ย่อมาจาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/ ... php?id=103
รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล
ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คนทั่วไปยังมีความสับสนในการเลือกใช้ยาหอมทั้ง 4 ชนิดนี้ ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจเรื่อง ยาหอมตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทยก่อนว่า ยาหอม เป็นยาที่ใช้บำรุงหัวใจ ซึ่งในทางการแพทย์แผนไทยไม่ได้หมายถึงยากระตุ้นการทำงานหรือการปรับการเต้นของหัวใจ แต่หมายถึงยาปรับการทำงานของลมที่เคลื่อนไหวทั่วร่างกายมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก การหมุนเวียนของเลือด เรียกรวมกันว่า ลมกองละเอียด ยาหอมบางชนิดนอกจากใช้บำรุงหัวใจแล้ว ยังใช้สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกิดจากลมกองหยาบ ซึ่งหมายถึง ลมที่อยู่ภายในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการจุกเสียดอีกด้วย การตั้งตำรับยาหอมจึงต้องประกอบด้วยสมุนไพรจำนวนมาก เพื่อปรับการทำงานของธาตุลม ไฟ และน้ำ ให้เข้าสู่สมดุลย์ และการใช้ยาแต่เนิ่น ก็เป็นการป้องกันไม่ให้เสียสมดุลย์มากจนกระทบธาตุดิน และยากแก่การรักษา ในองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยนั้นยาหอมตั้งขึ้นเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับลม
ยาหอมเทพจิตร บำรุงให้จิตใจรู้สึกแช่มชื่น เหมาะกับคนที่รู้สึกซึมเศร้า มีอารมณ์เศร้าหมอง ที่มักเกิดขึ้นในบางเวลา หรือคนสูงอายุที่รู้สึกเหงา เศร้า โดยตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ มีสรรพคุณบำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่น อย่างไรก็ดีการใช้ยาหอมในกลุ่มอาการเหล่านี้ ใช้ได้เฉพาะอาการที่แรกเริ่ม ไม่ใช่ยารักษาอาการสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน
ยาหอมทิพโอสถ นอกจากใช้แก้ลมวิงเวียน โดยละลายน้ำสุกหรือน้ำดอกไม้แล้ว ยังสามารถใช้ในสตรีที่มักมีความรู้สึกหงุดหงิดโกรธง่ายในช่วงก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากเป็นผลกระทบของความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบเดือนและกระทบต่อจิตใจ การใช้ยาที่มีดอกไม้เป็นส่วนผสมจะลดผลกระทบของความร้อนดังกล่าวลง ทำให้จิตใจเย็นลง โดยไม่ทำให้โลหิตเย็น ซึ่งกระทบต่อการมีประจำเดือน แต่ยานี้เป็นเพียงยาบรรเทาอาการเบื้องต้น ไม่ใช่การรักษาต้นเหตุ ต้องปรึกษาแพทย์แผนไทยในการแก้ไขอาการเหล่านี้ให้เข้าสู่สมดุลย์
ยาหอมอินทจักร ยาหอมอินทจักร ใช้ได้ดีในการแก้คลื่นไส้อาเจียน นอกจากนี้ยาหอมอินทจักร สามารถใช้ในอาการหงุดหงิดกระวนวาย จิตใจไม่สงบ โบราณเรียกว่าลมบาดทะจิต
ในรายงานการวิจัยพบว่ายาหอมอินทรจักร เพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ และ มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ซึ่งน่าจะได้ผลดีต่ออาการเป็นลม และยังพบว่า ทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ต้านการอาเจียน ซึ่งสอดคล้องกับสรรพคุณแผนไทย ทำให้ยืดเวลาการนอนหลับของสัตว์ทดลองเมื่อให้ร่วมกับยานอนหลับ
ยาหอมนวโกฐ โดดเด่นในการใช้แก้ลมปลายไข้ ลมปลายไข้ หมายถึงอาการท้องอืด เฟ้อ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เกิดหลังจากหายไข้ ในระยะพักฟื้น
ในรายงานการวิจัยพบว่ายาหอมนวโกฐเพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ และ เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางทำให้หลับสบาย และทำให้การหลั่งกรดลดลง และยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก แก้ปวดท้องได้ดี
ข้อแนะนำสำหรับการใช้ยาหอม
การใช้ยาหอมให้ได้ผล แม้จะเป็นชนิดเม็ด ควรนำมาละลายน้ำกระสายยา หรือน้ำอุ่น รับประทานขณะกำลังอุ่น เหมือนกับวิธีการเดิม เพราะการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอมจะช่วยทำให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น และออกฤทธิ์ผ่านประสาทรับกลิ่น และการดูดซึมผ่านกระเพาะอาหาร
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาหอม
ยาหอมไม่ใช่ยารักษาอาการโดยตรง แต่เป็นยาปรับสมดุลย์ธาตุโดยเริ่มจากธาตุลม เพื่อไปกระตุ้นการทำงานของน้ำ และไฟ ทำให้มีการไหลเวียนสะดวก เผาผลาญตามปกติ ซึ่งเป็นหลักวิธีคิดแบบองค์รวม ดังนั้น การใช้ยาหอมจะไม่ได้ให้ผลดีแบบปุบปับเหมือนยาเคมีสังเคราะห์ แต่จะทำให้สมดุลย์ที่เบี่ยงหรือเอนไป ค่อยๆปรับกลับสู่สภาพเดิม ขนาดที่ใช้ควรใช้ตามคำแนะนำ การกินเกินขนาดที่แนะนำไม่ทำให้เกิดอาการพิษทันที แต่จะผลักดันให้การทำงานของธาตุเปลี่ยนไปเร็ว และทำให้สมดุลย์อาจขาดหรือเกินไปอีกทางได้ จึงควรเดินทางสายกลาง เริ่มใช้ยาตั้งแต่มีอาการน้อยๆค่อยเป็นค่อยไปจึงจะดี
อย่างไรก็ดี การเลือกใช้ยาหอมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรเลือกชนิดของยาหอมและน้ำกระสายยาให้ถูกกับอาการ ขนาดที่ใช้ใกล้เคียงกับน้ำหนักตัว และหากไม่สามารถซื้อหรือเก็บยาหอมหลายชนิดไว้ในตู้ยาประจำบ้าน ก็สามารถเลือกยาหอมประเภทกลางๆเช่น ยาหอมอินทจักร และใช้ร่วมกับน้ำกระสายยาตามที่ระบุ การใช้ยาหอมไม่ใช่แก่คร่ำครึ แต่ยาหอมเพียงตำรับเดียว ก็เสริมสุขภาพให้ดีทั้งครอบครัวได้ โดยไม่ต้องใช้ยาเคมีสังเคราะห์ และยังเป็นการสืบเจตนารมณ์ของรุ่นปู่ย่าตายาย ที่อุตส่าห์สั่งสมความรู้ไว้เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานไทย