เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
พุธ มิ.ย. 14, 2006 5:58 am | 0 คอมเมนต์
"ภูฏาน"........
คอลัมน์ มองซ้าย มองขวา
โดย ปกป้อง จันวิทย์ ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3796 (2996)
ทุกปีนิตยสาร Time จะออกฉบับพิเศษว่าด้วย 100 บุคคลทรงอิทธิพลของโลก ซึ่งคณะกรรมการจะคัดเลือกบุคคลหลากหลายสาขา ตั้งแต่ผู้นำ นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักคิด ศิลปิน ฯลฯ ที่ชีวิต ผลงาน และความคิดของพวกเขาเหล่านั้น มีอิทธิพลหรือสร้างแรงบันดาลใจต่อชีวิตของคนบนโลกอย่างยิ่ง ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา
"Time 100" ปี 2006 (ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2549) มีชื่อของกษัตริย์ Jigme Singye Wangchuck แห่งประเทศภูฏานรวมอยู่ด้วย
น่าสนใจว่าเหตุใดกษัตริย์แห่งประเทศเล็กๆ แถบเอเชียใต้ ซึ่งติดกลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลก ถึงได้รับยกย่อง เป็นหนึ่งในผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโลกควรค้อมคารวะ
ภูฏานมีพื้นที่เพียง 47,500 ตารางกิโลเมตร อยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างประเทศจีนและอินเดีย มีประชากรเพียง 2.2-2.4 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประชากร 90% ทำงานในภาคเกษตรกรรม ปกครองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่ปี 1907 กษัตริย์ Jigme (ตามคำเรียกขานของนิตยสาร Time) ขึ้นครองราชย์ในปี 1972 ขณะมีพระชนมายุได้เพียง 16 พรรษา
ในทางเศรษฐกิจ ภูฏานเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก รายได้หลักของประเทศมาจากการเกษตรและป่าไม้ การขายไฟฟ้าพลังน้ำให้อินเดีย และการท่องเที่ยว จากข้อมูลของ Index Mundi ชาวภูฏานมีรายได้ต่อหัว (GDP per capital) เพียง 1,400 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นลำดับที่ 191 จาก 226 ประเทศทั่วโลก (ประเทศที่มี GDP per capital สูงที่สุดในโลกคือ ประเทศ ลักเซมเบิร์ก 58,900 เหรียญสหรัฐ ตามด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา 40,100 เหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศไทย 8,100 เหรียญสหรัฐ นับเป็นลำดับที่ 89 ของโลก)
กระนั้นภูฏานกลับเป็นประเทศที่ได้รับการกล่าวขานในหมู่นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาทั่วโลก อันมีที่มาเริ่มแรกจากคำกล่าวประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ Jigme ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1972 ที่ว่า "Gross National Happiness (GNH) is more important than Gross National Product (GNP หรือ GDP)." หรือความสุขรวมของผู้คนภายในประเทศมีความสำคัญกว่าผลผลิตรวม (หรือรายได้รวม) ของประเทศ
โดยทั่วไปนักเศรษฐศาสตร์วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยมูลค่าผลผลิตรวมหรือรายได้รวมของประเทศ ว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนหน้าร้อยละเท่าใด (GDP สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วกี่เปอร์เซ็นต์) ทั้งนี้ มูลค่าผลผลิตรวม (GDP) เป็นตัวชี้วัดทางวัตถุ ซึ่งบอกเราเพียงว่า ในแต่ละปีมีสินค้าและบริการถูกผลิตขึ้นในเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าเท่าใด ตัวเลขดังกล่าวมิได้ชี้ว่าผู้คนมี "ความสุข" เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะความรวยมิได้นำมาซึ่งความสุขเสมอไป
นอกจากนั้น ตัวเลข GDP มิได้ชี้ว่าในอีกด้านหนึ่ง สภาพสิ่งแวดล้อมต้องถูกทำให้เสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อแลกมาด้วยตัวเลข GDP สูงๆ เป็นมูลค่าเท่าใดในแต่ละปี มิได้ชี้ว่าประเทศยังสามารถรักษา "วัฒนธรรม" หรือ "ตัวตน" ของตนไว้ได้ดีเพียงไร เมื่อต้องเผชิญกับกระแสการพัฒนาทางวัตถุที่เชี่ยวกราก มิได้ชี้ว่าทรัพยากรที่ได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถูกจัดสรรแบ่งปันกันในหมู่สมาชิกของสังคมอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมเพียงใด
เช่นนี้แล้ว ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ควรจะเป็นจึงมิควรพุ่งเป้าไปที่การเติบโตทางวัตถุ มุ่งเน้นเพียงเพิ่มมูลค่าการผลิต การบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมที่ติดตามมาว่าสูงส่งเพียงใด
มาตรวัดของความเป็น "เศรษฐกิจดี" จึงมิใช่แค่มีตัวเลข GDP หรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงๆ แต่ "เศรษฐกิจดี" ควรเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนด้วย "ความสุข" ของสมาชิกในสังคม มีการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม มีการบริหารจัดการที่ดี (good governance) มีสิทธิเสรีภาพ มีการค้าที่เป็นธรรม มีสันติสุขในจิตใจ
เป็นกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มี "ความหมาย" ต่อสมาชิกในสังคม
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
พุธ มิ.ย. 14, 2006 6:02 am | 0 คอมเมนต์
คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วนักเศรษฐศาสตร์ควรใช้ดัชนีชี้วัดใด เพื่อเป็นมาตรวัดความเป็น "เศรษฐกิจดี" ซึ่งครอบคลุมรอบด้านกว่า สะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีได้ดีกว่า หรือเป็นองค์รวมกว่า ตัวเลข GDP ? วิธีคิดแบบ GNH ของภูฏานก็เป็นตัวอย่างของ "ดัชนีทางเลือก" ตัวหนึ่ง ซึ่งมีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับระเบียบวิธีวัดดัชนี GNH ตามมามากมายว่า จะนับรวมตัวแปรใดอยู่ใน GNH บ้าง มีวิธีการตีค่าตัวแปรต่างๆ อย่างไร มีข้อจำกัดและวิธีข้ามพ้นอย่างไรบ้าง
ตั้งแต่กษัตริย์ Jigme ขึ้นครองราชย์ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพูน GNH กลายเป็นนโยบายหลักของภูฏาน ยุทธศาสตร์นี้ผ่านการอนุมัติจากสภาอย่างเป็นทางการ ไม่นานนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้กล่าวชื่นชมปรัชญาการพัฒนาเพื่อ "ความสุข" แบบภูฏาน ในสุนทรพจน์เรื่อง The Changing Value of Thai Society เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ตั้งคำถามเชิงไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มุ่งเน้นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ สักแต่หวังเพิ่มตัวเลข GDP ให้ดูดี โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมอื่นๆ โดยยกตัวอย่างภูฏานเป็นประเทศที่เราพึงเรียนรู้
ด้วยยึดมั่นในปรัชญา GNH ภูฏานจึงระแวดระวังในการเปิดประเทศต้อนรับโลกาภิวัตน์ ทั้งในแง่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม แม้ประเทศจะมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว แต่ภูฏานมิได้พยายามแปรประเทศเป็นทุน มุ่งเน้นการขายวัฒนธรรมหรือทำลายสิ่งแวดล้อมแลกเงินตราต่างประเทศอย่างไม่ลืมหูลืมตา อย่างสิ้นไร้ศักดิ์ศรี ดังเช่นประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก หากภูฏานพยายามหาจุดสมดุลระหว่างรายได้จากการท่องเที่ยว และการรักษาสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน
ภูฏานเพิ่งเปิดประเทศเมื่อทศวรรษ 1970 และเป็นที่ทราบกันว่า การขอวีซ่าเข้าประเทศเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะภูฏานมีนโยบายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปี นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวแต่ละคนยังต้องเสียภาษีท่องเที่ยววันละ 200 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เพื่อจำกัดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากเกินไป จนส่งผลทำลายสภาพแวดล้อม
หันมามองทางการเมือง เวลานี้ประเทศภูฏานกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในปี 1998 กษัตริย์ Jigme ได้ประกาศสละอำนาจตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์บางส่วนด้วยพระองค์เอง และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
การปฏิรูปการเมืองขั้นต้นในปี 1998 แม้จะเริ่มต้นจากตัวผู้นำระบบบน มิใช่การปฏิวัติจากประชาชนระดับล่าง แต่กลับเป็นไปในทางจำกัดอำนาจของตัวผู้นำเอง โดยเน้นไปในทางจำกัดอำนาจของกษัตริย์ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น เช่น เพิ่มอำนาจให้ national assembly ในการบริหารประเทศ national assembly มีจำนวน 150 ที่นั่ง วาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี มีอำนาจใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ถอดถอนกษัตริย์ได้ (national assembly มีที่มาหลายทาง โดย 105 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งระดับหมู่บ้าน 10 ที่นั่ง เป็นตัวแทนตามกลุ่มศาสนา และ 35 ที่นั่งได้รับการคัดเลือกโดยกษัตริย์)
