เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 3:30 am | 0 คอมเมนต์
อ่านแล้วก็อย่าท้อนะคับ เป็นเพียงมุมมองๆหนึ่งของรักษาการสว.เท่านั้น
จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ แต่ก็สามารถประมวลได้จากที่ผ่านๆมา ที่เห็นและเป็นไป
ขอเชิญทัศนา...
อวสานสภาสูง
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดที่สองตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กำลังจะมาถึงในวันที่ 19 เม.ย.นี้ แต่ดูเหมือนการเลือกตั้งครั้งนี้ แทบจะไร้ความหวังโดยสิ้นเชิงสำหรับผู้รักประชาธิปไตย
ซึ่งได้เห็นความตกต่ำของสภาสูงจากการเลือกตั้งชุดแรกมาเป็นลำดับ
วุฒิสภาซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจบริหาร กลั่นกรองกฎหมาย เลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ จะเป็นอิสระได้อย่างไรในเมื่อมีแนวโน้มว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งจะเป็นเมีย-ลูก ผัว ญาติพี่น้อง หรือคนในอาณัติของนักการเมืองและพรรคการเมืองแทบทุกพื้นที่
ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สมควรที่จะเรียกว่า "สภาสูง" อีกต่อไป เพราะเป็นเบี้ยล่างอยู่ในอาณัติของสภาล่างเสียด้วยซ้ำ
ไม่มีเสียดีกว่า"
วัลลภ ตังคณานุรักษ์
"ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ต้องมี ให้ปาร์ตี้ลิสต์กลั่นกรองกฎหมายไปเลย แล้วเราไปดีไซน์รายละเอียดองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาตรวจสอบ การลงประชามติ ประชาพิจารณ์ มีขั้นตอนยังไง ก็เข้าหลักที่ผมเชื่อตลอดว่าการเมืองต้องมี 2 ระบบ คือในระบบกับนอกระบบ มันต้องเดินคู่กัน เมื่อไหร่ที่การเมืองในระบบเป็นเผด็จการ การเมืองนอกระบบต้องจัดการ"
ครูหยุยย้อนอดีตในการเป็น ส.ว.มา 6 ปีว่า เนื่องจากเขาเป็น ส.ว.แต่งตั้งมาก่อน พอมาเป็น ส.ว.เลือกตั้งในตอนแรกๆ ก็ภาคภูมิใจ
"พอมันมีการเลือกตั้งก็มีความรู้สึกว่าอันนี้มันของจริง เพราะตอนอยู่ในชุดแต่งตั้งจะถูกผู้แทนราษฎรเขาปรามาสตลอด คุณมาง่ายๆ แน่จริงคุณไปเลือกตั้งสิ อันนี้อาจจะเป็นอันที่หนึ่งที่อยู่ในใจว่าเออเราไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง เป็นชุดแต่งตั้งยุคคุณบรรหาร ชุดนั้นสังคมชมเยอะ ตอนนั้นภาคภูมิใจมาก แล้วเราก็เป็นคนรวบรวมบรรดาคนหนุ่มสาวในวุฒิฯ ชุดนั้น เรียกว่าเป็นยังเติร์ก มันค่อนข้างก้าวหน้า"
"ทีนี้ชุดเลือกตั้งแน่นอนมันก็มาด้วยความรู้สึกว่าประชาชนเขาคาดหวังนะ คนไปลงคะแนนถล่มทลาย การเมืองตอนนั้นเข้าใจว่าแทรกไม่ค่อยได้ แต่ละคนลงนี่เราก็คาดหมายถูกว่าคนนั้นน่าจะได้ๆ ในกรุงเทพฯ นะ ในต่างจังหวัดเนื่องจากเรารู้จักคนน้อย แต่เห็นคนเข้ามาก็โอเค ก็รับได้"
"2 ปีแรกของการเป็นสมาชิกชุดเลือกตั้งค่อนข้างมีอิสระมาก ยกนิ้วให้เลย สังเกตการณ์เลือกองค์กรอิสระออกมาคนยี้น้อยมาก 2 ปีแรกก็ถือเป็นยุคทองของ ส.ว.ชุดนี้เลยที่เขาแทรกแซงได้น้อย ด้วยความรู้สึกที่ประชาชนเลือกเรามาแต่ละคนก็คึกอยากทำโน่นทำนี่เยอะแยะไปหมด แต่ว่ามันก็ยังแพ้ความเจนจัดของพวกที่เขามีเรื่องทางการเมือง เขาก็เข้ามาตำแหน่งประธานกรรมาธิการได้ไม่ยาก
ล็อบบี้เป็น ขนาดเรามาเป็นมา 4 ปียังทำไม่เป็นเลย แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องของการเมืองภายในกันมากกว่าที่จะเข้าไปในตำแหน่ง แต่ว่าเรื่องของการทำหน้าที่ใน 2 ปีแรกผมว่าใช้ได้"
"แต่พอปีที่ 3 เห็นได้ชัดเจนว่าโอ้โหหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะสังเกตว่าการลงคะแนนแต่ละครั้งมันไม่ง่ายนะ กว่าจะได้ 30 คะแนน-40 คะแนนเลือดตาแทบกระเด็น แต่หลังๆ เนี่ยมันฟาดทีเดียว 90 ถ้ายิ่ง 2 ปีสุดท้ายกวาดยกชุดๆ ซึ่งในแง่สถิติใครเรียนวิจัยมา มันเป็นไปไม่ได้เลย เข้าใจว่าขบวนการจัดแจงมันเปลี่ยนเป็นระบบมากกว่า พวกเราก็ใหม่การจัดแจงช่วงแรกก็อาจจะเป็นคนสองคนเข้ามาจัดแจง มันก็มีหลุดมีรอดบ้าง แต่พักหลังเขาก็แบ่งเป็นโซน เช่นผม 5 คน คนนั้น 7 คน เลยพรึ่บ มันก็เลยมีแกนสัก 15 คนนี้ ดังนั้นการใช้แกนแบบนี้ในการล็อกก็ง่ายมาก แสดงว่าวิธีล็อกแบบนี้ กลไกทางการเมือง ผู้แทนราษฎรมีความเจนจัดมากในการแบ่งเป็นโซนๆ ฉะนั้นหลังผ่านยุคทอง 2 ปีแรกก็เป็นยุคเสื่อมของวุฒิสภา และเสื่อมสุดๆ ใน 2 ปีหลัง"
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 3:35 am | 0 คอมเมนต์
"เสื่อมชนิดที่ก็อายนะ ถึงขนาดเราก็ว่ากันแรงๆ เจอหน้าก็บอกไม่ต้องมาพูด มีนอกมีใน อะไรอย่างนี้ และก็เข้าใจว่าวิธีการของเขาก็ฉลาดนะ ที่จะดูคน เช่นคนนี้ชอบเที่ยว คนนี้ชอบไปเมืองนอก คนนี้ชอบเล่นการพนัน การรู้กลเม็ดแบบนี้ผมเชื่อว่าเป็นวิธีที่จะตะล่อมเพื่อให้ได้คนนี้มาอยู่ในกลุ่ม ซึ่งก็มี แต่ก็มีเรื่องชัดนะว่าไอ้คนพวกนี้ไปแตะไม่ได้ เขาจะขีดเส้นเลย แก้วสรรอย่าไปยุ่งกับมัน จอนอย่าไปยุ่ง เขาจะขีดเส้น พวกนี้ไปยุ่งไม่ได้จะโดนเตะเอา ด่าเอา แน่นอนมันก็มีปีกตรงข้าม อย่างปีกท่านมนูญกฤต หลายเรื่องเราก็มารวมกัน แต่เราก็ได้ไม่เกิน 60-70 สูงสุดตอนนั้น 73 สูงสุดที่เคยได้ ไอ้ที่ชนะคือฟลุคมากเขาตั้งตัวไม่ทัน เป็นกฎหมาย เสนอกันเปรี้ยงทันที โหวตผลัวะๆๆ เราก็ดูแล้วมันก็ไม่สำคัญมาก แต่ถ้าเรื่องสำคัญมันก็จะตั้งรับทัน"
"ฉะนั้นภาพรวมที่มองก็ค่อนข้างผิดหวัง ยิ่งถ้าเทียบกับยุคแต่งตั้ง ซึ่งแต่งตั้งว่าไปแล้วมันก็ไม่น่าภาคภูมิใจเท่ากับเลือกตั้ง เราก็มองว่าพวกนี้เป็นพวกที่รัฐบาลจัดตั้ง แต่ก็เห็นว่าหลายเรื่องเขาก็ขบถ เช่นกฎหมาย 11 ฉบับในช่วงนั้นเขาก็ขบถ คุณบรรหารก็หน้าแตกไปหลายครั้ง ถ้าเทียบกันจะมี 2 สมัย สมัยนั้นกลับภาคภูมิใจทีหลัง เมื่อมาเทียบเคียงกันแล้ว สมัยนี้ภาคภูมิใจตอนแรกตอนเลือกตั้ง แต่มาอับอายมากในช่วงหลัง ในจุดเด่นของชุดนี้ก็มีเรื่องกฎหมาย เนื่องจากอาจจะเป็นเพราะว่าขบวนการของสังคมแข็ง เช่นเรื่องครูไม่ยอม กฎหมายครูเขาไม่ยอม เขาบุก พวกวุฒิฯ ก็ปอดกันใหญ่เลยก็ช่วยครู หรือป่าชุมชน ชาวบ้านรุกมามันก็ต้องพยายามช่วย แม้จะแพ้ก็หวุดหวิดนะ นี่คือตัวอย่างในแง่กฎหมาย เมื่อประชาชนเขาเป็นเจ้าของกฎหมาย เขาดูแลกฎหมายฉบับนั้นๆ เขาก็จะลุกขึ้นมาสู้ พอลุกขึ้นมาสู้มันมีผล โดนล็อบบี้ ถึงตัววุฒิฯ ในจังหวัด พวกนี้ก็ปอด และรัฐบาลเองก็อาจจะไม่ซีเรียสนักกับกฎหมายเพราะว่าแม้วุฒิฯ จะชนะก็ตั้งกรรมาธิการร่วม หรือไม่ก็ดึงเรื่องไปเลยให้มันตกไปเองโดยอัตโนมัติ มันก็ไม่ค่อยสลักสำคัญอะไร"
"แต่เรื่องที่จะแย่มากๆ นอกจากเรื่องแต่งตั้งกับเรื่องตรวจสอบ ยากมาก เปิดลงมติทั่วไปก็ไม่ครบ การรายงานเรื่องหนักๆ หลายเรื่อง เช่นคลองด่านก็ถูกโหวตไม่ให้รายงาน คืออะไรที่กระทบรัฐบาลจะชัดมากว่าเขาจะลุกขึ้นมาพรึ่บเลย และวิธีลุกจะลุกแบบไม่ใช่แบบผู้แทนที่ลุกประท้วง เป็นระยะๆ อันนี้เขาจะเงียบๆ ทำเหมือนไม่มีอะไร อภิปรายไป 18-19 คนนี่เห็นด้วยหมดเลย แต่พอโหวตแพ้หมด มันก็ตลกดีนะ ตอนแรกดูเหมือนชนะแน่นอน แต่โหวตแพ้หมด เขาก็ไม่สนใจคุณจะพูดอะไรก็พูดไป แม้กระทั่งในการประชุมลับ เรื่องตรวจสอบประวัติ เรียกว่าลับจนหนาวไม่กล้าเลือก พอโหวตมันกลับเลือกเฉยเลย แรกๆ อยู่ฟังมากหน่อย พอประชุมลับหายหมด อาจจะเพราะเขาไม่อยากให้พวกนี้อยู่ฟังก็ได้นะ เพราะมันเขวได้เหมือนกัน"
ประชุมลับไม่เหลือใครเลยหรือ ทำไมมันแปลกอย่างนั้น วิสัยคนทั่วไปต้องอยากรู้เรื่องลับๆ
"อยู่แต่พวกเราที่เป็นกรรมาธิการตรวจสอบ คอยถามคอยตอบ เขาไม่ฟัง เพราะว่าจะฟังไม่ฟังมันก็อยู่ในหัวแล้วไง ให้ฟังกลับเขวได้นะ มันมีแผลนั้นแผลนี่ เขวได้" ครูหยุยบอกว่า ส.ว. 200 คนตอนประชุมลับจะเหลืออยู่ไม่กี่คน "โอ๊ย 50 คนก็สุดยอดแล้ว จนกระทั่งเสร็จเข้ามาโหวต ความจริงประชุมลับนี่น่าจะใช้วิธีใหม่ ลับแต่เสียง แต่ยังเห็นหน้าอยู่ จะได้รู้ว่าใครอยู่บ้าง"
"นี่คือประเด็นปัญหา ความรับผิดชอบผมก็ยังรู้สึกว่าสู้ชุดที่แล้วไม่ได้ ชุดที่แล้วประชุมทีกรรมาธิการพรึ่บ แน่นตลอด แม้กระทั่งการไปติดตามงานต่างจังหวัด ชุดปัจจุบันส่วนใหญ่ก็เป็นที่ปรึกษา นักวิชาการ บางทีก็ตั้งอนุฯ ซะมากมาย เอาคนนอกทั้งนั้นมานั่งตรวจสอบ มันเป็นเรื่องตลก เป็นจุดอ่อนมาก ที่เราพยายามแก้แต่แก้ไม่ทัน ข้อบังคับ ตั้งอนุกรรมาธิการได้ 10 เป็น ส.ว.สักคนหนึ่ง นอกนั้นคนนอก 9 คน แล้ว ส.ว.ไม่มา ไอ้ 9 คนเป็นใครไม่รู้เรียกคนมาตรวจสอบใหญ่เลย ใช้อำนาจแทนเรา ซึ่งก็น่าเสียใจที่คนเขาเลือกเรามา"
ครูหยุยบอกว่านี่คือข้อบังคับที่พยายามจะแก้แต่แก้ไม่สำเร็จ "ตั้งอนุฯ ตรวจสอบอันนั้น ตั้งอนุฯตรวจสอบอันนี้ มีวุฒิฯ นั่งอยู่คนหนึ่ง ก็ไม่ค่อยมา หรือมาประชุมเดี๋ยวก็หาย คนนอกก็มาตรวจสอบ เราก็ไม่ได้ดูถูกเขา แต่ในแง่กฎหมายเขาไม่ใช่วุฒิฯ เขาเป็นนักธุรกิจบ้าง ข้าราชการบ้าง และถ้ายิ่งเป็นคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แย่เลย ยกตัวอย่าง เขาขายเครื่องไฟฟ้า เราไปตั้งอนุกรรมาธิการ เรียกคนที่เป็นคู่ปรปักษ์มาซักใหญ่เลย อย่างนี้ ซึ่งผมว่ามันไม่ถูก"
"นี่ก็เป็นตัวอย่างว่า มันเสียดายโอกาสที่เขาให้แต่วุฒิฯ ทำหน้าที่ไม่เต็มที่ เสียใจก็คือว่าหลายแสนมือนะ ต่อ ส.ว. 1 คนที่เขาเลือกเรามา แต่ยกโดยไม่ได้คิดถึงเลย นึกจะยกก็ยก ยกเพราะอะไรก็ไม่รู้ ความจริงต้องคำนึงถึงว่าเรายกแทนคนเป็นแสน มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรี ถ้าคุณขายศักดิ์ศรีได้ก็ลำบาก สะท้อนให้เห็นว่ามันก็ไม่ต่างกับการมี ส.ส. 700 คน"
ส.ว.ชุดนี้หลายคนในตอนแรกก็ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองแต่มาเปลี่ยนแปลงในภายหลัง "แม้ว่าเราจะไปลงเลือกตั้งผู้แทนทันทีไม่ได้ แต่การอยู่ในตำแหน่งผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่ง ส.ว.มันหวานหอม เขาก็เกาะตรงนี้ได้ เกาะการเมืองได้ 2-3 ปีหลัง มีโอกาสหลายเรื่องนะ ส่งลูกเมียลงก็ได้ ลูกเมียสามีก็ได้ สัมพันธ์กับการเมืองยิ่งแข็งมากโอกาสที่ได้มันก็สูง สอง เมื่อสัมพันธ์กับการเมืองดีธุรกิจก็เดิน ประมูลอะไรก็ได้ สามก็ยังทำงานการเมืองได้อีกนะ ไปเป็นนักการเมืองที่ยังไม่ใช่เป็นผู้แทน หรืออีก 4 ปีรอไปเป็นนักการเมืองได้อีก"
