วิธี ระพี สาคริก

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วิธี ระพี สาคริก

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
มติชนรายวัน วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10501


หลายปีมาแล้ว ท่านอาจารย์ระพี สาคริก ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก และผม ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยไปอภิปรายร่วมกัน โดยที่ท่านอาจารย์ระพี ที่ปกติพูดอะไรเป็นนามธรรมที่ลึกซึ้ง ซึ่งคนทั้งหลายให้ความเคารพ

อาจารย์ท่านหนึ่งเป็นสุภาพสตรีลุกขึ้นมาถาม หรือขอให้อาจารย์ระพีพูดว่า "คนเราควรทำอะไร" ซึ่งสะท้อนปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่คนทั้งหลายล้วนอยากทำอะไรดีๆ แต่ไม่ทราบว่าจะทำอะไรดี

ท่านอาจารย์ระพีตอบว่า

"ทำอะไรก็ได้ที่ชอบ การได้ทำอะไรที่ชอบจะทำให้มีความสุขแล้วพยายามทำให้ประณีต ความประณีตจะเป็นความงามที่มาพัฒนาจิตใจของตนเอง แล้วพยายามให้เข้าใจลึกขึ้นๆ แล้วมันก็จะไปเจอกันเอง"

ผมรู้สึกประทับใจในคำกล่าวข้างต้นมาก และน่าจะเป็นหลักการของการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญ ซึ่งผมขออธิบายขยายความดังต่อไปนี้

มนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่มีใครในโลกสองคนที่เหมือนกันเลย แม้แต่คู่แฝดจากไข่ใบเดียวกัน ซึ่งมีดีเอ็นเอเหมือนกันทุกอย่าง ก็มีความชอบ ความถนัดแตกต่างกัน

ถ้ามีโอกาสได้ทำสิ่งที่ตนชอบก็จะมีความสุข ทำได้นาน ทำได้ทน มีความจดจ่อหรือสมาธิในสิ่งนั้น ทำได้เก่งและสร้างสรรค์ ได้มาก

ในระบบการศึกษาของเราบังคับให้ทุกคนเรียนเหมือนๆ กันหมด ทำให้น่าเบื่อหน่าย ขาดสมาธิ ทำไม่ได้ดี ขาดความสร้างสรรค์ ท่านอาจารย์ระพี จึงกล่าวว่า "ทำอะไรก็ได้ที่ชอบ"

เมื่อได้ทำสิ่งที่ชอบ แล้วก็พยายามทำให้ประณีต การทำให้ประณีตเป็นศิลปะเป็นความงาม ที่มาหล่อเลี้ยงจิตใจให้เกิดความปีติ อิ่มเอิบ ภูมิใจ

"พยายามเข้าใจให้ลึกขึ้นๆ แล้วมันจะไปเจอกันเอง" หมายความว่าอย่างนี้คือสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนที่ปรากฏว่าต่างกัน เช่น หู หาง ขา ลำตัว ของช้าง เป็นส่วนของช้างตัวเดียวกัน

เมื่อเริ่มต้นไปจับหรือสัมผัสส่วนที่ต่างกัน ก็ไม่จำเป็นต้องไปทะเลาะกัน เหมือนตาบอดคลำช้าง ถ้าตาไม่บอดก็จะรู้ว่าส่วนต่างนั้นเป็นของช้างตัวเดียวกัน

ฉะนั้น เมื่อเริ่มต้นแต่ละคนเริ่ม "ทำอะไรก็ได้ที่ชอบ" ซึ่งต่างๆ กันไปก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อเข้าใจให้ลึกขึ้นๆ แล้วมันไปเจอกันเอง หมายถึงเข้าถึงความเป็นทั้งหมดซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนกับว่าเริ่มคลำส่วนต่างๆ ของช้างที่แตกต่างกัน แต่ในที่สุดก็จะเข้าถึงความเป็นทั้งหมดคือช้างตัวเดียวกัน

ตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะในการศึกษาของเรานั้นมักรู้เป็นส่วนๆ เป็นเรื่องๆ ไม่รู้อย่างเชื่อมโยงเป็นบูรณาการเหมือนตาบอดคลำช้าง หรือรู้เฉพาะส่วนของจิ๊กซอว์ ไม่รู้ว่าทั้งหมดนั้นคืออะไร

การรู้ทั้งหมดคือปัญญา

การรู้ทั้งหมดทำให้หลุดพ้นจากความบีบคั้น ทำให้ประสบความงาม เพราะความงามเกิดจากความเป็นทั้งหมด

การรู้เป็นส่วนเป็นเสี้ยวทำให้เกิดความบีบคั้น และเข้าไปสู่ความขัดแย้ง เหมือนคนตาบอดที่สัมผัสรู้เป็นส่วนๆ แล้วทะเลาะกันใหญ่

การศึกษาใดๆ ไม่ควรแต่จะมีความรู้แบบเป็นส่วน แต่ควรจะต้องบูรณาการไปสู่ความเป็นทั้งหมด ซึ่งเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือบรรลุปัญญา

นั่นคือความหมายของการที่ว่า "แล้วมันก็จะไปเจอกันเอง"

ผมอยากจะเรียกหลักการที่ท่านอาจารย์ระพีกล่าวว่าเป็น "วิธีระพี สาคริก" ซึ่งเป็นวิธีพัฒนาคนที่สำคัญซึ่งนอกจากแต่ละคนจะสามารถเอาไปเป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเองแล้ว หากระบบการศึกษานำหลักการนี้ไปใช้ ก็จะเป็นการศึกษาที่เอาความเป็นคนเป็นตัวตั้ง จะทำให้การศึกษาเป็นความสุข และความสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่

คนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน ควรจะรวมตัวเป็นกลุ่มแล้วสิ่งนั้นๆ ร่วมกัน ทำให้ประณีต และลึกขึ้นๆ

ในสังคมควรจะมีกลุ่มหรือชุมชนแห่งการปฏิบัติอันหลากหลายให้เต็มสังคม เป็นกลุ่ม "ทำอะไรก็ได้ที่ชอบ" เช่น กลุ่มที่ทำเรื่องต้นไม้ เรื่องวัฒนธรรม เรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพ เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องศิลปะ เรื่องธรรมะ ฯลฯ

ทุกคนจะมีทางออก มีความสุข และความสร้างสรรค์ กลุ่มทั้งหมด "ทำลึกขึ้นๆ ก็จะไปเชื่อมโยงกันเอง"

เป็นพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้สามารถทำเรื่องดีๆ ได้สำเร็จ รวมทั้งเรื่องการศึกษาเพื่อพามนุษย์ไปพ้นวิกฤตตามที่กล่าวมา หรือแม้ยิ่งกว่านี้

การเรียนรู้ที่ดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์

เพราะทำให้เข้าถึงความจริง ความดี และความงาม


ศาสตราจารย์ระพี สาคริก คือตัวอย่างของคนที่เข้าถึงความจริง ความดี และความงาม

หน้า 9<
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 2

โพสต์

วันระพี สาคริก ควรมีเพราะเหตุใด
คอลัมน์   - บังอบายเบิกฟ้า ไทยโพสต์
ธรรมเกียรติ กันอริ
17 ธันวาคม 2549  


"ดั่งไม้ใหญ่ ให้ร่มเงา เฝ้าไม้เล็ก เพราะรู้เล็ก เด็กสำคัญ ยิ่งผู้ใหญ่

ส่วนไม้ใหญ่ ได้รากแก้ว แววถึงใจ

คือไม้เล็ก รักที่สุด ดุจชีวา"


ระพี สาคริก

ก่อนคืนวันจะล่วง  ปีจะผ่าน  ในโอกาสที่ท่านอาจารย์ระพี สาคริก มีอายุครบ 84 ปี เมื่อวันที่  4 ธันวาคม ศกนี้ และวันเสาร์เมื่อวานนี้ได้มีศิษยานุศิษย์จัดงานวันเกิดให้อาจารย์ ณ หอประชุมใหญ่  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน  เหตุที่ไม่จัดงานตรงกับวันคล้ายวันเกิดนั้นก็เพื่อความเหมาะสม  ที่ระหว่างนั้นเนื่องด้วยลูกศิษย์หลายคนต้องเฝ้าถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   คุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้ในไทยโพสต์ คอลัมน์สภาประชาชน เมื่อวันที่  4  ธันวาคม  พร้อมๆ  กับเรียกวันที่  4  ธันวาคมเป็นวันอาจารย์ระพี  สาคริก ผ่านคอลัมน์ของประธานท้วม

ครับ  ผู้เขียนขอร่วมกราบแสดงมุทิตาจิตอีกครั้งแด่ท่านอาจารย์ระพี สาคริก และแม้คุณทินวัฒน์จะเรียกวันที่ 4 ธันวาคมเป็นวันอาจารย์ระพีของพวกเรา (ชาวสภาประชาชน) ซึ่งดูจะเป็นเรื่องเฉพาะหรือหมู่เหล่า แต่ทำให้ผู้เขียนฉุกใจคิดขึ้นมาว่าช่วยกันผลักดันเพื่อเป็นวันระพี สาคริก ของคนไทยและของประเทศไทย  อันขยายวงกว้างขึ้นจะดีไหม เพื่อตระหนักถึงคุณูปการที่ท่านอาจารย์ระพีบำเพ็ญมา การเชิดชูเกียรตินี้มิใช่ด้วยเหรียญตราหรือปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ใดๆ หากเป็นการกำหนดวันขึ้นมาวันหนึ่ง เพื่อเป็นนิมิตหมายสำหรับระลึกนึกถึงและเจริญรอยตาม เป็นปฏิบัติบูชาแก่ปูชนียบุคคลท่านหนึ่ง

อาจารย์ระพี   สาคริก  เป็นรัตตัญญู คำนี้แปลตามรูปศัพท์ก็ว่าผู้รู้ราตรีอันยาวนาน  ซึ่งโดยความหมายนั้นหมายถึงผู้มีประสบการณ์มาก  รัตตัญญูเป็นบุคคลประเภทหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญอีกทั้งทรงแนะนำให้ผู้อื่นควรบูชา  เพื่อยังความเจริญความเป็นสิริมงคลแก่ตน  ประสบการณ์ของอาจารย์ระพีซึ่งรวมความอยู่ในคุณวุฒิและวัยวุฒินั้น  ท่านได้ศึกษาค้นคว้า พัฒนาและถ่ายทอดเป็นวิทยาทานแก่ศิษยานุศิษย์และสังคมยาวนาน

ภาพลักษณ์ประการหนึ่งของอาจารย์ระพี คือ เป็นนักวิชาการเรื่องกล้วยไม้ เพราะท่านเบิกขยายพรมแดนความรู้เรื่องกล้วยไม้ ตั้งแต่ความรู้นี้เป็นสิ่งจำกัดของประเทศไทย เพราะหวงวิชาความรู้และปิดบังกัน  ท่านเริ่มสนใจกล้วยไม้จริงจังเมื่อต้นทศวรรษ 2490 ตั้งแต่ยังรับราชการที่แม่โจ้ เชียงใหม่ ได้เจียดเงินสั่งซื้อหนังสือกล้วยไม้จากต่างประเทศ ชื่อการเลี้ยงกล้วยไม้ของอเมริกัน ที่เขียนโดยศาสตราจารย์ฮไว้ท์ แห่งมหาวิทยาลัยคอแนล มาศึกษาพร้อมๆ กับแสวงประสบการณ์จากผู้เลี้ยงกล้วยไม้ในไทย  กระทั่ง พ.ศ.2496 สามารถเพาะกล้วยไม้จากเมล็ดได้สำเร็จ เช่นเดียวกับผลิตเพื่อค้าเหมือนคนร่วมสมัย

ผลประโยชน์ทางการค้าและการปิดบังหวงแหนความรู้ที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมขณะนั้น  จึงเกิดการต่อสู้ทางมโนธรรมสำนึกเมื่อได้เริ่มเผยแพร่เปิดอบรมเรื่องกล้วยไม้ ท่านว่าเมื่อพิจารณาถึงความถูกต้องสมควรอย่างหนักแล้ว   ทัศนคติจึงเริ่มเปลี่ยน   สามารถทำงานขยายผลได้มากขึ้น นอกจากการเปิดอบรมที่มหาวิทยาลัย  ก็ยังเผยแพร่ความรู้ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ เขียนตำรากล้วยไม้เล่มแรก "หลักการใช้ปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้" เมื่อ พ.ศ.2498 ต่อมาจัดตั้งสมาคมกล้วยไม้บางเขน  พ.ศ.2500  อีก  4 ปีต่อมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแผนกพืชสวน ได้ขอให้เริ่มสอนวิชากล้วยไม้ไทยในมหาวิทยาลัย เริ่มศึกษากล้วยไม้ป่าของไทย นำมาใช้ประโยชน์ในการผสม ไม่ต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ และการเรียนการสอน การวิจัยในมหาวิทยาลัยเติบใหญ่พัฒนาเป็นลำดับจนสามารถเปิดสอนระดับปริญญาโท ในปี พ.ศ.2514 สมาคมกล้วยไม้อเมริกันพิมพ์ประวัติส่วนตัวอาจารย์ระพีเกือบทั้งเล่มและเผยแพร่ไปทั่วโลก ตลาดกล้วยไม้ไทยขยายตัวสู่ตลาดต่างประเทศกว้างขวาง  ผู้เลี้ยงกล้วยไม้มีรายได้ดีขึ้น  กล้วยไม้ไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ

ครั้น พ.ศ.2511  ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดทางวิชาการ

ภาพลักษณ์ของอาจารย์ระพี  สาคริก ดูประหนึ่งจำหลักแนบแน่นกับเรื่องกล้วยไม้ คนทั่วๆ ไปเมื่อเอ่ยถึงนามระพี สาคริก ก็นึกถึงเรื่องกล้วยไม้ เพราะช่วงชีวิตยาวนานที่แน่นอนได้อุทิศเพื่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องกล้วยไม้  ทำประโยชน์แก่ผู้ค้ากล้วยไม้จนกล้วยไม้เป็นที่ยอมรับ แต่ความเป็นจริงในความเป็นปราชญ์ของท่านนั้น  ได้ก้าวพ้นจากความยึดติดนั้น  เป็นอิสระเสรี  สู่ความเป็นธรรมชาติธรรมดาในการเข้าใจโลก และให้สติปัญญาแก่สังคม

