"ธรรมะ...ธรรมดา"
"อบรมญาณปัญญาให้ยิ่ง"
จากหนังสือ "ธรรมะ...ธรรมดา" ของท่านอุบาสิกาละมัย เขาสวนหลวง ราชบุรี
คำแนะนำหนังสือ
"ธรรมะ...ธรรมดา" เป็นรายงานการปฏิบัติธรรมของผู้บันทึก
คนหนึ่งซึ่งมิใช่เป็นผู้สอนธรรมะ เป็นแต่เพียงผู้ค้นคว้าหาทาง
รู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงชี้ไว้ ได้ศึกษา
หาเค้าเงื่อนและวิธีปฏิบัติจากตำรับตำรา และคำบอกเล่าจาก
ผู้รู้ทั้งหลาย ประมวลมาสืบสาวหาสภาวะในตนเพื่อเป็นประจักษ์
พยานตามคำพูดหรือข้อความนั้นๆ
ด้วยนิสัยที่ชอบบันทึกการกระทำและผลของการกระทำไว้
และมาสำนึกระลึกถึงความลำบากใจแห่งตน ขณะเริ่มปฏิบัติ
ว่าเคยข้องใจสงสัยอย่างไรบ้าง จึงคิดจะทำประโยชน์เกื้อกูล
แก่ผู้ที่เคยขัดข้องสงสัยเหมือนตน ด้วยการแสดงแง่พิจารณา
ค้นคว้าสภาวธรรมเปิดเผยให้ผู้ใฝ่ใจค้นคว้าได้พิสูจน์ทดลอง
ดูบ้าง ว่าจะได้ประโยชน์เพียงใดหรือไม่ จึงได้พิมพ์บทสรุป
การค้นคว้า ธรรมะ...ธรรมดา เปิดเผยมายาขันธ์ ๕ ขึ้น
หากข้อความเหล่านี้จะเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง ก็ขอให้
กุศลนั้น จงเป็นกำลังให้ธรรมะเหล่านี้เป็นที่แจ่มกระจ่างต่อ
ผู้ที่ได้สนใจอ่านทุกท่านเถิด.
เกริ่นความ
......
พระพุทธองค์ทรงบัญญัติแนวทางปฏิบัติสรุปรวมอยู่ในมรรค
มีองค์แปด ซึ่งรวมทั้ง ทาน ศีล ภาวนา สมาธิ ปัญญา
ครบถ้วนบริบูรณ์ เราจะให้ความสำคัญเฉพาะข้อใดข้อหนึ่ง
แล้วละเลยบางข้อ เช่น ฝึกแต่สมาธิ เจริญแต่สติ การสำรวม
กายวาจาใจบกพร่อง ไม่รักษาศีล ไม่ทำทาน การเดินทางของ
เราก็จะไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะคุณธรรมแต่ละอย่าง ย่อมอาศัย
คุณธรรมอื่นเป็นเครื่องเกื้อหนุน ดังนั้นเราควรจะทำความเข้าใจ
มรรคแต่ละข้อให้ได้ความครบถ้วนสมบูรณ์ และประพฤติตาม
ด้วยความระมัดระวัง
มรรคข้อสัมมาวายาโม เป็นข้อที่รวมเอาการปฏิบัติในข้ออื่นๆ
มารวมไว้ครบถ้วน และสนับสนุนมรรคข้ออื่นๆ ให้เพิ่มความ
คมกล้ายิ่งขึ้น ท่านแสดงเนื้อความไว้กว้างๆว่า ให้เพียรระวัง
ไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น ถ้าความชั่วเกิดมีขึ้นแล้วก็ให้เพียรละ
ออกไป นี้เป็นแง่ที่ไม่ต้องการ ท่านให้เพียรขจัดออกไปอยู่เสมอ
อีกแง่หนึ่งที่ต้องการจะอบรมให้มีขึ้นในตน คือเพียรทำกุศลให้
เกิดขึ้น และเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วในตนให้เพิ่มพูนยิ่งๆขึ้น
