โค้ด: เลือกทั้งหมด
สมัยเรายังเด็ก เราจะต้องเรียนถึงระบบนิเวศวิทยา (Ecosystem) ที่พูดถึงห่วงโซ่อาหาร พูดถึงวงจรของสิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบหลากหลายและทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่นผู้ผลิต ซึ่งสามารถผลิตอาหารขึ้นมาได้เอง อย่างเช่นพืชที่สังเคราะห์แสง มีผู้บริโภคหลาย ๆ ลำดับขั้น ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ ที่กินพืชเป็นอาหาร จนกระทั่งสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อล่าผู้อื่น รวมไปถึงผู้ย่อยสลายซึ่งทำหน้าที่ย่อยสิ่งมีชีวิตเพื่อกลับไปเป็นอาหารของผู้ผลิตอีก รูปแบบของสิ่งมีชีวิตก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละสภาพแวดล้อม เรียกได้ว่าระบบนิเวศทางธรรมชาติคือวงจรความเป็น ความตาย และสมดุลการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในสภาพแวดล้อมหนึ่ง ๆ นั่นเอง
สำหรับในวงการธุรกิจ ตั้งแต่ปี 1990 เริ่มมีการศึกษาถึงระบบนิเวศทางธุรกิจโดยเจมส์ มัวร์ โปรเฟสเซอร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งหมายถึงศึกษาการเชื่อมโยงกันของห่วงโซ่ทางคุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจแต่ละหน่วยในระบบนิเวศธุรกิจนั้น ๆ ที่มีรูปแบบจำลองและคล้ายคลึงกับระบบนิเวศทางธรรมชาติมาก
การวิจัยพบว่าธุรกิจที่ล้มเหลวนั้น โดยมากมักจะพยายามแต่เพียงการเพิ่มประสิทธิภาพให้สินค้าและบริการสามารถตอบสนองลูกค้าได้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ในขณะเดียวกันธุรกิจกลับไม่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอก การมองภาพใหญ่ที่ผิดพลาดทำให้เกิดความล้มเหลวในการจัดการ เราจะเห็นภาพธุรกิจดี ๆ จำนวนมาก ที่ไม่ได้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ และล้มหายตายจากไป บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ขาดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ได้หยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเอง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ บริษัทที่มีคุณลักษณะเหมาะเท่านั้นที่จะอยู่รอด และเจริญเติบโตได้ดีบริษัทที่ปรับตัวไม่ทัน ก็ต้องล้มหายไปในที่สุด
ผมขอเล่าประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตให้เห็นว่าในอดีต สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่อย่างไดโนเสาร์ครองโลกมาเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี ก่อนสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยน และเกื้อหนุนให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กลงใช้ทรัพยากรอาหารเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ฟูมฟัก ดูแล ลูกอ่อน อย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขึ้นมาแทนที่ แสดงให้เห็นภาพว่า “ขนาด” และ “ความสามารถในการล่า” ไม่ใช่สิ่งที่เป็นส่วนสำคัญ ในมุมธุรกิจแล้ว บริษัทอย่าง 3M ซึ่งชื่อเต็มคือ Minnesota Mining and Manufacturing Companyที่เดิมทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการผลิต เหมือง แต่สามารถผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่องจาก “รากฐานเดิม”ด้วยผู้บริหารและทีมวิจัยที่ยอดเยี่ยม ผลิตผลอย่าง Scotch Tape, Post-It ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับภาพรวมของระบบนิเวศใหม่มาก นั่นคือการเจริญเติบโตของวงการธุรกิจ และการจัดการเอกสารในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งช่วยให้บริษัทที่มีกายภาพเหมาะสมกับระบบนิเวศนี้ เติบโตจากบริษัทเล็ก ๆ ในมินเนโซต้า เป็นบริษัทชั้นนำใน S&P500
ในมุมกลับกันระบบนิเวศทางธุรกิจ หรือBusiness Ecosystem ดี ๆ ที่มีอยู่ ก็เอื้อให้เกิดบริษัทใหม่ ๆ จำนวนมากได้เช่นกัน ที่เห็นเด่นชัดคือ Silicon Valley ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่ฟูมฟักเลี้ยงดูตัวอ่อน ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่IT เช่น Apple, Google, eBay, Nvidia, Adobe, Yahoo! ผลักดันให้อุตสาหกรรม Information Technology เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอเมริกา
ในทางทฤษฎี ถ้าจะมององค์ประกอบของระบบนิเวศทางธุรกิจดี ๆ มักจะประกอบด้วย 1. ความหลากหลายที่เกื้อหนุนกัน 2. ความซับซ้อนที่ช่วยให้การขาดองค์ประกอบหนึ่ง ไม่ทำให้ส่วนที่เหลือมีปัญหา 3. ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรที่เกื้อหนุนระบบนิเวศนั้น ๆ 4. การแข่งขันที่ช่วยพัฒนาวิวัฒนาการของธุรกิจ ซึ่งถ้าคิดถึงกรณีอย่าง Silicon Valley จะพบว่า การที่ใกล้ชิดกับเมืองมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Stanford และการมี Venture Capital ก็ช่วยให้เกิดความสมบูรณ์ทางทรัพยากรทั้งทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรทุน ความหลากหลายของผู้คนมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และประเทศอเมริกา จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ ความซับซ้อนของการเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น Hardware, Software, Internet การยอมรับของผู้คนและผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้ Ecosystem นี้แข็งแรง และยากที่จะหาที่ใดในโลกเลียนแบบได้
กลับมาที่ประเทศไทย ผมทิ้งท้ายว่า หลายอุตสาหกรรมเราเริ่มสร้าง Cluster เริ่มมี Value Chain และกำลังก้าวไปสู่ Ecosystem ที่แข็งแรง ยิ่งมีการเชื่อมโยงกับ AEC จะช่วยสร้างความสมบูรณ์และซับซ้อนยิ่งขึ้น หน้าที่นักลงทุนคือหา “Ecosystem ที่สุดยอด” และหา “บริษัท” ที่เหมาะกับ Ecosystem เหล่านี้ เพราะการลงทุนนั้นจะเปลี่ยนชีวิตคุณได้ครับ