คมมนย.ทั้งหลาย

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คมมนย.ทั้งหลาย - มากู้ชาติกันเถิด

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ
ผู้จัดการรายวัน  21 ธันวาคม 2549




ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่ คมมนย. มีค่าเท่ากับ คมนย. และเท่ากับคนอื่นๆ ทุกคน
     
       เพราะฉะนั้น คมมนย.ทั้งหลาย อย่ามัวทอดอาลัยเลย ลุกขึ้นมากู้ชาติให้เป็นประชาธิปไตยกันเถิด
     
       ผมจะอยู่ข้างท่าน และผมจะร่วมมือกับท่านถึงที่สุด เพราะเราเป็นพวกเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงออกมาขอร้องศาลให้ช่วยกู้ชาติ เพราะชาติกำลังจะล่มจม ถ้าปล่อยให้ชาติล่มจมแล้วมันจะกู้ไม่ได้
     
       ศาลก็ออกมาทำหน้าที่ของศาลไปแล้วส่วนหนึ่ง ยังไม่ครบบริบูรณ์
     
       กองทัพก็ออกมาทำหน้าที่ของกองทัพไปแล้วส่วนหนึ่ง ยังไม่ครบบริบูรณ์
     
       เวลานี้ก็ค้างเติ่งอยู่ในมือคมช. สนช. สสร. และครม.
     
       ไม่มีใครจะทำหน้าที่ครบบริบูรณ์ได้หรอก หากปราศจากความร่วมมืออย่างบริบูรณ์จากคนอย่างพวกเรา
     
       คนข้างเคียงผมบ่นว่าจะมานั่งเหนื่อยนอนเหนื่อยอยู่ทำไม ตำแหน่งแห่งหนอะไรก็ไม่มีกับเขาสักอย่าง คนอย่างเรา มีแต่เขาจะเห็นว่า เราเป็นคนไม่มีน้ำยา
     
       ผมมีลูกชาย 2 คน คนหนึ่งเป็นขาประจำปราโมทย์แฟนคลับ เขาชอบมาบอกให้พ่อไปอ่านปฏิกิริยาของผู้อ่านที่โพสต์มาเสียบ้าง บางทีเขาก็โกรธแทนที่มีคนโพสต์มาเยาะเย้ยว่า ผมเขียนเพราะความแค้นที่พลาดหมด ไม่ได้เป็นอะไรเลย แม้แต่สมาชิกสมัชชาแห่งชาติตั้ง 2 พันคน ก็ไม่ได้เป็น
     
       ผมบอกว่า ผมเขียนมาตลอดชีวิต ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาเขียนวิเคราะห์คัดค้านระบอบทักษิณมาเกือบ 300 ฉบับแล้ว เวลาขออะไรจากเขาก็ได้ทุกเรื่อง ทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นเรื่องส่วนตัวเลย
     
       คนอย่างเรา ไม่เห็นจำเป็นจะต้องเป็นอะไรเลย เป็นคนไม่มีน้ำยาอย่างนี้แหละดีกว่า เหมาะกับที่เราชอบทำอยู่อย่างนี้
     
       เพราะฉะนั้น เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 19 กันยายน เมื่อดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์และผู้ใหญ่ของดร.ธีรภัทร์ โทร.มาเชิญให้เข้าไปช่วยในกองบัญชาการคณะปฏิรูปฯ ผมจึงได้ขอบคุณและขอโทษว่าเข้าไปไม่ได้
     
       เหตุผลนั้นมีมากมาย แต่ไม่อยากมากความ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าถือดีกว่าคนอื่น ความจริงมิใช่ คนเราถนัดต่างกัน สังคมต้องมีการแบ่งหน้าที่อย่างถูกต้องและเป็นอิสระ
     
       วันรุ่งขึ้น ผมรีบเขียนบทความว่าผมดีใจที่ทหารช่วยกำจัดรัฐบาลทักษิณเสียได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามทฤษฎีสัญญาประชาคมแล้ว การกระทำทั้งหมดนี้ ผมรู้แต่มิอาจร่วมได้ ผมเห็นใจแต่ไม่เห็นด้วย ผมยินดีช่วยแต่ไม่ขอเกี่ยวข้อง
     
       ทำไมผมจึงรู้ ก็เพราะว่าเที่ยงวันที่ 19 กันยายน ผมกินข้าวกลางวันอยู่กับผู้ที่จะมีความสำคัญที่สุดในการเมืองไทยในอนาคต (ผู้ไม่สู้จะเต็มใจ) และนั่งคุยกันอยู่จนบ่ายคล้อย
     
       ทำไมผมจึงไม่เห็นด้วย เพราะผมเห็นด้วยกับข้อที่เราคุยกันว่าการขับไล่ทักษิณด้วยอำนาจประชาชนโดยมีกองทัพขานรับเป็นปัจจัยเด็ดขาด แบบ People Power ในฟิลิปปินส์จะสวยงามกว่าและมีปัญหาน้อยกว่าทหารยึดอำนาจฝ่ายเดียว
     
       ทำไมผมจึงเห็นใจ เพราะผมรู้ว่าทักษิณทำอะไรบ้างที่เป็นโทษต่อประชาธิปไตยและบ้านเมืองใน 5 ปีที่ผ่านมา และเพราะผมรู้ว่าทักษิณกำลังทำอะไรอยู่ในวันที่ 19 กันยายน 2549
     
       ทำไมผมจึงไม่ขอเกี่ยวข้อง เพราะผมยังไม่อยากตาย อนึ่ง คนที่เป็นครูสอนประชาธิปไตย เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตลอดชีวิต จะต้องมารับการแต่งตั้งจากคณะปฏิวัติ ตายแล้ววิญญาณผมคงนอนไม่หลับ
     
       ทำไมผมจึงช่วย เพราะผมถือว่าการก่นล้างระบอบทักษิณและการสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นเรื่องสำคัญ จะปล่อยให้คมช.ทำฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ ผมสรรเสริญคนที่อยากช่วยและเข้าไปช่วยทุกๆ คน
     
       แต่คนอย่างผม เหมาะที่จะอยู่ข้างนอก อย่างคนไม่มีน้ำยา
     
       และทุกวันนี้ผมก็ยังช่วย ที่เขียนอยู่อย่างนี้ อย่าเข้าใจผิดเป็นอันขาดว่าเป็นการต่อต้าน คมช. หรือเป็นแนวร่วมมุมกลับให้ทักษิณ ผมกระตุ้นมิให้คมช.อ่อนข้อให้ทักษิณ และทำงานให้ดีขึ้นต่างหาก
     
       คมช.มิใช่เทวดา ทำไมจะผิดพลาดบ้างไม่ได้ แต่ผิดแล้วต้องแก้ไข อย่าปล่อยไปครั้งแล้วครั้งเล่า จนบรรดาปุโรหิตโหราจารย์แม้กระทั่งคนเดินถนนเกรงว่าอย่างนี้จะนำพาบ้านเมืองไปไม่รอด กลียุคขุกเข็ญใหญ่ของบ้านเมืองกำลังตั้งเค้า
     
       เรื่องสมัชชายุงและผลพลอยเสียที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ก็หนักมาก ผมใคร่ครวญดูแล้วว่าจะปล่อยให้ผ่านไปโดยมิแก้ไข คงจะไม่ดีแน่ จึงได้เขียนในบทความสมัชชายุง ชวนพี่น้องประชาชนให้ติดตาม และอย่ายอม
     
       และในฉบับ ใช่แต่ทหาร อาจารย์กฎหมายและนักรัฐศาสตร์ก็ไม่รู้เรื่อง ผมก็ย้ำอีกครั้งว่า ใครจะยอม ก็เชิญ ผมคนหนึ่งล่ะที่จะสู้ ใครจะเอากับผมบ้าง
     
       คนไม่มีน้ำยาอย่างผมจะสู้คนเดียวได้อย่างไร คนไม่มีน้ำยาอย่างผมที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะต้องกระโจนลงมาช่วยกัน ยิ่งคนมีน้ำยาจะมีน้ำใจโหมเข้ามาด้วยก็ยิ่งดี
     
       มีผู้ขานรับตรึม ต่างก็ว่าบอกมาเลยจะเอายังไง ผมว่าเราน่าจะมีขั้นตอนดังนี้ก่อนครับ (1) คิดให้ดี (2) ตั้งเป้าหมายให้แน่นอน (3) ลงมือกระทำ (4) ติดตามผลให้ได้สมความมุ่งหมาย
     
      (1) คิดให้ดี ว่าประเทศไทยต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ถ้าต้องการ ขอให้คิดต่อว่า พฤติกรรมของสมช.ในวันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ สมควรจะไว้ใจให้เป็นผู้สร้างระบอบที่พึงปรารถนาแทนเราหรือไม่ ทั้งนี้อย่าเชื่อใครแม้แต่ผม ต้องรวบรวมหลักการ หลักฐาน และฟังความให้ทั่วถึง แล้วจึงสรุปเอาเอง
     
      (2) ตั้งเป้าหมายให้แน่นอน หากสรุปได้ว่าการกระทำของสมัชชาไม่ถูกต้อง ขืนละเลยปล่อยไป อนาคตจะเสียหาย เราจะต้องช่วยกันแก้ไข เป้าหมายที่เราจะต้องตั้งไว้ก็คือ จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด เริ่มแต่เล็กไปหาใหญ่อย่างเป็นระบบ คือแก้ ไข พฤติกรรม องค์ประกอบ และโครงสร้างของสมัชชาแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลของการเลือกตั้งสสร. 200 คนจะต้องยกเลิก
     
       (3) ลงมือกระทำ การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ยากอย่างที่คิด อย่าไปเชื่อทฤษฎีของนักกฎหมายทาสว่า เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงอะไรมิได้แล้ว ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะ คมช.พ้นสภาพแห่งการเป็นองค์อธิปัตย์ไปแล้ว คิดเอาง่ายๆ ก็ได้ว่าจริงหรือไม่ แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังล้มล้างได้มิใช่หรือ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราควรลงมือกระทำ ก็คือ การเรียกร้องให้ คมช. และผู้ที่มีส่วนกระทำความเสียหายร่วมกันรับผิดชอบแก้ไขความผิดพลาด
     
       วิธีการเรียกร้องมีอยู่มากมายตั้งแต่ง่ายไปหายาก ผมขอเสนอวิธีที่ง่ายที่สุดและจะไม่มีผลในทางเผชิญหน้า เพราะผมห่วงเรื่องที่หมอดูทำนายไว้เหมือนกัน ก็คือ ขอทุกคนยอมเสียสละซื้อไปรษณียบัตรคนละ 3 ฉบับ เขียนส่งไปถึง (1) ประธาน คมช. (2) ประธาน สมช. (3) หนังสือพิมพ์รายวัน 1 ฉบับ มีข้อความคล้ายคลึงกันทำนองนี้คือ (1) ขอให้สอบสวน ศึกษาวิเคราะห์ความไม่ถูกต้องของการเลือกสสร. (2) ขอให้รวบรวมข้อมูล ข้อเขียนและบทความต่างๆ จากนักวิชาการในเรื่องดังกล่าวให้ทั่วถึงและทำการเผยแพร่ (3) ขอให้ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบทั้งหมดช่วยกันแก้ไขตามขอบเขต อำนาจหน้าที่และหิริโอตตัปปะของแต่ละคน(4) ขอให้ชี้แจงสรุปให้ประชาชนทราบ หากสื่อฉบับใดจะรับหน้าเสื่อจัดการแทนเราได้ก็ยิ่งดี
     
      (4) ติดตามผลให้ได้สมความมุ่งหมาย วิธีข้างต้นนี้ง่ายที่สุด และอย่าเพิ่งดูถูกว่าจะไม่มีผล ผมขอภาวนาและวิงวอนให้ท่านผู้อ่านที่เห็นด้วยกับผม ช่วยกันทำทุกๆ คนเถิด แล้วพยายามชักชวนกันต่อๆไป ให้เกิดเป็นทั้งห่วงโซ่บุคคลและเครือข่ายองค์กร และติดตามขยายผลไปเรื่อยๆ นี่จะเป็นบทเรียนเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อกู้ชาติบทแรก ซึ่งใครๆ ก็ทำได้ ไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น ซ้ำ คมช.ควรจะขอบคุณเราด้วย
     
       ผมถือว่าการกระทำของสมัชชายุงเมื่อวันจันทร์นี้เป็นความผิดอุกฉกรรจ์ ยิ่งคิดผมก็ยิ่งหวาดเสียว ประเทศที่รักของผมเป็นไปได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ ทำไมหนอคนที่ได้คะแนนสูงที่สุด จึงเป็นบุคคลที่สังคมไม่รู้จักเลย ทำไมหนอคะแนนสูงสุดจึงมีเพียง 55 คะแนน ในเมื่อมีผู้ลงคะแนนเกือบ 1,982 คน
     
       ผมมิได้เพ่งไปที่โนโหวตหรือคนที่มิได้ลงคะแนนให้ ซึ่งก็น่าขนหัวลุกพอๆ กัน
     
       กล่าวคือ มีผู้ที่มิได้ลงให้ผู้ที่ได้คะแนนที่หนึ่ง ถึง 1,900 กว่าคน ลดหลั่นกันลงไปถึงกลุ่มสุดท้ายที่ได้ 7 คะแนน ซึ่งแปลว่าไม่มีผู้ลงให้หรือโนโหวตโดยปริยายถึง 1,970 คน แต่ผมจำต้องเพ่งพินิจว่าในบรรดาคนดี 1,900 กว่าคนนั้น จะไม่มีสักคนเดียวเชียวหรือสัก 10 คนก็ไม่มีเชียวหรือ ที่เป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสพอที่ใครๆ สัก 100 คน 200 คน หรือ 300 ถึง 500 คนจะต้องลงคะแนนเสียงให้ด้วยความเต็มใจ ถึงแม้ว่าเขาจะมีสิทธิเลือกได้แค่เพียง 1 คนก็ตาม เขาก็จะไม่ลงให้ตนเอง แต่ลงให้คนดี หรือว่าวันนี้ กรุงศรีอยุธยาสิ้นคนดีเสียแล้ว
     
       ผมได้ส่งตัวเลขไปขอให้ศาสตราจารย์ชิดชนก แห่งแผนกคณิตศาสตร์ จุฬาฯ ช่วยวิเคราะห์ ในขณะเดียวกัน ก็ใคร่ครวญถึงสภาพความจริงว่าเป็นไปได้หรือที่บุคคล 1,982 นี้ ล้วนแต่เป็นปัจเจกที่เห็นแต่ตนหรือกลุ่มหรือเครือข่ายของตนเป็นหลัก ถึงแหงนหน้าขึ้นดูฟ้าก็ไม่สามารถมองผ่านจมูกของตนเองไปเห็นคนดีผู้อื่นได้
     
       ผมจึงอดนึกถึง Thomas Hobbes ปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 มิได้ ฮอบส์ได้บรรยายถึงสังคมที่แต่ละคนทำสงครามกับแต่ละคน และทุกคนทำสงครามกับทุกคน เพราะทุกคนคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์และความปลอดภัยของตนเอง จึงเกิดสภาพที่เรียกเป็นภาษาละตินว่า bellum omnium contra omnes แปลว่า the war of all against all. เมื่อทุกคนต่างก็มุ่งปฏิเสธผู้อื่น เพื่อผลประโยชน์และฐานะของตนเอง คำว่าส่วนรวมจึงไม่เกิดขึ้นหรือดำรงอยู่มิได้ จึงเหลืออยู่แต่บุคคลและสังคมในเปลือกของธรรมชาติ ต่างก็ดำเนินชีวิตที่ เดียวดาย แสนเข็น โสโครก เหี้ยมโหด และสั้น : solitary, poor, nasty, brutish, and short.  
   
       ถึงแม้นสภาพและชีวิตของสมัชชายุงจะเป็นเช่นนั้น ผมก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง แต่ผมจะไม่ยอมให้สังคมไทยของผมเป็นเช่นนั้นเด็ดขาด
     
      เห็นไม่มี น้ำยา พากันเหยียบ หากเราเงียบ เองก็ยิ่ง มาหยาบหยาม
     
       ว่าโง่เง่า เต่าตุ่น ทุกโมงยาม ถึงต้องถาม ถึงความกล้า มหาชน
     
       ลุกขึ้นยืน ตื่นเถิด เพื่อนไทยเอ๋ย ไทยก็เคย แกว่นกล้า มาทุกหน
     
       จงฝากชื่อ ลือชา ทั่วสากล อย่าให้คน จูงจมูก ดูถูกไทย !!!
     

       ฉบับหน้า เราจะเคลื่อนไหว ผนึกกำลังของแผ่นดินและแผ่นฟ้าเข้าด้วยกัน เพื่อนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญและระบบราชประชาสมาสัย โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นธงไชย
     
       ท่านผู้อ่านที่เคารพ ผมขอเพียงไปรษณียบัตรคนละ 3 ใบ!!!
ภาพประจำตัวสมาชิก
por_jai
Verified User
โพสต์: 14338
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 2

โพสต์

8) ผมให้ครับ3ใบ
    เพราะผมก็เป็นพวกเดียวกะท่าน คือ คนไม่(ค่อย)มีน้ำยา
    เดี๋ยวสายๆไปจัดการเลยครับ
กรูเก่ง กิเลสเก่งกว่า
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 3

โพสต์

คมช.ทำลายราชประชาสมาสัย?

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ 24 ธันวาคม 2549



ท่านผู้อ่านที่เคารพ บัดนี้เรามาถึงจุดที่ถอยหลังไม่ได้เสียแล้ว
     
      ถ้าหากเราต้องการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง เราจะต้องช่วยกันสร้างราชประชาสมาสัย      

       ผมเกือบจะเอาเครื่องหมายคำถามหลังชื่อบทความนี้ทิ้งเสียแล้ว ที่คงเอาไว้เพราะผมยังเชื่อว่า คมช.ต้องการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับพวกเรา
     
       แต่เราจะนอนใจมิได้ เพราะการกระทำของ คมช.แต่ต้นมา นอกจากจะไม่ส่งเสริมกระบวนการราชประชาสมาสัยแล้ว คมช.ยังสนับสนุนคณะบุคคลและแนวความคิดที่ทำลายราชประชาสมาสัยเสียอีก
     
       เรายังมองโลกในแง่ดีว่า ที่ คมช.เป็นดั่งนั้น เพราะ คมช. ไม่เข้าใจ ไม่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ
     
       ไม่ตั้งใจอันที่สองต่างกับอันที่หนึ่ง เพราะอันที่หนึ่งคือไม่ตั้งใจเฉยๆ แต่อันที่สองคือไม่ตั้งอกตั้งใจ
     
       พลโทฤกษ์ดีบอกว่า แม้อาจารย์กฎหมายและนักรัฐศาสตร์ชั้นสูงยังไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น คมช.จะไปอายทำไมว่าท่านก็ไม่รู้เรื่อง
     
       แทนที่ท่านจะตั้งอกตั้งใจศึกษาหาความรู้ว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเกิดขึ้นได้ ทำไมจึงต้องราชประชาสมาสัยเท่านั้น
     
       ท่านกลับไปปล่อยให้คนที่มีความคิด มีประวัติ และผลงานที่ทำลายประชาธิปไตยและราชประชาสมาสัยมาตลอดมาเป็นผู้ชี้นำกำกับเสียอีก
     
       อย่างนี้ แม้ท่านจะมิใช่ตัวการ ท่านก็กระทำผิดในฐานะผู้สมคบ
     
       พวกเราจะช่วย มิให้ คมช.ถลำลึกกว่านี้ ชั้นแรกอยากให้ คมช.กลับไปศึกษาว่า ทั้งรัฐธรรมนูญ พระราชกฤษฎีกาฯ กับพฤติกรรมของสมัชชา(ยุง)แห่งชาตินั้น เป็นเรื่องนอกคอกหรือมิใช่
     
       เราใช้พฤติกรรมเผด็จการสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ แต่เราใช้อำนาจเผด็จการสร้างประชาธิปไตยได้
     
       ไม่เชื่อคอยติดตามพระเจ้าจิกมี พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ของภูฏานดู
     
       ท่านผู้อ่านที่เคารพ ตอนนี้สำคัญ ด้วยความถ่อมตัวอย่างยิ่ง ผมขออนุญาตเล่าเรื่องที่เมืองไทยอาจจะยังไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์มิได้รายงาน นักวิชาการรวมทั้งศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์มิได้วิเคราะห์ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าไม่ถึงข้อเท็จจริง และเหตุการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการเมืองไทย
     
       ผมขอพูดย่อๆว่า ยกเว้นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (ซึ่งก็ยังมี มือที่มองไม่เห็น อยู่เหมือนกัน) ในครึ่งหลังของการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา การต่อสู้ในทางการเมืองที่ถึงจุดระเบิด
     
       ล้วนแล้วแต่เป็นการขัดแย้งและต่อสู้กันเองในหมู่ทหารที่มีกำลังทั้งสิ้น ไม่มีครั้งใดเลยที่การต่อสู้ของประชาชนผู้บริสุทธิ์กับอำนาจเผด็จการ จะปลอดจากการประสานงานและอำนวยการของทหารที่อิงแอบและฉวยโอกาสใช้ประชาชนเพื่อกำจัดกันเอง ไม่ว่าจะเป็น 20 ตุลาคม 2520 หรือพฤษภาทมิฬ หรือครั้งใดๆ ก็ตาม

     
       นี่คือสิ่งที่ผมกลัวที่สุดว่าจะเกิดขึ้นอีก กลัวยิ่งกว่าทักษิณซึ่งจะเป็นเพียงปัจจัยแทรกซ้อนเท่านั้น ก็คือความขัดแย้งระหว่างทหารเก่า ทหารใหม่ และทหารที่กำลังจะใหญ่ขึ้นมา
     
       การจะป้องกันมิให้ทหารต่อสู้กันเองโดยแอบอ้างประชาธิปไตย มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น คือการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญไปสู่กระบวนการราชประชาสมาสัยอันได้แก่ การผนึกกำลังฟ้าดินเข้าด้วยกัน
     
       ผมขอยกตัวอย่างการเมืองเรื่องทหารก่อน
     
       (1) มีใครทราบว่า การปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลหอยของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยมีพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ เป็นหัวหน้า ประกาศเมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 20 ตุลาคมนั้น ขณะที่ 24 นายพลเอกสามเหล่าทัพประชุมกันอยู่เพื่อจะดำเนินมาตรการขั้นต่อไป ทั้งหมดพร้อมกำลังคุ้มกันถูกจี้ปลดอาวุธขังอยู่ในห้องภายใน 1 ชั่วโมงต่อมา โดย 2 พันโท และทหารบกยศต่างๆ อีกเพียง 9 นาย นั่นคือ การปฏิวัติซ้อนที่พลเรือเอกสงัดเป็นเพียงเชลย ยอมให้ รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ พลเอกเปรม และยังเติร์ก จปร. 7 ผงาดขึ้นมา 2 นายพันโทดังกล่าวมีชื่อว่า พัลลภ ปิ่นมณี กับ จำลอง ศรีเมือง
     
       (2) ผมเสียดาย ใครยืมหนังสืออัตชีวประวัติของพลเอกสายหยุด เกิดผล เรื่อง ชีวิตนี้มีค่านัก ไปยังไม่คืน ผมเลยไม่สามารถลอกคำต่อคำที่หมอประเวศเขียนในคำนำว่า ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจโดย รสช.นั้น คุณหมอกับผมได้ไปหา และขอร้องให้พลเอกสายหยุดยับยั้งห้ามปรามมิให้ จปร. 5 ของพลเอกสุจินดา คราประยูร ทำการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลพลเอกชาติชาย พลเอกสายหยุดตอบว่าห้ามไม่ได้ดอก เวลาคน (ทหาร) มีอำนาจมันไม่ยอมฟังใคร
     
       (3) ถ้าใครมาบอกว่า รสช. เพิ่งมาคิดปฏิวัติตอนที่บิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ กับ เต้ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล กลัวจะถูกปลดนั้น อย่าเชื่อเป็นอันขาด คนไม่มีน้ำยาอย่างผมรู้เรื่อง ได้ยิน และได้ห้ามมาเป็นปีแล้วว่าอย่าเลย โลกมันเปลี่ยน เมื่อก่อนใครปฏิวัติไอ้กันจะวิ่งเอาเงินมาให้ เดี๋ยวนี้มันจะตัดความช่วยเหลือและเพิกถอนวีซ่า อนึ่งขณะนั้นเมืองไทยกำลังหอมในอาเซียน ป๋าเปรมสั่งสมเงินและความมั่นคงไว้ให้ ดอกเบี้ยก็ถูก ราคาน้ำมันกำลังลด ฯลฯ
     
       ผมเองได้พยายามเขียนให้ทหารและสังคมไทยเข้าใจ ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตุลาคม 2533 เป็นต้นมา พอกุมภาพันธ์ 2544 เมื่อ รสช. ยึดอำนาจแล้วผมก็ไม่เลิก วันแรกไม่มีหนังสือพิมพ์ร่วมมือกับผมเลย นอกจากภาษาฝรั่งฉบับเดียว
     
       (4) พอเขายึดอำนาจแล้ว ผมก็แน่ใจว่าเผด็จการต้องต่อยอดแน่ เพราะเป็นธรรมชาติและสัญชาตญาณของการป้องกันตัว ในที่สุดจะหนีไม่พ้น นองเลือด ผมจึงได้ขอให้สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยจัดการอภิปรายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 ณ หอประชุมธรรมศาสตร์ในหัวข้อ ระวัง อย่าให้นองเลือด: ทิศทางการเมืองไทย มีผู้อภิปรายคือ หมอประเวศ วะสี ธีรยุทธ บุญมี บุญชู โรจนเสถียร พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จำลอง ศรีเมือง บัญญัติ บรรทัดฐาน และผม
     
       (5) ทั้งหมดล้วนแต่เป็น คมมนย. (คนไม่มีน้ำยา) ทั้งสิ้น เพราะไม่มีอำนาจ ในที่สุดก็เกิดนองเลือดจนได้ ผู้ที่อยากจะภาคภูมิใจว่า พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการทหารล้วนๆ ผมก็ไม่ว่า เพราะท่านไม่สามารถมองเห็นเงาทมิฬอย่างที่ผมเห็น นั่นก็คือ ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างอดีตผู้บัญชาการทหารบกกับผู้ที่สืบทอดตำแหน่ง โดยฝ่ายหนึ่งมี จปร. 7 เข้าข้าง และอีกฝ่ายหนึ่งมี จปร.5 ยืนทะมึนอยู่ข้างหลัง
     
