http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.a ... 0000017461สธ.เตือนประชาชนระวังโรคสุกใส ยอดปี 2552 พบผู้ป่วยกว่า 80,000 ราย เสียชีวิต 3 ราย ระบุมักพบระบาดในช่วงปลายหนาวต้นร้อน แนะหากมีคนป่วยในครอบครัวควรแยกของกินของใช้ ให้หยุดงานหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ลดการแพร่กระจายเชื้อ
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงที่สภาพอากาศจะเปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน โรคที่น่าห่วงและมักพบในช่วงนี้ที่สำคัญคือ โรคสุกใส (Chickenpox) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ที่มีชื่อ เวลิเซลลา-ซอสเตอร์ (Varicella-Zoster Virus : VZV) เป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด พบได้ประปรายตลอดปี แต่มักระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนคือ เดือนมกราคมถึงเมษายน
ในปี 2551 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคสุกใส 76,750 ราย เสียชีวิต 4 ราย อายุระหว่าง 33-35 ปี เป็นชาย 3 ราย หญิง 1 ราย สาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีอาชีพขับเรือออกไปหาปลา ระหว่างป่วยไม่ได้หยุดพักงาน ทำให้ติดเชื้อแทรกซ้อนโดยเชื้อเข้าทางบริเวณที่เกิดตุ่มสุกใส ส่วนอีก 3 ราย มีโรคแทรกซ้อนปอดบวมรุนแรงเนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ เพราะมีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน และไขข้ออักเสบ นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบเด็กหลังคลอดติดเชื้อดังกล่าวด้วย 2 ราย รายแรกเป็นเด็กหญิงอายุ 11 วัน มีประวัติแม่ป่วยเป็นโรคสุกใสก่อนคลอด 7 วัน แม้จะแยกแม่และเด็กทันทีหลังคลอดอย่างเคร่งครัดแล้วก็ตาม ส่วนรายที่ 2 เป็นเด็กชายอายุ 17 วัน ติดเชื้อจากแม่ที่มีอาการป่วยหลังคลอด 7 วัน ทั้ง 2 ราย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ สำหรับปี 2552 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคสุกใส 84,928 ราย เสียชีวิต 3 ราย ในเด็ก 7 ปี 1 ราย และในผู้ใหญ่ 2 ราย
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า จากรายงานทางระบาดวิทยาพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโรคสุกใส เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี อาการไม่รุนแรง คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุขจึงยังไม่กำหนดให้เป็นวัคซีนภาคบังคับฉีดในเด็กไทย เด็กที่เป็นโรคนี้มาแล้ว จะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิตไม่ป่วยซ้ำอีก อาการของโรคสุกใสเริ่มจากไข้ต่ำๆ ต่อมามีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว หลังมีไข้ 2-3 วัน มักมีลักษณะตุ่มใส มีหลายระยะ ตุ่มใสขนาดต่างๆไม่เท่ากัน หลังจากนั้นตุ่มจะแห้งตกสะเก็ดและหลุดภายใน 5-20 วัน โดยทั่วไปผื่นจะหายเอง โดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง เช่น ใช้มือเกา เชื้อโรคที่อยู่ตามซอกเล็บอาจทำให้แผลที่เกา เกิดการอักเสบและมีแผลตามมา ในบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเชื้ออาจกระจายเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษและปอดบวมได้
ทางด้านนายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า โรคสุกใสที่พบในขณะนี้ เกิดขึ้นทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่ยังคงพบในเด็ก แต่การเกิดโรคอาจรุนแรงในผู้ใหญ่ หากมีภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง เช่น ภาวะเบาหวาน โรคเลือดจาง และการติดเชื้อเอชไอวี โรคดังกล่าวติดต่อกันโดยการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูกและน้ำลายที่เกิดจากการไอของผู้ป่วยเข้าไป หรือใช้ภาชนะและของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย หรือสัมผัสน้ำเหลืองจากตุ่มพองใสที่ผิวหนังผู้ป่วย ดังนั้นในการป้องกันโรค หากมีคนป่วยในครอบครัวควรแยกของกินของใช้จากคนปกติ ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ในเด็กเล็กต้องตัดเล็บให้สั้น ให้ผู้ป่วยพักผ่อน รักษาความอบอุ่นร่างกาย หากมีไข้ให้กินยาลดไข้ หากเจ็บคอหรือไอควรปรึกษาแพทย์ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคสุกใส ควรหยุดเรียน หยุดงานประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
นายแพทย์ภาสกร กล่าวต่อว่า แม้โรคนี้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ยังคงพบป่วย และอาจเกิดการระบาดได้ในโรงเรียน สถานที่เลี้ยงเด็ก หรือสถานดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง (บ้านพัก) หลังการป่วยอาจมีรอยแผลเป็นตามผิวหนังที่มีผลต่อความสวยงามได้ ดังนั้นจึงขอแนะนำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคันมาก ขอให้หลีกเลี่ยงการเกา และรักษาความสะอาดของแผลไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังซ้ำซ้อนต่อไป
โรคนี้ แม้ไม่รุนแรง แต่ช่วงนี้ใกล้สอบแล้ว ถ้าเด็กเป็นก็คงลำบาก เพราะต้องหยุดเรียนหลายวันทีเดียว