"สิ่งที่ตลกคือว่ากับคนแก่ๆ ไม่ค่อยเป็น อาจจะไม่ได้สนใจ ส่วนใหญ่จะขยัน แต่หนุ่มๆ สาวๆ กลับแย่ ในความเห็นผมนะ ไม่ค่อยมีจุดยืน เสียดาย"
เพราะพวกนี้คิดถึงอนาคตตัวเอง? "ใช่ คนแก่เขาขยันจริงๆ นะ ว่ายังไงก็ว่ากันตรงไปตรงมา แน่นอนบางเรื่องอาจจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล แต่มันก็ตรงไปตรงมา ยอมรับได้ เขาบอก ครู อันนี้ผมเห็นด้วยกับเขานะ เขาอธิบายได้ เป็นความเชื่อของเขา เราก็ฟังได้ พวกนี้ใช้ได้"
ตรงนี้กลับเป็นเรื่องผิดคาดที่ครูหยุยบอกว่าข้าราชการเกษียณยังดีเสียกว่าคนหนุ่มสาวบางราย "เออ กลับใช้ได้นะ ไม่น่าเชื่อ แต่หนุ่มๆ สาวๆ กลับไม่สนใจการประชุม ไม่ค่อยสนใจกรรมาธิการ ไม่ค่อยสนใจอะไร พวกอายุระดับ 50 ลงมา น่าเสียดาย น่าเสียดายอนาคต ศักดิ์ศรี ข้าราชการส่วนหนึ่งก็เป็นสายรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่มาโหวตทางเราเยอะเหมือนกันนะ เพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่าจะไปอะไรต่อ ยกเว้นบางคนอาจจะส่งเมียอะไรอย่างนี้ แต่ว่าส่วนใหญ่เท่าที่ดูความขยันขันแข็ง ความตรงไปตรงมา แต่แน่นอนบางทีก็อาจจะโทรศัพท์ขอกันได้บ้าง ก็มี เพราะความเป็นข้าราชการเก่า แต่เท่าที่ดูเทียบเคียงพวกนี้กลับใช้ได้ เห็นยังไงก็ว่าตรงๆ บอกท่านเลือกให้ดีนะองค์กรอิสระถ้าได้คนดี เขาก็บอกผมเข้าใจครู คนนี้ผมว่าใช้ได้ เขาก็มีเหตุผลของเขา เขายังใคร่ครวญไตร่ตรอง"
ครูหยุยบอกว่าไม่เพียงแต่ผู้ว่าฯ นายพล แต่รวมถึงนักการเมืองเก่าด้วย "คือพวกสูงอายุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นข้าราชการไม่เป็นข้าราชการ ในทัศนะผมกลับใช้ได้ พล.อ.อาทิตย์ คุณปราโมทย์ ใช้ได้หมดเลย พวกนี้นั่งประจำ นั่งอยู่ในห้องประชุม ขยัน ซักถาม ตรงไปตรงมา มันก็แปลกเหมือนกัน"
พวกที่ไปหมดก็คือ "พวกธุรกิจพวกการเมือง และพวกวัยที่จะกระโดดโลดเต้นได้ ก็เหนื่อยใจ เสียดาย"
[/quote]
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 3:40 am | 0 คอมเมนต์
สภาสูงชุดก่อนว่าเหนื่อยแล้ว แต่ชุดนี้น่าจะแย่กว่า
"คราวนี้ยืนยันเลยว่าจะแหกโผเหมือนคราวที่แล้วไม่ได้เลย กรุงเทพฯ นี่ผมว่า 2-3 คนเท่านั้นที่จะหลุดไปได้ ผมเห็นแค่ 3-4 คนที่พอจะไปลุ้นกับเขาได้ แม้กระทั่งถ้าเอาชุดเรานะ เอา 18 คนที่ได้ไปลงคราวนี้ ผมจะถามตัวเองว่าผมมีลุ้นหรือเปล่า มันไม่ง่าย เขาจัดหมด เพราะเขารู้ว่าถ้าจัดตั้งแต่ต้นมันง่ายกว่าล็อบบี้ทีหลัง ทางใต้ประชาธิปัตย์เขาก็จัดเอาหมดแหละ เพราะว่าผู้แทนเขาไม่มี ก็ต้องเอาวุฒิฯ ให้ครบเพื่อไปถ่วงกันอย่างหนัก บวกกับ กทม.บางส่วน บวกกับในเมืองบางส่วน เผลอๆ มันอาจจะสนุกกว่าวุฒิฯ ชุดนี้ด้วย เพราะมันชัดเป็น 2 ซีกเลย ซัดกันให้พอไปเลยงานนี้"
ครูหยุยบอกว่าถ้าแยกเป็นวุฒิรัฐบาลวุฒิฝ่ายค้านอย่างนี้แล้ว คนที่เป็นกลางก็อาจจะเหลือไม่ถึง 10 คน "น้อยมาก ต่ำ 10 ผมว่า"
"วุฒิฯ ผ่านไป 3 ปีเขาก็วางแผนแล้ว เพราะฉะนั้นมันจึงเฮโลไปช่วยรัฐบาลไง ลูกเมียจะได้ลงได้ ไม่ยากหรอก 30,000 หน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพฯ หน่วยละ 2 คะแนนก็พอแล้ว ทำไมจะไม่ได้ คราวที่แล้วผมได้หน่วยละ 1 คะแนน 30,000 คะแนน แล้วผมไปโวยอีก 20,000 กว่า 5 หมื่นกว่าคะแนน คราวนี้จัดหน่วยละ 2 คะแนน ทำได้อยู่แล้ว"
แล้วจะไม่มีใครได้คะแนนมากแบบปราโมทย์ด้วย "ไม่มีลากไปสุดๆ ผมดูแล้วไม่เกินแสน คราวที่แล้วยังมีเจิมศักดิ์ ดำรง สื่อแรงมาก คราวนี้สื่อก็ไม่แรง ตำรวจคราวที่แล้วก็ได้ท่านประทิน คราวนี้ไม่มีใครเด่นสักคน"
ยิ่งไม่มีคนเด่นก็ยิ่งจะเป็นคะแนนจัดตั้ง "ถูกต้อง แต่ก็เป็นจัดตั้งแค่พอควร 5 หมื่นๆๆ ประมาณนี้ ไม่มีใครลากไป พวกเราก็ไปตามเก็บทีละคะแนนๆ โอ๊ยเหนื่อยแทบขาดใจ อย่างคราวนี้พันธมิตรมากกว่าทางรัฐบาลแต่ก็ลงหลายคน แบ่งกันยังไง เราทำไม่เป็น เพราะเราไม่มีหัวคะแนน แต่เขามี อย่างหลักสี่อยากจะช่วยใครมันมีอยู่ในมือแล้ว 5 หมื่นคะแนน เราทำไม่ได้ มันต้องอาศัยกระแสช่วย"
ครั้งนี้สายเอ็นจีโอในต่างจังหวัด อย่างหมอนิรันดร์ ครูยุ่น ทองใบ เตือนใจ คงเข้ามาได้ยากมาก ไม่เหมือนคราวที่แล้วที่การเมืองตั้งหลักไม่ทัน สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะคนเด่นไม่มีอีกแล้ว ครูหยุยรับว่าเป็นไปได้ เหมือนที่เชียงรายก็ไม่มีทายาทของเตือนใจ
"เอ็นจีโอไม่มีเด่นสักคน พวกชาวเขาก็เถียงกันว่าจะเอาใคร เอาคนนี้คนนั้นก็รับไม่ได้ พวกเรามันติดเล็กติดน้อยกัน อย่างเตือนใจเป็นเอกภาพ พี่แดงลงทุกคนโอเค ต่างจังหวัดนี่ยาก เอ็นจีโอก็ไม่เด่นจริง ไอ้ที่เด่นจริงๆ ก็ไม่ลง รากเหง้าของพวก 14 ตุลามันหมด ขาดตอน รุ่นหลังมันพรวดแล้วก็หายๆ แช่นานๆ ไม่มี ก็ลำบาก"
ถ่วงดุลนอกระบบ
ครูหยุยเห็นว่าถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มี 4-5 ประเด็นที่ต้องดีไซน์ หนึ่งคือ กกต. ให้อำนาจใบแดงใบเหลืองไม่ได้แล้ว ไปที่ศาลอย่างเดียว หมดเรื่อง เพราะมันรีดกันแหลกลาญ อันนี้ดีไซน์ไม่ยาก 90 วัน 60 วัน แล้วแต่รัฐธรรมนูญ ยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ใน 60 วัน แต่มันตีความยังไงครบวาระให้ 45 วัน เพราะมีโอกาสเตรียมตัว แต่ยุบเปรี้ยงนี่จะกำหนดยังไง 90 วันหรือ 60 แต่อันนี้ไม่ใช่ประเด็นเท่าไหร่"
"ที่หนักคือที่มาขององค์กรอิสระ ตรงนี้จะดีไซน์ยังไง เพราะถ้าล็อกกันอยู่อย่างนี้มันก็ยาก อำนาจวุฒิฯ จะดีไซน์แบบเดิมไหม อำนาจจะเป็นยังไง 4-5 ประเด็นนี้เป็นประเด็นแหลมคมที่ดึงเอามาทำแค่นี้ก็พอ หลายเรื่องไม่ต้องแก้ ถ้าแก้ตรงนี้ได้ก็น่าสนใจ"
ครูหยุยบอกว่า สำหรับวุฒิสภา ถ้ายังเป็นอย่างนี้ให้ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายอย่างเดียวก็พอ มีปัญหาเพียงว่าจะเลือกองค์กรอิสระกันอย่างไรเท่านั้นเอง
"ผมว่าถ้าดูที่มาแล้วแก้ไม่ออกอย่างนี้นะ ทำหน้าที่เดียว กลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบให้องค์กรอื่น เพราะอะไรรู้ไหม กรณีรสนากับทีมงาน ทำเรื่องได้ดีกว่าวุฒิฯ อีก ตลกไหม ตรวจสอบรัฐมนตรีสาธารณสุขทุจริตยาก็สำเร็จ-ติดคุก กฟผ. ฟ้องศาลปกครองก็ทำสำเร็จ เราเรียกมาไม่ได้เรื่องเลย เพราะเราหน้าที่ศึกษาติดตามเสนอรัฐบาล รัฐบาลก็เฉย กลายเป็นกลไกข้างนอกที่ทำได้ดีกว่า อันนี้น่าสนใจมาก จะดีไซน์ให้กลไกข้างนอกมันมีหน่วยรองรับยังไง แต่นั่นก็โชคดีที่บังเอิญศาลปกครองยืนถูก ถ้าไม่ใช่ชุดนี้ก็ลำบากเหมือนกัน อันนี้น่าคิดว่ากลไกข้างนอกจะทำยังไงให้เป็นที่ยอมรับมากกว่านี้ เป็นองค์กรที่มีส่วนตรวจสอบเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ ให้มีที่ในเวทีการตรวจสอบได้ เพราะว่ามันทำหน้าที่ได้ดีกว่า ป.ป.ช.อีก ผมว่ามันมาถึงจุดที่ต้องคิด สังคมต้องมาช่วยกันคิดหนักเรื่องในประเด็นแหลมคม 3-4 ประเด็นนี้ องค์กรอิสระ การตรวจสอบจริงๆ จะให้วุฒิฯ ไปถอดถอนไม่มีทาง ฝันกลางวันเลย หลายเรื่องที่เราคิดไม่ถึงมันเกิดขึ้นได้ เพราะเรามาเจอการจัดการแบบธุรกิจ มันเบ็ดเสร็จ ซึ่งพวกเรานักวิชาการ เอ็นจีโอ คิดไม่ทัน เราคิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้คิดแบบแนวคิดการเมือง แต่พอเจอธุรกิจแบบที่มีระบบสุดยอด มันคิดซับซ้อนปั๊บๆๆ เราไม่ทันจริงๆ ต้องยอมรับ รัฐธรรมนูญมันเลยกลายเป็นเครื่องมือ แม้ว่าเขาจะไม่เข้ามาก็ตาม เขาบอกว่าคุณร่างไม่เกี่ยวกับผม ก็จริง แต่หัวคุณมันทะลุไปได้หมด ระบบการจัดการนี่เขาสุดยอดจริงๆ แทงทะลุได้หมด พวกเรามองไม่เห็น มองแบบวิชาการล้วนๆ รัฐศาสตร์ล้วนๆ นิติศาสตร์ล้วนๆ มันไม่มีเรื่องแท็กติก"
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 3:44 am | 0 คอมเมนต์
ครูหยุยเห็นว่าถึงที่สุดไม่มีวุฒิสภาก็ยังได้ "ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ควรมี ถ้าเป็นแบบนี้ ให้ปาร์ตี้ลิสต์กลั่นกรองกฎหมายไปเลย ประหยัดงบประมาณมหาศาลเลย เพราะว่าเขาต้องการให้กฎหมายไปรับใช้เขา ปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเป็นเสียงข้างมากก็ต้องไปช่วยกลั่นกรองให้มันดีขึ้น ถ้ากฎหมายมันทำลายรัฐธรรมนูญจริงๆ มันรับไม่ได้ ก็ต้องมีองค์กรอื่นลุกขึ้นมาสู้กับมันเอง เปิดช่องตรงนี้ไว้ อย่างนี้ดีกว่า ประหยัดกว่า ประชาพิจารณ์ประชามติ ดีไซน์ยังไง เราขาดรายละเอียด เราเขียนหลัก พอลงรายละเอียดมันล็อกหมดเลย เมื่อก่อนเราคิดไม่ถึง"
"ผมว่าถ้าเป็นแบบนี้ไม่ต้องมี ให้ปาร์ตี้ลิสต์ทำกฎหมายไปเลย แล้วเราไปดีไซน์รายละเอียด องค์กรต่างๆ ที่เข้ามาตรวจสอบ ประชามติ ประชาพิจารณ์ มีขั้นตอนยังไง ก็เข้าหลักที่ผมเชื่อตลอดว่าการเมืองมี 2 ระบบ ในระบบกับนอกระบบ มันต้องเดินคู่กัน เมื่อไหร่ที่การเมืองในระบบเป็นเผด็จการ การเมืองนอกระบบต้องจัดการ ไม่อย่างนั้นก็อ้างกันว่ามาถูกต้อง คุณมาถูกแต่คุณทำผิดนี่ มันไม่ได้ หรือการอ้างมันต้องอ้างให้ครบ อ้างว่าต่างประเทศ อเมริกาเขาทะเลาะกัน เลือกตั้งเสร็จเขาจบ ต่างคนต่างทำ ใช่ แต่ไม่พูดประเด็นว่าอเมริกาเขาหน้าบางถ้าเขาทำผิดเขาลาออกทันที ทำไมไม่พูดประเด็นนี้ล่ะ คือพูดไม่หมด พูดเอาแต่ประโยชน์ใส่ตัว ของเขาโกงนิดเดียวเขาลาออกเลย สังคมตั้งคำถาม แป๊บเดียวเขาลาออกเลย อันนี้มันเป็นปัญหาของรายละเอียดทั้งหมด"
"มันมีสถาบันบางสถาบันที่ต้องพูดถึงด้วยในทางการเมือง คือพระปกเกล้า สถาบันพระปกเกล้าเป็นสถาบันทางการเมือง แต่ไปอิงกับรัฐสภา ความจริงต้องทำเรื่องการเมืองหนักๆ เลย ให้ความรู้กับประชาชน ตรงนั้นแหละคือทางออก สุดท้ายมันจะหลุดจากระบอบทั้งหมดได้ การเมืองภาคประชาชนต้องเรียนรู้อย่างมาก ตอนนี้ข้อมูลมันรู้ไม่เท่ากัน เราไม่ได้ว่าคนต่างจังหวัดโง่นะ เขารู้ไม่ทัน พ่อผมเขาเป็นคนจีน ผมกลับไปเยี่ยมบ้าน เอ๊ะพ่อคิดยังไงกับเรา พ่อบอกเอ้าเป็นไง พูดภาษาจีนนะ สถานการณ์เป็นยังไง เราก็บอกเป็นอย่างนี้ๆ เล่าให้ฟัง แกบอกอย่าคิดมากเลย คนที่เขาดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์เขาจะเข้าใจ คนที่ไม่ได้อ่านเขาเห็นแต่เงินเขาก็เป็นอย่างนี้แหละ เออ มันก็ถูกนะ เรื่องข้อมูลจำเป็น คนที่เขาไม่เห็นข้อมูลก็จะเห็นแต่เงิน ซึ่งก็เข้าใจเขานะ เมื่อก่อนไม่มีใครไปสนใจเขาเลย เอาเงินล้านมาลงในที่เรา เอาเงินไปซื้อมอเตอร์ไซค์ได้ซื้อมือถือได้ เอาไปลงทุนทำโน่นทำนี่ได้ เอสเอ็มแอลมา กองทุนหมู่บ้านมา ทั้งที่เงินเราทั้งนั้นแต่เขาไม่รู้ เขาเห็นง่ายๆ แบบนี้ แต่เขาไม่เห็นความรู้ คนในเมืองเขาเห็น เขาอ่านเขาฟัง มันก็เลยเกิดกระบวนการการเมืองนอกสภา ตรงนี้ที่ผมคิดว่าเราถึงมีม็อบตลอด ระบบการเมืองที่แข็งประชาชนเขาเล่นงานผู้แทนเขาเอง แบบทางใต้ มันเห็นชัดว่าคุณพลาดไม่ได้เลย เพราะความรู้เขาสูง อันนี้จะทำยังไงให้ครอบคลุมทั่งทุกภาค"
ถ้าวุฒิฯ เป็นอย่างที่กำลังจะเลือกกัน ก็ไม่มีเสียดีกว่า แต่ติดขัดเรื่องเดียวว่าองค์กรอิสระจะมีที่มาอย่างไร
"ก็ต้องดีไซน์ มีหลายคนเสนอแนวคิดว่าให้องคมนตรีตั้งซิ โห มันก็เสี่ยงไป เท่ากับว่าใกล้ชิดในหลวงมากไป มันก็เสี่ยง เอ้า ถ้าอย่างนั้นก็ทำอย่างสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมฯ อันนี้ก็น่าสนใจ มันก็มีที่มาหลากหลายได้ แต่มันก็ยังล็อกกันได้อยู่ มีแนวคิดที่บอกต้องมาจากองค์กรบางองค์กร เช่น ศาลส่วนหนึ่ง มันก็ได้ไม่กี่คน ซึ่งตอนนี้ศาลยังเป็นอิสระอยู่พอสมควร จะให้สัดส่วนมากขึ้นยังไง ก็น่าสนใจ แต่อันนี้ก็เป็นเรื่องในเมืองอีก ต่างจังหวัดไม่ได้มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็พูดกันเรื่องกลุ่มวิชาชีพ ถามว่ากลุ่มวิชาชีพมีอะไร แรงงานก็ทะเลาะกันตาย ชาวนาก็ไม่รู้กี่กลุ่ม บ้านเรายังดีไซน์กลุ่มอย่างนี้ไม่ออก เรามี choice ที่จะเข้ามาสู่ขบวนการเราดีไซน์ไม่ออก เพราะมันยกแผงมาให้เราเลย เราไม่มี choice เลยเลือกใครมันก็ได้หมด ผมยังเคยพูดประชดว่าจับฉลากเลยไหม ตรงขั้นตอนสรรหา 15 คนนี่แหละที่ต้องดีไซน์กันใหม่ ยกตัวอย่าง อธิการมหาวิทยาลัย ราชภัฏหมดเลย โหวตยังไงก็ได้ ต่อไปราชมงคล อาชีวะ ก็เป็นสถาบัน เทียบเท่ามหาวิทยาลัย"
คนร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดไว้ว่าจะมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นกุรุส
"ใช่ เจอเข้าแบบนี้ตายเลย มันตายจริงๆ เราไม่ได้ไปดูถูกเขา แต่มันล็อกเลย ต่อไปธรรมศาสตร์สุรพลแข็งนักใช่ไหม โหวตไม่เอามันเลย จุฬาฯ ใช่ไหม ไม่เอามึง-ตาย เขาโหวตไม่เอาได้จริงๆ เพราะโหวตทีเดียวยกมือพรึ่บ จะบอกว่าเฮ้ยยูมหา'ลัยชั้น 2 ก็ไม่ได้ มันต้องคิดเยอะเลย รัฐธรรมนูญเราล้าหลังเร็วมากนะ แต่มันก็มีทางออก ขอเพียงจัดประเด็นสัก 3-4 ประเด็น แต่จะต้องทันเหลี่ยมเขาเหมือนกัน เขาบอกทำประชาพิจารณ์ ยาวไปเรื่อย อันนี้น่ากลัว ต้องล็อกเลย ให้เหมือนคราวที่แล้ว ส.ส.ร. เสร็จแล้วก็โหวตเอาไม่เอา"
ครูหยุยย้ำว่าถ้าไม่มีวุฒิสภา ก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญให้กระจายอำนาจตรวจสอบมากที่สุด "ผมเปรียบเทียบกับรสนา เราทำอะไรไม่ได้เลย เขากลับมีบทบาทที่คมกว่าเรา หรือของท่านประทิน เป็นกรรมาธิการวิสามัญเล็กๆ ตรวจสอบทุจริตประพฤติมิชอบ ก็จัดการใครไม่ได้เหมือนกันนะ สังเกตไหม แต่มันมีข่าวได้ตลอด ให้กวนใจทุกวัน แต่จัดการเขาไม่ได้ โหวตก็แพ้ แต่องค์กรข้างนอกไม่ได้โหวต มันเกาะติดหมดเลย ใช้ภาพสังคมยิงภาพตลอด ไปไม่รอดหรอก ตรงนี้น่าดีไซน์ตัวอย่างที่เทียบกัน องค์กรแบบนี้จะทำยังไงให้มีมากๆ หรือไม่ก็มีกองทุนสนับสนุนให้เขาทำหน้าที่"
ถ้าย้อนกลับไปเปรียบเทียบ ถ้าไม่ใช่ทักษิณเข้ามา สมมติ ปชป.เป็นรัฐบาล วุฒิสภาจะทำงานได้ไหม
"เหมือนกัน เขาก็ล็อกเหมือนกัน คือคนมามีอำนาจทางการเมืองก็ต้องล็อกองค์กรอิสระให้อยู่กับตัวเองทั้งนั้น มันอาจจะไม่หวือหวา ไม่ฉลาดกว่ากัน ทักษิณนี่เขามีวิธีการพูดคนละแบบนะ พูดกับนักวิชาการอีกแบบ กับชาวบ้านอีกแบบ เก่งมาก ต้องชมเขา และพัฒนาเร็วมากเลยนะ"
ครูหยุยสรุปทัศนะว่า วุฒิสภาควรทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายอย่างเดียว "แต่ถ้าเห็นว่ามันแพงนักก็ใช้ปาร์ตี้ลิสต์ และก็ไปดีไซน์รายละเอียดเรื่ององค์อิสระ ทั้งที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและองค์กรภายนอก ใช้เวลากับมันตรงนี้ คุ้ม และมันทำให้การเมืองภาคประชาชนแข็งด้วย จนถึงยุคหนึ่งที่คนมีความรู้มากๆ การเลือกคนเข้ามามันจะมีประสิทธิภาพเอง เราอาจจะมาเร็วเกินไปก็ได้ มันอาจจะเหมาะสำหรับอีก 30 ปี ความรู้มันเต็มแผ่นดิน"
ถามทิ้งท้ายว่าถ้าจะแนะนำให้เลือกคนควรเลือกอย่างไร
"หนึ่งเลือกคนที่อยู่ในชุมชนเรา ทำประโยชน์ให้ชุมชนเรานานต่อเนื่อง นั่นแหละคือสิ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นลำดับแรก"
"จะเลือกใครขอให้อ่านประวัติหน่อยเถอะ ที่เขาส่งมาให้นั่นแหละ อันที่สองถ้ารู้ว่ามันโกงหรือโคตรโกงก็อย่าไปเลือกมัน หลักคิดง่ายๆ เลือกผู้หญิงให้มาก เพราะผู้หญิงมันเพ่นพ่านน้อยกว่าผู้ชาย โอกาสจะเสียผู้เสียคนน้อยกว่า อันนี้พูดจริงๆ ผู้หญิงถึงเวลาก็กลับบ้าน ผู้ชายไปตีกอล์ฟบ้าง ไปเที่ยวบ้าง ต้องใช้จ่ายเงินเยอะ โอกาสจะรับจ๊อบสูง แต่ผู้หญิงที่ไม่ใช่สามีเป็นนักการเมืองนะ (หัวเราะ)"
"มันเป็นสูตรจริงๆ นะ มีคนถามเมียผมไม่ลงเหรอ เมียผมหัวเราะใหญ่ แค่นี้เขาก็ปวดหัวจะบ้าอยู่แล้ว"
.................................................................................................
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 3:48 am | 0 คอมเมนต์
และอีกท่าน....
"มันจบแล้ว"
สมเกียรติ อ่อนวิมล
"เที่ยวนี้จบแล้วครับ วุฒิสภา ผมว่าอย่าไปพึ่งเลย สุพรรณบุรีก็เรียบร้อยหมดแล้ว จังหวัดอื่นไปดูชื่อก็จะพบว่าเมีย ลูก หลาน น้อง ที่นามสกุลเดียวกันมันชัดเจนเลย....ชุดนี้จะไม่เหลือความดีให้ชมเท่าไหร่เลย ส.ว.ที่มีคุณภาพ ที่มีอิสระที่เข้าไปจะท้อแท้มากเลย"
ดร.สมเกียรติพูดในฐานะ ส.ว.สุพรรณบุรีที่หลุดเข้ามาอย่างเซอร์ไพรส์ในการเลือกตั้งรอบแรก แต่รอบนี้เขาชี้ชัดว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้จะไม่มีอีกแล้ว
"สมาชิกวุฒิสภาชุดที่หมดอายุก็วิจารณ์กันมากว่าปีแล้วว่าวุฒิฯ ชุดที่ 2 ก็คงจะเป็นชุดที่พรรคการเมืองคุมอำนาจเกือบจะหมด มากกว่าเดิม ต้องเกินครึ่งสภาแน่นอน เหลือในกรุงเทพฯ ไม่กี่คนที่เป็นผู้มีชื่อเสียงและอิสระ ต่างจังหวัดก็เป็นลิ่วล้อ ลูกหลาน ลูกเมีย พี่น้อง ญาติโยมของพวกนักการเมืองต่างๆ เพราะเป็นบทเรียนที่คุณทักษิณพยายามทำจนสำเร็จก็คือกว้านซื้อหรือเอา ส.ว.ไว้ในกลุ่มพรรคพวกตัวเองได้มากเกินครึ่ง ทำให้จัดการกับกฎหมายและองค์กรอิสระได้ตามใจ"
"ในการเลือกตั้งเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมยกตัวอย่างสุพรรณฯ ที่ผมเล่าตามความเป็นจริงก็คือ คุณบรรหารจัดพื้นที่ 3 เขต การแบ่งเขตก็เพื่อให้ ส.ส.คุมคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ว.ที่สังกัดพรรคชาติไทยทางอ้อม หรือต้องพึ่งบารมีพรรคชาติไทย การเลือกตั้งตอนนั้นเป็นการเลือกตั้ง ส.ว.ระบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อพรรค สุพรรณฯ เขาแบ่ง 3 เขตเพื่อให้ได้คะแนนประมาณบวกลบแสน 7-8 หมื่นก็ชนะแล้ว การแบ่งเขตแบบนั้นมันก็ชัวร์ คุณบรรหารก็ได้เข้ามา 2 มีผมแทรกเข้ามาคนหนึ่ง"
"เขาชะล่าใจ คือผมอยู่นอกสายตาอยู่แล้ว เขาชะล่าใจว่ายังไงสุพรรณฯ ก็ของเขา เพราะฉะนั้นผู้สมัครทุกคนต้องไปขออนุญาตคุณบรรหารให้สนับสนุน คุณบรรหารก็หนุนไป 3 คน คนที่แกไม่หนุน คนดังที่สุดคือ พ.ต.อ.ปรีดี เจริญศิลป์ คุณปรีดีประกาศว่าคุณบรรหารไม่สนับสนุนเขาก็จะลง เขาจะพิสูจน์ให้รู้ว่าใครกันแน่ที่มันแน่จริง เขาต้องชนะและต้องชนะที่ 1 ด้วย คุณบรรหารไม่ได้ใช้เงินนอกจากจัดขบวนการต่างๆ ให้ผู้สมัครได้รับความสะดวกจากหัวคะแนน คุณบรรหารเลยพลาด คุณปรีดีชนะที่ 1 คุณบรรหารได้มาคนเดียวในรอบแรก" แต่ต่อมา พ.ต.อ.ปรีดีก็โดนใบเหลืองถึง 2 ครั้งจนแพ้ไปในที่สุด
"ผมไม่รู้มายังไง ผมคิดว่าสำหรับผมเป็นกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่ก้าวหน้าขึ้นทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา และข่าวสาร คุณบรรหารก็บอกผมว่าไม่ขวางแต่ไม่ช่วย เมื่อเรียกผมเข้าไปพบ บอกไม่ให้ลงแล้วก็ยังลง เขาเรียกผมเข้าไป ผมจึงพูดได้โดยไม่ต้องกลัวถูกฟ้อง"
"สุพรรณฯ เป็นตัวอย่างมาตรฐานของเมืองไทยสำหรับพรรคการเมืองที่ไม่มีวันปฏิรูป เพราะหัวหน้าพรรคหรือคนสำคัญของพรรคเขาไม่ปฏิรูป เมื่อคุณบรรหารไม่ปฏิรูปและแพ้ครั้งที่แล้วได้มาเพียง 2 คน ฉะนั้นคุณบรรหารก็ถือเป็นบทเรียนว่าแพ้ไม่ได้ เที่ยวนี้ต้องให้ครบ 3 คน ส่วนคุณทักษิณก็หนุนไปเรื่อยๆ จนพบว่าคะแนนในวุฒิสภาไม่พอที่จะแก้กฎหมายที่ตัวเองต้องการ โดยเฉพาะกฎหมายโทรคมนาคม การกว้านซื้อ การแผ่อิทธิพล การหาพรรคพวกเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเขาแก้กฎหมายโทรคมนาคมได้"
"อันนี้ผมกล่าวหาด้วยข้อมูลที่ถูกต้องเลย คุณทักษิณเข้ามาสมัยแรก วุฒิสภาชุดผมก็เข้ามาพอดี กฎหมายโทรคมนาคมเข้ามาทั้งฉบับ ถูก ส.ว.แก้สัดส่วนถือหุ้นจาก 49 เหลือ 25 หลังจากนั้นในช่วง 4 ปีก็กว้านซื้อ ส.ว.ได้หมด และก็ลงเลือกตั้งใหม่ ได้ ส.ส.มา 375 ส.ส.พรรคเดียวรวบแก้ พ.ร.บ.โทรคมนาคมได้ ส.ว.ก็ถูกซื้อไว้หมด จึงส่งมาตรา 8 กลับมาแก้ เรื่องขายหุ้นเทมาเส็กมันไม่ใช่กฎหมายใหม่ ผมเป็นคนแปรญัตติกับคุณโสภณสองคน ผมจึงพูดเรื่องนี้ด้วยความแค้นตลอดเวลา"
"โห มันโคตรเลย เมื่อเขาซื้อ ส.ว.ได้ เขาก็ร่างกฎหมายเฉพาะมาตรา 8 เข้ามา แก้สัดส่วนการถือหุ้นจาก 25 เป็น 49 ตามที่เขาต้องการ ส.ว.ก็ยกมือกันเป็นฝักถั่ว ผมกับคุณโสภณเคยแปรญัตติได้คราวที่แล้ว ก็แปรใหม่ ล้มทุกมาตรา และก็แพ้ ล่องจุ๊นไปเลย"
"ถามว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่เป็นยังไง ก็จบ คุณไม่ต้องมีวุฒิสภาหรอกครับ คุณจะเหลือประมาณ 20-30 คนที่เป็นเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงโดยอิสระ นอกนั้นเป็นลิ่วล้อเป็นพรรคพวกของพรรคไทยรักไทยกับพรรคอื่นๆ พรรคไทยรักไทยจะโดดเด่นที่สุดเพราะเขาต้องการแก้กฎหมายทุกระดับ ตั้งแต่ ส.ส.ไปถึง ส.ว. อย่างเที่ยวที่แล้วเขาก็ได้ พ.ร.บ.โทรคมนาคมเป็นหลักใหญ่ 7 หมื่นกว่าล้านบาท พอแก้เสร็จเขาขายหุ้นทันทีเห็นไหม ที่จริงเขาคุยกันมาตั้ง 4 ปีแล้ว วันแรกที่เราแก้ปรับเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ รุ่งขึ้นเขาก็โมโหกันทุกบริษัท ไม่ว่าจะยูคอมหรือเอไอเอส แต่เขาคอยจังหวะว่าจะทำยังไง มันก็ต้องซื้อคนที่เป็นนักการเมืองขายตัว"
