง่ของการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่ผมเห็นกับสิ่งที่เป็นแบบเดียวกันที่ผมเก็บไว้ในสมองที่ได้พบมาในอดีต เวลาผมเห็นว่าร้านอาหารแห่งหนึ่งมีคนรอคิวยาว ผมก็จะดูว่ามันเป็นอย่างนั้นแทบทุกวันหรือมันมีโปรโมชั่นพิเศษ สิ่งที่ผมคิดนั้นมักจะวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่ามันเป็นธุรกิจที่ดีไหม มันเป็นสถาบันที่ดีไหม มันเป็นผู้ชนะหรือไม่ และมันจะเติบโตขึ้นหรือไม่ในอนาคต แม้แต่เวลาที่ผมไม่ได้เดินดูอะไรหรือไม่ใช่เวลาที่ควรจะคิด เช่น เวลาที่ผมกำลังวิ่งออกกำลังประจำวันในสวนข้างบ้าน ผมก็มักจะคิดไปเรื่อย ๆ ทบทวนสิ่งที่ผมเห็นหรือคิดค้างอยู่ ผมรู้สึกว่าเวลาวิ่งเหยาะ ๆ นั้น เหมาะกับการคิดในแบบ “จินตนาการ” ได้ดีกว่าเวลานั่งอยู่กับที่ บางทีมันอาจจะเป็นเพราะเราอยู่ในที่กว้างที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่ามีขีดจำกัดในการคิดหรือทำอะไรต่าง ๆ
นอกจากการคิดแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำมากที่สุดหรือใช้เวลามากที่สุดอย่างหนึ่งในแต่ละวันก็คือการอ่าน ดังนั้น หลักสำคัญของวิธีการลงทุนของผมก็คือ “Investment by reading around” ความหมายในข้อนี้ก็คือ วิธีหาหุ้นลงทุนของผมนั้นมาจากการวิเคราะห์ที่ผมใช้ศาสตร์หรือความรู้ต่าง ๆ หลากหลายมาก และการที่จะมีความรู้แบบนั้นได้ก็หมายความว่าผมต้องอ่านหนังสือมากมายในหลาย ๆ สาขาวิชาไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องของเศรษฐศาสตร์ การเงิน การลงทุน หรือเรื่องของการบริหารธุรกิจเท่านั้น ว่าที่จริง เวลาที่ใช้อ่านหนังสือถ้าคิดเป็นเรื่องของวิชาการแล้ว ผมคิดว่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่าจะมากที่สุด ทั้งประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เหตุผลที่ผมชอบอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์นั้น เป็นเพราะมันช่วยเล่าเรื่องของ “วิวัฒนาการ” ของสิ่งต่าง ๆ และของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้ผมได้ “ภาพกว้าง” หรือ “ภาพใหญ่” ซึ่งจะช่วยบอกให้รู้ว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างไร ใครชนะ ใครแพ้ และอนาคตน่าจะมุ่งไปทางไหน และที่สำคัญที่สุด ใครจะเป็นผู้ชนะ? ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การลงทุนก็คือการที่เราต้อง “Reading around”
หลักการลงทุนข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงเพราะมันเป็นเรื่องสำคัญหรือหัวใจข้อหนึ่งในการลงทุนที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จก็คือ “Investment by staying around” หรือการลงทุนที่ลงทุนไปเรื่อย ๆ ไม่หนีออกจากตลาดในแง่ของพอร์ตความมั่งคั่งนั่นก็คือ ทรัพย์สินส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดของผมมักจะอยู่กับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตลอดเวลา เพราะผมคิดว่าตลาดหุ้นหรือการลงทุนในหุ้นของกิจการคือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในระยะยาว นี่เป็นข้อหนึ่ง ข้อที่สองในความหมายของการ Staying around ก็คือ ผมอยากลงทุนในหุ้นแต่ละตัวแบบถือยาว ไม่ต้องคิดขายในเวลาอันสั้น ผมคิดว่าปรัชญาการลงทุนที่ถูกต้องที่สุดก็คือ ถ้าบริษัทดีเด่นและสามารถทำกำไรและเติบโตไปได้เรื่อย ๆ บริษัทนั้นจะต้อง “รวย” และรวยขึ้นเรื่อย ๆ และเราในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของมัน เราก็จะต้องรวยตามกันไป ไม่มีทางเป็นอื่น ดังนั้น หน้าที่สำคัญของการหาหุ้นลงทุนก็คือ หาบริษัทที่ดีเยี่ยมและจะเติบโตในระยะยาว
ความหมายของการ Staying around ข้อที่สามของผมก็คือ หัวใจสำคัญของการลงทุนนั้นอยู่ที่ “ระยะเวลาของการลงทุน” ยิ่งเรามีเวลาลงทุนยาวนานเท่าไร เราก็จะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ทุกปีที่ผ่านไป หุ้นในพอร์ตของเราควรจะโตขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 10% ขึ้นไป ถ้าเรามีเวลาลงทุนถึง 7 ปี ความมั่งคั่งหรือเงินเราก็โตขึ้นไปไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าตัว ซึ่งผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก—ถ้าเราอายุยังน้อยและ/หรือมีสุขภาพดี และเรายึดมั่นอยู่กับการลงทุนในหุ้นตลอดเวลาแม้ในยามที่ทุกอย่างดู “น่ากลัว” สำหรับผมแล้ว การมีเวลาในการลงทุนมากนั้นถือว่าเป็น “พร” ที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่งของการลงทุน ดังนั้น เราจะต้องหาเวลาให้ได้มากที่สุดเพื่อที่ว่าเราจะได้อยู่ดูการเติบโตของพอร์ตของเรา โชคไม่ดีที่ผมอายุค่อนข้างมากแล้วเมื่อเริ่มการลงทุนอย่างจริงจัง สิ่งที่ผมยังพอจะทำได้ก็คือ พยายามรักษาสุขภาพให้ดีเพื่อที่จะทำให้อายุยืนขึ้น โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องทำงานหรือวิเคราะห์การลงทุนให้หนักหรือเครียดเพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนปีต่อปีแต่ทำให้อายุสั้นลง ความสำเร็จของการลงทุนของผมในยามนี้อยู่ที่ว่าจะสามารถอยู่ลงทุนต่อไปได้อีกกี่ปีมากกว่าเรื่องของผลตอบแทนปีต่อปี ถ้าจะพูดแบบ “ดรามา” หน่อยก็อาจจะบอกว่า เมื่อถึงวันหนึ่งที่เราอายุมากจน “ใกล้ตาย” การ “ลุ้น” ในเรื่องของผลตอบแทนหรือความมั่งคั่งของเราคงจะออกมาว่า ปีนี้จะยัง “Staying around” หรือยังอยู่ไหม? ถ้ายังรอดได้ โอกาสก็คือ เราก็จะรวยขึ้นไปอีก 10% ไม่ต้องไปคิดว่าจะทำได้ดีแค่ไหนเทียบกับตลาดหรือเทียบกับใคร ๆ