ข่าวบริโภคชะลอหนัก
ข่าวบ่นของแพงเต็มไปหมด
ข่าวผู้ประกอบการรับต้นทุนไม่ไหวต้องขึ้นราคา
เห็นแต่เรื่องพวกนี้
ร้านอาหารจ่อปรับราคา30%รับมือต้นทุนพุ่ง-กำลังซื้อหด
เขียนโดย http://www.suthichaiyoon.com/
วันเสาร์ที่ ๐๗ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๐๙:๑๒ น.
สมาคมภัตตาคารไทย เผย 2 ปัจจัยลบ "กำลังซื้อหด ต้นทุนผลิตพุ่ง 20%" กระทบยอดขายร้านอาหารหดตัวตั้งแต่ต้นปี ชี้มีโอกาสปรับขึ้นราคาอาหารอีก 30% ระบุร้านแผงลอยสุดเสี่ยงปิดกิจการแล้วกว่า 2 หมื่นราย เร่งผู้ประกอบการปรับตัว ด้านศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดีปรับราคาแอลพีจี 10 ก.ย.นี้
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า จากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย และกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง เป็นผลจากภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น เข้าร่วมโครงการรถคันแรก และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องส่งผลยอดขายร้านอาหารตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาลดลงกว่า 20% ถือเป็นปัจจัยลบที่มาพร้อมกับภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวขึ้นราว 20% เช่นกันตั้งแต่ต้นปี ทั้งยังเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากการปรับตัวของราคาพืชผลเกษตร สินค้าอุปโภค และต้นทุนด้านพลังงานจากการขึ้นราคาแก๊สหุงต้มที่มีผลวันที่ 1 ก.ย.นี้
ปัจจัยดังกล่าว อาจกดดันให้ต้นทุนสูงขึ้นถึง 30% และทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาอาหารราว 30% เพื่อเป็นทางเลือกในการลดความเสี่ยงการขาดทุน เนื่องจากขณะนี้ราคาขายเฉลี่ยของอาหารยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะราคาขายอาหารจานเดียวที่รัฐพยายามตรึงราคาที่ 25 บาทซึ่งไม่เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากราคาที่แท้จริงควรอยู่ที่ 35 บาท และอาจเพิ่มขึ้นถึง 45-50 บาท ช่วงปลายปีนี้เมื่อพิจารณาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าร้านอาหารส่วนใหญ่จะไม่เลือกปรับราคาขึ้นทันที แต่จะหันไปใช้วิธีลดต้นทุนและตรึงราคาให้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุดก่อน อาจปรับลดปริมาณอาหาร ลดวัตถุดิบลง
ทั้งนี้ คาดว่าปี 2556 ภาพรวมตลาดธุรกิจบริการเกี่ยวกับอาหารจะมีมูลค่าราว 669,000 ล้านบาท จากผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารทั่วประเทศราว 400,000 ราย แบ่งเป็นร้านอาหาร 1 แสนราย และหาบเร่แผงลอย 3.3 แสนราย แต่ปัจจุบัน ด้วยปัจจัยลบต่างๆ ทำให้เริ่มประสบปัญหาและเลิกกิจการไปแล้วราว 2 หมื่นรายเหลือราว 3 แสนราย
ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สมาคมภัตตาคารไทยจึงเริ่มรณรงค์ผู้ประกอบการให้เข้าร่วมโครงการ "พัฒนามาตรฐานร้านอาหารและแผงลอย เพื่อสุขภาวะ" ครั้งแรกในไทย เริ่มด้วยเปิดตัวคู่มือเกณฑ์มาตรฐานระบบคุณภาพร้านอาหารไทย ตั้งเป้าเบื้องต้นให้ร้านค้า 80% ใน กทม.เป็นร้านได้มาตรฐานใน 2 ปีนี้ก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 2558 รวมถึงร้านค้าอื่นๆ ทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด
สำหรับโครงการดังกล่าว มาจากการศึกษาการวางหลักเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมฯ และชมรมร้านอาหารทั่วประเทศ ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 8 กระทรวงหลัก เพื่อยกระดับมาตรฐานร้านอาหารให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันเชิงธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมกับร้านอาหารระดับนานาชาติ
"รายได้จากธุรกิจร้านอาหารคิดเป็น 30% ของการท่องเที่ยว ดังนั้นการสร้างมาตรฐานให้เทียบเท่าระดับสากลจะทำให้รองรับความต้องการของชาวต่างชาติได้อีกทาง และหากสามารถทำให้ร้านค้าเข้าร่วมได้ต่อเนื่อง ในระยะ 10 ปีอาจมีโอกาสผลักดันหลักเกณฑ์มาตรฐานเป็นกฎหมายที่บังคับใช้กับธุรกิจร้านอาหารได้ด้วย" นางฐนิวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม วันที่ 10 ก.ย.นี้ เวลา 09.30 น. ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบให้ปรับราคาก๊าซแอลพีจี
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 5 คน ฟ้องว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 5 คน มีมติเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2556 เห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน ให้ปรับขึ้นเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2556 เป็นต้นไป จนสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม และเห็นชอบเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน
ทั้งในส่วนของครัวเรือนรายได้น้อยและร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ให้คงราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท จนกว่าจะมีมติให้ปรับขึ้นราคา
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 61 ที่กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 กลับไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และยังไม่เคยรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย