"เผด็จการจำแลง" (บทความ)

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

"เผด็จการจำแลง" (บทความ)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

"เผด็จการจำแลง"
โดย เกษียร เตชะพีระ

"มาบัดนี้ ระบอบทักษิณได้ยักยอกและยึดครองประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการลงมติรับรองผู้นำเผด็จการเท่านั้น การยุบสภาที่เกิดขึ้นทำไปเพื่อประโยชน์ของคนคนเดียวที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบปัญหาคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ที่ทับซ้อนที่ได้กระทำไปด้วยความโลภโมโทสัน

"ทุกวันนี้ ระบอบทักษิณยึดอำนาจบริหารไปครองอย่างเข้มแข็ง ยิ่งไม่ต่างจากระบอบประธานาธิบดี แต่ระบอบประธานาธิบดีนั้นก็ยังดีที่ฝ่ายบริหารยุบสภาไม่ได้ และมีกลไกตรวจสอบของสภากับสื่อมวลชนที่อิสระ ที่เข้มแข็ง คอยทัดทานอำนาจอยู่ การยินยอมให้ระบอบทักษิณยุบสภาหนีการตรวจสอบได้ ผนวกกับการแทรกแซงครอบงำสื่อมวลชนอย่างรุนแรงเช่นปัจจุบัน ย่อมเป็นการยอมให้เผด็จการจำแลงยึดครองประชาธิปไตย ยักยอกรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ที่ไม่อาจยอมรับได้

"ในสถานการณ์เผด็จการจำแลงเช่นนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เล็งเห็น และให้สิทธิพื้นฐานแก่ชนชาวไทยไว้แล้ว ในมาตรา 65 ว่า หากมีการแสวงอำนาจรัฐโดยผิดวิถีทางของรัฐธรรมนูญพาประเทศเข้าสู่เผด็จการเมื่อใด คนไทยย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสงบได้ไม่เป็นความผิด"


คำแถลง "ไชยันต์ ไชยพร" ฉีกบัตรสู้ระบอบ "ทักษิณ"

มติชนรายวัน, 3 เมษายน 2549, น.2



ในบทความ "Fascism Anyone?" ลงพิมพ์ในวารสาร Free Inquiry ฉบับประจำฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ.2003 หน้า 20, ดอกเตอร์ Lawrence Britt นักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาระบอบเผด็จการฟาสซิสต์หลายประเทศ ได้แก่ ระบอบของฮิตเลอร์ในเยอรมณี (ค.ศ.1933-1945), มุสโสลินีในอิตาลี (ค.ศ.1922-1943), ฟรังโกในสเปน (ค.ศ.1939-1975), ซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย (ค.ศ.1967-1989) และปิโนเชต์ในชิลี (ค.ศ.1974-1990) ได้ประมวลสรุปบุคลิกเอกลักษณ์ที่ระบอบฟาสซิสต์ต่างๆ เหล่านี้มีร่วมกันไว้ 14 ประการ ได้แก่

1) ชูชาตินิยมอย่างแข็งกร้าวและพร่ำเพรื่อ

ระบอบฟาสซิสต์มักพร่ำใช้คำขวัญ, วาทะ, สัญลักษณ์, เพลง และวัสดุอุปกรณ์รักชาติอื่นๆ อย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเสมอ เอะอะก็ชักธงชาติ ติดธงชาติตะพึดตะพือตามตึกรามอาคารถนนหนทางทุกหนแห่งไม่เว้นแม้แต่บนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

2) เมินเฉยไม่นำพาสิทธิมนุษยชน

อารามตื่นกลัว "ศัตรู" และโหยหา "ความมั่นคง" จนสิ้นสติ ผู้คนพลเมืองในระบอบฟาสซิสต์จึงถูกชักจูงให้คล้อยตามท่านผู้นำว่าจำเป็นต้องละเลยสิทธิมนุษยชนเสียในบางกรณี พวกเขามักทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือกระทั่งเห็นดีเห็นงามไปกับการทรมานผู้ต้องสงสัย, ใช้อำนาจปฏิวัติหรืออำนาจฉุกเฉินสั่งยิงเป้า, ฆ่าตัดตอน, อุ้มหายสาบสูญ, ขังลืม ฯลฯ เอากับบรรดาผู้ถูกตราหน้าว่าเป็น "ศัตรู"

3) ปลุกผี "ศัตรู" ขึ้นมาเป็นแพะรับบาปเพื่อสร้างความสามัคคีบนพื้นฐานความเกลียดกลัว

