วันนี้มีบทความอ่านง่ายๆ สบายๆ มาให้อ่านกันคับ..ซึ่งจริงๆแล้วมีคนอธิบายในเชิงวิชาการหลายท่าน นั่นอาจทำให้การอ่านน่าเบื่อหน่าย
อ่านบทความสไตล์มหาชนก่อนดีกว่าคับ...
บทความพิเศษ
อาจารย์ ดร.ตรัย เป๊กทอง
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
[email protected]
ความคิดนอกกรอบกับพาราดาม (Paradigms )
เพื่อนในที่ทำงานของผมทำสีหน้าแปลกใจเมื่อผมใช้เครื่องสแกนเนอร์ถ่ายเอกสาร หรือใช้เครื่องแฟกซ์เพื่อถ่ายเอกสาร บางคนเดินเข้ามาเสนอแนะว่าทำไมไม่ไปใช้เครื่องถ่ายเอกสารที่ห้องถ่ายเอกสาร และผมก็แก้ตัวว่า ขี้เกียจ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผมบ่อยๆ เมื่อมีงานหลายๆ อย่างกองอยู่บนโต๊ะและต้องเคลียร์ให้เร็วที่สุด การเดินไปถ่ายเอกสารแค่ 2-3 แผ่นทำให้ผมสิ้นเปลืองเวลามากกว่าการที่ผมต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้เครื่องแฟกซ์โต๊ะเลขาฯ ที่อยู่ข้างๆ เพื่อถ่ายเอกสาร นี่ยังไม่อยากคิดถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตอนไปถ่ายเอกสารที่ต้องรอคิว ปัญหากระดาษติด หมึกหมด สารพัด
การใช้เครื่องแฟกซ์เพื่อถ่ายเอกสารนี้ถ้ามองในทางบวกถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของสิ่งที่มีอยู่ เรียกว่าใช้ประโยชน์ให้เกิดคุณค่าสูงที่สุด เป็นการปรับกระบวนทัศน์จากสิ่งที่เราเคยคิดเคยเข้าใจ จะเรียกให้ทันสมัยกว่านั้นว่าเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสก็คงพอจะได้ การมีทัศนคติหนึ่งต่อความคิดอะไรบางอย่างนั้นภาษาวิทยาศาสตร์เรียกมันว่าพาราดาม (paradigms) อาจเป็นกฏหรือข้อบังคับอะไรบางอย่างของสังคมที่เราดำรงชีวิตอยู่ อาจยกตัวอย่างให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจคำว่าพาราดามจากตัวอย่างของคำย่อ (abbreviation) ดังนี้ เพื่อนผมกำลังจะซื้อ P.C. คุณคิดว่ามันคืออะไรครับระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal computer) หรือว่าไปรษณียบัตร (Postcard) และเพื่อนหญิงอีกคนหนึ่งกำลังจะไปซื้อ CD คุณจะรู้ไหมว่าเธอกำลังจะไปซื้อสินค้ายี่ห้อคริสเตียนดิออร์ (Christian Dior) หรือว่าซีดีหนังแผ่น (Compact Disk)
คำย่อนี่แหละครับเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อใช้อธิบายพาราดามของคนในสังคมต่างๆ กัน คำย่อหนึ่งเมื่อนำไปพูดกับสังคมหนึ่งอาจจะแปลความหมายเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อนำไปพูดกับอีกสังคมหนึ่งอาจจะหมายถึงเรื่องอื่นๆ ก็อาจจะเป็นได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ กับผู้เขียนที่เมื่อไปประชุมเรื่องใดเรื่องหนึ่งในวงสังคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ก็พบว่าผู้ร่วมประชุมได้ใช้คำย่อบ่อยๆ ที่ไม่อาจทราบได้ว่าเขาหมายความถึงเรื่องอะไร และย่อมาจากอะไรเพราะว่าผู้พูดคิดว่าเราที่นั่งประชุมด้วยอยู่ในพาราดามเดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เลย
คนที่อยู่ในสังคมมักจะใช้พาราดามของสังคมตัดสินว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด
เรื่องบางอย่างถ้าอยู่ในสังคมหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ผิด ไม่สมควรทำไปเลยก็ได้ แต่ถ้าไปอยู่อีกสังคมหนึ่งที่มีพาราดามต่างกันออกไปจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องอย่างเช่นมารยาทในการกินอาหารของชาวญี่ปุ่น