"เพราะฉะนั้นเที่ยวนี้จบแล้วครับ วุฒิสภา ผมว่าอย่าไปพึ่งเลย สุพรรณบุรีก็เรียบร้อยหมดแล้ว จังหวัดอื่นไปดูชื่อก็จะพบว่าเมีย ลูก หลาน น้อง ที่นามสกุลเดียวกันมันชัดเจนเลย บางคนคุณไม่รู้จักชื่อนามสกุลว่ามันโยงกันยังไง แต่ลงไปท้องถิ่นก็เห็น มันก็เกาะกลุ่มกันมา"
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 3:52 am | 0 คอมเมนต์
ผิดเจตนารมณ์
ในฐานะอดีต ส.ส.ร. อาจารย์สมเกียรติบอกว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้ ส.ว.เป็นคนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปอยู่แล้ว จึงไม่ให้หาเสียง แต่คนที่มีชื่อเสียงไม่พอ ก็หาทางพึ่งนักการเมือง
"มันสืบเนื่องมาจากพวกอยากเป็น ส.ว.ไม่มีชื่อเสียง แต่ว่าเป็นที่รู้จักอยู่บ้างในจังหวัด มันไม่ได้เป็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่ามาจากการเลือกตั้ง เจตนารมณ์มาจากคนที่สังคมรู้จัก เพราะฉะนั้นจึงไม่ให้มีการหาเสียง ไม่ได้บอกว่าไม่ให้หาเสียงแต่ให้แนะนำตัวในคำจำกัดที่ กกต.กำหนด เจตนารมณ์คือก็คุณดังแล้ว ดังดีด้วย ดังเลวเขาไม่เลือก คุณสร้างตัวมาจนสังคมเห็นผลงานมาตลอด คนพวกนี้ควรจะเสียสละเวลาสัก 6 ปีในชีวิต แบ่งเวลามาทำงานให้กับวุฒิสภา คนพวกนี้จึงไม่ต้องลงทุน รัฐธรรมนูญเขียนไว้ดีแล้วว่าคุณไม่ต้องแนะนำตัวอะไรมากมาย ทุกวันนี้บ่นกันว่าทำไมไม่ให้หาเสียง ทำไมป้ายเล็ก ก็เขาต้องการคนดัง ต้องการคนมีชื่อเสียงที่สังคมยอมรับ คนพวกนี้ไม่ต้องหาเสียงไม่ต้องแนะนำตัว"
"อย่างผมไม่ใช่ว่าวิเศษมาจากไหน แต่ผมไม่ต้องพิมพ์อะไรเลยเพราะคนเขารู้จักแล้ว คิดยังไงเขาก็รู้ เวลาผมลงสมัครที่สุพรรณฯ ก็ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โปสการ์ดนามบัตรผมยังไม่พิมพ์เลย ใบปลิวก็ไม่มี ชาวบ้านไปอ่านเอาที่บอร์ด พลิกดูว่าว่า ดร.สมเกียรติเบอร์อะไร ชาวบ้านคิดเป็น ดูก็รู้ว่าชื่ออะไร พอเห็นบนบอร์ด อย่างสุพรรณฯ 17 คน เห็นหน้าผมก็รู้แล้ว เขาต้องการคนแบบนี้ ดีเลวสังคมเขารู้เขาจะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ คนดังบางทีเขาไม่เลือกก็ได้ เพราะดังด้านไหน แต่คนที่ไม่มีใครรู้จักต้องไปสร้างตัวใหม่ เราจึงจะได้ ส.ว.ที่มีคุณภาพ แต่นี่คนไม่รู้จัก แต่คุณบรรหารรู้จัก (หัวเราะ) คุณทักษิณรู้จัก และก็สัญญาว่าถ้าเข้าไปแล้วแกจะช่วยจัด ชาวบ้านก็ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นการเลือก ส.ว.ต้องเลือกแบบที่รัฐธรรมนูญอยากเห็น ไม่ต้องแนะนำตัวก็ได้"
"ผมพูดกับ พล.ต.อ.วาสนา ตอนที่เข้ามาชี้แจงกรรมาธิการฯ บอก เลือกตั้ง ส.ว.มันไม่ควรจะต้องทำอะไรเลยในเชิงประชาสัมพันธ์ พิมพ์คู่มือแต่ละจังหวัด สุพรรณบุรีมีกี่คน สมัยผม 17 คน ก็ใส่ไป 17 ชื่อ คนละ 2-3 หน้า ทุกคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้รับแจกคนละเล่ม กรุงเทพฯ เยอะหน่อยสมัคร 200 กว่าคน ใส่ชื่อ ประวัติ ผลงาน รูป 2 หน้าก็พอ คิดค่าสมัครสักแสนบาทเป็นค่าพิมพ์ ทุกวันนี้จ่ายค่าสมัครหมื่นเดียวเอง แล้วต้องไปลงทุนเป็นล้าน ผมแนะนำ กกต.ไปอย่างนี้ทั้ง 2 ครั้ง บอกท่านก็ทำแบบอเมริกาสิครับ เขาไม่ติดป้ายเลย เขาไม่ได้ห้ามแต่ถ้าใครติดไม่มีใครเลือก เพราะมันเลอะ ป้ายก็ไม่มีข้อมูล มีแต่ภาพกับชื่อ ไม่มีเบอร์ ไม่ได้ให้ information อะไร อเมริกาเขาให้หนังสือ 1 เล่ม พิมพ์ด้วยกระดาษธรรมดาๆ ข้างในเต็มไปด้วยชื่อ ความคิดของผู้สมัคร เขาใช้ทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น กฎหมายที่ต้องลงประชามติ ถ้าทำแบบนั้นพวกเราก็ไม่ต้องทำอะไร สมมติจ่ายค่าสมัคร 1 แสนจบแล้ว ต่ำมากการลงทุนในการหาเสียง คุณวาสนาก็บอกว่าคนไทยไม่นิยมอ่านหนังสือ และยังดูถูกว่าคนไทยจำเลขไม่ได้ ต้องหันคูหาออก (หัวเราะ)"
"ต่อไปนี้คุณจะไม่ได้วุฒิสภาเหมือนชุดแรกที่คนทั่วไปเขายังชิงชัง ตำหนิต่อว่า ว่ามีปัญหาเยอะแยะ ชุดนี้จะไม่เหลือความดีให้ชมเท่าไหร่เลย และ ส.ว.ที่มีคุณภาพ ที่มีอิสระที่เข้าไปจะท้อแท้มากเลย อย่างผมก็ไม่ถือว่าอยู่ในชั้นผู้นำใน ส.ว.แต่ว่างานที่เราอุตส่าห์ทำจนภูมิใจก็มีเป็นบางเรื่อง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม เรายังแพ้เลยเพราะพวกคนเลวมันซื้อได้ ส.ว.คนหนึ่งเข้ามาจับมือผม น้องสมเกียรติแปรญัตติพูดดีแล้ว พี่อยากลงให้แต่พี่ลงให้ไม่ได้ เพราะถ้าพี่ลงธุรกิจพี่เจ๊ง คนเลวๆ อย่างนี้สภาที่แล้วมี ก็ดูดีนะโดยภาพรวมของเขา แต่เป็นคนดีที่ใจเสาะ ห่วงธุรกิจ เพราะฉะนั้นก็เลยต้องโหวตให้คุณทักษิณรวย ตัวเองจะได้รวยนิดๆ หน่อยๆ เรียกว่าติดร่างแหรวยไปด้วย"
อาจารย์สมเกียรติรับว่าสาเหตุหนึ่งที่จะแย่เพราะครั้งนี้ไม่มีคนมีชื่อเสียงไปลงในต่างจังหวัด
"ผมดูแค่บรรยากาศสุพรรณฯ เขาก็บ่นว่า เอ้าแล้วดอกเตอร์จะให้เลือกใคร ก็ไม่รู้เพราะคนที่ลงก็ไม่ดัง พอไม่ดังปุ๊บก็ว่าตามหัวคะแนนสั่ง ถ้ามีตัวเลือกเขาก็เอานะ ถ้าไม่มีก็ไม่รู้จะเอายังไง คุณคิดดูผมไม่ได้ทำอะไรเขาให้มา 8 หมื่นกว่าคะแนน ตกใจสุดขีด ผมกะว่า 2 หมื่น ผมบอกคุณบรรหาร ผมประมาณ 2 หมื่นเพราะ อ.สามชุกบ้านเกิดหมื่นกว่า ศรีประจันต์ประภัตรเขาไม่ให้ผมอยู่แล้ว เดิมบางฯ ที่ทะเบียนบ้านผมอยู่ก็นิดหน่อย แต่ปรากฏว่าคนสุพรรณฯ เขามีความคิด พอมีทางเลือกเขาก็เลือก ถามเขาว่าทำไมเลือกผม จะได้ไปถ่วงๆ ไว้ ก็เหมือนที่เลือกพรรคไทยรักไทยเที่ยวนี้ได้ 2-3 หมื่นแต่ละเขต ก็เป็นคะแนนที่ขู่คุณบรรหารได้เลยว่าคุณอย่าชะล่าใจนะ ไทยรักไทยไม่ใช่ขี้ไก่นะ เงินก็มี ผลงานก็หลอกได้ ถึงเราคิดว่าไม่จริง แต่มันหลอกได้ ชาวบ้านจับต้องได้ เป็นบาทเป็นสตางค์ คุณบรรหารให้อะไรนอกจากคอยไปตรวจบึงฉวาก (หัวเราะ) ข้าราชการเขาโค้งคำนับ แต่ถึงเวลาเขาไม่เชื่อฟังได้ คุณบรรหารต้องเดือดร้อนนะ สมมติถ้าแข่งกันจริงๆ ระหว่าง 2 พรรคนี้ไทยรักไทยต้องได้ประมาณ 1 ที่นั่ง"
เลือก ส.ว.ครั้งนี้ก็จะเหมือนกันแทบทุกจังหวัดคือไม่มีคนเด่น
"ไม่มีคนระดับชาติ ครั้งนี้มันจะเป็นพวกเติบโตมาในท้องถิ่น พวกหอการค้า สภาอุตสาหกรรม เทศมนตรี อบจ. พวกนี้จะเติบโตมาเป็นลูกน้องคุณบรรหาร ลูกน้องคุณทักษิณ เป็นนักการเมืองหรือคนมีชื่อเสียงระดับท้องถิ่น ไม่ใช่ระดับชาติ อย่างสุพรรณฯ ความจริงยังเหลือคนดังอีกเป็นกระบุงเลยแต่เขาไม่สนใจ บางคนถ้าเขาคิดจะลงเขาก็คิดว่าแพ้ บางคนเคยพูดกับผมว่าไม่มีทางชนะ เพราะคุณบรรหารเอาไปหมดแล้ว คิดแบบนี้ก็ไม่ต้องไป เออถ้าไปสักหน่อยเราจะได้ช่วยแจมๆ หาเสียงให้ได้บ้าง"
"ผมพูดในเฉพาะสุพรรณฯ นะ คุณบรรหารได้ทำลายวัฒนธรรมทางความคิดอิสระโดยที่แกอาจจะไม่รู้ตัวหรอก แกอาจจะเป็นคนขยันเฉยๆ และก็ไม่ยอมแพ้ใคร เอาหมดทุกอย่างไม่ว่าจะตำแหน่งไหน ต้องอยู่ในครอบครองของแก ตั้งแต่ อบต. อบจ. ไปจนถึง ส.ส. ส.ว. ต้องเป็นพวกแกหมด แกก็เลยลืมว่าสังคมมันต้องปฏิรูป การเมืองต้องปฏิรูป ประชาชนต้องแบ่งกันเติบโต ส.ว.แกยังเรียกผมเข้าไปคุย มาลงทำไม ผมบ่ายเบี่ยงเป็นเดือน ก็ไปเพราะเพื่อนมันจี้ จึงรู้ว่าแกไม่ใช่นักปฏิรูปการเมืองอะไร เป็นเถ้าแก่ทางการเมือง อย่างนี้สุพรรณก็ไม่โต ทุกคนไปไหนก็จ๋อยกับคุณบรรหารหมด ลงก็กลัวแพ้ สุดท้ายสุพรรณฯ ก็ไม่มีวัฒนธรรมความกล้าหาญเลย"
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 3:57 am | 0 คอมเมนต์
เล่าให้ฟังว่าตอนเป็น ส.ว.แล้วเจอบรรหารในสภาเวลาประชุมร่วม "เราก็จะเข้าไปไหว้ในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ 2-3 ครั้งที่ไปไหว้ แกก็จะว่าผมทุกที ต่อหน้าพวกนิกร จำนง, วราวุธ ผมก็ขำไม่ได้คิดอะไรมาก สมเกียรติคุณน่ะดีแต่ว่าผม ชอบเหน็บผมอยู่เรื่อย ทำไมไม่มาช่วยกันพัฒนาจังหวัดของเรา เราเป็นพวกเดียวกันนะ เอาแต่ว่ากัน คุณบรรหารแกไม่ได้เกลียดชังผมขนาดถึงฆ่าให้ตาย แต่คงรำคาญ ไอ้นี่มาว่ากันอยู่ได้ เป็นพวกเดียวกันก็จบ ตอนผมลง ส.ว.แกเรียกเข้าไป บอกอย่ามาลงเลย หางานอื่นให้คุณทำเอาไหมล่ะ เอานี่ไหมคุณไปสมัคร เดี๋ยวผมจัดการ ตำแหน่งต่างๆ ที่เขาประกาศรับ จัดการได้ ไปเลยเดี๋ยวผมจัดการให้แต่อย่ามาลง ส.ว.(หัวเราะ)"
ซื้อตัวเห็นๆ
อาจารย์สมเกียรติลำดับความให้ฟังว่า ส.ว.ชุดที่แล้ว ช่วงแรกก็ไม่มีปัญหา
"ช่วงปีแรกกำลังคลำทิศทางว่าจะไปทางไหน เพราะไม่เคยมีกัน และพวกที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็มีความรู้สึกภาคภูมิใจ บริสุทธิ์ใจ แต่ว่าการหาคะแนนที่ได้รับเลือกมามันก็ไปพึ่งท้องถิ่น หัวคะแนน แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องผูกพันตอนแทนบุญคุณกัน มันมีส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มาด้วยความผูกพันโดยตรง ฉะนั้นช่วงปีแรกผมว่าทุกคนก็ยังดูดีอยู่ จากนั้นมันค่อยๆ เข้ากลุ่ม แล้วก็เริ่มโหวตเป็น pattern ชัดเจน อันนี้ก็แสดงว่าพรรคการเมืองพอเห็นสัดส่วน ส.ว.ในสภาแล้วก็เริ่มแทรกแซงเพื่อให้มันกระชับแน่นมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องซื้อเสียงเรื่องก๊วนกินข้าว เล่นกอล์ฟ อะไรต่างๆ มันก็เริ่มชัดเจนขึ้น"
"สมมติกลุ่มคุณทักษิณ ศรีเมืองเป็นผู้นำกลุ่ม ไปไหนเขาก็รวมกลุ่มกัน การอภิปรายการลุกขึ้นพูดประท้วงฝ่ายตรงข้าม หรือคอยกระตุกทุกคนให้อยู่ในกรอบการโหวตของกฎหมายบางชิ้น อันนี้ก็เห็นชัดเจนว่ากลุ่มคุณศรีเมือง คุณอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ พวกนี้เขามาตั้งแต่ต้น และมีเพื่อน ส.ว.บางคนที่ผมสังเกต บางคนเราก็คุ้นเคย มาจากครูบ้านนอกธรรมดา เป็นคนดี ก็เริ่มไปกินข้าวไปตีกอล์ฟกับเขา เริ่มอภิปรายให้ มีอยู่หลายคน คนที่เราเคยเห็นว่าสดใสบริสุทธิ์ การพูดเขาก็จะเริ่มกร้าวขึ้น เราก็เห็นเลย ไปแล้ว บางคนก็มาบ่นว่าโอ๊ยพี่สมเกียรติก็พี่มีตังค์แล้ว เขานึกว่าเรารวย (หัวเราะ) ที่จริงเรายังรับเงินเดือนอยู่เลย สบายแล้วนี่ ผมนี่ค่าน้ำมันรถบางเดือนยังแย่เลย 3 พัน 4 พันผมก็ต้องเอา พูดอย่างนี้ บ้า"
