[/quote]หมากเงาะก็ได้ เซาซะก็ดี
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันนี้จั่วหัวคอลัมน์เป็นภาษาอีสาน ผู้อ่านหลายท่านคงงง ผมเองตอนแรกๆ ก็งง พอรู้เรื่องก็หัวร่อก๊าก ความหมายก็คือ "ลูกเงาะก็ได้ หยุดเสียก็ดี" ประมาณนั้น หลวงพ่อญาณธธัมโม (หลวงพ่อฟิลลิปส์ จอห์นโรเบิร์ต) ทีแรกผมว่าหลวงพ่อชาวอีสานบ้านผม แต่มารู้ภายหลังว่าท่านเป็นพระต่างชาติ ลูกศิษย์หลวงพ่อชา ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ
หลวงพ่อเทศน์ว่า วันหนึ่งท่านพบพระภิกษุรูปหนึ่งที่มาร่วมงานคล้ายวันมรณภาพของหลวงพ่อชา ที่วัดหนองป่าพง ท่านได้สนทนากับพระรูปนั้น พระรูปนั้นพูดว่า สมัยท่านยังเด็กอายุ 3 ขวบ คุณยายพาไปหาหลวงปู่ขาว นำอาหารไปถวายท่าน
เด็ก 3 ขวบ ไปเห็นเงาะที่โยมใส่บาตร พระท่านเอาเงาะใส่ฝาบาตรวางไว้ข้างๆ เด็กไม่เคยเห็นเงาะมาก่อน เขาเห็นเงาะที่แกะเปลือกออกสีขาวน่ากิน แต่เปลือกมันประหลาดจัง มีสีแดงสีเขียว มีขนยาวๆ ไม่เคยเห็น เขาจ้องดูด้วยความสนใจ ในใจคิดว่า เนื้อหมากไม้ประหลาดนี้คงอร่อยนะ น่ากินจัง
หลวงปู่รู้ว่าเขาคิดอะไร จึงเรียกเด็กกระเถิบมาใกล้ๆ แล้วถามว่า อยากกินเงาะไหม เด็กตอบว่า อยากกิน
จากนั้นหลวงปู่จึงบอกว่า มาแลกกัน ถ้าหนูนั่งสมาธิให้หลวงปู่เห็น หลวงปู่จะให้กินเงาะทั้งฝาบาตรนี้เลย เด็กถามว่า นั่งสมาธิทำอย่างไร หลวงปู่บอกว่า นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หลับตา ให้ภาวนาไปด้วย เด็กถามว่า ภาวนาทำอย่างไร หลวงปู่พูดเป็นภาษาอีสานว่า
"ให้ภาวนาว่า หมากเงาะ หมากเงาะ หมากเงาะ"
ภาษากลางก็ว่า "ลูกเงาะ ลูกเงาะ ลูกเงาะ"
"หมากเงาะก็ได้" หลวงปู่บอก เพราะเด็กเป็นเด็กอีสาน ให้ภาวนาด้วยภาษาอีสานดีกว่า
นี่คือที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้
หลวงปู่ญาณธัมโมเล่าว่า เด็กคนนั้นนั่งสมาธิ ภาวนาว่า "หมากเงาะ หมากเงาะ หมากเงาะ" ตามที่หลวงปู่บอก ขณะภาวนาหมากเงาะหมากเงาะ เด็กก็อยากกินลูกเงาะเต็มที่ จนเลียริมฝีปากไปด้วย (น้ำลายไหลหรือเปล่า หลวงพ่อไม่บอก)
ขณะภาวนาไป นานเข้า นานเข้า จิตใจก็เป็นหนึ่ง แล้วเกิดแสงสว่าง เหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง สบาย เหมือนกายหาย จิตใจเหมือนมีความสุขมากๆ และรู้สึกอยู่ในอาการอย่างนั้น
ไม่นานก็ได้ยินระฆังดังขึ้น ลืมตาขึ้น หลวงปู่นั่งสมาธิเฝ้าอยู่ หมากเงาะก็ยังเต็มฝาบาตรของท่าน แต่เวลาเด็กมองซ้ายขวาไม่มีพระเณรอยู่ในศาลาเลย ญาติโยมอื่นๆ ก็หายไปด้วย มีแต่หลวงปู่กับเด็กน้อยสองคนเท่านั้น
เสียงระฆังคือเสียงเรียกให้พระเณรลงมากวาดลานวัด เป็นเวลาบ่าย 3 โมง เด็กนั่งสมาธิตั้งแต่เช้าถึงบ่าย 3 โมง รวม 8 ชั่วโมงพอดี
เมื่อออกจากสมาธิแล้ว หลวงปู่ก็ให้หมากเงาะทั้งฝาบาตร เด็กคนนั้นก็กินลูกเงาะทั้งหมดด้วยเพราะอยากกิน หลวงปู่เรียกคุณยายเด็กน้อยมาบอกว่า
"เด็กคนนี้จะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาต่อไป"
เด็กคนนั้นก็คือ พระภิกษุรูปที่หลวงพ่อญาณธัมโมได้สนทนาด้วย ในวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงปู่ชานั้นเอง ท่านไม่บอกว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน
เราจะเห็นว่า ถ้าจิตเราสนใจอะไร มีความตั้งใจมั่นในอารมณ์เดียว ก็สามารถที่จะรวมเป็นสมาธิได้ เหตุที่จะทำให้จิตเป็นสัมมาสมาธินั้น ก็ต้องทำใจให้จดจ่อในกุศลธรรม จดจ่อในสิ่งที่ทำให้จิตใจผ่องใส จิตใจสะอาด จิตใจเกิดความเอิบอิ่ม ความสบายในอารมณ์นั้น
หลวงพ่อได้ขยายต่อไปว่า
"จิตที่เป็นสมาธินั้นจะมีอานิสงส์ (ผลดี) 4 ประการคือ ทำให้มีความสงบสุขเกิดขึ้น ความสงบและความสุขมาด้วยกัน ความสงบนั้นเป็นสิ่งที่เราปรารถนา เป็นความสงบปราศจากอารมณ์ และความสุขนั้นคือความสบายทั้งจิตทั้งใจเรา และเกิดความบริสุทธิ์ เราจะเข้าถึงจิตที่บริสุทธิ์ที่สะอาด สะอาดจากอะไร สะอาดจากนิวรณ์ (กิเลสเครื่องปิดกั้นความเจริญก้าวหน้า) และเราจะได้เข้าถึง จิตที่มีพลัง มีกำลังมีอำนาจทำให้เราอัศจรรย์ในอำนาจของจิตนี้ และเกิดความสว่างไสว คือแสงที่สว่างไสวจ้ามาก ทำให้เรารู้สึกว่า จิตก็อัศจรรย์"
สรุปด้วยคำพูดของผมคือ จิตที่เป็นสมาธิจะมีลักษณะ 4 ประการคือ
(๑) เกิดความสงบ
(๒) เกิดความบริสุทธิ์
(๓) เป็นจิตมีพลัง
(๔) เกิดความสว่างไสว
หลวงพ่อญาณธัมโมเทศน์ต่อไปว่า มีเณรรูปหนึ่งที่วัดหนองป่าพง สมัยหลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่ หลวงพ่อท่านเทศน์นานมาก บางครั้งตลอดทั้งคืน พระทั่วไปต้องอดทน ต่อสู้กับทุกขเวทนา
วันหนึ่งหลวงพ่อขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เณรก็ไปฟัง นั่งฟังจนถึงตี 3 เณรก็ไม่ลุกจากอิริยาบถนั่งสมาธิ นั่งตลอดช่วงเช้า จนพระออกบิณฑบาต เณรก็ยังนั่งอยู่ นั่งต่อจนพระทั่วไปกลับจากบิณฑบาต เธอก็ไม่ลุกขึ้นมาฉันเช้า จนกระทั่งถึง 10 โมงเช้า จึงออกจากสมาธิ พระทั้งหลายก็ร้องว่า "โอ้ เณรนี้อัศจรรย์จริงๆ นั่งสมาธิตั้งนาน"
เณรเล่าให้ฟังว่า คืนนั้นหลวงพ่อชาเทศน์ เธอเบื่อมาก อยากกลับไปนอน แต่หลวงพ่อก็ไม่หยุดเทศน์สักที เบื่อแสนเบื่อ จึงภาวนาเป็นภาษาอีสานว่า "เซาซะ เซาซะ เซาซะ เซาซะก็ดี"
ความหมายก็คือ "หยุดเถอะ หยุดเถอะ หยุดเสียก็ดี"
ภาวนาไปจิตก็จดจ่ออยู่กับเรื่องอยากให้หลวงพ่อเลิกเทศน์ พลันจิตก็พลิกเป็นปัญญาว่า ตนเองทำไมไม่เลิก ไม่เลิกคิดในแง่ไม่ดี ทำไมไม่เลิกในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ทำไมยังโง่อยู่ ทำไมไม่เกิดธรรม ไม่เกิดแสงสว่าง
ก็เลยเอาเลิกเถอะ เลิกเถอะ เป็นข้อกรรมฐาน เป็นกุศลจิตว่าให้เลิกการบ่น ให้เลิกสิ่งที่เป็นอกุศล ให้เลิกสิ่งที่ไม่ดี จนจิตรวมเป็นสมาธิกรรมฐาน
นี้คือที่มาของหัวข้อเรื่อง ท่อนที่สองว่า "เซาซะก็ดี"
ในเรื่องนี้ ท้ายสุดเราก็ได้ภิกษุสามเณรรวมสองรูป รูปแรกอยากกินเงาะ ถึงกับยอมภาวนา "หมากเงาะ หมากเงาะ" แต่พอภาวนาไป จิตก็เป็นสมาธิ แน่วดิ่ง จนนั่งตลอดเวลานานยังไม่ลุกจากสมาธิ
รูปที่สอง ฟังเทศน์ยาวนานมาก เบื่อ เมื่อไหร่หลวงพ่อจะเลิกเทศน์ซะที จึงเผลอภาวนาว่า "เซาซะ เซาซะ" เทศน์อยู่ได้ อะไรประมาณนั้น ภาวนาไป จิตก็พลิกกลับ ปัญญาก็เกิดขึ้น ทำไมเราอยากให้หลวงพ่อหยุด ทำไมเราไม่หยุดคิดอกุศล และแล้วก็เอาเสียงภาวนานั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน จิตก็เป็นสมาธิแน่วดิ่ง จนกระทั่งนั่งไม่เลิก นั่งได้นานที่สุด
อ่านกัณฑ์เทศน์ของหลวงพ่อแล้ว ทำให้ได้ความคิดและความรู้อย่างดี ท่านเทศน์ง่ายๆ เล่าเรื่องดูเหมือนผิวเผิน แต่แฝงแง่ธรรมปฏิบัติลึกซึ้ง อันหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ พระอาจารย์กรรมฐานนั้น ท่านย่อมรู้จริตนิสัย แนวโน้ม ความถนัด ของศิษย์แต่ละคนอย่างดี ว่าคนไหนควรให้ฝึกฝนด้วยเทคนิควิธีใด จึงจะได้ผล
เสน่ห์ของการสอนธรรมของพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลายอยู่ตรงนี้ครับ บางรูป "เทศน์ด้วยการไม่เทศน์" ก็ได้ผลมหาศาล ผิดกับพระนักเทศน์ทั่วไปที่ตะโกนปาวๆ ผ่านสื่อต่างๆ เสียอีก
หมากเงาะก็ได้ เซาซะก็ดี
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
หมากเงาะก็ได้ เซาซะก็ดี
โพสต์ที่ 1
-
- Verified User
- โพสต์: 5786
- ผู้ติดตาม: 0
หมากเงาะก็ได้ เซาซะก็ดี
โพสต์ที่ 2
"Winners never quit, and quitters never win."
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
หมากเงาะก็ได้ เซาซะก็ดี
โพสต์ที่ 6
ปัจจัยสำคัญของการฝึกอบรม
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เขียนต้นฉบับในวันที่ 16 มกราคม 2550 ตรงกับวันครูพอดี และเป็นวันที่วงการครูและชาวไทยทั้งประเทศสูญเสียครูจูหลิง ครูผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่ ร่างของเธอได้ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน แต่ความดีงามของเธอยังจรัสจ้าอยู่ในห้วงสำนึกของคนไทยทั้งมวลไม่รู้ลืม ขอบูชาคุณความดีของครูจูหลิงผู้ล่วงลับ
พระไตรปิฎก อันเป็นบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า "เวลาพระอาทิตย์จะขึ้น ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน เป็นนิมิตหมายว่า เดี๋ยวก็จะมีพระอาทิตย์โผล่ขึ้นท้องฟ้าให้เห็น ข้อนี้ฉันใด ก่อนที่อริยมรรคมีองค์ 8 จะเกิดขึ้นและพัฒนาจนสมบูรณ์นั้น ก็ย่อมมี 2 อย่างเกิดขึ้นก่อนเป็นบุพนิมิต คือ ปรโตโฆสะ และ โยนิโสมนสิการ ฉันนั้น"
วันนี้ขอพูดถึงเฉพาะปัจจัยแรกคือ ปรโตโฆสะ
ปรโตโฆสะ แปลตามตัวอักษรว่า "เสียงจากคนอื่น" เป็นศัพท์เทคนิคทางพระแท้ๆ เลย แม้พระภิกษุสามเณรบางกลุ่มที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนก็แปลไม่ออก หรือแปลออกก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ปรโตโฆสะ หมายถึง "สิ่งแวดล้อม" ครอบคลุมถึงสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ และสิ่งแวดล้อมทางบุคคลหรือสังคม
พูดให้ชัดก็คือ ทุกอย่างที่แวดล้อมเราเรียกว่า ปรโตโฆสะ
พระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกมีผลต่อการฝึกฝนอบรมมิใช่น้อย คนเรานั้นมีแนวโน้มจะดีหรือชั่ว เพียงเพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ถ้าเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาตนเป็นคนดี เขาก็อาจจะกลายเป็นคนชั่วคนเลวได้ ตรงข้ามถ้าเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาก็จะเป็นคนดีที่สังคมปรารถนาได้
คัมภีร์พุทธศาสนาได้ยกนิทานมา "สาธก" เกี่ยวกับอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเรื่องหนึ่ง (ความจริงหลายเรื่อง แต่นึกได้เรื่องเดียว) มีความว่า มีลูกนกแขกเต้าสองตัว ลูกพ่อแม่เดียวกัน วันหนึ่งเกิดพายุกล้า พัดพาเอาลูกนกทั้งสองไปคนละทิศละทาง ลูกนกตัวหนึ่งถูกลมหอบไปตกลงที่กองอาวุธของพวกโจร พวกโจรจึงนำมันไปเลี้ยง ตั้งชื่อมันว่า "สัตติคุมพะ" (แปลแบบไทยๆ ก็ว่า "ไอ้หอก")
อีกตัวหนึ่งลมหอบไปตกลงท่ามกลางพุ่มไม้ใกล้อาศรมของพวกฤๅษี พวกฤๅษีจึงนำมันไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อว่า "ปุปผกะ" (แปลว่า "ไอ้ดอกไม้")
พวกโจรนั้นวันๆ ก็พูดแต่คำหยาบคาย มีแต่เรื่องฆ่าเรื่องปล้น ไอ้หอกมันก็เลียนเสียงพูดที่หยาบคายของพวกโจร ส่วนพวกฤๅษีพูดไพเราะ ไอ้ดอกไม้มันก็เลียนเสียงพูดที่สุภาพไพเราะตาม
วันหนึ่งพระเจ้ากรุงปัญจาละ เสด็จไปล่าเนื้อ ติดตามด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก เกิดพลัดหลงกับเหล่าข้าราชบริพาร เสด็จเข้าป่าลึกไปตามลำพัง ทรงเหน็ดเหนื่อย จึงพักผ่อนใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง พลันได้ยินเสียงมาแต่ไกลว่า "ฆ่ามันเลย ปล้นมันเลย" ทรงตกพระทัย เหลียวซ้ายแลขวาไม่เห็นใคร แหงนพระพักตร์ขึ้นไปยังเบื้องบน จึงทอดพระเนตรเห็นนกน้อยตัวหนึ่งพูดภาษาคนแจ้วๆ ล้วนแต่คำหยาบคายทั้งนั้น