      (6) ก่อนที่จะเกิดการยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลทักษิณ 20 วัน พลเอกสายหยุด เกิดผล ทหารอาชีพผู้บูชาและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มองเห็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศเพราะการปกครองรวมศูนย์ระบอบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแต่ในนาม ในวันที่ 30 สิงหาคม 2549 ท่านจึงเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเช้าผมกับอดีตผู้บังคับบัญชาทหารสามเหล่าทัพตำแหน่งจอมพลทั้งนั้น และอดีตเอกอัครราชทูตสุรพงษ์ ชัยนาม เราคุยกันถึงเรื่องกองทัพโปรตุเกสปฏิวัติประชาธิปไตยปี 1974 ได้สำเร็จ ไทยจะสามารถใช้อะไรเป็นบทเรียนได้บ้าง สิ่งที่พลเอกสายหยุดไม่อยากเห็นก็คือการที่ทหารจะออกหน้าทำการปฏิวัติโดยลำพัง ท่านเป็นห่วงอนาคตของประชาธิปไตย จึงอยากให้ทหารออกมาประกาศหรือเปิดใจให้สังคมรู้ว่าทหารก็อยู่ข้างประชาชนและประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ และร่วมผลักดันให้เกิด People Power เช่นเดียวกับการขับไล่ประธานาธิบดีมาร์กอสของฟิลิปปินส์ พลเอกสายหยุดกำลังจะเดินทางไปต่างประเทศจนถึงวันที่ 12 ตุลาคม จึงเป็นห่วงมาก พยายามนัดพบกับพลเอกเปรมเพื่อให้ช่วยประคับประคองการเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จ และถูกต้องตามครรลอง แทนที่จะเป็นการให้ไฟเขียวแต่เพียงอย่างเดียว ปราศจากทิศทางหรือโรดแมปใดๆ      

      *ในยุค รสช.นั้น ผมรักษาความเป็นมิตร แต่ก็คัดค้านทั้งพลเอกสุจินดา นายกฯ อานันท์และพรรครสช.อย่างหนักหน่วง ทั้งๆ ที่มีพี่น้องในไส้เป็นใหญ่ในพรรค 2 คน คนหนึ่งเป็นถึงเลขาธิการ สุชน ชาลีเครือและคนใหญ่ๆ หลายคนในยุคทักษิณก็หิ้วโหนกระแสนี้ขึ้นมา ผมเรียกร้องให้พลเอกสุจินดาสนับสนุนความคิดราชประชาสมาสัย และถ้าไปไม่รอดให้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงการนองเลือดและได้มาซึ่งประชาธิปไตย
     
       แต่ข้อเสนอของผม ซึ่งกระทำอย่างเปิดเผยในสื่อและโดยตรงมิได้รับความแยแส รสช. เชื่อว่าตนคุมอำนาจอย่างเหนียวแน่นทั้ง 3 กองทัพและตำรวจ กลุ่มทุนประเทศก็อยู่ในกำมือ นักการเมืองและผู้แทนเกือบเต็มร้อย นักวิชาการปัญญาชนวิ่งเข้าหาหัวกระไดไม่แห้งฯลฯ
     
       ผมทำนายว่า พลเอกสุจินดาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อใดจะอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน และจะต้องนองเลือดอีกครั้งแน่นอน
     
       ท่านผู้อ่านที่เคารพ กลับมาหาปัจจุบัน สมควรหรือไม่ที่เราจะนำบทเรียนในอดีตมาเป็นอุทาหรณ์ รสช. กับ คมช.ไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ต่างกัน ไม่ต่างกันเพราะภูมิหลังและการศึกษาอบรมในโรงเรียนและกองทัพ ไม่ต่างกันในวิธีการตัดสินใจและการใช้บุคลากรและองค์กรอำนาจนิยมเป็นเครื่องมือ ไม่ต่างกันในการอ้างรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยโดยปราศจากความเข้าใจภายใต้การชักนำผิดๆ ของนักกฎหมายและนักวิชาการ สำคัญที่สุดไม่ต่างกันเพราะไม่มีเป้าหมาย ไม่เข้าใจว่าระบบ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคืออะไรกันแน่ จึงหวังพึ่งรัฐธรรมนูญ สมัชชา พระราชกฤษฎีกา และศาสตราจารย์โน่นนี่เป็นสรณะ โดยอ้างว่าตนไม่มีอำนาจจะแทรกแซง
     
       บ้าทั้งเพ เช่นนี้จะนำพาประเทศเข้าสู่วัฏจักรน้ำเน่าและวงจรอุบาทว์อีกแน่นอน
     
       นานมาแล้วผมเสนอให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน เอาบารมีในหลวงเป็นที่พึ่ง ช่วยกันสร้างประชาธิปไตย
     
       ท่านผู้อ่านที่เคารพ ช่วยผมปรับข้อเสนอ 1 พ.ย. 2534 ข้างล่างนี้เข้าสู่ปัจจุบันสมัยด้วย
     
       หากไม่ต้องการนองเลือดและอยากได้ประชาธิปไตย
     
       1. คนไทยจะต้องช่วยกันเคลื่อนไหว ให้รัฐธรรมนูญที่จะออกมาเป็นกลาง และเป็นประชาธิปไตย
     
       2. เสนอให้เตรียมทำประชามติ โดยให้สมัชชาประชาชนมีส่วนร่วมแต่ต้น ถ้าไม่สำเร็จ ให้โอกาสทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น เสนอสูตร และทางเลือกอีกรอบหนึ่ง ให้ประชาชนเรียนรู้ รับรู้ และช่วยกันคิดให้ถี่ถ้วน พร้อมๆ กับรัฐบาลและสภา
     
       3. ถ้าไม่สำเร็จ ทูลเกล้าขอบรมราชวินิจฉัยเช่นที่มีตัวอย่างมาแล้วในรัชกาลที่ 7
     
       4. ถ้าไม่สำเร็จอีก เสนอให้ คมช. (รสช.) สนช. สลายตัว เพื่อสร้างสุญญากาศทางการเมือง อันเป็นเงื่อนไขที่จะถวายพระราชอำนาจคืนให้พระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสั่งและหามาตรการให้ปฏิบัติตามจารีตประชาธิปไตย
     
       5. ถ้าไม่สำเร็จ ทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ
     
       ทั้งนี้ต้องใช้สันติวิธี งดวิธีการรุนแรงทุกอย่าง ต้องรู้จักพัฒนาพลังของบุคคลให้เป็นพลังของกลุ่ม ยกระดับความเคลื่อนไหวจากขบวนการ เป็นองค์การ เป็นสถาบัน โดยผูกพันและเกาะเกี่ยวกับกลุ่ม องค์กรและเครือข่ายต่างๆ อย่างเป็นระบบ
     
       อย่าลืมว่าเรากำลังสู้กับระบบความคิดเก่า และการจัดตั้งสืบทอดสถาบันของระบบเก่า เราจะสู้ตามยถากรรมไม่ได้ ต้องมีทิศทาง เป้าหมาย และเป็นระบบ
     
       อย่าเป็นเครื่องมือของความรุนแรง การก่อจลาจล การสวมรอย การประท้วงโดยฝูงชนที่เคียดแค้นและไม่เข้าใจ
     
       ขอโทษอีกทีครับ กระดาษหมด ฉบับหน้าเรื่องการผนึกกำลังฟ้าดินสู่ราชประชาสมาสัย และประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างละเอียดและเป็นรูปธรรม ก่อนที่จะอำลาปีเก่าและของเก่า
     
      ท่านผู้อ่านที่เคารพเกือบ 33 ปีแล้ว บางท่านอาจจะไม่รู้ว่าอำนาจการเมืองกับทหารสู้กันเอง ลูกหลานของประชาชนตาดำๆ ต้องสังเวยไปกี่ชีวิต ในอนาคต เราอย่าปล่อยให้ทหารสู้กันอีก แล้วดึงเอาชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์และสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราไปด้วยเลย      

       ส่งหรือยังครับ ไปรษณียบัตร 3 ใบ!!!
*
ส่วนหนึ่งของเนื้อหาตรงนี้น่าจะปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ "จดหมายถึงนายเข้ม เย็นยิ่ง ปริทัศน์การเมืองไทย" ที่เคยนำเสนอในบทความของผู้เขียนคนเดียวกันก่อนที่ห้องการเมืองจะปิด
ไป..

ถ้าหากพบเอกสารซึ่งเขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2534-2535 จะนำมาให้อ่านกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า บริบทการเมืองไทยในระยะที่ผ่านมาเป็นดังเช่นที่ผู้เขียนบทความเสนอไว้..

"ยึดไม่ยอมเปลี่ยนแปลง"

โต้ ชีริก
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 4

โพสต์

[quote="por_jai"]8) ผมให้ครับ3ใบ
ภาพประจำตัวสมาชิก
por_jai
Verified User
โพสต์: 14338
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 5

โพสต์

8) ผมอ่านว่าส่งไปนสพ.ได้
    เลยส่งไปหน้าการเมืองไทยรัฐทั้ง3แผ่นเลยครับ
    อ.ปราโมทย์เขียนให้คิดเองนะ ผมว่า........
กรูเก่ง กิเลสเก่งกว่า
Jeng
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 14783
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ผมว่า อาจารย์ท่านนี้ ควรจะสงบ สติ อารมณ์ได้แล้ว แก่มากแล้ว

ก่อนหน้านี้ ก็ตีทักษิณ

และภายหลังก็โดนทักษิณ เล่นงานกลับ

ภายหลังทักษิณ ก็โดนยึดอำนาจ

แล้วท่านจะเอาอะไรอีก

ปล่อยวางบ้างก็ดีนะ ท่านอาจารย์

โลก ก็หมุนไป แบบนี้แหละ อย่าไปคิดมากเลย
Jeng
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 14783
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 7

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

วันรุ่งขึ้น ผมรีบเขียนบทความว่าผมดีใจที่ทหารช่วยกำจัดรัฐบาลทักษิณเสียได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามทฤษฎีสัญญาประชาคมแล้ว การกระทำทั้งหมดนี้ ผมรู้แต่มิอาจร่วมได้ ผมเห็นใจแต่ไม่เห็นด้วย ผมยินดีช่วยแต่ไม่ขอเกี่ยวข้อง 
สังคมเลว เพราะคนดีท้อแท้

ดีใจ ที่ใช้กำลังจัดการ กับพวกลุแก่อำนาจ

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ผมเห็นใจแต่ไม่เห็นด้วย ผมยินดีช่วย แต่ไม่ขอเกี่ยวข้อง
โอย ประเทศชาติ เต็มไปด้วยคนแบบนี้เต็มไปหมด
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ผมคิดว่าการสื่อสารขัดข้องกระมังคับ...

ผมเข้าใจว่า พวกเรา ประชาชนทั้งหลาย นอกจากมีหน้าที่ทางวิชาชีพ

ความรับผิดชอบต่อครอบครัว การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแล้ว

ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง ทั้งในทางตรงและทางอ้อม

ทั้งโดยบังคับ(หน้าที่เสียภาษี ไปเลือกตั้ง-ถอดถอน ฯลฯ)และโดยสมัครใจ

ที่ผ่านมาเราถูกปกครองโดยเต็มใจ บ่อยครั้งอึดอัดใจ และถมเถไปที่ต้องฝืนใจ

เราเป็นผู้ใต้ปกครองที่น่ารักซื่อสัตย์จังเลยคับ

จนสังคมเราเป็นสังคมที่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำผู้ปกครองและจะสืบไปถึงลูกถึงหลาน

เรายินยอมให้เป็นเช่นนั้นหรือคับ

ผมคิดว่าถ้าจะเป็นเช่นนั้น

เราอาจจะทิ้งมรดกความขมขื่นทางประชาสังคมให้กับลูกหลานก็เป็นได้

เราท่านอาจจะอยู่กันไม่เกิน 100 ปี

แล้วรุ่นต่อไปจะต้องเผชิญกับสังคมที่พวกเราช่วยกันสร้างซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นสังคมแบบไหน

บางท่านอาจบอกว่า ฝากอนาคตไว้กับรุ่นต่อไป รุ่นเราคงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ได้แค่เนี้ยดีถมไป

ผมไม่คิดว่าเราจะไปฝากอะไรกับรุ่นหลังถ้าไม่สร้างพลังเข้มแข็งให้สังคมวันนี้


เพราะฉะนั้น ผมจะไม่ลังเลเลยถ้าใครหรือรัฐบาลไหนก็ตามที่ขึ้นมาปกครองประเทศ

แล้วทำอะไรนอกรูปนอกรอยนอกรีตนอกพันธสัญญาที่มีต่อประชาชน

นอกคำปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ในวันถวายสัตย์ปฏิญาณ

ถือว่าผิดคำสาบานต่อเทพยดาฟ้าดิน

ไม่ต้องรอให้พระเจ้าลงโทษ

มวลชนที่เข้มแข็งและแข็งขันในการตรวจสอบก็ลงโทษได้เช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นการเสนอความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ลงประชามติ ถอดถอน ฟ้อง ฯลฯ

ช่องทางใดที่ถนัดตามสถานภาพ

ทุกวันนี้เราทำน้อยไปด้วยซ้ำ

เราคิดว่าเลือกตั้งแล้วก็จบ(พิมพ์นิยมประชาธิปไตย) ดีร้ายไว้ว่ากันใหม่อีก 4 ปี

แล้วปล่อยให้ 3 ปีกว่าเป็น 3 ปีแห่งการแบ่งสันปันส่วนของพวกนักลากตั้งทั้งหลาย

ไม่ดูไม่แลกันเลยจริงๆเหรอคับ

จะสมานฉันท์กันท่าเดียว :?:  :roll:

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ผมว่า อาจารย์ท่านนี้ ควรจะสงบ สติ อารมณ์ได้แล้ว แก่มากแล้ว

ก่อนหน้านี้ ก็ตีทักษิณ

และภายหลังก็โดนทักษิณ เล่นงานกลับ

ภายหลังทักษิณ ก็โดนยึดอำนาจ

แล้วท่านจะเอาอะไรอีก

ปล่อยวางบ้างก็ดีนะ ท่านอาจารย์

โลก ก็หมุนไป แบบนี้แหละ อย่าไปคิดมากเลย

ก่อนหน้าตีทักษิณ อาจารย์ท่านนี้ก็ตีเปรม ตีรสช. ตีสุจินดามาแล้วคับ

การไม่เสนอแนะความเห็นตามวิชาชีพและความรู้ที่ได้เรียนมา

ผมคิดเดาเอาเองว่า อาจารย์แกอาจจะไม่อยากทรยศต่อวิชาชีพ คือการเป็นนักวิชาการอิสระ

ไม่ใช่ประเภท ชนะไหนเข้าด้วยช่วยกระพือ มั้งคับ

ได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปร่ำเรียนวิชารัฐธรรมนูญแต่นำไปแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจ

ยอมสยบอยู่ใต้เผด็จการ ร่างรธน.แบบหมกเม็ดเบ็ดเสร็จ

ผมก็ไม่คิดว่าอาจารย์ท่านนี้จะยอมทำ

ถ้าทำคงทำนานแล้ว สบายแล้ว นั่งตีขิมที่บ้าน เขาลุยกันเสร็จก็มีรถมารับไปใช้บริการ

ไม่ใช่อาจารย์ท่านนี้แน่

ท่านใดเคยอ่านเรื่อง"ประธานาธิบดีหมาๆ"มั้ยคับ

เป็นเรื่องราว เป็นบทความเกี่ยวกับผู้นำประเทศอภิมหาอำนาจประเทศหนึ่ง

จำได้ว่าอาจารย์ท่านนี้แหละคับเขียน

นั่นแน่ะ ไปตีผู้นำประเทศเขาอีกแน่ะ

หัวเรื่องข้างต้นยังไม่ปรากฏในบทความเกี่ยวกับผู้นำไทยโดยตรง อยากอ่านเหมือนกันคับ...