สิ่งที่เป็นกุศลก็คือ ทาน ศีล ภาวนา สมาธิ ปัญญา ซึ่งเราจะต้อง
เพียรอบรมบ่มให้แก่กล้ายิ่งๆขึ้นทุกขณะ การรู้เห็นสภาพธรรม
ลึกซึ้งยิ่งขึ้นๆ เสมอๆ เป็นความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรม
เนื่องด้วยได้พิจารณาเห็นความทุกข์ (สิ่งที่ไม่ชอบใจ) เป็นสิ่งที่
เบียดเบียนกายใจให้หดหู่เศร้าหมองเขลาขลาดขยาดกลัวต่อ
การเผชิญหน้ากับความจริง (ความจริงคือทั้งความสมหวังและ
ไม่สมหวังก็คือสภาวทุกข์ เพราะมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น
ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป) จึงได้พยายามค้นคว้า
ตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ และได้บันทึกข้อความ
แสดงสภาวธรรมไว้อย่างสังเขป เพื่อเป็นหลักฐานสอบทานสัจธรรม
ที่มีจริงเป็นจริงในธรรมชาติทั่วไป
ธรรมะทนต่อการพิสูจน์และท้าทายเรียกร้องให้ผู้ที่สนใจมาพิสูจน์
ด้วยตนเองได้ทุกขณะ เท็จจริงประการใด ธรรมะจะตัดสินตรงตาม
สภาพที่รู้เห็น ผู้ใดมีสติปัญญา และมีความแกล้วกล้าอาจหาญจะ
พิสูจน์ดูเมื่อใดก็ย่อมทำได้ จะเห็นได้ตื้นลึกเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการ
ประกอบเหตุเหมาะสมแก่การที่จะได้รับผล
การเดินตามรอยพระอรหันต์ เปรียบเสมือนช่างจักสานที่ไม่เคยสาน
เครื่องสานชนิดหนึ่ง แต่มีตัวอย่างให้ดูว่า จงสานสิ่งนี้ เข้าต้องใช้
ความสังเกตพิจารณาประกอบกับ ศิลปะและจินตนาการ โดยมี
วัตถุนั้นเป็นเครื่องเพ่ง ว่ามันจะเริ่มต้นตรงไหน วนไปเวียนมาสลับ
ซับซ้อนกันอยู่อย่างไร เขาต้องทดลองยักย้ายไปหลายท่าจนกว่าจะรู้
วิธีสานได้อย่างถูกต้อง และคล่องแคล่วว่องไวจนสานเป็น
ในทำนองเดียวกัน การปฏิบัติธรรมมีความมุ่งหมายจะให้รู้ว่า
"สิ่งเหล่านี้เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น กำลังเป็นไป
ตามเหตุ ตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา"
ธรรมชาติที่เป็นตัวเรา เราจะเพ่งให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน มันเริ่มต้น
จาก ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และจบลงที่ ความไม่ใช่ตัวตน
เราจึงต้องเพ่งลงที่ความเคลื่อนไหวเกิดดับของความรู้สึก เพื่อแยก
ลวดลายให้ออกว่า ลักษณะนี้ไม่เที่ยง ลักษณะนี้เป็นทุกข์
เพ่งดูที่ความรู้สึกเกิดดับ ว่าประกอบด้วยธาตุ ขันธ์ อายตนะ
อยู่อย่างไร ซ้ำๆ ซากๆ จนมีประจักษ์พยานที่ สัมผัสได้ด้วย
ญาณปัญญา ว่า ในลมหายใจเข้าออกนี้ เป็นสักว่าธาตุดำเนิน
การปรุงแต่งเป็นอายตนะ ขันธ์ ธาตุ อยู่อย่างนี้ ๆ ๆ ๆ
ซึ่งก่อนจะเป็นญาณปัญญาต้องอาศัย ศิลปะและจินตนาการ
เพ่งอยู่ที่ความรู้สึกเกิดดับที่มีอยู่ทุกขณะ โดยอาศัยลมหายใจ
เป็นมาตรฐาน แล้วจึงสังเกตความรู้สึกที่เกิดจากสิ่งอื่นๆ
กระทบเข้ามา
พระพุทธองค์ทรงเป็น ศิลปินผู้เพ้อฝัน จนรู้เค้าเงื่อนของความ
เพ้อฝัน รู้แจ้งจบในกลไกของมายา ที่พาให้เพ้อฝันทุกชนิด
จนอยู่เหนือความเพ้อฝัน เหล่านั้น อิทธิปาฏิหารย์ ทรงแสดง
ได้เหนือใครๆ และรู้เหนือไปอีกว่าเป็นเพียงสังขาร ใครจะทำได้
หรือไม่ได้ก็ไม่ทรงสนับสนุน เพราะไม่ใช่ทางหลุดพ้นไปจาก
สังสารวัฏ
จึงทรงเน้นให้ฝึกฝนปัญญารู้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ไม่ใช่ตัวตน อันเป็นทางสู่ความหลุดพ้น เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัย
ของทุกคนที่มีความสนใจค้นคว้าหาความจริงจะสามารถ
อบรมให้เกิดปัญญาขึ้นได้ ศิลปะและจินตนาการละเอียดอ่อน
จะช่วยให้การค้นคว้าสัจธรรมดำเนินไปอย่างคล่องตัว
ไม่เบื่อหน่ายท้อแท้ในการพากเพียรค้นคว้า
สภาวธรรมในกายยาววาหนาคืบนี้ มีแยกย่อยเป็นชั้นๆ
คือ ชั้นนอก (อายตนะ) ชั้นกลาง (ขันธ์) ชั้นละเอียด (ธาตุ)
แต่ละชั้นมีรูปนามเกิดดับเป็นชุดๆ เมื่อทุกชั้นเกิดดับสืบต่อกันอยู่
จึงนับชุดความเกิดดับไม่ถ้วน และที่เกิดๆ ดับๆ อยู่นี้ ก็รวมกัน
เป็นกลุ่มเป็นพวง แสดงความหมายตามสมมุติว่าเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้
ตามแต่ละเชื้อชาติภาษา จะกำหนดหมายรู้กันในพวกของตน
แล้วก็สนิทสนมคุ้นเคยกับความหมายรู้นั้นๆ จนยึดมั่นถือมั่น
หรือครอบครองความเป็นความมีว่าเป็นตัวตนของตน
ทั้งหมดนี้เพราะอวิชชา ความไม่รู้กลไกการปรุงแต่งของ
ธรรมชาติ คือกลุ่มชีวิตร่างกายนี้ การปฏิบัติธรรมจึงมุ่งหมาย
เพื่อจะทำลายอวิชชาเป็นข้อสำคัญ ถ้ามุ่งหมายผิดไปจากนี้
ก็จะอ้อมค้อม เนิ่นช้า เสียเวลา
พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอนิจจลักขณะ ทุกขลักขณะ และ
อนัตตลักขณะ ซึ่งเป็นสูตรสำคัญที่สุดที่ทุกคนจะต้องรู้ ว่า
"อวิชชา ไม่รู้จักรูป หลงรูป... และกล่าวรายละเอียดอื่นๆ อีก"
และกล่าวถึง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไว้ในทำนองเดียวกัน
ดังนั้น การศึกษาค้นคว้าเพื่อจะทำลายอวิชชา จึงกำหนดรู้ลงใน
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งกำลังปรากฏอยู่ใน
