โค้ด: เลือกทั้งหมด
การลงทุนในหุ้นเติบโต (ตอนที่ 1)
ผู้เขียน ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์,CFA
ผู้จัดการกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ ฝ่ายตราสารทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
Email : [email protected]
คำนิยามของหุ้นเติบโตของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไปสำหรับผมแล้วคำว่าหุ้นเติบโตเร็วหมายถึงหุ้นที่มีผลกำไรต่อหุ้นเติบโตในอัตราทบต้นเกิน 10-15% ต่อปีขึ้นไปต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนาน (อาจจะ 5 ถึง 10 ปีขึ้นไป)
ทำไมเราถึงควรที่จะลงทุนในหุ้นเติบโต?
ถ้าตอบอย่างง่ายๆก็คือหุ้นเติบโตก็จะทำให้ผลกำไรเติบโตและมูลค่าของหุ้นในอนาคตก็จะเพิ่มสูงตามไปด้วยแต่แน่นอนว่าถ้าทุกคนรู้ว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นเติบโตเร็วก็คงจะเข้าซื้อจนทำให้ราคาขึ้นไปอยู่ในระดับสูง เข้าทำนองว่าของดีก็ต้องราคาแพงเป็นธรรมดาทำให้หุ้นเติบโตส่วนใหญ่มักจะมี Price-to-earning ratio (P/E) สูงไปด้วยซึ่งนักลงทุนบางคนอาจจะไม่ค่อยกล้าลงทุนเนื่องจากมูลค่าที่สูงกว่าหุ้นตัวอื่น (ในแง่ P/E หรือ P/B ratio)
ซึ่งถ้าหากอัตราการเติบโตต่ำกว่าที่ตลาดประเมินไว้หรือมีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญก็อาจทำให้ตลาดให้ค่า P/E ลดลงส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงเช่นกัน
แต่ถ้าหากหุ้นเติบโตตัวนั้นสามารถทำกำไรเพิ่มได้อย่างรวดเร็วจริงๆก็อาจจะคุ้มค่าน่าลงทุน
ยกตัวอย่างเช่นหุ้นค้าปลีกบางตัวที่ถึงแม้ว่าจะซื้อขายกันที่ราคา P/E เกิน 20 เท่ามาเป็นระยะเวลายาวนาน (อาจจะถึง 30 หรือ 40 เท่าในบางช่วงเวลา) แต่ก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดี (หลายร้อยเปอเซนต์ในช่วงเวลา 10 ปี!) แก่นักลงทุนในระยะยาวเนื่องจากกำไรที่โตต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ราคาตรงจุดที่เราเข้าซื้อก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เราควรพิจารณาศักยภาพการเติบโตในระยะยาวเทียบกับมูลค่าหุ้นในปัจจุบันด้วย และเมื่อซื้อได้ในราคาที่เหมาะสมแล้วก็ควรถือไปตราบเท่าที่ศักยภาพของการเติบโตยังดีอยู่เพราะว่าราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นตามกำไรที่เติบโตขึ้นเอง
ผมจะขอยกตัวอย่างเป็นตัวเลขเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นนะครับ
สมมุติว่ามีหุ้น 2 ตัว
1. หุ้นบริษัท A ราคา 20 บาท บริษัทมีกำไรต่อปี 1 บาท มีค่า P/E = 20 และมีอัตราการเติบโตของกำไร 20% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า และหลังจาก 5 ปีผ่านไป
กรณีที่ 1 บริษัท A มีอัตราการเติบโตลดลงเหลือ 15% ทำให้ P/E ลดลงเหลือ 15 เท่า
กรณีที่ 2 บริษัท A มีอัตราการเติบโตลดลงเหลือ 10% ทำให้ P/E ลดลงเหลือ 10 เท่า
2. หุ้นบริษัท B ราคา 10 บาท บริษัทมีกำไรต่อปี 1 บาท มีค่า P/E = 10 และมีอัตราการเติบโตของกำไร 10% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้าหลังจาก 5 ปีผ่านไป
กรณีที่ 1 บริษัท B มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 15% ทำให้ P/E เพิ่มขึ้นเป็น 15 เท่า
กรณีที่ 2 บริษัท B มีอัตราการเติบโตเท่าเดิมที่ 10% P/E คงที่ 10 เท่า
เราควรจะลงทุนในบริษัทไหนดีกว่ากัน?