อีกเรื่องมีแน่ๆในบทความชุดหนึ่ง บางท่านอาจจะจำได้

"การล้มล้างรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมในทฤษฎีสัญญาประชาคม"

มีในห้องนี้แหละคับ กระทู้เก่าๆ ราวๆปลายปี 48

มันเกือบจะเกิดขึ้นแล้ว แต่มันก็หมิ่นเหม่

ต่อการเข้าใจผิด

โดยเฉพาะต่อผู้ที่ยึดติดกับรูปแบบ เปลือกนอกของประชาธิปไตยในสไตล์สมานฉันท์

ลองติดตามกันต่อไปสิคับ

ดูเป็นต้นๆก็แล้งๆแกร็นๆ

ดูทั้งป่าเลย เดี๋ยวผมจัดให้...
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 9

โพสต์

ผนึกกำลังฟ้าดินสู่ราชประชาสมาสัย (1)

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ
3 มกราคม 2550



ท่านผู้อ่านที่เคารพ โปรดช่วยกันถามและคิดให้หมดเปลือก
     
       1. การรบกวนให้พระเจ้าอยู่หัวทรงร่วมร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
     
       แต่ถ้าลองสมมติว่า เราจะถามประชาชนทั้งแผ่นดิน หรือแม้แต่สมัชชาแห่งชาติ 1,982 คนว่าจะยอมรับพระองค์ท่านหรือไม่ คำตอบจะเป็นอย่างไร
     
       2. การขอให้ประชาชนทั้งประเทศมามีส่วนร่วมหรือสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่เขาไม่มีส่วนรู้เห็น ก็คงจะเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ใช่หรือไม่
     
       แต่ถ้าลองถามเขาว่า ร่างรัฐธรรมนูญให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจในการปกป้องคุ้มครองประชาชนและระบอบประชาธิปไตยดีหรือไม่ คำตอบจะเป็นอย่างไร
     
       เมื่อได้คำตอบแล้ว ช่วยกันถามต่อว่าจะหาวิธีที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ดีที่สุดได้หรือไม่
     
       คำตอบ ก็คือได้ ถ้า คมช.เข้าใจและสนับสนุนความคิดและวิธีการราชประชาสมาสั
      ย
     
       ผู้ที่ขัดขืนราชประชาสมาสัยอาจจะมีอยู่เฉพาะทุนนิยมเผด็จการ และผู้ที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์เท่านั้น และข้อโต้แย้งสำคัญที่สุดของพวกนี้ ก็คือ เกรงประเทศจะถอยหลังเข้าคลอง เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์
     
       เสแสร้งและเหลวไหลทั้งเพ
     
       ใน ใช่แต่ทหาร..อาจารย์กฎหมายและนักรัฐศาสตร์ก็ไม่รู้เรื่อง ผมได้อธิบายกว้างๆว่า รัฐธรรมนูญแบบราชประชาสมาสัยมิใช่สิ่งลึกลับอะไร มีความคิดปรารถนาและการพูดถึงกันมาแล้วอย่างน้อย 33 ปี รัฐธรรมนูญแบบราชประชาสมัยก็คือ การผนึกพลังแผ่นดินเข้ากับพลังแผ่นฟ้า อันได้แก่ การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางแท้จริงของประชาชนกับการสถาปนาพระราชอำนาจตามระบอบรัฐธรรมนูญ และนิติราชประเพณี ให้ปกป้องไพร่ฟ้าประชาชนและประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง      

       ผู้ที่เสนอคำศัพท์และแนวความคิดราชประชาสมาสัยนี้มิใช่ผม แต่มีอยู่ 2
      ท่านร่วมกัน คือหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช กรรมการร่างรัฐธรรมนูญรุ่นผมในปี 2516 บัดนี้อาจารย์คึกฤทธิ์จากไปแล้ว อาจารย์ชัยอนันต์จะต้องอธิบายให้แจ่มแจ้ง เพื่อนำเอาไปปฏิบัติเสียที
     
       ราชประชาสมาสัย คือ สังคมที่ราษฎรกับพระเจ้าอยู่หัวต่างก็เป็นสมบัติซึ่งกันและกันตามประเพณีโบราณของไทย เมื่อเป็นเช่นนั้น ประชาชนกับในหลวงก็จะต้อง อยู่ด้วยกัน ทำด้วยกัน และพึ่งกัน โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญยิ่งยวด คือเรื่อง การปกครองบ้านเมือง ซึ่งสมัยใหม่จะกระทำด้วยวิถีประชาธิปไตยเท่านั้น
     
       ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา พระเจ้าอยู่หัวกับประชาชนไม่สามารถร่วมกันได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะทั้งพระราชอำนาจของในหลวงและอำนาจ (อธิปไตย) ของประชาชนถูกเผด็จการอำนาจนิยมแย่งชิงหรือยักยอกเอาไปเป็นของนักการเมืองและข้าราชการ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ และระบบราชการเป็นเครื่องมือ
     
       ในอดีต เผด็จการแอบอ้างพระมหากษัตริย์ เพื่อรักษาฐานะและผลประโยชน์อันมิชอบของตน อยู่เหนือหัวราษฎรเป็นประจำ
     
       ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ ระบบการปกครองที่นักการ เมืองและข้าราชการเป็นผู้รับใช้ประชาชนมิใช่เป็นนาย และเป็นรัฐบาลหรือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง มิใช่แต่ปาก
     
       
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจ สร้างและ จัดให้เป็นระบบ ก็มีอยู่ 2 อย่าง
     
       1. การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นระบบในการสร้าง บำรุงส่งเสริมและรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมของประชาชน ฝรั่งเรียกว่า People หรือ Popular Participation หรือ Participative Democracy เป็นกิจวัตรปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวัน มิใช่เป็นครั้งคราว
     
       2. การมีส่วนร่วมของพระมหากษัตริย์ในชีวิตการเมืองของประเทศเป็นประจำ โดยการใช้พระราชอำนาจต่างๆ อย่างเป็นระบบ ตามลัทธิรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่า Constitutional Monarchy
     
       หัวใจของระบบ Constitutional Manorchy อยู่ที่ความเคารพและการจัดสรรพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้ถูกต้อง เกิดผลในทางคุ้มครองประเทศชาติและประชาธิปไตยได้ ทั้งในยามปกติและฉุกเฉิน
     
       พระราชอำนาจมีอยู่ 3 ประเภท คือ (1) พระราชอำนาจโดยทั่วไป ได้แก่ พระราชอำนาจแนะนำ ตักเตือน และให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ซึ่งจะต้องมีทั้งระบบและระเบียบการนัดหมายตามกำหนดที่แน่นอนเป็นประจำและกรณีพิเศษ (2) พระราชอำนาจพิเศษ (3) พระราชอำนาจสำรอง พระราชอำนาจใน 2 ข้อนี้ เช่น เรื่องปลดและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีกรณีพิเศษ การยุบสภาหรือการสั่งให้มีการเลือกตั้งกรณีพิเศษ ตามคำขอหรือปราศจากคำขอของรัฐบาล การประกาศสงคราม พระบรมราชโองการพิเศษต่างๆ ยามฉุกเฉิน ฯลฯ
     
       ทั้งหมดนี้มีแบบอย่างและกรณีศึกษาอยู่ทั้งในรัฐธรรมนูญ และจารีตปฏิบัติ ในตำราเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของประเทศที่เก่าแก่มีอารยธรรมวัฒนธรรมมายาวนาน
     
       ชนชั้นปกครองไทย นักกฎหมายและนักวิชา การรับใช้ได้สร้างลัทธินอกคอกยักยอกและกีดกันมิให้พระมหากษัตริย์ได้ใช้พระราชอำนาจตามที่มีแบบอย่างดังกล่าว โดยอ้างว่าพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแต่อยู่เหนือการเมืองและจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองใดๆ ปล่อยให้พระเจ้าอยู่หัวอยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการมาไม่รู้กี่ฉบับ
     
       ในหลวงทรงใช้พระราชอำนาจประเภทที่ 1 ได้อย่างกระท่อนกระแท่น นายกรัฐมนตรีบางคนไม่กล้าเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงาน บางคนขอเข้าไปกอดพระบาท 3 ชั่วโมงไม่จบอ้างว่าเพื่อเพิ่มพลัง แต่กลับเอาไปหาเสียงโอ้อวดกับราษฎร ว่าเป็นลูกชายคนโปรดของในหลวง พบกันเป็นประจำ วันนี้เพิ่งไปเข้าเฝ้าฯ มาครึ่งวัน เป็นต้น การเข้าเฝ้าฯ พระมหากษัตริย์ตามพระราชอำนาจดังกล่าว มีจารีตว่าห้ามจดบันทึก ห้ามเปิดเผย และห้ามแถลงข่าวโดยสิ้นเชิง ฯลฯ
     
       ในหลวงแทบจะมิได้ทรงใช้พระราชอำนาจพิเศษกับพระราชอำนาจสำรองเลย ยกเว้นในวาระที่พระองค์ยอมเสี่ยงช่วยแก้วิกฤตใหญ่หลวงของชาติ 2-3 คราวเช่น 14 ตุลาคม และพฤษภาทมิฬ ด้วยพระมหากรุณา และต้องทรงวางพระองค์อย่างล่อแหลมหลายต่อหลายครั้ง
     
       ทั้งผู้มีอำนาจและประชาชนเอา Constitutional Monarchy หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปปนเปไขว้เขวกับเผด็จการโดยรัฐธรรมนูญหรือConstitutional Dictatorship เสมอมา เช่นนี้ จะเป็นอันตรายต่อสถาบัน
     
       เรื่องพระราชอำนาจพิเศษและสำรองของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนี้ผมเขียนมาแล้วร่วม 40 ปี ตั้งแต่เรายังไม่มี มาตรา 7 ได้ยกตัวอย่างและอธิบายขั้นตอนเงื่อนไขเงื่อนเวลาที่ถูกต้องไว้อย่างละเอียด เมื่อพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับศาลในเดือนเมษายนปีที่แล้ว พวกฟังไม่ได้ศัพท์จับเอามากระเดียด เกรงว่าตนหรือมูลนายจะต้องสูญเสียพากันปลุกระดมโจมตีมาตรา 7 โดยไม่ได้ยินพระองค์ตรัสต่อว่า ถ้าจำเป็นจะต้องใช้ก็ไม่กลัว ขอให้ศาลบอก แต่ศาลมัวแต่ลังเลไม่กล้าบอกจนกระทั่งถึง 19 กันยายนเสียก่อน
     
       สังคมไทยตลอดจนนักวิชาการและผู้มีอำนาจในการปกครองยังมีความเข้าใจพระราชอำนาจทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติไขว้เขว ในการร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ร่างและผู้ให้สัตยาบัน คือประชาชนผู้แสดงประชามติจะต้องมีความรู้ให้เพียงพอ ไม่นำ Constitutional Dictatorship กลับมาใช้อีก เพราะสำคัญผิดว่าเป็น Constitutional Monarchy
     
       ลำพังการมีรัฐธรรมนูญเขียนไว้ไม่สามารถทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยได้ ความเป็นประชาธิปไตยจะต้องครบองค์สาม คือ มีระบบปกครองและกฎหมายเป็นประชาธิปไตย มีระบบความเชื่อและอุดมการณ์เป็นประชาธิปไตย และมีวิถีชีวิตทั่วไปของสังคมเป็นประชาธิปไตย
     
       รัฐธรรมนูญทุกฉบับหลังรัฐประหาร 2490 เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่ารัฐธรรมนูญยุค 2480 สองฉบับหลังที่อ้างว่าดีที่สุดคือฉบับ 2517 กับ 2540 ยังเป็นเผด็จการ เปิดโอกาสให้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจเป็นประจำ
     
