โค้ด: เลือกทั้งหมด
ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งขององค์กร คือทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหารที่กำหนดทิศทางองค์กร หรือเป็นระดับแรงงาน ที่เป็นคนทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของบริษัท และประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดของทรัพยากรมนุษย์ในช่วงนี้ คือ การขึ้นค่าแรง 300 บาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวนมาก และอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งของแรงงานในยุคนี้ทีเดียว
แรงงาน ในหน้าประวัติศาสตร์นั้น ถือว่ายาวนานตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เริ่มมีอารยธรรม ถ้าไปดูประวัติศาสตร์จะพบว่า บางช่วงบางตอน แรงงานก็ขาดแคลนอย่างหนัก เช่น ในช่วงปีพศ. 1891-1893 (ตรงกับอาณาจักรสุโขทัย) ที่กาฬโรค (Black Dealth) ระบาดทั่วทั้งภาคพื้นยุโรป ทำให้ประชากรอย่างน้อยหนึ่งในสาม หรือบางครั้งก็ว่ากันว่ามากกว่าครึ่งเสียชีวิตจากโรคระบาดครั้งนี้ และต้องใช้เวลามากกว่า 150 ปี ถึงจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรให้มีจำนวนเท่าเดิมได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ผลคือทำให้ประชาชนชั้นแรงงานที่เหลือรอดชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของคนชนชั้นแรงงาน จากหลักอุปสงค์และอุปทาน
อย่างไรก็ดี ยุคทองของชนชั้นแรงงานในลักษณะนี้ก็มิได้เกิดตลอดไป เมื่อครั้งที่ประเทศอังกฤษ สามารถทำการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ โดยนำเครื่องจักรมาแทนแรงงานมนุษย์ในการผลิต สภาวะนั้นทำให้ค่าแรงตกต่ำอย่างรุนแรงอีกครั้ง และแรงกดดันนี้เอง ก่อให้เกิดสหภาพแรงงานครั้งแรกขึ้นในสหราชอาณาจักร มีการต่อรองกันระหว่างลูกจ้างและนายจ้างมาตั้งแต่บัดนั้น และจุดนี้เป็นจุดที่นักลงทุนระยะยาวอย่างฟิล ฟิชเชอร์ค่อนข้างจะใส่ใจ เนื่องจากกิจการจะทำกำไรได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย การจัดการเรื่องจำนวนแรงงาน และค่าแรงเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
ในประเทศไทย ลักษณะของสหภาพแรงงานไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ทำให้ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เจ้าของกิจการจึงสามารถทำกำไรได้มากมาย จากการนำแรงงานออกจากภาคการเกษตร เข้าสู่ภาคการผลิต โรงงานผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เรียกได้ว่าช่วงเวลานั้น กิจการที่ “ใช้” แรงงานนั้นโดดเด่นมาก เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า แปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น
เมื่อแรงงานเริ่มขาดแคลน จนกระทั่งเมื่อไปที่ชนบท จะเห็นแต่ลูกเด็กเล็กแดงอยู่กับคนเฒ่าคนชรา ในปี 2539-2540 เป็นปีที่แรงงานภาคการเกษตรน้อยกว่านอกการภาคเกษตรเป็นครั้งแรก การแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์จึงเริ่มต้นอีกครั้ง โรงงานที่มีขนาดใหญ่กว่าก็จะเริ่มได้เปรียบในการจ้างแรงงานที่มีต้นทุนสูงขึ้น โรงงานที่มีขนาดเล็กจำเป็นต้องขยับไปจ้างแรงงานที่ถูกลงจากประเทศเพื่อนบ้าน บางอาชีพ บางงาน ก็ไม่สามารถหาแรงงานคนไทยมาทำได้อีกต่อไป ยุคนี้ถ้าดูกิจการในตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังคงเพลิดเพลินกับความได้เปรียบดังกล่าวอยู่ เนื่องจากว่าถึงแม้จะต้องจ้างแพงขึ้น แต่ก็สามารถกินส่วนแบ่งการตลาดรายเล็กได้ เรียกได้ว่า ขายถูกลง แต่ขายเยอะขึ้น กำไรก็ยังคงตกอยู่ในกระเป๋าผู้ประกอบการภาคการผลิตอยู่
แต่เมื่อกระแสของโลกเริ่มเชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนต่างค่าจ้างแรงงานในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาห่างกันจนกระทั่งเกิดแรงกดดัน ให้มีการปรับปรุงอะไรบางอย่าง กลไกในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพแรงงานไม่ได้ถูกนำมาใช้เต็มที่ในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นแรงขับเคลื่อนจึงเกิดจากภาครัฐ ที่เพิ่มค่าจ้างแรงงานให้มากขึ้น ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างพากันปรับค่าแรงขั้นต่ำกันถ้วนหน้า ไม่เว้นประเทศไทยที่ปรับขึ้นมาทันทีเป็น 300 บาท หรือคิดเป็น 40-50% ทีเดียว ดังนั้นกิจการที่ต้องพึ่งพิงแรงงานมาก ย่อมเกิดแรงกดดัน และยุคทองของผู้ประกอบการประเภทจ้างแรงงาน อาจจะค่อย ๆ หมดลงในไม่ช้า และก้าวเข้าสู่ยุคทองของชนชั้นแรงงานมากขึ้น
ในฐานะนักลงทุน การเปลี่ยนแปลงของหนึ่งในสี่ทรัพยากรทางเศรษฐกิจของกิจการ (Man, Money, Machine, Material) ย่อมก่อให้เกิดทั้งภัยและโอกาสขึ้น นักลงทุนสามารถมุ่งเน้นหากิจการที่เป็นประโยชน์จากสภาวะยุคทองของแรงงานที่อาจจะกลายเป็น Mega Trend ในระยะยาวได้เช่นนี้ โดยแทนที่จะหาบริษัทที่ “ใช้” แรงงาน ก็ไปมุ่งเน้นหาบริษัทที่มุ่ง “รับใช้” แรงงานกลุ่มนี้แทน เพราะแน่นอนว่า แรงงานที่ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ย่อมต้องการนำเงินที่ได้ การซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ
หัวใจของนักลงทุนคือ ต้องตอบให้ได้ว่า รายได้ที่ดีขึ้นจะถูกนับไปจับจ่ายอะไร และบริษัทไหนที่จะ “รับใช้” ชนชั้นแรงงานจำนวนกว่า 40 ล้านคนในประเทศไทยได้ดี และถูกใจคนกลุ่มนี้ที่สุดครับ