เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ
-
bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
|0 คอมเมนต์
รุสโซคือต้นแบบประชาธิปไตยในปัจจุบันจริงหรือ
มองมุมใหม่ : ชำนาญ จันทร์เรือง
กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549
คงไม่ช้าเกินไปสำหรับความเห็นต่อวิวาทะของนักวิชาการสองค่าย ในมติชนรายวันฉบับประจำวันที่ 17 และ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับการตีความเรื่องเจตจำนงทั่วไป (GENERAL WILL) ของรุสโซ (JEAN JACQUES ROUSSEU) ระหว่างสมชาย ปรีชาศิลปกุล กับไชยันต์ ไชยพร ซึ่งต่างก็เป็นกัลยาณมิตรของผมทั้งคู่ แต่ความเห็นที่ผมจะเสนอ คงมิใช่ประเด็นของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่ว่า "ในทัศนะของ ROUSSEU ถือว่าเสียงข้างน้อย หรือผู้ที่มีความคิดเห็นต่างไปจากเสียงส่วนใหญ่ เป็นความของผู้หลงผิด ซึ่งจะต้องถูกบังคับให้ยอมรับ และปฏิบัติตามในความถูกต้องที่เป็นของเสียงข้างมาก"
หรือประเด็นของ ไชยันต์ ไชยพร ที่ว่า "ในทัศนะของ ROUSSEU ถือว่า...ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างไปจากเจตจำนงทั่วไป เป็นความเห็นของผู้หลงผิด ซึ่งจะต้องถูกบังคับให้ยอมรับและปฏิบัติตามในความถูกต้องของเจตจำนงทั่วไป" แต่จะเสนอความเห็นในประเด็นที่ว่าจริงหรือที่ว่ารุสโซคือต้นแบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ตามที่นักการเมืองบางคนเคยอ้างเพื่อมารองรับความชอบธรรมของตนเอง
หลักคิดสำคัญของรุสโซมีอยู่หลายประการ เช่น รัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของเจตจำนงทั่วไปนั้น ย่อมมีอำนาจปกครองประเทศโดยสมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรจะปล่อยให้เอกชนมีสิทธิเสรีภาพตามสมควร ภายในขอบเขตแห่งกฎหมาย หน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่เฉพาะแต่ปกครองและรักษากฎหมายเท่านั้น แต่ต้องมีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของเอกชน คอยดูแลเอกชนไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตที่วางไว้ในกฎหมาย ไปกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพ หรือการใช้สิทธิเสรีภาพของคนอื่นหรือความมั่นคงของรัฐอีกด้วย
รุสโซมุ่งที่จะให้รัฐบาลที่ดีนั้นรู้จัก "ทำให้ประชาชนมีเสรี โดยการทำให้เป็นผู้อยู่ใต้ปกครองด้วยในขณะเดียวกัน" ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลที่ดีต้องใช้วิจารณญาณในการคุมอำนาจและการให้เสรีภาพแก่บุคคลในสถานการณ์ต่างๆ ถ้ารัฐบาลใดสามารถทำให้ประชาชนมีเสรีแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็เป็นพลเมืองดีด้วยแล้ว รัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลที่ควรถูกยกย่องว่า รู้จักและนำศิลปะในการปกครองที่ยอดเยี่ยมมาใช้
นอกจากนี้ รุสโซเชื่อว่าถ้าหากยังต้องมีรัฐบาลและสังคมอยู่ สิทธิเสรีภาพนั้นต้องมีขอบเขต จะไม่มีขอบเขตไม่ได้ ถ้าปล่อยให้คนมีสิทธิเสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขต สังคมก็จะสลายตัวไป รัฐบาลก็จะหมดอำนาจลง เป็นเหตุให้เกิดอนาธิปไตยขึ้น การปกครองต้องมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเหมาะสม ไม่ปล่อยให้คนมีเสรีภาพมากเกินไปจนควบคุมไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น รุสโซยังเน้นให้รัฐบาลรู้คุณค่าของสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่า "รัฐบาลจะต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพใดๆ แก่ราษฎร เว้นไว้แต่เรื่องที่เป็นผลดีต่อสังคมเท่านั้น"
ในส่วนที่เกี่ยวกับเจตจำนงทั่วไปนั้น เป็นสิ่งที่ยังถกเถียงกันมากว่าจะมีผลในทางปฏิบัติเพียงใด นั่นก็คือหลักที่ว่า เจตนาจำนงทั่วไปจะต้องถูกเสมอ เจตนาจำนงทั่วไปจะไม่มีการทำผิด ทั้งนี้ เพราะรุสโซให้เหตุผลว่าเจตจำนงทั่วไปนั้น จะทำเพื่อผลดีของสังคมเท่านั้น การกระทำอะไรที่เป็นผลดีนั้นเป็นการถูกต้องที่มีมาตรฐานดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ถูกก็คือสิ่งที่ทำโดยเจตจำนงทั่วไป สิ่งใดที่ผิดก็ไม่ใช่เจตจำนงทั่วไป แต่ปัญหาหรือข้อโต้แย้งของผมก็คือว่า ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด
รุสโซเห็นว่า เจตจำนงทั่วไปเกี่ยวข้องเฉพาะการกระทำที่สำคัญๆ ไม่เกี่ยวกับคนใดคนหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับให้เอกชนมีสิทธิตัดสินในสิ่งที่ถูก ที่ผิด ในบางครั้งรุสโซเห็นว่าเจตจำนงทั่วไป ก็คือมติของเสียงข้างมาก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็หมายความว่าเสียงข้างมากย่อมถูกเสมอไปนั่นเอง ซึ่งผมเห็นว่าไม่จริงเพราะเสียงข้างมากก็อาจจะผิดได้
นอกจากนี้ รุสโซยังได้นำเอาเจตจำนงทั่วไปมาปรับเข้ากับหลักการปกครองประชาธิปไตยอยู่หลายตอน ดังจะเห็นได้จากความเชื่อของรุสโซที่ว่า เจตจำนงทั่วไปหรืออำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชน ซึ่งเป็นการยอมรับทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนนั่นเอง
แต่รุสโซเห็นว่า อำนาจอธิปไตยนั้นมีผู้แทนหรือตัวแทนในการปกครอง คือรัฐบาล รัฐบาลจะมีอำนาจมากเพียงใดนั้น อยู่ที่อำนาจอธิปไตยซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของมอบให้ และจะต้องแสดงเจตจำนง ไปยังประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่จะสั่งการ ซึ่งในเรื่องอำนาจของรัฐบาลนี้ รุสโซเห็นว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจที่ได้รับมอบหมายไว้แน่นอนตายตัว (VESTED POWER)
รัฐบาลในทัศนะของรุสโซนั้น มีฐานะเป็นเพียงคณะกรรมการ (COMMITTEE) ของประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตย ซึ่งหมายความว่า จะทำอะไรก็ตามแต่ ประชาชนจะเห็นสมควรมอบหมายให้ ส่วนระบอบการปกครองนั้น รุสโซไม่นิยมการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีผู้แทนราษฎร คือไม่ชอบรัฐบาลโดยผู้แทน (REPRESENTATIVE GOVERNMENT) หรือรัฐบาลโดยรัฐสภา (PARLIAMENTARY GOVERNMENT) หรือการปกครองประชาธิปไตยทางอ้อม (INDIRECT DEMOCRACY) รุสโซนิยมในประชาธิปไตยโดยตรง (DIRECT DEMOCRACY) รุสโซเรียกประชาธิปไตย ที่มีผู้แทนราษฎรว่า ELECTIVE ARISTOCRACY
รุสโซมีความนิยมชมชอบประชาธิปไตยโดยตรงของนครรัฐกรีกเป็นอย่างมาก และสนับสนุนว่านั่นคือประชาธิปไตยแท้ เพราะประชาชนสามารถเข้าร่วมประชุมในสภาประชาชนเพื่อออกกฎหมายได้โดยตรงโดยไม่ต้องมีผู้แทนราษฎร รุสโซเป็นผู้เกลียดพรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลในการเมืองมาก รุสโซเห็นว่าถ้าหากมีการเลือกตั้งหรือมีรัฐบาลหรือผู้แทนราษฎร ก็จะทำให้เกิดการจัดตั้งพรรคการเมืองและจะทำให้การปกครองยุ่งยากเพราะมีการขัดแย้ง และต่อสู้กันระหว่างพรรคการเมือง ซึ่งมุ่งแต่มีอำนาจแต่ไม่มีความรับผิดชอบ
แต่ เอ็ดมันด์ เบิร์ก (EDMUND BURKE) กลับมีความเห็นต่างกับรุสโซมาก เบิร์กเห็นว่าพรรคการเมือง "เป็นคณะบุคคลที่รวมกันและการดำเนินงานร่วมกันนั้นขึ้นอยู่กับหลักการบางหลักที่คณะบุคคลนั้นตกลงกันไว้" โดยเบิร์กเห็นว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องเป็นแบบที่มีผู้แทนราษฎร การปกครองรูปแบบนี้ อยู่ที่การเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนจะมีเสรีในการเลือกตั้ง มีบุคคลหลายคณะและนโยบายหลายนโยบายเพื่อให้ประชาชนเลือกได้ตามพอใจ เบิร์กเห็นว่าประชาธิปไตยต้องมีพรรคการเมือง (PRESENCE OF PARTY) ไม่ใช่การขาดพรรคการเมือง (ABSENCE OF PARTY) ดังที่รุสโซเชื่อถือ
กล่าวโดยสรุปก็คือ รุสโซนั้นเชื่อในประชาธิปไตยโดยตรง ส่วนเบิร์กนั้นเชื่อในประชาธิปไตยโดยผู้แทนนั่นเอง ส่วนว่าเราจะเชื่อใครหรือจะเลือกใช้ในรัฐธรรมนูญใหม่แบบไหน อย่างไร ก็อยู่ที่เราผู้เป็นประชาชน
อย่าปล่อยให้คนเพียงไม่กี่คนมากำหนดชะตาชีวิตเรา เพราะอำนาจอธิปไตยแท้ที่จริงแล้วเป็นของประชาชน แม้ว่าในบางครั้งจะถูกฉกชิงไปชั่วคราว ด้วยอำนาจของเผด็จการทหารหรือเผด็จการพลเรือนก็ตาม แต่ในที่สุดแล้ว ไม่มีใครสามารถฝืนเจตจำนงของประชาชนได้หรอกครับ