นอกจากนั้น national assembly มีอำนาจในการรับรองคณะรัฐมนตรี ที่กษัตริย์เป็นผู้เสนอชื่อ (หัวหน้าคณะรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล) โดยคณะรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี
การปฏิรูปการเมืองขั้นแรก ดำเนินไปพร้อมๆ กับการยกเลิกนโยบายโดดเดี่ยวตัวเอง และคืนสิทธิเสรีภาพสู่มือประชาชนทีละน้อย
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการยกเลิกการแบนโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตในปี 1999 (เดิมประชาชนภูฏานใช้แต่สื่อวิทยุซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 1973) แม้ว่าในตอนนี้จะมีเพียง Bhutan Broadcasting Service (BBS) ของรัฐบาลเป็นผู้บริหารสื่อเพียงรายเดียวก็ตาม แต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและท้าทายต่ออนาคต
เมื่อเดือนมีนาคม 2005 รัฐบาลได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทุกครัวเรือนได้ศึกษา และวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อรอวันลงประชามติต่อไป ในร่างรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติตอนหนึ่งบังคับให้กษัตริย์สละราชสมบัติให้แก่มกุฎราชกุมาร หรือมกุฎราชกุมารี เมื่อมีพระชนมายุครบ 65 พรรษา และมีบทบัญญัติด้านการรักษาสภาพแวดล้อมอย่างจริงจัง
ปลายปี 2005 กษัตริย์ Jigme ในวัย 50 ปี ได้ประกาศสละราชสมบัติให้มกุฎราชกุมาร ในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปี 2008) หลังจากประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก
"ตัวตน" อันเป็น "เอกลักษณ์" ทั้งของกษัตริย์ Jigme และประเทศภูฏาน ทำให้นิตยสาร Time ยกย่องให้ท่านเป็น 1 ใน 100 บุคคล ซึ่งส่งผลเปลี่ยนแปลงชีวิตและวิธีคิดของผู้คนบนโลกที่ถูกครอบงำด้วยความเชื่อหลักที่ว่า "ไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้ว" ใบนี้
jaychou
ผู้ติดตาม: 0
พุธ มิ.ย. 14, 2006 8:00 am | 0 คอมเมนต์
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
พฤหัสฯ. มิ.ย. 15, 2006 5:15 pm | 0 คอมเมนต์
ไทย-ภูฏาน เพื่อนบ้านชาวพุทธ
ความเจริญทางวัตถุอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับภูฏาน พวกเขานึกถึงความสุขของชีวิตมากกว่าเรื่องอื่นใด เพราะรากฐานวัฒนธรรมและพุทธศาสนาอันแข็งแกร่ง
ประกอบกับพระมหากษัตริย์ มีพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีความสุขมากกว่าการเน้นผลผลิตรวมของประชาชาติ
เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ นำเสนอบางแง่มุมของความสัมพันธ์ไทย-ภูฏาน
ถ้าจะกล่าวว่า ภูฏาน (เดิมชื่อภูฐาน) เป็นดินแดนแห่งความลี้ลับ ก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย หากใครคิดจะเดินทางไปเที่ยวภูฏาน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากประเทศตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน และประเทศนี้จะคัดสรรนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ต้องใช้บริการการท่องเที่ยวของภูฏานเท่านั้น ค่าใช้จ่ายแพ็คเกจทัวร์ต่อคนวันละ 200 เหรียญสหรัฐ เป็นอัตราเหมาจ่ายทุกอย่างรวมทั้งไกด์ด้วย ถ้าไม่ผ่านส่วนนี้ทางการจะไม่ออกวีซ่าอนุญาตให้เข้าประเทศได้
วัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด และพระมหากษัตริย์ของภูฏานวัย 50 ปีเศษได้พยายามวางรากฐานให้ชาวภูฏานมีความสุขในการดำเนินชีวิตมากกว่าความเจริญทางวัตถุ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงประกาศต่อชาวโลกว่า จะสละราชสมบัติให้มกุฎราชกุมาร ในปีพ.ศ. 2551 รวมถึงจัดให้มีการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครั้งแรก
เหตุผลที่กล่าวมา...ทำให้ภูฏานกลายเป็นประเทศเล็กที่มีความน่าสนใจของนานาประเทศ
1.
