ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
Gross National Happiness is more important than Gross National Product.
(ความสุขของประชาชนสำคัญกว่าผลผลิตรวมของประชาชาติ)
ประโยคนี้พระเจ้า Jigme Wangchuck กษัตริย์ภูฏานองค์ปัจจุบัน กล่าวในวันเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2515
พระราชดำรัสของกษัตริย์ภูฏาน ไม่ใช่เป็นแค่คำพูดเพราะๆ ธรรมดา แต่เป็นหลักการที่พระองค์และคณะรัฐมนตรี ใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโดยใช้หลักศาสนาพุทธเป็นที่ตั้ง ซึ่งกำลังก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมอันน่าติดตามอย่างยิ่ง
ตอนนี้หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจโลกตะวันตกทั้งหลาย กำลังหันมาสนใจเรื่องนี้กันแล้ว เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ห่างขึ้น และคุณภาพชีวิตตกต่ำ ล้วนทำให้เราเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า GNP หรือ GDP เป็นตัววัด ความเจริญ ที่แย่มากสำหรับโลกปัจจุบัน เพราะวัดการ สะสมด้านวัตถุ เพียงมิติเดียวเท่านั้น แถมเป็นด้านวัตถุที่ถูกครอบงำโดยบริษัทและภาครัฐอย่างสิ้นเชิงด้วย เพราะไม่รวมกิจกรรมของผู้ที่อยู่ในinformal economy - เศรษฐกิจชายขอบ ซึ่งไม่มีรายได้ประจำ และไม่ได้รับการปกป้องทางกฎหมายใดๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้ารถเข็น กรรมกรรายวัน ฯลฯ (เศรษฐกิจชายขอบของไทยมีมูลค่า กว่า 50% ของเศรษฐกิจรวม)
นอกจากนี้ GNP/GDP ก็ไม่สามารถแยกแยะระหว่างสินค้า ดี และ เลว (เช่น ปืน มีด รวมทั้งค่าจ้างของที่ปรึกษาเฮงซวยทั้งหลาย เช่น ทนายที่หาช่องโหว่ของกฎหมายให้คนเลว หรือสถาบันการเงินที่หาวิธีต้มตุ๋นนักลงทุนให้ลูกค้า เช่นกรณีอื้อฉาวของ Enron) ออกจากกันได้ ดังนั้นปีไหนปืนขายดี (ซึ่งอาจทำให้สถิติการปล้นฆ่าสูงขึ้น) หรือปีไหนธุรกิจทนายรวยขึ้นเพราะมีลูกค้ามาจ้างทนายเลวๆ ให้แนะวิธีโกง ตัวเลข GDP ของประเทศก็ยังคงสูงขึ้น ทั้งๆ ที่สินค้า เลว เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม
ใน 50 ปีที่ผ่านมา รายได้ของชาวอเมริกันสูงขึ้นสามเท่า แต่คนไม่ได้รู้สึกมีความสุขมากกว่าเดิม ผลการวิจัยในเศรษฐศาสตร์ความสุข(happiness economics) เศรษฐศาสตร์แขนงใหม่มากๆ ก็กำลังชี้ให้เห็นว่า เงินอย่างเดียวซื้อความสุขไม่ได้ มีปัจจัยอื่นๆ มากมายที่ผลต่อความสุขของคนสมัยใหม่ เช่น ความรัก สุขภาพจิต ความรู้สึกปลอดภัย ระดับรถติด ระดับมลพิษ ฯลฯ
เพราะฉะนั้นการที่ GDP ของเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี อาจเป็นข่าวดีส่วนน้อยเมื่อเทียบกับข่าวร้ายส่วนใหญ่ และเมื่อการใช้จ่ายเงินของภาครัฐเป็นส่วนประกอบหนึ่งของ GDP แปลว่าเมื่อไหร่รัฐบาลอยากโชว์ผลงาน ก็แค่อัดเงินลงไปเยอะๆ GDP ก็ขึ้นเอง แม้ชาวนาจะได้แค่น้ำเชื้อวัว ไม่ใช่วัวเป็นตัวๆ อย่างที่รัฐบาลประกาศ และการ หว่านเงิน ของรัฐบาลก็อาจทำให้ประเทศชาติ ถังแตก ได้ง่ายๆ เพราะเป็นการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย (เช่น กระตุ้นให้คนไปซื้อมือถือ) ไม่ใช่การลงทุนที่จะให้ผลอะไรที่ยั่งยืนในระยะยาว
ก่อนจะนอกเรื่องไปเป็นการด่ารัฐบาลล้วนๆ ขอรีบวกกลับมาเรื่อง Gross National Happiness (GNH) ของภูฐานดีกว่า
ภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่วัดความเจริญของประเทศด้วยหลักการ GNH แสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งประกอบด้วยการสร้างสมดุลระหว่างความเจริญด้านวัตถุและความเจริญด้านจิตใจ ในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ในปี 2541 รัฐบาลภูฏาน (ประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) พระมหากษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีถวายคำปรึกษา) ประกาศแผนพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แผนนี้ตั้งอยู่บนหลักการ Four Pillars of Happiness (สี่เสาหลักแห่งความสุข) คือ:
การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (sustainable economic development)
การรักษาสภาพแวดล้อม (conservation of the environment)
การส่งเสริมวัฒนธรรมประจำชาติ (promotion of national culture)
ธรรมาภิบาลที่ดี (good governance)
แม้ภูฏานจะยังไม่มีวิธีวัดค่า GNH อย่างเป็นทางการ (คงต้องรอผลจากการเสวนาเรื่องนี้ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี) แต่นโยบายเศรษฐศาสตร์ นอกกระแส ของภูฏาน กำลังเกิดผลในทิศทางที่ดีโดยรวม ตัวอย่างเช่น ภูฏานมีนโยบายปลูกป่าทดแทนอย่างเคร่งครัด ทำให้ยังมีป่ากว่า 70% ของประเทศ แม้จะมีการตัดถนนอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปีแล้ว นอกจากนี้ก็จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ด้วยโควต้าคนและภาษีท่องเที่ยวที่แพงลิบลิ่ว (US$200 ต่อคนต่อวัน) เพราะไม่ต้องการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเป็นแสนๆ เข้าไปทำลายความบริสุทธิ์ของป่าเขา หรือความเงียบสงบของวัด อีกตัวอย่างที่น่าคิดคือ เมื่อไม่นานมานี้หมู่บ้านหนึ่งติดตั้งไฟฟ้าให้ทุกบ้าน แต่เมื่อค้นพบว่านกกระเรียนหลายตัวบินไปติดสายไฟฟ้า ถูกไฟช็อตตาย ชาวบ้านก็พร้อมใจกันถอนเสาไฟฟ้าออกหมด แล้วหันมาใช้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แทน
ยอมลดระดับเทคโนโลยีลงมา เพราะไม่ต้องการเห็นนกกระเรียนถูกฆ่า นี่เป็นตัวอย่างของการหาจุดสมดุลระหว่างคุณธรรมทางพุทธ กับความสะดวกสบายสมัยใหม่ ที่น่าประทับใจและหายากในความเห็นของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยือนภูฏานเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ ตลอด 10 วันในภูฏาน ข้าพเจ้าไม่เห็นขอทานเลยแม้แต่คนเดียว คนภูฏานที่เห็นส่วนใหญ่มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเพราะภูฏานจนเป็นอันดับ 189 ของโลก จาก 222 ประเทศทั้งหมด คือมีรายได้ต่อหัวเพียง US$1,300 ต่อปี หรือเพียง 4,300 บาทต่อเดือนเท่านั้น เทียบกับประเทศไทยแล้ว ภูฏานจนกว่าเราประมาณเกือบ 2 เท่า แต่คนของเขาดูมีความสุขจริงๆ
ถามไกด์ชาวภูฏาน เขาถามข้าพเจ้ากลับว่า ความจนนั้นควรวัดกันยังไง? ตามกฎหมายภูฏาน คนภูฏานทุกคนได้ที่ทำกินประมาณ 10 ไร่ฟรีจากรัฐบาล และคนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นครอบครัว ทุกคนช่วยกันทำมาหากิน ใครเข้าเมืองไปหางานทำ ไม่มีงานก็กลับมาทำนา ยังไงๆ ก็ไม่อดตาย
ตอนนี้ภฏาน ประเทศเล็กๆ ในเทือกเขาหิมาลัยที่มีประชากรเพียง 600,000 คน กำลังเป็นผู้นำในการเสวนาระดับโลกเรื่อง GNH ภูฐานจัดสัมมนาเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว มีนักวิชาการ นักวิจัยและนักพัฒนาเข้าร่วมกว่า 82 คน จาก 20 ประเทศ บทความต่างๆ จากการสัมมนานี้ มีการรวมเล่มเป็นหนังสือ ที่ท่านสามารถ ดาวน์โหลด ได้ที่นี่ (PDF format, 233 หน้า) หรือจาก เว็บไซด์ Gross National Happiness ที่มีข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับแนวคิดและการค้นคว้า GNH ที่น่าสนใจอีกมาก การสัมมนานานาชาติเรื่องนี้ครั้งที่สอง เพิ่งจบไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อีกสักพักคงได้เห็นการสรุปผลบนเว็บไซด์ GNH ด้วย
