โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 24 มิถุนายน 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เล่นบอล-เล่นหุ้น
ผมเองไม่ใช่ “คอบอล” ที่จะยอมอดหลับอดนอนเพื่อดูการแข่งขันนัดสำคัญอย่างฟุตบอลยูโรที่กำลังเล่นอยู่ในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเกมและกติกาเกี่ยวกับฟุตบอลนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนในตลาดหุ้นได้อย่างน้อยก็สองเรื่องดังต่อไปนี้
ข้อแรกก็คือ เรื่องของการพนันบอลหรือ “แทงบอล” กับเจ้ามือที่เป็นบริษัทรับพนันบอลชั้นนำที่อยู่ในต่างประเทศ ผมเองไม่เคยเล่นพนันบอลเลยแต่ก็รู้มาว่าเราสามารถเล่นพนันว่าทีมไหนจะชนะเลิศได้ถ้วยรางวัลหลังจากจบการแข่งขัน ในการพนันนี้ แน่นอน “เซียน” หรือคนที่ติดตามการแข่งขันฟุตบอลมาตลอดก็มักจะรู้ว่าทีมไหนที่เก่งหรือมีฝีเท้าดีและจะมีโอกาสที่จะได้แชมป์มากกว่าทีมอื่น ดังนั้น โอกาสที่เขาจะทายถูกก็จะสูงกว่าคนที่ไม่รู้อะไรมากนักอย่างผม ดังนั้น ถ้าเขาแทงทีมที่โดดเด่นซัก 3-4 ทีม โอกาสที่เขาจะถูกก็คงจะมีสูงพอสมควรทีเดียวเมื่อเทียบกับการที่ผมจะแทง อย่างไรก็ตาม เซียนบอลที่ว่านั้น ก็อาจจะไม่ได้กำไรจากการเล่นพนันบอล เหตุผลก็เพราะในการแทงบอลนั้น เขามี “อัตราต่อรอง” สำหรับแต่ละทีมที่เข้าแข่งขัน อัตราต่อรองนี้ทำให้การแทงทีมที่เราคิดว่าเป็นทีมที่เก่งกาจเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทีม A เป็นทีม “เต็งหนึ่ง” ที่คนในวงการบอลมองว่ามีฝีเท้าดีเยี่ยมที่สุด อัตราการต่อรองก็จะต่ำ เช่น ถ้าเราแทงว่าทีม A จะชนะด้วยเงิน 1 บาท และทีม A ชนะจริง เราก็อาจจะได้เงินรางวัลเพียง 2 บาท แต่ถ้าทีม B เป็นทีม “รองบ่อน” โอกาสชนะน้อย อัตราการต่อรองก็จะสูง เช่น แทง 1 บาท ถ้าทีม B ชนะจริง เราอาจจะได้ถึง 10 บาท ดังนี้เป็นต้น ในการตั้งอัตราการต่อรองนั้น ผมคิดว่าบริษัทรับพนันคงมี “ผู้เชี่ยวชาญ” ในการตั้งที่จะทำให้บริษัทได้กำไรเมื่อจบการแข่งขัน แต่ผู้เชี่ยวชาญที่ว่านั้น นอกจากจะมี “เซียนบอล” แล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ “นักคณิตศาสตร์” ที่จะคอยคำนวณว่ามีใครแทงบอลทีมไหนเท่าไรและบริษัทจะต้องจ่ายเท่าไรถ้าทีมนั้นชนะ และบริษัทจะได้เงินเท่าไรจากคนที่แทงผิด ประเด็นสำคัญก็คือ เขาจะต้องทำให้รายได้จากคนที่แทงผิดสูงกว่ารางวัลที่จะต้องจ่ายให้กับคนแทงถูก แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น เขาก็จะไปปรับอัตราการต่อรองใหม่จนสุดท้ายแล้วไม่ว่าทีมไหนจะได้ถ้วยรางวัล บริษัทก็จะกำไรเสมอ