       ดร.ธวัช มกรพงศ์ ยกมือคัดค้านรัฐธรรมนูญ 2517 ว่าเป็นเผด็จการรอนสิทธิพื้นฐานทางการเมืองของประชาชน ดร.ธวัช มิใช่คนโง่สติแตก แต่เป็นอาจารย์จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ เป็นผู้ว่าราชการตงฉินหลายจังหวัด สอบไล่ได้ที่ 1 จากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จบปริญญาโทเศรษฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และปริญญาเอกรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งยังเป็นมาตรฐานอ้างอิงในมหาวิทยาลัยและต่างประเทศอยู่จนถึงทุกวันนี้
     
       ผมเองก็เห็นว่าฉบับ 2540 เป็นเผด็จการยิ่งกว่าฉบับ 2517 แต่ผมไม่ขัดข้องที่จะเอาฉบับใดก็ได้มาปรับใช้ โดยตัดส่วนที่เป็นเผด็จการออกเสีย และเพิ่มส่วนที่เป็นประชาธิปไตย และเรื่องพระราชอำนาจเข้าไป
     
       แต่ผมเป็นห่วงว่า คมช.จะปัดความรับผิดชอบ โดยอ้างว่าจะไม่แทรกแซง ปล่อยให้มีการร่างโดยอิสระ (เช่นเดียวกับ รสช.) เสียเวลาและเสียดายเงิน
     
       คมช.จะกระทำเช่นนั้นมิได้
     
       (1) คมช.จะต้องสั่งการมอบหมายโดยชัดเจนว่า คณะกรรมการต้องร่างโดยวิธีการราชประชาสมาสัยเท่านั้น และจะต้องร่างให้เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงแต่เพียงอย่างเดียว ห้ามหมกเม็ดเป็นอันขาด
     
       (2)ผมเชื่อว่า คมช.ได้ยินแล้วว่า ผู้นำ องค์ประกอบและพฤติกรรมต่างๆ ของ สนช. สมัชชาแห่งชาติถูกโจมตีว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้ศักดิ์ศรี เป็นเครื่องมือให้ตนเองหรือผู้แสวงหาอำนาจและผลประ โยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต คมช.จะต้องเข้าไปช่วยแก้ไขมิให้เป็นอย่างที่ว่า      

       (3) ก่อนอื่น คมช.จะต้องสั่งให้มีการรวบรวมกรณีศึกษาทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ กรณีเปรียบเทียบคำอธิบายโดยศาล และในตำราของปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญในระบอบกษัตริย์ทุกประเทศ เพื่อนำมาทำความเข้าใจและเผยแพร่ผ่านคณะกรรมการ รัฐบาล สื่อและให้ลงไปถึงประชาชนอย่างทั่วถึง
     
       (4) ศึกษากรณีของประเทศไทยว่าอะไรขัด อะไรสอดคล้องกับพระราชอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวบรวมและวิเคราะห์พระราชดำรัส พระราชดำริ พระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างในการกราบบังคมทูลขอและการพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเฉพาะกรณีทั้งในรัชกาลปัจจุบันและรัชกาลที่ 7 หรือแม้แต่นิติราชประเพณีในอดีตที่เป็นประชาธิปไตยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม พระบรมราชโองการเลิกทาส พระราชดำริ ร. 5 เกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครอง เป็นต้น
     
       (5) เมื่อมีหลักการ หลักฐาน และหลักคิดที่จะปรับเข้าเป็นหลักปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นไทยได้แล้ว จึงจะตัดสินว่า เรื่องพระราชอำนาจนี้ อย่างใดจำต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างใดจะต้องบันทึกรวบรวมไว้ข้างนอก อย่างใดนำไปปฏิบัติเป็นจารีตได้เลย ทั้งนี้รวมถึงจารีตของฝ่ายบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ และหน่วยงานและองค์กรส่วนพระมหากษัตริย์ เช่น สำนักราชเลขาธิการ คณะองคมนตรีก็จะต้องจัดให้เป็นระบบไม่กำกวม ทำให้เกิดข่าวลือและความไม่น่าเชื่อถือ หรือการเอาพระมหากษัตริย์ไปแอบอ้างเสมอ ในอดีต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เคยวิพากษ์ตำแหน่งที่สูงส่งยิ่งว่า เป็นคล้ายกับเหา หามีประโยชน์ต่อพระเจ้าอยู่หัวไม่ อย่างนี้จะต้องแก้ไขด้วยการจัดระบบ มิใช่อ้างว่าคนดีแล้วทุกอย่างจะดีเอง
     
       (6) การมีส่วนร่วมของประชาชนต้องเก็บไว้ตอนที่ 2 การผนึกกำลังฟ้าดินนั้นสำคัญยิ่ง พระพุทธเจ้าหลวงและในหลวงองค์ปัจจุบันทรงกล่าวว่าพระองค์จะเป็นสุขได้อย่างไรถ้าพสกนิกรของพระองค์ยังเป็นทุกข์
     
       ดังนั้น คำว่า สุขเพราะผ่านฟ้า สุขสมบูรณ์ จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ สุขเพราะไพร่ฟ้า สุขสมบูรณ์ ไปพร้อมกันเท่านั้น
     
       นี่คือราชประชาสมาสัยที่แท้จริง
     
       ขอถวายพระพร และสวัสดีปีใหม่ครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
por_jai
Verified User
โพสต์: 14338
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 11

โพสต์

Jeng เขียน:ผมว่า อาจารย์ท่านนี้ ควรจะสงบ สติ อารมณ์ได้แล้ว แก่มากแล้ว

ก่อนหน้านี้ ก็ตีทักษิณ

และภายหลังก็โดนทักษิณ เล่นงานกลับ

ภายหลังทักษิณ ก็โดนยึดอำนาจ

แล้วท่านจะเอาอะไรอีก

ปล่อยวางบ้างก็ดีนะ ท่านอาจารย์

โลก ก็หมุนไป แบบนี้แหละ อย่าไปคิดมากเลย
8) ต้องช่วยคนละไม้ละมือสิครับ
    จึงจะถูก
    ตัวข้าน้อยเองก็เป็นพวก inert ทางการเมือง
    มาแต่ไหนแต่ไร
    มาได้พี่บี ติวเข้ม นี่ค่อยยังชั่วหน่อย
    เมื่อก่อนใครมาเรียกผมไปเดินที่โน่นที่นี่
    ผมก็คิดว่าผมจะไปตายแทนคนอื่นทำไม
    สุดท้ายก็นักการเมืองได้ประโยชน์ทั้งหมดไปทุกที
    ผมก็นั่งจิบเบียร์อยู่บ้านสบายใจ
กรูเก่ง กิเลสเก่งกว่า
ภาพประจำตัวสมาชิก
เพื่อน
Verified User
โพสต์: 1826
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 12

โพสต์

ท่านอาจารย์รู้สึกจะออกไปทางแนวRoyalist ค่อนข้างสุดโต่งอยู่เหมือนกันครับ ซึ่งไม่ใช่ข้อเสียหายอะไร....ข้อคิดหลายๆอย่างของท่านดีมากครับ แต่อะไรที่สุดโต่งเกินสมดุลย์มักจะมีปัญหาในการปรับสมดุลย์ภายหลังเสมอ

ความคิดของท่านในยุครัชสมัยปัจจุบัน คงมีคนเห็นด้วยว่าเหมาะสมอยู่มาก....แต่ถ้าเป็นในอนาคตหละครับ เราจะมั่นใจในระบบการปกครองแบบที่ท่านแสวงหาได้มากน้อยแค่ไหน ถึงเวลานั้นจะกลายเป็นรื่องปั่นป่วนหรือไม่ การเปลี่ยนระบบการปกครองกลับไปกลับมา(หรืออย่างน้อยก็การแทรกแทรงทางอำนาจปกครอง)ไม่ได้ทำกันง่ายๆนะครับ ถ้าเปลี่ยนไปแล้ว จะเปลี่ยนกลับมาไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย ต้องคิดให้ดีๆ.....การเปลี่ยนทิศทางของระบบหรือกฎหมายไม่ควรจะคำนึงถึงแค่ความเหมาะสมของบุคคลในแต่ละยุคเท่านั้น แต่น่าจะเป็นแนวปฎิบัติที่ใช้ควบคุมระบบทั้งระบบโดยไม่สนใจตัวบุคคลเป็นหลักน่าจะปลอดภัยกว่าครับ

สรุปเรื่องสำคัญที่สุดคือ ทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งแบบมีคุณภาพ มีความรู้ให้มากขึ้นเท่าทันในหลายๆด้าน

เขียนไปเขียนมา อ่านเอง งงเอง....ไปดีกว่า หวาดเสียว.... :lol:
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 13

โพสต์

ผนึกกำลังฟ้าดินสะกดระเบิดกลางกรุง : สู่ราชประชาสมาสัย ( 2 )

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ 7 มกราคม 2550



ระเบิดกลางกรุงหลายจุดในคืนส่งท้ายปีเก่า ส่งสัญญาณว่า ต่อไปนี้ไม่มีอีกแล้วประเทศไทยที่เราเคยรู้จัก ที่สงบสุขร่มเย็น เป็นเอกลักษณ์เด่นเดียวในโลก
     
       ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์แสนประเสริฐ ประชาชนแสนดี เดี๋ยวนี้ก็ไม่ต่างกับประเทศใหญ่น้อยอื่นๆ ที่ยกระดับความโหดร้ายในการต่อสู้ทางการเมืองขึ้นมา พลเมืองผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บเสียชีวิตเพิ่มขึ้น สังเวยความเลือดเย็นเห็นแก่ตัวของผู้นำที่แก้แค้นหรือต่อสู้กัน
     
       ความโหดร้ายเช่นนี้ เกิดครั้งที่หนึ่งแล้ว ยากที่จะไม่เกิดครั้งที่ 2 และต่อๆ ไป
     
       นี่ก็คือการประท้วงการขาดส่วนร่วมแบบหนึ่ง แต่เป็นการประท้วงที่ผิดสาหัส หรือว่ามีผู้นำสติวิปลาสเพียงคนเดียวกำลังหาความสุขเช่นเดียวกับเนโรเผากรุงโรม
     
       การป้องกันเหตุเช่นนี้ยากยิ่ง การผสมโรง ชี้โพรงให้กระรอก คนนอกแทรก ขยายวงเป็นลูกโซ่ออกไปเรื่อยๆ ขอให้ตำรวจจับตาดูและกลับกัน
     
       (1) ตำรวจอ้าปากสงสัยภาคใต้ ทั้งๆ ที่ไม่มีลักษณะใดเกี่ยวข้องคล้ายคลึงกันเลย
     
       (2) ตำรวจไทยเก่งที่สุดในโลก ไม่ว่าคดียากเย็นแสนเข็ญแค่ไหนก็คลี่คลายได้หมด นอกจากคดีที่ตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้อง
     
       (3) ตำรวจได้ชื่อว่าอ่อนข้อให้อำนาจเก่า และเมื่ออำนาจเก่าพ้นไปแล้ว ก็ยังรักษาพฤติกรรมคาบลูกคาบดอกมาอย่างคงเส้นคงวา
     
       อุปสรรคที่เด่นชัดที่สุดของการมีส่วนร่วมคือ Policing Force ซึ่งมิได้แปลว่าอำนาจตำรวจ แต่เป็นอำนาจใช้กำลังสยบประชาชน ซึ่งรัฐเป็นผู้ผูกขาดอำนาจ และมอบต่อให้ทหาร ตำรวจ และผู้อื่นใช้เป็นประจำหรือเป็นเรื่องๆ
     
       รัฐตำรวจหมายถึงการที่ตำรวจสวมรอยผูกขาด policing force แทนรัฐบาล ข้ามหัวทหารและครอบงำประชาชนหมดสิ้น หากรื้อถอนซากเดน (ทั้งความคิด-ความประพฤติ-ตัวบุคคล) ของรัฐตำรวจไม่หมด เราไม่มีทางสร้างประชาธิปไตยสำเร็จ
     
       จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้วิเศษอย่างไร หากไม่ปฏิรูป ตำรวจตั้งแต่ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก ละก้อ อย่าหวังอะไรให้มาก
     
       ผมปรับหัวข้อบทความนี้เล็กน้อย เพราะมีความเชื่อลึกๆ ว่า ความรักและห่วงในหลวงในปีมหามงคลนี้ อาจเกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างฉับพลัน เพื่อสกัดและสะกดระเบิดกลางกรุงและที่อื่นให้ลดน้อยหรือเสียหายน้อยที่สุดขึ้นได้ เป็นการรวมพลังฟ้าดิน ซึ่งไม่มีอำนาจอื่นใดเทียมทาน
     
       การรวมพลังของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมในละแวกบ้านของตนเอง อย่างที่เรียกว่า เพื่อนบ้านช่วยกันดูแล หรือ Neighborhood Watch ได้ผลชะงัด จนมีการลอกเลียนตัวอย่างกันทั่วโลก
     
       ในอดีต ลูกเสือชาวบ้านอาจล้ำเส้นทางการเมืองเพราะการชักจูงผิดๆ ของผู้แสวงอำนาจ แต่เดี๋ยวนี้คำสอนให้รู้รักสามัคคีและมีวินัยเป็นที่ตระหนักยิ่งขึ้น การรวมตัวกันขึ้นเอง เป็นอาสาสมัคร ลูกเสือชาวบ้านชุมชน เพื่อปฏิบัติภารกิจ สกัดและสะกดระเบิดกลางกรุง อาจประสบความสำเร็จอย่างอัศจรรย์ก็ได้ หากทุกๆ คนพร้อมใจกันระแวดระวังละแวกบ้านของตน จัดระบบการแจ้งข่าว บอกกล่าวให้บ้านเมืองรับทราบ ไม่ต้องสร้างเงื่อนไขเงินทองงบประมาณใดๆ เป็น ลูกเสือชาวบ้านพอเพียง เพื่อความปลอดภัยชุมชน
     