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 1
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 2
ต่อไปข้าพเจ้าอยากแปลบางส่วนจากบทความเรื่อง GNH ใน Alternet.org ที่สรุปผลการสัมมนา GNH ปีที่แล้ว และพัฒนาการใหม่ๆ ของแนวคิดนี้ไว้อย่างน่าสนใจมาก (แค่ลิ้งค์ไปเว็บไซด์ต่างๆ ที่อ้างอิงในบทความก็น่าสนใจแล้ว):
แนวคิดเรื่อง GNH อาจเป็นความก้าวหน้าทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในรอบ 150 ปีที่ผ่านมา ในความเห็นของแฟรงค์ ดิ้กสัน บัณฑิตจาก Harvard Business School ผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ แห่ง Innovest Strategic Value Advisors ซึ่งเป็นสถาบันการเงินข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุด ที่เน้นการทำงานให้กองทุนที่มีคุณธรรม (ethical investment funds)
GNH เป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้ระบบของมนุษย์ดีขึ้นมาก ด้วยการเลียนแบบระบบธรรมชาติที่มีความละเอียดซับซ้อนกว่าหลายร้อยเท่าตัว ดิ้กสันกล่าว
แต่ระบบเศรษฐกิจที่ เลียนแบบธรรมชาติ นั้น แปลว่าอะไร? ดิ้กสันและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ อธิบายดังนี้: ตอนนี้บริษัทและประเทศทั้งหลายถูกกระตุ้นให้เติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตัวอย่างเดียวในธรรมชาติที่สะท้อนพฤติกรรมแบบนี้คือ เซลล์มะเร็ง ซึ่งเติบโตด้วยการทำลายร่างที่ใช้อาศัย (host body) และทำลายตัวมันเองในที่สุด
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่า เศรษฐกิจมนุษย์นั้น ไม่สามารถเติบโตได้โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียทางสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ ได้อีกต่อไป แต่แม้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม จะเข้มงวดขึ้นมากใน 20 ปีที่ผ่านมา เราก็ยังตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการแข่งขันที่จะกอบกู้โลกให้พ้นจุดอันตราย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกินกว่าที่โลกของเราจะรองรับได้ แรงกดดันให้ประเทศต่างๆ สร้างมูลค่า GNP ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหานี้ที่เห็นได้ชัดเจน
แนวคิดเรื่อง GNH เป็นหนึ่งในวิธีการเราอาจใช้แก้ไขความไม่สมดุลต่างๆ เหล่านี้ได้ การสัมมนานานาชาติเรื่อง GNH ที่ภูฐาน [ในปี 2547] สะท้อนความเห็นพ้องต้องกันของบรรดาผู้เข้าร่วมประชุมว่า เราควรต้องวัดและให้ความสำคัญต่อ GNP ต่อไป แต่ในลักษณะที่ไม่ทำให้ GNH ลดลง ที่ผ่านมา [แวดวงวิชาการ] มีแนวโน้มที่จะมอง GNH ว่าเป็นเพียงสโลแกนสวยหรูจากประเทศเล็กๆ ที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมเท่านั้น นอกจากนี้ ปัญหาของการให้คำจำกัดความ และวัดค่า ความสุข เป็นตัวเลข เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวคิดเรื่อง GNH อยู่เพียงชายขอบของวาทกรรมเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
อย่างไรก็ตาม การสัมมนานานาชาติเรื่อง GNH ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เราควรวัดระดับความสุขขั้นพื้นฐานได้ เพราะนี่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของโภชนาการ (nutrition), การมีที่อยู่อาศัย, การศึกษา, สุขภาพ, และชีวิตชุมชน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ GNH จะถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง แนวคิดนี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อนักพัฒนาทุกคน ในความเห็นของมิเอโกะ นิชิมิสุ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการธนาคารโลก ในภาคพื้นเอเชียใต้ และเข้าร่วมการสัมมนานานาชาติเรื่อง GNH ที่ผ่านมาด้วย
ตั้งแต่ปี 2538 ศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกาชื่อ Redefining Progress (ความเจริญนิยามใหม่) ได้วัดความก้าวหน้าของเศรษฐกิจอเมริกาทุกปีโดยใช้ดัชนีชื่อ Genuine Progress Indicator (GPI ดัชนีความก้าวหน้าแท้จริง) ซึ่งให้ภาพที่น่าหดหู่กว่า GNP มาก [ดูรูปข้างล่างประกอบ]
ดัชนี GPI เข้าใกล้ความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชนดังนี้: ตัวเลขนี้รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนและภาคอาสาสมัคร ที่ถูก GNP มองข้ามไป หักด้วยมูลค่า ความเสียหาย (loss) ที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรม และค่าใช้จ่ายในการป้องกันอาชญากรรม ในทางเดียวกัน เงินที่ใช้ในการติดตั้งเครื่องกรองน้ำ เครื่องกรองอากาศ และวิธีอื่นๆ ที่ใช้รับมือกับความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ก็นับเป็นค่าความเสียหายด้วย นอกจากนี้ค่าความเสียหายยังนับรวมมูลค่าเงินที่เข้ามาหมุนเวียนอยู่ในระบบจากอุบัติเหตุรถชน และการหย่าร้าง ดัชนี GPI ยังรวมผลการประเมินว่า ประชากรทั้งประเทศ มีส่วนร่วมในการสะสมทางวัตถุมากน้อยเพียงใด
ดัชนี GPI เป็นเพียงหนึ่งในความพยายามที่จะคิดค้นดัชนีใหม่ๆ ที่ใช้วัดระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่แท้จริง นักวิจัยเรื่องนี้หลายๆ คนเข้าร่วมการสัมมนาที่ภูฐานด้วย รวมทั้งแฟรงค์ บราโก จากเวเนซุเลอา อดีตเอกอัตรราชทูตประจำประเทศอินเดีย 15 ปีที่แล้ว บราโกชี้ว่า แม้หลายประเทศเช่น คอสตาริกา, แคนาดา, ไอซ์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, ศรีลังกา, และมองโกเลีย จะเริ่มใช้ดัชนีคุณภาพชีวิตแล้ว GNP ยังเป็นดัชนีที่ทรงอำนาจที่สุดอยู่
ปฏิญญาที่ผู้เข้าร่วมการสัมมนานานาชาติเรื่อง GNH ปีที่แล้ว ตกลงร่วมกันกล่าวว่า การพัฒนา GNH ควรกระทำควบคู่ไปกับ การพัฒนาดัชนีต่างๆ ที่สะท้อนสุขภาพกาย และสุขภาพใจของมนุษย์ ดัชนีดังกล่าวควรใช้ในระดับปัจเจกบุคคลได้ เพื่อให้ประชาชนแต่ละคนและชุมชนของตน สามารถวัดความคืบหน้าของตนในการแสวงหาความสุข นอกจากนี้ ดัชนีดังกล่าวต้องสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสังคม ธรรมาภิบาลที่ดี และการดำเนินธุรกิจที่จรรโลงสร้างสรรค์สังคมส่วนรวม ทั้งในชีวิตประจำวัน และในกิจกรรมและนโยบายระยะยาว
ในเมื่อชาวไทยส่วนใหญ่ยัง(อ้างว่า)เป็นพุทธศาสนิก และเมื่อรัฐบาลตอนนี้ดูเหมือนจะหายใจเข้าออกเป็น GDP รายไตรมาสไปหมด จนละเลยปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน มากกว่าตัวเลขรายได้หรือผลผลิต ควรหรือที่นักวิชาการของไทย จะยังไม่เริ่มพัฒนาคิดค้น GNH เวอร์ชั่นประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า กันให้มากขึ้น? อย่างน้อยที่สุด นักเศรษฐศาสตร์ไทยน่าจะเริ่มวัดและติดตามดัชนีความเจริญใหม่ๆ ทีสะท้อนความเป็นอยู่คนได้ดีกว่า GDP หรืออย่างน้อยก็เพิ่มมิติของ คุณภาพ การเิติบโตทางเศรษฐกิจ เข้าไปเสริมการวัดปริมาณมิิติเดียว เช่นการคิด Genuine Progress Indicator ข้างต้น หรือไม่ก็เปิดคอร์ส สอนเรื่อง happiness economics กันในมหาวิทยาลัยเสียเลย
