คนคือผลไม้

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

คนคือผลไม้

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คนคือผลไม้

ปราบดา หยุ่น





น้อยคนเขียนอย่างที่พูด น้อยคนพูดอย่างที่เป็น และน้อยคนเป็นอย่างที่รู้สึก

ในสังคมที่ใช้ระดับการศึกษาเป็นเครื่องมือก่อสร้างและสืบทอดวัฒนธรรม การใช้ภาษาสื่อสารระหว่างมนุษย์ถูกแบ่งออกเป็น ภาษาพูด และ ภาษาเขียน อย่างชัดเจน

ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่าคนส่วนใหญ่อาจมีวิธีพูดต่างกับวิธีเขียน (บางคนเขียนหนังสือแสนสุภาพ แต่พูดจาโคตรหยาบคาย บางคนนิยมใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ฉัน หรือ ข้าพเจ้า เมื่อเขียนหนังสือ เพื่อเพิ่มความขลังให้น้ำเสียง แต่ไม่ใช่ ผม หรือ กู ดังที่ใช้ในชีวิตจริง) สมาชิกของสังคมต่างยอมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานกฎเกณฑ์การแบ่งแยกเช่นนี้ โดยไม่ท้วงติงต่อต้านว่าเป็นวัฒนธรรมของการสวมหน้ากาก สร้างภาพลักษณ์ เสแสร้งจอมปลอม หรือเป็นการ เลือกปฏิบัติ แต่อย่างไร

ทั้งที่โดยแท้แล้ว การแบ่งแยกและกำหนดขอบเขตของการสื่อสาร คือการสร้าง เครื่องแบบ ให้ทุกคนสวมใส่เพื่อแสดงออกด้วยวิธีและทีท่าเดียวกัน แม้ว่าหลายครั้งจะเป็นการแสดงออกที่ผิดจากธรรมชาติหรือธาตุแท้ของผู้ใช้โดยสิ้นเชิง คนส่วนใหญ่กลับเห็นด้วยว่าภาษาเขียนสมควรแล้วที่จะต้องแตกต่างจากภาษาพูด

เป็นที่ยอมรับโดยพร้อมเพรียงกันว่ามันคือวิธี จัดระเบียบ สังคมและวัฒนธรรมที่เหมาะสม

นอกจากจะแบ่งแยกการเขียนกับการพูด ภาษาพูดในบริบท ส่วนตัว กับภาษาพูดในที่ สาธารณะ ก็ควรต่างกันด้วย โดยเฉพาะสำหรับบุคคลสำคัญในแขนงที่อาจมีอิทธิพล เป็นตัวอย่าง หรือเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น แม้จะมีอิสระพูดคุยกับคนใกล้ชิดด้วยภาษาแบบใดก็ได้ เมื่อต้องสังสรรค์ในที่สาธารณะ การใช้คำสบถหรือกระทั่งคำแสลงร่วมสมัยชิลชิล อาจทำให้ความน่าเลื่อมใสในตัวพวกเขาลดฮวบลงทันที

การใช้ภาษาในที่สาธารณะยังมีระดับความหนักเบาต่างกันตามการเปลี่ยนของบริบท ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือการใช้ภาษาของนักการเมือง เมื่อเผชิญหน้ากับสื่อมวลชน พวกเขาจำเป็นต้องใช้คำพูดสุภาพ รัดกุม และน่าเชื่อถือ (ซึ่งมักทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นการสื่อสารวกวน ไม่ได้เรื่อง เพราะต้องระมัดระวังไม่ให้การโป้ปดหลุดหล่นออกมาจากปากอย่างประเจิดประเจ้อจนเกินไป) แต่ในวาระเดินสายหาเสียง ขึ้นเวทีปราศรัยต่อหน้ากลุ่มคนหรือชุมชนเล็กๆ วิธีพูดของพวกเขาอาจเปลี่ยนเป็นดุเดือดเผ็ดร้อน วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามด้วยอารมณ์และภาษาที่หยาบคายรุนแรง ทั้งด่าว่า ท้าทาย ใส่ร้ายป้ายสี โดยไม่เหลือคราบของความสำรวมเหมือนเมื่อคราวเสนอหน้าในจอโทรทัศน์อยู่เลย