เป็นปราชญ์ เป็นนักการศึกษา มิใช่เพราะเคยเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  หรือเพราะสถานะครูบาอาจารย์ แต่เป็นเพราะเข้าใจแก่นแท้ของการศึกษา  และกล้าวิพากษ์วิจารณ์การจัดการศึกษาที่ล้มเหลว  เป็นคำวิจารณ์ที่เตือนสติและกล้าหาญอย่างยิ่ง  คำนึงประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าของสังคมโดยรวม   แทนที่จะคิดถึงตัวตนด้วยกรอบความรักและความชัง

ดังที่ท่านเคยเสนอ "ข้อคิดควรคำนึงเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ก่อนที่สังคมไทยจะล่มสลาย" โดยประกาศความคิดให้ตระหนักถึงความจริงกับสิ่งจอมปลอม  เช่น "โรงเรียน ตำรา หลักสูตร ชั้นเรียน  ข้อสอบ เสื้อครุย ปริญญา ของปลอมทั้งนั้น! ของจริงคือความจริงซึ่งอยู่ในใจของเราเอง"  ท่านตระหนักถึงการมีเมตตาธรรมอยู่ในวิญญาณตนอย่างเป็นธรรมชาติ และประจักษ์ถึงคุณค่าความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่กับเด็ก  ดังบทกลอนที่เขียนขึ้นอุปมาถึงไม้ใหญ่ไม้เล็ก  ตามที่ผู้เขียนนำมาโปรยก่อนขึ้นต้นบทความนี้

อาจารย์ระพีเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารแพรวครั้งหนึ่งเมื่อหวนรำลึกวัยเยาว์ว่า  บิดาช่วยให้เข้าใจเรื่องการศึกษาอย่างไร

"พ่อสอนผมอยู่อย่างเดียวเวลาเจอหน้าว่า  ฉันไม่มีสมบัติให้แก ฉันให้แกได้แต่การศึกษา ซึ่งผมยังเล็กก็เข้าใจแต่ว่า  การศึกษา คือ พ่อให้ไปโรงเรียน ออกค่าเล่าเรียนให้ เพราะไม่ค่อยเจอหน้าตากัน   แต่พอผมโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่  ทำงาน  มีผลงานเป็นที่ยอมรับกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ  ผมก็เริ่มคิดได้ว่าพ่อให้อะไรบ้าง  พ่อให้สิ่งที่เหนือกว่าคนอื่น แล้วพ่อทำให้ผมเข้าใจเรื่องการศึกษาลึกซึ้งมากเลยทีเดียวว่า พ่อให้ชีวิตที่เป็นสัจธรรม หรือสรุปอีกด้านหนึ่ง คือ พ่อให้อิสรภาพทางความคิดแก่ผมทางการเรียนรู้ แต่พ่อไม่ให้อิสรภาพทางวัตถุแก่ผม"

อาจารย์ระพีท่านมีความอิสระทางความคิดระดับใด   ถ้าจะต้องขออภัยในการตั้งคำถามอย่างที่อาจเข้าใจผิดว่าก้าวล่วงไปบ้าง   คำตอบที่ปรากฏในข้อเขียนเรื่อง  "วิญญาณใต้ร่มนนทรี 60 ปี ของชีวิตภายใต้ร่มเงาเกษตรศาสตร์" มีความบางตอนน่าสนใจ คือ

"หากในส่วนลึกที่สุดของหัวใจฉันเอง ไม่มีสีใดๆ ทั้งสิ้น ตนจึงไม่ใช่เป็นคนมีพวก และไม่มีเพื่อน ซึ่งถูกกำหนดไว้ด้วยกรอบกิเลส คงมีแต่ความจริง ซึ่งอยู่ในใจอันถือเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น

เพื่อนฉันจึงหาใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  หากหมายถึงเพื่อนมนุษย์ทุกคน  ที่มีโอกาสาเกิดมาสู่โลก ซึ่งช่วยสอนให้ฉันมีโอกาสหยั่งรู้คุณค่าของตนอย่างลึกซึ้ง...."


อาจารย์ระพี  สาคริก  เป็นบุคคลที่น่าศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อข้อคิดที่ท่านให้สติปัญญาแก่สังคม ถ้าจะช่วยกันผลักดันวันคล้ายวันเกิดของท่านเป็นวันระพี สาคริก ก็คงมิใช่เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติบูชาต่อคนที่ควรบูชาอันเป็นมงคลสูตรประการหนึ่งเท่านั้น   แต่จะก่อประโยชน์แก่สังคมจากร่มเงาไม้ใหญ่ถึงไม้เล็กที่จะเป็นรากแก้วต่อไป.



ระพี สาคริก

เกิด 4 ธันวาคม 2465 ที่กรุงเทพฯ

บุตร ขุนตำรวจเอกพระมหาเทพกษัตรสมุท (เนื่อง สาคริก กับคุณสนิท ภมรสูตร)

สมรส  กับนางสาวกัลยา  มนตริวัต  (บุตร พล.ต.ต.ขุนพิชัยมนตรี  อดีตหัวหน้าเสรีไท ย ค่ายกาญจนบุรี)

การศึกษา เริ่มชั้นประถมศึกษาที่ รร.สามเสนวิทยาคาร

พ.ศ.2483  ศึกษาวิชาเกษตรกรรม  ที่ รร.เตรียมวิทยาลัยเกษตรกรรม แม่โจ้ เชียงใหม่, เริ่มสนใจกล้วยไม้

พ.ศ.2500 เป็นอาจารย์สอนวิชากล้วยไม้ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ.2506 รับเชิญไปบรรยายวิชาการที่ประชุมกล้วยไม้โลก

พ.ศ.2513 ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ โดยไม่ผ่านตำแหน่งผู้ช่วยศาสต ราจารย์และรองศาสตราจารย์

พ.ศ.2520 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พ.ศ.2521 เป็นประธานจัดการประชุมกล้วยไม้โลก ครั้งที่ 9 ที่ไทยเ ป็นเจ้าภาพ

พ.ศ.2522 ดำรงตำแหน่ง รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พ.ศ.2523 ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุราชการ

พ.ศ.2545 เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ในกิจกรรมสัมมนา การประชุมทา งวิชาการและผู้บรรยายพิเศษ เป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาที่ เน้นชนบทและเยาวชน  ปลูกฝังเนื้อหาคุณธรรมและจริยธรรม โดยยึดแนวทางพัฒนาที่พึ่งตนเอง

พ.ศ.2549 เป็นปีที่ครบรอบวันเกิด 84 ปี
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 3

โพสต์

หมายเหตุ

'ระพี' เพียงฟ้า วิญญาณเทียมดิน


18 ธันวาคม 2549    ไทยโพสต์


เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา เชื่อว่าคงเป็นที่ปลื้มปีติของบรรดาคนที่รัก "ศ.ระพี สาคริก" โดยเฉพาะชาว ม.เกษตรฯ เพราะ ชมรมศิษย์ลูกฯ


ได้จัดงานครบรอบวันคล้ายวันเกิด 84 ปี หรือ 7 รอบ ให้กับ "พ่อระพี"

บรรยากาศงานเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่าย ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีกิจกรรมปาฐกถา บรรยาย  ตลอดจนการแสดงต่างๆ  ก่อนที่ศิษย์ลูกทุกคนจะได้รดน้ำขอพรในช่วงเย็น พอตกค่ำก็เป็นบรรยากาศงานเลี้ยง มีอาหารให้เลือกชิมกว่า 10 ซุ้ม พร้อมฟังเพลงเพราะๆ จากวงเคยูแบนด์ แขกเหรื่อทยอยมาร่วมงานกันไม่ขาดสาย โดยเฉพาะบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่เดินทางมาอวยพรและขอพร

ไฮไลต์ของงานครบ 7 รอบ "ศ.ระพี สาคริก" ครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังทุกคนเริ่มอิ่มกับอาหาร โดยเจ้าของวันเกิดพร้อมครอบครัวขึ้นเวทีเพื่อกล่าวขอบคุณ โดย ศ.ระพี ได้ฝากแง่คิดไว้ในหลายๆ ข้อ ทั้งเรื่องการศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องทำตามอย่างต่างชาติจนเกินไป พูดภาษาต่างชาติ แต่อย่าตกเป็นทาสต่างชาติ เรื่องความรัก ความสามัคคี พร้อมแนะวิธีปราบคอรัปชั่นที่ง่ายที่สุดคือ ทุกคนต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง

หลังจากนั้น  ศ.ระพี  ได้โชว์เดี่ยวเมาธ์ออร์แกนร่วมกับวงเคยูแบนด์ ในเพลงหนึ่งในร้อย โดยมอบให้ทุกวิญญาณที่เสียสละเพื่อชาติไทย  เรียกเสียงปรบมือและความปลื้มปีติจากทุกคนที่มาร่วมงาน หลังจากนั้น "อาจารย์พ่อ" ได้เดินทักทายลูกศิษย์ตามโต๊ะต่างๆ ด้วยความซาบซึ้งเป็นกันเอง.
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ธรรมชาติ คือ ระพี ระพี คือ ธรรม

โดย สัมพันธ์ เตชะอธิก

มติชนรายวัน วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10512



ถ้าถามว่า ผู้ใหญ่ในสังคมไทยที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือด้วยความจริงใจและไว้วางใจสุดๆ คือใคร?

ศ.ระพี สาคริก ย่อมเป็นชื่อต้นๆ ที่คนไทยคิดถึง ท่านเป็นบิดากล้วยไม้โลก ที่มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ที่มองลึกไปถึงธรรมชาติและคน ไม่ใช่มองกล้วยไม้เพื่อผลิต ส่งออก จัดจำหน่ายเพื่อมีเงินมาก แต่มองกล้วยไม้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เข้าถึงความงดงามและใช้เปรียบเทียบกับชีวิตได้

ผู้คนจำนวนมากที่ติดยึดกับตัวตน มองกล้วยไม้แค่กล้วยไม้ มองกล้วยไม้เป็นเงินเป็นวัตถุ เป็นเพียงไม้ดอกไม้ประดับ จึงมักเข้าไม่ถึงความคิดปรัชญาของ ศ.ระพี สาคริก


ความเป็นคนที่ยอมรับในสิ่งที่ตนเองไม่รู้แต่แรก แล้วก็เริ่มศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจัง เป็นคุณสมบัติอันเยี่ยมยอดของท่าน จากไม่รู้สู่ความรู้พื้นฐาน จากนั้นก็เชี่ยวชาญแล้วก็เป็นปราชญ์ได้กระบวนการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจตนเองและผู้อื่นว่า มีสิ่งใดบ้างที่ตนเองรู้แล้ว สิ่งใดบ้างที่ตนเองยังไม่รู้ ยอมรับความจริงโดยไม่เย่อหยิ่งหรืออวดรู้ ไม่ยกตนข่มท่าน ย่อมทำให้คนแต่ละคนเป็นบุคคลเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ในทุกสถานการณ์

ศ.ระพี สาคริก เป็นบุคคลที่เรียนรู้ตลอดเวลาด้วยท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่าด้วยความเมตตา และพร้อมที่จะชื่นชม ถ้าบุคคลนั้นพูดคุยเพื่อประโยชน์แก่ประเทศ สังคมส่วนรวมและผู้อื่น โดยเฉพาะคนยากคนจนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก

การเดินไปหาคนข้างล่าง อันหมายถึง คนยากจน คนในชนบท คนในชุมชนแออัด คนเดินดินตามถนน คนที่ด้อยโอกาสในสังคม เป็นสิ่งที่ ศ.ระพี สาคริกประพฤติปฏิบัติมาตลอดชีวิต และพากเพียรสั่งสอนคนอื่นๆ ว่า "อย่าลืมคนข้างล่าง"

ความเป็นคนติดดินทำให้เป็นแบบอย่างที่ช่วยให้คนดีจำนวนมากไม่ลืมตัวและยังพยายาลทำงานกับคนข้างล่าง เพื่อเสริมสร้างให้คนยากจนสามารถพึ่งตนเองได้

ผู้เขียนเริ่มต้นเรียนรู้จาก ศ.ระพี สาคริก ด้วยความไม่เข้าใจในความคิดและจดหมายในภาษาเขียนที่เราสื่อสารกันในระยะแรกๆ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ด้วยความจริงใจผู้เขียนได้เรียนท่านว่าไม่ค่อยเข้าใจ ท่านได้พยายามสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดต่อสถานการณ์ทางสังคม จนผู้เขียนเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ และนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิต การทำงานและการเคลื่อนไหวทั้งทางวิชาการและพัฒนาชุมชนและสังคม

ไม่เพียงความคิด ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนในชีวิตเท่านั้น ยังได้รับกำลังใจเสมอๆ ในยามที่หมดหวังกับการแก้ไขปัญหาสังคม หมดหวังกับการเมืองและผู้มีอำนาจ หมดหวังกับมหาวิทยาลัย หมดหวังกับระบบราชการ หมดหวังกับคนข้างล่าง ฯลฯ เราจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวให้สามารถทำความดีท่ามกลางวัฒนธรรมที่ไม่เอื้ออำนวยนัก

ความเข้าใจผู้อื่นและหน่วยงานที่สัมพันธ์ด้วย เป็นเรื่องการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ความคาดหวังกับความจริงเป็นสิ่งที่ต้องปรับสมดุลในตัวเราแต่ละคนให้ได้ เพื่อหาช่องทางและก้าวต่อไปสร้างสรรค์ความดีตามแนวทางที่ ศ.ระพี สาคริกได้เป็นแบบอย่างที่ดีไว้

