ฮอร์โมนกับการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

ฮอร์โมนกับการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

โลกในมุมมองของ Value Investor           27 กรกฎาคม 2556
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ฮอร์โมนกับการลงทุน

	ซีรี่ละครทางเคเบิลทีวีเรื่อง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” กำลังร้อนแรงเป็นที่กล่าวขวัญกันมากมาย  ก่อนหน้านี้ก็ในหมู่วัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายหลักของคนสร้าง  แต่ในขณะนี้สังคมทั่วไปก็ดูเหมือนกับเริ่มเข้ามาสนใจมากขึ้น  ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่ผู้แสดงนำวัยรุ่นคนหนึ่งมีข่าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลองใช้ยาเสพติดในชีวิตจริงที่คล้ายกับละครด้วย  เนื้อหาของละครเป็นเรื่องของชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่กำลังเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเป็นผู้ใหญ่  และในกระบวนการนั้น  พวกเขาจำนวนมากไม่รู้หรือไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ  ในชีวิต    การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นที่รุนแรงที่สุดนั้น  แน่นอน  ก็คือเรื่องของเพศที่เด็กหญิงกับเด็กชายจะเริ่มมีความแตกต่างกันมากทั้งในด้านของร่างกายและจิตใจ  ความแตกต่างนี้ในทางชีววิทยาเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของฮอร์โมนเพศซึ่งสำหรับผู้หญิงก็คือ  Estrogen  และสำหรับเพศชายก็คือ  Testosterone  แต่ว่าที่จริงฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้  ไม่ได้มีผลเฉพาะกับวัยรุ่นและความเป็นชายหรือหญิงเท่านั้น  มันยังมีผลต่อความคิด  พฤติกรรม และความสามารถของคนที่แตกต่างกันด้วย  มาดูกันว่า  ฮอร์โมนโดยเฉพาะ  เทสทอสเทอโรนที่มีมากในคนเพศชายมีผลอะไรกับการลงทุนกันบ้าง
	การศึกษาทางชีววิทยาสมัยใหม่นั้นพบว่าฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนหรือ  “ฮอร์โมนเพศชาย” นั้น  ทำให้ผู้ชายมักจะมีความสามารถและพฤติกรรมที่แตกต่างจากผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจนหรือ “ฮอร์โมนเพศหญิง” มากกว่า   หลัก ๆ  ก็คือ  ผู้ชายนั้นร่างกายถูก  “ออกแบบ” ผ่านระบบฮอร์โมนโดยเฉพาะเทสทอสเทอโรนให้มีความเหมาะสมกับการเป็น  “นักล่า”  ซึ่งจะต้องแข็งแรงกว่า กล้าเสี่ยงกว่า  และมีความสามารถในการคิดที่เป็นมิติสัมพันธ์เช่น  เรื่องของทิศทาง  ความเร็ว  แผนที่  การคำนวณต่าง ๆ  เพื่อที่จะสามารถเดินทางไปล่าสัตว์และนำอาหารกลับมาเลี้ยงลูกเมียได้  ส่วนผู้หญิงนั้น  ถูกออกแบบผ่านการมีฮอร์โมนเอสโทรเจนมากให้มีความเหมาะสมกับการเป็น  “ผู้เก็บสะสมและดูแลลูก”  ซึ่งจะต้องมีความอ่อนโยน  ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง  เข้าใจและสามารถอ่านความรู้สึกของคนอื่นว่าต้องการอะไรมากกว่าผู้ชาย  ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสามารถดูแลเลี้ยงดูลูกที่ยังเล็กให้อยู่รอดจากภยันตรายต่าง ๆ  