ภูฏานไม่ใช่อื่นไกล เป็นชาวพุทธเหมือนคนไทย เพียงแต่ชาวภูฏานนับถือพุทธศาสนาสายมหายาน และเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังคงนับถือนิกายตันตระเป็นศาสนาประจำชาติ ลัทธิตันตระบางคนอาจไม่ค่อยคุ้นเคยนัก ในอดีตทิเบตก็นับถือนิกายนี้เช่นเดียวกับภูฏาน ลัทธิตันตระเน้นความสำคัญของเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิง ในคติความเชื่อแบบตันตระจะพบว่าเทพเจ้าหรือพระพุทธรูปจะมีคู่ครองสวมกอดอยู่ตามแบบศิลปะตันตระ
พุทธศาสนานิกายตันตระได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า การตรัสรู้เป็นผลรวมของปัญญาและกรุณา โดยเพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา ฝ่ายชายเป็นกรุณา เรื่องเพศเป็นวิถีทางหรืออุบายในการเดินทางไปสู่การตรัสรู้
ประเทศนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยเช่นเดียวกับเนปาลและทิเบต แต่การเดินทางไปภูฏานยากยิ่งกว่า เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน โดยเฉพาะในฤดูหนาวหิมะจะโปรยปรายปกคลุมภูเขาลูกแล้วลูกเล่า การคมนาคมจึงเป็นเรื่องลำบากสำหรับชาวภูฏาน เพราะแทบจะไม่มีพื้นที่ราบเลยก็ว่าได้ จึงเป็นเรื่องยากลำบากในการสำรวจประชากร และคาดคะเนว่า ภูฏานมีพื้นที่ประมาณ 46,500 ตารางกิโลเมตร ประชากรมีราวๆ กว่า 7 แสนคน
พวกเขาเรียกตัวเองว่า ดรุก ยูล แปลว่า ดินแดนมังกร จำนวนประชากรกว่า 70 % นับถือพุทธศาสนา และเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจพอเพียง ขนานแท้ เพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน แต่ก็มีนโยบายแข็งก้าวในการปกป้องวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมให้ภูฏานพ้นจากเงื้อมมือทุนนิยม
ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มดรุกปาส ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ พวกเชื้อสายทิเบต รูปร่างหน้าตาคล้ายคนไทย และพวกซังลา เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากและส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศ ส่วนอีกกลุ่มเป็นเนปาลีอยู่ทางทิศใต้ของประเทศ และปัจจุบันรัฐบาลภูฏานพยายามผลักดันกลุ่มเนปาลีกลับไปยังถิ่นเดิมคือ ประเทศเนปาล
นอกจากบ้านเรือนชาวภูฏานจะตั้งอยู่บนภูเขาสูงแล้ว ยังไม่มีทางออกทะเล ทิศเหนือติดกับจีนและทิเบตและทิศใต้ติดกับอินเดีย ทั้งประเทศตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย มียอดเขาที่มีความสูงกว่า 7,000 เมตร มากกว่า 8 ยอด
แม้กระทั่งเมืองหลวง กรุงทิมปู ของภูฏาน ก็ตั้งอยู่ในที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกราวๆ 2,350 เมตร เป็นอีกเมืองที่มีความสวยงาม ถนนหนทางมีความสูงต่ำต่างกันไป ชาวภูฏานจะใช้ภาษาซองก้า (Dzongkha) แต่เดิมเป็นภาษาท้องถิ่นแถบตะวันตกของภูฏาน ต่อมากลายเป็นภาษาประจำชาติ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในสถาบันการศึกษาและติดต่อธุรกิจ และไม่ต้องแปลกใจที่คนภูฏานจะพูดอังกฤษได้คล่องแคล่วเหมือนคนอินเดีย
ถ้าใครอยากรู้ว่า ความสูงของพื้นที่ในภูฏานมากเพียงใด ลองนึกถึงยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกคือ เอฟเวอเรสต์ ซึ่งมีความสูงถึง 8,848 เมตร และอยู่ไม่ไกลจากภูฏาน ระดับความสูงที่ต่ำสุดของภูฏานอยู่ทางใต้ของประเทศอินเดียคือ ระดับ 300 เมตร และสูงสุดคือ ยอดเขาโจโมลาจิสูงถึง 7,341 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ลักษณะภูมิประเทศทำให้ภูฏานเสมือนหนึ่งประเทศปิด คนภูฏานห่างไกลจากความเจริญ ไม่ค่อยมีโอกาสพบปะชาวต่างชาติบ่อยนัก พวกเขามีรอยยิ้มที่จริงใจ มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และมักจะแต่งกายชุดประจำชาติตามปกติในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ภูฐาน ก็ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดประจำชาติ
ภูฏานเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ลึกล้ำที่คนต่างชาติอยากเดินทางมาสัมผัสวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่รัฐบาลได้วางมาตรการการท่องเที่ยวไว้อย่างเข้มงวด รวมถึงมีสายการบินเดียวเท่านั้นที่บินมาภูฏาน คือสายการบินแห่งชาติภูฏาน (ดรุ๊กแอร์ )