ความเป็นธรรมชาติและความรักในผู้คน เป็นลักษณะที่ ศ.ระพี สาคริก ดำเนินชีวิตด้วยการมองสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วยความห่วงใยและอยากรักษาหวงแหนไว้ แน่นอนว่าด้านหนึ่งมีผู้กำลังทำลายธรรมชาติมาก ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีผู้พยายามปกปักรักษาธรรมชาติ สองด้านมีกำลังไม่สมดุลกันทั้งกำลังเงิน เทคโนโลยี อำนาจและผลประโยชน์

แน่นอนว่า ศ.ระพี สาคริก สนับสนุนผู้คนที่รักธรรมชาติและต่อสู้กับผู้ที่ทำลายธรรมชาติ โดยใช้ธรรมเป็นเครื่องนำทางด้วยความพยายามคิด เขียน บรรยาย พูดคุย ปาฐกถา ฯลฯ ที่สำคัญคือ ท่านได้ปฏิบัติด้วยตัวเองมาตลอดชีวิต ด้วยหวังว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และพฤติกรรมของผู้ที่ทำลายธรรมชาติให้หวนกลับมาคิดได้ และประพฤติปฏิบัติในหนทางที่ไม่ทำลายธรรมชาติ รวมทั้งเป็นเสาหลักเสาหนึ่งและมีส่วนร่วมในขบวนการกับผู้ที่รักธรรมชาติในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาสร้างสรรค์ให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างปกติสุข

ธรรมของ ศ.ระพี สาคริก จึงเกิดจากธรรมชาติของตนเองในวิธีคิด วิถีปฏิบัติ พฤติกรรมในชีวิตที่เรียนรู้ด้วยตนเอง

การปะทะสังสรรค์กับผู้อื่น การศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การอ่านหนังสือจำนวนมาก การสรุปวิเคราะห์และสรุปบทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากนั้นก็นำมาสู่คำอธิบายเป็นคำพูดและลายลักษณ์อักษร ด้วยมีจิตใจสาธารณะในการเผยแพร่และไม่เก็บงำความรู้ ประสบการณ์และบทเรียน

พร้อมถึงที่จะเผยแพร่อย่างมีพลังความดีงามในตัวตนแก่สังคมและผู้อื่น

ในโอกาสครบรอบอายุ 7 รอบ 84 ปี แบบอย่างความดีงามที่สังคมถามถึงและได้รับจาก ศ.ระพี สาคริก เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า "ธรรมชาติคือระพี ระพีคือธรรม" น่าจะเป็นสิ่งที่คงอยู่คู่สังคมไทย

ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และคุณงามความดีได้ปกปักรักษาและคุ้มครองคุณพ่อของลูกๆ ในสังคมไทย

ให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพจิตใจที่แจ่มใส สุขภาพสังคมที่มีผู้คนแวดล้อมด้วยคุณความดีดังที่คุณพ่อปรารถนาและสุขภาพปัญหาที่เฉียบคมตลอดไป

หน้า 6<
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ทำไมอ.ระพี จึงได้รับการเคารพยกย่องนับถือ และเป็น 1 ใน 3 ราษฎรอาวุโส..

โปรดศึกษาเพิ่มเติมได้..

http://www.google.co.th/search?hl=th&ie ... a=N&tab=gw

ขอแสดงความนับถือ
121
Verified User
โพสต์: 843
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณ อีกครั้ง

ให้กำลังใจอีกหน

ขอบคุณ  และขอบคุณ
ภาพประจำตัวสมาชิก
por_jai
Verified User
โพสต์: 14338
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 7

โพสต์

8) ขอบคุณครับพี่บี
    ทำอย่างนี้บ่อยๆนะครับ
    วัยรุ่นชอบอ่านครับ
กรูเก่ง กิเลสเก่งกว่า
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ประชาธิปไตยที่ควรจะใฝ่ฝัน
โดย ระพี สาคริก
มติชน วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10487



การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้มาถึงจุดที่เราต่างก็เรียกหา "คุณธรรม" กันอย่างกว้างขวาง

ถ้าจะกล่าวว่า "หากสังคมขาดธรรมาธิปไตยซึ่งควรจะมีอยู่ในพื้นฐานแม้เราจะหวังให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยก็คงเป็นไปได้ยาก"

หากหวนกลับไปพิจารณาค้นหาความจริง ว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2475 ซึ่งเราประกาศว่าต้องการประชาธิปไตย แต่เราเอา การปฏิวัติ มาเป็นเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลง

มันก็เหมือนนำชนักมาปักติดหลังคนไทยทั้งชาติเอาไว้จนถึงทุกวันนี้

การเปลี่ยนแปลงจากตรงนั้นเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การยกพวกฆ่ากันเองมาโดยตลอด

ผู้เขียนยังจำได้ดีว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน ช่วงนั้นมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาถึงช่วงที่คุณทวี บุณยเกตุ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 7 วัน หลังจากนั้นเราก็เริ่มมีการติดตามฆ่ากันเองจนกระทั่งฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าจำต้องหนีหัวซุกหัวซุน

สิ่งดังกล่าวมันสอนให้แต่ละคน ทีหลังอย่าคิดโลภโมโทสัน เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเองอย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

การมีอำนาจด้วยความรู้สึกพอเพียงเท่านั้น ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปได้ด้วยความสงบและร่มเย็นเป็นสุข

แทนที่จะอยากได้ประชาธิปไตยจนตัวสั่น ซึ่ง ณ จุดนี้ทำให้ขาดการรู้ตัวเองได้ถึงเหตุและผล

ทุกวันนี้ หลายคนคิดถึงความสำคัญของ "บ้าน" ซึ่งหาใช่บ้านที่แต่ละคนอาศัยซุกหัวนอนเท่านั้นไม่ หากควรจะหยั่งรู้ได้อย่างลึกซึ้ง ว่า คือบ้านเกิดเมืองนอนของแต่ละคน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต

ความหมายของ บ้าน หาใช่หมายถึงบ้านที่แต่ละคนอาศัยอยู่ มีรั้วรอบขอบชิดที่สร้างขึ้นมากันขโมย และการล่วงล้ำของเพื่อนบ้าน และให้ความสวยงามเป็นการส่วนตัวเท่านั้นไม่

แต่ถ้าเข้าใจความหมายของคำว่า บ้าน ได้อย่างลึกซึ้งว่าหมายถึงบ้านที่ชีวิตไทยร่วมกันอาศัยอยู่อย่างอบอุ่นตลอดทั้งชาติ

ดังนั้น บ้านซึ่งทุกคนใฝ่ฝันที่จะมีไว้เป็นเจ้าของ และควรจะรู้ความหมายได้ถึงระดับหนึ่ง มันเป็นความจริงที่ว่า

บ้านอันเป็นสุดที่รักดุจชีวิตของแต่ละคนกำลังสูญหายไปจากหัวใจคนไทยจำนวนมาก

บ้านหลังนี้หมายถึง ความสำคัญของจิตใจที่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจิตวิญญาณเราแต่ละคนที่เชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างเสมอเหมือนกันหมด

หากมองเห็นความจริงเรื่องนี้เราคงจะต้องสำนึกอยู่ในใจแล้วว่า "อนิจจาบ้านซึ่งเป็นของคนไทยทุกคน มันกำลังเหลือแต่เศษหินและดินที่กองอยู่บนพื้นผิวโลก รวมทั้งวิญญาณคนไทยก็คงจะเปลี่ยนไปเป็นแค่ตำราในประวัติศาสตร์อย่างน่าเศร้าใจที่สุด"

ถึงกระนั้น แม้แต่ตำราดังกล่าว ถ้าจิตใจคนไทยขาดการรู้คุณค่าของตัวเอง ประวัติศาสตร์มันก็คงกลายเป็นเศษกระดาษที่เผาอยู่ในเปลวไฟได้ไม่ยาก

ก่อนอื่น เราควรเริ่มต้นด้วยการก้มลงมาดูพื้นดินและพิจารณาอย่างรู้เหตุรู้ผลร่วมด้วยว่า ถึงบัดนี้แผ่นดินไทย ซึ่งเคยเป็นของคนไทย รวมทั้งญาติพี่น้องเราเองอย่างภาคภูมิใจนั้น มันกลับเป็นเพียงรอยเท้าของฝรั่งมังค่าที่เข้ามาเหยียบย่ำหัวใจคนท้องถิ่น ซึ่งยังมีจิตสำนึกหลงเหลืออยู่บ้าง

เรื่องนี้อาจจะต้องยอมรับความจริงว่า มีการฆ่าฟันกันเองไปจนถึงจุดหนึ่งแล้ว

ปัจจุบันนี้ผู้เขียนหวนกลับมาค้นหาความจริงใจจากตนเองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ค้นหาเหตุผล ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่า "ทุกวันนี้ชีวิตคนไทยกำลังดิ้นตายใช่หรือเปล่า?"

"..ฉันนึกถึงภาพแมวตัวหนึ่งซึ่งผ่านเข้ามาในสายตาตัวเองหลายปีมาแล้ว วันนั้น แมวตัวนั้นกำลังเดินวนไปเวียนมาเพื่อค้นหาเศษอาหารที่อยู่ในครัว บังเอิญเด็กชายคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในบ้าน มองเห็นเข้า เขากระโดดไปคว้าไม้พลองที่พิงอยู่ข้างฝา แล้วนำมาหวดลงบนหลังเจ้าแมวตัวนั้น ฉันมองเห็นภาพมันดิ้นอย่างสุดฤทธิ์ ไม่เพียงเท่านั้นการดิ้นของแมวมันคล้ายกับว่าเส้นเอ็นซึ่งอยู่ในระบบอันเป็นธรรมชาติกำลังชักกระตุก จนกระทั่งพาเอาตัวมันเองเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะแน่นิ่งไป แต่แล้วเด็กชายคนนั้นก็นำไม้มาหวดซ้ำลงไปอีก ฉันเพิ่งเข้าใจความหมายของคนแต่ก่อนที่กล่าวไว้ว่า "พื้นที่ดินแปลงนี้มันมีขนาดเท่ากับแมวดิ้นตาย.."

ความหมายของภาษิตบทนี้ควรจะหมายถึง ถ้าหวังที่จะได้แผ่นดินซึ่งมีขนาดเท่ากับแมวดิ้นตายก็คงมีความหมายว่ามันคงไม่รู้จักจบลงได้ ณ จุดใดจุดหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงคำว่า "บ้าน" แต่ละคนคงใฝ่ฝันที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง อีกทั้ง ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เอาไว้กิน ไว้ใช้ ให้เกิดความภูมิใจในชีวิต

แต่ถ้ามองบ้านด้วยความรู้ความเข้าใจได้ลึกซึ้งถึงระดับหนึ่งอย่างที่พูดกันว่า บูรณาการ ควรเห็นความจริงได้ว่า บ้านอันเป็นที่รักดุจชีวิตกำลังสูญหายไปจากหัวใจเราเอง

ซึ่งขณะนี้ต่างคนต่างเห็นแก่ตัวกันเป็นส่วนใหญ่

ไม่คำนึงว่าเพื่อนมนุษย์จะสามารถอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข หรือว่าใครจะทุกข์แค่ไหนก็ไม่สำคัญ แต่ฉันหรือตัวกูหวังจะมีความสุขคนเดียวก็พอแล้ว หากมีใครท้วงติงก็จะสะท้อนให้เห็นภาพถ่ายในจิตใจได้ว่า แทนที่จะรับฟังด้วยความขอบคุณ กลับขาดความใจกว้าง

ดังนั้น ความหวังที่ว่าสังคมจะได้รับการแก้ไขก็คงเป็นไปได้ยาก

และถ้ายังมองไม่เห็นความสำคัญของบ้านเกิดเมืองนอนที่เชื่อมโยงถึงกันและกันได้หมดทั้งประเทศ จนกระทั่งถึงทั้งโลก วันหนึ่งก็คงจะต้องหวนกลับมานั่งรำพึงถึงชีวิตตัวเองว่า

อนิจจาสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตเราแต่ละคนมันกำลังจะสูญหายไป จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว

ทุกวันนี้ แม้กระทั่งบ้านลูกหลานไทยที่ปลูกอยู่บนแผ่นดินผืนนี้ มันก็เริ่มกลายเป็นของคนท้องถิ่น ซึ่งมีสามีเป็นฝรั่ง ไปทีละแห่งสองแห่ง

และแล้ววันหนึ่งมันก็จะหมดสิ้นไปจนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศักดิ์ศรีของความเป็นคนไทยที่ควรจะอยู่บนแผ่นดินผืนนี้ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนสืบไป

วันหนึ่งในอนาคตแผนที่ประเทศไทยหรือประเทศสยาม ที่ผู้คนสมัยก่อนเคยหลงติดอยู่กับฝรั่งกระทั่งถึงกับเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย

ฟังดูแล้วมันน่าอับอายขายหน้าคนชาติอื่นเขาหรือเปล่า ที่กลุ่มผู้บริหารประเทศนำเอาสิ่งดังกล่าวไปขายให้คนต่างชาติเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเอง

แท้จริงแล้วหากรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง ควรสำนึกได้อยู่เสมอว่า การซื่อสัตย์ต่อตัวเอง มันสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด แม้จนก็ควรจะภูมิใจว่าเราสามารถถือความซื่อสัตย์ต่อตนเองเอาไว้ให้มั่นคงอยู่ได้

ยิ่งกว่านั้น สิ่งดังกล่าวหากจะต้องแลกด้วยชีวิต ก็ควรยอมได้ แทนที่จะให้คนชาติอื่นเขามาปรามาส ดูถูกเหยียดหยาม

ว่า "คนไทยสามารถใช้คุณค่าของชีวิตเอามาขายกินได้ทุกเรื่อง" ซึ่งฟังแล้วครั้งใด แทบจะเอาชีวิตแทรกแผ่นดินหนีหน้าไปให้พ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ขณะนี้

สภาพที่เป็นอยู่เช่นนี้ ถ้าจะกล่าวจากใจจริงก็ว่า

ทุกวันนี้คนที่รักและซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินไทยกำลังมีหัวอกกลัดหนอง

แล้วคงมีคำถามต่อไปอีกว่า แล้วใครจะบ่งหนองสิ่งนี้ออกไปจากตัวเรา

แท้จริงแล้วเราก็ไม่ควรจะหวังให้คนอื่นมาช่วย ถ้าหวนกลับมาพิจารณาถึงสิ่งซึ่งอยู่ในใจเราเอง เราแต่ละคนควรหาคำตอบได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ

อนิจจาประชาธิปไตยในสังคมไทย มันก็คงล้มลุกคลุกคลาน อีกทั้งทำให้คนไทยต้องยกพวกฆ่ากันเองอย่างจบสิ้นลงได้ยาก และแล้วบนแผ่นดินผืนนี้เราจะหวังหาความสุขได้จากที่ไหน

ใครรู้ช่วยกรุณาตอบทีด้วยเถิด
Dech
Verified User
โพสต์: 4596
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 9

โพสต์

ปีนี้แนะนำให้ดู รายการคนค้นคน ครับ

จะเสนอเรื่องพระดี คนดีทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ของประเทศ ไว้เป็นตัวอย่างให้คนทั้งชาติได้ดูได้ปฏิบัติตาม เช่น ท่านปัญญา

อ.ระพี ก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ รอชมสิครับ
สีลํ พลํ อปฺปฏิมํ สีลํ อาวุธมุตฺตมํ
สีลํ อาภรณํ เสฏฺฐํ สีลํ กวจมพฺภุตํ
ศีลเป็นกำลังไม่มีที่เปรียบ ศีลเป็นอาวุธสูงสุด
ศีลเป็นเครื่องประดับอย่างประเสริฐสุด ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ขอบคุณคับ..

