พรรคหัวหน้าตั้งไม่ยั่งยืน

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

พรรคหัวหน้าตั้งไม่ยั่งยืน

โพสต์ที่ 1

โพสต์

พรรคหัวหน้าตั้งไม่ยั่งยืน(1)

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ
15 กุมภาพันธ์ 2550




ขณะนี้นักเลือกตั้ง อดีตสมาชิกพรรคแตกกำลังเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก จะตั้งพรรคโน้นพรรคนี้ เขาเก่ง เคยตั้งหรือเคยอยู่มาแล้วคนละ 3-4 พรรค
     
       พรรคการเมืองทั้งหมดที่หัวหน้าตั้งล้วนทำตัวเป็นแก๊งเลือกตั้งทั้งสิ้น เป็นตัวถ่วงพัฒนาการเมือง และเป็นข้ออ้างของปฏิวัติรัฐประหาร วงจรอุบาทว์
     
       ความไม่ยั่งยืนหรือจะพูดกันตรงๆ ความด้อยพัฒนาล้าหลังของการเมืองไทย ประชาชนเป็นเพียงแพะรับบาป จำเลยที่แท้จริงมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ 1. กองทัพนักรัฐประหาร กับ 2. พรรคการเมืองแก๊งเลือกตั้ง 3. ระบบราชการแบบรวมศูนย์-รวบอำนาจ 4. นักวิชาการรับใช้
     
       ผมพูดมาหลายหนแล้วว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญอำนาจนิยม อภิชนาธิปไตย มิใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เป็นเครื่องมืออันเหมาะเหม็งในการสร้างเผด็จการแฝงรูปต่างๆ
     
       1. เพราะผู้ที่ร่างล้วนแต่เป็นนักการเมืองและปัญญาชนชั้นนำทั้งสิ้น
     
       2. ผู้ที่คัดเลือกกันเองมาจากตัวแทนทุกจังหวัด ถึงจะติดตราภูธร แต่เกือบทั้งหมดมีอดีตใหญ่โตในราชการ หรือเกี่ยวข้องอยู่ในแวดวงอำนาจที่มีศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น
     
       3. เพราะบุคคลดังกล่าวต่างก็มีแนวคิดและทฤษฎีที่ตึดยึดเกี่ยวกับประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญที่ผิดเป็นส่วนมาก
     
       4. การรับฟังความคิดเห็นประชาชนหรือประชาวิจารณ์ถึงแม้จะมีความตั้งใจ ใช้เวลาและงบประมาณมากมาย อ้างว่ามีความครอบคลุมทั่วถึง แต่ในความเป็นจริง ฉาบฉวย ชี้นำ และตื้นเขิน เกือบจะทุกประเด็น ทุกหัวข้อ ทุกพื้นที่
     
       รัฐธรรมนูญประชาชนจะร่างด้วยคน 2-3 คนหรือคนเดียวก็ยังได้ แต่ขบวนการ เรียนรู้ รับรู้ และ รับรอง รัฐธรรมนูญนั้นจะต้องกว้างขวางครอบคลุมมากที่สุดที่จะมากได้
     
       การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การที่พวกเราเกรงกันอยู่เวลานี้ว่ารัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.จะล่ม ไม่ผ่านประชามติ ทำให้เสียเงินภาษีอากรและเสียเวลาของชาติบ้านเมืองไปเปล่าๆ ก็เพราะยังไม่เห็นมีวี่แววของการมีส่วนร่วมที่ถูกต้อง
     
       ความคิดเห็นของผมก็ดี ของนักวิชาการก็ดี เชื่อถือไม่ได้เสมอไป ความคิดเห็นของประชาชนก็เช่นเดียวกัน หากเราไม่เข้าใจที่ไปที่มา และรากฐานของความคิดเห็นของประชาชนโดยมีหลักคิดที่ถูกต้องแล้ว บางครั้งเราก็อาจจะหลงทางตกเหวไปง่ายๆ ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ประชาชนโง่ เชื่อถือเอานิยายอะไรด้วยไม่ได้
     
       แท้ที่จริง ชนชั้นปกครอง นักวิชาการ และประชาชนจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน จึงจะเป็นประชาธิปไตยหรือสร้างประชาธิปไตยสำเร็จ
     
       ผมขอยกตัวอย่างการฟังเสียงหรือไม่ฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักคิดที่คลาดเคลื่อนว่ามีผลอย่างไรในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว
     
       1. เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ส.ส.ร.ชุดที่แล้วหลายคนเล่าให้ผมฟังว่า จริงๆ แล้ว ถ้าจะเอาเสียงประชาชนเป็นหลัก ประเด็นที่ประชาชนสนใจและเสนอมากที่สุด ก็คือ อยากให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่สภาร่างไม่กล้าหยิบยกขึ้นมาพิจารณา
     
       ผมว่าคิดอย่างนั้นไม่ถูก เราจำเป็นต้องพิจารณา อย่าว่าแต่ประชาชนธรรมดาเลย เพื่อนผมจบปริญญาเอก เคยเป็นเลขาธิการนายกฯ เสนีย์ เวลานี้เป็นศาสตราจารย์วิชารัฐศาสตร์อยู่อเมริกา ยังเสนอให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ผมไม่เห็นด้วย
     
       บางคนก็เอะอะโวยวายว่า พวกอยากให้เลือกนายกฯ โดยตรง อยากจะปูทางไปสู่ระบบประธานาธิบดี บั่นทอนสถาบันกษัตริย์ ผมว่าอาจจะไม่รุนแรงขนาดนั้น แต่เขาคิดไม่ทะลุว่า ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นระบบประกันความเสี่ยง ถือว่า สองหัวดีกว่าหัวเดียว จึงยึด หลักความรับผิดชอบร่วมกัน ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งต่างก็เป็นผู้นำ มีชั่วโมงบิน ผ่านการแข่งขันและตรวจสอบโดยประชาชนและพรรคมาแล้ว
     
       เมื่อลองสาวลงไปให้ลึก ก็จะแลเห็นว่า นี่คือระบบที่สร้างและส่งเสริมภาวะผู้นำ สามารถระดมและรองรับการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย ภายใต้การแยกและแบ่งอำนาจที่มีสมดุล ดีกว่าระบบผู้นำคนเดียว จำกัดเทอม สภาอายุสั้นแต่อยู่ได้ไม่มีที่สิ้นสุดหากได้รับเลือกแบบอเมริกัน
     
       ระบบรัฐสภานี้สอดคล้องและเหมาะสมกับการมีสถาบันกษัตริย์ มีตัวอย่างของความจำเริญให้ดูได้ในสแกนดิเนเวียและยุโรปตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐสวัสดิการ ราษฎรได้รับความเป็นธรรมทั่วถึง
     
       ความคิดเรื่องเลือกนายกฯ โดยตรงนี้เกิดขึ้นก่อนยุคทักษิณ จึงไม่สมควรไปโทษทักษิณทั้งหมด แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่น่าวิตกว่า ผู้ที่นิยมทักษิณจะคว่ำประชามติและเรียกร้องให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง
     
       เราจำเป็นต้องอธิบายให้ประชาชนทราบว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงเป็นหลักที่คลาดเคลื่อน ไม่มีที่ไหนเขาทำ ยกเว้นอิสราเอล ซึ่งก็เลิกไปแล้ว และเป็นหลักที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชนผ่านกลุ่มผู้นำและสถาบันต่างๆ เช่น พรรคการเมือง เป็นต้น
     
      2. การกำหนดวุฒิ ส.ส.ให้จบปริญญาตรี ส.ส.ร.ชุดที่แล้วเหมือนกันเล่าให้ผมฟังว่า จริงๆ แล้วในสภาร่าง ผู้ที่อยากกำหนดวุฒิของ ส.ส. หรือ ส.ว. มีน้อยมาก แต่ทานเสียงของประชาชนไม่ไหว เมื่อแกล้งมองข้ามเรื่องในข้อ 1 ไปแล้ว เรื่องนี้น่าจะโอนอ่อนตามเสียงประชาชนบ้าง
     
       ผมว่าเรื่องนี้ เป็นการเรียนรู้และรับรู้ที่ผิด ขาดการกลั่นกรอง สภาเองขาดหลักคิดและคำอธิบาย กลับไปติดยึดอยู่กับคำถามและคำตอบว่า ผู้แทนที่ไม่มีความรู้กับผู้แทนที่จบปริญญาตรีจะเอาใครดี ซึ่งคำตอบก็แหงอยู่แล้ว นี่คือหลักคิดที่คลาดเคลื่อน ได้คำตอบมาจากคำถามที่คลุมเครือ
     
       คำตอบที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ ประชาชนเข้าใจสิ่งต่อไปนี้เสียก่อน คือ
1. การมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่สามารถจำกัดได้ด้วยฐานะทางการเงินหรือการศึกษา
2. ความหมายของการเป็นผู้แทนราษฎรนั้นขึ้นกับความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนเป็นสำคัญ มิได้ขึ้นอยู่กับความสามารถ ความสามารถหาได้จากระบบราชการที่เป็นกลาง และภาวะผู้นำของสมาชิกชั้นแนวหน้าที่เจนสังเวียนของพรรคการเมือง สามารถคุมให้ระบบราชการที่เป็นกลางรับใช้ประชาชน ตามความต้องการ
     
       เพราะฉะนั้น ประชาชนควรจะเลือกลูกหลานหรือคนของตนที่ไว้เนื้อเชื่อใจและพูดกันรู้เรื่องไว้ก่อน ตามพื้นฐานและลักษณะเฉพาะในภูมิลำเนาของตน ไม่จำเป็นจะต้องไปหาคนที่มีความรู้เลิศลอยมาจากที่ไหน
     
       ผมดีใจที่ได้ยินว่าผู้นำพรรคฝ่ายค้านของทักษิณทั้ง 3 พรรคยืนยันว่าเขตเลือกตั้งเดี่ยว เขตเลือกตั้งเล็ก ผู้แทนคนเดียว เป็นแบบที่ดีและเป็นประชาธิปไตยที่สุด สอดคล้องกับเรื่องไม่ควรกำหนดวุฒิที่ผมกล่าวมา
     
       ข้อคัดค้านต่างๆ จะหมดไป ถ้าหากพรรคการเมืองต่างๆ มิใช่พรรคหัวหน้าตั้ง ที่ทำตัวเป็นแก๊งชิงที่นั่ง เพื่อจะเข้าไปมีส่วนในรัฐบาลลูกเดียว
     
       พวกนี้กำลังจะโผล่หัวแพลมออกมาให้เห็น ส.ส.ร.กำลังจะโห่ร้องต้อนรับ ใครจะช่วยกันหาค้อนทุบและไม้กวาดขนาดยักษ์เตรียมไว้ได้หรือไม่

ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

พรรคหัวหน้าตั้งไม่ยั่งยืน

โพสต์ที่ 2

โพสต์

พรรคหัวหน้าตั้งไม่ยั่งยืน (2)

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ
18 กุมภาพันธ์ 2550




ผมอยากให้คนไทยช่วยกันสำรวจว่า พรรคการเมืองที่หัวหน้าเป็นคนตั้ง มีพรรคใดบ้างที่ยั่งยืน และพรรคใดบ้างที่ยังเป็นข้อยกเว้นอยู่ชั่วคราว รอวันจบ
     
       ตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา เมืองไทยใช้รัฐธรรมนูญและพรรคการเมืองเปลือง มีเลือกตั้งใหม่หรือมีรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อใด ก็มักจะมีพรรคการเมืองใหม่ดอดขึ้นมาเถลิงอำนาจ พอหมดสมัยหรือหัวหน้าหาไม่ พรรคก็หายหัวไปด้วย
     
       เราแทบจะจำชื่อพรรคไม่ได้ จำได้แต่ชื่อหัวหน้า เช่น ป.พิบูลสงคราม สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถนอม กิตติขจร เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ชวลิต ยงใจยุทธ จำลอง ศรีเมือง เป็นต้น พวกนี้เป็นทหาร มียศใหญ่ แต่ไม่ยักมีใครเป็นประชาธิปไตยจริง ออกกฎหมายขอบรมราชานุญาตงดใช้ยศชั่วคราวขณะดำรงตำแหน่งการเมือง
     
       ส่วนที่เป็นพลเรือนเท่าที่จำได้ก็ คึกฤทธิ์ ปราโมช เสวตร เปี่ยมพงศ์ศานต์ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ บุญชู โรจนเสถียร อุทัย พิมพ์ใจชน อาทิตย์ อุไรรัตน์ อำนวย วีรวรรณ เป็นต้น นี่กล่าวเฉพาะรุ่นเฮฟวี่เวต ไม่นับรุ่นขี้คกขี้เจี้ยมที่ กกต.และทรท.ประคบประหงมอยู่เป็นพรรคสำรอง
     
       เมื่อพรรคการเมืองซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีความยั่งยืนแล้ว ประชาธิปไตยจะยั่งยืนได้อย่างไร
     
       ที่พรรคการเมืองไม่ยั่งยืน เป็นเพราะวัฒนธรรมไทยเป็นแบบชนะไหนเข้าด้วยช่วยกระพือ เหมือนกระสือผีห่าลงหากิน ใช่หรือไม่
     
       หรือว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญเอื้ออำนวยหรือบังคับให้เป็น หรือทั้งสองอย่างจะโทษคนหรือโทษโครงสร้างดี
     
       เหมือนเถียงกันเรื่องซ่องกับกะหรี่ คนหนึ่งบอกว่ามีซ่อง จึงมีกะหรี่ อีกคนหนึ่งโต้ว่า ไม่จริง มีกะหรี่ จึงมีซ่อง ผมว่าถูกทั้งคู่ ในปริทัศน์การเมืองไทย
     
       การสั่งปิดตายซ่อง จับพ่อเล้าแม่เล้าไปสัมมนาเมืองลาว หาอาชีพดีๆ ให้คุณตัวใหม่ และดัดสันดานลูกค้าประจำให้เข็ด ทั้งหมดนี้เรียกว่าความกล้าหาญทางการเมือง political will หรือ courage ที่ผู้นำการเมืองไทยไม่เคยมี
     
       ความคิดเป็นต้นแบบของการกระทำ เมื่อคิดไม่ถูกก็กระทำไม่ถูก ผมว่าความล้มเหลวต่อเนื่องของการเมืองไทยตั้งต้นด้วยความผิดที่ผิด แล้วมีทิฐิมานะไม่ยอมแก้ไขเปลี่ยนแนวทาง เนื่องจากความมักง่ายของผู้มีอำนาจ ความประมาทหรือการขายตัวของนักวิชาการ
     
       การร่างรัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีกระบวนการและหลักที่ดี กล่าวเฉพาะหลัก จะต้องถึงพร้อมด้วยหลัก 5 คือ หลักไทย หลักเทศ หลักเทียบ หลักฐาน และหลักคิดหรือหลักเลือก
     
       หลักเทศก็เพี้ยน หลักไทยก็ผิด หลักคิดก็ไม่ผ่าน หลักฐานก็ไม่พอ ทั้งหมดนี้ คือลักษณะของการทำงานร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งของไทย ตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา ครั้งที่ผมเป็นกรรมการร่างในปี 2516 ก็ไม่ยกเว้น นักร่างไทยร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับด้วยภยาคติ ทั้งที่เป็นความกลัวและความลำเอียงเข้าข้างชนชั้นปกครองผู้มีอำนาจ กลัวที่สุดคือกลัวอำนาจผู้แทน กลัวผู้แทนเป็นปัญหา พากันตั้งกลุ่มต่อรอง จึงต้องหาทางป้องกันล่วงหน้าให้ฝ่ายบริหาร โดยบังคับให้ผู้แทนสังกัดพรรค อยู่ภายใต้กฎเหล็กของหัวหน้า จับผู้แทนมาติดคุกเหมือนที่นายเสนาะ เทียนทอง ว่า
     
       เมื่อหัวหน้าซ่องไม่ดี กะหรี่ก็น้ำเน่า คนดีเข้ามาไม่ได้ จึงมีการซื้อเสียง ซื้อผู้แทน ซื้อกลุ่ม ซื้อพรรค เพื่อชิงอำนาจรัฐโดยแก๊งเลือกตั้ง รวมศูนย์-รวบอำนาจ-เป็นทาสหัวหน้า ใครทนไม่ได้จะออกไป ก็มีโซ่ล่ามขาไว้เสียอีก
     
       เราชอบอ้างว่า มีรัฐสภาและสถาบันกษัตริย์คล้ายอังกฤษ ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติหรือพรรคการเมือง ไม่มีร่องรอยหรือมาตรฐานใดๆ เลยที่เราจะแอบอ้างว่าคล้ายคลึงกับของเขาได้ มันคนละโลก
     
       ลองศึกษาดูว่ากษัตริย์อังกฤษมีอำนาจอะไรบ้าง แล้วหันมาดูของเรา ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ในหลวงถูกรัฐสภาส่ง พ.ร.บ.ที่ไม่อาจลงพระปรมาภิไธยได้ไปทูลเกล้าฯ ก็มี ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วรัฐบาลเพิกเฉยไม่นำไปปฏิบัติก็มี ที่จะต้องลงพระปรมาภิไธยก่อนจึงจะมีผลเช่นตำแหน่งสำคัญก็มิส่งมาทูลเกล้าฯ ก็มี ที่ข้ามหัวสภานิติบัญญัติไปใช้อำนาจบริหารไม่เปิดโอกาสให้ลงพระปรมาภิไธยทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ก็มี ดั่งนี้เป็นต้น
     
       อาจารย์วิชารัฐศาสตร์และกฎหมายไทยแทบทุกสำนัก และในสภาร่างทุกยุคหลังพ.ศ. 2490 ได้เผยแพร่และสร้างมรดกทางความคิดประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่ผิด ผมคิดจนหัวจะแตกก็ไม่ออกว่า ท่านไปเอาทฤษฎีหรือหลักฐานข้อเท็จจริงมาจากไหน
     
       ความคิดที่ว่าก็คือ ในโลกนี้ไม่มีรัฐบาลผสมหรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไหนที่อยู่หรือบริหารประเทศได้ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่ดีต้องหาทางแก้อย่าให้เกิดรัฐบาลผสมหรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยเลย
     
       นั่นคือ ยอดแห่งอวิชชาแท้ๆ เพราะแท้ที่จริงประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคง เช่น เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ล้วนแต่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นเรื่องปกติ นานๆ จึงจะมีรัฐบาลผสมหรือรัฐบาลเสียงข้างมากสักที
     
       ทั้งนี้ ก็เพราะเขามีระบบพรรคการเมืองที่พัฒนา (1) มีระบบบริหารพรรคที่เข้มแข็ง เชื่อมั่นและวางเป้าหมายในอนาคตไว้อย่างมั่นคง (2)โครงสร้างของฝ่ายนิติบัญญัติมีความหลากหลาย ไม่รวมศูนย์เป็นแนวดิ่ง ฝ่ายค้านมีประสิทธิภาพ (3) การเลือกตั้งเป็นการแข่งขันที่แท้จริงและยุติธรรม
     
       พรรคการเมืองจึงไม่กระสันอยากจะเป็นรัฐบาล และรอคอยให้เงื่อนเวลาที่ถูกต้องมาถึง แต่ของเรากลัวอดอยากปากแห้งเพราะเป็นฝ่ายค้านอย่างที่บรรหารว่า
     
       ประชาธิปไตยอื่นๆ เช่น อิตาลี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ก็มีรัฐบาลผสมเกือบตลอดเวลา รัฐบาลผสมเนเธอร์แลนด์มีอายุยืนยาว ของอิตาลีสั้น เปลี่ยนบ่อย การเปลี่ยนแปลงบ่อยนี้นักวิชาการไทยใช้คำว่าล้มลุกคลุกคลานไร้เสถียรภาพ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดและตื้นเขินอย่างฉกรรจ์
     
       เสถียรภาพทางการเมืองหมายถึงความสามารถในการรักษาระบบ แม้จะมีการเปลี่ยนตัวบุคคลบ่อยเพียงใดก็ไม่กระทบกระเทือน ความมั่นคงทางการเมืองหมายถึงความเป็นปกติในการเปลี่ยนแปลงตามวาระหรือเมื่อใดก็ได้ตามกติกาที่วางไว้โดยไม่ต้องล้มล้างกติกา ถึงจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยพรรคการเมืองของอิตาลีก็มั่นคง ระบบราชเป็นกลางและรักษากฎหมาย นายกรัฐมนตรีทำผิดก็ถูกจับเข้าคุก อิตาลีสามารถพัฒนาเศรษฐกิจในอัตราสูงกว่าอังกฤษที่รัฐบาลอยู่นานกว่า เป็นต้น
     
       ประชาธิปไตยมิใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบที่ปลอดภัยที่สุด ประชาธิปไตยจึงเน้นความไว้เนื้อเชื่อใจหรือหลักประกัน มิใช่เน้นหลักประสิทธิภาพ
     
       นักร่างรัฐธรรมนูญไทยฝันหาระบบพรรคการเมืองพรรคใหญ่ 2 พรรคหรือ มีนายกรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งแบบประธานาธิบดีซีอีโอ คิดว่าเขียนอย่างไรก็ได้อย่างนั้น หารู้ไม่ว่าประธานาธิบดีอเมริกันไม่เข้มแข็งเท่านายกรัฐมนตรีอังกฤษ และมีอำนาจจริงๆ น้อยกว่าสภาคองเกรส และระบบพรรคของเขาก็วิวัฒนาการขึ้นมาโดยไม่มีข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษเพิ่งจะมีการระบุชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
     
       การนำการเลือกตั้งระบบบัญชีมาใช้โดยอ้างทฤษฎีว่าเพื่อให้พรรคเข้มแข็งเติบโตนั้นก็ยิ่งเพี้ยนหนัก เพราะการเลือกตั้งระบบบัญชีนั้นเขาใช้ทั้งสัดส่วนและร้อยละ เพื่อจะเปิดหนทางให้พรรคเล็กๆหรือพรรคแนวทางใหม่ที่เกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นพรรคกรีน เป็นต้น ได้มีโอกาสเข้ามามีที่นั่งในสภา
     
       พรรคการเมืองของไทยหลังรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมาล้วนแต่มีพิมพ์เขียวและตราประทับของอำนาจนิยมทั้งสิ้น ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งพลิกแพลงอยู่ได้ กับพรรคพลังใหม่ซึ่งตายไปแล้ว ทุกพรรคล้วนแต่ตั้งโดยหัวหน้าเป็นพรรคซื้อ-ขาย ยุบ-รวม ตัดต่อพันธุกรรมทางการเมือง โดยคำนึงถึงที่นั่งในสภาเป็นใหญ่
     
       การเปลี่ยนพรรคการเมืองของไทยจึงมีบ่อยและมีมากที่สุดในโลก ผมไม่เห็นด้วยบรรดาหัวหน้าพรรคและนักวิชาการที่อธิบายว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมันไม่ธรรมดา เช่น อย่างในจังหวัดตรัง นายทวี สุระบาล เปลี่ยนมาเข้าพรรคนายชวน นายจองชัย เที่ยงธรรม เปลี่ยนมาเข้ากับนายบรรหาร
     
       แม้กระทั่งหัวหน้ายังไม่เข้าใจว่าการย้ายพรรคเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน เขาไม่ทำกันนอกจากในกรณีที่อุดมการณ์ขัดกันอย่างรุนแรง แต่ของเราทำเพื่อเพิ่มที่นั่งให้หัวหน้า
     
       การส่งเสริมระบบพรรคการเมืองมีหลายวิธี เช่นให้เงินอุดหนุนเฉพาะพรรค ให้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้ที่นั่งพิเศษในกรรมาธิการ ให้จับเบอร์ได้ก่อนและเหมือนกันทั้งพรรค ฯลฯ แต่การบังคับให้สังกัดพรรคมิใช่วิธีหนึ่ง การตั้งองค์กรอิสระหรือ กกต.ก็มิใช่ กกต.จะเอาคนมาจากไหนที่พอจะรู้อะไร และจะให้ใครคุม กกต. อำนาจอธิปไตยมีอยู่ 3 เท่านั้น องค์กรอิสระเป็นอำนาจอธิปไตยที่ 4 เช่นนั้นหรือ
     
       การที่เราบังคับตีทะเบียนผู้แทนเหมือนวัวควายเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของประชาธิปไตย
     
       การบังคับให้พรรคจดทะเบียนเหมือนบริษัทรับเหมาสร้างถนนของกรมทางก็คือการทำลายระบบพรรค ทำไมจึงจะคิดกันไม่ออกหนอ
     
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็น่าอายพอแล้ว แต่การขายพรรคขายผู้แทนของบรรดาผู้นำการเมืองไทยคือความอัปยศยิ่งกว่า เป็นรอยด่างของระบบพรรคการเมืองไทย ทำลายความเชื่อถือและความเข้าใจของประชาชนเป็นซ้ำสอง หนักเท่ากับความหลอกลวงทางวิชาการของปัญญาชน
     
       ถ้าหากการร่างรัฐธรรมนูญก็ดี คมช.ก็ดี รัฐบาลก็ดี ยังติดยึดอยู่ในกรอบความคิดเก่า พร้อมที่จะขานรับแก๊งที่ตั้งโดยหัวหน้า ทั้งแก๊งเก่าแก๊งใหม่ อนาคตประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขคงจะมืดมนเต็มที
     
       ทางออกที่เห็นอยู่ริบหรี่ คือการเคลื่อนไหวอย่างมีระบบของประชาชน เพื่อบีบการออกแบบให้มีเสรีภาพและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามครรลองและจารีตประชาธิปไตย โดยปวงชนชาวไทยและพระมหากษัตริย์ที่เขารักบูชาและเชื่อใจ
โพสต์โพสต์