และแน่นอน เมื่อพวกเขาสังสรรค์กันเองระหว่างพรรคพวก วิธีพูดยิ่งต่างจากสำนวนที่ใช้กับสื่อและเมื่ออยู่บนเวที

จึงไม่แปลกที่นักการเมือง (ไม่เว้นกระทั่งนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะนายกฯปากเปราะอย่างทักษิณ ชินวัตร) จะเรียกฝ่ายตรงข้ามว่า คุณ เมื่อออกรายการโทรทัศน์ เรียกคนเดียวกันนั้นว่า ไอ้ เมื่อปราศรัยหาเสียง แล้วอาจเติม เหี้ยตาม ไอ้ เข้าไปอีก เมื่อเอ่ยถึงคนคนเดิมขณะซดหูฉลาม*กับเพื่อนฝูง

ไม่เพียงนักการเมือง เราเกือบทุกคนต่างปฏิบัติเช่นนี้ ผู้เขียนก็ไม่ได้เรียกท่านนายกฯว่า ท่าน หรือ เขา เสมอไป (และผู้เขียนก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่า ผู้เขียน ในชีวิตจริง ผู้เขียนไม่รู้ว่าเหตุใดในบริบทนี้ผู้เขียนจึงเลือกที่จะเรียกตัวเองว่าผู้เขียน แต่ในเมื่อใช้ไปแล้ว ผู้เขียนคงต้องเป็นผู้เขียนต่อไปจนจบ เพื่อความเสมอต้นเสมอปลายในการเขียนของผู้เขียนครั้งนี้)

ในสังคมและวัฒนธรรมที่เน้นย้ำรณรงค์เรื่องความซื่อตรง จริงใจ โปร่งใส และเสมอภาค เรากลับประพฤติตามกฎกำหนดที่ตรงข้ามกับ ความดี ในอุดมคติเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง ทุกคนเห็นว่าการ แยกปฏิบัติ คือความ จำเป็น ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เราต่างยอมรับว่าความหยาบคาย อคติ และความรู้สึกรุนแรง เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนมีสิทธิ์แสดงออกได้หากอยู่ในพื้นที่เฉพาะเหมาะสม แต่จะเสียมารยาท อาจถึงผิดบาปร้ายแรง หากปลดปล่อยออกไปในพื้นที่สาธารณะ

นั่นหมายความว่า เงื่อนไขทางสังคมบังคับให้มนุษย์ติดนิสัยเสแสร้งแกล้งทำไปโดยปริยาย และความ ตรงไปตรงมา ไม่ใช่คุณสมบัติที่มนุษย์ต้องการอย่างแท้จริง

นั่นหมายความว่า สังคมมนุษย์คือสังคมของการ เลือกปฏิบัติ โดยธรรมชาติ และไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะหลอกตัวเองว่าสามารถกำจัดคุณสมบัติข้อนี้ให้หายไปได้

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการบ่มเพาะนิสัยแบ่งแยกขั้นตอนและจำแนกวิธีปฏิบัติระหว่าง ตัวเอง กับ สังคม ให้กับปัจเจกชนอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุดประเทศหนึ่ง สมาชิกทุกคนในสังคมถูกคาดหวังให้สำนึกว่าตนเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆที่ขับเคลื่อนทุกอย่างไปพร้อมกัน ดังนั้น คนญี่ปุ่นจะต้องคำนึงถึง องค์กร หรือ กองทัพ เป็นหัวใจสำคัญที่สุด แม้ว่าความต้องการหรือทิศทางขององค์กรจะขัดแย้งกับ ตัวตน ของปัจเจกชนผู้นั้นเพียงไรก็ตาม