ปลุกระดมประชาชนให้สามัคคีกันคลั่งชาติเพื่อกำจัดผู้ที่ถูกถือว่าเป็น "ศัตรู" หรือ "ภัยคุกคาม" ร่วมกัน ไม่ว่าเจ๊ก, แกว, แขก, คริสต์, มุสลิม, เสรีนิยม, คอมมิวนิสต์, สังคมนิยม, ผู้ก่อการร้าย ฯลฯ

4) ทหารเป็นใหญ่ในบ้านเมือง

แม้ในยามบ้านเมืองอัตคัดขัดสนข้าวยากหมากแพง ทหารยังคงได้สัดส่วนงบประมาณมากเป็นพิเศษเหนือกิจการด้านอื่นๆ ทหารหาญได้รับยกย่องสดุดีอย่างสูงยิ่ง

5) กดขี่ทางเพศอย่างแพร่หลาย

รัฐบาลประเทศฟาสซิสต์มักถูกครอบงำโดยผู้นำเพศชายแทบจะล้วนๆ และยึดมั่นถือมั่นการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ชาย/หญิงตามประเพณีอย่างเคร่งครัดตายตัว การหย่าร้าง ทำแท้ง และพฤติการณ์รักร่วมเพศจะถูกกดขี่ปราบปราม รัฐถูกถือเป็นองครักษ์พิทักษ์สถาบันครอบครัวอย่างถึงที่สุด

6) ปิดปากควบคุมสื่อมวลชน

บางครั้งรัฐบาลฟาสซิสต์จะเข้ากำกับควบคุมสื่อมวลชนโดยตรง แต่บางทีก็ทำโดยอ้อมผ่านกฎระเบียบราชการหรือผู้บริหารและกระบอกเสียงโฆษกที่ฝักใฝ่รัฐบาล การเซ็นเซอร์ทำกันดกดื่นโดยเฉพาะในยามสงคราม

7) หมกมุ่นฝังหัวเรื่อง "ความมั่นคงแห่งชาติ"

รัฐบาลฟาสซิสต์จะใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือสำคัญในการจูงจมูกมวลชนให้เชื่อฟังและสยบยอมตามภายใต้ข้ออ้างเรื่อง "ความมั่นคง"

8) รัฐบาลพัวพันอีนุงตุงนังกับศาสนจักร

รัฐบาลฟาสซิสต์มักฉวยใช้ศาสนาหลักที่แพร่หลายในประเทศเป็นเครื่องมือหลอกล่อชักจูงมติมหาชน ผู้นำรัฐบาลจะพร่ำพูดเรื่องศีลธรรมไม่ขาดปาก เข้ามนัสการพระชื่อดังไม่ขาดสาย แต่กลับดำเนินนโยบายและมาตรการขัดทวนสวนทางหลักคำสอนศาสนาเป็นตรงกันข้าม

9) ปกป้องอำนาจกลุ่มธุรกิจ

ชนชั้นนำในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมมักเป็นตัวการหนุนหลังผู้นำรัฐบาลให้ขึ้นสู่อำนาจ จึงผูกสานเป็นสายใยสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกันในหมู่ชนชั้นนำแห่งวงการธุรกิจกับรัฐบาล

10) กดขี่ขบวนการแรงงาน

เนื่องจากแรงงานที่จัดตั้งกันเป็นสหภาพนับเป็นภัยคุกคามรัฐบาลฟาสซิสต์ที่แท้จริงเพียงหลังเดียว ฉะนั้น ถ้าไม่ถูกกวาดล้างจนเหี้ยนเตียนก็โดนปราบปรามอย่างหนัก

11) ดูหมิ่นถิ่นแคลนปัญญาชนและศิลปวรรณกรรม

ระบอบฟาสซิสต์มักส่งเสริมและปล่อยให้เกิดการต่อต้านเป็นปฏิปักษ์กับการศึกษาชั้นสูงและแวดวงวิชาการอย่างเปิดเผย อาจารย์นักวิชาการจะถูกเซ็นเซอร์หรือแม้แต่จับกุมเป็นปกติวิสัย เสรีภาพที่จะแสดงออกในทางศิลปวรรณกรรมถูกโจมตีโต้งๆ

12) ปราบปรามลงโทษอาชญากรรมด้วยอำนาจอาญาสิทธิ์

ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ ตำรวจได้รับอำนาจไร้ขีดจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนมักยินดีทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเวลาตำรวจฉวยใช้อำนาจรังแกผู้คนหรือแม้แต่ละทิ้งสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเพื่อเห็นแก่ชาติ บ่อยครั้งประเทศฟาสซิสต์จะอาศัยกองกำลังตำรวจระดับชาติที่มีอำนาจไร้ขีดจำกัดในทางเป็นจริงไปรักษา "กฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง"

