โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 27 เม.ย. 56
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
หุ้นที่(จะ)ใหญ่ที่สุดในตลาด
งานอดิเรกอย่างหนึ่งของผมก็คือ ดูว่าบริษัทไหนในตลาดหุ้นของแต่ละประเทศมี Market Cap. หรือมีมูลค่าตลาดของหุ้นใหญ่ที่สุด และหลาย ๆ ครั้งก็ดูบริษัทที่ใหญ่รอง ๆ ลงมา นอกจากนั้น ผมก็ชอบที่จะดูว่าในอดีตนั้น บริษัทไหนเคยเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดหรือใหญ่มาก ๆ และเดี๋ยวนี้พวกเขายังใหญ่อยู่ไหม เพราะข้อมูลนี้จะช่วยบอกถึง “วิวัฒนาการ” ทางเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนหรือหุ้นว่าจะไปทางไหน ถ้าจะพูดให้ตรงประเด็นก็คือ ในอนาคตบริษัทไหนจะมีโอกาสเติบโตจนกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดหรือใหญ่มากในตลาดหลักทรัพย์ และถ้าเรารู้ เราก็สามารถลงทุนซื้อและถือหุ้นตัวนั้นในระยะยาวได้ ลองเริ่มต้นจากตลาดสหรัฐซึ่งมีข้อมูลยาวนานและหาได้ง่ายดู
ในปัจจุบันหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาดสหรัฐนั้นก็คือ หุ้นของแอปเปิลคอมพิวเตอร์และหุ้นของบริษัทเอ็กซอนที่ผลิตน้ำมันที่สลับกันเป็นหมายเลขหนึ่ง เอ็กซอนนั้นจริง ๆ แล้วก็เคยเป็นหมายเลขหนึ่งมานานแล้ว น่าจะหลายสิบปีมาแล้วและก็คงจะเป็นบริษัทหมายเลขหนึ่งในหลาย ๆ ครั้งที่ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นไปสูงหรือมีวิกฤติน้ำมันที่ทำให้บริษัทมีกำไรสูงมากและทำให้มูลค่าหุ้นสูงลิ่ว ประเด็นก็คือ พลังงานนั้นเป็นสิ่งที่คนทุกคนต้องบริโภคและมีการใช้จ่ายค่อนข้างมากมาตลอดน่าจะตั้งแต่เกือบร้อยปีก่อนที่เริ่มมีการใช้รถยนต์ ดังนั้น ยอดขายของบริษัทน้ำมันจึงมีมูลค่าสูงมากตลอดมา นอกจากนั้น บริษัทที่จะผลิตน้ำมันเองก็ต้องมีขนาดใหญ่มากส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทน้ำมันมีขนาดสูงลิ่วมาตลอด ผลก็คือ บริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างเอ็กซอนจึงติดอันดับหนึ่งมาบ่อยครั้งและผมเชื่อว่ามากกว่าทุกบริษัท
เมื่อโลกเปลี่ยนไป คนอเมริกันร่ำรวยขึ้นมาก พวกเขาเริ่มใช้จ่ายกับสินค้าไฮเท็คมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะที่เป็นผลิตภัณฑ์เคลื่อนที่ได้อย่างไอโฟนและไอแพด หุ้นของแอปเปิลที่เป็นหมายเลขหนึ่งของอุตสาหกรรมจึงกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกันและโลกได้ในช่วงเร็ว ๆ นี้แม้ว่าเมื่อประมาณซักสิบกว่าปีที่ผ่านมามันยังเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ บริษัทหนึ่งในตลาดหุ้น
ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ของหุ้นหมายเลขหนึ่งย้อนหลังไปไกล ๆ เราก็จะพบว่าหุ้นที่เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นอเมริกานั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัยของเศรษฐกิจ เมื่อสมัยที่คนอเมริกันเริ่ม “ขับรถยนต์” กันทั้งประเทศ หุ้นของเจนเนอรัลมอเตอร์หรือ GM ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของอเมริกาน่าจะเคยเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด แต่หลังจาก “ยุคทอง” ของรถยนต์ผ่านไปเนื่องจากการแข่งขันจากรถยนต์ต่างประเทศ หุ้น GM ก็ไม่เคยกลับมายิ่งใหญ่อีกเลย
ยุคที่คนอเมริกันหันมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในบ้านกันทุกบ้าน หุ้นเจนเนอรัลอีเล็กทริกหรือ GE ก็น่าที่จะเคยเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาด การใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นอิ่มตัวไปนานแล้ว GE เองก็ตกอันดับไปนานแล้วแต่ปัจจุบันก็ยังคงใหญ่มาก แต่นี่เป็นเพราะ GE ได้หันไปทำกิจการอย่างอื่นที่ยังทำรายได้มากและยังมีคนจ่ายเงินซื้อบริการมากพอสมควรเช่น การทำเครื่องยนต์ของเครื่องบินและการทำธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่ทีเดียว อย่างไรก็ตาม โอกาสกลับมาเป็นที่หนึ่งนั้นน่าจะหมดไปแล้ว