สภาวธรรมเป็นชั้นๆ ชุดๆ กลุ่มๆ นั้น ให้รู้ทุกความรู้สึกที่ปรากฏ
ซับซ้อน ซึ่งกำลังประสานงานกันอยู่ คือแสดงความรู้สึกเกิดๆ ดับๆ
ทั้งหยาบ กลาง ละเอียด เพราะสิ่งนี้ปรากฏ สิ่งนี้จึงปรากฏ โยงใย
ต่อกันยืดยาวระโยงระยางอยู่อย่างไร ถ้ารู้เห็นได้ทันและชัดแจ้ง
ทะลุทะลวงในชุดชั้นกลุ่มที่กำลังปรากฏ ก็จะเป็นการทำลายอวิชชา
ได้ในขณะที่กำลังรู้เห็นอยู่นั่นเทียว
จะสังเกตอย่างไร จึงจะเห็นสภาวะการทำงานของความรู้สึกที่มัน
เป็นชุด ชั้น กลุ่ม ซึ่งลวงคนให้เห็นว่าเป็นตัวตน อันนี้
ต้องเพ่งดูที่ลมหายใจเข้าออกซึ่งปรากฏอยู่ทุกขณะ ทุกอิริยาบถ
อยู่แล้ว โดยไม่ต้องสร้างรูปแบบใดๆ ขึ้นมาอีก คงสภาพความเป็น
คนธรรมดา ทำอะไรไปตามหน้าที่ ตามฐานะ แล้ว เพิ่มความสังเกต
ในขณะที่กายเคลื่อนไหวเพราะลมหายใจเข้าออก ว่ามีลักษณะอย่างไร
และสังเกตความเคลื่อนไหวของกายขณะเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้รับกลิ่น
ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสทางกาย รับรู้อารมณ์ทางใจ ที่ซ้อนซับสลับกัน
ให้รู้สึกอยู่ตามปรกติวิสัยของคนทั่วไป
การสังเกตความไหว ความเคลื่อนภายในร่างกายนี่เอง ที่รวมเอา
สติสัมปชัญญะไว้ครบถ้วน ไม่ต้องแสดงท่าทีอะไรให้ผิดไปจากปรกติ
ข้างนอกมีความเป็นปรกติเหมือนมนุษย์ทั่วไป แต่ภายในมีความสังเกต
ปฏิกิริยาเคลื่อนไหวของความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา แล้วกิริยามารยาท
จะแสดงออกซึ่งความสำรวมตามธรรมชาติไปเอง
ต่อไปก็ศึกษาให้ลึกซึ้งเข้าไป โดยอาศัยอานาปานสติเป็นหลัก
และอนิจจลักขณะ ทุกขลักขณะ อนัตตลักขณะ และสูตรอื่นๆ
ข้อความอื่นๆ เป็นเครื่องอธิบายขยายความให้รู้ชัดแจ้งใน
สภาวะที่ปรากฏเป็นชั้นๆ ชุดๆ กลุ่มๆ ว่าอะไรเป็นอะไร
แล้วความมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมก็จะสำเร็จผลเป็นที่พอใจ
ผู้ที่มุ่งมั่นจริงจังและจริงใจ ขอจงได้รับผลโดยทั่วหน้าเถิด
วิธีพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม
การเพ่งดูลมหายใจเข้าออก ก็เพื่อพิจารณาแยกดูการทำงาน
ตามธรรมชาติของกายจิต หรือรูปนาม ขันธ์ห้า ที่กำลังดำเนิน
สืบต่อกันอยู่เป็นธรรมดา การรู้เห็นธรรมชาติของกายจิตเป็นไป
อยู่ทุกขณะ นี่คือการปฏิบัติธรรม
การพิจารณาซ้ำซากที่ลมหายใจ จนรู้กาย เวทนา จิต ธรรม
