โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 25 พฤษภาคม 56
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โรงเรียนสอนเปียโน
ภรรยาผมเป็นครูสอนเปียโนและก็ยึดอาชีพนี้มาตลอดตั้งเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ นับถึงวันนี้ก็ประมาณ 30 ปีแล้ว ดังนั้นผมจึงรู้อะไรเกี่ยวกับการเรียนการสอนเปียโนอยู่บ้างแม้ว่าโดยส่วนตัวจะไม่มีความสามารถทางด้านดนตรีเลยไม่ว่าจะเป็นเปียโนหรือดนตรีอย่างอื่น เหตุผลที่ผมไม่มีความสามารถหรือความรู้เกี่ยวกับดนตรีเลยส่วนหนึ่งก็คือ ในช่วงวัยเด็กฐานะทางบ้านผมจนมากทำให้เราไม่สามารถที่จะซื้อเครื่องดนตรีไม่ว่าชนิดไหนมาเล่นได้ ดนตรีในสมัยนั้นยังถือว่าเป็น “สิ่งฟุ่มเฟือย” และเปียโนนั้นเป็น “ราชา” ของดนตรีที่หรูหราและฟุ่มเฟือยที่สุด เพราะเครื่องเปียโนมีราคาแพงมาก นอกจากนั้น การเล่นเปียโนให้เป็นและเก่งนั้นต้องอาศัยการเรียนและการฝึกฝนอย่างหนักและนานมากแถมค่าเรียนก็แพงกว่าการเรียนดนตรีอย่างอื่น
ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาและเป็นช่วงที่ลูกผมยังเล็กอยู่นั้น ผมจำได้ว่าเป็นช่วงที่การเรียนเปียโนเริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะลูกของคนยุค “เบบี้บูม” ที่เป็นคน “เจน Y” เริ่มเกิด พ่อแม่ของเด็กยุคนี้เริ่มจะมีฐานะดีขึ้นเนื่องจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย พวกเขามีลูกน้อยและอยาก “สร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ” หรือทำให้ลูกมีความสามารถและมีความ “สุนทรี” กับ “ศิลปะ” และพวกเขามีความเชื่อว่าดนตรีนั้นมีอิทธิพลอย่างสูงต่อพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น การให้ลูกเรียนเปียโนจึงเป็นสิ่งที่คนทำกันมาก บ้านไหนของคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูงที่ลูกสาวไม่เรียนเปียโนนั้น บางทีอาจจะถูกมองว่าเชยหรือไม่ค่อยทันสมัยไปเลย และนั่นคือยุค “บูม” ของการเรียนการสอนเปียโน โรงเรียนสอนดนตรีที่มีเปียโนเป็นคลาสใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นมาก ครูเปียโนมีงานสอนเต็มเวลาไม่ต้องง้อโรงเรียนหรือนักเรียนเลย
เวลาผ่านไปจนถึงช่วงเร็ว ๆ นี้ สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก วัฒนธรรม “ป็อบ” เข้ามาแทนที่วัฒนธรรม “รุ่นเก่า” คน “รุ่นใหม่” ต้องการ “ย่นระยะเวลาแห่งความสำเร็จ” ในชีวิตให้เหลือสั้นที่สุด ดังนั้นอะไรที่ทำได้เร็วใช้เวลาน้อยจึงเข้ามาแทนที่สิ่งที่ต้องใช้เวลามาก คนรุ่นใหม่ไม่สามารถรอหรือต้องทุ่มเทความพยายามมากเกินไปในการที่จะ “ประสบความสำเร็จในชีวิต” ดังนั้น การเรียนเปียโนจึงค่อย ๆ จางหายไปในแวดวงคนรุ่นใหม่ และนี่ก็อาจจะรวมไปถึงกิจกรรมทางศิลปะที่ต้องใช้เวลามากในการฝึกฝนเช่น การเต้นบัลเล่ต์ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
เด็กรุ่นใหม่เขาไปเรียนอะไรกัน? ผมเองก็ไม่ทราบรายละเอียดมากนักแต่สิ่งหนึ่งที่ภรรยาผมบอกก็คือ พวกเขาไปเรียนการร้องเพลงสมัยใหม่แบบที่ผู้เข้าแข่งขันประกวดแนว AF หรือ อะแคเดมี อะวอร์ด ทำกัน บางคนก็ไปเรียนการแสดงเผื่อว่าจะได้มีโอกาสเข้าไปแข่งขันหรือเข้าวงการบันเทิงในอนาคต ดนตรีเองก็อาจเน้นไปในเครื่องดนตรีที่สอดคล้องกับดนตรีสมัยใหม่ที่สามารถโชว์ได้เช่นกีตาร์หรือกลองเป็นต้น ส่วนเปียโนนั้น ดูเหมือนว่านักเรียนจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ และโรงเรียนเองก็อาจจะไม่ทำกำไรอย่างที่เคยและอาจจะต้องลดขนาดลงเนื่องจากค่าเช่าพื้นที่ในห้างที่มีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี มองไปแล้วนี่คืออุตสาหกรรมที่กำลังค่อย ๆ ตกต่ำลงอย่างไม่หวนกลับ
ผมถามต่อว่าแล้วใครหรือกิจการอะไรจะมาแทนที่โรงเรียน คำตอบก็คือ น่าจะเป็น “ร้านเสริมความงาม” ซึ่งเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเดี๋ยวนี้คนไปเสริมเติมแต่งร่างกายให้สวยงามขึ้นมาก ถ้าอยู่ในแวดวงบันเทิงแล้วแทบจะทุกคนต้องทำ คนธรรมดาเดี๋ยวนี้ก็ทำกันมากเพราะรู้สึกว่าทำแล้ว “เห็นผลทันที” คนไม่รู้สึกว่าการทำศัลยกรรมหรือเติมสารต่าง ๆ เข้าไปในร่างกายเป็นความเสี่ยงอะไรมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับความสวยงามที่จะได้รับแถมราคาก็สมเหตุผล สถานเสริมความงามนั้นสามารถที่จะจ่ายค่าเช่าที่แพง ๆ ได้ในขณะที่โรงเรียนสอบเปียโนนั้นรับไม่ไหว เหตุผลหลักก็คือ ธุรกิจเสริมความงามนั้นกำลังเป็นธุรกิจที่เติบโตมีคนเข้าเต็มร้านในขณะที่โรงเรียนสอนเปียโนนั้นเป็นธุรกิจที่กำลังตกต่ำนักเรียนน้อยลงเรื่อย ๆ