เมื่อเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ แน่นอน IBM ซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งนั้นก็น่าจะเคยเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด เพราะแทบทุกธุรกิจก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่ต่อมาเมื่อคอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งที่คนธรรมดาทุกคนต้องใช้ และการใช้นั้นต้องอาศัยซอฟท์แวร์ หุ้นของไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งที่โดดเด่นครอบงำธุรกิจนี้จึงกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าที่มากที่สุดในตลาดและในโลกทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปีบริษัทยังทำงานกันใน “โรงรถ”
ย้อนหลังไปซัก 15-20 ปีที่ผ่านมา วอลมาร์ทซึ่งสามารถเอาชนะคู่แข่งที่เหนือกว่าในด้านของการค้าปลีกสมัยใหม่และเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยอาศัยกลยุทธการ “ขายถูกทุกวัน” จนสามารถสร้างเครือข่ายที่มียอดขายมโหฬารสูงที่สุดในโลกและมากกว่าบริษัทน้ำมันที่มียอดขายสูงมากตลอดมา ก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุด แม้ว่าปัจจุบันมันตกอันดับไปแล้ว แต่มูลค่าตลาดของวอลมาร์ทก็น่าจะยังสูงต่อไปเนื่องจากมูลค่าธุรกิจของโมเดิร์นเทรดเองนั้นก็จะยังสูงต่อไปตราบที่เศรษฐกิจยังขยายตัวเพราะทุกคนยังต้องกินต้องใช้ทุกวันและรูปแบบธุรกิจอื่นก็ยังไม่สามารถมาทดแทนได้
สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์นั้น ถ้ามองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ก็จะพบว่ามันเป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่มากและมีมูลค่าตลาดสูงมากและเป็นอันดับหนึ่งมาเป็นครั้งเป็นคราวแม้ว่าในระยะหลังโอกาสที่จะเป็นอันดับหนึ่งอีกคงจะน้อยลงไปมากแล้ว เหตุผลก็ชัดเจนว่าคนมีเงินและต้องฝากธนาคารรวมถึงต้องมาใช้บริการของธนาคารพาณิชย์นั้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเจริญทางเศรษฐกิจที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินนั้นเป็นกิจการที่อันดับหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งไม่ได้หมายความว่ามันจะรักษาอันดับของตนเองไว้ได้โดยเฉพาะเวลาที่เกิดวิกฤติขึ้น ดังนั้น เราก็จะเห็นว่าช่วงเวลาหนึ่งซิตี้แบงค์อาจจะเป็น “ราชันย์” ต่อมาเราอาจจะเห็นแบงค์ออฟอเมริกาที่ยิ่งใหญ่
กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย ผมลองนึกดูอย่างคร่าว ๆ แล้วก็คิดว่าในช่วงแรก ๆ ของการเปิดตลาดหลักทรัพย์ กิจการที่น่าจะมีมูลค่าตลาดสูงสุดน่าจะเป็นแบงค์อันดับหนึ่งของประเทศซึ่งก็คือธนาคารกรุงเทพในยุคนั้น หุ้นแบงค์ยังน่าจะเคยใหญ่ที่สุดในตลาดมาเป็นครั้งเป็นคราวจนมาถึงยุคหลังที่ประเทศเจริญขึ้นและคนหันมาบริโภคสิ่งอื่น ๆ โดยเฉพาะพลังงานมากขึ้นทำให้หุ้นของแบงค์ตกอันดับไปและอาจจะไม่มีโอกาสกลับมาใหญ่ที่สุดอีก อย่างไรก็ตาม กลุ่มแบงค์ก็น่าจะเป็นกิจการที่ใหญ่มากไปอีกนานเหมือนอย่างในตลาดหุ้นสหรัฐ
เมื่อประเทศเข้าสูโหมดการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการสร้างสาธารณูปโภคและการสร้างที่อยู่อาศัยมากมาย หุ้นที่เกี่ยวกับการก่อสร้างก็ย่อมมีโอกาสที่จะกลายเป็นหุ้นอันดับหนึ่ง ดังนั้น หุ้นของปูนใหญ่ซึ่งมีขนาดใหญ่ครอบงำอุตสาหกรรม จึงน่าจะเคยเป็นหุ้นที่มีมูลค่าอันดับหนึ่งของประเทศในช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจไทยก้าวมาสู่ระดับที่ใกล้จะเป็นเศรษฐกิจที่ “พัฒนาแล้ว” การใช้จ่ายทางด้านของการก่อสร้างก็น่าจะลดลงเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายอย่างอื่น ดังนั้น โอกาสที่ธุรกิจในกลุ่มก่อสร้างจะกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดอีกก็น่าจะยาก
ธุรกิจพลังงานของไทยนั้น เริ่มกลายเป็นบริษัทอันดับหนึ่งมาหลายปีแล้วโดยบริษัทปตท. ซึ่งครอบงำธุรกิจนี้สามารถรักษามูลค่าหุ้นเป็นอันดับหนึ่งอย่างที่ไม่มีใครแซงได้มานานหลายปี อย่างไรก็ตาม พลังของ “เศรษฐกิจใหม่” กำลังเข้ามาแทนที่ หุ้นที่อาจจะมีโอกาสกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในเวลาไม่นานก็คือธุรกิจสื่อสารที่เป็นโมไบล์หรือมือถือและแน่นอนหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมก็คือหุ้นของ ADVANC ที่มีมูลค่าหุ้นใกล้เข้ามาทุกที
มองไกลออกไปในอนาคต การหาหุ้นที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศหรือหุ้นที่จะมีขนาดใหญ่มาก ๆ นั้นคือ “รางวัลอันสูงสุด” สำหรับนักลงทุนระยะยาว เพราะถ้าเรารู้หรือคาดการณ์ถูก การลงทุนถือหุ้นตัวนั้นไว้จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่ซื้อแล้วถือเก็บไว้ รอเวลาให้มันเติบโตไปเรื่อย ๆ