เสด็จไปได้สักระยะหนึ่งก็ลุถึงอาศรมของพวกฤาษี ขณะนั้นพวกฤๅษีไม่อยู่ มีแต่นกน้อยตัวหนึ่ง ร้องต้อนรับว่า "ท่านผู้เจริญ พักผ่อนก่อน ท่านผู้เจริญดื่มน้ำก่อน" ทรงนึกชมว่า นกน้อยตัวนี้พูดไพเราะจัง ไม่เหมือนตัวที่ผ่านมา
เมื่อพวกฤๅษีกลับมายังอาศรม พระเจ้ากรุงปัญจาละ จึงเล่าเรื่องนกสองตัวให้ฟัง พวกฤๅษีกล่าวว่า ความจริงนกสองตัวนี้ เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน แต่บังเอิญว่าเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน นิสัยใจคอจึงแตกต่างกันดังที่เห็น
นิทานเรื่องนี้ต้องการชี้ว่า อย่าว่าแต่คนเลย แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ก็ย่อมจะแตกต่างกันไปด้วย
เราคงเคยสังเกตเห็นว่า สัตว์ที่เกิดในเมืองหนาว มักจะมีขนยาวหนา ต่างจากสัตว์เมืองร้อน ด้านกายภาพ มันก็ยังปรับตัวให้เข้ากับสภาพของดินฟ้าอากาศ เรื่องนิสัยใจคอ มันก็ย่อมต่างกันไปตามธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน
พูดถึงเรื่องนี้นึกถึงหลวงพ่อปัญญานันทะขึ้นมาได้ สมัยก่อนยังไม่เคยมีพระภิกษุไทยไปต่างประเทศ หลวงพ่อปัญญานันทะดูเหมือนจะเป็นพระไทยรูปแรกที่ได้รับนิมนต์ไปต่างประเทศ ถัดจากหลวงพ่อปัญญานันทะมา จึงมีพระเป็นจำนวนมากได้ไปเมืองนอกเมืองนา ถึงวันนี้มีพระไทยไปสร้างวัดสร้างวากัน โดยเฉพาะที่อเมริกาเป็นสิบเป็นร้อยวัดแล้ว
เหตุเกิดที่ยุโรป ท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ หลวงพ่อปัญญานันทะ ใส่ถุงเท้าและข้างในก็ใส่เสื้อขนสัตว์ แล้วห่มจีวรทับ เพื่อป้องกันหนาวตามคำแนะนำของญาติโยมที่อยู่ที่นั่น เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น อาจจะปอดบวมตายได้ แต่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจากเมืองไทย ไม่พบท่านหลวงพ่อปัญญานันทะ จึงเรียนถามว่า "ท่านไม่รักษาวินัยหรือ"
"เจริญพร เป็นพระต้องรักษาวินัยอยู่แล้ว" หลวงพ่อตอบ
"ทำไมท่านนุ่งห่มอย่างนี้ ไม่ผิดวินัยหรือ" โยมคนนั้นซักอีก
"เจริญพร อาตมาเป็นคนนะ ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน" หลวงพ่อตอบ แล้วต่อว่า "สัตว์เดรัจฉานเช่นแพะแกะ อยู่เมืองหนาว ยังมีขนยาวหนา เพื่อป้องกันหนาว คนมีปัญญากว่าสัตว์เดรัจฉานนะโยม"
เรื่องนี้ให้ "สัจธรรม" อย่างหนึ่ง คือสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อคนมาก คนเมืองร้อนไปเมืองหนาว ยังต้องรู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับดินฟ้าอากาศเมืองหนาว นี้แค่ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันนะครับ สภาพของดินฟ้าอากาศยังมีอิทธิพลต่อคนเพียงนี้ ต่อเรื่องอื่นล่ะจะมีอิทธิพลมากแค่ไหน
ยิ่งถ้าเป็นสิ่งแวดล้อมทางบุคคลด้วยแล้ว อิทธิพลย่อมมากกว่าสิ่งแวดล้อมทางวัตถุหลายร้อยเท่านัก ขอให้นึกถึง จอมโจรองคุลิมาล นึกถึงพระเจ้าอชาตศัตรู ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา แล้วจะเห็นชัด
องคุลิมาล เดิมชื่อ อหิงสกะ (แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน) เป็นบุตรปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี ได้รับการศึกษาอบรมจากพ่อแม่อย่างดี โตมาได้เป็นศิษย์ศึกษาศิลปวิทยาอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ แห่งเมืองตักศิลา อันเป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อมากในยุคนั้น
อหิงสกะ เป็นเด็กขยันหมั่นเพียร ตั้งอกตั้งใจเรียน เป็นเด็กมีความประพฤติดีและเรียนเก่ง จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์มาก แต่เพราะความดีความเก่งของอหิงสกะนั้นเองที่ทำให้ชีวิตเธอผันแปรจากแนวทางที่ควรจะเป็น
เด็กนักศึกษาคนอื่นๆ อิจฉาอหิงสกะ จึงหาทางยุยงให้อาจารย์เข้าใจอหิงสกะผิด แรกๆ ไม่เชื่อ แต่หลายคนพูดเข้า บ่อยเข้า อาจารย์ก็เชื่อว่าอหิงสกะนั้นคิด "ล้างครู" เป็นศิษย์อกตัญญู (ทั้งๆ ที่ไม่มีวี่แววอะไรเลย) จึงวางแผนกำจัด
สั่งให้อหิงสกะไปฆ่าคนเอานิ้วมาให้ครบพันนิ้วแล้วจะประสิทธิ์ประสาทวิชาชั้นยอดให้ อหิงสกะเชื่อมั่นในอาจารย์ ด้วยความอยากได้วิชาชั้นยอด จึงไปฆ่าคนเอานิ้วมือได้หลายนิ้วก็ร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้ จึงกลายเป็นโจร "องคุลิมาล" ในที่สุด
วิถีชีวิตขององคุลิมาลคงดิ่งลงต่ำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้พระพุทธองค์เสด็จมาโปรด จนกระทั่งเลิกละความชั่ว บวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์
แง่คิดจากเรื่องนี้ก็คือ อหิงสกะได้สิ่งแวดล้อมทางบุคคลไม่ดี คืออาจารย์ทิศาปาโมกข์ ไม่ได้เป็น "กัลยาณมิตร" (มิตรแท้) ของอหิงสกะ ตรงข้ามกลับทำตัวเป็น "บาปมิตร" (มิตรชั่ว) ไป จึงชักนำให้เห็นผิดเป็นชอบ
พระเจ้าอชาตศัตรูเช่นเดียวกัน ถ้าไม่พบพระเทวทัต วิถีชีวิตก็คงไม่หักเหจากแนวทางที่ควรเป็นดังที่ทราบกันแล้ว แต่บังเอิญช่วงนั้นพระเทวทัตคิดจะปกครองสังฆมณฑลแทนพระพุทธเจ้า ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำตามที่ตนปรารถนา จึง "อกหัก" คิดว่า ถ้าได้เจ้าชายอชาตศัตรูสนับสนุนแผนการก็จะสำเร็จง่ายขึ้น
จึงไปพูดเกลี้ยกล่อมอชาตศัตรูต่างๆ นานา จนกระทั่งเจ้าชายทรงเลื่อมใส ยกให้เป็นอาจารย์ พอได้จังหวะเหมาะ จึงยุให้เจ้าชายปลงพระชนม์พระราชบิดายึดเอาราชสมบัติ (ทั้งๆ ที่อยู่เฉยๆ อีกไม่นานก็จะได้เป็นของพระองค์อยู่แล้ว เนื่องจากพระองค์เป็นรัชทายาท) แต่ด้วยลิ้นเล่ห์ของเทวทัต เจ้าชายก็หลงเชื่อ จนถึงกับทำ "ปิตุฆาต" ทำอนันตริยกรรม (กรรมหนัก) ยากจะแก้ไขให้คงคืน
แม้ว่าในตอนหลัง จะเข้าไปสารภาพผิดต่อพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร พระพุทธองค์ตรัสภายหลังว่า "ถ้าอชาตศัตรูไม่ได้ทำปิตุฆาต หลังจากฟังธรรมแล้วจะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลทันที แต่เนื่องจากทำกรรมหนักถลำพลาดเกินกว่าจะแก้ไขเสียแล้ว จึงไม่ได้บรรลุอะไร"
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะอชาตศัตรูได้สิ่งแวดล้อมทางบุคคลที่ไม่ดี ได้พระเก๊ พระเทียม พระที่ไม่ประพฤติตนอยู่ในธรรมวินัยเป็นอาจารย์ จึงถูกยุยงให้เห็นผิดเป็นชอบ
พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นนักเน้นหนาว่า ในการฝึกฝนอบรมตนนั้น สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงก่อน ต้องจัดให้เหมาะสมให้เอื้ออำนวยแก่การฝึกฝนอบรม
- จะให้อยู่ที่ไหน ที่อยู่นั้นเหมาะสมหรือไม่ (นี้คือสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ)
- จะให้อยู่กับใคร ใครเป็นผู้ให้การฝึกฝนอบรม (นี้คือสิ่งแวดล้อมทางบุคคล)
เมื่อได้สิ่งแวดล้อมดี เหมาะสม เอื้อต่อการฝึกฝนอบรมแล้ว คนคนนั้นก็จะเดินไปสู่ความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งมั่นปรารถนา
นี้แหละที่พระท่านว่า ได้สิ่งแวดล้อมดีแล้ว อริยมรรคมีองค์แปดก็จะเกิดขึ้นและพัฒนาจนสมบูรณ์
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
หมากเงาะก็ได้ เซาซะก็ดี
โพสต์ที่ 7
ปัจจัยสำหรับการฝึกอบรม (จบ)
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
อาทิตย์ที่แล้ว ได้ยกพุทธวจนะจากพระไตรปิฎกเกี่ยวกับปัจจัยของการฝึกอบรม 2 ประการว่า เป็นนิมิตหมายแห่งการพัฒนาก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต ดุจแสงเงินแสงทองเป็นนิมิตหมายแห่งอุทัยขึ้นของดวงอาทิตย์ฉะนั้น
ปัจจัย 2 ประการคือ ปรโตโฆสะ (สิ่งแวดล้อมที่ดี) และโยนิโสมนสิการ (การรู้จักคิด) ประการแรก ผมได้เขียนถึงแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา วันนี้ก็พูดถึงปัจจัยที่สองคือ โยนิโสมนสิการ
โยนิโสมนสิการ พระท่านแปลว่า คิดโดยอุบายอันแยบยล เด็กสมัยนี้ (อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่สมัยนี้ด้วยแหละ) ฟังแล้ว "เป็นงง" ว่าหมายถึงอะไร ถ้าจะแปลให้เข้าใจง่ายก็คือ "รู้จักคิด" หรือ "คิดเป็น"
การคิดเป็น นำไปสู่การแก้ปัญหาเป็น หรือแก้ปัญญาได้ ถ้าคิดไม่เป็น ถึงจะพยายามแก้ปัญหา ก็แก้ไม่เป็น ยิ่งแก้ก็ยิ่งสร้างปมปัญหา หรือยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น
มีเรื่องเล่าขานกันมา (เขาว่าเป็นเรื่องจริง) นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง มีชื่อเสียงโด่งดังด้วย เอ่ยชื่อก็ร้องอ๋อทุกคน แกเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีสมองเป็นเลิศ ใครๆ ก็เรียนทฤษฎีของแก แต่ก็เฉพาะในเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่ในเรื่องอื่น แกก็ไม่ต่างจากสามัญชนทั่วไป คือเรื่องกล้วยๆ ง่ายๆ แกก็แก้ปัญหาไม่ได้
ว่ากันว่าแกเลี้ยงแมวไว้สองตัว เวลาแกเข้าไปในห้องแล็บ เจ้าแมวสองตัวมันก็ร้องเมี้ยวๆ ขอเข้าไปด้วย ก็เปิดประตูให้มันเข้า สักพักมันก็ร้องเมี้ยวๆ ขอออกไปข้างนอก กำลังมีสมาธิอยู่กับการทดลอง ก็ต้องลุกขึ้นมาเปิดประตูให้มันออก บ่อยเข้าแกก็คิดแก้ปัญหา
เจาะรูให้แมวเข้า-ออกสองช่อง คิดตามประสาของแกว่า ช่องใหญ่ให้แมวตัวโตเข้า-ออก ช่องเล็กให้แมวตัวเล็กเข้า-ออก เหตุการณ์ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี โดยที่แกก็ไม่ได้สังเกตว่าแมวตัวไหนเข้า-ออกช่องไหน
วันหนึ่งเพื่อนซี้คนหนึ่งมาเยี่ยมแกที่ทำงาน สังเกตเห็นช่องสองช่อง จึงเอ่ยปากถามว่าช่องอะไร นักวิทยาศาสตร์ร้อยแปดสิบไอคิวตอบว่า ช่องแมวเข้า-ออก
"แมวมันร้องเข้า-ออกวันละไม่รู้กี่ครั้ง ผมรำคาญจึงเจาะช่องให้มันเข้า-ออกตามชอบใจมัน
"ทำไมต้องมีสองช่อง" เพื่อนซัก
"ช่องใหญ่ให้แมวตัวโตเข้า-ออก ช่องเล็กให้แมวตัวเล็กเข้า-ออก" นักวิทยาศาสตร์ใหญ่ตอบ
เมื่อเพื่อนท้วงว่า เจาะช่องเดียวให้มันใหญ่พอที่แมวทั้งสองตัวลอดได้ก็พอ ทำไมต้องเจาะสองช่อง นักวิทยาศาสตร์ก็ร้องเสียงดังว่า "เออ จริงด้วย"
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของ "โยนิโสมนสิการ" เป็นอย่างดีครับ นักวิทยาศาสตร์ใหญ่ท่านนั้น ไม่มีโยนิโสมนสิการในเรื่องทำช่องให้แมวเข้า-ออก คือคิดไม่เป็น เมื่อคิดไม่เป็นก็เลยแก้ปัญหาไม่ถูกไม่เป็นไปด้วย
พระท่านจึงสอนว่า ความคิดนี้สำคัญ เพราะเป็นรากเหง้าแห่งการกระทำ ถ้าคิดผิด การกระทำก็ผิดไปด้วย ถ้าคิดถูกคิดเป็น การกระทำก็ถูกไปด้วย เวลาสอนเรื่อง "กรรม" พระท่านจะสอนว่า "มโนกรรม" (กรรมทางใจคือความคิด) สำคัญที่สุด ดังพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏเฐน ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ
แปลเป็นภาษาไทยว่า "ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง สรรพสิ่งมีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ ถ้าคนเรามีใจคิดชั่วแล้ว การกระทำ การพูดก็พลอยชั่วไปด้วย เพราะพูดชั่ว ทำชั่วนั้น ความทุกข์ย่อมจะตามสนองเขา ดุจดังล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนฉะนั้น"
คราวที่แล้ว ได้พูดว่า สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนกลายเป็นคนดีหรือเลวได้ ได้ยกตัวอย่าง อหิงสกกุมาร กลายเป็นมหาโจรองคุลิมาล อชาตศัตรูราชกุมาร ถลำทำชั่วถึงขั้นปิตุฆาต (ฆ่าพระราชบิดา) ก็เพราะทั้งสองได้ "สิ่งแวดล้อมทางบุคคล" ไม่ดี คือได้อาจารย์ชั่ว จึงกลายเป็นคนชั่วไป
ถึงสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลอย่างไร ก็หาใช่ทุกกรณีไม่ ถ้าหากคนเรามีความคิด รู้จักคิด และมีพลังใจกล้าแข็ง สิ่งแวดล้อมที่เลว ก็มีอิทธิพลเหนือเขาไม่ได้ ตรงข้ามเขาคนนั้นย่อมสามารถผันแปรสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีนั้นให้กลายเป็นประโยชน์แก่ตัวเขาได้
ยกตัวอย่างง่ายๆ ก่อน ถ้าเราเป็นนักเรียน มีความมุ่งมั่นจะศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ใส่ตัวจริงๆ มีจิตใจกล้าแข็งจริง ถึงจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยจะอำนวยต่อการศึกษา เช่น อึกทึกครึกโครม พลุกพล่านไปด้วยผู้คน เราก็สามารถบังคับตัวเอง ฝึกตนเองให้ "ชิน" ต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จนกระทั่งไม่ "รับเข้ามา" เป็นอาจารย์กวนใจได้ พูดง่ายๆ ว่า เราสามารถนั่งอ่าน หรือท่องหนังสือได้ ท่ามกลางความอึกทึกครึกโครมนั้น ทั้งนี้ เพราะเรา "รู้จักคิด" หรือ "คิดเป็น"
รู้จักคิดว่า ขณะนี้เราเป็นอะไร เรากำลังทำอะไร (เราเป็นนักเรียน กำลังมาเรียนเพื่อหาความรู้ไปประกอบอาชีพในกาลข้างหน้า การเรียนสำคัญกว่าอย่างอื่น เมื่อคิดได้ ก็จะไม่ยอมปล่อยตัวให้ล่องลอยไปตามกระแสภายนอก
คนเราไม่สามารถจะ "จัดการ" กับสิ่งแวดล้อมภายนอกได้เสมอไป แต่เราก็มีเสรีภาพในการ "แปร" สิ่งแวดล้อมภายนอกที่ไม่ดีให้กลายเป็น "ดี" คือให้เป็นคุณประโยชน์แก่เราเองได้
เพราะความรู้จักคิด หรือคิดเป็นมันสำคัญปานฉะนี้ โบราณาจารย์ท่านถึงย้ำเน้นให้ฝึกคิดอยู่เสมอ ความรู้ที่ได้จากการคิดถูกคิดเป็น ท่านเรียกว่า "จินตามยปัญญา" ถ้าใครเกิดจินตามยปัญญาแล้ว มักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือการปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดของตนโดยอัตโนมัติ
ขอยกตัวอย่างเรื่องในประวัติศาสตร์อินเดีย (เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วยบางส่วน) มหาโจรจันทร์คุปต์ (ว่ากันว่าสืบเชื้อสายมาจากศากยวงศ์ ที่หลบหนีสงคราม ฆ่าล้างโคตรกันเอง เมื่อตอนปลายพุทธกาล) นำสมัครพรรคพวกบุกเข้าตีเมืองปาตลีบุตร เพื่อชิงบัลลังก์พระเจ้านันทะหลายครั้งหลายหน แต่ก็พ่ายแพ้ยับเยินทุกครั้ง ครั้งหลังสุดดูเหมือนยับเยินกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา จันทร์คุปต์ถูกตามล่ากระเจิดกระเจิง หนีเข้าไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ขณะนั้นแม่ค้าขนมเบื้องกำลังทอดขนมอยู่ พลางด่าลูกสาววัยประมาณ 7-8 ขวบ ที่ยืนร้องไห้อยู่ข้างๆ
"ไอ้ลูกหน้าโง่ มึงมันโง่เหมือนโจรจันทร์คุปต์"
จันทร์คุปต์ได้ยินก็ผงะ "กูเกี่ยวอะไรด้วยหว่า" จันทร์คุปต์คิดแล้วก็ยืนฟังต่อ เสียงแม่ค้าด่าสั่งสอนลูกลอยมา
"ไอ้โจรหน้าโง่นั่น จะตีเมืองทั้งที เสือกยกมาตีกลางเมือง ทำไมมันไม่ตีโอบเข้าจากกรอบนอก ทำอย่างนี้ตีกี่ครั้งมันก็แพ้ สมน้ำหน้า มึงก็เหมือนกัน รู้ว่าขนมเบื้องมันร้อน มึงเสือกกัดตรงกลาง มันก็ลวกปากมึงสิ ทำไมมึงไม่ค่อยเล็มจากขอบมัน อีหน้าโง่ โง่เหมือนโจรจันทร์คุปต์ไม่ผิด..."
จันทร์คุปต์ฟังไปสะดุ้งไป พลันก็ "ฉุกคิด" ขึ้นมาได้ว่า แม่ค้าขนมเบื้องพูดถูก จะตีเมืองทั้งที ต้องค่อยๆ ตีมาจากรอบนอกแบบป่าล้อมเมือง จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกอีกครั้ง เมื่อมีกำลังเพียงพอแล้วก็ยกพลเข้าตีเมืองเล็กเมืองน้อยรอบๆ ได้มาเป็นลำดับ จนกระทั่งในที่สุดก็ยึดเมืองปาตลีบุตรได้ สถาปนาตนเป็นพระเจ้าจันทร์คุปต์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ
จันทร์คุปต์มีพระราชโอรสต่อมาได้เป็นกษัตริย์พระนามว่า พินทุสาร พระเจ้าพินทุสารมีพระราชโอรสชื่อ อโศกมหาราช กษัตริย์ผู้สถาปนาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอินเดียเป็นองค์แรก และผู้เป็นต้นแบบแห่งการปกครองระบอบธรรมราชาในกาลต่อมา ว่ากันว่า ราชวงศ์โมริยะสืบมาแต่ราชวงศ์ศากยะ หรือพูดให้ชัดก็ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็น "ลูกหลาน" พระพุทธเจ้านั้นแล จริงเท็จอย่างไร ถือว่าเป็น "ประวัติศาสตร์กระซิบ" ก็แล้วกันครับ
ในเรื่องนี้ถือว่าจันทร์คุปต์ "รู้จักคิด" หรือ "คิดเป็น" ทั้งๆ ที่ได้ยินเขาด่า แต่ก็แปรคำด่าให้เป็นประโยชน์ นำเอามาเป็นบทเรียนแก้ไขตนเองจนประสบความสำเร็จ
ถ้าจันทร์คุปต์ "คิดไม่เป็น" แทนที่จะได้ประโยชน์ อาจทำบาปกรรมหนักขึ้น คือทันทีที่ได้ยินคำด่า ก็คงโกรธฉุนแม่ค้าคนนั้นถึงกับฆ่าเธอตายก็ได้ ใครจะไปรู้
พระพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีคิดไว้ถึง 10 วิธี พระอรรถกถาจารย์ (อาจารย์อธิบายพระไตรปิฎก) ย่อไว้เป็น 4 วิธี มีอะไรบ้าง คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ คราวหน้าค่อยว่ากันก็แล้วกัน
- por_jai
- Verified User
- โพสต์: 14338
- ผู้ติดตาม: 0
Re: หมากเงาะก็ได้ เซาซะก็ดี
โพสต์ที่ 8
8) ผมอ่านแล้วได้ประโยชน์มากๆbsk(มหาชน) เขียน:
สรุปด้วยคำพูดของผมคือ จิตที่เป็นสมาธิจะมีลักษณะ 4 ประการคือ
(๑) เกิดความสงบ
(๒) เกิดความบริสุทธิ์
(๓) เป็นจิตมีพลัง
(๔) เกิดความสว่างไสว
หลวงพ่อญาณธัมโมเทศน์ต่อไปว่า มีเณรรูปหนึ่งที่วัดหนองป่าพง สมัยหลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่ หลวงพ่อท่านเทศน์นานมาก บางครั้งตลอดทั้งคืน พระทั่วไปต้องอดทน ต่อสู้กับทุกขเวทนา
วันหนึ่งหลวงพ่อขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เณรก็ไปฟัง นั่งฟังจนถึงตี 3 เณรก็ไม่ลุกจากอิริยาบถนั่งสมาธิ นั่งตลอดช่วงเช้า จนพระออกบิณฑบาต เณรก็ยังนั่งอยู่ นั่งต่อจนพระทั่วไปกลับจากบิณฑบาต เธอก็ไม่ลุกขึ้นมาฉันเช้า จนกระทั่งถึง 10 โมงเช้า จึงออกจากสมาธิ พระทั้งหลายก็ร้องว่า "โอ้ เณรนี้อัศจรรย์จริงๆ นั่งสมาธิตั้งนาน"
เณรเล่าให้ฟังว่า คืนนั้นหลวงพ่อชาเทศน์ เธอเบื่อมาก อยากกลับไปนอน แต่หลวงพ่อก็ไม่หยุดเทศน์สักที เบื่อแสนเบื่อ จึงภาวนาเป็นภาษาอีสานว่า "เซาซะ เซาซะ เซาซะ เซาซะก็ดี"
ความหมายก็คือ "หยุดเถอะ หยุดเถอะ หยุดเสียก็ดี"
ภาวนาไปจิตก็จดจ่ออยู่กับเรื่องอยากให้หลวงพ่อเลิกเทศน์ พลันจิตก็พลิกเป็นปัญญาว่า ตนเองทำไมไม่เลิก ไม่เลิกคิดในแง่ไม่ดี ทำไมไม่เลิกในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ทำไมยังโง่อยู่ ทำไมไม่เกิดธรรม ไม่เกิดแสงสว่าง
ก็เลยเอาเลิกเถอะ เลิกเถอะ เป็นข้อกรรมฐาน เป็นกุศลจิตว่าให้เลิกการบ่น ให้เลิกสิ่งที่เป็นอกุศล ให้เลิกสิ่งที่ไม่ดี จนจิตรวมเป็นสมาธิกรรมฐาน
ข้อแรกเรื่องสมาธิ
ผมทำอาทิตย์ละ4วัน
ไม่เหมือนคนอื่่น ผมใช้วิ่งสมาธิ
วิ่งไปกำหนดไป
ผมสังเกตุว่าวันไหนสมาธิดีๆ
วิ่งเร็วก็ไม่เหนื่อย
วิ่งนานก็ไม่เหนื่อย
วันไหนว่อกแว่ก อูยเหนื่อยครับ
ผมจึงรู้ว่าสมาํํธิ นี่มีประโยชน์กับผม
หรือมนุษย์คนไหนก็ตามที่ ได้ฝึก หรือ ฝึกได้ อย่างแน่นอน
มายืนยันคำพูดของพี่เถียน ว่าจริงแท้แน่นอนครับ
ข้อสองเรื่องนั่งกรรมฐาน
ผมชอบนั่งสมาธิกรรมฐานครับ
นั่งได้ครั้งละนานๆเท่าที่อาจารย์กำหนดให้
ผมเคยสังเกตุวันแรกๆท่านจะให้นั่งไม่เกิน30-40นาที
พอวันหลังๆ บางบัลลังก์ โดนเป็นชั่วโมงครับ
ปวดนะครับ ขางี้ชาแล้ว ชาอีก
ปวดจนหาย หายแล้วก็ปวดอีก
ผมงี้ท้อใจเลย
แบบขามันเ้หมือนจะหลุดออกมาจากลำตัวไปเลยประมาณนั้น
พระอาจารย์มาบอกว่า ใครที่ปวดขาน่ะดีแล้ว
มีปวด จะได้กำหนดได้ถูกว่า ปวดหนอ
พอกำหนดสงสารได้ ก็จะหายปวดไปได้
ใครที่ไม่ปวดน่ะสิไม่ดี เพราะไม่รู้จะกำหนดอย่างไร
ไม่รู้จักตัวปวด กลับไม่ดี
อืือม ผมคิด เออ มันแปลกดีนะ
ข้อเกิดปัญญาพลิกวิธีคิดนี่ก็เคยเกิดกับผม เพราะเรื่องนี้แหละ
คือผมชอบนั่งกรรมฐาน แต่ไม่ชอบเดินจงกรม ก่อนนั่ง
ทีนี้มันไม่มีหรอกครับ อยู่ดีๆก็ลงไปนั่งเลย
มันก็ต้องใช้อุบายตั้งสมาธิโดยการเดิน จงกรม ก่อน
ผมไม่ชอบมาก น่าเบื่อมากๆเลย สำหรับผม
ผมก็ไปบ่น กับ คุณเจ๋ง
คุณเจ๋ง บอกผมว่า ทำไมพี่ไม่กำหนด เบื่อหนอ ล่ะครับ
เท่านั้นเอง
ผมได้คิด ทันทีว่า อือม
ผมคิดมาตลอดว่าผมโชคดี ที่ได้พบกับ ปวดหนอ
ความจริง ผมอยู่กับคำว่า เบื่อ
ซึ่งก็เป็นสงสาร ตัวหนึ่งของมนุษย์เช่นกัน
เกาะมาตลอดโดยไม่รู้ตัวเลย
ช่างน่าขำ นัก
ว่าแล้ว ก็ก้าวหน้าไปอีกขั้น
(ในความรู้สึกผม ใครที่มาอ่านแล้วคิดว่า ไม่เห็นมีไร ก็ขอให้ ผ่านไปหนอ)
อ่านที่พีบีนำเสนอ
แล้วก็อดแจม ไม่ได้หนอ....ไปละครับ
กรูเก่ง กิเลสเก่งกว่า
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
หมากเงาะก็ได้ เซาซะก็ดี
โพสต์ที่ 9
พี่พอใจมีวาสนาดีที่ได้นังสมาธิกรรมฐานอย่างต่อเนื่อง
ผมเคยแต่นั่งสมัยที่เรียนมัธยมในวิชาพุทธศาสนา(เป็นศิษย์โปรดของอาจารย์) ช่วงปิดเทอมก็มีโอกาส(แกมบังคับ)ไปบวชชีพราหมณ์ นุ่งขาวห่มข่าว ถือศีล 8
ผมก็ตั้งใจนะคับ เห็นเพื่อนหลายคนบอกว่านั่งไปๆ บางคนเห็นพระพุทธเจ้า บางคนเห็นนั่นเห็นนี่ ทำมายตรูตั้งใจแทบตาย ไม่เห็นอะไรกับเค้าเลย นี่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาพุทธศาสนา อาจารย์จะมีการสอบอารมณ์ด้วย บ่ายของวันที่ 4-5 ของการบวช หลังจากฟังธรรม เดินจงกรมแล้ว ผมและเพื่อนๆก็มานั่งสมาธิในศาลาที่เป็นที่ประชุม ก็ท่อง ยุบหนอพองดู สังเกตที่ท้องว่ายุบหนอพองหนอเป็นเช่นไร นั่งไปนั่งไปก็เริ่มเพลิดเพลิน รู้สึกชาที่ขาและเท้า รู้สึกวูบวาบๆ เหมือนลมเข้าออกหู เห็นอะไรสีม่วงๆเป็นวงๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ได้ยินเสียงเพื่อนๆซึ่งตอนนั้นเข้าใจว่าเขาเลิกนั่งกันแล้วมั้ง เพื่อนมาสะกิดผมเบาๆ แต่ผมรู้สึกชาไปหมด มีอาการโยกไปหน้าโยกมาหลัง วูบวาบๆๆ ....
วันนั้นผมนั่งไปนานไม่ต่ำกว่า 2 ช.ม. ลุกขึ้นยืนไม่ไหว เพื่อนร่วมกลดประคองกลับ
กำหนดการบวช 7 วัน ผมขออยู่ต่ออีก 7 วัน
ในที่ประชุมซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นหลัง เพราะรุ่นแรกกลับกันไปหมดแล้ว หลวงพี่ที่เป็นผู้สอน ขอให้ทุกคนในที่ประชุมกล่าวสาธุที่มีผมคนเดียว(หรือ 2 คนไม่แน่ใจ) เป็นคนแรกที่อยู่ต่อ ทุกคนกล่าวสาธุ ผมพนมมือรับ(เขินตาย..)