น.ส.พ.ไทยโพสต์ได้ลงมติประกาศยกย่องอ.ระพี สาคริก

เป็น"บุคคลแห่งปี"

ผมอ่านเจอในฉบับตีพิมพ์

แต่ไม่พบในฉบับออนไลน์

น่าเสียดายจัง

ถ้ามีในแง่มุมอื่นจะนำมาให้ทุกท่านได้อ่านกันคับ...
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 11

โพสต์

หอมทวนลม 'ความดี' ต้านแรงลม


7 มกราคม 2550    กองบรรณาธิการ ไทยโพสต์

ไม่ว่าจะเรียกชายวัย 84 ผู้นี้ว่านักปราชญ์ นักคิด นักวิชาการ หรืออาจารย์ในฐานะอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่อีกฐานะหนึ่งที่เรารู้จักชื่อ ศ.ระพี สาคริก นั่นก็คือ


กูรูกล้วยไม้ของเมืองไทย  ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับนอกเหนือไปจากงานเขียนที่เป็นเสมือนกระจกสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทย


ขณะที่อีกด้านหนึ่งของนักจัดดอกไม้และช่างภาพมือทองอย่าง ศักดิ์ชัย  กาย ที่คนในแวดวงหนังสือรู้จักในฐานะบรรณาธิการบริหารนิตยสาร  LIPS  ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าคลุกวงในแนบแน่นกับคนในสังคมไฮโซมาช้านาน   แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าผู้ชายคนนี้จะเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ทางอ้อมของ อ.ระพี  ที่เรียกว่าทางอ้อมนั้นก็เพราะแม้จะไม่ใช่ลูกศิษย์ที่ร่ำเรียนกันมาแต่เล็กแต่น้อย   แต่ก็เป็นลูกศิษย์ที่ศรัทธาในผลงานและติดตามอาจารย์ระพีมาโดยตลอด   เมื่อมีโอกาสศักดิ์ชัยจึงสนองแรงบันดาลใจตัวเอง    ด้วยการนำผลงานภาพถ่ายกล้วยไม้หายากของเมืองไทยมาเผยแพร่  พร้อมปรัชญาคำคมของ อ.ระพีที่ให้แง่คิดดีๆ  กับชีวิต มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือภาพสวยๆ ในนาม หอมทวนลม The Language of Orchids

ศักดิ์ชัย   เล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ว่า   ปีนี้เป็นปีที่ อ.ระพีมีอายุครบ  84 ปี ลูกศิษย์และคนใกล้ชิดมีความประสงค์จัดทำหนังสือหลายเล่ม  ซึ่ง  "หอมทวนลม" ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวที่สุดนั่นคือเรื่องเกี่ยวกับกล้วยไม้    จึงนำผลงานที่อาจารย์เขียนอย่างต่อเนื่องมาเรียบเรียงใหม่ และใช้ภาพถ่ายเป็นภาพประกอบ ส่วนชื่อ  "หอมทวนลม"  นั้น  เปรียบเปรยประหนึ่งว่าความดีนั้นแม้จะมีปรากฏการณ์ธรรมชาติเกิดขึ้นก็ไม่มีวันสั่นคลอน  ความหอมจึงเปรียบเสมือนความดีที่ไม่ว่าทิศทางลมจะพัดผ่านเช่นไร ความหอมก็จะยังคงอยู่เสมอ

"งานเขียนของอาจารย์ที่สั่งสมมาหลายสิบปีกลั่นกรองออกมาเป็นปรัชญาการศึกษา   ปรัชญาสังคม ปรัชญาการดำเนินชีวิต   ซี่งผลงานเล่มนี้ได้คัดงานเขียนให้สอดคล้องกับภาพประกอบ  ทำให้การอ่านมีชีวิตชีวาขึ้น บทความ  บทวิจารณ์ ของอาจารย์เป็นของจริงและผ่านกาลเวลา  เราไม่ต้องใช้เวลาในการแปลความหมาย อ่านแล้วเข้าใจทันที"

อาจารย์.ระพี กล่าวว่า   บทความที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่เขียนมาตลอดชีวิต   ทุกสิ่งทุกอย่างออกมาจากจิตใจแม้จะเป็นหนังสือภาพกล้วยไม้ แต่ถ้าหากคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้เทคนิคการเลี้ยงกล้วยไม้แล้วละก็อาจจะต้องผิดหวัง  แต่ปรัชญาของ อ.ระพีนั้นนำมาใช้ได้เสมอ โดยเฉพาะข้อที่ว่ากล้วยไม้ต้นไหนที่เรารักมากที่สุดมักจะเลี้ยงไม่รอด  นั่นเพราะเราให้น้ำให้ปุ๋ยมากเกินไป  ดูแลมากเกินไป ดังนั้นหลักที่ถูกต้องที่สุดก็คือปล่อยไปตามธรรมชาตินั่นเอง

"ความหมายของหอมทวนลมก็คือ  ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา  สำคัญที่สุดคือใจของเรา เมื่อเกิดอะไรขึ้นให้ถามใจเรา อย่าไปตามกระแส ดำเนินชีวิตให้เหมือนต้นไม้ที่ต้องมีราก เราจึงจะยืนหยัดในสังคมที่วุ่นวายได้"

ปรัชญาชีวิตข้อนี้ อ.ระพีได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยตัวท่านเอง เพราะไม่ว่ากระแสหลักสังคมแต่ละยุคจะพัดพาไปทางใด ความดีที่ท่านสั่งสมก็ไม่เคยถูกสั่นคลอน.

////////////





ไม้ใหญ่ต้นนี้มีอายุ

ถึงบางกิ่งกร่อนผุเป็นโพรงแผล

ยังคงยืนมั่นไม่ผันแปร

แตกกิ่งใหม่ใบแผ่ขึ้นปกคลุม

ให้ต้นกล้าร่มรื่นดินชื่นชุ่ม

ช่วยโอบอุ้มลูกนกกาได้อาศัย

จากผืนดินสู่ชีวิตเติมจิตใจ

ชีวิตใหม่เติบกล้าท้าแรงลม

พายุซ้ำกระหน่ำซัดไม่ขัดขืน

ยังหยัดยืนมุ่งมั่นไม่หวั่นไหว

ตราบแผ่นดินสิ้นกลบมิลบใจ

สัญญาไว้ยึดมั่นไม่สั่นคลอน

หยั่งรากลึกลงแผ่นดินถิ่นกำเนิด

เป็นบ่อเกิดศรัทธาธรรมที่พร่ำสอน

สถิตย์มั่นในดวงจิตนิจนิรันดร

ตราบชีพจรยังฝังรากแน่นกับแผ่นดิน

/////////

*บทกลอนที่อาจารย์ระพีด้นสดๆ ในงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 12

โพสต์

จากกล้วยไม้ถึงพืชสวนโลก

โดย ระพี สาคริก
มติชน วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10543



วันนี้วันพุธที่ 17 มกราคม 2550 ฉันเพิ่งกลับมาจากเชียงใหม่โดยที่นำคณะผู้ฝึกอบรมจากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 22 คน ไปประชุม รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

คงเป็นเรื่องแปลกสำหรับบางคนที่มองเห็นว่า ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นมีโครงการเรื่องนี้ จึงไม่ติดต่อโดยตรงกับรัฐบาลไทย แต่นำมาผ่านฉัน ซึ่งเป็นราษฎรธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น คงน่าจะมีเรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านี้ จึงเกิดแรงดลใจที่นำมาเขียนวิเคราะห์ถึงพื้นฐานของสังคมที่เป็นความรู้เพื่อค้นพบความจริงจากใจตนเองที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่หลายๆ คนผู้สนใจร่วมด้วย

แม้ตั้งชื่อหัวข้อว่า "จากกล้วยไม้ถึงพืชสวนโลก" ถ้านำพื้นฐานเจตนารมณ์ของเรื่องนี้มาพิจารณาค้นหาความจริงประเด็นหนึ่งอาจพบได้ว่า "จากงานพืชสวนโลก ซึ่งควรอยู่บนพื้นฐานของที่มา ซึ่งเป็นประชาธิปไตย" ทั้งนี้และทั้งนั้น เนื่องจากฉันมองเห็นความจริงแล้วว่ากระแสสังคมไทยที่เรียกร้องหาประชาธิปไตย ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่ายิ่งเรียกร้องก็ยิ่งนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นเผด็จการ

ในอดีตตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ซึ่งมีพฤติกรรมนำทหารและอาวุธมาใช้ปฏิวัติสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมที่ติดตามมาหลายครั้งหลายหน ก็สะท้อนความจริงให้เห็นว่ายังสร้างกระแสถ่ายทอดอำนาจจากด้านบนลงสู่พื้นล่าง

ทั้งๆ ที่ปากก็พูดกันมาแต่แรกแล้วว่าต้องการให้เกิดวิถีทางที่ถ่ายทอดอำนาจจากด้านล่างขึ้นมาสู่ด้านบน เช่น งานพืชสวนโลกครั้งนี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นความจริงตั้งแต่เริ่มต้นไปเชิญงานพืชสวนโลกจากต่างประเทศมาจัด ก็ได้มีการจัดตั้งสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยขึ้นมาก่อน เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการดำเนินงานดังกล่าว

สิ่งที่เห็นเป็นประจักษ์พยานอย่างชัดเจนก็คือ กลุ่มนักวิชาการกลุ่มหนึ่งซึ่งใช้กรมวิชาการเกษตรในระดับบนเป็นพื้นฐาน แถมยังใช้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีเป็นนายกสมาคม ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความจริงแล้วว่า "การก่อตั้งสมาคมครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากประชาชนคนระดับล่างที่ควรได้รับการพัฒนาพื้นฐานการศึกษาให้มีความรู้ เพื่อใช้เป็นฐานรองรับสภาพ ซึ่งเป็นเอกฉันท์"

สิ่งดังกล่าวแล้ว นับได้ว่าเป็นการปูพื้นฐานงานพืชสวนโลกที่ผิดด้านมาตั้งแต่เริ่มแรก จึงไม่สงสัยเลยว่างานครั้งนี้คนกลุ่มไหนได้รับประโยชน์ แทนที่จะล่อให้คนธรรมดาๆ ไปเที่ยวชมความสวยงาม ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอกหรือตกอยู่ในสภาพที่เรียกกันว่าผักชีโรยหน้าเท่านั้น แทนที่จะเสริมสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจให้กับแผ่นดินไทยได้อย่างมั่นคงและลึกซึ้งยิ่งกว่านี้

จากช่วงเริ่มต้นของงานมาจนกระทั่งถึงวันนี้ ซึ่งเหลืออีกไม่กี่วันจะปิดงานแล้ว ถ้าถามหาความจริงจากเสียงคนส่วนใหญ่ที่ไปเที่ยวงาน คงได้ยินคำว่างานนี้มีกล้วยไม้เป็นจุดเด่นจนแทบจะเรียกได้ว่าอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนพืชผลอื่น เช่น พืชผักและไม้ผลนานาชนิด มันอยู่ในคำถามจากใจที่ว่า "แทบจะหายไปไหนหมด"

ปัจจุบันนี้ เรามักเรียกร้องหาคุณธรรมและจริยธรรมกันอย่างกว้างขวาง แต่น้อยคนนักที่จะหาคำตอบได้เองว่าคุณธรรมและจริยธรรมคืออะไร และเกิดจากที่ไหน ?