ก็ขอเป็นกำลังใจให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรงทั้งหลายด้วยคน
Posted in Buddhism, Economics | By Fringer
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 3
ภูฏาน และ GNH
คอลัมน์ เดินหน้าชน
โดย นงนุช สิงหเดชะ มติชนรายวัน วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10329
ปรากฏการณ์ฟีเวอร์มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ในหมู่คนไทยในวโรกาสที่พระองค์เสด็จฯ มาร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ มีคุณูปการตรงที่ทำให้คนไทยอยากเรียนรู้เกี่ยวกับภูฏานมากขึ้น
การที่สังคมไทยอยากรู้จักภูฏานมากขึ้น อาจจะช่วยให้คนไทยและผู้นำรัฐบาลไทยหายจากอาการ "ใกล้เกลือกินด่าง" เพราะมกุฎราชกุมารพระองค์นี้ทรงช่วยขับเน้นคุณค่า และประโยชน์อเนกอนันต์ของแนวทางการพัฒนาประเทศ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย
มกุฎราชกุมารภูฏาน ได้ออกแถลงการณ์ส่วนพระองค์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ทรงชื่นชมและนับถืออย่าง "แรงกล้า" ต่อในหลวงของไทยและจะยึดแนวทางของในหลวงเป็นแบบอย่างในการพัฒนาภูฏาน
ก่อนหน้านี้ นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลด้านการพัฒนามนุษย์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับยกย่องว่าทรงเป็นผู้วางแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่มนุษย์ และยอมรับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ กระทั่งยูเอ็นจะนำไปเผยแพร่ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก
การที่มกุฎราชกุมารภูฏานได้แสดงออกซึ่งความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเท่ากับตอกย้ำคุณค่าและวิถีทางที่ถูกต้องในการพัฒนาประเทศหรือแม้กระทั่งในบริบทโลกของในหลวง
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ประมุขคนปัจจุบัน พระบิดาของมกุฎราชกุมารภูฏาน (ที่คนไทยติดปากเรียกว่าเจ้าชายจิกมี) มีแนวทางในการพัฒนาประเทศคล้ายคลึงกับในหลวงของไทย โดยพระองค์เป็นบุคคลแรกในโลกก็ว่าได้ที่กล้าประกาศแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยไม่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP-Gross Domestic Product) แต่ให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวมแห่งชาติ (GNH-Gross National Happiness) ของประชาชนเป็นหลัก
ดังนั้น ประมุขแห่งภูฏานจึงเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสูง เช่น ต้องรักษาป่าไม้ไว้อย่างต่ำ 60% ด้วยเหตุนี้ภูฏานจึงไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวแบบอ้าซ่า เพราะงกอยากได้เงินเหมือนไทยแต่อย่างใด แต่จำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวแต่ละปีและเน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ
แนวคิดของพระประมุขภูฏาน จึงนับว่ากล้าท้าทายระบบทุนนิยมสามานย์
พวก "รวงข้าวอ่อน" อาจคิดว่าแนวคิดเช่นนี้ของภูฏาน เป็นแนวคิดที่ล้าหลัง ปิดประตูตัดขาดจากโลกภายนอก แต่หามิได้ พระประมุขแห่งภูฏาน มีความทันสมัยอย่างยิ่ง พระองค์ทรงจบการศึกษาจากอังกฤษ ทรงเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกเป็นอย่างดี และทำให้โลกตะลึงมาแล้ว เมื่อพระองค์ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
พระองค์ได้ประกาศสละราชบัลลังก์ เพื่อให้มกุฎราชกุมาร ขึ้นครองราชย์ สืบต่อจากพระองค์ในปี 2551 ดังนั้น มกุฎราชกุมารจิกมี จะเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของภูฏานที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ภูฏาน ไม่ใช่ประเทศหลังเขา หากแต่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศ แต่ความฉลาดล้ำลึก ของพระประมุขก็คือ แง้มประตูให้โลกภายนอก แต่ยังรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมและคุณค่าดีๆ แห่งความเป็นชาติของตน เหมือนการค่อยๆ เปิดประตูน้ำทีละน้อย ไม่ใช่เปิดสุดบานกระทั่งท่วมบ้านเมืองและกวาดเอาสิ่งดีๆ ไปหมด
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 4
แนวพระราชดำริของประมุขแห่งภูฏาน และแนวพระราชดำริของในหลวง ถือว่าเป็น "คุณค่าเอเชีย" ที่มาบรรจบกัน อันอาจจะสร้างพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อสร้างทางเลือกใหม่แทนเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสุดขั้ว
แท้จริงแล้วระบบทุนนิยมกำลังถึง "ทางสองแพร่ง" และกำลังถูกตั้งคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ เนื่องเพราะผลการศึกษาหลายชิ้น พบว่าเป็นระบบที่ทำให้ช่องว่างคนรวยและคนจนถ่างกว้างยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ คนจนยิ่งจนลง คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น ที่สำคัญสภาพแวดล้อมเสื่อมทรามลง ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงที่ย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์ อาทิ น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือแนวคิดเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ เพื่อความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว ไม่ถูกกระแทกได้ง่ายจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่สำคัญเป็นเศรษฐกิจที่ต้องกำกับด้วยจริยธรรม
เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายถึงการให้ทุกคนปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าวไว้กินเอง แต่เป็นแนวคิดที่คนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพและชนชั้นนำไปประยุกต์ใช้ได้ และก็ไม่ได้หมายถึงแนวคิดที่ห้ามไม่ให้มีคนรวย แต่ต้องเป็นการรวยอย่างถูกต้องชอบธรรม ด้วยสัมมาอาชีพ
แน่นอนในโลกปัจจุบันเราหลีกทุนนิยมไม่พ้น แต่ประเทศที่ฉลาด ผู้นำที่ฉลาดย่อมต้องมีภูมิปัญญา เพียงพอที่จะทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเหยื่อ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทุนนิยม ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรและรายได้ที่เป็นธรรม ที่สำคัญต้องมีจริยธรรมอย่างสูง ไม่ใช่ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ร่ำรวยเพียงคนบางกลุ่ม
แต่ผู้นำทางการเมืองของไทย คงเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงได้ยาก และก็คงไม่สนใจหรือเข้าใจ GNH เพราะสิ่งเหล่านี้นำไปอวดอ้าง หรือแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ทำให้ผู้นำไม่ได้หน้าหรือนำไปเกทับประเทศอื่นไม่ได้
ในภาวะที่คนบางคนอยากเป็นผู้นำเอเชียอย่างเหลือแสน อยากเป็นดาวเด่นในสังคมโลกเสียเหลือเกินเช่นนี้ มีแต่ตัวเลขจีดีพี (ที่ข้างในกลวงโบ๋) เท่านั้น ที่จะเป็นประกาศนียบัตรรับรองอีโก้ส่วนตัว
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 5
ขุดขึ้นมาเข้ากระแส..
GNP วัดมูลค่าของทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นสิ่งที่ทำให้ชีวิตนี้น่าอยู่
By Fringer From : http://www.fringer.org/?p=166
September 19th, 2006
[แปลเล่นๆ จาก หน้านี้ของ Nation (ใครที่ติดตามการเมืองอเมริกันอาจสนใจอ่านทั้งหมด) โดยแรงบันดาลใจจากบทความเรื่อง GDP GDH และ GPIของอ. วิมุต วานิชเจริญธรรม ท่านที่สนใจเชิญอ่าน บทความเก่าเรื่อง GNH & GPI ที่เขียนตั้งแต่กันยายน 2548 (อยู่ด้านบนของกระทู้นี้)]
ถ้าลองเปลี่ยนคำว่า อเมริกา ในคำปราศรัยข้างล่างนี้เป็น ไทย ก็ดูเหมือนจะอธิบายเมืองไทยเราตอนนี้ได้ดีอย่างน่าใจหาย
หนักหนาสาหัสเกินไปแล้ว และนานเกินไปแล้ว ที่เรายอมลิดรอนความเข้มแข็งและคุณค่าต่างๆ ของชุมชน เพียงเพื่อแลกกับการสะสมทางวัตถุ ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GNP) ของเรา ถ้าเราควรตัดสินอเมริกาด้วยตัวเลขนั้น รวมมูลค่าของมลพิษ เงินโฆษณาบุหรี่ และเงินค่ารถพยาบาลฉุกเฉินที่แล่นไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนทางด่วน ตัวเลขนี้รวมมูลค่าของกุญแจที่ล็อคประตูบ้านเรา และค่าบำรุงรักษาเรือนจำสำหรับคนที่พังมันเข้าไป
GNP รวมมูลค่าของป่าไม้ที่ถูกทำลาย และความงดงามของธรรมชาติที่สูญหายไปกับการขยายตัวของเมืองใหญ่ มันนับเงินค่าระเบิดนาปาล์ม ค่าก่อสร้างหัวรบนิวเคลียร์ และรถหุ้มเกราะสำหรับตำรวจที่ต้องต่อกรกับจลาจลกลางเมือง มันนับรายได้จากการขายปืนยี่ห้อวิทแมน มีดยี่ห้อสเป็ค และโปรแกรมทีวีที่สรรเสริญความรุนแรง เพื่อจะได้ขายของเล่นให้กับลูกหลานของเรา
แต่ GNP ไม่รวมมูลค่าของสุขภาพเด็กๆ คุณภาพการศึกษาของพวกเขา หรือความสนุกสนานยามเด็กเล่น มันไม่รวมความงดงามของบทกวี ความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัว ระดับสติปัญญาของการอภิปรายสาธารณะ หรือความซื่อสัตย์ของข้าราชการ มันไม่วัดทั้งไหวพริบและความกล้าหาญ ทั้งปัญญาและการเรียนรู้ ทั้งความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและความเสียสละต่อชาติบ้านเมือง กล่าวโดยสรุป GNP วัดมูลค่าของทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นสิ่งที่ทำให้ชีวิตนี้น่าอยู่ และมันบอกเราทุกอย่างเกี่ยวกับอเมริกา ยกเว้นเหตุผลที่ทำให้เราภูมิใจที่เป็นชาวอเมริกัน
โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี้ อดีตสมาชิกสภารัฐนิวยอร์ก, 2511
ต้นฉบับ:
Too much and too long, we seem to have surrendered community excellence and community values in the mere accumulation of material things. Our gross national product - if we should judge America by that - counts air pollution and cigarette advertising, and ambulances to clear our highways of carnage. It counts special locks for our doors and the jails for those who break them.
It counts the destruction of our redwoods and the loss of our natural wonder in chaotic sprawl. It counts napalm and the cost of a nuclear warhead, and armored cars for police who fight riots in our streets. It counts Whitmans rifle and Specks knife, and the television programs which glorify violence in order to sell toys to our children.
Yet the gross national product does not allow for the health of our children, the quality of their education or the joy of their play. It does not include the beauty of our poetry or the strength of our marriages, the intelligence of our public debate or the integrity of our public officials. It measures neither our wit nor our courage, neither our wisdom nor our learning, neither our compassion nor our devotion to our country; it measures everything, in short, except that which makes life worthwhile. And it tells us everything about America except why we are proud that we are Americans.
Robert F. Kennedy, former New York Senator, 1968
-
- Verified User
- โพสต์: 1468
- ผู้ติดตาม: 0
Re: ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง
โพสต์ที่ 6
เคยได้ยินว่า การส่งเสริม Gross National Happiness ของภูฏานมากๆ
ก็เลยด้อยเรื่องการส่งเสริมพัฒนาประเทศด้านอื่น เช่น ระบบสาธารณสุข
เห็นได้จากหน้าข่าวว่า ราชวงศ์ยังต้องมาคลอดที่ รพ ในไทย
คนที่นี่ แม้แต่เป็นแค่ไส้ติ่งอักเสบก็อาจตายได้
การเข้าถึงความมั่งคั่ง ก็ยังเป็นแค่คนกลุ่ม(นามสกุล)เดียว
ดีจริงๆ หรือคะ GNH เนี่ย...
ก็เลยด้อยเรื่องการส่งเสริมพัฒนาประเทศด้านอื่น เช่น ระบบสาธารณสุข
เห็นได้จากหน้าข่าวว่า ราชวงศ์ยังต้องมาคลอดที่ รพ ในไทย
คนที่นี่ แม้แต่เป็นแค่ไส้ติ่งอักเสบก็อาจตายได้
การเข้าถึงความมั่งคั่ง ก็ยังเป็นแค่คนกลุ่ม(นามสกุล)เดียว
ดีจริงๆ หรือคะ GNH เนี่ย...
..สักวันจะเก่งเหมือนพี่บ้าง..