       ท่านผู้อ่านที่เคารพ ตามที่ผมขอร้องให้ท่านส่งไปรษณียบัตรคนละ 3 ฉบับนั้น
     
       ผมทราบดีว่าคงจะได้ไม่กี่ฉบับ ผมไม่เสียใจและไม่ต่อว่า เพราะผมทราบดีว่า คนไทยและสังคมไทยยังอ่อนด้อยประสบการณ์และความสามารถในการเคลื่อนไหวแบบประชาธิปไตย
     
       ในอังกฤษอเมริกาหรือประเทศตะวันตกอื่นๆ เขาสอนภาคปฏิบัติกันตั้งแต่ชั้นประถม ผมเคยเอาคู่มือ รัฐบาลนักเรียนหรือ Student Government และ Parliamentary Procedures หรือวิธีการประชุมแบบรัฐสภา ที่ใช้ในโรงเรียนชั้นประถมให้กับเพื่อนฝูงที่เป็นอธิบดีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการมาไม่รู้กี่รุ่น และเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วจำได้ว่าให้สมุดปกแดงเรื่อง Education for Citizenship and Teaching Democracy in Schools : การศึกษาหน้าที่พลเมืองและการสอนประชาธิปไตยในโรงเรียนของอังกฤษกับคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ผู้ซึ่งเคยเป็นเบอร์หนึ่งมาเกือบทุกกรมในกระทรวงศึกษาธิการ
     
       หนังสือเล่มนี้ แสดงความถ่อมตัวอย่างยิ่งและการเอาจริงที่สุดของคนอังกฤษที่เห็นว่าโลกาภิวัตน์ ทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปมาก จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนความเข้าใจและบทบาทของประชาชนในการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่เด็กขึ้นไป ท่านที่สนใจอาจจะยังดาวน์โหลดมาอ่านได้จาก  www.qca.org.uk/ downloads/6123_crick_report_1998.pdf
     
       ผมสนับสนุนรัฐบาลเต็มที่ที่มีโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งๆ ที่เคารพในความรู้และความตั้งใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ผมยังห่วงและเกรงว่า สังคมไทยยังอยู่ในหลุมดำและช่องว่างอย่างมหาศาลของภาวะการรับรู้ หรือรู้ไม่จริง ซ้ำกลับมีประสบการณ์ในด้านลบเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือแม้แต่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนในประเทศไทย
     
       ในประเทศประชาธิปไตย การกระจายอำนาจกับการมีส่วนร่วมนั้นเหมือนกับฝาแฝดสยาม แต่นักวิชาการ ผู้นำ พรรคการเมืองและรัฐบาลในอดีตของไทยไม่มีผู้เข้าใจในเรื่องนี้อย่างถูกต้องเลย
     
       ประจักษ์พยาน ก็คือ ทุกฝ่ายสนับสนุนให้ตั้งอำเภอและจังหวัดใหม่ขึ้นเรื่อยๆ และเร็วๆ นี้ การสนับสนุนต่ออายุกำนันผู้ใหญ่บ้านของ คมช. ก็เช่นเดียวกัน      

       ผมเห็นว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านมีคุณูปการต่อบ้านเมืองมาก น่าเสียดายที่มิได้สังเคราะห์หรือประยุกต์ให้เป็นการปกครองท้องถิ่น ไม่ให้แข็งตัวอยู่ในระบบการปกครองท้องที่ ซึ่งเป็นแขนขาของการปกครองส่วนภูมิภาค อันเป็นหัวใจของระบบรวมศูนย์-รวบอำนาจ-เป็นทาสส่วนกลาง ที่เข้มข้น ที่เราพัฒนาเศรษฐกิจและประชาธิปไตยไม่สำเร็จ เพราะ เหตุสำคัญอันหนึ่งคือ โครงสร้างระบบรวมศูนย์และอุดมการณ์อำนาจนิยมครอบงำเอาไว้ แย่งเอาทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติจากต่างจังหวัดไปให้กรุงเทพฯ หมด
     
       ผมยังห่วงความเฉไฉไขว้เขว ขาดหลักการ หลักฐาน หลักเทียบ หลักคิด และหลักเลือกของสังคมไทย เพราะถ้าเราคิดผิด เราก็ทำผิด และเลือกผิดอีก
     
       ผมไม่อยากเห็นสังคมไทยบูชาคนเพราะสักแต่ว่ามีปริญญาสูงๆ หรือตำแหน่งใหญ่โต ความรู้ทางวิชาการและการเมืองของสถาบันสร้างเครือข่ายชนชั้นนำอภิสิทธิ์ของเมืองไทย เช่น วปอ.หรือสถาบันพระปกเกล้าก็ยิ่งไม่มีทางยึดถือเป็นบรรทัดฐานได้ แน่นอน ทุกแห่งมีคนเก่ง มีคนดี แต่จิ้งจกการเมืองของระบบอำนาจนิยมมักจะยั้วเยี้ยอยู่ในสถาบันประเภทนี้มากกว่าที่อื่น พอถึงเวลาออกหากินก็จะเพ่นพ่านเต็มไปหมด
     
       ผมจึงเห็นว่า เราต้องช่วย คมช. รัฐบาล สนช.และ ส.ส.ร.ให้แสวงหาการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมทั้งยอมรับการคัดค้านท้วงติงที่สุจริตเปิดเผยจากทุกฝ่าย ไม่ต้องติดยึดกับสำนักคิดของคนพวกนั้น ซึ่งทำให้เมืองไทยเสียเวลาและพังมามากแล้ว
     
       ผมได้เรียนท่านผู้อ่านมาตลอดว่า ราชประชาสมาสัย มิใช่สิ่งที่ลึกลับและยากเย็นพิสดารอะไร แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่เราต้องคิดใหม่ และทำความเข้าใจให้ดี นั่นก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ถ้าหากเราพิเคราะห์จากคำภาษาอังกฤษ ว่า People Participation, Popular Participation, Participatory Democracy, Participative Democracy ทุกคำล้วนซ่อนนัยถึงความต่อเนื่องเป็นประจำ และถาวร มิใช่การมีส่วนร่วมแบบประเดี๋ยวประด๋าวเป็นครั้งคราว
     
       แนวความคิดและการติดยึดที่ผิดอย่างมหันต์ของบ้านเรามีอยู่ 3 อย่าง อย่างที่ 1 เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างที่ 2 เกี่ยวกับการเดินขบวนประท้วง อย่างที่ 3 เกี่ยวกับประชาวิจารณ์
     
       ทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องและเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วม แต่มิใช่ส่วนทั้งหมดหรือมีความสำคัญเป็นที่ยุติ นอกจากนั้นทั้งความคิดและการนำมาปฏิบัติทั้ง 3 อย่างยังถูกนำมาอย่างครึ่งๆ กลางๆ แถมยังบิดเบือน ไม่ตรงกับวิธีการและความมุ่งหมายของสิ่งนั้นๆ เสียอีก
     
       ที่เห็นได้เด่นชัด คือ การทำประชาวิจารณ์ ซึ่งส่วนใหญ่สุกเอาเผากินกระท่อน กระแท่นขอไปที ยึดพิธีการและความเป็นทางการ ไม่มีหลักการและหลักฐานที่เพียงพอถูกต้องครบถ้วน เงื่อนเวลาไม่พอดี และไม่จำแนกแยกแยะ แท้จริง เราควรศึกษาต้นแบบ Hearing ใหญ่น้อยที่ทำกันอยู่ในต่างประเทศ ทั้งที่เป็น governmental (ราชการ) และ Public (ประชาชน) ที่มีอยู่นับไม่ถ้วนชนิด แต่ทุกชนิดจะมีขั้นตอน ข้อมูล และการจัดการที่เต็มไปด้วยเสรีภาพและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่ตรงกับเป้าหมายของการจัด ผมเคยฟังประชาวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2540 มาหลายครั้ง หลายจังหวัด ยี่เกทั้งนั้น เสียดายเงิน
     
       ผมเห็นว่า ปรากฏการณ์สนธิ เป็นการประท้วงที่น่าเข้าไปอยู่ในหนังสือ Guinness Book of Records ร่วมกับสถิติมหัศจรรย์อื่นๆ แต่การประท้วงทั่วไปยังไม่พัฒนาหรือเป็นที่ยอมรับ ทั้งชนชั้นกลางและชนชั้นปกครองบ้านเรามักต่อต้านหาว่าเป็นกดหมู่ จนกระทั่งสื่อและวิชาการเอาคำว่าม็อบมาใช้แทนการประท้วง ซ้ำการเกณฑ์และจ้างคนมาประท้วงก็มีบ่อยๆ ในขณะเดียวกัน ผู้นำมักจะมีปัญหาทางจิตวิทยาไม่ยอมรับการประท้วงที่ชอบธรรม เพราะเกรงเขาจะหาว่ายอมแพ้ม็อบหรือกฎหมู่ ต่างกับฝรั่งเศส เมื่อมีนักศึกษาจำนวนแสนเดินขบวนประท้วงกฎหมายแรงงานเด็ก ขว้างปาป่าเถื่อนกว่าเราเป็นไหนๆ เขาเห็นว่านักศึกษาเป็นผู้มีส่วนได้เสียแต่มีส่วนร่วมยังไม่เพียงพอ ถึงแม้กฎหมายจะผ่านสมบูรณ์ตามกระบวนการไปแล้ว ประธานาธิบดียังออกมาขอโทษและรัฐบาลก็ขอให้สภายกเลิกกฎหมายนั้นไป
     
       เราควรเลิกพูดเสียทีว่าเลือกตั้งเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน เพราะอำนาจอธิปไตยนั้นอยู่ที่ปวงชนตลอดเวลา ไม่มีใครเอาไปไหนได้ ปวงชนมอบอำนาจบางอย่าง ให้บุคคลบางกลุ่ม ไปทำหน้าที่บางเวลา โดยใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องตัดสินตามพิธีกรรมอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย
     
       แต่การเลือกตั้งจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความแน่นอน ความถูกต้อง เที่ยงธรรม และความถูกตรง
     
       ถูกตรงหมายความว่าตรงกับความมุ่งหมายหรืออุดมการณ์ของการเลือกตั้ง มิให้ได้บุคคลกับคณะเข้ามาได้ด้วยการหลอกลวง กดขู่บังคับหรือซื้อขายเสียง พลร่มไพ่ไฟหรือแม้กระทั่งโดยกฎหมายหรือกลไกที่จำกัดตัวเลือกหรือทางเลือก
     
       เช่นนั้น ถือว่าขาดความเป็นตัวแทน (Representation) หรือความเป็นตัวแทนไม่พอ
     
       ในอังกฤษและอเมริกาเป็นห่วงกันมากเรื่องนี้ เพราะผู้ไปลงคะแนนเลือกตั้งมีเปอร์เซ็นต์ต่ำลงๆ เทียบกันแล้วแพ้ไทยหลุดลุ่ย เพราะไม่มีหัวคะแนนหรือราชการกุมตัวไปลงคะแนน การเลือกตั้งทั่วไปอังกฤษคราวที่แล้ว มีผู้ไปลงคะแนนน้อยที่สุดตั้งแต่ปี 1918 เป็นต้นมา ดังนั้น ทั้งสองประเทศจึงเร่งเน้นและส่งเสริมให้มี Participative Democracy ขึ้นมาเสริม เพื่อมิให้ Representative Democracy ขาดความชอบธรรม หรือ Legitimacy ลง
     
       ความชอบธรรมทางการเมืองนี้ มิได้ขึ้นกับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารราชการเมื่อได้รับเลือกเข้ามาแล้วด้วย
     
       ดูเหมือนเมืองไทยจะสนใจประชาธิปไตย 4 นาที หรือเวลาในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง มากกว่าประชาธิปไตย 365 วัน ที่มีผู้ละเมิดพระราชอำนาจและขโมยอำนาจของประชาชนไปก่อกรรมทำเข็ญตลอดปี
     
       ทั้งหมดนี้ ป้องกันและแก้ไขโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยรัฐธรรมนูญราชประชาสมาสัยอย่างเดียว
     
       อย่างไร รอฉบับหน้าครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 14

โพสต์

ตามนั้นแหละคับพี่

ความมีส่วนร่วม การติดตามตรวจสอบ

ถ้าร่วมแรงร่วมใจกัน จะเป็นพลังที่เข้มแข็ง

และจะเป็นก้าวย่างสำคัญในส่วนประชาสังคมเราๆท่านๆทั้งหลาย

ท่านนายกฯก็บอกเองวานนี้ว่า

รัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่หรือ

ตอนที่มีการเดินประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ ผมโดนด่ายับที่แสดงความเห็นสนับสนุนพวกเดินขบวน

เอาล่ะ..ผ่านมาแล้ว จากนี้จะทำอย่างไรต่อไปเป็นเรื่องที่น่าติดตามมากกว่า


ผมเข้าใจนะคับว่าพี่เพื่อนหมายถึงอะไร

อย่างที่อาจารย์ส. ศิวรักษ์บอกนั่นแหละคับ
(บทสัมภาษณ์ในนิตยสารฟ้าเดียวกัน ฉบับที่ถูกแบน)

สังคมไทยยึดมั่นที่ตัวบุคคล เป็นลักษณะบุคคลาธิษฐาน

ทางที่ท่านแนะคือ เราจะสร้างสถาบันหลักของชาติให้เข้มแข็งยั่งยืนได้อย่างไร

เพื่อที่ เมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าใครจะไปหรือใครจะมา

สถาบันหลักนั้นๆจะยังเป็นแก่นแกนสำคัญหรือเป็นสดมภ์หลักของชาติต่อไปเสมอ

อย่าเพิ่งเสียวคับ เรามีเจตนาดีจริงๆ


ลองติดตามต่อไปสิคับว่า

ความเป็นไปได้ที่ราชประชาสมาสัย จะสร้างความยั่งยืนดังกล่าวข้างต้น

มากน้อยเพียงใด อย่างไร...
ภาพประจำตัวสมาชิก
เพื่อน
Verified User
โพสต์: 1826
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 15

โพสต์

ครับผม ท่านพี่bsk ผมจะรออ่านตอนต่อไปครับ

อันที่จริงผมก็ชอบและคล้อยตามความคิดของท่านอาจารย์อยู่มากเหมือนกันครับ....แต่ก็อย่างที่ผมห่วงบางจุดนั่นแหละครับ

ว่าถึงบทสัมภาษณ์ของ อ.ส ศิวลักษณ์ ผมแทบไม่เชื่อว่าท่านจะกล้าใช้คำพูดได้แรงขนาดนั้นเลย...ถึงต้องโดนแบน....แต่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นเล่มที่ขายดีที่สุดของเค้าหลังจากโดนแบน และคนก็เริ่มรู้จักหนังสือเล่มนี้มากขึ้น

ผมอ่านแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะคล้อยตามหนังสือนี้ทั้งหมด เพราะรู้แนวทางของหนังสือเค้าอยู่เหมือนกัน....แต่ต้องยอมรับว่ามีหลายแง่มุมที่หาจากสื่อทั่วๆไปไม่ได้

ใช่ครับพี่bsk เรามีเจตนาดีด้วยกันครับ
....การกระจายความแข็งแกร่งทางความคิดไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเราเป็นเรื่องที่คิดไม่ตกจริงๆครับ....ในช่วงที่เริ่มจะแข็งแกร่งขึ้นมาบ้างก็เริ่มมีความคิดที่กระจัดกระจายกันไปหลายด้าน ยากต่อการดูแลควบคุม ดั่งในสมัย2516-2519 ....แทนที่ผู้มีอำนาจจะค่อยๆปรับให้เข้าที่ทางความคิด กลายเป็นการปราบให้สยบด้วยการฆ่ากัน พลังแห่งการแสวงหาถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นความกลัวหลบๆซ่อนๆอีกครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่สุดของประเทศเรายุคหนึ่งเลยครับ....ถ้าไม่มีวันนั้น ผมเชื่อว่า วันนี้ประเทศเราคงพัฒนาไปไกลกว่านี้มากครับ....นักศึกษายุคหลังๆมานี้ เทียบยุคนั้นไม่ติดฝุ่นเลยครับ

.....พูดตรงๆครับพี่bsk ตอนนี้ผมห่วงอนาคตครับ...พี่คงเข้าใจนะครับ
....ผมถึงอยากให้ระบบที่ดีมีความสำคัญกว่าตัวบุคคลครับ...ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ใขระบบอย่างไร ก็ขอให้มองเลยความเป็นตัวบุคคลในขณะนั้นไปก่อนเพื่อรักษาระบบที่ดีไว้ไม่ให้เขว เพราะถ้าระบบมันก่ำกึ่งต้องใช้ความดีและความสามารถของตัวบุคคล ในยุคหนึ่งอาจเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่อนาคตไม่มีอะไรยืนยันจนอาจกลายเป็นหายนะเมื่อไหร่ก็ได้ หรืออาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้ถ้าโชคดี
freemindd
Verified User
โพสต์: 455
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 16

โพสต์

เห็นด้วยกับพี่เพื่อนแบบสุดๆครับ  โดยเฉพาะเรื่องการลอบสังหารผู้นำชาวนาและกรรมกรไปเป็นร้อยช่วง 2516 - 2519  จบด้วย 6 ตุลาที่ฆ่า นศ ไปเป็นร้อย และถีบอีกเป็นพันเข้าป่า

ผมก็เพิ่งมาค้นคว้าพบว่าจริงๆแล้วเป็นการชี้นำของใคร  หลายสิบ source บันทึกไว้สอดคล้องกัน  ทำให้ผมมองไทยมองโลกมุมใหม่เลยในช่วงนี้

 พี่เพื่อนรุ้แล้วใช่ไหมครับ ?  ว่าผมพูดถึงใคร ?
ภาพประจำตัวสมาชิก
เพื่อน
Verified User
โพสต์: 1826
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 17

โพสต์

[quote="freemindd"]
freemindd
Verified User
โพสต์: 455
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 18

โพสต์

เลิกยุ่งแล้วครับ เหลี่ยมออกไปแล้ว ถือว่าถ้ายังเหลือเชียร์กันต่อก็ไม่เป้นไร เพราะเด๋วนี้เค้าไม่มีการรวมกันบล๊อคหรือแจ้งลบคนด่าเหลี่ยมแบบแต่ก่อนแล้ว

เหตุผลต่อมาคือ แต่ก่อนที่ผมรบกะวอรูมและบางส่วนที่คิดว่าเป็นวอรูม ก็เพื่อปกป้อง... แล้วเมื่อมาค้นพบเรื่องที่เราคุยกันแล้วก็อกหักอย่างแรงครับพี่เพื่อน

อีกอย่างก็เสียใจกับสิ่งที่ทำไป ที่ผมเคยพยายามแจ้งไอซีทีจนเขาปิดเว็บหนึ่งไป ไม่รู้ปิดเพราะเราแจ้งหรือเปล่า เกี่ยวกับผมหรือเปล่า  ตอนนั้นดีใจที่มันปิดลง  แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเรามันโง่แต่ขยันจริงๆครับ เห้อ
moonkiss
Verified User
โพสต์: 656
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 19

โพสต์

เค้าปิดห้องการเมืองกันไปแล้วนะครับ
รู้สึกพี่ๆเริ่มลามปาม จริงไม่จริงไม่ทราบ
แต่วิงวอนให้หยุดครับ อยากคุยไป PM คุยกันเถอะครับ ขอร้องเหอะ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 20

โพสต์

ผมเคารพต่อวิจารณญาณของแต่ละท่านคับ..

รวมทั้งการสรุปว่าลามปามหรือไม่ลามปาม...

เข้าใจความห่วงใยของคุณต่อสถานะและความเป็นไปของบอร์ด

แต่เข้าใจเช่นกันว่าที่ทั้ง 2 ท่านคุยกัน

มีแหล่งที่มาและเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร

ที่ไม่ได้แสดงให้เห็นในบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญ(อันอาจทำให้เข้าใจผิด)

ก็เป็นการเคารพและให้เกียรติต่อคณะผู้ดูแลที่นี่น่ะคับ...

....การเข้าใจประวัติศาสตร์ในหลายแง่มุม

......น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการมองภาพเหตุการณ์ในปัจจุบัน

........และอาจคาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

เพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ได้อย่างรู้เท่าทัน

คนที่ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ก็จะผ่านตรงนี้ไป

คนที่สนใจก็คงจะหาวิธีต่อยอดความรู้เอาเอง

ผมมองในแง่บวกคับ

เมามาแล้วด้วย ขออภัย...
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 21

โพสต์

ผนึกกำลังฟ้าดิน (หนุน คมช.นำชาติ) : สู่ราชประชาสมาสัย (3)

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 มกราคม 2550
 

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ระเบิดกลางกรุงทำให้ผมหวนคิดถึงการสูญเสียอำนาจ การเคลื่อนไหวและความพยายามของซากเดนระบบทักษิณ ซากเดนรัฐบาลพลเอกชวลิต กับซากเดนรัฐบาลพลเอกชาติชาย
     
       น่าประหลาดที่ตรวจสอบดูดีๆ ก็จะเห็นซากเดนทั้งสามเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน หรือไม่ก็เป็นคนใหม่ที่มีลักษณะเหมือนตัวตายตัวแทน บุคคลนี้ ก็คือ พวกนักการเมือง ที่ใครชนะก็เข้าด้วย เคยอยู่มาแล้วเกือบทุกแก๊งเลือกตั้ง (พรรค)
     
       หันกลับมาดูทางทหารบ้าง คมช.ในปัจจุบัน กับ รสช.ในอดีต เวลาระหว่างปี 2533 กับ 2550 นับว่าไม่นานเกินไป นอกจากข้อเท็จจริงว่า รุ่น 2533 เป็นทหารแก่เกษียณไปหมดแล้ว รุ่น 2550 เป็นทหารประจำการ คมช.กับ รสช. ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร
     
       ก่อนตอบคำถามนี้ ผมอยากบอกว่าเราโชคดีที่เกิดมาอยู่ในศตวรรษมหัศจรรย์ ก่อนขึ้นปีค.ศ.2000 ความรู้ของมนุษยชาติเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวทุกๆ สิบปี แต่ในสิบปีที่แล้ว มนุษย์สามารถสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขึ้นได้มากกว่าความรู้ทั้งหมดที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่สร้างโลก สมรรถภาพของคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าทุกๆ สิบแปดเดือน สมรรถภาพของอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าทุกๆ ปี จำนวน DNA sequence หรือแผนที่พันธุกรรมที่นำมาวิเคราะห์ได้เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าทุกๆ สองปี เกือบจะทุกวันเราจะได้ยินการค้นพบมหัศจรรย์อันจะมีความหมายต่อโลกและชีวิตมนุษย์อย่างเหลือคณานับ
     
       ผมอยากจะให้ท่านผู้อ่านคิดเอาเองว่า ทั้งหมดนั้นเมืองไทยรับเอาอะไรมาใช้เป็นประโยชน์ได้บ้างในการปรับปรุงชีวิตคนไทย สังคมไทย ในห้องเรียน ในที่ประชุมจังหวัด ในรัฐสภาแห่งชาติ ในมหาวิทยาลัยนอกและในระบบทั้งหลาย ในโรงเรียนนายร้อย ในกองทัพ ในคมช. ใน สนช. ในส.ส.ร. และในขบวนการร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2550
     
       ท่ามกลางภววิสัยหรือสภาวธรรมยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารและความรับรู้ตื่นตัวของประชาชนอย่างนี้ ผมขออภัยที่จะต้องพูดว่า วิธีคิด วิธีการ หรือแม้กระทั่งผู้นำทหารและนักวิชาการที่เป็นผู้นำขบวนการเปลี่ยนแปลงของคมช.ช่างมีความแตกต่างกับยุค รสช.น้อยเหลือเกิน หรือจะกล่าวได้ว่าท่านก็คืออัศวินแห่งสถานภาพเดิม (Soldiers of Status Quo) ผู้ที่เป็นทั้งกรอบเก่าและผู้พิทักษ์กรอบเก่า (Old Paradigm) อยู่ในตัว
     
       หากจะเปลี่ยนจะต้องเปลี่ยนต้องใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง คือ จะต้องเปลี่ยนคนและ/หรือเปลี่ยนแว่น
     
       ในยุค รสช.นั้น ผมได้กลิ่นคาวเลือด ผมมองเห็นวัฏจักรน้ำเน่ากับวงจรอุบาทว์ที่ผมทำนายไว้ตั้งแต่ปลายยุคพลเอกเปรม หากผู้นำการเมืองของเรามีเจตจำนงหรือ Political Will แน่วแน่ มีความกล้าหาญจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ส่งต่อไปให้ประชาชน โดยเปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้และมีส่วนร่วมอย่างจริงจังตั้งแต่ก้าวแรก การนองเลือดและความอัปรีย์ทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น
     
       ผมคัดค้านการกระทำของ รสช.ทั้งๆ ที่ผมเป็นนักเรียนรุ่นน้องร่วมโรงเรียนหนองคายวิทยาคารของพลเอกสุจินดา เรารู้จักกันทั้งครอบครัว พี่น้องร่วมท้องผมไปสนับสนุน รสช. 2 คน คนหนึ่งเป็นถึงเลขาธิการพรรคสามัคคีธรรม
     
       หากผมต้องการเข้าถึงและเป็นส่วนหนึ่งของวงการอำนาจ คงไม่ยาก ซ้ำในตอนนั้นผมผ่านการเป็นผู้อาวุโสมาแล้ว คือเป็นอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ และเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ชุดที่อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นประธาน
     
       ผมจำเป็นต้องเล่าถึงความเจ็บปวดส่วนตัว ผมเป็นคนไม่เห็นด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร และเสี่ยงตัวเสี่ยงชีวิตต่อสู้เผด็จการมาทุกยุคทุกสมัย ผมรู้และต่อต้าน รสช.มาแต่ต้น แต่ทำไมผมจึงยุให้ทหาร (ร่วมกับประชาชน) โค่นรัฐบาลทักษิณ ก็เพราะผมเห็นว่ารัฐบาลเลือกตั้งนั้นทำลายรัฐธรรมนูญละเมิดสิทธิมนุษยชน และโกงกินอย่างมโหฬาร ซ้ำมีแนวโน้มที่พลเอกสายยุด เกิดผล วิตก ว่าจะกลายเป็นประชาธิปไตยรวมศูนย์ระบอบใหม่ที่ร้ายยิ่งกว่าคอมมิวนิสต์และเป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์
     
       ถามว่าผมคาดล่วงหน้ามิได้หรือว่า ระบบความคิด องค์ประกอบและพฤติกรรมภายหลังการยึดอำนาจของ คมช.จะหนีไม่พ้นหรือแทบจะเป็นแบบเดียวกับ รสช.
     