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
พฤหัสฯ. มิ.ย. 15, 2006 5:21 pm | 0 คอมเมนต์
2.
ภูมิประเทศของภูฏาน น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศในหุบเขาลึก ไม่เคยตกเป็นเมืองอาณานิคมของประเทศใด
ในศตวรรษที่ 17 ก่อนที่ภูฏานจะมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศ นักบวชซับดุง นาวัง นำเยล ได้รวบรวมภูฏานให้เป็นปึกแผ่น แล้วก่อตั้งเป็นประเทศ บริหารประเทศสองระบบคือ แยกเป็นฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์
พอเข้าศตวรรษที่18 บริษัทเอเชียตะวันออกของอังกฤษได้พยายามสนับสนุนให้ราชาผู้ครองรัฐพิหารรุกรานภูฏาน แต่ในที่สุดพบว่า ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจ จึงล่าถอยไปและทิ้งให้ภูฏานเป็นรัฐในอารักขาของราชาแห่งพิหารประเทศ จนในปี ค.ศ.1865 หลังสงครามดูอาร์ อังกฤษยอมรับเอกราชของภูฏานในสนธิสัญญาซินชูลา และปล่อยให้ภูฏานปกครองตัวเอง
หลังจากนั้นภูฏานเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างสองนครกลางหุบเขาปาโรและตองชา จนในที่สุด ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) พระราชาธิบดีอูเก็น วังชุก (Ugyen Wangchuck) ขณะนั้นเป็นผู้ปกครองเมืองตองซา พระองค์ทรงมีลักษณะผู้นำและเป็นผู้นำที่เคร่งศาสนาและมีความตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ได้รวบรวมประเทศเข้าด้วยกัน และพระองค์ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกของภูฏาน ปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล
ส่วนประมุขของประเทศองค์ปัจจุบัน ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2517 (ค.ศ.1974 ) เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก มีนามว่า พระราชาธิบดีจิกเม ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck)
ในปี ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541) ทรงมีพระราโชบายเปลี่ยนแปลงระบอบการบริหารราชการแผ่นดินภูฏาน โดยการกระจายอำนาจและลดการรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีขึ้นบริหารประเทศ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองภูฏาน และพระมหากษัตริย์ไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกต่อไป
รัฐบาลภูฏานชุดปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ และการปฏิรูปไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2550) โดยมีเป้าหมายในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกเม ซิงเย วังชุก ทรงริเริ่มปรัชญาในการพัฒนาประเทศที่นานาประเทศรู้จักดีคือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ เน้นการพัฒนาให้ประชาชนมีความสุขและความพึงพอใจ มากกว่าการวัดการพัฒนาด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ
แม้ภูฏานพยายามจะเปิดประเทศให้มีการลงทุนจากนักธุรกิจต่างชาติมากขึ้น แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าต้องเป็นการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของประเทศ เพราะภูฏานเป็นสังคมเกษตรกรรมเรียบง่าย ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ จึงต้องสั่งซื้อสินค้าจากประเทศใกล้เคียง
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายควบคุมสื่อ ภูฏานเพิ่งมีโทรทัศน์เมื่อปี 2542 และมีเพียงสถานีแห่งชาติแห่งเดียวเท่านั้น ตอนนั้นมีการเผยแพร่ภาพฟุตบอลโลกคู่ชิงชนะเลิศที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกในโทรทัศน์ และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา สื่อบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยิ่งคนภูฏานเรียนรู้โลกมากเท่าใด ก็ยิ่งสูญเสียวัฒนธรรมของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
พฤหัสฯ. มิ.ย. 15, 2006 5:31 pm | 0 คอมเมนต์
3.