"พวกนี้ก็จะเริ่มอภิปรายเอาใจคุณทักษิณ พวกหนุ่มๆ อายุ 40 กว่าจะมีเยอะ เราสังเกตพวกนี้หนุ่มๆ มีอนาคต พูดจาฉะฉาน สักพักพอเขาไม่เอา ในช่วงคุณทักษิณจะหาผู้สมัคร ส.ส.สมัยที่ 2 คนพวกนี้บางทีก็กลับตาลปัตร สังเกตวิธีอภิปราย กลับทิศทางเลย คืออกหัก ประเภทอยากเอาใจ เราก็ดังในจังหวัดของเรา พวกนี้อาจจะไม่ได้รับเลือกแต่ฉายแสงให้เห็นว่าขนาดเป็น ส.ว.ยังอภิปรายได้ขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเที่ยวหน้าขอผมลง ส.ส.พรรคไทยรักไทยได้ไหม มันจะออกมาแนวคิดอย่างนี้ พวกประชาธิปัตย์บางทีคุณชวน คุณอภิสิทธิ์มากินข้าว เวลาประชุมร่วม ก็ไปจัดแจงนั่งคุย ส.ว.หนุ่มๆ ก็จะมาก๊อกแก๊กๆ ในช่วงปีสุดท้าย คุณชวนก็บอกเอ้า เดี๋ยวไปคุยกันสิ ครับๆๆ ท่าน ก็จะมีอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ส.ว.ที่หนุ่มๆ และคิดว่าอนาคตจะต้องเป็น ส.ส.ก็จะจีบคุณทักษิณก่อนเพราะเขาใหญ่ ด้วยการอภิปราย แล้วก็ลงคะแนนให้ พวกนี้จะไม่ได้เงินหรอก แต่หวังว่าเขาจะชอบ พอทิศทางไทยรักไทยเปลี่ยนเขาไม่เอาด้วย พวกนี้กลับอภิปรายด่า มีอยู่ 2-3 หนุ่มที่สังเกต ด่าคุณทักษิณด่าพรรคไทยรักไทยแบบเหมือนของแท้เลย (หัวเราะ)"
"เพราะฉะนั้นการเข้าข้างคุณทักษิณอาจจะซื้อตัว หรือบางคนอยากจะซื้อใจ มันแล้วแต่ บางทีก็มี connection ทางธุรกิจก็ต้องเป็นพวกเดียวกัน พอสิ้นสมัยปีสุดท้ายหนุ่มๆ ก็เริ่มหาทิศทางแล้วว่าจะไปไหน เพราะช่วงเลือกตั้ง ส.ส.มันผ่านไปแล้วแต่ ส.ว.หนุ่ม เลือกตั้งครั้งหน้าคงไม่ไกลนัก ป่านนี้ก็คงไปสังกัดพรรค 2 พรรคนี้แล้วละ นายกฯ ชวน อาจารย์สุรินทร์ เจอผมก็บอกสมเกียรติมาช่วยบ้านเมือง เขาก็จะชวนทั้งนั้น เราก็ได้ข้อมูล แต่คงไม่ ถ้าเป็น ส.ส.มันก็ต้องอยากเป็นรัฐมนตรี เป็น ส.ว.แล้วไปเป็น ส.ส.มันเหมือนเดินทางลงมา ไม่มีอะไรทำ"
เจตนารมณ์รัฐธรรมนุญให้เป็น ส.ว. 6 ปี แล้วไม่ต้องไปทำอะไรอีก
"มันควรจะคิดแบบนั้นแต่มันคิดไม่ได้ เวลาเราร่างรัฐธรรมนูญผมจำได้ เพราะผมเป็น ส.ส.ร. เราร่างเพื่อให้คนที่มีชื่อเสียงในสังคมมาเป็น ส.ว.สมัยเดียว จึงกันไม่ให้ติดต่อกัน 2 สมัย ฉะนั้นเวลาออกไปเยี่ยมประชาชนจะได้ไม่ต้องไปหาเสียงเพื่อสมัยหน้า และไม่ต้องติดใจเพราะเรามีอาชีพที่สร้างฐานชีวิตเรามา เขาไม่ต้องการให้คุณทิ้งอาชีพเดิม เพราะฉะนั้นเราก็กลับมาที่ตั้งเดิม และพอเราอายุมากขึ้นก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งว่าจะกลับไปเป็น ส.ส.ได้ยังไง อายุระดับผมมันก็ต้องรีไทร์แล้ว มานั่งทำอย่างอื่นในเชิงปัญญา หรือนั่งไปเผื่อเขาเชิญไปเป็นรัฐมนตรี ก็ดี จะได้ฟัน อสมท ทิ้ง (หัวเราะ) อย่างนี้ได้ แต่ไม่ใช่มาสร้างอนาคตทางการเมือง บางคนเขาติดใจ เอาเป็นบันไดไต่เต้า มีหลายคนที่ไม่ได้มาจากการเมือง แล้วอยากมีอนาคตทางการเมืองต่อ อย่างพวกอายุ 40 กว่าๆ เราก็ไม่อยากโทษเขา เ ขายังหนุ่มอยู่เขาต้องมีอนาคต เราก็เข้าใจ จะมาใช้แนวคิดแบบผมคงไม่ได้ คนละทฤษฎีกัน เขามีอนาคตทางการเมือง แต่จริงๆ รัฐธรรมนูญบัญญัติโดยมีเจตนารมณ์ไม่ให้เรามาแสวงหาอนาคตทางการเมืองเพราะเรามีชื่อเสียงในวิชาชีพมาก่อน และปันเวลามา 6 ปี และไม่ใช่ว่าทั้งวันทุกวัน อาชีพเดิมก็ยังทำได้อยู่"
"มันผิดเจตนารมณ์หมด ผมคิดว่าแก้รัฐธรรมนูญยุบให้เหลือสภาเดียวดีกว่า แต่คงไม่มีใครทำ ถ้าเกิดมันเป็นเผด็จการรัฐสภาอย่างนี้ก็เหลือสภาเดียว แต่มันไม่ดีหรอก เพราะฉะนั้นการเลือกตั้ง ส.ว.คงจะต้องวางกรอบให้เข้มงวดมากขึ้น หรือแต่งตั้งไปเลย จากในหลวง องคมนตรี ให้อำนาจถ่วงดุลนิดหน่อย อย่ามากนัก แต่คงทำไม่ได้เพราะว่ามันผ่านมาถึงขั้นนี้แล้ว"
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 4:04 am | 0 คอมเมนต์
ถ้าเลือกตั้งก็จะเป็นอย่างนี้อยู่ แม้จะไม่ใช่ทักษิณ
"เพราะคนที่เข้าสู่การเมืองไทยไม่ปฏิรูปตัวเอง ไม่ยอมอยู่ในกรอบว่า ส.ว.ต้องเป็นคนแบบไหน ไม่ยอมคัดเลือกตัวเองก่อน จำได้ว่าคุณเสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายซึ่งผมชอบมากว่า ก่อนอื่นคุณต้องเลือกตัวเองก่อน ก่อนลงสมัคร ส.ว.คุณต้องถามตัวเองว่าคนอย่างคุณ คุณจะเลือกไหม อ่านรัฐธรรมนูญแล้วดูเจตนารมณ์ คนอย่างเราใช่ไหม ไม่ใช่เพราะเราอยากเป็นอย่างอื่น แล้วไปขอคุณทักษิณ ช่วยหนุนผมหน่อย เวลาเราไปเดินหาชาวบ้าน บอกเนี่ยผมพวกเดียวกับคุณทักษิณนะ 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าคุณเป็นอย่างนี้ก็อย่าเลือกตัวเอง คุณเสรีเขาเข้าใจพูด แต่ว่าผู้สมัครทั้งหลายไม่รู้จักมองตัวเองหรอก ก็จบ"
"ผมว่าถ้าเราแก้อะไรไม่ได้ ยุบทิ้ง คือไม่มีวุฒิสภาเลย มันก็คงไม่มีใครทำ หันไปหาการแต่งตั้งโดยสาขาวิชาชีพหรือองคมนตรี หรือในหลวงตั้ง ก็คงลำบาก เพราะฉะนั้นก็มีทางเดียวคือค่อยๆ พัฒนา แบบลุ่มๆ ดอนๆ ถ้าเรามีรัฐบาลที่ดีซักรัฐบาล ประเภทปฏิรูปความคิดอ่านตัวเองอย่างแท้จริง ให้การศึกษากับประชาชนอย่างไม่กลัว สมมติเลือกตั้ง ส.ว.รัฐบาลต้องรณรงค์ไปเลย ว่าอย่าเลือกครอบครัวเดียวกัน พูดแบบไม่ต้องเกรงใจเลย และถ้าจะเป็นครอบครัวเดียวกันดูซะบ้างว่าหัวคะแนนสั่งหรือเปล่า ถ้าสั่งไม่ต้องลง"
"ผมไปสุพรรณฯ จนอาทิตย์สุดท้าย ไปตามตำบลต่างๆ แต่ว่าเดือนท้ายๆ ผมจะไปพูดอย่างเดียว ถ้าหัวคะแนนบอกให้เลือกใครอย่าเลือก พูดกันตรงๆ อย่างนั้นเลย เพราะแสดงว่าพวกนี้มันไม่ใช่ ส.ว.ที่อิสระอย่างแท้จริง ก็เลือกที่เหลือ เป็นใครก็ยังดีกว่าพวกที่หัวคะแนนสั่ง ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยประชาสัมพันธ์ว่าควรจะเลือกยังไง กกต.ก็ควรจะทำบ้าง แต่ก็ไม่ทำ มีแต่อะไรก็ไม่รู้ที่ไปจ้างเขาทำแผ่นเสียงมา กกต.จะต้องทำอะไรให้มันฉะฉานชัดเจน"
ชุดที่ผ่านมาสายรัฐบาลพยายามเข้ามาล็อบบี้ ส.ว.สายกลางบ้างไหม
"ไม่หรอก เขาดูหน้ารู้ เขาไม่เชิญไปกินข้าวหรือไปเล่นกอล์ฟ บางทีผมก็แกล้งแซว เอ๊ะพี่ทำไมไม่ชวนผมไปเล่นกอล์ฟบ้าง โอ๊ยเชิญก็ไม่ไป ผมก็บอกเชิญก่อนสิ คือคนที่เห็นอยู่ในสังคมเขารู้นิสัยอยู่แล้วเขาไม่ต้องมาชวนหรอก ชวน อ.เจิมศักดิ์ อ.แก้วสรร ไม่ไหวหรอก ผมนี่เป็นประเภท-เนื่องจากไม่ได้อยู่ในฐานะชั้นแนวหน้า ผมก็อยู่แบบกลางๆ เหมือนนักข่าว คือนั่งได้ทุกโต๊ะ ก็ไม่ได้โฉ่งฉ่างรุนแรง สุดโต่ง ถึงจะชัดเจนว่าไม่ใช่คุณทักษิณ แต่ก็คุยกับคุณอดุลย์ได้ เพราะเราจะไม่แสดงความเป็นปฏิปักษ์ ไม่ใช่ว่าคลุมเครือ ผมก็อยู่ของผม ฉะนั้นผมก็จะได้ข้อมูลเยอะหน่อยว่าใครเป็นยังไง เวลาผมนั่งกินกาแฟก็คุยได้หมด อดุลย์นี่นั่งข้างหลังผม เขา อ. ผม ส. คุยกันได้เรื่อยๆ บางทีเขาบอกอาจารย์ช่วยผมหน่อยนะคนนี้ เวลาเขาจะลงองค์กรอิสระ ผมจึงรู้บรรยากาศมากหน่อย และพวกนี้เขาก็รู้ว่าผมคงไม่มีอะไร นอกจากไม่ชอบผมก็บอกไม่ชอบ แต่ไม่ใช่ขนาดไล่ฟัน พวกอดุลย์ ศรีเมือง กลุ่มเขามักจะมานั่งออกันข้างหลังผม เวลามีเรื่องเขาจะคอยซุบซิบนินทา มีปฏิกิริยา อ.เจิมศักดิ์พูดอยู่ตรงโน้น กลุ่มนี้เขาก็จะคอยมีปฏิกิริยา จะพูดสวนทุกที แต่ไม่ได้ผ่านไมโครโฟน บางทีบอก-xxx xxxx เป็นไปได้ไงวะ จะออกมาแบบนี้ คุณประทินอยู่ข้างหน้า 6 แถว ผมอยู่ตรงนี้ ก็ได้ยิน อดุลย์บอกไอ้เหี้ยพูดอย่างนี้ได้ไงวะ ไม่ได้เข้าไมโครโฟนแต่ได้ยินแว่วๆ เวลาอภิปรายก็จะหงุดหงิด ถึงได้ชกกัน รู้เลยเดินปรี่เข้ามา ผมอยู่ตรงนั้นได้ยินบ่อยผมจะรู้ว่าเวลาเขาไม่พอใจอะไรก็จะบ่นพึมพำ ดังแว่วๆ พอให้ได้ยิน"
ส.ว.สายรัฐบาลดูจะมีเยอะ แต่บางครั้งทำไมได้เสียงไม่มาก
"บางทีเขามาบ้างไม่มาบ้าง คือถ้ากฎหมายไม่สำคัญไม่วิกฤติเขาอาจจะไม่จำเป็นต้องจี้ให้มาครบ เวลาเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ เช่นเรื่ององค์กรอิสระทั้งหลาย หรือกฎหมายโทรคมนาคม ถึงเวลาเขาก็จะมากันเยอะ อย่างช่วงแรกที่ผมอภิปรายสงวนคำแปรญัตติจนชนะเมื่อปี 2544 เขามากันไม่พอ คือชะล่าใจ ย้อนอดีตที่ผมเกือบภูมิใจ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตอนเข้ามาสมบูรณ์ทุกมาตราแบบฉบับใหญ่ ศรีเมืองเขาเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญ ผมกับคุณโสภณก็เป็นกรรมาธิการอยู่ในคณะนี้ ผมก็ขอแปรกับคุณโสภณ เราจับมือกันเขียน ลดสัดส่วนเหลือ 25 แต่แพ้ในขั้นกรรมาธิการ กรรมาธิการเสียงข้างมากเอาตามคุณศรีเมืองหมด คือต่างชาติถือหุ้น 49 ไทย 51 กรรมาธิการยอมอย่างเดียวคือไม่ให้เก็บเงินค่ามัดจำเวลาขอใช้บริการ เพราะฉะนั้นเมื่อคนแปรญัตติกิ๊กก๊อก 2 คน ไม่มีพวกเลย คุณโสภณก็เป็นสไตล์ผู้ใหญ่ ดูเหมือนจะกลุ่มเจิมศักดิ์ แต่เขาเป็นผู้ใหญ่ เขาก็เหมือนตัวคนเดียว ผมก็เช่นเดียวกัน ไม่โฉ่งฉ่าง จะได้สักกี่คะแนน เวลาแพ้มติเป็นเสียงข้างน้อยในกรรมาธิการก็แค่ 2 คน เราก็สงวนคำแปรเพื่อพูดในสภาใหญ่ คุณศรีเมืองเขาก็คงเห็นว่าเออให้มันสงวนไป แล้วก็จบ ทุกครั้งเราก็จะคิดอย่างนี้ว่าท่าทางไม่มีทางชนะ คุณหญิงชดช้อยยังลงให้ศรีเมือง เพราะฉะนั้นคนที่สงวน 2 คน เสียงข้างน้อยก็คือสงวนเพื่อพูด ได้บันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติในบันทึกการประชุมวุฒิสภา ผมกับคุณโสภณก็ค้นข้อมูลแล้วพูด และฝ่ายเขาก็มากันไม่เยอะ ตอนนั้นมาประชุมกัน 100 กว่าคน ผมก็ชนะประมาณ 20 กว่าเสียง คือเราพูดแบบชักแม่น้ำทั้ง 5 อ้างเอกสารสารพัดอย่าง ใช้ข้อมูลแบบวิชาการแท้ๆ ก็บังเอิญชนะ เพราะเขานึกว่าชนะแน่ๆ เลยมากันไม่ครบ มันจะมีอะไรกับอีแค่สมเกียรติ โสภณ แต่บังเอิญเราพูดจนเขาเห็นด้วย เราชนะเขาจึงแค้นมากว่าเฮ้ยหลุดไปได้ยังไง"
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 4:07 am | 0 คอมเมนต์
ข้างต้นเป็นบทสัมภาษณ์ก่อนการเลือกตั้งสว.
นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์หลังการเลือกตั้งสว.ด้วยคับ ถ้าสนใจ...
ชอบสไตล์แสบๆคันๆมันส์ๆ...แก้วสรร-ขวัญสรวง อติโพธิ จะมาให้สัมภาษณ์ลงที่นี่
โปรดติดตามตอนต่อไป....
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 4:12 am | 0 คอมเมนต์
ปุย
Verified User
โพสต์: 2032
ผู้ติดตาม: 0
จันทร์ เม.ย. 24, 2006 9:28 pm | 0 คอมเมนต์
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
พฤหัสฯ. พ.ค. 04, 2006 5:22 pm | 0 คอมเมนต์
คืนนี้คงจะได้มาลงบทสัมภาษณ์แก้วสรร-ขวัญสรวง ...
จริงๆมีเรื่องราวมากมาย น่าสนใจใคร่รู้(อาจสำหรับผมคนเดียว)
ซึ่งคิดว่าน่าจะนำมาแบ่งปันกันอ่าน
แต่บางทีก็เบื่อๆอยากๆ
ก็เริ่มคืนนี้ก่อน อาจติดลม..ลงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ.........
ถ้าไม่เมาไปเสียก่อนน่ะคับ..