แล้วสังเกตซ้ำซากที่กายจิต จะทำให้จิตสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ง่ายต่อสิ่งที่มากระทบ เพราะจิตมีงานทำอยู่ภายใน หรือเรียกว่า
มีวิหารธรรม เพราะฉะนั้น การสังเกตลมหายใจเข้าออก เราต้อง
ทำให้ติดต่อทุกขณะ ซึ่งมีข้อควรพิจารณาดังนี้
- ขั้นต้น สังเกต รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกตามธรรมชาติ
- ต่อไป สังเกต รู้ร่างกายขยับขึ้นตามลมเข้า ขยับลงตามลมออก
เป็นเองตามธรรมชาติ
- ต่อไป สังเกต ลมเข้ามีความเย็นกว่าลมออก
- ต่อไป สังเกต ลมเข้ามีความหนักกว่าลมออก
- ต่อไป สังเกต ความเคลื่อนเข้า ต่างกับความเคลื่อนออก
(เข้าดูด, ออกผลัก)
- ต่อไป สังเกต ความคงที่ ที่แฝงอยู่กับความเข้าและความออก
- ต่อไป สังเกต ความคงที่ ที่ไม่เปลี่ยนไปกับความเย็นร้อน
อ่อนแข็ง ไหวเคร่ง
- ต่อไป สังเกต ความคงที่ คือ จิตนิ่ง รู้ความเคลื่อนไหว
(จิตสงบเป็นสมาธิ)
- ต่อไป สังเกต ความเคลื่อนไหว เกิดเพราะลมหายใจผ่าน
เข้ามาในร่างกาย
- ต่อไป สังเกต ความเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้นเพราะลมหายใจ
เรียกว่า กาย ความรู้สึกในอาการเคลื่อน เรียกว่า เวทนา
สิ่งที่เคลื่อนเรียกว่า รูปธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)
สรุป
------
การปฏิบัติธรรม คือการฝึกหัดสังเกตธรรมชาติที่มีจริงเป็นจริง
ในตัวเรา
ต่อไป ให้สังเกตพิสูจน์ ให้รู้ชัดว่า สิ่งที่เคลื่อนเป็นรูปธาตุคือ
ดิน น้ำ ไฟ ลม จริง คือ อาการเคลื่อน เข้าๆ ออกๆ
เป็นลักษณะของ ลม ในความเคลื่อนนั้น มีความเย็น อุ่น
ร้อน อย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นคือ ไฟ ในที่เดียวกันนั้น
รู้สึกในความแข็ง-อ่อน หรือ หนักๆ เบาๆ นั่นคือ ดิน
ในกลุ่มที่เคลื่อนที่มีลม ไฟ ดิน มีน้ำ ซึมซาบ ในดิน ดูดเอาไฟ
และลมเข้าจับกลุ่มกันในดิน เคลื่อนไหวเป็นลมหายใจเข้าออก
(ต้องสังเกต พิสูจน์ จนรู้ชัด ไม่ใช่เพียงเข้าใจตามเหตุผล
เพราะธรรมอยู่เหนือเหตุผล คือมีประจักษ์พยานให้รู้ชัดได้
ภายในตน)
สรุป
-----
การรู้เห็นการแจกแจงธาตุทั้งสี่ได้ชัดทุกขณะจิตจะทำให้เกิด
ปัญญาพิจารณาธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้ด้วยตนเอง
หมายเหตุ
-------------
๑. กาย เวทนา จิต ธรรม เป็น สังขารใน ในแง่ที่เป็นกลไก
ภายในที่ละเอียด ล้ำลึกยากที่จะรู้
๒. รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่รู้กันตามสมมุติ
เป็นสังขารนอก และเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารใน
๓. ความรวมรู้กลไกสังขารนอก + สังขารใน เป็นการรวมรู้
ธรรมชาติอย่างทั่วถึง
๔. ความยากของการปฏิบัติธรรม อยู่ตรงที่สภาพธรรมที่
กำหนดรู้ในเบื้องต้นนั้นง่าย จนทำให้คนมักจะมองข้าม
ด้วยคิดว่า ไม่ใช่ธรรมะที่ตนต้องการ ดังนั้นต้องปลูกศรัทธา
เสียก่อน เพื่อกระตุ้นจนสามารถเห็นคุณค่าของการพิจารณา
ด้วยตนเอง
๕. ครั้นปฏิบัติต่อไป ก็จะพบว่า การเพ่งดูธรรมชาติเช่นนี้ยาก
เพราะสภาวะที่จะกำหนดดูสลับซับซ้อนขึ้น จนตามดูไม่ทัน
เนื่องด้วยเหตุนี้ ธรรมะ จึงเป็น ธรรมดา ซึ่งคือธรรมชาติ หรือ
ธรรมะ --> ธรรมดา --> ธรรมชาติ --> ธรรมดา --> ธรรมะ
นั่นเอง (ธรรมะคือสิ่งธรรมดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือธรรมชาติ
ที่มีอยู่ตามธรรมดา คือธรรมะ)
จากหนังสือ "ธรรมะ...ธรรมดา" ของท่านอุบาสิกาละมัย เขาสวนหลวง ราชบุรี
http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/000949.htm?2
ธรรมะ...ธรรมดา
-
- Verified User
- โพสต์: 5786
- ผู้ติดตาม: 0
ธรรมะ...ธรรมดา
โพสต์ที่ 1
"Winners never quit, and quitters never win."
- por_jai
- Verified User
- โพสต์: 14338
- ผู้ติดตาม: 0
ธรรมะ...ธรรมดา
โพสต์ที่ 2
8) สิ่งที่น้องหวีนำมาโพสให้อ่านนี้
ตรงกับที่พระอาจารย์สอนไว้ตอนไปนั่งกรรมฐาน
ที่วัดผาณิตาราม แปดริ้ว ถึง90กว่า% ทีเดียวครับ
ที่เหลือไม่ใช่ไม่ตรง คงเป็นเพราะ
ผมเองจำได้ไม่หมด หนึ่ง
ที่น้องหวี โพสมา
ผมอ่านแล้วก็เข้าใจได้ไม่หมด สอง
ขอบคุณมากครับน้องหวี
เรื่องพวกนี้ผมอ่านกี่ทีก็ไม่เบื่อ
แต่ปฏิบัตไม่ค่อยสำเร็จครับ
ที่โพสอยู่ตอนนี้ ก็กินเบียร์มา 2ขวดกว่าน่าจะได้
แฮะ.. ท่านถึงแบ่งพวกเราเป็นบัว 4 เหล่า
ผมพวก "รู้ทั้งรู้" อยู่ประเภทไหนครับ
อุปจิตตัญญู วิปปจิตตัญญู ปทปรมะ หรือ เนยยะ ดีคร้าบ.........
ตรงกับที่พระอาจารย์สอนไว้ตอนไปนั่งกรรมฐาน
ที่วัดผาณิตาราม แปดริ้ว ถึง90กว่า% ทีเดียวครับ
ที่เหลือไม่ใช่ไม่ตรง คงเป็นเพราะ
ผมเองจำได้ไม่หมด หนึ่ง
ที่น้องหวี โพสมา
ผมอ่านแล้วก็เข้าใจได้ไม่หมด สอง
ขอบคุณมากครับน้องหวี
เรื่องพวกนี้ผมอ่านกี่ทีก็ไม่เบื่อ
แต่ปฏิบัตไม่ค่อยสำเร็จครับ
ที่โพสอยู่ตอนนี้ ก็กินเบียร์มา 2ขวดกว่าน่าจะได้
แฮะ.. ท่านถึงแบ่งพวกเราเป็นบัว 4 เหล่า
ผมพวก "รู้ทั้งรู้" อยู่ประเภทไหนครับ
อุปจิตตัญญู วิปปจิตตัญญู ปทปรมะ หรือ เนยยะ ดีคร้าบ.........
กรูเก่ง กิเลสเก่งกว่า