ผมได้รับสิทธิพิเศษนั่งทานมื้อเช้าและเที่ยงกับอาจารย์(เฮ้อ..ทำตัวไม่ค่อยถูก) คราวนี้เพื่อนกลับไปแล้ว ผมก็ไปนอนที่กลดของเพื่อนที่บวชเณร(ตอนนี้เป็นเศรษฐีชายแดนไทย-ลาว ส่วนผม...จนเหมือนเดิม) พักหลังก็ไม่เคร่งนัก เพราะไม่ต้องสอบอารมณ์ เรียกว่าผ่านฉลุยแล้ว เพียงแต่ได้อยู่แล้ว มันรู้สึกสบายใจ ไร้กังวล หรือว่าผมเลี่ยงงานที่บ้านหรือเปล่า :lol: จำได้ว่าพี่สาวแฟนเก่าแวะมาเยี่ยมด้วย เขาคงคาดไม่ถึง ว่าอย่างมืงเนี่ยนะอยู่ได้ 2 อาทิตย์
หลังจากนั้น ที่โรงเรียน ผมก็ไปนั่งสมาธิที่ห้องอบรมเป็นระยะ อาจารย์บอกปฏิบัติอย่าได้ขาดนะ เพราะมีต้นทุนดีแล้ว(อาจารย์อาจอยากฆ่าตัวตายถ้าเจอผมในปัจจุบัน)
จบมัธยมไปแล้ว ผมก็แทบจะขาดจากสิ่งเหล่านี้ไปเลย...
ลามกทะลึงอย่างผมเป็นศิษย์โปรดวิชาพุทธศาสนาและสุขศึกษาดังนี้แล..
ยถาสัพพี..
ผมเคยแต่นั่งสมัยที่เรียนมัธยมในวิชาพุทธศาสนา(เป็นศิษย์โปรดของอาจารย์) ช่วงปิดเทอมก็มีโอกาส(แกมบังคับ)ไปบวชชีพราหมณ์ นุ่งขาวห่มข่าว ถือศีล 8
ผมก็ตั้งใจนะคับ เห็นเพื่อนหลายคนบอกว่านั่งไปๆ บางคนเห็นพระพุทธเจ้า บางคนเห็นนั่นเห็นนี่ ทำมายตรูตั้งใจแทบตาย ไม่เห็นอะไรกับเค้าเลย นี่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาพุทธศาสนา อาจารย์จะมีการสอบอารมณ์ด้วย บ่ายของวันที่ 4-5 ของการบวช หลังจากฟังธรรม เดินจงกรมแล้ว ผมและเพื่อนๆก็มานั่งสมาธิในศาลาที่เป็นที่ประชุม ก็ท่อง ยุบหนอพองดู สังเกตที่ท้องว่ายุบหนอพองหนอเป็นเช่นไร นั่งไปนั่งไปก็เริ่มเพลิดเพลิน รู้สึกชาที่ขาและเท้า รู้สึกวูบวาบๆ เหมือนลมเข้าออกหู เห็นอะไรสีม่วงๆเป็นวงๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ได้ยินเสียงเพื่อนๆซึ่งตอนนั้นเข้าใจว่าเขาเลิกนั่งกันแล้วมั้ง เพื่อนมาสะกิดผมเบาๆ แต่ผมรู้สึกชาไปหมด มีอาการโยกไปหน้าโยกมาหลัง วูบวาบๆๆ ....
วันนั้นผมนั่งไปนานไม่ต่ำกว่า 2 ช.ม. ลุกขึ้นยืนไม่ไหว เพื่อนร่วมกลดประคองกลับ
กำหนดการบวช 7 วัน ผมขออยู่ต่ออีก 7 วัน
ในที่ประชุมซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นหลัง เพราะรุ่นแรกกลับกันไปหมดแล้ว หลวงพี่ที่เป็นผู้สอน ขอให้ทุกคนในที่ประชุมกล่าวสาธุที่มีผมคนเดียว(หรือ 2 คนไม่แน่ใจ) เป็นคนแรกที่อยู่ต่อ ทุกคนกล่าวสาธุ ผมพนมมือรับ(เขินตาย..)
ผมได้รับสิทธิพิเศษนั่งทานมื้อเช้าและเที่ยงกับอาจารย์(เฮ้อ..ทำตัวไม่ค่อยถูก) คราวนี้เพื่อนกลับไปแล้ว ผมก็ไปนอนที่กลดของเพื่อนที่บวชเณร(ตอนนี้เป็นเศรษฐีชายแดนไทย-ลาว ส่วนผม...จนเหมือนเดิม) พักหลังก็ไม่เคร่งนัก เพราะไม่ต้องสอบอารมณ์ เรียกว่าผ่านฉลุยแล้ว เพียงแต่ได้อยู่แล้ว มันรู้สึกสบายใจ ไร้กังวล หรือว่าผมเลี่ยงงานที่บ้านหรือเปล่า :lol: จำได้ว่าพี่สาวแฟนเก่าแวะมาเยี่ยมด้วย เขาคงคาดไม่ถึง ว่าอย่างมืงเนี่ยนะอยู่ได้ 2 อาทิตย์
หลังจากนั้น ที่โรงเรียน ผมก็ไปนั่งสมาธิที่ห้องอบรมเป็นระยะ อาจารย์บอกปฏิบัติอย่าได้ขาดนะ เพราะมีต้นทุนดีแล้ว(อาจารย์อาจอยากฆ่าตัวตายถ้าเจอผมในปัจจุบัน)
จบมัธยมไปแล้ว ผมก็แทบจะขาดจากสิ่งเหล่านี้ไปเลย...
ลามกทะลึงอย่างผมเป็นศิษย์โปรดวิชาพุทธศาสนาและสุขศึกษาดังนี้แล..
ยถาสัพพี..
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
หมากเงาะก็ได้ เซาซะก็ดี
โพสต์ที่ 10
สมาธิคืออะไร
คอลัมน์ ทักใจให้คิด
ผมได้อ่านหนังสือเล่มเล็กๆ ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย พูดเรื่องสมาธิง่ายๆ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้สนใจปฏิบัติทั่วไป ขอคัดลอกบางตอนมาให้อ่านดังนี้ครับ
สมาธิตามธรรมชาติ
คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนของปัญญาชน ไม่ใช่เป็นคำสอนของบุคคลผู้เชื่อในสิ่งไม่มีเหตุผลด้วยความงมงาย ศาสนาพุทธสอนให้คนเรียนรู้ธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ ถ้าใครจะถามว่าธรรมะคืออะไร? ธรรมะก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติคืออะไร? ก็คือกายกับใจของเรา
สมาธิแบบพระพุทธเจ้า (คือ) การกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวัน นี่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญ สำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาสมาธิ
สมาธิต้องสอนสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ความรู้เห็นอะไรที่เขาอวดๆ กันนี่ อย่าไปสนใจเลย ให้มันรู้เห็นจิตของเรานี่ รู้กายของเรา รู้ธรรมชาติของกายอย่างหยาบๆ มันต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อันนี้คือความจริงของกาย
สมาธิเพื่ออะไร
ปัญหาสำคัญของการฝึกสมาธินี่ บางทีอาจเข้าใจไขว้เขวไปจากหลักความจริง
-สมาธิอย่างหนึ่ง เราฝึกเพื่อให้จิตสงบ
-สมาธิอย่างหนึ่ง เราฝึกเพื่อให้มีสติสัมปชัญญะ รู้ทันเหตุการณ์นั้นๆ ในขณะปัจจุบัน
-สมาธิอย่างหนึ่ง เราฝึกเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นภายในจิต เช่น รู้เห็นสิ่งมหัศจรรย์บางอย่าง รู้เรื่องอดีต อนาคต รู้อดีตหมายถึงรู้ชาติในอดีตว่าเราเกิดเป็นอะไร รู้อนาคตหมายถึงเมื่อเราตายไปแล้ว เราจะไปเป็นอะไร อันนี้เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้
ทีนี้เราพิจารณากันจริงๆ อดีตเป็นสิ่งล่วงลับไปแล้ว อนาคตเป็นสิ่งยังมาไม่ถึง ดังนั้น เรามาสนใจอยู่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันดีไหม
ที่ครูอาจารย์สอนว่า ทำกรรมฐานไปเห็นโน่นเห็นนี้ นี่มันใช้ไม่ได้ ให้มันเห็นจิตใจเราเองซิ อย่าไปเข้าใจว่า ทำสมาธิแล้วต้องเห็นนรก ต้องเห็นสวรรค์ ต้องเห็นอะไรต่อมิอะไร สิ่งที่เราเห็นในสมาธิ มันไม่ผิดกับที่เรานอนหลับแล้วฝันไป แต่สิ่งที่เราจำต้องรู้ต้องเห็นคือ กายของเรา เห็นใจของเรา