-
- Verified User
- โพสต์: 455
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 7
ข้อนึงของ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ ดร ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม พูดบ่อยๆ ว่าในหลวงทรงเน้นถึงการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมทั่วถึง ก่อนข้ออื่นๆซะอีก
แล้วจึงตามด้วยข้ออื่นๆ เช่น ไม่ใช้จ่ายเกินตัว กู้เกินตัว มีเงินออม ใช้เงินออม เหลือเผื่อฉุกเฉิน ต่างๆ
แล้วจึงตามด้วยข้ออื่นๆ เช่น ไม่ใช้จ่ายเกินตัว กู้เกินตัว มีเงินออม ใช้เงินออม เหลือเผื่อฉุกเฉิน ต่างๆ
-
- Verified User
- โพสต์: 455
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 8
ผมว่า พอเพียง เป็นวิธีการ ไม่ใช่เป้าหมายซะทีเดียว
เช่น เราอยากรวย ก็ไม่ผิดหลักการพอเพียง
แต่เราจะต้องรวยโดยคิด หา ช่องทาง ตลอด
ทดลองทำโดยไม่เสี่ยงก่อน ไม่ลงทุนเกินตัว ไม่กู้มาก
มีเผื่อเหลือเผื่อขาดตลอด
และเมื่อทำเช่นนี้เราก็จะโตอย่างมั่นคง
จะค่อยๆโต หรือโตเร็ว ก็ขึ้นกับฝีมือ จังหวะ ดวง
หลายอย่าง
แต่เชื่อแน่อย่างหนึ่งว่า ถ้ามีไรผิดพลาดขึ้นมา
จะไม่ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว หนี้ล้นพ้น
หมุนเงินไม่ทัน ตัวเองเดือดร้อน
ครอบครัวคนใกล้ชิดเดือดร้อน สุขภาพจิตเสีย
เช่นเดียวกันระดับมหภาค
การมุ่งอุตสาหกรรมจ๋า สิ่งอำนวยความสะดวกเยอะๆ
ผมว่าเราก็ไปถึงได้ด้วยหลักพอเพียง
นั่นคือ กำหนดเป้าหมายให้ดีละกัน ให้เหมาะ
แล้วพอได้เป้าแล้ว ก็เดินไปด้วยหลักพอเพียง
ไม่ใช่พอพูดถึงพอเพียง พูดถึง GNH
ก็พาลแต่จะเห็นภาพป่าเขาลำเนาไพร
บ้านมุงจาก ไร่นาสวนผสมแปลงเล็กๆ
เท่านั้น นั่นมันรูปแบบหนึ่งในร้อยเท่านั้น
ไม่ใช่เนื้อหา
เช่น เราอยากรวย ก็ไม่ผิดหลักการพอเพียง
แต่เราจะต้องรวยโดยคิด หา ช่องทาง ตลอด
ทดลองทำโดยไม่เสี่ยงก่อน ไม่ลงทุนเกินตัว ไม่กู้มาก
มีเผื่อเหลือเผื่อขาดตลอด
และเมื่อทำเช่นนี้เราก็จะโตอย่างมั่นคง
จะค่อยๆโต หรือโตเร็ว ก็ขึ้นกับฝีมือ จังหวะ ดวง
หลายอย่าง
แต่เชื่อแน่อย่างหนึ่งว่า ถ้ามีไรผิดพลาดขึ้นมา
จะไม่ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว หนี้ล้นพ้น
หมุนเงินไม่ทัน ตัวเองเดือดร้อน
ครอบครัวคนใกล้ชิดเดือดร้อน สุขภาพจิตเสีย
เช่นเดียวกันระดับมหภาค
การมุ่งอุตสาหกรรมจ๋า สิ่งอำนวยความสะดวกเยอะๆ
ผมว่าเราก็ไปถึงได้ด้วยหลักพอเพียง
นั่นคือ กำหนดเป้าหมายให้ดีละกัน ให้เหมาะ
แล้วพอได้เป้าแล้ว ก็เดินไปด้วยหลักพอเพียง
ไม่ใช่พอพูดถึงพอเพียง พูดถึง GNH
ก็พาลแต่จะเห็นภาพป่าเขาลำเนาไพร
บ้านมุงจาก ไร่นาสวนผสมแปลงเล็กๆ
เท่านั้น นั่นมันรูปแบบหนึ่งในร้อยเท่านั้น
ไม่ใช่เนื้อหา
-
- Verified User
- โพสต์: 455
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 9
ซึ่งเราจะเดินอย่าง safety และ sufficiency ที่ในหลวงท่านว่าไว้ได้ ก็ต้องคิดให้ได้แบบที่พระองค์ท่านสอนไว้ก่อนคือ "อย่าสุดโต่ง" ให้คิดอะไรที่เป็นไปได้
เช่นสมมติพี่ๆหลายๆคนในนี้อย่างพี่ chatchai หวังกำไรเงินปันผลแค่ปีละ 10% cap. gain มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เลือกหุ้นปึ้กๆ ไม่กี่ตัว ศึกษาเยอะๆ ตามติดตลอด (พอเพียงไม่ใช่ขี้เกียจ)
ผ่านไป 4 -5 ปี พี่เขาผอดโตเท่าตัวแล้ว (สมมตินะครับ) ก็คือพอเพียง
ขณะที่บางคนอาจจะเดือนนี้จับหุ้นปั่นถูกตัว เดือนเดียวได้เท่าตัว หรือมากกว่านั้นเพราะมาร์จิ้นเยอะเต็มแม๊กซ์ รูดการ์ดมาเล่นด้วย และเน็ตเซ็ตด้วย แต่พอผิดคาดไม่ทันไรแทบเหลือศูนย์หักเงินที่กู้มา และดอก และ ค่าคอม ฯลฯ ก็คือตรงข้ามกะพอเพียง
เช่นสมมติพี่ๆหลายๆคนในนี้อย่างพี่ chatchai หวังกำไรเงินปันผลแค่ปีละ 10% cap. gain มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เลือกหุ้นปึ้กๆ ไม่กี่ตัว ศึกษาเยอะๆ ตามติดตลอด (พอเพียงไม่ใช่ขี้เกียจ)
ผ่านไป 4 -5 ปี พี่เขาผอดโตเท่าตัวแล้ว (สมมตินะครับ) ก็คือพอเพียง
ขณะที่บางคนอาจจะเดือนนี้จับหุ้นปั่นถูกตัว เดือนเดียวได้เท่าตัว หรือมากกว่านั้นเพราะมาร์จิ้นเยอะเต็มแม๊กซ์ รูดการ์ดมาเล่นด้วย และเน็ตเซ็ตด้วย แต่พอผิดคาดไม่ทันไรแทบเหลือศูนย์หักเงินที่กู้มา และดอก และ ค่าคอม ฯลฯ ก็คือตรงข้ามกะพอเพียง
-
- สมาชิกกิตติมศักดิ์
- โพสต์: 11443
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 10
ความพอเพียง ต้องเริ่มจากการใช้ชีวิตที่พอเพียงและมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
ธุรกิจโฆษณา เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวทางพอเพียงหรือไม่ เห็นมีแต่การชักจูงให้ประชาชนซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตมากๆ
จะดีไหมถ้าบริษัททำโฆษณาจะคิดถึงสังคมมากกว่ารายได้และผลกำไรของบริษัท
ธุรกิจโฆษณา เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวทางพอเพียงหรือไม่ เห็นมีแต่การชักจูงให้ประชาชนซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตมากๆ
จะดีไหมถ้าบริษัททำโฆษณาจะคิดถึงสังคมมากกว่ารายได้และผลกำไรของบริษัท
จงอยู่เหนือความดี อย่าหลงความดี
-
- Verified User
- โพสต์: 1067
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 11
คิดคล้าย ๆ พี่ครับchatchai เขียน:จะดีไหมถ้าบริษัททำโฆษณาจะคิดถึงสังคมมากกว่ารายได้และผลกำไรของบริษัท
แต่เป็นอีกแนวว่า
ปัจจุบัน เห็นโฆษณาหลาย ๆ ตัว
มีประโยชน์กับสังคม ในเชิงของการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และวัฒนธรรม
ผมว่ารัฐน่าจะสนับสนุนโฆษณากลุ่มนี้ครับ โดยการ Refund ภาษีที่เก็บจากรายได้จากการโฆษณาของสื่อ
มาตอบแทนองค์กรที่เป็นเจ้าของโฆษณาเหล่านั้นครับ
สำหรับเศรษฐกิจพอเพียง
ผมเห็นหลาย ๆ คนเข้าใจไปในทำนองว่า
- ทุกคนต้องทำการเกษตรเลี้ยงตัวเอง
- เป็นคำแก้ตัวของคนที่ขาดความกระตือรือร้น (ข้อนี้ทำให้ผมโกรธมาก)
- ต้องใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่ใช้รถ งดฟาสต์ฟู้ด ฯลฯ
- เป็นขั้วตรงข้ามกับทุนนิยม (ผมว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับบริโภคนิยมมากกว่า)
- เศรษฐกิจพอเพียง --> ความเป็นอยู่ของชาวภูฏาน
- คนรวยหลายคนใช้ของแพง --> ไม่พอเพียง
ประเด็นเหล่านี้ผมว่าน่าจะเป็นอุปสรรคใหญ่ของการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช่ในระดับชาติ
ผมจึงคิดแนวทางเดียวกับพี่ฉัตรชัย ว่าน่าจะให้สื่อภาคเอกชน
มาเป็นตัวแทนในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ บรรทัดฐาน และค่านิยมของคนในสังคม
โดยเฉพาะการสื่อสารในแนวทางที่สอดคลอ้งกับนโยบายภาครัฐ
รัฐเองก็ไม่ต้องลงทุนสร้างโฆษณา
สูญเสียเพียงรายได้แค่ส่วนหนึ่ง
ซึ่งบวกลบกันแล้ว ผมว่าคุ้มค่าแลช่วยประหยัดเงินสร้างสื่อรณรงค์ได้ส่วนหนึ่งแน่นอน
... จุดเริ่มต้นของคนเราไม่สำคัญ
มันสำคัญที่ว่าเขาวิ่งได้เร็วแค่ไหนตะหาก ...