ภูฏานได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2548 ได้ศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ กว่า 150 ประเทศ รวมทั้งของไทยด้วย และในปี 2551 ภูฏานจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นปีที่ภูฏานมีการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครบ 100 ปี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2548 พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า พระองค์จะสละราชบัลลังก์ให้กับมกุฎราชกุมารจิกเม เคเซอร์ นัมเยล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) ในปี 2551 ซึ่งได้สร้างความตะลึงให้กับชาวภูฏานอย่างมาก เพราะพวกเขาศรัทธาและเชื่อมั่นในพระมหากษัตริย์ และเกรงว่าประชาธิปไตยอาจก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายและฉ้อราษฎร์บังหลวงเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน
แม้การเปลี่ยนแปลงทางการของภูฏานจะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโลก แต่ชาวภูฏานก็ยังยึดมั่นในองค์พระมหากษัตริย์ พุทธศาสนาและวัฒนธรรมอย่างเหนียวแน่น
พระมหากษัตริย์ภูฏานเป็นที่เคารพรักของประชาชนมาก เหมือนในหลวงของเรา กษัตริย์ที่นั่นอุทิศตัวเพื่องานของบ้านเมืองอย่างมาก ไม่ถือพระองค์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีและมีนิสัยประหยัด ดูแลประชาชนอย่างจริงใจ ทุกบ้านในภูฏานจะมีรูปพระมหากษัตริย์ติดไว้ จุดนี้เองทำให้คณะรัฐมนตรีถวายงานกับพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ มีความตั้งใจเพื่อความสุขประชาชน ผมคิดว่าการคอร์รัปชันที่นี่ค่อนข้างน้อย
สุรวีร์ วาณิชเสณี ช่างภาพอิสระที่เคยเข้าไปถ่ายภาพในภูฏาน ปัจจุบันเขาทำหน้าที่ประสานงานการฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมให้ภูฏาน เล่าถึงพระมหากษัตริย์ภูฏาน เพราะเขาเองมีเพื่อนเป็นข้าราชการชาวภูฏาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการสละราชสมบัติของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของภูฏาน ทั้งๆ ที่พระองค์มีพระชนมายุกว่า 50 พรรษา แต่พระองค์ต้องการให้เส้นทางประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศ และทรงเป็นผู้วางรากฐานการพัฒนาประเทศ โดยเน้นที่ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross Nation Happiness)
แม้แนวคิดนี้จะดูเป็นนามธรรมเกินไป แต่หลายคนที่เคยมาเยือนภูฏาน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ประชาชนมีอัธยาศัยดี มีน้ำใจ พวกเขาปะทะสังสรรค์กับโลกภายนอกน้อยมาก
นอกจากนโยบายการดูแลเรื่องการท่องเที่ยวภูฏานอย่างเคร่งครัด ยังมีนโยบายการปลูกป่าทดแทน ทำให้ภูฏานยังมีป่าและสภาพแวดล้อมอันงดงามให้ชื่นชมกว่า 70 % พวกเขาไม่ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทำลายความบริสุทธิ์ของป่าเขาหรือความเงียบสงบของวัด
เมื่อปีที่แล้วมีผู้เล่าว่า เคยมีหมู่บ้านหนึ่งติดตั้งไฟฟ้าทุกบ้าน แต่แล้วก็เกิดเหตุนกกระเรียนหลายตัวบินไปติดสายไฟฟ้าถูกไฟช็อตตาย ชาวบ้านก็เลยพร้อมใจถอนเสาไฟฟ้าออกหมด แล้วหันมาใช้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แทน
นอกจากนี้ภูฏานยังติดอันดับประเทศยากจนแห่งหนึ่งของโลก เมื่อปีที่แล้วมีรายได้ต่อหัวเดือนละไม่ถึง 5,000 บาท แต่ชาวภูฏานทุกคนจะมีที่ดินทำกินที่รัฐบาลจัดสรรให้ 10 ไร่
สุรวีร์ ให้ความเห็นว่า แม้กษัตริย์องค์ปัจจุบันจะเห็นว่า ตัวเลขและความเจริญทางวัตถุเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความสุขในชีวิตย่อมสำคัญกว่า
เพื่อนผมบอกว่า พระมหากษัตริย์ของเขา ไม่นิยมใช้ชีวิตหรูหรา เขามีบ้านเล็กๆ อยู่ในป่า พอพระองค์ประกาศว่าจะสละราชสมบัติ ประชาชนก็เศร้า ไม่อยากให้ทรงลงจากพระราชอำนาจ แต่พระองค์เห็นว่า ถึงเวลาจะต้องพักผ่อน พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ไม่ค่อยเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนองค์หญิงของภูฏานก็เคยเดินทางมาเมืองไทยเป็นการส่วนพระองค์ คนภูฏานก็ชอบเดินทางมาเมืองไทย ส่วนใหญ่มารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลบ้านเรา
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
พฤหัสฯ. มิ.ย. 15, 2006 5:36 pm | 0 คอมเมนต์
4.
ราชอาณาจักรภูฏานปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศและเป็นศูนย์รวมจิตใจเช่นเดียวกับประเทศไทย เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 และรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตบังกลาเทศ ดูแลราชอาณาจักรภูฏานอีกแห่ง และภูฏานได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตภูฏานประจำประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540
แม้กษัตริย์องค์ปัจจุบันของภูฏานจะไม่เคยเสด็จมาเยือนประเทศไทย แต่เชื้อพระวงศ์ของภูฏานก็เคยเสด็จมาเยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
ภูฏานเป็นประเทศเล็กๆ พวกเขามีทัศนคติที่ดีกับคนไทยมาก แม้กษัตริย์ของเขาจะไม่เคยมาเยือนเมืองไทย แต่ตอนที่คุณพุ่มเสียชีวิต ราชวงศ์ภูฏานก็ส่งสาสน์มาแสดงความเสียใจ หรือวันครบรอบวันประสูติของในหลวง ก็มีสาสน์แสดงความยินดี พระโอรสและพระธิดาในราชวงศ์ปัจจุบันก็เคยเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ เคยมารักษาพยาบาลในเมืองไทย และมาท่องเที่ยว วิชัย ศักดิ์เกรียงไกร ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงาน สถานเอกอัครราชทูตภูฏาน กล่าว
แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เคยเสด็จเยือนประเทศภูฏาน แต่สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เคยเสด็จฯ เยือนภูฏานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2531 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯทรงเสด็จเยือนภูฏานเมื่อเดือนมิถุนายน 2534 รวมถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเคยเยือนภูฏานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2548
ทางฝ่ายรัฐบาลภูฏานเคยส่ง ฯพณฯ ลียอนโป จิกมี เยาเซอร์ ตินลีย์ ( Lyonpo Jigmi Yoeser Thinley) นายกรัฐมนตรีภูฏาน พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอด BIMSTEC เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังภูฏาน ได้รับเชิญจากผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม RTM for Bhutan รอบที่ 9 ที่นครเจนีวา เมื่อเดือนมกราคม 2549
นอกจากความสัมพันธ์ของไทย-ภูฏานแล้ว พระมหากษัตริย์ภูฏานยังทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับหลายชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย
สุรวีร์บอกว่า ทางเหนือสุดของภูฏานติดกับจีนเป็นภูเขาสูง เดินทางค่อนข้างยากลำบาก จึงเหลือเพียงเส้นทางอินเดีย ในทางการเมืองภูฏานเองก็หวั่นเกรงจีน กลัวว่ามาเข้ายึดดินแดนพวกเขาเหมือนทิเบต เพราะนี่เป็นเรื่องระบบโลก
ภูฏานก็เลยเจริญสัมพันธไมตรีกับอินเดียไว้อย่างแน่นแฟ้น อินเดียให้การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมกับภูฏาน และสินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากอินเดีย ประหนึ่งว่าภูฏานเป็นน้องอินเดีย
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
เสาร์ มิ.ย. 17, 2006 5:56 am | 0 คอมเมนต์