หลักสากลของการทำสมาธิ
มีหลักที่ความยึดอยู่ว่า "ทำจิตใจมีอารมณ์สิ่งรู้ สติให้มีสิ่งระลึก จิตนึกรู้สิ่งใด ให้มีสติสำทับเข้าไปที่ตรงนั้น"
ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์ของจิต ฝึกสติให้รู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครทำอะไร มีสติตัวเดียว เวลานอนลงไป จิตมันมีความคิดอย่างไร ปล่อยมันคิดไป แต่ให้มีสติตามรู้ไปจนกว่าจะนอนหลับ อันนี้เป็นวิธีการทำสมาธิตามหลักสากล
ถ้าใครถามว่า ทำสมาธิอย่างไร คำตอบง่ายนิดเดียว "การทำสมาธิ คือ การทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก หมายความว่า เมื่อจิตของเรานึกถึงสิ่งใด ให้มีสติสำทับไปที่ตรงนั้น เรื่องอะไรก็ได้"
ถ้าเอากันเสียอย่างนี้ เราจะรู้สึกว่า เราได้ทำสมาธิตลอดเวลา
สมาธิ...ไม่ใช่การนั่งหลับตาเท่านั้น
...ถ้าหากไปถือว่าสมาธิคือการนั่งหลับตาอย่างเดียว มันก็ถูกกับความเห็นของคนทั้งหลายที่เขาแสดงออก แต่ถ้าเราจะคิดว่าอารมณ์ของสมาธิ คือ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ไม่ว่าเราจะทำอะไร มีสติสัมปชัญญะรู้อยู่กับเรื่องปัจจุบัน คือเรื่องชีวิตประจำวันนี้เอง เราจะเข้าใจหลักการทำสมาธิอย่างกว้างขวาง และสมาธิที่เราทำอยู่นี่จะรู้สึกว่า นอกจากจะไปนั่งหลับตาภาวนาหรือเพ่งดวงจิตแล้ว ออกจากที่นั่งมา เรามีสติตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด แม้ว่าเราจะไม่นั่งสมาธิอย่างที่พระท่านสอนก็ได้ เพราะเราฝึกสติอยู่ตลอดเวลา เวลาเรานอนลงไป คนมีความรู้ คนทำงานย่อมมีความคิด ในช่วงที่เรานอนนั่นแหละ เราปล่อยให้จิตเราคิดไป แต่เรามีสติตามรู้ความคิดจนกระทั่งนอนหลับ
ถ้าฝึกต่อเนื่องกันทุกวันๆ เราจะได้สมาธิอย่างประหลาด นี่ถ้าเราเข้าใจกันอย่างนี้ สมาธิจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์โลกให้เจริญ แต่ถ้าหากจะเอาสมาธิมุ่งแต่ความสงบอย่างเดียว มันจะเกิดอุปสรรคขึ้นมาทันที แม้การงานอะไรต่างๆ มองดูผู้คนนี้ขวางหูขวางตาไปหมด
อันนั้น คือ สมาธิแบบฤๅษีทั้งหลาย ทำสมาธิถูกทาง ไม่หนีโลก ไม่หนีปัญหา
ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิที่ถูกต้องนี่ สมมุติว่ามีครอบครัว จะต้องรักครอบครัวของตัวเองมากขึ้น จะต้องรักครอบครัวของตัวเองมากขึ้น หนักเข้าความรักมันจะเปลี่ยน เปลี่ยนจากความรักอย่างสามัญธรรมดา กลายเป็นความเมตตาปรานี ในเมื่อไปเผชิญหน้ากับงานที่ยุ่งๆ เมื่อก่อนรู้สึกว่ายุ่งๆ แต่เมื่อปฏิบัติแล้วได้สมาธิแล้ว งานมันจะไม่ยุ่ง พอประสบปัญหาเข้าปุ๊บ จิตมันจะปฏิวัติตัว พิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ทีนี้บางที่พอเราหยิบปัญหาอะไรขึ้นมา เรามีแบบแผนตำรายกขึ้นมาอ่าน พออ่านจบปุ๊บ จิตมันวูบวาบลงไป ปัญหาที่เราข้องใจจะแก้ได้ทันที อันนี้ก็คือสมาธิที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน
แต่สมาธิอันใดที่ไม่สนใจกับเรื่องชีวิตประจำวัน หนีไปอยู่ที่หนึ่งต่างหากของโลกแล้ว สมาธิอันนี้ทำให้โลกเสื่อมและไม่เป็นไปเพื่อทางตรัสรู้ มรรค ผล นิพพานด้วย
ทุกคนเคยทำสมาธิมาแล้ว
ทุกสิ่งทุกอย่างเราสำเร็จมา เพราะพลังของสมาธิ
ไม่มีสมาธิ เรียนจบปริญญามาได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิ สอนลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิ ทำงานใหญ่โตสำเร็จได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิ ปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร
พวกเราเริ่มฝึกสมาธิมาตั้งแต่พี่เลี้ยงนางนม พ่อแม่สอนให้เรารู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักอ่าน รู้จักคนโน้นคนนี้ จุดเริ่มต้นมันมาแต่โน่น
ทีนี้พอมาเข้าสู่สถาบันการศึกษา เราเริ่มเรียนสมาธิอย่างจริงจังขึ้นมาแล้ว
แต่เมื่อเรามาพบพระคุณเจ้า หลวงพ่อ หลวงพี่ ทั้งหลายนี้ ท่านจะถามว่า "เคยทำสมาธิไหม"
จึงทำให้พวกเราทั้งหลายเข้าใจว่า เราไม่เคยทำสมาธิ ไม่เคยปฏิบัติสมาธิมาก่อน
เพราะท่านไปขีดวงจำกัด การทำสมาธิเฉพาะเวลานั่งหลับตาอย่างเดียว
ไม่เป็นชาววัดก็ทำสมาธิได้
ใครที่ยังไม่มีโอกาสจะเข้าวัดเข้าวามานั่งสมาธิหลับตาอย่างที่พระท่านชักชวน การปฏิบัติสมาธิเอากันอย่างนี้ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา ทุกคนได้ฝึกสมาธิตามธรรมชาติแล้ว ตั้งแต่เริ่มรู้เดียงสามา ทีนี้เราเริ่มฝึกใหม่ นี่เป็นการเสริมของเก่าที่มีอยู่แล้วเท่านั้น อย่าไปเข้าใจผิด ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิต เราทำให้สิ่งเหล่านี้ให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น เวลานอนลงไป จิตมันคิดอะไร ให้มันคิดไป ให้มีสติไล่ตามรู้มันไปจนกระทั่งนอนหลับ ปฏิบัติต่อเนื่องทุกวัน แล้วท่านจะได้สมาธิอย่างไม่คาดฝัน
...ในขณะทำงาน กำหนดสติรู้อยู่กับงาน
เวลาคิด ทำสติรู้อยู่กับการคิด
โดยถือการทำงาน การคิด เป็นอารมณ์ของจิต
โดยธรรมชาติของจิต ถ้ามีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก จิตย่อมสงบ มีปีติ สุข เอกัคตาได้
ในโอกาสใดโอกาสหนึ่งจนได้ ถ้าผู้ปฏิบัติตั้งใจทำจริง
ครับยังมีอีกยาว เอาแค่นี้คงพอเข้าใจแล้วว่า สมาธินั้นมิใช่สิ่งลึกลับ และมิใช่เรื่องไกลตัว หากเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันเลยทีเดียว รู้อย่างนี้แล้วหลายคนคงเริ่มฝึกสมาธิแบบง่ายๆ อย่างขะมักเขม้นแล้วสิครับ
- Raphin Phraiwal
- Verified User
- โพสต์: 1342
- ผู้ติดตาม: 0
หมากเงาะก็ได้ เซาซะก็ดี
โพสต์ที่ 11
กราบขอบคุณพี่บี ที่นำอะไรดีๆมาให้อ่าน
กราบขอบคุณพี่พอใจ ที่นำประสบการณ์และข้อคิดมาให้อ่าน
ขออนุญาติพี่บี นำบางบทความไปลงใน blog ผมด้วยครับ
รักในหลวงครับ