ผมนึกต่อไปถึงเรื่องของโรงเรียนสอนหนังสือสายสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษา แล้วก็ทำให้ผมเข้าใจว่าทำไม “โรงเรียนติว” จึงเจริญรุ่งเรืองและอยู่ได้มายาวนานมากแถมทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ เหตุผลก็คือ พวกเขาสอนเร็ว มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ดีขึ้นทำคะแนนได้สูงขึ้นและสามารถสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ตรงกับความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอะไรที่เร็วและได้ผลทันที เขาไม่ต้องการอะไรที่อาจจะหนักแน่นและอาจจะมีประโยชน์มากกว่าหรือดีกว่าในอนาคตที่ยังมองไม่เห็น การประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อยของ “ไอดอล” ที่พวกเขาเห็นจากสื่อสมัยใหม่ที่เปิดกว้างนั้น ทำให้พวกเขาต่างก็ต้องการที่จะเดินทาง “สายตรง” พวกเขาคิดว่าการ “สร้างฐาน” ที่หนักแน่นนั้นอาจจะเสียเวลาเกินไป
ที่เขียนมาซะยืดยาวนั้นหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่ามันเกี่ยวอะไรกับการลงทุน คำตอบของผมก็คือ ผมกำลังจะอธิบายว่านี่คือการวิเคราะห์หุ้นหรือกิจการที่กำลังค่อย ๆ ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มันกำลังตกต่ำลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยและในที่สุดธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ในลักษณะแบบนี้โอกาสที่กิจการจะฟื้นตัวกลับมาอาจจะยากไม่เหมือนอุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรที่ในที่สุดธุรกิจก็จะกลับมาดีได้อีก
ถ้าลองมาดูธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเร็ว ๆ นี้ ก็จะพบว่ามีธุรกิจหลายอย่างประสบกับปัญหายอดขายไม่เพิ่มและกำไรตกลงมาอย่างน่าใจหายทั้ง ๆ ที่เคยเป็นกิจการที่รายได้เติบโตโดดเด่นรวมถึงกำไรที่โตต่อเนื่องเป็นหุ้นที่เป็นขวัญใจของนักลงทุนแบบ VI แต่ในขณะนี้ต้องเผชิญกับคำถามสำคัญที่ว่าธุรกิจนั้นกำลังตกอยู่ในสภาวะที่จะตกต่ำลงยาวนานจนยากที่จะฟื้นตัวกลับมาหรือไม่ ตัวอย่างก็เช่น ธุรกิจขายเครื่องและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ไม่อิงอยู่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงอย่างอื่นเลยที่กำลังถูกแย่งชิงจากผู้ขายสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตรวมถึงจากผู้ผลิตและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเองที่มาเปิดร้านแข่ง อีกธุรกิจหนึ่งก็คือ ธุรกิจร้านขายหนังสือที่เป็นเล่มมีหน้าร้านขนาดใหญ่ที่กำลังถูกแย่งลูกค้าโดยสื่ออิเล็คโทรนิกส์อื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงและขายถูกกว่าทำให้คนอ่านหนังสือเล่มน้อยลงไปเรื่อย ๆ หรือธุรกิจผลิตและขายถ่านหินที่กำลังถูกคุกคามจากก๊าซธรรมชาติและแหล่งพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่สะอาดและบางทีราคาก็ถูกกว่าทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินไม่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับราคาที่อาจจะไม่ปรับตามราคาพลังงานอย่างอื่นเท่ากับที่เคยเป็นมา ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธุรกิจนี้ตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน
เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าธุรกิจไหนที่เราสงสัยจะกลายเป็นธุรกิจตะวันตกดินแน่นอนในช่วงต้น ๆ ของยอดขายและกำไรที่ตกต่ำลง ส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้ชัดเจนก็ต่อเมื่อเวลามันผ่านไปยาวนานและยอดขายและกำไรมันลดลงไปมากจนกิจการแทบจะไปไม่ไหวแล้ว ซึ่งถ้าถึงวันนั้น ราคาหุ้นก็อาจจะตกไปมากจนทำให้การลงทุนกลายเป็นหายนะ หน้าที่ของเราในฐานะนักลงทุนก็คือ เราต้อง “รู้สึกตัว” ให้เร็วที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรม? มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือที่ทำให้ยอดขายและผลประกอบการออกมาไม่เป็นไปตามคาด? การได้ “สัมผัส” กับธุรกิจโดยตรงจะช่วยเราได้มาก