ทาเทมาเอะ (建前) กับ ฮอนเนะ (本音) คือคู่ศัพท์ที่คนญี่ปุ่นใช้อธิบายปรากฏการณ์วัฒนธรรมของพวกเขา การบัญญัติคู่ศัพท์ขึ้นอธิบายพฤติกรรม แยกร่าง อย่างเป็นทางการเช่นนี้ ย่อมแสดงว่าเป็นข้อตกลงฝังลึกที่สังคมยอมรับแล้วว่ามีประโยชน์ในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

ทาเทมาเอะ แปลตรงตัวว่า ด้านหน้า หรือ รูปลักษณ์ภายนอก และ ฮอนเนะ คือความรู้สึกหรือความต้องการส่วนตัวที่อยู่ภายใน คำแรกคือการประพฤติตามความคาดหมายของสังคม เช่น พนักงานบริษัทคือหน้าตาและปากเสียงขององค์กร ไม่ว่าจะไปไหน พูดจาอะไร ต้องคำนึงว่าทุกสิ่งที่ทำคือการกระทำของบริษัททั้งสิ้น ดังนั้น ทิศทางของความประพฤติจึงต้องดำเนินไปในลักษณะที่สร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทเท่านั้น

ทว่าเมื่อเลิกงานหรือนัดเพื่อนฝูงไปนั่งซดเบียร์เลียเหล้า นั่นคือเวลาที่ทุกคนสามารถเปิดเผย ฮอนเนะ ของตนออกมา จะบ่นด่าว่ากล่าวหัวหน้าในบริษัทหรือผู้ร่วมงานอย่างไรก็ได้ ไม่มีใครว่า ไม่มีใครเสียหายนอกจากตัวผู้ระบายเอง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าวัฒนธรรมนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ผลักดันให้มนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากนิยมสังสรรค์กันอย่างหนักหน่วงเกินเหตุ หลังจากต้องเก็บกดและกักกั้นตัวเองมาทั้งวัน ชาวต่างชาติอาจรู้สึกว่าเพื่อนญี่ปุ่นของพวกเขามีพฤติกรรมแตกต่างกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ระหว่างการปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานและการเฮฮาปาร์ตี้กับพรรคพวก โดยไม่เข้าใจว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้มีนิสัยปลิ้นปล้อนหลอกลวงแต่อย่างไร พวกเขาเพียงกำหนดตัวเองไว้ภายใต้กฎของ ทาเทมาเอะ กับ ฮอนเนะ ตามธรรมเนียมที่สืบทอดมานาน

ในมุมมองของวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่ส่งเสริมความต้องการแบบ กู เกี่ยวกับกู และ ของกู (I, Me, Mine) วัฒนธรรมแยกร่างแบบญี่ปุ่นมักถูกประณามว่าวิปริตพิสดาร กดขี่ความเป็นปัจเจกอย่างโหดร้ายทารุณ แต่ในความเป็นจริง ทุกวัฒนธรรมต่างก็มีการสนับสนุน ทาเทมาเอะ และ ฮอนเนะ จะต่างกันก็ที่ปริมาณและรูปแบบเท่านั้น

เมื่อไรก็ตามที่ปัจเจกชนในสังคม อิสระ หรือในสภาพแวดล้อมแบบ ประชาธิปไตย ออกปากคะยั้นคะยอให้ทุกคน เป็นตัวของตัวเอง ใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้งและเป็นเกณฑ์ตัดสิน หรือ ซื่อสัตย์กับตัวเอง ความหมายที่แท้จริงคือ เป็นตัวของตัวเองตามความเหมาะสมและไม่น่าหมั่นไส้ในสายตากู ใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้งและเป็นเกณฑ์ตัดสิน แต่ถ้าเป็นความรู้สึกที่ไม่ตรงกับความรู้สึกของกู กูก็ไม่สนว่ามึงจะรู้สึกอะไร และ ซื่อสัตย์กับตัวเอง แต่ถ้าความซื่อสัตย์ของมึงไม่รื่นในหูและไม่น่าดูในสายตาของกู มึงก็อย่าซื่อสัตย์จะดีกว่า

ธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันไม่อนุญาตให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเองได้อย่างหมดจด ถึงแม้สังคมสมัยใหม่จะพยายามปลุกปั่นรณรงค์ว่าวัฒนธรรมที่ เจริญ แล้ว คือการให้อิสระ ให้สิทธิ์ให้เสียงกับสมาชิกทุกคนเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ สภาวะที่แท้จริงไม่เคยเป็นเช่นนั้น และจะไม่มีวันเป็นเช่นนั้นได้เลย

การแยกร่างและการเลือกปฏิบัติ จะคงเป็นพฤติกรรมธรรมชาติในการเข้าสังคมของมนุษย์เสมอ ตราบที่ความรู้สึกแบ่งแยกระหว่าง ตัวเอง กับ คนอื่น ยังมีอยู่

ตราบที่เรายังมองเห็นเงาสะท้อนในกระจก และรับรู้ว่ามนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน

ความน่าขันในความเป็นมนุษย์ คือเราต้องการเป็นไปเสียทุกอย่าง ทั้งที่คุณสมบัติหลายอย่างอาจขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง เราต้องการให้สังคมเต็มไปด้วยความซื่อตรงโปร่งใส เราสนับสนุนให้เยาวชนกล้าคิด กล้าเสนอ กล้าแสดงออก และกล้าบอกในสิ่งที่พวกเขารู้สึก เราต่อต้านการแบ่งแยกเหยียดหยามระหว่างกลุ่มคนที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน และเรายืนยันว่าทุกคนเกิดมาด้วยสิทธิ์ทัดเทียมกันในความเป็นมนุษย์ ทว่าแก่นกลางทางโครงสร้างต่างๆของวัฒนธรรมในเกือบทุกสังคม นับตั้งแต่กฎเกณฑ์การใช้ภาษาไปจนถึง รหัสปฏิบัติ ในที่สาธารณะ ล้วนถูกออกแบบขึ้นพร้อมกรอบกำหนดละเอียดซับซ้อน ที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยก และสนับสนุนการเลือกปฏิบัติแทบทั้งสิ้น

นักตรวจสอบจริยธรรมของโลกมักพร้อมใจประณามความ ปลิ้นปล้อน ตักเตือนให้สมาชิกในสังคมเลิกประพฤติตัว หน้าไหว้หลังหลอก หรือ มือถือสากปากถือศีล โดยลืมคิดไปว่า กฎระเบียบบังคับหลายต่อหลายข้อที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อดูแลศีลธรรมและจริยธรรมของมนุษย์ให้อยู่ในความสงบ ล้วนมีความ ปลิ้นปล้อน เป็นส่วนประกอบสำคัญ เพียงแต่ว่าเราเลือกที่จะเรียกมันว่า มารยาท ความสุภาพสำรวม และการเป็น คนดีของสังคม

เมล กิ๊บสัน (Mel Gibson) ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ผู้สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงบันเทิงด้วยการแสดงออกถึงความคลั่งศาสนาคริสต์ของตัวเขาเองอย่างโจ่งแจ้ง (โดยเฉพาะในการกำกับภาพยนตร์เรื่อง The Passion of the Christ เมื่อปี ค.ศ. 2004) กลายเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับข้อหาขับรถขณะเมาสุรา ในเขตมาลิบู เมืองลอส แองเจลิส