ความจริงแล้วพื้นฐานของความสำเร็จที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ควรจะได้แก่การใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานรองรับหาใช่ความหมายของเศรษฐกิจอยู่ที่เรื่องของเงินและวัตถุไม่ ดังนั้น ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจเรามักเดินหลงทางไปหานักเศรษฐศาสตร์จากเมืองนอก ซึ่งวิถีทางดังกล่าวน่าจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสังคม หลังจากพูดมาถึงช่วงนี้ เราก็น่าจะตีความให้ถึงความจริงได้ว่าประชาธิปไตยอยู่ที่รากฐานจิตใจของคนในสังคม ซึ่งนับถือความจริงจากใจตนเองเป็นที่ตั้ง เหนือกว่าการคิดว่าประชาธิปไตย จะต้องเป็นเสียงข้างมาก อีกทั้งมีการเลือกตั้งผู้แทนประชาชน เพื่อมาใช้เป็นเสียงในการดำเนินงาน ซึ่งความคิดลักษณะนี้มันผิวเผินเกินไปกว่าที่จะใช้ความจริงเป็นพื้นฐานการดำเนินงาน โดยเน้นมุ่งลงสู่ด้านล่าง เพื่อให้เกิดภาวะมั่นคงเข้มแข็ง

เหตุใดกล้วยไม้จึงกลายเป็นพืชโดดเด่นอยู่ในงานพืชสวนโลกครั้งนี้ เรื่องนี้ น่าสนใจนำมาคิดวิเคราะห์และค้นหาความจริงอย่างที่สุด

หลายคนคงเคยได้ยินการกล่าวถึงประเด็นหนึ่งว่า ราชการไทยมักนิยมของสำเร็จรูป ถ้านำเรื่องนี้มาใช้เป็นพื้นฐานการคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ ฉันรู้สึกว่าเป็นโอกาสดีที่จะช่วยให้หลายคนผู้สนใจในความหมายของประชาธิปไตยได้แลเห็นความจริงว่าสังคมไทยมีระบบและบรรยากาศไม่เอื้ออำนวยให้แก่การคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ทั้งนี้และทั้งนั้น เนื่องจากนโยบายของราชการไม่คิดสนับสนุนของเล็กๆ และพัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานตนเองให้เป็นของใหญ่ได้อย่างภาคภูมิใจ หากจำเป็นต้องมีผลขายได้เงินจำนวนมาก ๆ

ฉันยังจำได้ดีว่า เมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยต่อต้านเรื่องกล้วยไม้อย่างหนักหน่วงด้วยเหตุผลหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกลุ่มบุคคลผู้มั่งมีอันจะกินจำนวนไม่มากนัก นำกล้วยไม้มาใช้เป็นของเล่น อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือดูถูกเหยียดหยามเด็กและคนจนอย่างเห็นได้ชัด

ภาพดังกล่าว ประกอบกับกลุ่มผู้มีอำนาจบริหารประเทศมองไม่เห็นหัวคน จึงหลงคิดว่ากล้วยไม้เป็นของเศรษฐี หากใครนำมาปลูกย่อมมีผลทำลายเศรษฐกิจของชาติ หากกลุ่มบุคคลผู้บริหารแต่ละระดับมองเห็นหัวคน ย่อมหยั่งรู้ความจริงมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องกล้วยไม้ หากเป็นเรื่องความคิดของคนที่ควรจะได้รับการแก้ไขในเรื่องการจัดการศึกษาบนพื้นฐานคุณธรรม

แม้การพัฒนาวงการกล้วยไม้ ซึ่งเริ่มต้นปลูกพื้นฐานไว้ในอดีต จะใช้หลักการที่ว่า คนเราเกิดมาทุกคน ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันหมดโดยไม่ยึดติดอยู่กับเครื่องประดับซึ่งเป็นของนอกกายในรูปลักษณะต่างๆ

ดังนั้น การเริ่มต้นพัฒนาวงการกล้วยไม้ ซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกชนที่คนยุคนี้มักปฏิเสธความสำคัญ โดยมองข้ามไปยังการพัฒนาชุมชน ฉันคิดว่าบุคคลลักษณะนี้มีสมบัติติดตัวที่มองข้ามตัวเอง แทนที่จะคิดว่าปัจเจกชนนั้น สร้างสรรค์ก็ได้หรือทำลายก็ได้ สรุปแล้วปัจเจกชนเป็นบ่อเกิดที่สำคัญในการพัฒนาชุมชน หากมีปัจเจกชนที่เห็นแก่ตัว ย่อมส่งผลทำลายสังคม แต่ปัจเจกชนที่มีจิตอิสระ อีกทั้ง มุ่งคิดและนำปฏิบัติอย่างดีที่สุด ย่อมมีผลให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง

ก่อนจะปิดงานพืชสวนโลกครั้งนี้ ผลที่ปรากฏจากอดีตถึงปัจจุบัน ถ้าฉันจะกล่าวว่า วงการกล้วยไม้ของไทย ตกอยู่ในสภาพที่เป็นพืชรองบ่อนของงานพืชสวนโลกก็คงไม่ผิด นอกจากนั้น ถ้ามองเห็นพฤติกรรมของข้าราชการบางคน ในขณะที่คนในวงการกล้วยไม้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เรายังพบความจริงอีกว่าทำตัวเป็นเจ้าเข้าเจ้าของอีกด้วย

ที่ฉันนำมากล่าวว่า วงการกล้วยไม้ของไทยตกอยู่ในสภาพเป็นพืชรองบ่อน ก็เพราะเหตุว่าตกอยู่ในสภาพซึ่งถูกเกลี่ยกล่อมให้เข้ามาให้ความร่วมมือแก่งานครั้งนี้แล้ว หลักปฏิบัติซึ่งรัฐควรกระทำก็คือ การรำลึกถึงบุญคุณรวมทั้ง ช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ตามเหตุและผลร่วมด้วย

แต่การที่ฉันไปพูดคุยกับคนในวงการ ส่วนใหญ่ร้องว่าได้ออกเงินค่าใช้จ่ายเป็นการล่วงหน้าไปคนละจำนวนไม่น้อย เช่น นายกสมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่ ซึ่งในอดีตเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารก็ได้ควักกระเป๋าตัวเองออกมาสำรองจ่าย จนกระทั่งบัดนี้ รอการที่จะรับเงินคล้ายต้นข้าวรอฝน

หลังฉันกลับจากเชียงใหม่มาถึงกรุงเทพฯ ในบ่ายวันอังคารที่ 16 มกราคม ก็มีชาวสวนกล้วยไม้หลายสิบคน ซึ่งฉันถือว่าเสมือนเป็นลูกหลานมาในระยะยาว เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่ฉันได้ทำให้กับเขานั้น คือการให้ใจจริงกับทุกคนมาโดยตลอด เขาทั้งหลายได้มาระบายให้ฟังว่าเช้าวันนั้น ได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับ เรื่องการช่วยเหลือค่าเสียหายจากภัยน้ำท่วม โดยที่การปล่อยน้ำชลประทาน คำนึงถึงความเสียหายของคนในเมืองมากกว่าเกษตรกร ซึ่งเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจของแผ่นดิน แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่กีดกั้นไม่ให้เข้าพบ พอดีรองนายกที่ดูแลในสายเกษตรผ่านมาพบเข้า จึงหยุดรถลงมาหาและรับหนังสือร้องเรียนเอาไว้

เขาเหล่านี้คือ กลุ่มชาวสวน ซึ่งนโยบายของรัฐควรให้ความสำคัญเหนือกว่าคนในเมืองที่เป็นเพียงส่วนปลายของสังคม แต่ว่าเท่าที่ผ่านมาแล้ว ภายในโครงสร้างของสังคมไทย มักลืมพื้นดินอันเป็นถิ่นเกิดของตัวเอง ดังเช่นที่เห็นได้ในขณะนี้ว่า ผู้คนจำนวนมากอยากตะเกียกตะกายขึ้นไปอยู่ด้านบนเพื่อหวังอำนาจและความมีหน้ามีตา แม้แต่สถาบันการศึกษาก็อยากเป็นมหาวิทยาลัยกันจนตัวสั่น

ผู้เขียน เคยฝากไว้ในข้อเขียนหลายครั้งหลายหน ด้วยคำถามที่ว่าขณะนี้เมืองไทยยังเป็นประชาธิปไตยกันดีอยู่หรือ? หรือว่าเพราะความลืมตัวจึงขาดการรู้ความจริงว่าปัจจุบันนี้ เราสูญเสียเอกราชและอธิปไตยในระดับพื้นฐานไปจนกระทั่ง แทบไม่มีอะไรเหลือเป็นแก่นแท้อีกแล้ว

หน้า 9<
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 13

โพสต์

ที่มา : มติชน วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10550

โอกาสที่ฉันปอกเปลือกชีวิตตัวเอง

โดย ระพี สาคริก



ภาพรวมที่เป็นสัจธรรมของวิถีชีวิตมนุษย์แต่ละคน หากนำมาจำแนกแยกแยะโดยใช้รากฐานจิตใจที่อิสระช่วยให้เปิดกว้าง ย่อมมองเห็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญได้ 2 อย่าง

อย่างแรกได้แก่จิตวิญญาณ ซึ่งควรถือว่าคือส่วนที่เป็นแก่นแท้ กับอีกด้านหนึ่งได้แก่ร่างกาย ซึ่งเราถือว่าน่าจะเป็นเปลือกนอก ในเมื่อร่างกายคือบ้าน อันเป็นที่อยู่อาศัยของจิตวิญญาณ จึงถือว่าด้านนี้เป็นเพียงสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลร่วมกับสิ่งแวดล้อมภายนอก


ทั้งนี้และทั้งนั้น เราควรถือว่าด้านที่เป็นร่างกายคือสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับจิตใจตัวเอง อีกทั้งยังมีอิทธิพลทำให้จิตใจของแต่ละคนมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างสรรค์หรือทำลายได้ง่ายกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด

อนึ่ง บุคคลใดที่เข้าใจว่าสภาพแวดล้อมคือสิ่งต่างๆ ซึ่งอยู่ภายนอก โดยไม่รวมเอาร่างกายตัวเองเข้าไว้ด้วย ย่อมถือได้ว่ามีจิตใจตกเป็นทาสอิทธิพลในด้านวัตถุ จนกระทั่งทำให้รากฐานจิตใจตนเองขาดอิสระ ซึ่งในปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังมีบทบาทอยู่ในสังคมเป็นส่วนใหญ่ แล้วเราจะหวังให้ความคิดซึ่งเป็นพื้นฐานการนำปฏิบัติมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร?

อนึ่ง ถ้ารากฐานจิตใจของบุคคลใด สามารถเข้าถึงความจริง ณ จุดนี้ได้ ย่อมควรแก่การยอมรับจากบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสังคมซึ่งดำเนินชีวิตอย่างรู้คุณค่าและความหมายได้อย่างลึกซึ้ง โดยที่ชีวิตคนซึ่งอยู่บนพื้นฐานดังกล่าว ย่อมเข้าใจความจริงได้ถึงแก่นแท้

อนึ่ง อิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอก ย่อมมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงของจิตใจคนมีโอกาสนำไปสู่ทิศทางที่สร้างสรรค์หรือทำลาย สุดแล้วแต่เงื่อนไขที่แฝงอยู่ในรากฐานจิตใจของแต่ละคน เป็นพื้นฐานกำหนด

สิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ควรถือได้ว่าคือหลักธรรมชาติของชีวิตมนุษย์แต่ละคน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากบทบาทการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายนอก ผลจากการจัดการ อันถือได้ว่าเป็นพื้นฐานกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตให้มุ่งไปสู่คุณภาพ หรือไม่ก็มีผลทำลายสุดแล้วแต่สภาพ อันเป็นเงื่อนไขที่อยู่ในรากฐานใจของแต่ละคนที่แตกต่างกัน

อนึ่ง วิถีชีวิตเราแต่ละคน ไม่ว่าจะมุ่งไปทางไหน และต้องพบกับความแตกต่างอย่างไร ควรมองเห็นโอกาสที่จะปอกเปลือกตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นร่างกายออกจากจิตใจ เพื่อหวังให้การเรียนรู้ สามารถรู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเปลี่ยนแปลงอยู่รอบด้าน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความจริงให้มั่นคงอยู่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้แต่การไปร่วมงานศพของบรรดาเครือญาติและมิตรสหาย ซึ่งทุกวันนี้แต่ละครั้งที่ฉันไปร่วมงานดังกล่าว มักมองเห็นโอกาสที่จะทำจิตใจให้สงบ และถือสภาพอันเป็นวัฒนธรรมและประเพณีที่จะใช้บรรยากาศดังกล่าว เพื่อพัฒนาจิตใจตนเองให้มองเห็นความจริงเกี่ยวกับชีวิตตนเองได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ ควรถือว่ามีผลกำหนดคุณภาพจิตใจตนเองให้มุ่งไปสู่การเรียนรู้ความจริงอย่างลึกซึ้งได้ทุกเรื่อง

บรรยากาศที่สะท้อนความจริงออกมาปรากฏ ย่อมช่วยให้เกิดจินตนาการบนพื้นฐานธรรมชาติ ทำให้สามารถมองเห็นสัจธรรมได้อย่างลึกซึ้งว่า "เนื้อหนังมังสาซึ่งในอดีตเคยมีรูปลักษณะเฉพาะตัว ทำให้มีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่าชังหรือน่ารักน่าใคร่" ควรช่วยให้สามารถเข้าใจลึกซึ้งลงไปอีกระดับหนึ่งว่า สภาพดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งซึ่งธรรมชาติได้สมมุติขึ้นมาเพื่อให้จิตใจตนเองมีโอกาสเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างอิสระ

ดังนั้น จึงควรถือว่าการเปลี่ยนแปลงของแต่ละส่วน ภายในองค์รวมของร่างกาย แม้จะตกอยู่ในสภาพซึ่งถือว่าเป็นครูสอนให้รู้ความจริงได้อย่างลึกซึ้งว่า การไปร่วมงานศพ ถ้าเป็นผู้ที่มีความรู้ได้ลึกซึ้งถึงระดับหนึ่ง ย่อมถือว่ามีพื้นฐานของการเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในสภาพจิตใจของแต่ละคนอย่างเสมอเหมือนกันหมด