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
ศุกร์ พ.ค. 05, 2006 5:32 am | 0 คอมเมนต์
ขวัญสรวง อติโพธิ
23 เมษายน 2549
"ต้องไปให้พ้นจากการกัดกัน"
"ต้องให้เกียรติแล้วก็หวังในทางดีไว้ว่าทุกคนเขาก็มีประชาชนที่กาให้เขา และยังไม่ได้วิสาสะกันเลย ยังไม่มีข้อพิสูจน์ ฉะนั้นข้างนอกก่อนหน้านี้จะว่ายังไง ผมก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของข้างนอก ข้างในที่จะทำงานต่อ มันยังมาไม่ถึง หนักใจน่ะใช่ แต่ก็ยังสู้และยังหวังว่าคนเราก็ยังพูดกันได้ แต่ถ้าทำงานกันไปแล้ว... ถึงของจริงแล้วถ้ามึงเบี้ยว-ก็เป็นเรื่องกัน"
อาจารย์ขวัญสรวงยอมรับว่า คนที่เลือกคนที่เชื่อถือก็มาจากการทำงานใน 6 ปีที่ผ่านมาของฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน
"มาย้อนดู ผมก็นั่งวิเคราะห์เหมือนกันว่ามันเกิดจากอะไร ผมเชื่อว่า 6 ปีมันได้เกิดการชิมหรือการพบกับลักษณะการทำงาน ซึ่งหมายถึงจุดยืน วิธีคิด มวยชั้นเชิง ซึ่งมารวมกันแล้วก็เป็นการทำงานชนิดที่ อ.แก้วเขาทำ ซึ่งก็คงได้รับ feedback ไปมาจนเห็นว่า เออ ชนิดนี้แหละเป็นผู้แทนที่เขาอยากจะให้แทนเขา คือมันแยกไม่ออกระหว่างคนกับ action ซึ่ง 6 ปีมันก็มีชุดตัวนี้อยู่ และมันก็ช่วยไม่ได้ โชคดีหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่มี อ.แก้วและก็มีผม-ฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน เกิดห่างกัน 5 นาที โตมาด้วยกัน 55 ปี ฉะนั้นการแลกเปลี่ยนกันมันก็เหมือนรวมกันเป็นหนึ่ง ถ้าให้นึกย้อน มันยิ่งกว่าที่ปรึกษา เรื่องนี้เป็นยังไง เกิดจากอะไร น่าจะเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นฐานให้การเข้าลึกในแต่ละเรื่อง ถ้าเราคิดของเราอยู่คนเดียวเรื่องนี้ๆ แล้วเอาไปพูดไปใช้งานข้างนอก มันไม่ได้ exercise ผมว่าตรงนี้สำคัญ ฉะนั้นก็คล้ายๆ ว่าเวลาผ่านไป 6 ปี มันก็เป็นโอกาสที่การทำงานชนิดเดิม อาหารจานเดิม ความคิดชุดเดิม มันก็ได้รับการสนับสนุนให้ไปต่อ"
"ดังนั้นเรื่องหลักยิ่งกว่าวุฒิฯ ก็คือคุณเป็นผู้แทนใคร ทำไมเขาเลือกคุณ แล้วคุณจะทำอะไร สำหรับผม คิดว่าผมมีชุดตัวนี้อยู่ ที่ได้รับการรับเลือกมา เพราะฉะนั้น 4.5 หมื่นเสียง ตัวนี้ก็คือตัวที่กำกับเรา"
ทำไมอาจารย์ตัดสินใจลงสมัคร ทั้งๆ ที่เห็นภาพอยู่ว่า ส.ว.ชุดนี้จะเป็นแบบไหน
"ที่จริงช่วงก่อนที่ อ.แก้วจะเข้าสู่การเมืองตัวแทน ก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมือนกัน ช่วงนั้นมีเรื่องบ้านเมือง เราก็ได้แลกเปลี่ยนเขียนบทความแสดงความเห็น ทำหน้าที่นั้นเป็นสิบๆ ปี สำหรับผมเองก็พยายามเลี้ยงตัว-ไม่ใช่ว่าชี้อันนั้นถูกอันนี้ผิด แต่พยายามเสนอให้สาธารณะเขาเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญนะ แต่คล้ายๆ เป่าสาก มันเงียบ ทำไมทำมาจน-เอ๊ะ ปัญหาน่าจะอยู่ที่สาธารณชนมากกว่าว่ามันมีไหม สาธารณชนต่างหากคือเรื่องหลักที่ต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ ตอนนั้นเลยคิดไปถึงว่าจะเพาะปลูกการเมืองภาคพลเมืองยังไง ให้คนตื่นตัวเห็นบ้านเห็นเมืองเป็นธุระ ระหว่างนั้นก็เลยออกไปทำงานตามต่างจังหวัด เสนอโครงการที่พยายามจะไปปลุกคนให้มาดูแลบ้านเมืองเขา ส่วนเรื่องสาธารณะที่จะเข้าทางผมก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องบ้านเมือง ก็ทำอยู่หลายจังหวัดนะ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก มหาสารคาม สมุทรสงคราม ตรัง มีพรรคพวกในพื้นที่ช่วยกัน ซึ่งจังหวะนั้น อ.แก้วเข้าไปในการเมืองตัวแทน ผมพยายามจะปลุกการเมืองภาคพลเมือง ก็คู่ขนานกันไปตลอด"
"ทีนี้หลายอย่างมันก็ประกอบกัน อ.แก้วเขาจะครบวาระ แน่นอนการเมืองระดับชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองระบบตัวแทนกำลังวุ่นวายหนัก อาการก็หนักขึ้น ผมก็เห็นอยู่ว่าการเคลื่อนไหวการทำงานตรงนี้ใจคอจะให้มันหายไปเลยหรือยังไง แน่นอนมันอาจจะมีเรื่องแพ้ชนะ เรื่องจำนวนมาตัดสิน แต่มีลูกศิษย์คนหนึ่งเขาพูดแทนคนรุ่นเขา เขาบอกว่าเรื่องแพ้ชนะอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับคนอย่างพวกเขาเขาต้องการเห็นว่ามันยังมีพวกเอาเรื่องอยู่ เอาบ้านเอาเมืองอยู่ เขาต้องการให้มันปรากฏ ผมก็เออ-ใช่ของมัน เลยคิดว่าน่าจะขยับจากภาคพลเมืองเข้ามาตรงนี้และสืบต่องานกันไป ขณะเดียวกันก็หวังว่าสิ่งที่ได้มาจากการเคลื่อนไหวในท้องถิ่น ก็น่าจะเข้าไปหาทางเชื่อมกับงานข้างในหรือเชื่อมจากข้างนอก มันไม่ได้ทิ้ง"
คนที่เลือกอาจารย์จะรู้สึกว่าเพราะอาจารย์แก้วสรรยืนอยู่บนหลักการของตัวเอง แม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ไม่ได้ตามกระแส
"ผมก็ไคร่ครวญว่าสิ่งกระทบอะไรที่มันทำให้ใน 6 ปีที่ผ่านมา-ไม่อยากเรียกว่าลูกค้า สิ่งที่กระทบเขาให้รู้สึกว่าเออใช่ นี่คือตัวแทนเขาจริง มันเป็นยังไง ชุดตรงนี้ก็พยายามวิเคราะห์ เพราะคราวนี้ตัวเองก็ต้องพบกับสิ่งเหล่านี้ มันมีหลายคำนะ-คำว่าเป็นกลาง บอกว่าเข้ามาเป็น ส.ว.จะเป็นกลาง ผมก็ว่าเอ๊ะใจคอจะเป็นพระกันหมดใช่ไหม ไม่มีถูกมีผิด ที่จริงเป็นกลางก็คือต้องรู้ถูกรู้ผิด ถูกก็สนับสนุนผิดก็อัด ก็เท่านั้น อันนี้หมายถึงการตัดสินใจ บ้านเมืองมันก็มีปัญหาเราก็มีจินตนาการ มีความห่วงใย ตรงนี้ก็ต้องมีจุดยืน มีวิสัยทัศน์อยู่ในนั้นด้วย ว่าบ้านเมืองจะไปทางไหนยังไง แต่ทั้งหมดที่ต้องคุมไว้คือเราต้องเป็นอิสระ ซึ่งเป็นครูที่กำหนดตัวเองได้ มีวิสัยทัศน์ยังไงก็ว่าไป นี่คือสิ่งที่ประกอบกัน ส่วนมวย ชั้นเชิงต่างๆ อันนี้ก็คือส่วนที่เสริมเข้ามา"
แต่อาจารย์จะเจอปัญหามากกว่าอาจารย์แก้วสรร เพราะวุฒิฯ ชุดแรกตอนแรกๆ ยังไม่ขนาดนี้
"ได้ช่วงเวลาตั้ง 2 ปีนะ ที่จริงคราวนั้นน่าเสียดายนะ คนที่มาจากท้องถิ่นต่างๆ เขาก็มีกึ๋นทั้งนั้น และก็มีเหตุให้ได้มาด้วยการสนับสนุน จะโดยยังไงก็ช่าง และคนที่เขามีกึ๋นมาพร้อมหน้ากัน 200 คน จะมาทำงานในองค์กรร่วมกัน ตรงนั้นมันปลอดการรบกวนอยู่ประมาณ 2 ปี เขาก็เริ่มจะคึกคัก มีสีสัน มันกำลังจะทบตัวให้ดีขึ้น น่าเสียดายพอ 4 ปีให้หลังก็เข้ามารบกวน จนถึงขนาดที่ทราบกัน ซื้อหากันได้ และก็เริ่มเอาแพ้เอาชนะกัน มีข้างมากข้างน้อย ข้างน้อยก็เลยไม่ได้รับการรับฟัง"
"ไอ้น้อย-มากมันคณิตศาสตร์ แต่ความคิดความเห็นมันต้องรับฟังแลกเปลี่ยนกัน ให้ได้ที่แล้วถึงจะยกว่าตัดสินใจยังไง แต่ฟังดูนี่มันเอาชนะกันไปเลย เป็นมึงเป็นกูกันไปเลย ตั้งแต่นั้นมามันก็ลำบาก ผมก็ภาวนาว่าจุดเริ่มต้นตรงนั้น เหมือนที่เข้ามาใหม่ๆ ของ 6 ปีที่แล้ว แต่ที่น่าห่วงคือภาวะมันไม่เหมือนเดิม แต่ยังไงก็แล้วแต่ก็เป็นคนที่ต้องทำงานด้วยกัน"
แต่นี่มันชัดเจนกว่าชุดที่แล้ว แถมยังเจอตัวกลั่นๆ อย่างสมัคร, ลุงชัย เราบอกพร้อมกับหัวเราะ-เลยโดนเบรก
"คือถ้าผมไม่ได้เป็น ผมก็เฮกับคุณได้นะ เออ-อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ผมจะเป็นคนที่ต้องไปทำงานในนั้น แล้วพรรคพวกเขาก็บอกว่าไอ้นี่คงไม่หมู เข้าไปแล้วไปเฮด้วยก็ซวยสิ อีกอย่างก็ต้องให้เกียรติแล้วก็หวังในทางดีไว้ว่าทุกคนเขาก็มีประชาชนที่กาให้เขา และเขาก็ยังไม่ได้วิสาสะกันเลย ยังไม่มีข้อพิสูจน์ ยังไม่มีกฎหมายไหนร่างผ่านมาและวิพากษ์วิจารณ์กันได้ ฉะนั้นข้างนอกก่อนหน้านี้จะว่ายังไง ผมก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของข้างนอก ข้างในที่จะทำงานต่อ มันยังมาไม่ถึง หนักใจน่ะใช่ แต่ก็ยังสู้และยังหวังว่าคนเราก็ยังพูดกันได้ แต่ถ้าทำงานกันไปแล้ว เรามีจุดยืนเรา เราเห็นถูกเห็นผิด มีวิสัยทัศน์ของเรา ถึงของจริงแล้วถ้ามึงเบี้ยว-ก็เป็นเรื่องกัน ก็ว่ากันตรงๆ ก็เท่านั้น"
"ที่จริงเป็นเรื่องต้องแก้ไข บ้านเราที่ชอบ-ผมใช้คำว่าเหมือนเชียร์มวย ถ้าพื้นๆ มากอาจจะเรียกว่าไพร่สนุกนาย วิจารณ์กันอย่างโน้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่คนที่เข้าไปเป็นผู้แทน เรื่องที่เขาคิดเขาตัดสินใจเป็นเรื่องซีเรียสนะ เรื่องบ้านเรื่องเมืองนะ มันไม่ใช่ลิเกให้ดู ไม่ใช่ลุมพินีเอามวยมาต่อยกัน แต่เราเอานิสัยมวยนิสัยลิเกมาพากย์กัน อย่างนี้มันไม่สนุก"
แต่ทุกคนก็คาดคิดไว้แล้วและคงเป็นไปอย่างที่คาด
"อันนั้นมันเป็นรูปแบบพฤติกรรมความคิด ซึ่งเป็นกลุ่มเป็นเหล่าอยู่ มันก่อตัวชัด ที่ผ่านมาแล้วนะ ก็ไม่ผิดที่จะมามองปัจจุบัน แต่มันเป็น past tense เรากำลังเจอ present tense กับ future tense ข้างหน้า ผมไม่เล่นด้วย"
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
ศุกร์ พ.ค. 05, 2006 5:35 am | 0 คอมเมนต์
อาจารย์คิดว่ายังคุยกับสมัครได้ อย่างนั้นใช่ไหม
"ก็คุย แต่แน่นอนอะไรเป็นอะไรผมก็ต้องเก็บ ต้องเอาไว้ในใจ แต่จะทำงานด้วยกัน ก็ภาวนาอย่าให้ถึงอย่างนั้นเลย แต่ก็เสียวนะ คือถ้ามันหมดสภาพการทำงานเป็นองค์กรก็ซวยแล้ว ก็เป็นดาวเคราะห์รอรับแสงจากคนอื่น ตัวเองเรืองแสงเองไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ลำบาก"
แต่หลายคนก็คงไม่คิดอย่างอาจารย์ เพราะคงตั้งป้อมกัน
"คือตอนนี้มีคนที่ผ่านไปแล้ว มาวิจารณ์ปัจจุบันที่จะเริ่ม หลายท่าน-อย่างครูหยุยแกชี้ว่าหมดหวังแล้ว หวังไม่ได้ ต้องทนอีก 6 ปี พูดอย่างนั้นมันก็ดูสมาร์ทนะ แต่สำหรับคนที่เขาอยากจะสู้อยากจะลุยกันต่อ ก็-อ้าว เอาอย่างนี้เหรอ ผมว่าเอาเข้าจริง อดีตที่เป็นอย่างนั้นมันเกิดจากการทำงานร่วมกันและบทบาทของทุกฝ่ายที่ผ่านมา ซึ่งสมมติถ้าการทำงานของฝ่ายที่แยกพวกแล้วผิดถูก มึงกับกูเจอกัน คือปักใจไว้ก่อน คือไม่อนุญาตให้การทำงานระหว่างคน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มันยังคบกันได้ ไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น ถ้าอย่างนั้นก็อาจจะเป็นเหตุที่ส่งให้เกิดการแตกหรือการจับขั้วก็ได้ ซึ่งพวกเราที่ทำงานกันต่อก็ต้องพึงสังวรตัวนี้ไว้ให้ดี"
ใน ส.ว.ชุดที่แล้ว อาจารย์แก้วสรรก็เป็นคนที่พยายามไม่แบ่งฝ่าย แต่อาจารย์แก้วสรรก็สรุปคล้ายๆ กันว่าใน 2-3 ปีสุดท้ายชุดที่แล้วก็ไม่ไหว
"ใช่ แต่มันเป็น past tense และมันมีชะตาที่มันผ่านไปแล้ว ชุดนี้ก็มีชะตาของมันอยู่ แต่มันยังมาไม่ถึง จะช่วยกันทำยังไง"
แต่แนวโน้มมันค่อนข้างจะคาดกันไว้แล้ว อาจารย์ไม่กังวลหรือ
"ถือว่าเป็นสติชนิดพิเศษที่เราต้องติดกันตัวไว้ว่าจะต้องเจออะไร ต้องเอาไว้เป็นวิชาประจำ แต่ในการพบกับเรื่องจริง และทำงานร่วมกับคนชุดใหม่ๆ ก็ต้องสร้างสรรค์กัน ก็ดูซิว่ามันจะเป็นยังไง แต่ขณะเดียวกันผมว่ามันจะต่าง นี่เราฟังดูเหมือนเราอยู่ในห้องปิดแล้วเจอกันก็แพ้ชนะ และหมดหวังกันไป ร้องไห้อยู่ในนั้น ห่อเหี่ยวอยู่ในนั้น ผมว่าไม่ใช่ ผมว่าถ้าเราดึงจากห้องปิดให้เป็นศาลาโล่ง เจาะตรงนี้ให้แสงมันเข้ามา เอาลมเป่าผ่าน เอาเสียงออกไปข้างนอก เอาความเห็นข้างนอกเข้ามาข้างใน มันก็ไม่ใช่สภาพปิด ตรงนี้ผมกำลังนึกถึงการเชื่อมโยงกับความตื่นตัวข้างนอก ทำยังไงมันจะอนุกูลกัน ขณะเดียวกันก็วางตัวยังไงให้อยู่ในกรอบของวุฒิฯ ไม่ใช่ทำตัวเป็นบ่างไปเที่ยวบอกข้างนอก เฮ้ยข้างในแย่แล้ว เขาไม่ได้เลือกเรามาให้ทำอย่างนั้น"
"หรืออย่างที่ อ.มีชัยบอกว่าวุฒิฯ ชอบทำงานซ้ำ ไม่ได้ทำงานของตัว ไปทำงานซ้ำ ส.ส. อยากจะสร้างนโยบายบ้าง ประเทศต้องไปทางนี้ หรืออะไรต่างๆ จริงๆ หน้าที่คือตรวจสอบและกลั่นกรอง ผมว่าตรงนี้มันอยู่ที่การออกแบบเฉพาะอย่างแล้วละ ยังปรึกษา อ.แก้วตลอด ตรงนี้ผมถือว่าผมมีทุนดีกว่าทุกคนนะ ถ้าเทียบกับเพื่อนอีก 200 คน เพราะมี past perfect tense อยู่ (หัวเราะ) แล้ว อ.แก้วเขาก็วิเคราะห์กลั่นกรองเป็นประสบการณ์อยู่ ก็ถามได้ เฮ้ยอย่างนี้จะดีไหม อย่างนั้นจะดีไหม ก็ไม่ต้องไปตากฝนเปียกฝนเอง เพราะเขาเปียกเขาร้อนมาก่อน-เฮ้ยอันนี้อย่า"
"ก็เห็นอยู่ช่องหนึ่ง คือเรื่องบ้านเมืองอย่าไปติดกระทรวงติดหมู่ติดเหล่า ตามหน้าที่และการทำงาน แต่ติดปัญหา เรียก problem base ไม่ใช่ ministry base ติดปัญหา ปัญหาบ้านเมืองที่เฉพาะต้องรีบจับ เอามาให้รู้ มาหาทางออก ผมว่ามันกองเป็นกลุ่มเป็นเหล่าชัดเจน เช่นเรื่องการศึกษา เรื่องภาคใต้ หรืออย่างผม เรื่องของระเบียบของการพัฒนาภาค พัฒนาแผ่นดิน ภาค จังหวัด ตำบล เมือง งบประมาณ อำนาจหน้าที่ลงไป มันมั่วสิ้นดี มีซีอีโอเข้าไปอีก มันมั่วแหลกลาญ ตรงนี้ผมว่าเรื่องสำคัญนะ แต่มันไม่เคยถูกแตะเลย เรื่องพวกนี้วุฒิฯ จะทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่กรรมาธิการสามัญที่จะทำงานไปตามท้องเรื่องต่างๆ"
หมายความว่าเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องแบ่งฝ่าย?