ด้วยความเมามายและไม่พอใจที่ถูกตำรวจจับ เมล กิ๊บสัน ตีโพยตีพาย โวยวายอวดอ้างว่าเขา เป็นเจ้าของมาลิบู (อารมณ์ประมาณ มึงรู้หรือเปล่าว่าพ่อกูเป็นใคร ที่ลูกนักการเมืองนิยมใช้กันแพร่หลาย) ก่อนจะระบายความในใจแบบคนเหยียดเชื้อชาติว่า ไอ้พวกเหี้ยยิว...ชาวยิวคือต้นเหตุของทุกสงครามในโลก แล้วถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า มึงเป็นยิวหรือเปล่า เท่านั้นไม่พอ เขายังแสดงพฤติกรรมกดขี่ทางเพศกับเจ้าหน้าที่หญิง ด้วยคำพูดที่ คนดีๆ ไม่ใช้กัน (Sugar tits หรืออาจแปลคร่าวๆได้ว่า น้องสาวนมหวาน)

เมื่อได้รับการประกันตัวออกจากโรงพักไปเรียบร้อยแล้ว กิ๊บสันรีบร่างจดหมายขอโทษขอโพยสาธารณชนทันที เขาอ้างว่าความเมา (เขายอมรับว่าตัวเองเป็นแอลกอฮอลิก) ทำให้เขา ควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงก่อเรื่องน่าอดสูลงไปโดยไม่ตั้งใจ

และสำหรับสิ่งที่พูดออกไปนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่เขา ไม่เชื่อว่าเป็นจริง

เป็นที่รู้กันอยู่ สุรามีชื่อเล่นว่า น้ำสารภาพ

โดยทฤษฎีของความเป็นมนุษย์สมัยใหม่ ทุกคนมีสิทธิ์เลือกเชื่อและเลือกใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ ทว่าความเชื่อหลายต่อหลายชนิด เป็นที่เข้าใจร่วมกันว่าไม่สมควรเชื่อ ไม่สมควรเป็น และการเหยียดเชื้อชาติก็เป็นหนึ่งในมุมมองต้องห้ามทางสังคมอันดับต้นๆ คนอย่างเมล กิ๊บสัน ยิ่งอยู่ในสถานะที่ต้อง ปลิ้นปล้อน เป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีของโลกมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป เขาไม่สามารถเปิดเผย ฮอนเนะ ของตัวเองได้ ไม่ว่าในบริบทใดก็ตาม เพราะเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกสังคมรังเกียจ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่ออาชีพของเขาอย่างแน่นอน

การมี ตัวตน ลึกๆ ที่มีคุณสมบัติขัดแย้งกับทีท่าภายนอกอย่างน่าแปลกใจ เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนอย่างเมล กิ๊บสัน คนดีๆอีกจำนวนมากต่างเก็บกักความเชื่อและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองเอาไว้โดยไม่สามารถบอกเล่าให้ใครฟังได้ แม้กระทั่งคนสนิทที่สุด

การเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ (ไอ้มืด ไอ้หมึกเป็นโจรทุกคน ไอ้พวกเจ๊กเอาแต่ค้าขายไร้วัฒนธรรม ไอ้แขกขี้โกงตัวเหม็น ไอ้ฝรั่งมังค่าเข้ามาล่าเมืองขึ้น อีนั่นสาวไทยสงสัยเป็นกะหรี่ ระวังไอ้มุสลิมนี่จะก่อการร้าย ฯลฯ) การเหยียดรสนิยมทางเพศ (อีพวกตุ๊ดจิตวิปริต ไอ้พวกทอมเอาแต่ทำตัวเลียนแบบผู้ชาย อยู่ใกล้เกย์ระวังติดเอดส์ ฯลฯ) การกดขี่ทางเพศ (เป็นเมียก็ต้องปรนนิบัติกูสิวะ พวกผู้หญิงอ่อนแอจะมีปัญญาทำอะไรได้ ผู้ชายเห็นแก่ตัว เจ้าชู้เหมือนกันหมดทุกคน สำส่อนไม่รู้จักพอ ฯลฯ) การมีอคติกับฐานะและสถานะ (ไอ้พวกผู้ดีทำอะไรก็ดัดจริต ไอ้พวกไฮโซใช้ชีวิตฉาบฉวย ไอ้พวกลูกคนรวยไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้จะไปรู้อะไร อี๋...ไอ้พวกคนจนติดยา เดี๋ยวมันก็มาขอเงินกูใช้อีก ฯลฯ) การแบ่งแยกทางระดับสติปัญญา (ความรู้แค่นั้นจะเข้าใจอะไรได้ ไอ้พวกนักวิชาการ ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด นักเรียนนอกไม่มีวันเข้าใจเมืองไทย ฯลฯ) เหล่านี้และอีกมากมาย ล้วนเกิดขึ้นได้ในตัวตนของคนที่ภายนอกอาจประพฤติปฏิบัติตามมารยาทและความเชื่อของสังคมทุกกระเบียดนิ้ว พวกเขา (หรือ พวกเรา) ไม่มีวันยอมรับความเชื่อที่แท้จริงต่อหน้าสาธารณชนเด็ดขาด นอกเสียจากว่าความเชื่อเหล่านั้นจะบังเอิญกำลังเป็นกระแสนิยมพอดิบพอดี หรือเมื่อต้องพบเผชิญแบบตัวต่อตัวกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวตน ที่แท้ หลายครั้งถูกปกปิดอยู่ลึกกว่าด่านของ ฮอนเนะ ด้วยซ้ำ เป็นความเชื่อที่ไม่สามารถแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับใคร นอกจากตัวเอง

มนุษย์ในสังคมจึงมีตัวตนมากกว่าด่าน นอก และ ใน มากกว่าสองชั้น มากกว่า ทาเทมาเอะ กับ ฮอนเนะ

เรามีเปลือก มีเนื้อ

และลึกไปกว่านั้น เรามีเม็ด เหมือนผลไม้

เปลือกสำหรับสายตาสังคมที่เพ่งมองด้วยการบังคับและคาดหวัง เนื้อคือรสชาติภายในของตัวตนที่คนใกล้ชิดสามารถลิ้มลอง เม็ดคือการเก็บงำความลับอย่างรัดกุมและหลีกหนีไปไหนไม่พ้น

เห็นเปลือกจึงรู้ว่าเป็นคนประเภทใด ได้ชิมเนื้อจึงเข้าใจว่าเป็นคนอย่างไร

เม็ดมักมีรสขม ถูกทิ้งขว้าง

ที่น่าขำก็คือ เม็ดเป็นส่วนเดียวที่มีความเป็นไปได้ในการให้กำเนิดชีวิตใหม่ เม็ดเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างวัฏฏะให้วัฒนธรรมมนุษย์

แม้ว่าบางเม็ดจะเต็มไปด้วยคุณสมบัติที่น่ารังเกียจ

และเป็นศัตรูตัวร้ายที่สุดของสังคมก็ตาม




(*ดูเหมือนนักการเมืองไทยจะไม่ยอมรับรู้ว่าการกินหูฉลามไม่ใช่เรื่องควรปฏิบัติอย่างโจ่งแจ้งอีกต่อไป เพราะถือเป็นการสนับสนุนให้ฉลามถูกตัดครีบอย่างทารุณ ทำให้ฉลามต้องตายเป็นจำนวนนับร้อยล้านตัวต่อปี และมีความเป็นไปได้ที่จะสูญพันธุ์ภายในยี่สิบปีข้างหน้า เพียงเพราะมนุษย์ (โดยเฉพาะชาวจีน) ยึดติดความเชื่องมงายโง่เง่าที่สืบทอดมาแต่โบราณ)
Ano
Verified User
โพสต์: 306
ผู้ติดตาม: 0

คนคือผลไม้

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ชอบอ่านที่ปราบดา หยุ่นเขียนคับ  มองต่างมุมดี
โพสต์โพสต์