"แม้แต่ความแตกต่างอย่างหลากหลายของร่างกายและเงื่อนไขที่อยู่ในจิตใจมนุษย์แต่ละคน แท้จริงแล้วก็คือเรื่องราวของสภาพชีวิตที่เป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น" หากขณะที่แต่ละคนยังมีชีวิตอยู่ ไม่ยึดติดอยู่กับความแตกต่างของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แม้แต่ความแตกต่างซึ่งเป็นภาพจากภายนอกระหว่างเพื่อนมนุษย์กับตนเอง

ย่อมเข้าใจได้ว่า สิ่งดังกล่าวเป็นเพียงภาพชั่วครั้งชั่วครู่เท่านั้น แม้ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนแปลงจากปีเก่าไปสู่ปีใหม่ หลายคนมักรู้สึกได้ถึงบุญคุณในอดีตของพฤติกรรมจากผู้เขียน จึงมักมีผู้คนเข้ามาขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง โดยที่ผู้เขียนก็ได้ยินยอมให้ ถ้าแต่ละคนเข้ามาหาตามปกติวิสัย

แต่ก่อนที่ตนจะให้พรใคร สิ่งแรกซึ่งจำต้องนำมาคิด โดยที่รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า พรที่แท้จริง ซึ่งควรหยั่งรู้ความจริงได้ว่า คือ พรสวรรค์ เช่นที่ทุกคนต่างก็มีอยู่ในรากฐานจิตใจอย่างเสมอเหมือนกันอยู่แล้ว เว้นไว้แต่ว่าคนที่ลืมตัว ย่อมไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่า ถ้าเราแต่ละคนเพียรพยายามนำปฏิบัติ จากใจตนเองอยู่ทุกขณะ ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่ อีกทั้งดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท ควรจะช่วยให้สามารถมองเห็นความจริงได้ถึงสัจธรรมของความแตกต่างระหว่างกันและกันได้อย่างชัดเจน

อีกทั้งยังรู้ความจริงต่อไปด้วยว่า การบรรยายถึงความแตกต่าง ซึ่งแท้จริงแล้วเกิดจากสภาพการเรียนรู้ซึ่งค้นหาได้ในโอกาสที่ชีวิตและร่างกายยังมีการเปลี่ยนแปลงร่วมกันอยู่เท่านั้น

ดังเช่นที่ฉันเคยเขียนบทความไว้เรื่องหนึ่งว่า "ถ้าแต่ละคนมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างคนที่ไม่เหมือนกัน ย่อมไม่มีโอกาสหยั่งรู้ความจริงได้ว่า คนเราต่างก็เหมือนกันอย่างเป็นธรรมชาติ"

ทำให้นึกถึงความจริงเกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิต อันควรถือเป็นสัจธรรมว่า ขณะที่ฉันยังเป็นเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งชีวิตยังไม่อาจเรียนรู้ได้ลึกซึ้งมากนัก ยังมีใบไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกเรียกชื่ออย่างกว้างขวางในหมู่เหล่าของนักเรียน ผู้ตกอยู่ในสภาพที่เป็นเด็กร่วมยุคสมัย โดยที่นิยมเรียกชื่อใบไม้ชนิดนี้ว่า "ใบคว่ำตายหงายเป็น" ซึ่งในทางปฏิบัติของเด็กๆ มักชอบเด็ดใบไม้ชนิดนี้มาใช้คั่นหนังสือ

ใบไม้ดังกล่าวมีลักษณะค่อนข้างแข็งและหนา อีกทั้งมีริมใบโดยรอบเป็นจักรๆ ถ้าเอามาวางคั่นหน้าหนังสือแล้วปิดเล่มทับเอาไว้ อีกไม่ช้าไม่นานนัก ถ้าเปิดกลับออกมาดูจะพบความจริงว่า ในแต่ละช่องของจักร ส่วนใหญ่มีต้นไม้ต้นเล็กๆ เจริญออกมา อีกทั้งยังมีใบมีราก ซึ่งพร้อมที่จะนำไปปลูกเป็นต้นที่สมบูรณ์พร้อมอีกครั้งหนึ่ง

สภาพการเปลี่ยนแปลงของชีวิตพันธุ์ไม้ดังกล่าว จากลักษณะใบที่หนามาก ย่อมช่วยให้รู้ความจริงได้ว่า ภายในตัวของมันเองมีการเก็บสะสมน้ำและอาหารเอาไว้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ทั้งที่เป็นโครงสร้างซึ่งควรถือว่าคือแกนกลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ร่วมกับเปลือกนอกที่ช่วยให้ใบไม้พันธุ์นี้มีรูปลักษณะที่สมบูรณ์ครบถ้วนภายในตัวของมันเอง

แม้ในอดีตจะเป็นของเล่นสำหรับเด็กๆ แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง ควรหยั่งรู้ความจริงได้ว่า มันเป็นของเล่นที่มีผลสร้างสรรค์ความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมะ หรืออีกนัยหนึ่งคือธรรมชาติของชีวิต ซึ่งมีทั้งของจริงและสิ่งสมมุติอันควรถือว่าเป็นเปลือกอยู่ภายในภาพรวมร่วมกัน ช่วยให้ชีวิตบังเกิดความสมบูรณ์ครบถ้วนในการดำรงอยู่อย่างสงบของทุกชีวิตและทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเราจะหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้สำหรับแต่ละช่วงชีวิตที่เกิดมาสู่โลก

สภาพการณ์เรียนรู้ของแต่ละคน ที่เริ่มต้นเกิดมาสู่โลก จนกระทั่งมุ่งไปสู่การแตกดับ อันเป็นสภาพที่จบสิ้นแล้ว แม้ความรู้สึกของผู้คนซึ่งชีวิตยังคงดำรงอยู่ และมีโอกาสเรียนรู้ความจริงให้ถึงที่มาที่ไปของตนเอง อันควรถือว่าเป็นสัจธรรม น่าจะช่วยให้เราแต่ละคนมีโอกาสหยั่งรู้ความจริงอย่างเป็นธรรมชาติได้ว่า ควรเห็นเป็นธรรมดาร่วมด้วย

สิ่งนี้หรือมิใช่ที่ช่วยให้เราแต่ละคนละจากความทุกข์ ทั้งจากบุคคลผู้ซึ่งเข้าถึงสัจธรรม และผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่จำเป็นต้องเรียนรู้ต่อไปเพื่อใช้โอกาสเรียนรู้ถึงความจริงให้ถึงที่สุด อย่างปราศจากความทุกข์ใจและความโลภโมโทสัน หากพยายามใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ

ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่มักสะท้อนภาพแนวโน้มดังเช่นที่กล่าวกันว่า หาความทุกข์มาใส่ใจตนเอง ซึ่งแท้จริงแล้ว หลายคนมักมองความทุกข์ โดยมุ่งมั่นออกจากตนเองไปสู่สิ่งซึ่งอยู่ในจิตใจผู้อื่น

แต่แท้จริงแล้วความทุกข์ที่กล่าวถึง ย่อมมีผลทำลายล้างตนเองอย่างเป็นธรรมชาติ แต่การมองด้วยทิศทางที่มุ่งออกจากตัวเองเป็นใหญ่ มันก็เกิดจากเหตุและผลที่กล่าวกันว่า เป็นลักษณะทางจิตใจของบุคคลผู้มีนิสัยเห็นแก่ตัว หรืออาจกล่าวว่า คือ ความเหมาะสมที่สอดคล้องกันกับสภาพธรรมชาติของเหตุและผลในคนส่วนใหญ่เช่นทุกวันนี้

สรุปจากแนวคิดข้อเขียนเรื่องนี้ ควรจะกล่าวได้ว่า คนส่วนใหญ่ในยุคนี้ขาดการพึ่งตนเอง อันควรมีสภาพที่อยู่ภายในรากฐานจิตใจของแต่ละคน จึงทำให้แม้แต่มีโอกาสสัมผัสกับร่างกายที่ไร้จิตวิญญาณแล้ว แทนที่จะช่วยให้ผู้มีโอกาสสัมผัสได้รับผลกระทบที่ช่วยสอนจิตวิญญาณตนเอง ให้เกิดความรู้ที่เข้าถึงความจริงได้ว่า แม้แต่รูปร่างหน้าตา รวมถึงสภาพของร่างกาย ต่างก็เป็นเพียงสิ่งเคลือบแฝง หรือเปลือกนอก อันควรถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเครื่องประดับภายนอกของมนุษย์ทุกคนเท่านั้น

ส่วนสิ่งที่เป็นของจริงน่าจะหมายถึงความจริง ซึ่งได้จากการปลงร่วมกับการปล่อยวางของมนุษย์แต่ละคนที่สามารถรู้เท่าทันต่อสภาพ ซึ่งตนพบเห็นอยู่ในขณะนั้น
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 14

โพสต์

วันที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10556

เพียงข้าวเมล็ดเดียว

โดย ระพี สาคริก




คติสอนใจที่มอบให้แก่ทุกคนรวมทั้งตัวเองด้วย

ในระหว่างฤดูเก็บเกี่ยวฤดูหนึ่ง แม้จะนานปีมาแล้ว ขณะที่ข้าวในท้องนากำลังสุกสะพรั่ง ลงเกี่ยวข้าวร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งแต่ฟ้าเริ่มสาง เมื่อถึงเวลาอาหาร ก็รับประทานกันอย่างง่ายๆ แล้วลงตะลุยเกี่ยวข้าวกันต่อไป จนกระทั่งตะวันพลบค่ำ ทำเช่นนี้เป็นประจำทุกวันจนตลอดฤดูกาล

ขณะนั้น รู้สึกว่าเราไม่ค่อยจะได้สนใจปรานีปราศรัยกับเมล็ดข้าวในรวงเท่าใดนัก เพราะระหว่างนั้น ข้าวกำลังอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าอากาศก็ยังแจ่มใสสดชื่น บางรวงที่แห้งกรอบแล้ว เมล็ดก็จะร่วงหล่นลงบนพื้นดินไปก่อนที่จะถึงลานนวดอย่างไร้ความหมาย

ค่ำลงเราก็เอาเคียวเหน็บเอว แบกจอบคู่มือกลับบ้าน ตอนกลางคืนก็ย้อนกลับมายังลานนวดจุดตะเกียงเจ้าพายุนวดข้าวกันต่อไปจนค่อนคืน ท่ามกลางความหนาวเหน็บของเดือนธันวาคม แล้วเราก็มองดูกองข้าวเปลือกกองใหญ่กลางลานนวดด้วยความพอใจในผลงานของตัวเอง หลังจากนั้น จึงเก็บใส่กระสอบ แบกเข้ายุ้งทั้งๆ ที่ยังไม่มีเครื่องจักรกลใดๆ มาช่วย

มองเห็นและพินิจพิเคราะห์ภาพจำนวนข้าวเปลือกทั้งกองทั้งฉางด้วย ความอิ่มเอิบใจในน้ำหนักที่ล่อตาล่อใจของเมล็ดข้าว ซึ่งมากมายมหาศาล จนกระทั่งลืมนึกถึงเมล็ดข้าวที่น่าสงสาร ซึ่งตกหล่นทิ้งขว้างอยู่ในไร่นาตอนนั้นทั้งๆ ที่ต้นข้าว ฟางข้าว รวงข้าว และเมล็ดข้าว ซึ่งหมายถึง ทุกส่วนของต้นข้าวต่างก็ได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงลงทุนจากใจของพวกเราอย่างเท่าเทียมกันหมด

ด้วยหลักเดียวกันนี้เอง ที่ปลูกฝังแนวคิดในขณะนั้น ซึ่งยังเป็นช่วงที่มีประสบการณ์น้อย เนื่องจากมีอายุน้อย โดยที่คิดว่าอะไรก็ตามที่มีอิทธิพลได้เปรียบเสียเปรียบในการล่อตาล่อใจ สิ่งที่เราได้สัมผัสมาแล้ว ทำให้รู้สึกพอใจไม่พอใจนั่นแหละ คือเรื่องใหญ่เรื่องเล็กที่อาจมีความสำคัญหรือไม่สำคัญทั้งสิ้น ภาพข้าวเปลือกกองใหญ่จึงมีส่วนในการฝังเอาทัศนคติแบบด้านเดียวให้แก่ตนเองว่า ข้าวก็จะต้องกองใหญ่ๆ อย่างนี้จึงมีความสำคัญ

นั่นคือประสบการณ์ที่ได้รับการปลูกฝังจากบรรยากาศธรรมชาติ ภายในปี พ.ศ.2483 ขณะที่เรียนอยู่แม่โจ้ โดยมีอายุเพียง 18 ปี เท่านั้น แต่ถ้าหากชีวิตไม่ได้สัมผัสกับของจริงเช่นนี้แล้ว ไฉนเลยจะนำไปสู่ภาพที่แท้จริงในอนาคตได้ แม่โจ้ในสมัยที่ผู้เขียนมีส่วนร่วมบุกเบิก จึงได้ให้บทเรียนชีวิตหลายสิ่ง หลายอย่าง

จนกระทั่ง ผ่านเข้ามหาวิทยาลัย ต่อมาอีก 5 ปี ซึ่งนับได้ว่ามีโอกาสดีกว่าคนอีกเป็นจำนวนมากมายทีเดียว

จบจากมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ธรรมชาติที่อยู่ในใจตนเองได้บอกให้รู้ความจริงว่าการเรียนรู้ชีวิต มันยังไม่จบสิ้น จึงสมัครออกไปทำงานในชนบทเพื่อใช้ชีวิตใกล้ชิดกับพื้นดินและชาวบ้าน โดยไม่สนใจว่าที่นั่นจะมีตำแหน่งราชการและอัตราเงินเดือนให้หรือไม่ แล้วก็เพลินอยู่กับงานแบบนี้ทำให้ได้รับบทเรียนอันมีคุณค่าต่อชีวิตตัวเองเพิ่มขึ้นไปอีกมากมายมหาศาล

ถัดมาปีหนึ่งในขณะที่ฝนฟ้าอากาศแปรปรวนแห้งแล้งจัด ต้นข้าวในนาซึ่งได้ไปร่วมมือปักดำกันกับชาวบ้าน จนกระทั่งเท้าทั้งสองข้างแช่น้ำเป็นวันๆ ในบรรยากาศของโคลนและปลิงที่กระหายเลือด พอข้าวเริ่มโต ความหวังซึ่งเพิ่งจะเริ่มต้นแต่ก็ได้ถลำลงไปแล้วทั้งแรงกายแรงใจ กลับทำให้รู้สึกว่าน้ำก็ขาดดินก็เริ่มแตกระแหง ต้นข้าวที่เคยเป็นความหวังก็เริ่มแคระแกร็นใบเหี่ยวเฉาจนม้วน

มันไม่มีชีวิตข้ามไปสู่ความสะพรั่งพรูด้วยรวงด้วยเมล็ดที่สวยงาม เช่นที่เคยยืนยิ้มอยู่ในความรู้สึกด้วยความภูมิใจ เหมือนภาพที่เคยสัมผัสที่แม่โจ้เมื่อปีก่อน

หันไปดูเจ้าของนาเพื่อนตนเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง เพราะเช่านาเขาทำก็อยู่ในฐานะที่เปรียบเสมือนต้นข้าว เพราะในปีก่อนๆ เคยลืมตาอ้าปาก แต่มันก็เพียงภาพเฉพาะหน้า

ปีนี้ ไหนจะค่าเช่านา ไหนจะเงินกู้ที่ต้องเสียดอกเบี้ย และยังมีดอกเบี้ยชีวิต ซึ่งต้องชำระโดยไม่เป็นตัวเงิน แต่ซ่อนเร้นอยู่ในส่วนต่างๆ ของการดำเนินกิจการ ทั้งของตนเองและครอบครัวอีกด้วย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เมื่อสัมผัสเข้าจริงๆ มันได้เข้าไปถึงส่วนลึกของหัวใจ จึงมีอิทธิพลเปลี่ยนทัศนคติของผู้เขียนในอดีต เพราะแทนที่จะมองเห็นแต่เพียงข้าวกองใหญ่ๆ ซึ่งมีเมล็ดที่สมบูรณ์ สีสันสวยงามก็ได้เริ่มมองเห็นและนึกถึง ข้าวเพียงไม่กี่เมล็ด ที่ตกหล่นร่วงลงสู่พื้นดินในระหว่างการเก็บเกี่ยวโดยไม่ปรานีปราศรัยและการขนไปตากไปนวด ว่ามันมีคุณค่า

เริ่มต้นเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า ชีวิตนี้หนอ หากพวกเรามัวแต่ปล่อยให้สิ่งล่อตาล่อใจทางวัตถุมันเข้ามามีอิทธิพลครอบงำจิตใจเราได้แล้ว ย่อมเห็นสิ่งต่างๆ เข้าใจสิ่งใด ไม่เพียงผิวเผินเท่านั้น หาได้ลงลึกถึงรากถึงโคนอย่างทะลุปรุโปร่ง เริ่มเห็นความสำคัญของข้าวเพียงเมล็ดเดียวว่า นั่นคือพื้นฐานอันแท้จริงของสิ่งนั้น ซึ่งก็ตรงกันกับหลักธรรมที่ว่า ทุกคนย่อมเป็นส่วนสำคัญของสังคมร่วมกันทั้งสิ้น

มักมีคนชอบถามผู้เขียนเสมอว่า เกิดที่ไหน?

ตอบทันทีว่า เกิดกลางใจเมืองกรุงเทพฯ และได้ใช้ชีวิตบางส่วนอยู่ในรั้วในวังด้วย

พ่อแม่ไม่เลี้ยงลูกให้ฟุ่มเฟือยหรืออยู่กับความสะดวกสบายมากนัก ซึ่งมาถึงขณะนี้เมื่อหันหลังกลับไปทบทวนดูแล้วคงต้องกราบขอบพระคุณท่าน เมื่อได้มีโอกาสสัมผัสกับชีวิตเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ในภายหลังอย่างกว้างขวางออกไปพอสมควร โดยสามารถเห็นภาพความจริงได้ว่า เรายังสบายกว่าคนอื่นๆ อีกมากมาย

สมัยหนึ่งในอดีต ขณะที่นั่งรับประทานอาหารอย่างเรียบง่าย และตามสบาย โดยที่ความเรียบง่าย ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า อาหารเรียบง่าย หากหมายความว่า คนซึ่งจิตใจที่พอเพียงแม้ตักข้าวใส่จานก็ไม่ได้คิด ไม่ได้ระวังว่ามันจะพอดีพอเหมาะหรือไม่ นึกจะอิ่มก็อิ่มเอาง่ายๆ เช่นกัน โดยไม่สนใจว่ามันจะเหลือในจานมากน้อยแค่ไหน รีบแต่จะเอาเวลาไปเล่นหรือไปทำงานอื่นๆ

ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ ข้ออ้างของคนเห็นแก่ตัวที่คิดว่า การสนใจกับเม็ดข้าวสุกเพียงเม็ดสองเม็ดมันไม่คุ้มค่าอะไร ซึ่งมันก็ถูกต้อง แต่ในสภาพที่เรามองแต่เพียงด้านวัตถุ

และเพื่อตนเองจึงไม่ได้เกิดปัญญาในทางสร้างสรรค์เท่าที่ควร

หลังจากนั้นมา ได้มีโอกาสที่จะเข้าร่วมกิจกรรมอาสาพัฒนาชนบทกับนิสิตรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งเติบโตขึ้นมาภายหลัง ทำให้สนใจศึกษาชีวิตตนเองร่วมกับคนเหล่านี้ว่า คือ อดีตของตนเองที่จะนำไปสู่อนาคตของสังคมของชาติและโดยหน้าที่ของคนทุกรุ่น โดยไม่ควรปล่อยปละละเลยเขา

จึงสมัครใจออกไปใช้ชีวิตในชนบทที่ทุรกันดารและมีเกษตรกรที่ยากจน ขาดน้ำ ขาดอาหาร อีกทั้ง ชุกชุมด้วยโรคภัยไข้เจ็บ แถมยังยากต่อการคมนาคม ซึ่งเชื่อมโยงถึงโลกภายนอก

ทุกปี ได้ไปกินไปนอนและร่วมทำงานสมผัสกับชีวิตเช่นนั้นจนถึงปัจจุบัน แม้ไม่ได้อยู่ในสถาบันการศึกษา เพื่อหาความรู้ความเข้าใจให้แก่ตนเองทำให้เริ่มเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า การฝังตัวเองอยู่แต่ในสภาวะการเรียนรู้ท่ามกลางดงวัตถุเพียงด้านเดียว อีกทั้ง ซึ่งเป็นที่ให้ด้านความสะดวกสบายในด้านวัตถุ ย่อมทำให้ชีวิตกับความคิดอ่าน และภาพที่เห็นที่เข้าใจต่อสังคม ขาดความสมบูรณ์ครบถ้วน แล้วเราจะคิดรับใช้สังคมอย่างเหมาะสมได้อย่างไร?

ในระหว่างเวลาว่างที่ไม่คิดว่างานว่าง จึงสมัครใจออกไปใช้ชีวิตในชนบทกับนิสิตเป็นประจำอย่างมีความสุข นอกจากนั้น การไปใช้ชีวิตในบรรยากาศอันแร้นแค้นเช่นนี้ ย่อมเป็นโอกาสซึ่งผู้ที่มีวิญญาณเป็นครูอย่างเป็นธรรมชาติ ย่อมได้ปฏิบัติตนอย่างดีที่สุดด้วยหลักการของชีวิตที่อยู่ร่วมกันด้วยคุณธรรม ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับชนรุ่นลูกๆ หลานๆ จะได้ยึดถือเป็นหลักและดำเนินรอยตามด้วยความมั่นใจ ตลอดจนรู้จักศึกษาและสร้างความเข้าใจระหว่างกันและกันในทางสร้างสรรค์ที่ดีด้วย

นอกจากการรู้ความจริงใจในตนเองด้วยบรรยากาศเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดกระแสในระยะยาว แม้ระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ยังพยายามออกไปใช้ชีวิตเช่นนี้

จึงมีความรู้สึกต่อไปอีกว่า ตนได้อะไรๆ หลายอย่างซึ่งมีคุณค่าสำหรับชีวิตตนเอง อีกทั้งยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นยิ่งได้ปฏิบัติติดต่อกันไปอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพที่น่าสนใจของข้าวสุกก้นจานก่อนที่จะอิ่มอันเป็นภาพที่กว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่า "เพียงข้าวสุกเม็ดเดียว" สีขาวๆ ลักษณะยาวรี และตีค่าตัวว่ามันไม่คุ้มค่าสำหรับคนอย่างเราที่จะไปเอาใจใส่กับมันเช่นที่เคยคิดและรู้สึกเหมือนแต่ก่อน

ได้เข้าใจชีวิตคนหลายแง่หลายมุม และทุกครั้งที่มีเม็ดข้าวสุกไม่กี่เม็ดนอนอยู่ก้นจานก่อนอิ่มข้าว ตนได้ระลึกถึงคุณธรรมและน้ำใจคน ซึ่งชีวิตเหมือนคนอย่างเราๆ นี้เอง แต่ก็ยังลำบากยากเข็ญต่อไปอีกมากมาย ซึ่งเขาควรจะได้รับความเข้าใจจากผู้ที่มีโอกาสดีกว่าบนพื้นฐานชีวิตที่แท้จริง และผู้มีโอกาสเหนือเขาควรจะได้ช่วยเพาะปลูกและบำรุงรักษา ชีวิตเขาเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้สามารถยืนขึ้นบนพื้นฐานของตัวเองอย่างภาคภูมิและสง่างาม

อีกทั้ง มีความเจริญทั้งในด้านจิตใจและร่างกายอันเหมาะสม ซึ่งเขาเหล่านี้แต่ละคนต่างก็คือ "ข้าวเมล็ดเดียว" ที่เราไม่ควรมองข้ามไปด้วยความรู้สึกดูถูกดูแคลนและคิดว่าเพียงข้าวเมล็ดเดียวเท่านั้น จึงไม่คุ้มค่าที่จะให้ความสนใจ!

ทุกมื้ออาหารที่นึกถึงข้าวเมล็ดเดียว มันเตือนสติให้เกิดจินตนาการมองเห็นภาพคนในความแร้นแค้น ที่พื้นดินอันคุณค่า ซึ่งควรจะมีความเขียวชอุ่มด้วยพืชพรรณธัญญาหาร จากคุณค่าชีวิตของคนเหล่านั้น ซึ่งเขาควรจะเป็นสมบัติอันมีคุณค่าต่อแผ่นดินเหมือนเรา

โดยที่คนเป็นตัวจักรกลสำคัญที่สุดที่จะทำให้พื้นดินมีผลิตผลอันอุดมสมบูรณ์ครบถ้วนขึ้นมาได้ คนไม่ใช่มีเพียงชีวิต ไม่ใช่มีแต่จิตใจ แต่มีวิญญาณที่สามารถทำให้เกิดความเหี่ยวแห้งไร้ค่า หรือสร้างความมีชีวิตชีวาลุกขึ้นมาทำงานได้อย่างเต็มที่ ถ้าชีวิตเขาได้รับโอกาสให้มีอนาคตในส่วนต่างๆ เท่าที่จำเป็น

ซึ่งถ้าหากแต่ละคนมองข้าวสุกเพียงเม็ดเดียว แต่ในด้านที่เป็นวัตถุ ก็อาจเห็นได้แต่เพียงว่า มันคือข้าวสุกเม็ดเดียวซึ่งตกอยู่ที่ก้นจานเท่านั้น

มันจะผิดจะชอบด้วยเหตุผลและความจริงหรือไม่ ลองคิดกันดูเถิดว่าข้าวทั้งชาม ข้าวทั้งยุ้ง ข้าวทั้งประเทศ และข้าวทั้งโลก ถ้าหากขาดข้าวแต่ละเม็ดซึ่งถ้าจะมองอย่างจำเพาะเจาะจงลงไป เห็นเพียงเมล็ดเดียว และคิดถึงมันเพียงหนึ่งเดียว ว่าไม่มีความสำคัญเสียแล้ว ถ้ามุ่งแต่มองไปยังกองใหญ่ๆ เท่านั้น ความฝันในการพัฒนา ก็คงได้ผลแค่เพียงว่า คือภาพของความฝันลมๆ แล้งๆ หรือไม่ก็ได้แต่สิ่งประดิษฐ์ โดยไม่มีวันที่จะได้ที่สิ่งที่แท้จริงขึ้นมาได้เลย

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสังคมส่วนรวมก็เช่นกัน หากฐานชีวิตของแต่ละคน ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์รวมของข้าวแต่ละเมล็ด แต่คนซึ่งถูกบรรยากาศสิ่งแวดล้อมทางสังคมสร้างมาจากมุมเดียว กลับถูกมองว่าเป็นเพียงข้าวเมล็ดเดียวเท่านั้น

ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ข้าวเมล็ดเดียวนี่แหละ เป็นกุญแจดอกสำคัญดอกแรกที่เราต้องสนใจศึกษาและทำความรู้จักให้ได้อย่างลึกซึ้ง โดยไม่มองด้วยการดูถูก หรือมองข้ามไปว่าเป็นเพียงชีวิตเล็กๆ ชีวิตเดียวเท่านั้น เพราะดุลระหว่างชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่าดุลทางเศรษฐกิจหรือสังคม และสิ่งต่างๆ มีจุดศูนย์กลางที่แท้จริงอยู่ที่จิตใจของแต่ละคนร่วมกัน ย่อมมีผลทำให้สังคมและบ้านเมืองมีความรักความสามัคคีตามที่แต่ละคนพึงปรารถนา

หลักในการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาสิ่งใดก็ตาม ก่อนที่จะได้มาซึ่งโครงสร้าง และวิธีดำเนินการ เราจำเป็นต้องรู้จักสิ่งที่เราเกี่ยวข้องดีพอในทุกๆ ด้าน

การมองเห็นสิ่งใดก็ตามเพียงด้านเดียว เมื่อมีการวางแผนดำเนินการแก้ปัญหาหรือพัฒนาสิ่งนั้น ย่อมมุ่งไปสู่ผลเพียงด้านเดียว และเป็นด้านที่ส่งผลทำลายในระยะยาว เพราะปัญหาต่างๆ มีส่วนเชื่อมโยงถึงกันทุกๆ ด้าน อีกทั้งด้านที่เป็นรากฐาน ซึ่งเรามักมองข้ามไปอย่างเป็นธรรมชาติ

ดังนั้น ก่อนการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ถึงชีวิตคนยากจนอันเป็นคนส่วนใหญ่ ผู้ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบตั้งแต่ระดับกำหนดนโยบาย วางแผน และดำเนินการ จำเป็นต้องรู้จักและเห็นความสำคัญของชีวิตคนยากจนในระดับพื้นดิน ตลอดจนมีความเข้าใจปัญหาของเขาในมุมที่มองมาจากเขาทั้งหลาย อย่างกว้างขวาง อีกทั้งมีความสมบูรณ์ในรูปแบบของปัญหาในทุกๆ ด้าน รวมทั้ง มองเห็นได้อย่างลึกซึ้ง มิใช่มองมาจากตนเอง มิฉะนั้นแล้วแนวคิดที่เหมาะสมย่อมไม่เกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นในลักษณะตรงกันข้าม คือผลจากการพัฒนาแทนที่จะพัฒนาให้ถึงคนยากคนจนเป็นส่วนใหญ่ กลับตกอยู่กับคนที่มีชีวิตสะดวกสบายอยู่แล้ว

ถ้าคนในชาติมีสิ่งดังกล่าวมาแล้ว อยู่ภายในจิตวิญญาณความรู้สึกร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ การพัฒนาชาติบ้านเมือง ก็คงนำไปสู่ผลสำเร็จตามเป้าหมาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 15

โพสต์

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10564

บ้านนี้เมืองนี้เป็นของใครกันแน่?