มันสำคัญที่ว่าเขาวิ่งได้เร็วแค่ไหนตะหาก ...
-
- Verified User
- โพสต์: 1067
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 12
ว่าแล้วก็เลยลืมเสนอความเห็นเกี่ยวกับ GNH เลยครับ :lol:
ผมมองบทบาทของ GNH ในแง่ของการสร้างสมดุลของตัวชี้วัดสถานการณ์ของประเทศมากกว่าครับ จึงอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับท่านสุรยุทธ์นัก ที่ท่านแถลงว่าจะให้ความสำคัญกับ GNH มากกว่า GDP แต่ก็ด้วยความเข้าใจในส่วนหนึ่งว่า น่าจะเป็น Reflect Action ที่สืบเนื่องจากการที่อดีตเราให้ความสำคัญกับ GDP มากเกินไป
GNH น่าจะเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งในการสร้างสมดุลของ 3 ขาตามเป้าหมายของเศรษฐกิจพอเพียง คือ เศรษฐกิจ ชีวิต และสังคม ที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน
ในทางเศรษฐกิจเรามีตัวเลข GDP, ตัวเลขการว่างงาน, อัตราส่วนการใช้กำลังการผลิต, อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ
ในทางชีวิต เราคงมีตัวชี้วัดต่าง ๆ นานาที่อาจจะรวมเรียกกันได้ว่า GNH
ในทางสังคม คงต้องมุ่งไปยังเรื่องของวัฒนธรรม จำนวนคดีความ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ มลพิษ จำนวนต้นไม้ ฯลฯ
ผมว่าหลังจากนี้กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานสถิติแห่งชาติคงจะมีงานหนักขึ้นแล้วล่ะครับ
ผมมองบทบาทของ GNH ในแง่ของการสร้างสมดุลของตัวชี้วัดสถานการณ์ของประเทศมากกว่าครับ จึงอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับท่านสุรยุทธ์นัก ที่ท่านแถลงว่าจะให้ความสำคัญกับ GNH มากกว่า GDP แต่ก็ด้วยความเข้าใจในส่วนหนึ่งว่า น่าจะเป็น Reflect Action ที่สืบเนื่องจากการที่อดีตเราให้ความสำคัญกับ GDP มากเกินไป
GNH น่าจะเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งในการสร้างสมดุลของ 3 ขาตามเป้าหมายของเศรษฐกิจพอเพียง คือ เศรษฐกิจ ชีวิต และสังคม ที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน
ในทางเศรษฐกิจเรามีตัวเลข GDP, ตัวเลขการว่างงาน, อัตราส่วนการใช้กำลังการผลิต, อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ
ในทางชีวิต เราคงมีตัวชี้วัดต่าง ๆ นานาที่อาจจะรวมเรียกกันได้ว่า GNH
ในทางสังคม คงต้องมุ่งไปยังเรื่องของวัฒนธรรม จำนวนคดีความ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ มลพิษ จำนวนต้นไม้ ฯลฯ
ผมว่าหลังจากนี้กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานสถิติแห่งชาติคงจะมีงานหนักขึ้นแล้วล่ะครับ
... จุดเริ่มต้นของคนเราไม่สำคัญ
มันสำคัญที่ว่าเขาวิ่งได้เร็วแค่ไหนตะหาก ...
มันสำคัญที่ว่าเขาวิ่งได้เร็วแค่ไหนตะหาก ...
-
- Verified User
- โพสต์: 577
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 13
ผมดูข่าว สัมภาษณ์ ท่าน ร.ม.ว กระทรวงการคลัง เรื่องนี้
ได้ยิน แว็บ ๆ นะว่า
จะให้ GDP ควบคู่ ไปกับ GNH
แต่ที่เป็นห่วงคือ เวลา 1 ปี กับการคาดหวังอย่างสูง นี้ ไม่ง่ายนะครับ
อย่างน้อยผมว่า คงเป็นการสร้างรากฐาน ทัศนคติ โครงสร้าง ที่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใหม่เข้ามาสานต่อได้ไม่ลำบาก
ส่วนเรื่อง พอเพียง นี้ ... ลึกซึ้งครับ
ไม่มีกรอบวิธีการที่ ผูกมัด ขอเพียง ให้อยู่ในคำว่า พอเพียง ตามความสามารถ ความรู้
ยิ่งรู้มาก ยิ่ง ก้าวได้อย่างมั่นคง โตได้เยอะ ล้มยาก
ถ้ารู้น้อย ก็พอเท่าที่รู้
ความรู้ เป็นเกราะ ป้องกันครับ
ผมโยง เศรษฐกิจพอเพียง กับ ความรู้ครับ
....
ได้ยิน แว็บ ๆ นะว่า
จะให้ GDP ควบคู่ ไปกับ GNH
แต่ที่เป็นห่วงคือ เวลา 1 ปี กับการคาดหวังอย่างสูง นี้ ไม่ง่ายนะครับ
อย่างน้อยผมว่า คงเป็นการสร้างรากฐาน ทัศนคติ โครงสร้าง ที่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใหม่เข้ามาสานต่อได้ไม่ลำบาก
ส่วนเรื่อง พอเพียง นี้ ... ลึกซึ้งครับ
ไม่มีกรอบวิธีการที่ ผูกมัด ขอเพียง ให้อยู่ในคำว่า พอเพียง ตามความสามารถ ความรู้
ยิ่งรู้มาก ยิ่ง ก้าวได้อย่างมั่นคง โตได้เยอะ ล้มยาก
ถ้ารู้น้อย ก็พอเท่าที่รู้
ความรู้ เป็นเกราะ ป้องกันครับ
ผมโยง เศรษฐกิจพอเพียง กับ ความรู้ครับ
....
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 14
ไม่แน่ว่า หรือแท้ที่จริง สิ่งที่เรากำลังคุยกันเนี่ย มีมาช้านานแล้วในสังคมไทย
เพียงแต่มีแนวโน้มที่กำลังถูกดูดกลืนให้ค่อยเสื่อมสลายไป
และมีอัตราเร่งในปัจจุบัน ด้วยสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อมีใครสักคนที่เป็นหลักที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง ได้กระตุก ย้ำและเตือน
เราก็อาจยังเบลอๆอยู่ว่า ที่ว่า"พอเพียง"หรือ "GDH" หรือ "GNH" ก็ตามแต่
ในความเข้าใจของแต่ละคนนั้นเป็นเช่นไร
แน่นอนว่าภูมิหลังแต่ละคนย่อมทำให้มองไม่ตรงกันเสียทีเดียว
เราควรจะปรับตัวอย่างไรถ้ากระแสโลกเริ่มสนใจเหลียวหากระแสรองอย่างเช่นเรื่องนี้
จำเป็นมั้ยที่ว่าพอเพียงต้องเป็นไปตามมโนภาพที่หลายคน(อาจ)เข้าใจ(คลาดเคลื่อน)
ปูนซีเมนส์ไทยถือว่ามีบรรษัทภิบาลที่เข้าข่ายรู้จักพอเพียงหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้คงต้องอาศัยการระดมความคิดและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
ในทุกระดับขั้นของสังคม ทุกระดับการศึกษา ทุกองคาพยพ
อุดมคติที่โหยหา อาจจะนำมาซึ่งความสำเร็จที่ยั่งยืน ก็เป็นได้
หวังไว้ๆ..