"คือในนั้นผมเห็นการเมืองที่แท้จริง การเมืองมันไม่ใช่อำนาจลุ่นๆ แต่มันเป็นอำนาจซึ่งต้องการจะแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ฉะนั้นถ้าเราเอาปัญหาบ้านเมืองฉกรรจ์มาอยู่ท่ามกลางเวทีของคนที่มีความรับผิดชอบของอำนาจ ก็น่าจะพ้องต้องกันและเติมเต็ม อย่างเรื่องของแปรรูปการไฟฟ้า อ.แก้วเขาพยายามเอาข้อมูลร่วม ความเห็นต่างๆ เอาผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ดำเนินเรื่อง ก็มีคนล้อมฟัง ทั้งหมดนี้ทำภายใต้ร่มเงาของวุฒิสภา ตรงนี้มันเท่ากับช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจสาธารณะที่หลากหลาย ชี้ถูกชี้ผิดยังไม่ได้ แต่คนตามันวาวขึ้น"
"หรืออย่างเรื่องระเบียบแผ่นดิน ผมว่า ส.ว. ส.ส.ทุกคนที่มาจากต่างจังหวัด เขาพยักหน้าหมดนะ นโยบายส่วนกลางกับทิศทางท้องถิ่นยังไม่ต่อกันเลย เขาก็เห็นเงินตกน้ำเยอะแยะ ตรงนี้ผมว่าเป็นส่วนร่วมที่จะทำงานด้วยกันได้ อีกอย่างมันจะได้ดึงพวกเสือซุ่ม พวกคนรักบ้านรักเมืองที่เก่งและชำนาญ แต่เขาไม่มีช่องที่จะให้ อย่างพี่สุรพงษ์ ชัยนาม ผมอยากให้แกได้มาก เพราะแกตัวเชี่ยวเรื่องต่างประเทศเรื่องเอฟทีเอ ถ้ามีเวทีแบบนี้ขึ้นแล้วอาราธนาพี่เขามา สังเคราะห์ให้ความเห็นหลักๆ กับสาธารณชนได้ เราทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อม และอันนี้มาเกาะให้เป็นเรื่องเป็นราวเป็นระบบ ต้องไปให้พ้นจากการกัดกัน การถกและเอาชนะกัน ปัญหาบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องมาเอาชนะกัน เราไปติดอยู่ระดับกัดกันหมด"
อ.แก้วสรรก็พยายามทำอย่างนี้มานะ สุดท้ายก็ไม่ได้
"เขาก็มีบทเรียนเหมือนกัน กรรมาธิการชุดนี้อย่าไปยุ่ง ทำแล้วก็จมอยู่กับปัญหาไม่มีโอกาสสร้างสรรค์ คือต้องเหนื่อยแน่ แต่เราจะเลือกเหนื่อยยังไงที่มันได้สร้างอะไรมากที่สุด"
อ.แก้วสรรพยายามเข้าทุกฝ่าย มันก็ยังแบ่งกันอยู่ดี
"อันนั้นเป็นสไตล์ของส่วนรวม แต่ผมดูในแง่ผลงานส่วนตัว ต้องถือว่าสำเร็จ 6 ปี 365 วัน มันกี่วันล่ะ เวลาที่จะต้องมาลงคะแนนกัน เป็นเรื่องได้เสียต้องเหล่กันต้องตัดสินใจให้ถูก ไม่มากนะ ที่เหลือก็เป็นกิจวัตร งานประจำ ก็ควรทำงานร่วมกันได้ สัดส่วนของงานที่ต้องลุยกันก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่เหลือก็เยอะแยะ แต่ถ้าไม่มองหน้ากันมันก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว"
แต่คนนอกจะคิดว่ารสนาคงไม่คุยกับสมัครแน่
"ผมว่าเรื่องนี้ต้องมีชั้นเชิง เพราะสุดท้ายเราต้องเป็นคนทำงานในนั้น ต้องเจอของจริง แต่คนข้าวนอกมันคนละฐานะกัน ถ้าของจริงไปเล่นเหมือนคนเชียร์มันก็ซวยสิครับ"
(ล้อมกรอบประกอบชาร์ท)
ความหวัง-ภาคพลเมือง
อาจารย์ขวัญสรวงบอกว่าสิ่งหนึ่งที่มีความหวังคือ สภาพความตื่นตัวของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งจะส่งผลสะท้อนกลับเข้าไปใน ส.ว.
"ถ้าตอบรับดีๆ มันจะมีสภาพใหม่ที่ต่างจากชุดเดิม คือความคึกคักของข้างนอก ตรงนี้มันต่างกับ 6 ปีที่แล้ว เวลานี้เรื่องวิกฤติบ้านเมืองมันค้างคายังไม่จบ เพียงแต่เปลี่ยนรูปและซ่อนลงไป สิ่งที่ค้างอยู่มันมีค่านะ สัก 3-4 เดือนที่ผ่านมาคนจำนวนมากเลย พบกันแลกเปลี่ยนเห็นปัญหาบ้านเมือง และก็เรียบเรียงแล้วด้วย เริ่มมีอารมณ์กับมัน เข้าใจมันมากขึ้น เชื่อมโยงกัน ไม่น่าเชื่อว่ามันเกิดขึ้นได้ ถามว่าเขาตื่นและความรู้มี ทำยังไงมันจะเกาะเกี่ยวกัน มีภาวะใหม่ๆ ที่มีค่ากว่าเดิมที่สังเคราะห์ร่วมกันขึ้นมา การเมืองภาคพลเมืองฟังแล้วดูดีแต่ถามว่ามันทำงานยังไง"
ตรงนี้อาจารย์เขียนชาร์ตบนกระดานดำให้เราดู แบ่งให้ดูเป็น 4 ส่วน บน-ล่าง ซ้าย-ขวา ซีกซ้ายคือส่วนรวม ซีกขวาคือส่วนตัว บนซ้ายคือรัฐบาล บนขวาคือการทำมาหากิน ล่างขวาคือปัจเจก ล่างซ้ายคือสาธารณะ
"รัฐบาลเป็นการเมืองตัวแทน ภาคสาธารณะเป็นการเมืองภาคพลเมือง สองส่วนเป็นส่วนรวมทั้งคู่ เพียงแต่ว่าใครซ่า ข้างบน (รัฐบาล) เขาครอบงำบริษัทต่างๆ สองพวกนี้หวังผลประโยชน์ต่อกัน ถ้าพวกนี้แข็งแรงมากก็สมคบกับธุรกิจ เขาออกทีวีทุกวันเสาร์ครอบงำพวกปัจเจกได้ สำคัญอยู่ที่สาธารณะ ถ้าชะโงกเข้าไป สร้างพลังเข้าไปในส่วนรัฐบาล อย่างเรื่องแปรรูปที่รสนาทำ เข้ามาในพื้นที่รัฐบาลแล้ว ฉะนั้นหนึ่งทำยังไงให้สาธารณะกับปัจเจกเจ๊าะแจ๊ะกันมากขึ้น จนเริ่มเพิ่มในส่วนการเมืองตัวแทน ทำยังไงปัจเจกและสาธารณะเขามีความรู้มากขึ้น ทำยังไงจะใส่ปัญญาให้เขา และเขามีส่วนเข้ามาในส่วนการเมืองตัวแทนมากขึ้น ตรงนี้ยังหวังและนึกอยู่ว่าจะทำยังไง อย่างเห็นจุฬาฯ 5,000 คนที่เขาเดินมาที่พารากอน เขาตื่นแล้วนะ และก็ฉลาดด้วย ทำงานทางความคิดด้วย ทำยังไงให้เขาได้ทำอะไรที่ตรงกับจริตเขา เขาเริ่มคึกกันหลายจุด"
คือต้องมีมากกว่าการชุมนุม?
"มันเป็นการชุมนุมที่มีความเห็นระยะสั้น แต่ถ้ามองระยะยาวมากขึ้นล่ะ ระยะสั้นเราบอกต้องกู้ชาติ แต่ถ้าระยะยาวและเข้าใจวิสัยของเรื่อง บอกว่าเออการปฏิรูปการเมืองสำคัญกว่า ซึ่งทำให้การตัดสินใจของสังคมเข้มแข็งขึ้น มันต้องทำให้ระยะยาว เหมือนคุณเดินในตรอกนักเลง ต่อยไปคนหนึ่งคว่ำไปได้ เดินไปเดี๋ยวก็โผล่มาอีก ทำยังที่สาเหตุคนเป็นนักเลงแก้ยังไง คิดยาวกว่า"
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
ศุกร์ พ.ค. 05, 2006 5:41 am | 0 คอมเมนต์
โคลนนิงสลับภาค
เราสัพยอกขำๆ ว่านี่ถ้าวุฒิสภาอภิปรายกฎหมายเอาอาจารย์แก้วสรรสลับตัวไปอภิปรายแทนได้ไหม "ต้องรอผมผอมลงกว่านี้ แก้วอ้วนขึ้นนิดหนึ่ง (หัวเราะ) ก็เคยเล่นนะตอนเด็กๆ เล่นบ่อย
โป้งแปะซ่อนหากับเพื่อน เปลี่ยนเสื้อกัน ออกไปมันโป้ง อ้าวผิด เสร็จ เป็นใหม่"
บุคลิกอาจารย์ประนีประนอมกว่าใช่ไหม "เขาว่าอย่างนั้นนะ คือไม่ได้เหี้ยมเท่า"
เราบอกว่าวิธีการพูด สไตล์ ภาษา น้ำเสียง เหมือนกันหมด ทั้งที่เรียนมาคนละด้าน
"พ่อแม่เขาให้มา โลกแวดล้อม การเรียนมันเรื่องสาขาวิชา แต่ชีวิตที่ใช้ในกาลเทศะเดียวกัน ผมว่ามัน 80 เปอร์เซ็นต์มั้ง และมันแลกเปลี่ยนกันบ่อย ต่างคนต่างก็ได้มุขของตัวเองไปใช้ได้"
ยังงี้ก็แสดงว่าอาจารย์อภิปรายเรื่องกฎหมายได้
"ได้ ผมไม่กลัว ขอเวลาตั้งหลัก ขอเวลาเรียนรู้หลัก แน่นอนต้องติวแน่ มีโจทย์เฉพาะอย่างก็ค่อยๆ เรียนกันไป"
คุยกันสักพักอาจารย์แก้วสรรก็มาร่วมวงโดยไม่เจตนา เพราะยังนุ่งขาสั้นใส่เสื้อยืด แบบทำตัวตามสบาย เราบอกอย่างขำๆ ว่า รองโฆษกไทยรักไทยออกมาแซวอาจารย์ว่ายังส่งนอมินีลงสมัคร อาจารย์แก้วสรรเลยบอกว่านี่โคลนนิงเว้ย
พูดคุยภาษาเดียวกันเป๊ะ ด้วยสำนวนแสบสันมันส์เฮี้ยว เช่นตอนท้ายๆ นั่งคุยกันเรื่องการฉีกบัตรเลือกตั้ง ซึ่งอาจารย์แก้วสรรฝากเตือนประชาชนสงขลาว่าอย่าทำถึงขั้นเผาบัตร เพราะผิดกฎหมายแน่นอน ถือว่าทำลายกระบวนการเลือกตั้ง
"เขาคุ้มครองกระบวนการจัดการเลือกตั้ง บัตรจ่ายเท่านี้ต้องเหลือเท่านี้ เราจะประท้วงอะไรก็แล้วแต่เถอะ เขาแจกกระดาษมาเราจะเลือกเบอร์ 1 ก็ได้ เบอร์ 2 ก็ได้ เขียนควาย ให้ของลับก็ได้ ฉีกก็ได้ สิทธิของกู เมืองนอกเขาหัวเราะกัน อยากฉีกฉีกไป เมืองไทยมันนึกว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เป็นเรื่องราษฎรต้องเล่นตามบทของรัฐ ต้องมาให้ความชอบธรรมต่อนายที่เลือก มึงคือกบ พอเราไปฉีกบัตรมันบอกไม่ได้กบต้องมีหน้าที่กา ห้ามฉีก แต่เมืองนอกบอกว่าแจกบัตรให้เขาไปแล้วเขาจะทำอะไรเรื่องของเขา กฎหมายอาญามีไว้เพื่อใช้กับการกระทำที่ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ คนจะร้อง-วย ไปจับเขาทำไม ทฤษฎีกฎหมายว่าด้วยการฉีกบัตรมันอยู่ตรงนี้ ศาลฎีกาเขาก็ตัดสินนำร่องไปแล้ว"
ขวัญสรวงเสริมทันที "มันเป็นอารยะลบหลู่ civil bananization (หัวเราะ) การให้กล้วยของพลเมือง" (เห็นไหมล่ะ แฝดไข่ใบเดียวกันจริงๆ)
ถามว่าเผาบัตรจะเป็นอะไร แก้วสรรบอกว่า "เป็นการเอาตีนลูบหน้าเทพเจ้าเลือกตั้งเกินไปหน่อย" ขวัญสรวงเสริมว่า "เอาน้ำราดไม่เป็นไรสิ" แก้วสรร "ความจริงน่าจะพับจรวดแล้วพุ่ง (หัวเราะ)"
คุยไปคุยมา อดีต ส.ว.ก็บอกว่าจะสลับหน้าที่กับคู่แฝดไปทำงานภาคพลเมือง
"มีหลายแห่งให้ผมไปเป็นอาจารย์นะ แต่ผมรู้สึกมันเหงาไป ไม่เป็นประโยชน์อะไรเท่าไหร่ คนอื่น รุ่นน้องเขาสอนได้ดีกว่า จะไปทำสถาบันที่ปรึกษาพลเมือง มันต้องมีมหาวิทยาลัยเป็นแม่ก่อน จะเป็นธรรมศาสตร์ เป็นรังสิต ยังดูอยู่ มันก็จะมีงานแรกก็เป็นเรื่องพัฒนาสิทธิพลเมือง มันมีสิทธิที่นอนตายอยู่เยอะไปหมด อย่างซอยบ้านผมใครจะมาสร้างโรงงาน ต้องห้ามนะ ทำเลเหมาะสมไหม ผังเมืองห้ามไหม มันสร้างกันฉิบหายแต่ไม่มีใครฟ้อง เราไม่ได้ฟ้องโรงงานนะ ฟ้องกรมหรือ กทม.ที่ดูแล กฎหมายแต่ละตัวเราจะเห็นเลยมันมีสิทธิและอำนาจที่นอนตายเยอะไปหมด พระราชบัญญัติอาคาร พระราชบัญญัติขุดทราย"
"เราเป็นราษฎร แต่เมื่อไหร่ที่ราษฎรรู้จักและใช้สิทธิก็จะเป็นพลเมือง ฉะนั้นคำว่าที่ปรึกษาพลเมืองคือทำยังไงให้ราษฎรกล้าต่อสู้ตามกฎหมายแล้วกลายเป็นพลเมือง โครงการนี้ก็จะเป็นการมีส่วนร่วมของพลเมือง ต่อสู้กับกฎระเบียบที่เฮงซวย กลุ่มที่เขารวมอยู่แล้วแต่เขาไม่มีที่ปรึกษาที่จะให้เป็นข้อเสนอทางกฎหมาย ชี้แจงต่อ public ได้ ตรงนี้ไม่มีเลย อย่างแท็กซี่ออกกฎ 9 ปีห้ามวิ่ง กว่าจะผ่อนรถหมด 7-8 ปี ใช้ไปปีเดียวตกเป็นทาสแบงก์ใหม่อีกแล้ว แทนที่มันจะคุมที่การตรวจสภาพรถ ระเบียบอย่างนี้มันรังแกคนจน ไอ้แม้วก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย พวกนี้ก็ยังจะไปรับใช้ไอ้แม้ว อย่างนี้ไม่เรียกร้อง ได้รถเอื้ออาทร 3 คันก็ดีใจกันใหญ่ เพราะเขายังไม่เป็นพลเมือง ฉะนั้นถ้าสังคมมันมีพลเมืองรู้จักสิทธิรู้จักเรียกร้อง มันก็จะเป็นสิ่งที่เรียกว่า civil soiety สังคมที่มีพลเมืองรู้สิทธิรู้หน้าที่"