	หลักฐานที่แสดงว่าความแตกต่างที่กล่าวข้างต้นเป็นจริงนั้นมีให้เห็นเต็มไปหมด  ดูกันง่าย ๆ  ก็อย่างเรื่องของการขับรถหรือการทำงานทางด้านของช่างหรือการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ  ที่ต้องอาศัยความแม่นยำนั้น   ผู้ชายจะมีความสามารถสูงกว่าผู้หญิงมาก  แต่ที่จะเกี่ยวข้องกับการลงทุนนั้นผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการคำนวณซึ่งผู้ชายมักจะทำได้ดีกว่าผู้หญิงโดยเฉพาะที่ขยันเรียนเท่ากัน   สถิติของการแข่งขันคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์โอลิมปิกนั้นผมเชื่อว่าเด็กนักเรียนชายนั้นน่าจะได้เหรียญทองมากกว่านักเรียนหญิงมาก   และนี่นำมาสู่ประเด็นว่าผู้ชายมีความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นโดยเฉพาะทางด้านเชิงปริมาณสูงกว่าผู้หญิง  และนี่ก็ทำให้ Value Investment ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ตัวเลขค่อนข้างมากนั้น  เป็นสิ่งที่อยู่ในแวดวงของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงมาก
	การ “กล้าเสี่ยง” ของผู้ชายที่มีฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนมากนั้น  ทำให้ผู้ชายกล้าที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงในขณะที่ผู้หญิงมักจะ Conservative หรืออนุรักษ์นิยมกว่าจึงมักจะไม่กล้าที่จะลงทุนซื้อขายหุ้นมากนัก   หรือถ้าเข้ามาในตลาดหุ้นแล้วก็มักจะไม่กล้าเสี่ยงซื้อหุ้นในปริมาณที่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งทั้งหมด  ในทางตรงกันข้าม  ผู้ชายบางคนที่มีเทสทอสเทอโรนสูงกว่าปกติก็อาจจะกล้ารับความเสี่ยงอย่างมากโดยการซื้อขายหุ้นน้อยตัวและอาจจะใช้มาร์จินมาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างเต็มที่  และนี่อาจจะทำให้ผู้ชายในกลุ่มนี้บางคนสามารถสร้างผลตอบแทนมหาศาลสุดยอดแต่บางคนก็อาจจะขาดทุนจนล้มละลายได้เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือสถานการณ์ตลาดไม่เอื้ออำนวย  ความเชื่อของผมก็คือ  โดยเฉลี่ยแล้ว  ความกล้าเสี่ยงมากกว่าไม่ได้ทำให้ผู้ชายชนะในการลงทุนเมื่อเทียบกับผู้หญิง
	สัญชาติญาณของ  “นักล่า”  ของคนที่มีฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนมากนั้น  ทำให้ผู้ชายน่าจะชอบเทรดหรือซื้อขายหุ้นมากกว่า  ในขณะที่การเป็นนักเก็บรวบรวมสะสมของผู้หญิงนั้น  น่าจะทำให้ผู้หญิงมีปฏิกริยาหรือซื้อขายหุ้นน้อยกว่าผู้ชาย  พูดง่าย ๆ  ผู้หญิงน่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาวที่สร้างผลตอบแทนจากการถือหุ้นหรือธุรกิจที่โตไปเรื่อย ๆ  มากกว่าผู้ชายที่พร้อมที่จะ  “กิน”  นักลงทุนคนอื่นโดยการซื้อหรือขายหุ้นเปลี่ยนตัวหุ้นไปมากกว่าผู้หญิง
	การถูกออกแบบตามธรรมชาติให้เป็น  “ผู้หาอาหาร”  ของผู้ชาย  ในขณะที่เป็น  “คนดูแลบ้านและลูก” ของผู้หญิงนั้น  ทำให้การ  “ลงทุนในหุ้น”  ซึ่งเป็นลักษณะของ   “การหาอาหารยุคใหม่”  เป็นเรื่องของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงโดยเฉพาะที่เป็นการลงทุนแบบ  “เพื่อชีวิต”  ที่นักลงทุนทุ่มเททั้งเรื่องของเงิน  เวลา  และชีวิตจิตใจให้กับการลงทุน  จากการสังเกตของผมแล้ว  VI  ผู้มุ่งมั่นในเมืองไทยนั้น  ร้อยละ 90 ยังเป็นผู้ชาย  พูดถึงนักลงทุนรุ่นหนุ่มสาวที่กำลังสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเองนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็ยังเป็นหนุ่มมากกว่าสาวค่อนข้างมาก  ผมเองคิดว่าหน้าที่  “ผู้หาอาหาร”กับ “คนดูแลบ้านและลูก” ในสมัยนี้อาจจะอิงอยู่กับเรื่องเพศน้อยลงไปมากแล้ว  แต่เรื่องของการลงทุนในหุ้นเองนั้น  มันคงอิงอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของการ  “หาอาหาร”  เพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องของ  “ความเสี่ยง”  และ  “ความเข้าใจในด้านของตัวเลข” ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะเป็นเรื่องของความถนัดของผู้ชายและเป็นจุดอ่อนของผู้หญิง  ดังนั้น  ผู้หญิงในยุคนี้จึงคงยังไม่สบายใจนักที่จะทำในขณะที่พวกหล่อนต่างก็พร้อมกันออกไป  “หาอาหาร”  โดยการทำงานประจำในธุรกิจต่าง ๆ  ไม่น้อยกว่าผู้ชายไปแล้ว
	ฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนนั้น  นิยามของมันอีกอย่างหนึ่งก็คือ  “ฮอร์โมนของผู้ชนะ”  นั่นคือ  ถ้าคุณอยากชนะหรือคนที่จะชนะนั้นคุณจะต้องมีฮอร์โมนตัวนี้ให้มาก  เพราะมันเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้คนอยากแข่งขันชิงดีชิงเด่น  ธรรมชาติสร้างผลกระทบนี้ขึ้นมาเพื่อดึงดูดเพศหญิงให้ชอบหรือมองหาผู้ชายที่จะเป็นผู้ชนะซึ่งจะเป็นพ่อที่ดีของลูกและเป็นผู้นำครอบครัว  ดังนั้น  นักลงทุนผู้ชายจึงมักจะเป็นนักลงทุนที่  Aggressive หรือกล้าได้กล้าเสียกว่าผู้หญิง  สิ่งนี้ผมไม่ได้คิดว่าดีหรือไม่ดี  เพราะการกล้ามากเกินไปก็อาจจะทำให้ผิดพลาดร้ายแรงได้   อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนที่ระมัดระวังมากนั้น  แม้ว่าโอกาสเสียหายร้ายแรงจะน้อย   แต่โอกาสที่จะโดดเด่นก็ยากเช่นเดียวกัน  ดังนั้น  เราจึงแทบไม่เคยได้ยินเซียนหุ้นระดับโลกที่เป็นผู้หญิงเลย  ครั้งหนึ่งเคยมีข่าวว่ามีชมรมนักลงทุนในสหรัฐที่เป็นผู้หญิงล้วนกลุ่มหนึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมได้และมีการเขียนหนังสือการลงทุนที่มีชื่อเสียงออกมาชื่อ The Beardstown Ladies Common-Sense Investment Guide   แต่หลังจากนั้นก็พบว่าข้อมูลผลตอบแทนที่ใช้อ้างนั้นผิดพลาดและการลงทุนไม่ได้ดีอย่างที่อ้าง    นอกจากนั้น  ถ้าเราดูกันที่ประวัติหรือสถิติของเซียนหุ้นระดับโลกอย่างเช่นที่มีการเขียนเป็นหนังสือออกมาอยู่เรื่อย ๆ  ก็จะพบว่ามีเซียนหุ้นที่เป็นผู้หญิงน้อยมาก ๆ  หรือแทบไม่มีเลย
	“ฮอร์โมนของการลงทุน” นั้น  หรือที่จริงก็คือฮอร์โมนที่มีผลต่อความคิด  ความสามารถ  หรือพฤติกรรมของคน  ยังมีอยู่มากมาย  ตัวอย่างเช่น  ฮอร์โมน  Adrenaline ที่ทำให้คน  “ตอบสนองต่ออันตราย”  อย่างทันท่วงทีเพื่อให้มนุษย์เอาตัวรอดได้ในยามคับขัน  ก็เป็นสิ่งที่น่าจะมีผลต่อการลงทุนไม่น้อย  เพราะนี่ก็คือสิ่งที่ทำให้นักลงทุนขายหุ้นเวลามีข่าวที่  “น่าสะพรึงกลัว”  ทั้งที่มันอาจจะไม่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการ  ซึ่งทำให้เราเสียประโยชน์ไปมาก  ดังนั้น  เพื่อที่จะทำให้ฮอร์โมนเป็นมิตรกับเรา  สิ่งที่ต้องทำก็คือ  เราต้องรู้และเข้าใจมันและต้องควบคุมมันด้วยเหตุผลที่มีการไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุน
[/size]
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: ฮอร์โมนกับการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ
harikung
Verified User
โพสต์: 2232
ผู้ติดตาม: 0

Re: ฮอร์โมนกับการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ดร.นี่อินเทรนด์สุดๆไปเลย
ขอบคุณสำหรับบทความครับ
the_matrix
Verified User
โพสต์: 155
ผู้ติดตาม: 0

Re: ฮอร์โมนกับการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

เราต้องรู้และเข้าใจมันและต้องควบคุมมันด้วยเหตุผลที่มีการไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุน

ขอบคุณอาจารย์มากครับ
uthai61221
Verified User
โพสต์: 4
ผู้ติดตาม: 0

Re: ฮอร์โมนกับการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณครับ
PLUSLOVE
Verified User
โพสต์: 1474
ผู้ติดตาม: 0

Re: ฮอร์โมนกับการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์อินเทรนด์มากๆครับ

เป็นอีกมุมมอง ที่มองรอบๆแล้วสามารถนำกลับมาเป็นแง่คิดในการลงทุนในหุ้นครับ
โพสต์โพสต์