หุ้นเองก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับการพนันบอลเหมือนกันในแง่ที่ว่า “เซียนหุ้น” อาจจะรู้ว่าบริษัทไหนดีเยี่ยมหรือจะมีกำไรที่เติบโตโดดเด่น แต่หุ้นเองก็มี “อัตราต่อรอง” เช่นเดียวกันนั่นก็คือ ถ้ากิจการดีเยี่ยม ราคาหุ้นก็อาจจะ “แพง” มาก นั่นก็คือ ค่า PE อาจจะสูงกว่าปกติมากจนทำให้ไม่คุ้มที่จะลงทุน ราคาหุ้นที่แพงหรือ อัตราการต่อรองที่ต่ำนั้น ในเรื่องหุ้นไม่มีใครมาเป็นผู้กำหนด แต่เกิดจากคนในตลาดหุ้นเองมาซื้อ ๆ ขาย ๆ ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าจะพูดอีกทางหนึ่งก็คือ อัตราการต่อรองของหุ้นนั้น กำหนดโดยคนที่เข้ามาเล่นหุ้นเองทุกคนในตลาด และถ้าคนเหล่านี้สามารถกำหนดอัตราการต่อรองได้ถูกต้อง นั่นก็คือ ถ้าบริษัทดี ราคาหุ้นก็แพงหรือ PE สูง บริษัทไม่โดดเด่น ราคาหุ้นก็ถูกหรือ PE ต่ำ โดยนัยนี้ การซื้อหรือ “แทง” หุ้นตัวที่มีผลประกอบการดีก็อาจจะไม่คุ้มค่าก็ได้
ข้อสรุปของทั้งเรื่องบอลและเรื่องหุ้นก็คือ อย่าสักแต่ดูว่าทีมหรือหุ้นนั้นจะเป็นทีมหรือหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการโดดเด่นเท่านั้น จะต้องคิดถึงอัตราต่อรองหรือราคาหุ้นด้วยว่ามันเป็นอย่างไร ถ้ามันไม่เหมาะสม เช่น อัตราต่อรองต่ำหรือราคาหุ้นแพงเกินไป มันก็ไม่คุ้มและเราอาจจะขาดทุนได้ถ้าเข้าไปเล่นมัน
ข้อที่สองก็คือกติกาการนับคะแนน ที่ตอบแทนให้กับผลการเล่น ในเรื่องของฟุตบอลนั้น ทีมที่แพ้จะได้ 0 คะแนน ทีมที่เสมอจะได้ 1 คะแนน ขณะที่คนชนะจะได้ 3 คะแนน นี่แปลว่าชนะ 1 ครั้งจะได้คะแนนเท่ากับเสมอ 3 ครั้ง มันเป็นการบอกว่าการที่เสมอนั้น มีประโยชน์น้อย คุณจะต้องพยายามเอาชนะให้ได้เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ในเรื่องของหุ้นเองนั้น ผมคิดว่ามันก็มีลักษณะคล้าย ๆ กันนั่นคือ เราจะต้องพยายามเลือกบริษัทที่จะ “ชนะ” ซึ่งจะได้ “คะแนน” สูงกว่าบริษัทที่ “เสมอ” มาก และแน่นอน เราจะต้องหลีกเลี่ยงบริษัทที่จะ “แพ้” ความหมายของการชนะก็คือ บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง และบริษัทมีส่วนแบ่งมากที่สุดและทิ้งห่างอันดับสองมากขึ้นเรื่อย ๆ อนาคตของบริษัทสดใสขึ้นมากกว่าคู่แข่ง ส่วนบริษัทที่แพ้นั้นก็เป็นอะไรที่อยู่ตรงกันข้าม และเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ๆ บริษัทที่แพ้ก็อาจจะสูญหายไปหรือหมดศักยภาพในการแข่งขันและอยู่ ๆ ไปอย่างนั้นเอง