สรุปว่าคล้ายๆ เมืองนอกที่เขาเข้มแข็งกว่าเรา
"เราเป็นสังคมขุนนาง สังคมอุปถัมภ์ เรามีชั่วโมงเรียนหน้าที่พลเมืองแต่ไม่มีชั่วโมงสิทธิพลเมือง ตรงนี้ถ้าสามารถเชื่อมมหาวิทยาลัยเข้ามาได้ และผมก็มีลูกศิษย์ในสำนักงานทนายเยอะแยะ ให้เขาเป็นเครือข่ายในการที่จะฟ้องจะสู้ ก็ต้องทำเป็นมูลนิธิ คิดว่าน่าจะไหว ทำวิทยุมหาวิทยาลัย-สำคัญมาก ต้องทำให้เป็นโครงการข่าวสารพลเมือง ข่าวความเป็นไปของโครงการ ชุมชนนี้ฟ้องผู้ดูดทรายเจ๊งไปแล้ว เครือข่ายทนายก็พร้อมจะรับ ทำเป็น public ออกมา งานตรงนี้ผมว่าใช้ connection ที่มีได้เยอะ ดึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ ต่อกับสื่อได้ สำนักงานทนายได้ ต่อกับกรรมาธิการ ต่อตรงเลย อยู่สภามา 6 ปีเจอแต่เรื่องร้องทุกข์เยอะ แต่เรายังไม่สามารถ attack ตรงได้ ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย พวกนี้ก็ต้องโดนฟ้อง ใช้ศาลปกครอง"
"วุฒิฯ ถ้าไม่ทำงานแบบหอคอยนะ ตั้งปัญหาแล้วก็ดึงเจ้าของปัญหาเข้ามา ถ่ายทอดออกวิทยุ เหมือนที่ผมเคยทำเรื่องแปรรูปไฟฟ้า คือทำตัวเป็นการสร้าง forum จนกระทั่งได้ข้อเสนอที่มีน้ำหนักและยัดเข้าสภา เรียกรัฐมนตรีมาฟัง ถ้าวุฒิฯ โฉบตัวเองขึ้นมาให้สูงและทำงานแบบเปิด หยิบ issue หนักๆ ตลอด อย่างแท็กซี่โดนอายุ 9 ปี จับมาเลย ไล่ความเห็น" นี่แก้วสรรสรุป
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0
ศุกร์ พ.ค. 05, 2006 5:42 am | 0 คอมเมนต์
เราบอกว่าบางคนไม่เห็นความจำเป็นของวุฒิฯ แล้วเพราะหมดหวัง ขวัญสรวงแย้ง
"อันนั้นพูดจากประสบการณ์เขา แต่ถ้าพูดในแง่สนามพลังของการพาบ้านพาเมือง การตรวจสอบ การกลั่นกรอง อะไรที่เชื่อได้ว่าเป็นตัวของตัวเอง รู้ถูกรู้ผิดมันจำเป็นหรือเปล่า ถ้าตอบได้ว่าไม่จำเป็นก็โอเคก็ไม่ต้องมีวุฒิฯ แต่ถ้าบอกว่าจำเป็นแต่รูปแบบตอนนี้มันไม่เวิร์กก็คิดกันสิว่าจะทำอะไร"
คือเห็นว่าสภาผัวเมียถ้าเลือกองค์กรอิสระออกมาก็มีปัญหา ขวัญสรวงแย้งว่าคิดอย่างนั้นไม่ได้ "อย่างนั้นสมภารมีเมียก็ยุบวัดให้หมดสิ"
"ผมเห็นว่ามันเป็นปัญหา แต่จะแก้ยังไงก็ต้องฉลาดกว่านี้ และวิธีพูดวิธีคิดกันก็ไม่ใช่พูดแบบนี้ อาจจะสะใจ แต่แล้วไง"
"ผมอยากจะเปลี่ยนความเข้าใจว่าการเมืองนอกภาครัฐ ภาคพลเมือง คือทุกวันนี้เราเรียกแต่เอ็นจีโอ ซึ่งประสบการณ์ไทยเราคือพวกไม่เอารัฐบาล แต่ที่จริงมันคือองค์กรนอกภาครัฐ ซึ่งมันมีได้สารพัด บ้านเราไปติดว่าเอ็นจีโอพวกนี้อยู่ชนบทแล้วกัดผู้ว่าฯ และรัฐบาล ที่จริงมันทำอะไรอีกเยอะแยะ มีชนิดใหม่ๆ ได้อีกมากมาย"
แก้วสรรเล่าแทรก "ส.จ.ฉะเชิงเทรา นั่งเรือไปดูเขื่อนตลิ่งพัง บางปะกง บ่นไอ้ห่าไม่รู้เรื่องไปพูดกัน ก็ถามใครพี่ ไอ้พวก GMO (หัวเราะ) พี่พนัสเขาหัวเราะกลิ้งเลย genetically modify organization จีเอ็มโอ"
"พูดในเชิงรัฐศาสตร์คือเป็นการเมืองภาคพลเมือง แต่คนไทยเอาเอ็นจีโอไปใช้ในเทอมของสายพันธุ์"
ถามแก้วสรรว่ามองอย่างไรที่สังคมเห็นว่า ส.ว.ชุดใหม่นี้แบ่งขั้วกันชัดเจนแล้ว
"สิ่งสำคัญที่สุดคืออาณัติหรือภารกิจที่เราได้รับจากประชาชนที่เขาเลือกเรา เขาต้องการให้เราไปสู้อยู่ในระบบ ไปทำงานในระบบ ไปท้วงไปติง ไอ้ขวัญจะมาทำการเมืองภาคพลเมืองไม่ได้ อาจจะโผล่มาแหยมมาประสาน ฉะนั้นอะไรที่เป็นปัญหาบ้านเมืองไอ้ขวัญต้องรับ ซึ่งอันนี้ก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่ง เฉพาะที่เป็นปัญหาประจำตอนนี้ก็เรื่องการค้าเสรี การเงินการคลังไม่โปร่งใส เรื่องการพัฒนาพื้นที่ภูมิภาคและเมือง แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไอ้ขวัญปฏิเสธไม่ได้ต้องอ่านหนังสือ ต้องลุยต้องใส่ อภิปรายทั่วไปก็ต้องลุกขึ้นถาม แปรรูปมันเอาอีกไหม บี้กันอย่างนี้ เอฟทีเอจะทำยังไง กระเทียมเจ๊งแล้วจะช่วยเขายังไง อันนี้เป็นหน้าที่ซึ่งเป็นอาณัติ ส่วนที่มีการโค่นล้มเราต้องไม่เกี่ยว ส่วนที่สามมันก็จะมีเรื่องกฎหมายเหี้ยๆ โผล่มา อันนี้ต้องตะครุบให้ทัน ลากหางให้ออก ต้องหูไวตาไว บางทีไม่ใช่เรื่องการเมือง อย่างกฎหมายบอกว่าหลัง 3 ทุ่มต้องไม่เห็นเด็กบนถนน เคอร์ฟิวเด็ก เอาให้ตาย มันเป็นกฎหมายอำนาจนิยม"
"กฎหมายคิดบ้าๆ พวกนี้มันจะโผล่มาเรื่อย ที่เหลือก็เป็นงานสร้างสรรค์ว่าอะไรที่เขาอยากจะทำและสำคัญกับบ้านเมือง ที่จะเป็นฝีมือของเขา เขาอยากจะสร้างอะไร เขาก็ต้องให้ออกว่าบรรดาพื้นที่งานอะไรเป็น the must อะไรหูตาเลิ่กลั่ก อะไรเป็นเรื่องฝัน"
คนเลือกจะฝากความหวังไหมว่าต้องทำหน้าที่แทนแก้วสรร แล้วก็เพิ่มความเป็นขวัญสรวง
"เขาไม่ได้ฝาก ลูกค้าที่เขาเลือกผมกับขวัญมันลูกค้าเดียวกัน เขาไม่ได้เปลี่ยนเขาไม่ได้ฝาก เราก็มีหน้าที่บริการลูกค้าคนเดิม พ่อครัวมันอาจจะมีฝีมือต่างกัน คนนั้นถนัดทางนั้นคนนี้ถนัดทางนี้ ลูกค้าเขาไม่ว่าหรอก"
ไม่ต้องอภิปรายกฎหมายทุกเรื่อง
"ไม่ต้อง อย่าฝืน ลูกค้าเขาไม่ได้ต้องการแบบนั้น เขาต้องการพูดอะไรตรงๆ ที่เข้าใจได้ และสู้แทนกูหน่อย ลองจับ ส.ว. 200 ตัวมา ใครเลือกมึง มึงรู้ไหม เขาต้องการอะไรจากมึง"
ขวัญสรวงแทรกพร้อมกับหัวเราะ "เป็นกลางไง"
แก้วสรร "กลางอะไร มึงเป็นผู้แทนเขา กูล่ะเบื่อไอ้พวกกลางสุดขั้ว"
อาจารย์มีประสบการณ์ 6 ปีคิดว่าจะไม่พยายามแบ่งฝ่าย จะทำได้สำเร็จหรือ
"คำว่าแบ่งฝ่ายคือหมายความว่า หนึ่งต้องเห็นเขาเป็นเพื่อน ผมคุยได้หมดนะ 200 ตัวเนี่ย เฮฮาได้ทั้งนั้น แต่ละตัวก็เชิญผมไปบ้านไปจังหวัดมันทั้งนั้น มีอะไรติดปัญหาเขาก็มาถาม ฉะนั้นคำว่าไม่แบ่งฝ่ายคืออย่าไปตั้งหลักเป็นศัตรูหรือมาแบ่งแยกกัน ถ้าเรื่องในเกมโอเค มึงมากูก็มา ชนะเป็นชนะแพ้เป็นแพ้ไม่โกรธ ถ้าไม่จาบจ้วงเรา เราก็อย่าไปแดกมัน ไม่ใช่ขึ้นมาทีไรก็ต้องแดกใครสักคนเหมือน อ.เจิม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่ากระหายศัตรูอย่ากระหายเลือด.. (ขวัญสรวงเสริม "เห็นศัตรูเป็นออกซิเจน") ...อย่าไปตั้งป้อมอะไร เพราะจริงๆ ในหลายเรื่องที่รัฐบาลเขาไม่ได้ดึงดันอะไร เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือช่วยกันเราก็เดินไปหาเขาได้"
"ผมเจอหน้ายิ้มให้ได้ทุกคน แต่เวลาเถียงก็เถียงอย่าไปเถียงแบบกัด เถียงแบบยืน ก็ต้องรักษาอันนี้ไว้"
"มึงจะขอได้สั่งได้ก็ช่างมึง แต่อย่ามาจัดตั้งรังแกกัน เหมือนช่วงท้ายของวุฒิฯ เรายกมืออภิปรายมันก็ยกมือปิดอภิปราย แบบนี้ไม่เคารพเสรีภาพเสียงข้างน้อย คุณเสียงข้างมากเห็นชัดอยู่แล้วเราไม่ต้องเถียง แต่มึงอย่ารังแกกูนะ อย่าละเมิดเสรีภาพกันนะ ซึ่งอันนี้มันก็ต้องมีความสมานฉันท์กันซะก่อน ไม่ใช่เข้าไปแล้วบอกมึงเหี้ยนี่หว่า เขาก็เหยียบมึงสิ เรื่องอะไรจะทำตัวเราให้ถูกรังแก พวกนี้มันก็ยกมือปิดอภิปรายๆ เราก็บ้าพอดี"
แต่บรรยากาศมันอาจจะรุนแรงอย่างนั้น
"ถ้าถึงจุดนั้นก็โอเค แต่ไม่ใช่ตั้งหลักมาก็บอกกูจะยิงกับมึง ถ้าพูดจริงๆ คนที่มันมีอิสระมีความเป็นมนุษย์มันก็มี แม้มันจะใส่เสื้อไทยรักไทยจะนอนกับใคร มันจะมีแกนเหี้ยๆ หน้าด้านๆ อยู่ไม่กี่ตัวหรอก พวกนั้นค่อยดักตีมัน โดดเดี่ยวมัน ได้จังหวะเมื่อไหร่ก็รุมเข้าไปเหยียบ แต่ไม่ใช่ไปด่ากราดอหังการ์หมด เรื่องกำลังดีๆ งานนี้มีหวังชนะโว้ย เจิมศักดิ์ลุกมาพูดทีเดียว ซวยแล้วกู แพ้อีกแล้ว (หัวเราะ) เจิมมันขมขื่นนะ หลังๆ เพื่อนเตือนว่าอย่าพูดนะ เพราะต้องชนะวันนี้"
นั่นคือจุดยืนที่ชัดเจนของผู้มาจากไข่ใบเดียวกัน แน่นอนว่าอาจารย์ขวัญสรวงไม่ใช่นักกฎหมาย แต่เป็นนักคิดเรื่องการวางผังเมืองการพัฒนาเมือง ตรงนี้ที่เขาบอกว่าเป็นส่วนที่ใครจะอยู่ฝ่ายไหน เป็นลูกเมียใครก็มาร่วมกันทำงานได้
"เรามีปัญหาสภาพการตั้งถิ่นฐาน ระเบียบการใช้แผ่นดิน ยกตัวอย่างเช่นผมไปคลุกอยู่ที่ตรังตั้งนาน เป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีเมือง 19 เมืองซึ่งอยู่ไม่ห่างกันเลยนะ และมีความต่างกันเยอะแยะ บางคนอยู่ภูเขาบางคนอยู่ทะเล บางคนจีนบางคนอิสลาม มันเป็นถิ่นฐานเล็กๆ มาอยู่ใกล้กัน โอกาสที่เขาจะใช้ทุนอันนี้เขามองไม่เห็น เช่น ถ้าเขารู้จักทำตัวต่างกันให้ดี รวมตัวกันว่าถ้ามาเที่ยวเมืองตรังความต่างอันนี้ ไปที่พักที่นั่นที่นี่ได้ เพียงแต่จะคิดไหม อย่างริมชายทะเลตรัง มี 14 หาด มีการเข้าถึงหลายจุด ทุกคนก็อยากเป็นท่าเรือกันหมด แล้วมันก็เอางบมาบ้าสร้างกัน สุดท้ายมีท่าเรือไม่รู้กี่แห่งและบางท่าก็ร้าง แสดงว่ามันไม่มีโอกาสเห็นภาพรวม โอกาสที่จะคิด หรือว่าเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมักจะมี ส.ส.เข้ามาเกี่ยว อบจ.เอาเข้าไป ผู้ว่าฯ ซีอีโอเอาไปอีก สุดท้ายเงินหลวงลงไปทำสะพานเป็นล้านๆ บาท 3 อันติดกัน บ้าหรือเปล่า ทั้งหน้าที่ทั้งกฎหมายทั้งการวางแผนมันมั่วจริงๆ เมืองกับชนบทนี่แยกไม่ออกเลย ทั้งที่ถ้ารู้จักวางอนาคตร่วมกันดีๆ ต่างคนต่างทำหน้าที่ มันไหลไปได้หมด เมืองไทยถ้าเป็นอย่างนี้อีกสัก 10 ปีต้องดูไม่ได้ มันเละ บ้านเรายังไม่เห็นความสำคัญของระเบียบการใช้แผ่นดินตรงนี้ และมันก็เป็นช่องให้คอรัปชั่นกันฉิบหายหมด"