โดย ระพี สาคริก



ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงัดระหว่างช่วงเช้ามืดของวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2550 เวลาประมาณตี 4 ฉันตื่นขึ้นจากภวังค์เพราะเกิดความสงสัยขึ้นในใจ?

ฉันหวนกลับมาสำรวจตัวเองว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นภายในจิตใจเราเองหรือ? เนื่องจากมีคำพูดของคนในภาครัฐด้านหนึ่ง กับเสียงจากประชาชนอีกด้านหนึ่งในอดีตที่ไม่นานมากนัก ทำให้จำได้ดีอยู่เสมอ

เสียงดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในความทรงจำของฉันตลอดมา โดยเหตุที่ในช่วงนั้น หลายต่อหลายคนมักนำข้อความประโยคนี้มากล่าวย้ำ จนกระทั่งทำให้รู้สึกว่า "เปรียบเสมือนแผ่นเสียงตกร่อง" โดยที่ย้ำแล้วย้ำอีกว่า "ประชาชนทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการทุกสิ่งทุกอย่างในสังคม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานชุมชนท้องถิ่น!"

ขณะนี้ ฉันหวนกลับมาสำรวจตัวเอง ร่วมกับพฤติกรรมที่ปรากฏเห็นเป็นความจริงได้ทุกเรื่องว่า ประชาชนแต่ละคน หลังจากพบปัญหาต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในชุมชนท้องถิ่น มักมีแนวโน้มเรียกร้องให้ระบบการบริหารและจัดการภายใต้อำนาจรัฐ ซึ่งเรียกกันว่า "ราชการ" เข้ามาช่วยแก้ไข

แทนที่จะหวนกลับมาพิจารณาตัวเอง เพื่อหยั่งรู้ความจริงว่า มันเป็นหน้าที่ ซึ่งตนและผู้คนในชุมชนท้องถิ่นควรจะปฏิบัติอย่างไม่นิ่งดูดายรวมทั้ง ไม่คิดเกี่ยงงอนให้คนอื่นกระทำ แม้แต่การพูดถึงด้านที่เป็นราชการ ส่วนคนในภาครัฐ แทนที่จะสำนึกได้ถึงความจริงเรื่องนี้ ถ้ามองสู่มุมกลับแล้วเห็นว่า ผู้คนทั้งหลายกำลังสำนึกได้ถึงความรับผิดชอบ อีกทั้งหยั่งรู้ได้ว่าตนมีส่วนร่วมกันกับคนในภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่สร้างภาพรวมทั้งสองด้าน หากจากอดีตถึงปัจจุบัน ก็ยังฝังหัวความเชื่อเอาไว้อย่างลึกซึ้งว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ควรเป็นเรื่องของคนในภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารและจัดการฝ่ายเดียวเท่านั้น

ดังนั้น หลังจากเกิดปัญหาขึ้นในสังคม คนในภาครัฐผู้ถืออำนาจและทำหน้าที่บริหารประเทศร่วมกับประชาชน ซึ่งควรจะร่วมมือร่วมใจกับประชาชนผู้ใช้ชีวิตเดินดินธรรมดาๆ มักมีการโทษกันไปโทษกันมาอย่างหาที่สุดจุดจบ รวมทั้งเกิดการร่วมมือร่วมใจกันช่วยรักษาความมั่นคงของแผ่นดินถิ่นเกิดของตัวเองได้ยากยิ่งขึ้น

ทั้งๆ ที่ปากของหลายต่อหลายคน มักกล่าวย้ำซ้ำๆ ซากๆ ว่า ประชาชนควรมีส่วนร่วมกันแสดงความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของแผ่นดิน เพื่อหวังที่จะให้เกิดความรู้ความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างระหว่างกันและกันอย่างเป็นธรรมชาติ

ดังนั้น ทุกวันนี้ภาพที่สะท้อนออกมาปรากฏให้เห็นเป็นความจริงได้ คนในภาครัฐ หากเกิดความรู้สึกว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในสังคม ก็มักกล่าวหาประชาชนว่า "ก่อความวุ่นวาย" ส่วนคนในกลุ่มประชาชนซึ่งอยู่ในระดับที่ใช้ชีวิตเดินไปมาอยู่ที่พื้นดินก็มักกล่าวว่า ระบบราชการไม่คิดแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังให้แก่ทุกฝ่าย นอกจากนั้น จากพื้นฐานความรู้สึกที่ว่า คนในภาครัฐผู้ถืออำนาจบริหาร อีกทั้ง คุ้มครองปกป้องประชาชนมักถูกกล่าวหาว่ามีการใช้อำนาจในการบริหารและจัดการที่แสดงออกให้เห็นถึงความรู้สึกว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวควรมีหน้าที่ในการศึกษาและพัฒนาสังคมซึ่งตนมีส่วนร่วมอย่างเสมอเหมือนกันหมด

ในอดีตที่ผ่านพ้นมาแล้ว ขณะที่เกิดปัญหาขึ้นในสังคมไทย ผู้เขียนมักนำมาพูดบางครั้งก็สอดแทรกเอาความรู้สึกดังกล่าวเข้าไปไว้เพื่อให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง โดยที่หวังว่าจะให้แต่ละคนจากทุกฝ่ายมีการร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้เขียนได้เกิดความรู้สึกซึ่งนำมากล่าวไว้ในการดำเนินชีวิต อีกทั้ง สอดแทรกลงไว้ในการเขียนและการพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมยุคนี้ ก่อนที่จะนำความคิดเห็นออกมาใช้ปฏิบัติต่อคนในสังคมอย่างเป็นธรรมชาติ

โดยที่หวังว่าปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นภายในสังคมยุคนี้ ประชาชนทุกคนควรมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาพิจารณาให้ความสนใจค้นหาความจริง โดยประสานภาพจากแง่มุมต่างๆ ซึ่งอยู่ในสังคม เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิผล

อนึ่ง ถ้าจะใช้สัจธรรมเป็นพื้นฐานการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักธรรมชาติได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า "ทุกคนต่างก็เป็นคนเหมือนตน" ดังเช่นร้อยกรองบทหนึ่ง ซึ่งมีผู้ลิขิตฝากไว้ในอดีตว่า

คนเห็นคนเป็นคน นั่นแหละคน

คนเห็นคนใช่คน ใช่คนไม่

กำเนิดคนย่อมเป็นคนทุกคนไป

จะแตกต่างกันได้แต่ชั่วดี


ซึ่งร้อยกรองบทนี้ น่าจะช่วยให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้งว่า เป็นการมองตามแนวนอน แต่เท่าที่คนในสังคมส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตมาแล้วในอดีต มักถนัดที่จะมองตามแนวตั้ง อย่างที่เรียกกันว่า "ขึ้นไปติดอยู่บนหอคอยงาช้าง"

คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ จึงถนัดที่จะมองความแตกต่างทางวัตถุของแต่ละคน โดยถือว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผิดไปจากสิ่งที่ฉันเคยเขียนไว้ว่า "ถ้าไม่อาจมองเห็นความจริงได้ว่า คนเราต่างกัน ย่อมไม่อาจมองเห็นได้ว่าคนเราเหมือนกัน"

แม้แต่การปูพื้นฐานงานพัฒนาวงการกล้วยไม้ของไทย ตั้งแต่ในอดีต ฉันก็ได้ใช้สัจธรรมบทนี้เป็นพื้นฐานนับตั้งแต่ช่วงเริ่มแรก ดังจะพบความจริงได้ว่าเราสามารถจัดการพัฒนาบุคลากรในวงการกล้วยไม้ให้คนที่เป็นรัฐมนตรีร่วมกิจกรรมภายในทำงานการดำเนินการเกี่ยวกับกล้วยไม้ นอกจากนั้น ยังสามารถจัดการให้คนที่ดำรงตำแหน่งนายพล ระหว่างที่ประจำการโดยให้ทำงานกับพลทหารอย่างไม่รู้สึกแบ่งแยก ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่สามารถสืบทอดความรู้สึกดังกล่าวมาแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ นับว่าช่วยขับเคลื่อนวงการกล้วยไม้ไทยให้มีการพัฒนาตัวเองไปอย่างได้ผล

สรุปแล้ว ในสังคมปัจจุบัน ยิ่งเป็นกิจกรรมในด้านการเกษตรด้วยแล้ว เราควรปูพื้นฐานการพัฒนาเอาไว้ให้เกษตรกรชาวบ้านสามารถใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับข้าราชการและนักวิชาการถือเขาถือเรา ยิ่งเป็นผู้บริหารรวมทั้ง ผู้มีปริญญาสูงๆ ให้เป็นผลสำเร็จโดยปราศจากความรู้สึกนึกคิดที่มีการแบ่งแยกหรือรู้สึกรังเกียจอีกทั้งมีการดูถูกเหยียดหยามแฝงอยู่ในจิตใจคนที่ยืนอยู่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งมักถือว่าตัวเองมีความสำคัญเหนือกว่า

หากประเทศชาติสามารถจัดการให้ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมถอดเอาความรู้สึกแตกต่างบนพื้นฐานเปลือกนอกออกจากจิตใจได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเกษตรกรรมอันถือได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของ สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจโดยไม่ปล่อยให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกันและกันแล้ว คงไม่จำเป็นต้องไปเน้นความสำคัญในประเด็นอื่น หากช่วยให้สังคมไทยสามารถพัฒนาตนเองไปได้ในทุกๆ ด้านร่วมกัน เพื่อให้บังเกิดความมั่นคงภายในรากฐานรวมทั้งความเจริญรุ่งเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง

อนึ่ง ฉันขอสารภาพความจริงในเรื่องนี้ได้อย่างปราศจากข้อสงสัย ทั้งนี้และทั้งนั้น น่าจะมีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการที่ตนได้นำปฏิบัติด้วยตัวเองมาแล้ว จนกระทั่งนำเอาความจริงอันเป็นผลจากการปฏิบัติเข้าไปบรรจุไว้ภายในรากฐานจิตใจ และเมื่อคิดจะนำมาเขียน ย่อมสามารถค้นหาความจริงออกมาจากจิตตนเอง เนื่องจากมองเห็นผลในการนำออกมาเขียนให้เป็นที่เชื่อมั่นได้ อีกทั้ง ยิ่งเขียนมากก็ยิ่งได้รับความรู้เพิ่มมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 16

โพสต์

CopyWriter เขียน:ปีนี้แนะนำให้ดู รายการคนค้นคน ครับ

จะเสนอเรื่องพระดี คนดีทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ของประเทศ ไว้เป็นตัวอย่างให้คนทั้งชาติได้ดูได้ปฏิบัติตาม เช่น ท่านปัญญา

อ.ระพี ก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ รอชมสิครับ

คืนนี้รายการ "คน ค้น คน"

มาทำความรู้จักปราชญ์ของแผ่นดินอีกท่านหนึ่งคับ

บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย..

โปรดอย่าพลาด.. :wink:
121
Verified User
โพสต์: 843
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 17

โพสต์

ทำไมรายการดีๆทั้งหลายดึกเกินไป...สำหรับผม สำหรับเด็กๆด้วย
MarginofSafety
Verified User
โพสต์: 5786
ผู้ติดตาม: 0

วิธี ระพี สาคริก

โพสต์ที่ 18

โพสต์

เมื่อวานได้ดูครับ
ได้ยินแต่ชื่อท่านมานาน

ดูแล้วก็ทราบทันทีว่าท่านคือปราชญ์อีกท่านหนึ่งของแผ่นดิน
อายุ 80 กว่าท่านก็ยังทำงาน
ถึงแม้ว่าตาซ้ายเกือบบอดสนิท (ใช้งานได้แค่ 5%)
ส่วนตาขวาใช้ได้ประมาณ 60%

บุคลิกอบอุ่น แต่ดูมีอำนาจและพลังในตัวเอง ติดดิน ใกล้ชิดชาวบ้าน
น่านับถือมากครับ
"Winners never quit, and quitters never win."
โพสต์โพสต์