13) การเล่นพวกพ้องและทุจริตคอร์รัปชั่นแพร่ระบาด

แทบจะเป็นกฎเกณฑ์เลยว่าระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ทั้งหลายจะปกป้องโดยกลุ่มพรรคพวกเพื่อนพ้องที่เอื้อเฟื้อแต่งตั้งกันและกันไปกินตำแหน่งใหญ่โตในราชการแล้วใช้อำนาจนั้นๆ ปกป้องกันและกันให้พ้นผิดตามหลัก "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" การฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยผู้นำรัฐบาลมีเป็นปกติธรรมดาในระบอบดังกล่าว เนื่องจากการขีดเส้นแบ่งนิยามว่าอะไรเป็นของหลวง/อะไรเป็นของกูนั้นดันไปขึ้นอยู่กับอำนาจสิทธิขาดของผู้นำ

14) โกงเลือกตั้ง

บ่อยครั้งการเลือกตั้งในประเทศเผด็จการฟาสซิสต์เป็นตลกลวงโลกทั้งเพ การจัดการเลือกตั้งถูกฉ้อฉลบิดเบือนโดยการรณรงค์ให้ร้ายป้ายสีหรือกระทั่งลอบสังหารผู้สมัครฝ่ายค้าน, ออกกฎหมายกำกับควบคุมจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้เป็นคุณแก่ตน, ใช้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลฝ่ายเดียว และควบคุมชักเชิดกรรมการจัดเลือกตั้งและศาลตุลาการอยู่หลังฉาก

น่าสนใจจะลองติ๊กว่าระบอบทักษิณมีบุคลิกลักษณะเข้าข่ายบ้างไหม อย่างไร กี่ข้อใน 14 ประการข้างต้น?

มองกว้างออกไป มีสัญญาณแนวโน้มการแพร่หลายของ [ระบอบทุนนิยม-อำนาจนิยม] ในระดับโลกปัจจุบัน กล่าวคือ

ด้านหนึ่งบรรดา ประเทศทุนนิยม-เสรีนิยม ทั้งหลายชักจะโน้มเอียงเป็น อำนาจนิยมทางการเมือง ขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ภัยคุกคามของการโจมตีก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ.2001 ในอเมริกาเป็นต้นมา

ในทางกลับกัน บรรดา สังคมที่เป็นอำนาจนิยม อยู่แล้วเช่นจีนก็ชักหันมาเดิน แนวทางเศรษฐกิจทุนนิยม มากขึ้นเรื่อยๆ

คล้ายกับว่าฝนตกขี้หมูไหล ทั้งสองระบบทุนนิยมกับอำนาจนิยมจัญไรจึงหันมาบรรจบกัน...

ทุนนิยม---> [ระบอบทุนนิยม-อำนาจนิยม] <--- อำนาจนิยม

อย่าลืมว่าอันที่จริงโลกของเราก็มีประเทศทุนนิยมที่ไม่เคยเป็นเสรีนิยมมาแต่ไหนแต่ไรอยู่ก่อนแล้วมากมาย อาทิ สิงคโปร์ เป็นต้น หลายประเทศในนั้นเป็นอดีตอาณานิคมที่เจ้าอาณานิคมส่งออก พลังเศรษฐกิจตลาด มาขึ้นฝั่งให้ แต่ดันลืมบรรจุ สถาบันประชาธิปไตย ใส่หีบห่อมาด้วย ที่มักรับเชื่อว่า ตลาดเสรีกับการเมืองประชาธิปไตย มาด้วยกันไปด้วยกันนั้น จึงออกจะด่วนทึกทักสรุปเกินไป มิฉะนั้นก็คงไม่มีระบอบเผด็จการฟาสซิสต์เกิดมาให้เห็นดอก

ฉะนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจการเมืองโลกในอนาคตจึงดูจะกลับกลายเป็นเรื่อง ตลาดเสรีขย้ำขยอกกลืนการเมืองประชาธิปไตยจนเหี้ยนเตียนไม่เหลือหรอมากกว่าอื่น


ในแง่นี้ระบอบทักษิณก็อาจเป็นเพียงตัวอย่างแสดงออกในเมืองไทยของแนวโน้ม "เผด็จการจำแลง" (คำของอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ), "เผด็จการพลเรือน" (คำของบรรเจิด สิงคเนติ แห่งนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์) หรือ "ประชาธิปไตยอำนาจนิยม" (คำของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แห่งรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์) ดังกล่าว
โพสต์โพสต์