       คงจะต้องตอบว่าได้ แต่คงจะไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร และความสุกงอมของการเคลื่อนไหวของประชาชนผ่านปรากฏการณ์สนธิ ผมหวังที่จะเห็นทหารเป็นแบ็กให้ People Power อย่างเดียวกันแต่ยิ่งใหญ่กว่าฟิลิปปินส์ สร้างความตกตะลึงทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยชื่อเสียงขจรขจาย เป็นระลอกสองต่อจากครบ 60 ปีครองราชย์ของพระเจ้าอยู่หัว
     
       เดี๋ยวนี้ ผมเป็นห่วง คมช.จริงๆ ว่า ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ นานๆ ไปจะเป็นบ้องกัญชาเพราะกระบวนท่าที่ คมช.เล่นกับคนที่ คมช.นำมาใช้ช่างละม้ายคล้ายคลึง รสช.เหลือเกิน
     
       ผมได้ขอร้อง วิงวอน ท้วงติง แนะนำ ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องใน รสช. ทั้งโดยการพูดและจดหมายส่วนตัว จดหมายเปิดผนึก คอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม การประชุมสัมมนา และเคลื่อนไหวสารพัด
     
       ความพยายามของผมและเพื่อนๆ ล้มเหลว ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะในยุคนั้น เครือข่ายประชาชนและเทคโนโลยีสื่อสารยังไม่ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้
     
       ผมยังหวังลึกๆว่า คมช.จะไม่จบลงอย่างเดียวกับ รสช. และไม่ผลักภาระให้คนรุ่นหลัง
     
       เช่นเดียวกับคนไทยทั่วๆไป เวลาหมดที่พึ่ง ผมคิดถึงในหลวง แต่ความคิดถึงของผมเป็นการคิดอย่างนักรัฐศาสตร์
     
       เพื่อป้องกันการสืบต่ออำนาจเผด็จการและการนองเลือด ผมเสนอให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าพากันเคลื่อนไหว จนกระทั่งสร้าง สมัชชาประชาธิปไตยแห่งชาติ สำเร็จ ทำหน้าที่ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากในหลวง
     
       
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 22

โพสต์

ข้างล่างนี้ หากนำมาเปลี่ยนชื่อ จาก รสช.เป็น คมช. สนช. เป็น ส.ส.ร. และปรับปรุงบางอย่างให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็อาจจะนำมาใช้ได้ เพื่อให้เข้าใจง่ายผมขอจับอดีตผู้กระทำผิดไปขังคุกไว้ในวงเล็บ และเอาผู้ที่อาจจะถูกกล่าวหาต่อไปใส่ลงไปแทน
     
       กว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ควรมีขั้นตอนอย่างไร
       1. ต้องมีการประชุมและชุมนุมอภิปรายกันจากเล็กไปหาใหญ่ จนเกิดความเข้าใจร่วมกันอย่างแจ่มแจ้งแท้จริง ถึงประเด็นที่พึงปรารถนา และมิพึงปรารถนาในรัฐธรรมนูญ
     
       2. ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายด้วยความเป็นมิตร ในขณะที่หาข้อยุติดังกล่าว และหรือเมื่อได้ข้อยุติแล้ว ควรขอความร่วมมือจากสมาคม องค์กรต่างๆ สื่อมวลชน รัฐบาลและ คมช. (รสช.) ด้วย ให้ช่วยกันเผยแพร่และเคลื่อนไหว
     
       3. ในหลักข้อ 2 ดำเนินการอย่างมีระบบ เพื่อชี้แจงแก่ประชาชนทั่วไปผ่านการประชุม หนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ และดำเนินการต่อไปสู่การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน และการลงประชามติในที่สุด
     
       4. ร้องขอให้สภาร่าง (สภานิติบัญญัติ) ฟังเสียงประชาชน แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ถ้าแก้ไม่สำเร็จ มิให้รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปูทางไปสู่การเลือกหรือร่างใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
     
       5. ร้องขอให้ คมช. (รสช.) ฟังเสียงประชาชน ยอมรับและเข้าร่วมในการกำหนดทิศทางประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ อย่าอ้างว่าไม่เข้าใจ ไม่สนใจ ไม่เกี่ยว อย่าลอยตัวเหนือปัญหา หรือปล่อย(ปละละเลย)ให้เกิดปัญหา
     
       6. ถ้าทำดีที่สุดแล้ว ไม่สำเร็จ คมช. (รสช).ควรแก้ธรรมนูญการปกครอง และหรือขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ หรือถวายพระราชอำนาจคืน ให้ในหลวงใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน ซึ่งพระองค์จะต้องทรงสั่งให้ปฏิบัติตามจารีตประชาธิปไตยแน่ๆ ไม่มีอย่างอื่น ขณะนี้ คมช. (รสช.) เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐโดยสิทธิขาดผู้เดียว คมช. (รสช.) มีสิทธิสละอำนาจนั้นโดยไม่มีข้อขัดข้องใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าในทางทฤษฎีหรือปฏิบัติ
     
       7. ถ้าทำดีที่สุดแล้ว ไม่สำเร็จตามข้อ 6 ประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการ ทหาร ข้าราชการ ตำรวจ นิสิตนักศึกษา คนงาน พรรคการเมืองฯลฯ ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทาง โดยสันติ และมีระบบ รวมตัวกันขึ้นเป็น สมัชชาประชาธิปไตยแห่งชาติ ร่วมกับคนไทยในต่างประเทศอีกนับแสน รวบรวมรายนามร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา

     
       สำหรับปัจจุบัน ผมเชื่อว่าประชาชนมีความพร้อมพอสมควรที่จะก่อตั้ง สมัชชาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งชาติ โดยไม่กีดกันแม้แต่รากหญ้าที่สนับสนุนทักษิณ
     
       ข้อสำคัญขอให้รัฐบาลและ คมช.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้าใจและจริงใจเถิด
     
       ผมคิดว่าภายในเดือนนี้ผมคงจะต้องเขียนจดหมายถึงพลเอกสนธิสักหนึ่งฉบับ เอาไว้ให้บทความชุดนี้จบก่อน ยังเหลืออีกไม่เกิน 2 ตอน เรื่อง บันได 8 คั่นของการมีส่วนร่วมของประชาชน กับข้อสังเกตเกี่ยวกับ ส.ส.ร.ภายใต้การนำของอาจารย์นรนิติ
     
       ผมคงจะเขียนยากพอสมควร และผมรู้ดีว่ากองเชียร์จะลงไปเตะลูกเข้าประตูแทนนักฟุตบอลไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผมยังมีสำเนาจดหมายที่เขียนถึงพลเอกสุจินดา ผมยังไม่ได้ขอบคุณพี่สุเลย ทั้งๆที่รู้ว่า พี่สุยังสั่งให้ทหารที่อุดรช่วย และช่วยจัดการให้ผมเป็นหนี้ธนาคารเอาเงินมาช่วยเลือกตั้งต่อต้าน รสช. พี่สุมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้
     
       จดหมายฉบับนั้น ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 ส่งถึงพลเอกสุจินดา คราประยูร เปิดผนึกและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หลายครั้ง
     
       พี่สุ ครับ พี่สุจะตำหนิหรือเอาผมไปฆ่าแกงที่ไหนก็ยอม ผมจำต้องเปิดผนึกจดหมายนี้ก่อนที่พี่สุจะอนุญาต ผมอยากให้พี่สุและผู้ใหญ่ทุกคนใน รสช. อ่านจดหมายนี้ และบทความทั้ง 4 บทที่แนบมาด้วยจิตใจอันสงบ ฯลฯ
     
       ด้วยความเคารพและจริงใจอย่างยิ่ง ผมขออนุญาตเรียนตรงๆ ว่า
       รสช.มีทั้งอำนาจและความรับผิดชอบ ตามทฤษฎีและข้อเท็จจริง ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญออกมา เร็ว และ ดีๆ คือ เป็นประชาธิปไตยและเป็นกลาง
     
       รสช.มีอำนาจเลิกหรือแก้ธรรมนูญการปกครองก็ได้ ยุบหรือสั่งสภานิติบัญญัติก็ได้ หรือ รสช.จะเลือกทางที่กล้าหาญและเสียสละที่สุด คือ ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย หรือขอพระราชทานรัฐธรรมนูญก็ได้ และถ้ากระทำดั่งนี้ ก็จะมีแต่ผู้แซ่ซร้องสรรเสริญ รสช.ต่อไปนานเท่านาน คนไทยก็จะกลับมารักสามัคคีกัน และชาติของเราก็จะเริ่มนับหนึ่งในการก้าวเดินบนถนนประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้
     
       ประเด็นที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้นเป็นประเด็นที่ชัดแจ้ง มิใช่ประเด็นเรื่องพรรคการเมืองจะจ้องเอาเปรียบกันเรื่องการเลือกตั้ง ขณะนี้ ประเด็นที่เป็นหัวใจ ก็คือ
     
       1. ผู้นำฝ่ายบริหารในระบบรัฐสภา คือ นายกรัฐมนตรี จะต้องมาจากการเลือกตั้ง ถ้าไม่ระบุไว้อาจเกิดการแทรกแซงหรือบีบบังคับจากภายนอก
     
       2. วุฒิสภาต้องมีจำนวนน้อยกว่าสภาผู้แทนมากๆ ถ้ามาจากการแต่งตั้ง ต้องมีอำนาจเฉพาะการกลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น ควรให้ในหลวงทรงแต่งตั้ง ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนอง
     
       3. ต้องแยกข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมืองอย่างเด็ดขาด ข้าราชการประจำจะเป็นรัฐมนตรีไม่ได้
     
       4. ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา
     
       5. บทเฉพาะกาลไม่จำเป็นต้องมี
     
       ฯลฯ การตัดสินใจครั้งนี้จะจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า พวกเราทำด้วยความกล้าหาญ ความรักเมตตาซึ่งกันและกัน และความยึดมั่นในเหตุผลและความรักชาติเป็นใหญ่หรือไม่
     
       พี่สุ ครับ ชีวิตของพวกเรา ของพี่สุและของผม และของคณะ รสช.ก็เริ่มจะนับเป็นวันได้แล้ว ขอให้เราคิดถึงลูกหลาน และช่วยกันด้วยปัญญาสมาธิเต็มความสามารถ เพื่อจะทิ้งเมืองไทยไว้ให้เขา เป็นเมืองที่สงบศานติ มีเสรีภาพ และความสมบูรณ์พูนสุขเถิด
moonkiss
Verified User
โพสต์: 656
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 23

โพสต์

พี่ๆด่าทักษิณอยู่ดีๆ
ผมชอบครับ อ่านได้ความรู้ ด่าต่อไปดิครับ แต่อย่าเอาสถาบันที่คนส่วนใหญ่เทิดทูนมาเกี่ยว เอกสารหลักฐานอะไรนั่นมันแล้วแต่ใครเขียน แล้วแต่มุมมองของแต่ละฝ่าย ลองไปดูข้อมูลฝั่งรัฐบาลบ้าง ผลสรุปที่ได้คงต่างกันสุดขั้ว
เหตุการณ์ตอนนั้นมันมีอะไรๆ ซับซ้อนกว่าที่เรารู้
ไม่ทราบนะครับ ใครจะประชาธิปไตย มีสิทธิแสดงความเห็นวิจารณ์อิสระอะไรก็ได้ยังไงก็ตาม แต่เรื่องบางเรื่องคิดเบาๆก็ดีมั้งครับ
MarginofSafety
Verified User
โพสต์: 5786
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 24

โพสต์

moonkiss เขียน:แต่อย่าเอาสถาบันที่คนส่วนใหญ่เทิดทูนมาเกี่ยว
moonkiss เขียน:แต่เรื่องบางเรื่องคิดเบาๆก็ดีมั้งครับ
ผมเห็นด้วยกับคุณหมอ moonkiss ครับ
คุยกันแบบนี้มีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยก
ผมว่าหลายๆความคิดเห็นมันคล้ายๆ กับกระทู้
ในห้อง war room ที่คุณ freemind เอามาให้ดูอยู่เนืองๆ เมื่อก่อน
หากต้องการสืบค้น ตรวจสอบ จริงๆ PM คุยกันดีที่สุดครับ
ด้วยความเคารพครับ
"Winners never quit, and quitters never win."
freemindd
Verified User
โพสต์: 455
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 25

โพสต์

เข้าใจ น้อมรับ ทบทวน และปรับปรุงท่าทีเนื้อหาจากนี้ไปครับผม
ภาพประจำตัวสมาชิก
เพื่อน
Verified User
โพสต์: 1826
ผู้ติดตาม: 0

คุณFreemindd ครับ

โพสต์ที่ 26

โพสต์

freemindd เขียน:เข้าใจ น้อมรับ ทบทวน และปรับปรุงท่าทีเนื้อหาจากนี้ไปครับผม
คุณFreemindd ครับ
สิ่งที่เราได้รับรู้มา อธิบายยากนะครับ
แค่ทักษิณ มีหลักฐานมากมาย คนยังรักเทิดทูนอยู่เลยครับ

เรื่องแบบนี้พยายามอย่าบอกกล่าวใครต่อเลยครับ เดี๋ยวจะไปกันใหญ่นะครับ

ผมว่าคุณfreemindd ลองขอwebmasterช่วยลบLinkเถอะครับ
คุณกล้า แต่ผมไม่กล้านา....อาจจะมีอีกหลายคนเลิกคบเราไปเลยนะครับ
buglife
Verified User
โพสต์: 942
ผู้ติดตาม: 0

คมมนย.ทั้งหลาย

โพสต์ที่ 27

โพสต์

อ่านความเห็น ดร.ปราโมทย์ แล้ว

เห็นด้วยหลายส่วนครับ
โพสต์โพสต์