ประเด็นก็คือ บริษัทที่ “เสมอ” นี่คือบริษัทที่ไม่ชนะและก็ไม่แพ้ บริษัทสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างยอดเยี่ยมและ “ทรหด” ผลัดกันแพ้และชนะแต่ก็ไม่มีใครทิ้งห่างใคร ฝีมือและความสามารถในการแข่งขันพอ ๆ กันตลอดเวลา ขนาดของกิจการก็ไม่ทิ้งห่างจนทำให้แข่งขันกันไม่ได้ ตัวอย่างที่พอจะมองเห็นได้ก็เช่นในธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารขนาดใหญ่ 3-4 แห่งสามารถแข่งขันกันได้และมีขนาดใกล้เคียงกันมานานหลายสิบปี ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทสร้างบ้านขายที่มีการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งทางการตลาดสลับไปมาในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาและยังไม่รู้ว่าใครจะชนะจริง ๆ ในอนาคต เป็นต้น
บริษัทที่ “ชนะ” นั้น ในทางธุรกิจจะได้ผลตอบแทนมหาศาล จริง ๆ ผมคิดว่าอาจจะมากกว่า “3 คะแนน” เมื่อเทียบกับบริษัทที่ “เสมอ” ความหมายของผมก็คือ ถ้าบริษัทชนะ พวกเขาก็มักจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงกว่าอันดับสองมาก อาจจะเป็นเท่าตัว กำไรของบริษัทก็มักจะมากกว่าอันดับสองเกิน 2 เท่า มูลค่าตลาดของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็มักจะสูงกว่าอันดับสองหลายเท่า ส่วนผู้ “แพ้” นั้น ก็มักจะแทบจะล้มหายตายจากหรือไม่มีกำไร ประเด็นก็คือ บริษัทที่ “เสมอ” ซึ่งมักจะอยู่ในอุตสาหกรรมบางประเภทนั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะมีกำไรตามอัตภาพ แต่ความเสี่ยงของการประกอบการก็มักจะสูงพอสมควรเนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้นที่เกิดตลอดเวลา ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทนั้นแค่รักษาไว้ก็ยากแล้วและก็มักจะใกล้เคียงกับคู่แข่ง มูลค่าตลาดของหุ้นในตลาดเองก็มักจะเพิ่มขึ้นช้า ๆ และมีโอกาสที่จะปรับลงได้ตลอดเวลาขึ้นกับสถานการณ์ในขณะนั้น การ “เสมอ” ในทางธุรกิจนั้นอย่างมากก็เป็นได้แค่บริษัทที่ดีแต่ไม่ใช่ซุปเปอร์สต็อก
นักลงทุนที่จะทำกำไรได้งดงามได้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องยาวนานนั้น จะต้องพยายามหาให้ได้ก่อนคนอื่นว่าหุ้นตัวใด “กำลัง” จะชนะ เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่หุ้นกำลังจะเริ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน จะต้องรู้ว่าหุ้นตัวใดชนะแล้วแต่ยัง “ชนะเพิ่มขึ้น” ซึ่งสัญญาณที่สำคัญก็คือ การที่ยอดขายและกำไรยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งพร้อม ๆ กับความได้เปรียบของการแข่งขันที่ยังเพิ่มขึ้นโดยที่ “ภัยคุกคาม” ที่จริงจังยังมองไม่เห็น การลงทุนในหุ้นที่ “เสมอ” นั้น บางทีก็ไม่เลวนักถ้าราคาหุ้นค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากสถานการณ์ชั่วคราวเช่นเรื่องของภาวะตลาดหรือเศรษฐกิจที่ไม่ดี หุ้นที่พึงละเลี่ยงเลยแม้ว่าราคาจะต่ำมากก็คือ หุ้นที่ “แพ้” เพราะในระยะยาวแล้วก็ยากที่จะทำกำไรให้กับเราได้