ถ้าเราลงทุนในบริษัท A ซึ่งดูเหมือนว่าราคาเมื่อเทียบกับกำไรในปัจจุบันจะสูงกว่าแต่มีความเสี่ยงที่ P/E จะปรับตัวลดลงในอนาคตถ้าหากเราคำนวณผลตอบแทนทบต้นก็จะได้
กำไรต่อปีของบริษัทในอีก 5 ปีข้างหน้าเท่ากับ 1 * (1.2)*(1.2)*(1.2)*(1.2)*(1.2) = 2.49 บาท
กรณีที่ 1 ที่ค่า P/E 15 เท่าบริษัทจะมีมูลค่า = 2.49 * 15 = 37.35 บาท
ผลตอบแทน = (37.35 - 20) / 20 = 86.75%
กรณีที่ 2 ที่ค่า P/E 10 เท่าบริษัทจะมีมูลค่า = 2.49 * 10 = 24.9 บาท
ผลตอบแทน = (24.9 - 20) / 20 = 24.5%
ส่วนในกรณีของบริษัท B คำนวณผลตอบแทนทบต้นก็จะได้ กำไรต่อปีของบริษัทในอีก 5 ปีข้างหน้าเท่ากับ 1 * (1.1)*(1.1)*(1.1)*(1.1)*(1.1) = 1.61 บาท
กรณีที่ 1 ที่ค่า P/E 15 เท่าบริษัทจะมีมูลค่า = 1.61 * 15 = 24.15 บาท
ผลตอบแทน = (24.15 - 10) / 10 = 141.5%
กรณีที่ 2 ที่ค่า P/E 10 เท่าบริษัทจะมีมูลค่า = 1.61 * 10 = 16.1 บาท
ผลตอบแทน = (16.1 - 10) / 10 = 61.1%
จากการคำนวณข้างต้นสามารถให้ข้อคิดได้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นเติบโตประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก (ยังไม่รวมผลตอบแทนจากเงินปันผล)
1) การเติบโตของกำไร
2) การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของ P/E multiple
หุ้นที่มีการเติบโตของผลกำไรดีเช่นหุ้นบริษัท A แต่อยู่ในอุตสาหกรรมที่อัตราการเติบโตต่ำลงในอนาคต (ส่งผลให้ P/E ลดลงเช่นในกรณีที่ 2) ก็อาจให้ผลตอบแทนที่แพ้หุ้นที่ผลกำไรเติบโตช้ากว่า (บริษัท B) แต่เป็นผลกำไรที่มีความมั่นคงและทำให้ค่า P/E สามารถคงอยู่ (กรณีที่ 2) หรือเพิ่มขึ้น (กรณีที่ 1)ได้
การลงทุนในหุ้นที่มี valuation (P/E) ต่ำกว่าก็อาจปลอดภัยกว่าหุ้นที่มี valuation (P/E) สูงเนื่องจากค่า P/E มีโอกาสปรับขึ้นได้ด้วย
ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมผลตอบแทนจากเงินปันผลซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหุ้นที่ P/E ต่ำกว่ามักจะมี Dividend Yield ที่สูงกว่า
นักลงทุนจึงควรระมัดระวังโดยไม่ควรจ่ายแพงเกินไป (ให้ค่า P/E สูงเกินไป)สำหรับหุ้นบางตัวที่มีโอกาสสูงที่อัตราการเติบโตจะลดลงในอนาคต
แต่ถ้าหากหุ้นตัวนันเติบโตได้จริงสมกับมูลค่าที่แพงก็อาจจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
การประเมินกำไรในอนาคตรวมทั้งคุณภาพของกำไรจึงเป็นสิ่งสำคัญ
จึงมีคำกล่าวว่าควรลงทุนในหุ้น Growth At Reasonable Price (GARP)
ในตอนต่อต่อไปจะพูดถึงหลักการประเมินศักยภาพการเติบโตของกำไร P/E multiple และเงินปันผล