[quote="freemindd"]ข้อนึงของ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ ดร ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม พูดบ่อยๆ ว่าในหลวงทรงเน้นถึงการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมทั่วถึง ก่อนข้ออื่นๆซะอีก
แล้วจึงตามด้วยข้ออื่นๆ เช่น ไม่ใช้จ่ายเกินตัว กู้เกินตัว
เพียงแต่มีแนวโน้มที่กำลังถูกดูดกลืนให้ค่อยเสื่อมสลายไป
และมีอัตราเร่งในปัจจุบัน ด้วยสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อมีใครสักคนที่เป็นหลักที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง ได้กระตุก ย้ำและเตือน
เราก็อาจยังเบลอๆอยู่ว่า ที่ว่า"พอเพียง"หรือ "GDH" หรือ "GNH" ก็ตามแต่
ในความเข้าใจของแต่ละคนนั้นเป็นเช่นไร
แน่นอนว่าภูมิหลังแต่ละคนย่อมทำให้มองไม่ตรงกันเสียทีเดียว
เราควรจะปรับตัวอย่างไรถ้ากระแสโลกเริ่มสนใจเหลียวหากระแสรองอย่างเช่นเรื่องนี้
จำเป็นมั้ยที่ว่าพอเพียงต้องเป็นไปตามมโนภาพที่หลายคน(อาจ)เข้าใจ(คลาดเคลื่อน)
ปูนซีเมนส์ไทยถือว่ามีบรรษัทภิบาลที่เข้าข่ายรู้จักพอเพียงหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้คงต้องอาศัยการระดมความคิดและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
ในทุกระดับขั้นของสังคม ทุกระดับการศึกษา ทุกองคาพยพ
อุดมคติที่โหยหา อาจจะนำมาซึ่งความสำเร็จที่ยั่งยืน ก็เป็นได้
หวังไว้ๆ..
[quote="freemindd"]ข้อนึงของ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ ดร ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม พูดบ่อยๆ ว่าในหลวงทรงเน้นถึงการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมทั่วถึง ก่อนข้ออื่นๆซะอีก
แล้วจึงตามด้วยข้ออื่นๆ เช่น ไม่ใช้จ่ายเกินตัว กู้เกินตัว
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้วหรือยัง?
โพสต์ที่ 15
GDP GDH และ GPI
วิมุต วานิชเจริญธรรม
ระยะนี้รู้สึกว่าจะมีคนพูดถึง GDH หรือ Gross Domestic Happiness กันหนาหูมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าหันไปทางไหน ก็ดูเสมือนว่าจะหลีกหนีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ GDH นี้ หรือดัชนีอยู่ดีมีสุข ไม่พ้น
เริ่มต้นจากข่าวคราวในวันที่ 28 สิงหาคม 2549 เมื่อทุกสื่อต่างพากันพูดถึง ดัชนีชี้วัดความสุข (GDH) ในฐานะ 1 ในสิบข้อเสนออันพึงกระทำ ที่ นายแพทย์ประเวศ วะสี ต้องการมอบให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่
4 กันยายน 2549 รายการ Hard Topic ทางช่อง Money Channel เปิดประเด็นสนทนาในเรื่องของดัชนีชี้วัดความสุข ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่งประกาศตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก ที่วัดจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของ GDP ได้ไม่นาน
อีกสี่วันต่อมา ดัชนีอยู่ดีมีสุข (ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดที่ทาง สศช.กำลังดำเนินการจัดทำ ภายใต้กรอบความคิดที่คล้ายคลึงกับ GDH) ได้ปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของการแสดงปาฐกถาของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้ฝากให้รัฐบาลใหม่นำเอาดัชนีอยู่ดีมีสุขนี้ มาใช้เป็นเป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจ เพิ่มเติมจากตัวเลข GDP ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ประเด็นที่ทั้ง คุณหมอ ประเวศ วะสี คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (แขกรับเชิญในรายการ Hard Topic) และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เห็นไปในทางเดียวกันคือ การพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ไม่อาจใช้ตัวเลข GDP เป็นตัวชี้นำ เพราะตัวเลขนี้มุ่งเน้นแต่การเพิ่มรายได้และผลผลิต โดยละเลยมิติอื่นๆ ของชีวิต อันได้แก่ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำของสถานะในสังคม และคุณภาพชีวิต
เมื่อบรรดาผู้ใหญ่ในสังคม ต่างร่วมประสานเสียงกัน ให้ลดน้ำหนัก ความสำคัญของ GDP เช่นนี้ สังคมอาจเริ่มตั้งคำถามกลับมาที่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์กันว่า เหตุไฉนผู้ประกอบอาชีพเป็นนักเศรษฐศาสตร์จึงยังคงใช้ตัวเลข GDP ในการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจกันอยู่อีก และคำถาม อาจถูกส่งต่อไปถึงบรรดาครูบาอาจารย์ที่สอนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคกันอยู่ ด้วยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันมาสอนเรื่องดัชนีชี้วัดความสุขแทนการสอนเรื่องผลผลิตประชาชาติ
ก่อนที่เราจะโยน GDP ทิ้งไป และเอา GDH มาใช้แทน สมควรที่จะมาทบทวนกันก่อนถึงความหมาย และนัยทางนโยบายของตัวชี้วัดที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้
GDP หรือ gross domestic product เป็นตัวมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่มีการผลิตและซื้อขายกันผ่านระบบตลาด ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ดังนั้นเป้าหมายของการสร้าง GDP ขึ้นมาเป็นดัชนีชี้วัด ก็เพื่อให้เราได้ทราบถึงมูลค่าของธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้เกิดขึ้นในอาณาบริเวณของประเทศเราในช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น เพียงตัวเลขของ GDP ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งมิอาจให้สารสนเทศกับนักเศรษฐศาสตร์ได้มากนัก แต่หากเรานำตัวเลข GDP ต่างคาบเวลามาคำนวณหาอัตราการเปลี่ยนแปลง เราจะได้ภาพของการเจริญเติบโต (หรือถดถอย) ของมูลค่าธุรกรรมในระบบเศรษฐกิจ
เมื่อเรานำ GDP มาหารด้วยจำนวนประชากร เราจะได้ตัวชี้วัดที่เรียกว่า GDP per capita ซึ่งหมายถึงผลผลิต (ประชาชาติ) ต่อหัวประชากร ตัวชี้วัดตัวนี้เองที่นักเศรษฐศาสตร์มักใช้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงมาตรฐานความเป็นอยู่ หรือความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยเฉลี่ย
หากเราเปรียบ GDP เป็นพิซซ่าที่ครอบครัวหนึ่งร่วมกันทำ และแบ่งกันกิน GDP per capita จะไม่ต่างอะไรกับขนาดของพิซซ่าที่สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวได้รับ เมื่อพิซซ่านั้นถูกแบ่งให้กับสมาชิกแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน
แน่นอนที่สมาชิกจะชอบส่วนแบ่งชิ้นใหญ่มากกว่าส่วนแบ่งที่มีขนาดเล็ก เฉกเช่นกับตัวเลข GDP per capita ที่สูงย่อมสะท้อนถึงผลผลิต หรือรายได้จำนวนมากกว่า ที่แต่ละบุคคลในสังคมได้รับ (หากการแบ่งสรรทรัพยากรเป็นไปโดยเสมอภาคเท่าเทียม)
เมื่อโยงกลับเข้าไปหาเรื่องราวในตอนต้นของบทความ เหล่าผู้อาวุโสในสังคมไทยกำลังจะบอกกับเราว่า ขนาดหรือปริมาณของ GDP per capita นั้น มิใช่ตัวที่บ่งชี้ความอยู่ดีมีสุขของสมาชิกในสังคมเสมอไป หากจะอุปมากลับไปยังตัวอย่างของพิซซ่า เราจะได้ข้อโต้แย้งที่บ่งบอกว่า สิ่งที่ร่างกายต้องการมิใช่ชิ้นพิซซ่าที่มีขนาดใหญ่ หากแต่เป็นคุณค่าทางโภชนาการที่อยู่ในชิ้นพิซซ่านั้นต่างหาก
ประเด็นโต้แย้งในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะโดยสาระแล้วไม่ต่างไปจากเนื้อหาบางส่วนที่ปรากฏอยู่ในปาฐกถาของวุฒิสมาชิก Robert Kennedy ที่เคยแสดงไว้เมื่อครั้งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1968 โน่น
ผมได้คัดลอกบางส่วนของปาฐกถานี้ จากหนังสือตำรา Economics ของศาสตราจารย์ N.Gregory Mankiw มาให้อ่านกัน ซึ่งใจความสำคัญมีดังนี้
[Gross domestic product] does not allow for the health of our children, the quality of their education, or the joy of their play. It does not include the beauty of our poetry or the strength of our marriages, the intelligence of our public debate or the integrity of our public officials. It measures neither our courage, nor our wisdom, nor our devotion to our country. It measures everything, in short, except that which makes life worthwhile,...
นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายเห็นด้วยกับแทบทุกสิ่งในข้อความข้างต้นนี้ เพียงแต่ข้อโต้แย้งที่ยกมา มิอาจหักล้างคุณประโยชน์ของการใช้ GDP per capita เป็นตัววัดความกินดีอยู่ดีของสมาชิกในสังคมได้
จริงอยู่ที่ตัวเลข GDP per capita นี้ไม่ได้นับรวมคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเข้าไว้ในการคำนวณ แต่หลักฐานที่ปรากฏในโลกความเป็นจริงสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่า ย่อมมีความสามารถที่จะจัดหาบริการทางด้านสาธารณสุขที่ดีกว่า หรือระบบการศึกษาที่ดีกว่า ให้กับสมาชิกในสังคมได้
ในทำนองเดียวกันกับองค์ประกอบอื่นๆ ของชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นความสุนทรีย์ของบทกวี ความมั่นคงในชีวิตคู่ หรือแม้กระทั่งคุณภาพของนักการเมือง สิ่งเหล่านี้มักจะตามมาภายหลังจากที่ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในสังคมโดยเฉลี่ย หลุดพ้นจากภาวะที่ต้องดิ้นรน กระเสือกกระสนเพื่อการยังชีพในขั้นพื้นฐานแล้วทั้งสิ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง บรรดาสรรพสิ่งที่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตที่ดี มักปรากฏในสังคมที่ประชาชนโดยเฉลี่ยมีรายได้สูง มากกว่าในสังคมที่ประชาชนโดยเฉลี่ยมีฐานะยากจน
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ก็ยอมรับว่า มีอีกหลายด้านของคุณภาพชีวิตที่มักเดินสวนทางกับตัวเลข GDP หรือ GDP per capita
ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจที่ไร้ซึ่งกฎระเบียบในการควบคุมมลพิษอาจมีผลผลิตมวลรวมขนาดใหญ่ มีอัตราการขยายตัวของรายได้สูง แต่สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาลไม่แพ้กันกลับถูกทำลายเสียหาย หรือครอบครัวที่พ่อแม่เอาแต่หารายได้เพื่อยกระดับฐานะในสังคม อาจประสบปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเรามักพบว่า เยาวชนที่สร้างปัญหาสังคมในปัจจุบันมักมาจากครอบครัวที่ขาดความรัก และความอบอุ่น
ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ตระหนักมานานแล้ว และยอมรับเสมอมาว่า GDP per capita มิใช่ตัวชี้วัดที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งไม่อาจสะท้อนให้เราเห็นถึงความอยู่ดีมีสุขในทุกๆ มิติของชีวิตได้ ปัญหาคือในขณะนี้ เรายังไม่มีตัวชี้วัดที่ครอบคลุมกว่า และน่าเชื่อถือมากกว่ามาทดแทน GDP เท่านั้นเอง เรียกได้ว่านี่คือลักษณะปัญหาที่เกิดเพราะเป็นแนวคิดเชิงทฤษฎีที่ก้าวล้ำเกินความสามารถในการวัดค่า (theory ahead of measurement)
ผมได้เรียนรู้จากการอ่าน blog ของ คนชายขอบ ว่ามีศูนย์วิจัยที่ชื่อว่า redefining progress ในรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พยายามวัดความก้าวหน้าของเศรษฐกิจอเมริกา โดยตัวชี้วัดที่คิดค้นขึ้นมานี้มีชื่อว่า genu-ine progress indicator (GPI) หรือที่ คนชายขอบแปลไว้ว่า ดัชนีความก้าวหน้าแท้จริง
ดัชนีความก้าวหน้าแท้จริงนี้ ไม่เพียงรวมเอามูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน และภาคอาสาสมัคร ซึ่งไม่ถูกนับรวมเข้าไว้ใน GDP (เพราะมิได้ผ่านกระบวนการซื้อขายในตลาดเสรี) แต่ยังนำเอามูลค่าของกิจกรรมที่ ไม่สร้างความก้าวหน้า ในทางเศรษฐกิจมาหักออกจากมูลค่าธุรกรรมทางเศรษฐกิจมวลรวมด้วย เช่น ความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรม ค่าใช้จ่ายที่สังคมต้องเสียไปกับการป้องกันอาชญากรรม รายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการ ชะล้าง มลพิษที่ก่อเกิดจากการผลิต รวมไปถึงเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เพราะมีอุบัติเหตุรถชน หรือเพราะมีการหย่าร้างเกิดขึ้นในสังคม
เมื่อนำ GDP ของประเทศสหรัฐมาเทียบมูลค่ากับ GPI แล้ว เราจะพบว่า ประเทศสหรัฐมิได้ก้าวไปข้างหน้า เหมือนดั่งกับภาพที่ชี้ให้เห็นด้วยตัวเลข GDP แต่อย่างใด นั่นแสดงว่า มูลค่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลในระบบเศรษฐกิจ เกิดขึ้นมาจากธุรกรรมที่ไม่สร้างความก้าวหน้าให้กับสังคม
คนชายขอบเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้รู้รอบด้านอย่างแท้จริง นอกจากนี้เธอยังเป็นคนแรกๆ ในประเทศไทยที่เขียนถึง GDH อีกด้วย งานเขียนของคนชายขอบชิ้นนี้ เขียนไว้ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายนปีที่แล้ว ภายใต้หัวเรื่อง ถึงเวลาที่ไทยควรวัด Gross National Happiness แล้ว หรือยัง ? งานเขียนนี้โปรยหัวด้วยพระราชดำรัสของกษัตริย์ภูฏาน พระเจ้า Jigme Wangchuck เมื่อครั้งที่ท่านทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2515 ที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า
Gross National Happiness is more important than Gross National Product
น่าทึ่งว่า คนไทยเราต้องใช้เวลานานถึง 34 ปี กว่าที่จะตระหนักถึงความสำคัญของตัวชี้วัดที่เรียกว่า GDH
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 กันยายน 2549